การประมวลผลบัตรเครดิต: คู่มือสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. การประมวลผลบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็กมีหลักการทํางานอย่างไร
    1. การเริ่มต้นธุรกรรม
    2. การอนุมัติวงเงิน
    3. การชําระเงิน
  3. เหตุใดการประมวลผลบัตรเครดิตที่มีประสิทธิภาพจึงสําคัญต่อธุรกิจขนาดเล็ก
  4. ความท้าทายเกี่ยวกับการประมวลผลบัตรเครดิตของธุรกิจขนาดเล็ก
  5. องค์ประกอบสําคัญของการประมวลผลบัตรเครดิตในธุรกิจขนาดเล็ก
  6. วิธีเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก
    1. ประเมินความต้องการของธุรกิจคุณ
    2. ทําความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ประมวลผลบัตรเครดิตประเภทต่างๆ
    3. การประเมินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
    4. การพิจารณาข้อกําหนดของสัญญาและความยืดหยุ่น
    5. การประเมินความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกําหนด
    6. การพิจารณาการผสานการทํางานทางเทคนิคและการใช้งาน
    7. อ่านรีวิวและขอรายชื่อบุคคลอ้างอิง
    8. การทดสอบและการทดลองใช้
    9. การตัดสินใจ
  7. Stripe จะช่วยได้อย่างไร
    1. โซลูชันการประมวลผลการชําระเงินที่ครอบคลุม
    2. ความสามารถในการผสานการทํางานอย่างราบรื่น
    3. การเข้าถึงทั่วโลกและการรองรับสกุลเงิน
    4. ความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกําหนดขั้นสูง
    5. การคิดค่าบริการที่เรียบง่ายและโปร่งใส
    6. การรายงานและการวิเคราะห์อัตโนมัติ
    7. ฟีเจอร์และบริการเพิ่มเติม
    8. การสนับสนุนนักพัฒนาและชุมชน

ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะรับชําระเงินที่จุดขาย หรือทางออนไลน์ หรือทั้งสองอย่าง การประมวลผลบัตรเครดิตก็เป็นหัวใจสําคัญของกลยุทธ์การชําระเงินทุกแบบ ในปี 2022 ตลาดการชําระเงินด้วยบัตรเครดิตทั่วโลก มีมูลค่า 5.249 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตอกย้ําว่าธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร แม้แต่ธุรกิจขนาดเล็กก็ต้องมีวิธีการประมวลผลบัตรเครดิตที่ช่วยให้รับชําระเงินผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและที่จุดขายได้ โดยใช้วิธีการชําระเงินยอดนิยม เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล การประมวลผลควรมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ ใช้งานง่ายสําหรับลูกค้า และช่วยให้ธุรกิจนำมาใช้และจัดการได้ง่าย

ด้านล่างนี้เราจะอธิบายสิ่งที่ธุรกิจขนาดเล็กควรทราบเกี่ยวกับการประมวลผลบัตรเครดิต ตั้งแต่การวางแผนเบื้องต้นไปจนถึงการติดตั้งใช้งานและการจัดการ

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • การประมวลผลบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็กมีหลักการทํางานอย่างไร
  • เหตุใดการประมวลผลบัตรเครดิตที่มีประสิทธิภาพจึงสําคัญต่อธุรกิจขนาดเล็ก
  • ความท้าทายเกี่ยวกับการประมวลผลบัตรเครดิตของธุรกิจขนาดเล็ก
  • องค์ประกอบสําคัญของการประมวลผลบัตรเครดิตในธุรกิจขนาดเล็ก
  • วิธีเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก
  • Stripe ช่วยได้อย่างไร

การประมวลผลบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็กมีหลักการทํางานอย่างไร

การเริ่มต้นธุรกรรม

ขั้นตอนนี้เริ่มต้นเมื่อลูกค้าเลือกชําระเงินค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ข้อมูลบัตรของลูกค้าจะเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น ระบบบันทึกการขาย (POS) พอร์ทัลการชําระเงินออนไลน์ หรืออุปกรณ์อ่านบัตรอื่นๆ

การอนุมัติวงเงิน

ผู้ประมวลผลการชําระเงินรับรายละเอียดบัตร แล้วส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังธนาคารที่ออกบัตรให้ลูกค้าเพื่อขออนุมัติ ธนาคารผู้ออกบัตรจะตรวจสอบความถูกต้องของบัตรและดูว่ามีเงินหรือเครดิตเพียงพอหรือไม่ หากการตรวจสอบเหล่านี้สําเร็จ ธนาคารจะส่งรหัสการอนุมัติกลับไปยังผู้ประมวลผลการชําระเงินเพื่ออนุมัติธุรกรรม

การชําระเงิน

ในขั้นตอนสุดท้ายของการชําระเงิน ธุรกรรมที่ได้รับอนุมัติจะถูกจัดกลุ่มรวมกับธุรกรรมอื่นๆ เพื่อประมวลผลซึ่งโดยปกติจะทำ ณ สิ้นวัน ผู้ประมวลผลการชําระเงินช่วยอํานวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินจากธนาคารผู้ออกบัตรไปยังบัญชีธนาคารของธุรกิจ ธนาคารของธุรกิจจะฝากเงินเข้าบัญชีตามยอดธุรกรรม โดยหักค่าธรรมเนียมการประมวลผลที่เกี่ยวข้อง

เพื่อปกป้องข้อมูลบัตรที่ละเอียดอ่อน ผู้ประมวลผลการชําระเงินใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น การเข้ารหัส และปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลอุตสาหกรรมบัตรชําระเงิน (PCI DSS) วิธีนี้ช่วยให้ขั้นตอนการทําธุรกรรมมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสําหรับลูกค้าและธุรกิจ

เหตุใดการประมวลผลบัตรเครดิตที่มีประสิทธิภาพจึงสําคัญต่อธุรกิจขนาดเล็ก

การประมวลผลบัตรเครดิตที่มีประสิทธิภาพสําคัญต่อธุรกิจขนาดเล็กด้วยสาเหตุหลายประการ

  • ความเร็วในการทําธุรกรรม
    ธุรกิจขนาดเล็กมักจะดําเนินงานด้วยทรัพยากรที่จํากัด ซึ่งทําให้การประมวลผลการชําระเงินที่รวดเร็วมีความสําคัญเป็นพิเศษ หากได้รับเงินเร็ว ธุรกิจก็จะจัดการกระแสเงินสดและค่าใช้จ่ายรายวันได้ดีขึ้น

  • ประสบการณ์ของลูกค้า
    ลูกค้าคาดหวังตัวเลือกการชําระเงินที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงบัตรเครดิต การชําระเงินออนไลน์ และการชําระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธุรกิจขนาดเล็กที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและให้บริการวิธีการชําระเงินเหล่านี้สามารถเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและได้รับประโยชน์จากการกลับมาใช้บริการซ้ำ

  • ความถูกต้องและการเก็บบันทึก
    การประมวลผลการชําระเงินอัตโนมัติช่วยให้บันทึกทางการเงินถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญในการติดตามยอดขาย การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดการภาษี ระบบอัตโนมัติจะลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการประมวลผลด้วยคน ซึ่งการแก้ไขอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน

  • การรักษาความปลอดภัย
    โดยทั่วไปวิธีการชําระเงินแบบดิจิทัลจะให้ความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับการชําระเงินด้วยเงินสด เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากการโจรกรรมและการฉ้อโกง รวมทั้งยังสร้างและคงความไว้วางใจของลูกค้าได้ด้วย

  • การเข้าถึงทั่วโลก
    ระบบการชําระเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้ธุรกิจรับชําระเงินจากลูกค้าทั่วโลกได้ ความสามารถนี้ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นด้วยการเปิดตลาดและฐานลูกค้าใหม่ๆ

  • งานเอกสารที่ลดลง
    การชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ลดหรือขจัดความจําเป็นในการใช้กระดาษ การออกใบแจ้งหนี้ และการเก็บบันทึก ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

  • การจัดการการชําระเงินตามแบบแผนล่วงหน้า
    ระบบการชําระเงินอัตโนมัติทําให้กระบวนการเรียกเก็บเงินง่ายขึ้น และช่วยให้การชําระเงินตรงเวลาและสม่ำเสมอขึ้นโดยไม่จําเป็นต้องทำเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสําหรับธุรกิจที่ใข้โมเดลการสมัครใช้บริการหรือต้องจัดการรอบการเรียกเก็บเงินเป็นประจํา

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย
    แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเตรียมติดตั้งระบบการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ระบบเหล่านี้อาจคุ้มค่ามากกว่าในระยะยาวเมื่อเทียบกับการจัดการเงินสดหรือเช็ค เนื่องจากช่วยลดความจําเป็นในการขนย้ายเงินทางกายภาพ ลดค่าธรรมเนียมการฝากเงินเข้าบัญชี และแรงงานที่ต้องใช้ในการดำเนินการด้วยตัวเอง จากรายงานของ Visa ปี 2018 การประมวลผลการชําระเงินดิจิทัล เช่น บัตรเครดิตมีค่าใช้จ่ายต่ํากว่าการประมวลผลการชําระเงินที่ไม่ใช่แบบดิจิทัลถึง 57%โดยเฉลี่ย ธุรกิจขนาดเล็กสามารถลดต้นทุนการดําเนินงานและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทําธุรกรรม

  • ข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์
    ระบบประมวลผลการชําระเงินจํานวนมากมีเครื่องมือวิเคราะห์ที่นําเสนอข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับแนวโน้มการขาย ช่วงเวลาที่มีการซื้อสินค้าและบริการสูงสุด รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้า ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้สามารถใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดําเนินการด้านการตลาดได้ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าใจตลาดของตัวเองได้ดีขึ้น และปรับแต่งบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดได้

ความท้าทายเกี่ยวกับการประมวลผลบัตรเครดิตของธุรกิจขนาดเล็ก

การประมวลผลการชําระเงินสําหรับธุรกิจขนาดเล็กต้องรับมือกับความท้าทายหลายเรื่อง ได้แก่

  • ค่าใช้จ่าย
    อุปสรรคสําคัญประการหนึ่งสําหรับธุรกิจขนาดเล็กคือค่าใช้จ่ายการใช้บริการระบบประมวลผลการชําระเงิน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจรวมค่าธรรมเนียมธุรกรรม ค่าธรรมเนียมการเช่าอุปกรณ์ และค่าบริการเกตเวย์การชําระเงิน สำหรับธุรกิจที่มีกำไรน้อย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็อาจนับว่ามาก

  • ความเสี่ยงด้านการฉ้อโกงและการรักษาความปลอดภัย
    ธุรกิจขนาดเล็กมักมีทรัพยากรในการลงทุนกับมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงที่จำกัด ซึ่งทําให้เสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงและการละเมิดข้อมูลมากขึ้น รายงานจาก Hiscox พบว่า 41% ของธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกาประสบกับการโจมตีทางไซเบอร์ในปี 2023 เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้บ่อยเนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม การดูแลข้อมูลและธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจําเป็นต้องมีการเฝ้าระวังและอัปเดตระเบียบการด้านความปลอดภัยเป็นประจํา

  • ปัญหาทางเทคนิคและความเสถียร
    การประมวลผลการชําระเงินที่ราบรื่นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคที่วางใจได้ ปัญหาต่างๆ เช่น ข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ขัดข้อง หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรอาจส่งผลต่อการประมวลผลการชําระเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจและสูญเสียยอดขาย

  • การปฏิบัติตามข้อกําหนดและข้อบังคับ
    การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับทางการเงิน เช่น PCI DSS เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันบทลงโทษและผลกระทบทางกฎหมาย แต่การทำอาจซับซ้อนและใช้เวลามาก

  • การดึงเงินคืนและการโต้แย้งการชําระเงิน
    การจัดการการดึงเงินคืน ที่เกิดจากลูกค้าโต้แย้งการเรียกเก็บเงิน อาจเป็นเรื่องน่าเหน็ดเหนื่อยอย่างมากสำหรับธูรกิจขนาดเล็ก เพราะมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสารจำนวนมากและการสื่อสารกับธนาคารและลูกค้า ซึ่งอาจนําไปสู่การสูญเสียรายรับ

  • การผสานการทํางานกับระบบอื่นๆ
    การผสานการทํางานระบบประมวลผลการชําระเงินกับซอฟต์แวร์การจัดการธุรกิจอื่นๆ (เช่น การทําบัญชี หรือระบบสินค้าคงคลัง)อาจก่อให้เกิดความท้าทายสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก การผสานการทํางานที่ไม่เพียงพออาจนําไปสู่การเก็บบันทึกที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย

  • ความต้องการของลูกค้า
    การปรับตัวตามความต้องการด้านการชําระเงินของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การชําระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือ กระเป๋าเงินดิจิทัล ต้องมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่องและอาจต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติม การติดตามแนวโน้มเหล่านี้เป็นกุญแจสําคัญในการรักษาความพึงพอใจของลูกค้า

  • อำนาจต่อรองที่จํากัด
    ธุรกิจขนาดเล็กมักมีอํานาจน้อยกว่าในการเจรจาต่อรองขอค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ต่ำลงกับผู้ประมวลผลการชําระเงิน เนื่องจากมีปริมาณธุรกรรมน้อยกว่า ซึ่งต่างจากบริษัทขนาดใหญ่

  • การฝึกอบรมและการสนับสนุน
    พนักงานต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบประมวลผลการชําระเงิน และสามารถเข้าถึงการสนับสนุนทางเทคนิคที่เชื่อถือได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากหากทรัพยากรสําหรับการฝึกอบรมมีจํากัด หรือหากผู้ให้บริการชําระเงินให้การสนับสนุนเพียงเล็กน้อย

  • ธุรกรรมระหว่างประเทศ
    สําหรับธุรกิจที่มีลูกค้าในต่างประเทศ ก็อาจมีอุปสรรคอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งรวมถึงการจัดการการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่สูงขึ้น และระเบียบข้อบังคับด้านการชําระเงินระหว่างประเทศ

องค์ประกอบสําคัญของการประมวลผลบัตรเครดิตในธุรกิจขนาดเล็ก

การประมวลผลบัตรเครดิตในธุรกิจขนาดเล็กมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งได้แก่

  • บัญชีผู้ค้า: บัญชีประเภทนี้เป็นบัญชีธนาคารเฉพาะทางที่อนุญาตให้ธุรกิจรับชําระเงินผ่านบัตรเครดิตได้ บัญชีผู้ค้า ทําหน้าที่เป็นตัวกลางที่ถือครองเงินจากการขายผ่านบัตรเครดิตไว้ก่อนที่จะโอนไปยังบัญชีธนาคารของธุรกิจ

  • เกตเวย์การชําระเงิน: เป็นบริการที่อนุมัติและประมวลผลธุรกรรมบัตรเครดิต โดยทําหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเว็บไซต์หรือระบบระบบบันทึกการขาย (POS) ของธุรกิจกับผู้ประมวลผลการชําระเงิน

  • ผู้ประมวลผลการชําระเงิน: เป็นผู้จัดการกระบวนการทําธุรกรรม ส่งข้อมูล และตรวจสอบความปลอดภัย โดยจะส่งรายละเอียดธุรกรรมไปยังเครือข่ายบัตรเครดิต และประสานงานการอนุมัติหรือปฏิเสธธุรกรรม

  • เทอร์มินัลบัตรเครดิตหรือระบบ POS: นี่คืออุปกรณ์หรือระบบซอฟต์แวร์ที่ธุรกิจใช้ประมวลผลการชําระเงินด้วยบัตรเครดิต เทอร์มินัลอาจเป็นอุปกรณ์แบบตั้งโต๊ะแบบดั้งเดิมหรือเป็นเครื่องอ่านบัตรเคลื่อนที่ หรืออาจจะผสานการทํางานเข้ากับระบบ POS ที่ใหญ่ขึ้นก็ได้

  • การรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกําหนด: การปฏิบัติตาม PCI DSSเป็นสิ่งที่ต้องทำ การปฏิบัติตามข้อกําหนดคือการดูแลเครือข่ายให้ปลอดภัย การปกป้องข้อมูลของเจ้าของบัตร การจัดการช่องโหว่ และการใช้มาตรการควบคุมการเข้าถึงที่รัดกุม

  • ค่าธรรมเนียมและโมเดลค่าบริการ: ธุรกิจขนาดเล็กควรเข้าใจโครงสร้างค่าธรรมเนียมสําหรับการประมวลผล ซึ่งอาจรวมถึงค่าธรรมเนียมธุรกรรม ค่าธรรมเนียมรายเดือน ค่าธรรมเนียมการเตรียมการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โมเดลค่าบริการมีหลายแบบ ซึ่งรวมถึงอัตราคงที่ ค่าบริการบวกค่าธรรมเนียมธุรกรรมผ่านบัตรระหว่างธนาคาร และค่าบริการแบบแบ่งระดับ

  • การสนับสนุนและบริการลูกค้า: การสนับสนุนลูกค้าที่เชื่อถือได้คือกุญแจสําคัญในการจัดการกับปัญหาทางเทคนิค การดึงเงินคืน และคําถามอื่นๆ เกี่ยวกับธุรกรรม

  • การผสานการทํางานกับซอฟต์แวร์ธุรกิจ: การผสานการทํางานกับซอฟต์แวร์บัญชี ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง และเครื่องมือการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินงานและปรับปรุงประสิทธิผลได้

  • ความสามารถด้านการชําระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่: เมื่อการซื้อขายผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เติบโตขึ้น ความสามารถในการประมวลผลการชําระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ก็ยิ่งสําคัญมากขึ้นสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก

  • การรายงานและการวิเคราะห์ การเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม เครื่องมือการรายงาน และการวิเคราะห์จะช่วยธุรกิจในการติดตามยอดขาย ทําความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และทำการตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล

วิธีเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก

สําหรับธุรกิจขนาดเล็ก การเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตควรเริ่มต้นด้วยการประเมินความต้องการของธุรกิจคุณ เป้าหมายคือการหาผู้ให้บริการที่เหมาะกับการดําเนินงานในปัจจุบันและแผนการขยายธุรกิจในอนาคตของคุณ ต่อไปนี้คือองค์ประกอบสําคัญที่ควรพิจารณา

ประเมินความต้องการของธุรกิจคุณ

  • ทําความเข้าใจปริมาณและรูปแบบธุรกรรม
    ประเมินจํานวนธุรกรรมที่ธุรกิจของคุณจัดการ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของธุรกรรมเหล่านั้น หากปริมาณการขายของคุณผันผวนหรือมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล คุณจะต้องใช้ผู้ให้บริการที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณควรพิจารณาขนาดธุรกรรมโดยเฉลี่ยของคุณด้วย ผู้ให้บริการอาจเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของคุณมีการจัดการธุรกรรมขนาดเล็กจํานวนมากเป็นหลัก หรือจัดการธุรกรรมขนาดใหญ่แต่ในจำนวนน้อยกว่า

  • ระบุประเภทการชําระเงินที่ต้องการ
    หาวิธีการชําระเงินที่ลูกค้าของคุณใช้บ่อยที่สุด ซึ่งอาจรวมถึงบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ธุรกรรมออนไลน์ การชําระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และแม้แต่ธุรกรรมระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการที่คุณเลือกควรรองรับวิธีการเหล่านี้ทั้งหมด

  • พิจารณาโมเดลธุรกิจและความต้องการของอุตสาหกรรม
    โมเดลธุรกิจและอุตสาหกรรมของคุณอาจเป็นตัวกําหนดความต้องการที่เฉพาะเจาะจงด้านการประมวลผลการชําระเงิน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะต้องมีผู้ประมวลผลที่มีความเป็นเลิศในด้านธุรกรรมออนไลน์และการผสานการทํางานกับเว็บไซต์ของธุรกิจ ในทางกลับกันร้านค้าที่มีหน้าร้านจะต้องมีระบบ POS ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมบางประเภทอาจมีมาตรฐานการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับโดยเฉพาะที่ผู้ประมวลผลการชําระเงินต้องปฏิบัติตาม

  • วางแผนเพื่อการเติบโตในอนาคต
    พิจารณาทิศทางของธุรกิจและด้านที่มีศักยภาพในการเติบโต หากคุณวางแผนที่จะขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพิ่มปริมาณธุรกรรม หรือลองเปิดตลาดต่างประเทศ ผู้ประมวลผลการชําระเงินของคุณควรสามารถรองรับพัฒนาการเหล่านี้ได้ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการขยายขีดความสามารถด้านการประมวลผล การนําเสนอวิธีการชําระเงินใหม่ๆ และการจัดการธุรกรรมในสกุลเงินต่างๆ

ทําความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ประมวลผลบัตรเครดิตประเภทต่างๆ

สําหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก การทําความเข้าใจผู้ประมวลผลบัตรเครดิตประเภทต่างๆ เป็นกุญแจสําคัญในการเลือกผู้ประมวลผลบัตรเครดิตที่ตรงกับความต้องการของคุณ ต่อไปนี้คือผู้ประมวลผลบัตรเครดิตประเภทต่างๆ และฟีเจอร์หลักๆ

  • ผู้ให้บริการบัญชีผู้ค้าแบบดั้งเดิม

    • ธนาคารหรือสถาบันการเงิน: ธนาคารและสถาบันการเงินให้บริการบัญชีผู้ค้า บัญชีเหล่านี้เหมาะสําหรับธุรกิจที่มีปริมาณธุรกรรมบัตรเครดิตสูง ซึ่งมักจะให้บริการลูกค้าและมีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุม แต่อาจมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าและเงื่อนไขสัญญาที่เข้มงวด
    • องค์กรการขายอิสระ (ISO): เป็นตัวแทนบุคคลที่สามที่ให้บริการบัญชีผู้ค้า โดย ISO เหมาะสําหรับธุรกิจที่ต้องการบริการเฉพาะบุคคล เงื่อนไขในสัญญาและค่าบริการมีความยืดหยุ่น แต่ก็อาจมีบริการสนับสนุนลูกค้าในระดับที่ต่างกันออกไป
  • ผู้ให้บริการชําระเงิน (PSP)

    • ผู้ประมวลผลบุคคลที่สาม: ผู้ประมวลผลเหล่านี้เหมาะสําหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือออนไลน์ เนื่องจากเตรียมการใช้งานง่าย มีโครงสร้างค่าบริการที่เรียบง่าย และไม่มีค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่อาจมีค่าธรรมเนียมต่อธุรกรรมที่สูงกว่าและมีโอกาสเจรจาได้น้อยกว่า
    • ผู้ประมวลผลแบบรวม: ผู้ประมวลผลเหล่านี้รวมธุรกรรมของลูกค้าทั้งหมดไว้ในบัญชีขนาดใหญ่บัญชีเดียว บริการแบบนี้ใช้งานง่าย ติดตั้งได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า และเหมาะที่สุดสําหรับธุรกิจที่มีปริมาณธุรกรรมไม่มาก แต่ข้อเสียคือมีโอกาสที่บัญชีจะถูกระงับหรือยกเลิกเนื่องจากการประเมินความเสี่ยงแบบรวม
  • ผู้ประมวลผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และระบบบันทึกการขาย (POS)

    • ผู้ประมวลผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่: โซลูชันเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อธุรกิจที่ดําเนินการแบบเคลื่อนที่ เช่น รถขายอาหารหรือร้านค้าในตลาด ผู้ให้บริการประเภทนี้ให้บริการฮาร์ดแวร์แบบพกพาเพื่อรับชําระเงินได้ทุกที่
    • ระบบ POS แบบบูรณาการ: ระบบเหล่านี้เหมาะอย่างยิ่งสําหรับร้านค้าปลีกและร้านอาหาร โดยจะรวมการประมวลผลการชําระเงินเข้ากับซอฟต์แวร์สําหรับจัดการการขาย สินค้าคงคลัง และข้อมูลลูกค้า เป็นโซลูชันที่ครอบคลุม แต่อาจมีราคาแพงกว่า
  • ผู้ประมวลผลการชําระเงินออนไลน์

    • ผู้ประมวลผลอีคอมเมิร์ซ: บริการเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อการขายออนไลน์โดยเฉพาะ โดยจะผสานการทํางานกับเว็บไซต์ของคุณเพื่อจัดการธุรกรรม ผู้ให้บริการกลุ่มนี้ให้บริการโซลูชันการชําระเงินที่ปลอดภัยและเป็นส่วนสำคัญสําหรับธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการทางออนไลน์จํานวนมาก
    • ผู้ประมวลผลการชําระเงินโดยตรง: ผู้ประมวลผลการชําระเงินโดยตรงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสําหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีธุรกรรมออนไลน์ปริมาณมาก วิธีนี้ช่วยให้ควบคุมกระบวนการชําระเงินได้มากขึ้น แต่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในระดับที่สูงกว่า

การประเมินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

การประเมินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเป็นขั้นตอนสําคัญเมื่อเลือกผู้ให้บริการประมวลผลการชําระเงินด้วยบัตรเครดิตสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก ขั้นตอนนี้ประกอบด้วยการประเมินและเปรียบเทียบโครงสร้างค่าธรรมเนียมต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาผู้ให้บริการที่เหมาะกับความสามารถและเป้าหมายทางการเงินของธุรกิจคุณมากที่สุด ปัจจัยสําคัญที่ควรพิจารณามีดังนี้

  • ทําความเข้าใจค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ

    • ค่าธรรมเนียมธุรกรรม: ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะเรียกเก็บต่อธุรกรรมและมักคิดเป็นเปอร์เซ็นต์บวกกับจํานวนเงินคงที่ (เช่น 2.9% + 30 เซนต์ต่อธุรกรรม) อัตราอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของบัตรที่ใช้ (บัตรเดบิตหรือเครดิต) แบรนด์ของบัตร (Visa, Mastercard ฯลฯ) และขึ้นอยู่กับว่าทำธุรกรรมด้วยการรูด เสียบ หรือป้อนข้อมูล
    • ค่าธรรมเนียมรายเดือน: ผู้ประมวลผลบางรายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน ซึ่งอาจรวมค่าธรรมเนียมรายการเดินบัญชีรายเดือน ค่าธรรมเนียมเกตเวย์การชําระเงิน และค่าธรรมเนียมขั้นต่ํารายเดือน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ไม่ว่าจะมีปริมาณธุรกรรมเท่าใดก็ตาม
    • ค่าธรรมเนียมการเตรียมการและอุปกรณ์: ข้อควรพิจารณาเพิ่มเติมได้แก่ ค่าธรรมเนียมการเตรียมการเบื้องต้นสําหรับการสร้างบัญชีและค่าธรรมเนียมในการซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ประมวลผลบัตรเครดิต (เช่น ระบบ POS)
    • ค่าธรรมเนียมการปฏิบัติตามข้อกําหนด PCI: ผู้ประมวลผลบางรายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปฏิบัติตาม PCI DSS เป็นแบบรายเดือนหรือรายปี
    • ค่าธรรมเนียมการดึงเงินคืน: ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าโต้แย้งธุรกรรม ซึ่งนําไปสู่การดึงเงินคืน
    • ค่าธรรมเนียมการยกเลิกข้อตกลงก่อนเวลา: หากคุณลงนามในสัญญาแล้ว อาจมีค่าธรรมเนียมการยกเลิกข้อตกลงก่อนกําหนด
  • ประเมินค่าใช้จ่าย

    • เปรียบเทียบโมเดลค่าบริการ: โมเดลค่าบริการหลักประกอบด้วยแบบค่าบริการคงที่ แบบแบ่งระดับ และค่าบริการบวกค่าธรรมเนียมธุรกรรมผ่านบัตรระหว่างธนาคาร ค่าบริการอัตราคงที่นั้นตรงไปตรงมา แต่สําหรับธุรกิจที่มีปริมาณการชําระเงินมากอาจจะถือว่าแพง ค่าบริการแบบแบ่งระดับจะจัดธุรกรรมออกเป็นหลายระดับในอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจโปร่งใสน้อยกว่า ค่าบริการบวกค่าธรรมเนียมธุรกรรมผ่านบัตรระหว่างธนาคารมักจะคุ้มค่าและโปร่งใสที่สุด แต่ก็อาจแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละธุรกรรม
    • ประเมินขนาดและปริมาณธุรกรรมโดยเฉลี่ย: ขนาดและปริมาณธุรกรรมโดยเฉลี่ยของธุรกิจของคุณอาจส่งผลว่าโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบบใดที่ประหยัดที่สุด ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่มีปริมาณการชําระเงินสูงอาจได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ต่ำลง แม้ว่าค่าธรรมเนียมรายเดือนจะสูงกว่าก็ตาม
    • พิจารณาประเภทธุรกิจและพฤติกรรมของลูกค้า: ประเภทบัตรที่ลูกค้าของคุณใช้ (บัตรเดบิตหรือเครดิต) และวิธีใช้ (ที่จุดขายหรือทางออนไลน์) อาจส่งผลต่อค่าธรรมเนียมที่คุณชําระ
    • มองหาค่าธรรมเนียมแอบแฝง: ระวังค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับแอบแฝงในสัญญา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจเงื่อนไขก่อนที่จะลงนาม
    • เจรจาเงื่อนไข: คุณอาจเจรจาอัตราที่ดีกว่านี้ได้หรือขอให้ผู้ประมวลผลยกเว้นค่าธรรมเนียมบางอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกรรมของธุรกิจคุณและความสัมพันธ์กับผู้ประมวลผล
  • ดําเนินการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์

    • ค่าใช้จ่ายรวมในการเป็นเจ้าของ: คํานวณค่าใช้จ่ายรวมเมื่อเวลาผ่านไป โดยพิจารณาค่าธรรมเนียมทั้งหมดและปริมาณธุรกรรมที่คาดการณ์ในอนาคต
    • บริการเสริม: พิจารณาคุณค่าของบริการเพิ่มเติมที่ผู้ประมวลผลมีให้บริการ เช่น การป้องกันการฉ้อโกง การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า หรือการผสานการทํางานกับเครื่องมือธุรกิจอื่นๆ
    • การสนับสนุนลูกค้าและความเชื่อถือได้: การจ่ายเงินเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อการบริการลูกค้าที่เชื่อถือได้และช่วงเวลาให้บริการอาจคุ้มค่ากับที่ต้องจ่ายเพิ่ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของธุรกิจ

การพิจารณาข้อกําหนดของสัญญาและความยืดหยุ่น

สําหรับธุรกิจขนาดเล็ก การพิจารณาข้อกําหนดของสัญญาและความยืดหยุ่นเป็นส่วนสําคัญในการเลือกผู้ให้บริการประมวลผลการชําระเงินด้วยบัตรเครดิต ขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบรายละเอียดและข้อปลีกย่อยของสัญญาที่ผู้ให้บริการเสนอให้ โดยควรเน้นสิ่งต่อไปนี้

  • องค์ประกอบสําคัญของข้อกําหนดของสัญญา

    • ระยะเวลาสัญญา: กําหนดระยะเวลาของสัญญา ระยะเวลาโดยทั่วไปมีตั้งแต่ข้อตกลงแบบเดือนต่อเดือนไปจนถึงสัญญาหลายปี สัญญาที่ยาวขึ้นอาจให้อัตราที่ต่ำกว่าแต่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่า
    • ค่าธรรมเนียมการยกเลิกข้อตกลงก่อนเวลา: ตรวจสอบว่ามีบทลงโทษสําหรับการสิ้นสุดสัญญาก่อนกําหนดหรือไม่ ค่าธรรมเนียมเหล่านี้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจมากกว่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนไปใช้ผู้ให้บริการที่เหมาะสมกว่า
    • ข้อกําหนดเกี่ยวกับการต่ออายุ: ทําความเข้าใจขั้นตอนการต่ออายุ สัญญาบางฉบับจะต่ออายุรอบใหม่โดยอัตโนมัติ เว้นแต่คุณจะยกเลิกภายในระยะเวลาที่ระบุ
    • การเปลี่ยนแปลงค่าบริการ: มองหาข้อสัญญาที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมระหว่างระยะเวลาของสัญญา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรกําหนดไว้อย่างชัดเจนและยอมรับได้สำหรับคุณ
  • ความยืดหยุ่น

    • ความสามารถในการขยาย: พิจารณาว่าบริการของผู้ให้บริการสามารถขยายไปพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจของคุณหรือไม่ สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นหรือมอบโซลูชันการประมวลผลขั้นสูงมากขึ้นได้หรือไม่ หากจําเป็น
    • ความเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์: ตรวจสอบว่าอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ประมวลผลของผู้ให้บริการเข้ากันได้กับระบบปัจจุบันของคุณหรือไม่ และสามารถปรับให้เข้ากับการอัปเกรดหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่
    • การปรับแต่ง: สํารวจว่าสามารถปรับบริการและแพ็กเกจค่าบริการให้เหมาะกับความต้องการทางธุรกิจเฉพาะของคุณได้หรือไม่ สิ่งนี้มีความสําคัญอย่างยิ่งสําหรับธุรกิจที่มีรูปแบบการขายที่ไม่เหมือนใครหรือมีความผันผวน
    • ส่วนเสริมบริการและการผสานการทํางาน: ดูว่ามีบริการและเงื่อนไขเกี่ยวกับบริการเสริมหรือไม่ เช่น การป้องกันการฉ้อโกง, การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ การผสานการทํางานกับระบบอีคอมเมิร์ซ พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อสัญญาและความยืดหยุ่นของคุณอย่างไร
  • การเจรจาต่อรองและการเปรียบเทียบ

    • เจรจาเงื่อนไข: คุณอาจสามารถเจรจาเงื่อนไขที่ดีมากขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมที่ลดลงหรือระยะเวลาสัญญาที่สั้นลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและอํานาจการต่อรองของคุณ
    • เปรียบเทียบผู้ให้บริการหลายราย: อย่าลังเลที่จะเปรียบเทียบเงื่อนไข เพราะจะช่วยให้คุณเข้าใจว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไรและสิ่งใดที่สามารถต่อรองได้

การประเมินความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกําหนด

ขณะเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิต ธุรกิจจะต้องประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐาน PCI DSS ของผู้ให้บริการ การใช้งานฟีเจอร์การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง และความสามารถในการรองรับการปฏิบัติตามข้อกําหนดที่มากขึ้น ต่อไปนี้คือภาพรวม

  • การปฏิบัติตามข้อกําหนดของ PCI DSS

    • มาตรฐาน PCI DSS: PCI DSS คือชุดข้อกําหนดที่ออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัททุกแห่งที่ประมวลผล จัดเก็บ หรือส่งข้อมูลบัตรเครดิตจะรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย การปฏิบัติตามข้อกําหนดเป็นสิ่งที่ต้องทำ ธุรกิจควรเลือกผู้ประมวลผลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันค่าปรับจำนวนมากและผลกระทบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนด
    • ระดับการปฏิบัติตามข้อกําหนด: ระดับการปฏิบัติตามข้อกําหนดจะแตกต่างกันไปตามปริมาณธุรกรรมที่ธุรกิจประมวลผลในแต่ละปี ผู้ประมวลผลควรแนะนําคุณตลอดกระบวนการปฏิบัติตามข้อกําหนดที่เกี่ยวข้องกับระดับของคุณ รวมถึงแบบสอบถามการประเมินตนเองและการสแกนความปลอดภัยเป็นประจําหากจําเป็น
    • ความรับผิดชอบร่วมกัน: แม้ว่าผู้ประมวลผลจะรับทําหน้าที่ด้านการปฏิบัติตามข้อกําหนดส่วนใหญ่ แต่ธุรกิจต่างๆ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาระบบให้ปลอดภัย ใช้อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่เป็นไปตามข้อกําหนดเท่านั้น และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับระเบียบการรักษาความปลอดภัยเป็นประจํา
  • ฟีเจอร์ความปลอดภัยขั้นสูง

    • การเข้ารหัสและการแปลงเป็นโทเค็น: ผู้ประมวลผลขั้นสูงมีบริการการเข้ารหัสซึ่งปกป้องข้อมูลจากจุดรับข้อมูลที่ระบบ POS และการแปลงเป็นโทเค็นซึ่งแทนที่ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนด้วยสัญลักษณ์ระบุตัวตนที่ไม่ซ้ำกัน ฟีเจอร์เหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลได้
    • เครื่องมือตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกง: มองหาผู้ประมวลผลที่มีเครื่องมือตรวจจับการฉ้อโกงระดับสูง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบธุรกรรมแบบเรียลไทม์และตัวกรองการฉ้อโกงที่ปรับแต่งได้ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและความสะดวกของลูกค้า
    • การป้องกันการดึงเงินคืน: ผู้ประมวลผลที่ให้บริการเครื่องมือและบริการป้องกันการดึงเงินคืนเชิงรุกสามารถช่วยธุรกิจให้รอดพ้นจากการสูญเสียจํานวนมากได้ ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลธุรกรรมโดยละเอียดเพื่อต่อสู้กับการดึงเงินคืนที่ไม่ถูกต้อง
    • การอัปเดตและใช้แพตช์เป็นประจํา: มองหาผู้ประมวลผลที่อัปเดตระบบด้วยแพตช์ความปลอดภัยและการอัปเดตซอฟต์แวร์ล่าสุดเพื่อป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ เป็นประจำ
  • การปฏิบัติตามข้อกําหนดที่นอกเหนือไปจากบัตรเครดิต

    • ระเบียบข้อบังคับอื่นๆ: นอกจาก PCI DSS แล้ว ธุรกิจต่างๆ ควรตระหนักถึงระเบียบข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของสหภาพยุโรป หรือกฎหมายเฉพาะของรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น กฎหมายความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (CCPA) ผู้ประมวลผลของคุณควรเข้าใจระเบียบข้อบังคับเหล่านี้และสนับสนุนคุณในการปฏิบัติตามข้อกําหนด
    • นโยบายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: ประเมินนโยบายของผู้ประมวลผลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและวิธีจัดการข้อมูลของลูกค้า นี่เป็นสิ่งสําคัญเนื่องจากการละเมิดข้อมูลอาจส่งผลกระทบทางกฎหมายและชื่อเสียงต่อธุรกิจ
  • การตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการ

    • ประวัติของผู้ประมวลผล: ตรวจสอบประวัติด้านการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกำหนดของของผู้ประมวลผล เคยพบปัญหาการละเมิดข้อมูลหรือไม่ มีการจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างไร ได้ทำตามมาตรการอะไรไปแล้วบ้าง
    • การรับรองและการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม: มองหาผู้ประมวลผลที่ผ่านการตรวจสอบโดยบุคคลที่สามเป็นประจําและได้รับการรับรอง เช่น ISO/IEC 27001 สําหรับการจัดการความปลอดภัยของข้อมูล

การพิจารณาการผสานการทํางานทางเทคนิคและการใช้งาน

ธุรกิจควรประเมินการผสานการทํางานทางเทคนิคและการใช้งานของผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบความเข้ากันได้กับระบบที่มีอยู่ ประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย ฟีเจอร์และการวิเคราะห์ขั้นสูง และระบบที่สามารถเติบโตและปรับตัวไปพร้อมกับธุรกิจได้ สิ่งที่ควรพิจารณามีดังนี้

  • ความเข้ากันได้กับระบบที่มีอยู่

    • การผสานการทํางานกับ POS: ผู้ประมวลผลควรผสานการทํางานกับระบบ POS ที่คุณมีอยู่ได้ เพื่อให้ธุรกรรมได้รับการประมวลผลอย่างราบรื่นและซิงก์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแบบเรียลไทม์
    • ความเข้ากันได้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ: สําหรับธุรกิจที่มีการขายออนไลน์ ระบบประมวลผลจะต้องเข้ากันได้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Shopify หรือ WooCommerce หรือโซลูชันที่สร้างขึ้นเอง ความเข้ากันได้นี้นําไปสู่ประสบการณ์การชําระเงินที่ราบรื่นสําหรับลูกค้า
    • การซิงก์กับซอฟต์แวร์บัญชี: ระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพจะมีฟังก์ชันการผสานการทํางานกับซอฟต์แวร์บัญชี เช่น QuickBooks หรือ Xero ฟีเจอร์นี้จัดทําบันทึกทางการเงินโดยอัตโนมัติ ลดการป้อนข้อมูลด้วยตัวเองและความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาด
  • ประสบการณ์ของผู้ใช้และอินเทอร์เฟซ

    • ความสะดวกในการใช้งาน: แพลตฟอร์มของผู้ประมวลผลควรเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน โดยมีอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายโดยไม่ต้องฝึกอบรมพนักงานมาก
    • การประมวลผลผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และจากระยะไกล: ผู้ให้บริการควรให้บริการแอปประมวลผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และเครื่องอ่านบัตรแบบพกพา เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าและบริการด้วยบัตรได้ในทุกอุปกรณ์ รวมถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
    • ประสบการณ์ของลูกค้า: ระบบการประมวลผลควรอำนวยความสะดวกให้กระบวนการชําระเงินราบรื่นและรวดเร็วสําหรับลูกค้า ด้วยฟีเจอร์อย่างการชําระเงินแบบไร้สัมผัส และตัวเลือกการซื้อในคลิกเดียวสําหรับร้านค้าออนไลน์
  • ฟังก์ชันและฟีเจอร์ขั้นสูง

    • การรายงานและการวิเคราะห์ ผู้ประมวลผลขั้นสูงมีเครื่องมือการรายงานที่ครอบคลุม ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มการขาย พฤติกรรมของลูกค้า และการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งการวิเคราะห์เหล่านี้อาจมีความสําคัญต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
    • ตัวเลือกการปรับแต่ง: ความสามารถในการปรับแต่งในหลายด้านของบริการ ซึ่งรวมถึงฟีเจอร์ รายงาน หรือ กระบวนการชําระเงินจะช่วยให้การใช้งานดีขึ้นได้อย่างมาก
    • การเข้าถึง API และการสนับสนุนนักพัฒนา: การเข้าถึงอินเทอร์เฟซการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชัน (API) สําหรับการผสานการทํางานที่ออกแบบเอง และการสนับสนุนนักพัฒนาของผู้ให้บริการอาจสําคัญอย่างยิ่งสําหรับธุรกิจที่มีข้อกําหนดทางเทคนิคเฉพาะตัว หรือผู้ที่ต้องการสร้างโซลูชันตามความต้องการ
  • ความสามารถในการปรับขนาดและการรองรับในอนาคต

    • ความสามารถในการปรับตัวตามการเติบโตของธุรกิจ: ระบบควรขยายตามการเติบโตของธุรกิจได้ โดยควรจัดการปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มเติมฟังก์ชันได้โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่
    • รองรับวิธีการชําระเงินใหม่ๆ: ผู้ให้บริการควรรองรับวิธีการชําระเงินใหม่ๆ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล สกุลเงินคริปโต หรือแนวโน้มใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของคุณ
    • การอัปเดตและการอัปเกรดเป็นประจํา: ผู้ประมวลผลควรดําเนินการอัปเดตและอัปเกรดเป็นประจํา เพื่อให้ระบบทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อกําหนดด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ

อ่านรีวิวและขอรายชื่อบุคคลอ้างอิง

การอ่านรีวิวและขอรายชื่อบุคคลอ้างอิงก่อนเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตเป็นการช่วยตรวจสอบสิ่งที่ผู้ให้บริการกล่าวอ้างและทำให้คุณทราบว่าจะคาดหวังอะไรได้บ้าง

  • ความสําคัญของรีวิวและบุคคลอ้างอิง

    • ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ใช้: รีวิวช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ผู้ใช้โดยตรงได้ ซึ่งประกอบด้วย ความสะดวกในการใช้งาน การแก้ไขปัญหา และความพึงพอใจโดยรวม
    • ความคิดเห็นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพ: คำแนะนำจากลูกค้าแสดงถึงความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีปริมาณการใช้งานสูง หรือเมื่อต้องจัดการกับการโต้แย้งเกี่ยวกับธุรกรรม
    • ประสบการณ์ด้านการบริการลูกค้า: บุคคลอ้างอิงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทําความเข้าใจคุณภาพของการบริการลูกค้า ซึ่งรวมถึงเวลาที่ใช้ในการตอบกลับ ความเชี่ยวชาญ และการให้บริการในสถานการณ์เร่งด่วน
  • กลยุทธ์ในการรวบรวมรีวิวและรายชื่อบุคคลอ้างอิง

    • ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์: ดูรีวิวในเว็บไซต์อิสระ ฟอรัม และบล็อกเกี่ยวกับอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มอย่าง Trustpilot, Yelp และ Google Business Reviews สามารถให้ข้อเสนอแนะที่ตรงไปตรงมาได้
    • ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของอุตสาหกรรมโดยตรง: อุตสาหกรรมบางประเภทมีความต้องการด้านการประมวลผลที่เฉพาะตัว การอ่านรีวิวจากธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกับคุณช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกที่สอดคล้องกับคุณมากขึ้น
    • โซเชียลมีเดียและเครือข่ายวิชาชีพ: แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและเครือข่ายมืออาชีพ เช่น LinkedIn อาจเป็นแหล่งข้อมูลความคิดเห็นและประสบการณ์ที่ไม่ผ่านการกรองซึ่งเป็นประโยชน์กับคุณ
    • บุคคลอ้างอิงโดยตรง: ขอข้อมูลบุคคลอ้างอิงจากผู้ประมวลผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากธุรกิจที่มีขนาดและอุตสาหกรรมใกล้เคียงกับคุณ การสนทนากับบุคคลอ้างอิงเหล่านี้ให้ข้อมูลเชิงลึกกับคุณได้
  • การวิเคราะห์รีวิวและข้อมูลจากบุคคลอ้างอิง

    • มองหารูปแบบ: ระบุทิศทางที่เหมือนกันจากเนื้อหาในรีวิว การกล่าวถึงปัญหาซ้ำๆ เช่น ค่าธรรมเนียมแอบแฝงหรือการสนับสนุนลูกค้าที่ไม่ดีอาจเป็นสัญญาณเตือน ในขณะที่คําชมที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับบางฟีเจอร์ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้เชิงบวกที่ชัดเจน
    • พิจารณาแหล่งข้อมูล: ชั่งน้ําหนักความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล รีวิวจากลูกค้าที่ผ่านการตรวจสอบยืนยันแล้วหรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงน่าจะมีน้ำหนักมากกว่ารีวิวที่ไม่ระบุชื่อ
    • ความใหม่และตรงสถานการณ์: เน้นรีวิวล่าสุดเพราะอาจจะตรงกับสถานการณ์มากที่สุด
    • พิจารณาบริบทจากรีวิวเชิงลบ: เมื่อพบรีวิวเชิงลบ ให้พิจารณาบริบท รีวิวเหล่านั้นพูดถึงเหตุการณ์ที่แยกกันหรือบ่งบอกถึงรูปแบบ ดูว่าบริษัทตอบสนองต่อรีวิวเหล่านี้อย่างไร
  • ติดต่อลูกค้าปัจจุบัน

    • ถามคําถามที่เจาะจง: ขณะที่คุยกับบุคคลอ้างอิง ให้ถามคำถามที่เจาะจงเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เขาได้รับ โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นข้อกังวลของธุรกิจคุณ
    • ทําความเข้าใจความสัมพันธ์ตามสัญญา: สอบถามเกี่ยวกับข้อกําหนดของสัญญา ค่าใช้จ่ายแอบแฝง และความยืดหยุ่นของผู้ให้บริการในการปรับเปลี่ยนข้อสัญญา
    • พิจารณาด้านบริการและการสนับสนุน: หาว่าผู้ให้บริการจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับการสนับสนุนลูกค้าอย่างไร ทั้งในด้านเทคนิคและการบริการลูกค้า

การทดสอบและการทดลองใช้

การทดสอบและทดลองใช้ผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตจะช่วยให้คุณได้รับประสบการณ์ตรงและข้อมูลเชิงลึกว่าระบบตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของคุณได้ดีเพียงใด ซึ่งทำได้ดังนี้

  • ความสําคัญของการทดสอบและการทดลองใช้

    • ความเข้ากันได้ของระบบ: การทดลองใช้ช่วยยืนยันว่าระบบประมวลผลผสานการทํางานกับ POS ซอฟต์แวร์บัญชี และระบบธุรกิจอื่นๆ ที่คุณมีอยู่ได้จริง
    • การประเมินประสบการณ์ของผู้ใช้: ประเมินว่าระบบใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับคุณและพนักงานมากน้อยเพียงใด เพราะความสะดวกในการใช้งานอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจของลูกค้า
    • การประเมินคุณสมบัติการใช้งาน: การทดสอบช่วยให้คุณประเมินฟีเจอร์ต่างๆ ได้โดยตรง เช่น ความเร็วในการประมวลผลธุรกรรม เครื่องมือการรายงาน และมาตรการรักษาความปลอดภัย
    • ความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพ: การทดลองใช้ช่วยให้คุณประเมินความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของระบบในสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ที่มีปริมาณธุรกรรมสูง การคืนเงิน และการดึงเงินคืน
  • กลยุทธ์การทดสอบที่มีประสิทธิภาพ

    • กําหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน: ก่อนเริ่มการทดลองใช้ ให้ระบุวัตถุประสงค์และฟีเจอร์ที่คุณต้องการทดสอบให้ชัดเจนเพื่อให้ช่วงทดลองใช้มีเป้าหมายชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
    • ให้ทีมของคุณมีส่วนร่วม: พนักงานที่จะใช้ระบบควรมีส่วนร่วมในกระบวนการทดสอบเพื่อให้สามารถให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้งานและฟังก์ชันการทํางาน
    • จําลองธุรกรรมจริง: ลองใช้งานกับธุรกรรมจําลองให้มากๆ ทั้งการขาย การคืนเงิน และธุรกรรมที่ถูกยกเลิก เพื่อทดสอบว่าระบบจะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
    • ทดสอบประสบการณ์ของลูกค้า: สําหรับธุรกิจที่มีส่วนที่ดำเนินการออนไลน์ ให้ประเมินกระบวนการชําระเงินจากมุมมองของลูกค้าเพื่อให้แน่ใจว่าทำได้อย่างราบรื่นและเข้าใจง่าย
    • ประเมินการสนับสนุนและการฝึกอบรม: ระหว่างช่วงทดลองใช้ ให้ประเมินคุณภาพการสนับสนุนลูกค้า ตรวจสอบความพร้อมของทรัพยากรและสื่อการฝึกอบรมที่จะช่วยให้ทีมของคุณเรียนรู้ระบบ
  • การเจรจาเงื่อนไขการทดลองใช้งาน

    • ขอทดลองใช้: ผู้ให้บริการหลายรายมีบริการให้ทดลองใช้ เจรจาต่อรองระยะเวลาทดลองใช้ที่ให้เวลาเพียงพอในการประเมินระบบอย่างละเอียด
    • ทำความเข้าใจข้อกําหนดและเงื่อนไขให้ชัดเจน: ทําความเข้าใจข้อกําหนดของการทดลองใช้ รวมถึงค่าใช้จ่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดช่วงทดลองใช้ และตัวเลือกของคุณในการยกเลิกบริการ
    • การจัดการข้อมูลหลังการทดลองใช้: พูดคุยให้ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลหากคุณตัดสินใจที่จะไม่ใช้บริการกับผู้ให้บริการรายนั้นหลังจากช่วงทดลองใช้
  • การประเมินหลังการทดลองใช้

    • รวบรวมความคิดเห็น: รวบรวมความคิดเห็นโดยละเอียดจากสมาชิกทีมที่มีส่วนร่วมในการทดลองใช้ โดยความคิดเห็นควรครอบคลุมทุกแง่มุมของระบบ ตั้งแต่ความสะดวกในการใช้งานไปจนถึงความท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาพบ
    • วิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพ: ตรวจสอบข้อมูลและรายงานที่สร้างขึ้นระหว่างการทดลองใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบและข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับ
    • เปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น: หากคุณกําลังทําการทดลองกับผู้ให้บริการหลายราย ให้เปรียบเทียบประสบการณ์ที่ได้เพื่อพิจารณาว่าระบบใดตรงกับความต้องการของคุณที่สุด
    • หารือเกี่ยวกับผลการทดลองใช้กับผู้ให้บริการ: แชร์ผลการทดลองใช้กับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการที่ดีจะเปิดรับคําติชมและอาจเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่คุณพบ

การตัดสินใจ

การตัดสินใจที่จะเลือกผู้ให้บริการประมวลผลบัตรเครดิตและทำข้อตกลงขั้นสุดท้ายต้องอาศัยการพิจารณาอย่างรอบคอบ การดำเนินการอย่างละเอียดและรอบคอบในขั้นตอนสุดท้ายนี้ จะทำให้คุณค้นพบผู้ให้บริการที่จะรองรับความต้องการด้านการประมวลผลการชําระเงินของธุรกิจคุณทั้งในปัจจุบันและอนาคต

  • การสรุปการตัดสินใจของคุณ

    • ประเมินข้อมูลที่เก็บรวบรวมทั้งหมด: ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่คุณรวบรวมไว้ในช่วงค้นคว้าข้อมูล ทบทวน และทดสอบ รวมถึงการเปรียบเทียบค่าธรรมเนียม การประเมินข้อกําหนดของสัญญา การประเมินความเข้ากันได้ของระบบ และการพิจารณาความคิดเห็นจากการทดลองใช้
    • จัดลําดับความสําคัญความต้องการทางธุรกิจของคุณ: ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการที่คุณต้องการตอบโจทย์ด้านที่คุณให้ความสําคัญหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มค่า การสนับสนุนลูกค้า มาตรการรักษาความปลอดภัย หรือฟีเจอร์ทางเทคนิคใดโดยเฉพาะ
    • พิจารณาผลกระทบในระยะยาว: คิดให้ไกลกว่าความต้องการเฉพาะหน้าของคุณ ประเมินว่าผู้ให้บริการสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต และปรับตัวตามเทคโนโลยีการชําระเงินและโมเดลธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ดีเพียงใด
    • ปรึกษากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: ขอความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆ ในธุรกิจของคุณ โดยให้รวมถึงเจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่ไอที และพนักงานแนวหน้าที่จะโต้ตอบกับระบบเพื่อยืนยันว่าการตัดสินใจตอบสนองความต้องการของทุกคน
  • การสรุปข้อตกลง

    • ตรวจสอบสัญญาอย่างละเอียด: ก่อนลงนามในสัญญา ให้อ่านข้อสัญญาอย่างละเอียด ให้ความสําคัญกับค่าธรรมเนียม เงื่อนไขการบริการ ระยะเวลาของสัญญา ข้อสัญญาเกี่ยวกับการยกเลิก และค่าใช้จ่ายแอบแฝง
    • เจรจาต่อรองข้อสัญญาหากจําเป็น: หากมีเงื่อนไขในสัญญาที่ไม่ตรงกับความต้องการของคุณ ให้เจรจาต่อรอง ข้อสัญญาอาจประกอบด้วยค่าธรรมเนียม ระยะเวลาสัญญา หรือข้อตกลงระดับการให้บริการ
    • หาที่ปรึกษาทางกฎหมาย: คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีข้อสัญญาที่ซับซ้อนหรือเงื่อนไขที่ไม่ชัดเจน ขั้นตอนนี้จะช่วยป้องกันผลกระทบทางกฎหมายในอนาคตได้
    • ทำความเข้าใจขั้นตอนการเริ่มต้นใช้งานให้ชัดเจน: ให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจขั้นตอนการเริ่มต้นใช้งานในในช่วงการติดตั้งระบบ รวมถึงลําดับเวลา การฝึกอบรมทีมงานของคุณ และการสนับสนุนใดๆ ที่มีในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้
    • จัดทําแผนการสื่อสาร: พิจารณาว่าจะสื่อสารกับผู้ให้บริการอย่างไรหลังจากการติดตั้งใช้งาน รวมถึงรายชื่อบุคคลหลักๆ ที่คุณจะติดต่อ และวิธีการจัดการกับปัญหาหรือคําขอรับบริการของคนเหล่านี้
  • หลังจากสรุปข้อตกลง

    • ประกาศการเปลี่ยนแปลง: หากระบบใหม่จะส่งผลต่อวิธีที่ลูกค้าชําระเงิน โปรดแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งคุณสามารถทําได้ด้วยการแจ้งข่าวทางอีเมล การติดตั้งป้ายที่สถานประกอบการ หรือการอัปเดตบนเว็บไซต์ของคุณ
    • ติดตามและประเมินประสิทธิภาพ: หลังจากติดตั้งใช้งานแล้ว ให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบและคุณภาพการสนับสนุนลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการปฏิบัติตามข้อกําหนดที่ตกลงกันไว้
    • ติดตามข้อมูลและยืดหยุ่นอยู่เสมอ: คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการชําระเงินและมาตรฐานอุตสาหกรรมอยู่เสมอ เตรียมพร้อมประเมินความต้องการของคุณและประสิทธิภาพของผู้ให้บริการเป็นระยะๆ

Stripe จะช่วยได้อย่างไร

Stripe มอบสิทธิประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถจัดการความต้องการด้านการประมวลผลการชําระเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย สิ่งที่ Stripe ช่วยคุณได้มีดังนี้

โซลูชันการประมวลผลการชําระเงินที่ครอบคลุม

  • รองรับวิธีการชําระเงินอย่างกว้างขวาง: เมื่อใช้ Stripe ธุรกิจขนาดเล็กจะรับชําระเงินได้หลากหลายแบบ เช่น บัตรเครดิตรายใหญ่ กระเป๋าเงินดิจิทัล เช่น Apple Pay และ Google Pay และวิธีการชําระเงินระหว่างประเทศ ความคล่องตัวนี้ช่วยให้ธุรกิจให้บริการแก่ฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น รวมถึงลูกค้าต่างประเทศ

  • การประมวลผลแบบเรียลไทม์: Stripe ประมวลผลธุรกรรมและยืนยันรายการทันที ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญสําหรับการรักษากระแสเงินสดของธุรกิจและช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่น

  • การจัดการธุรกรรมที่ง่ายต่อผู้ใช้: เจ้าของธุรกิจสามารถจัดการธุรกรรม คืนเงิน และจัดการข้อมูลลูกค้าได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคขั้นสูง

ความสามารถในการผสานการทํางานอย่างราบรื่น

  • ความเข้ากันได้กับพาร์ทเนอร์ในวงกว้าง: ธุรกิจสามารถผสานการทํางานระบบของ Stripe กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้มากมาย เช่น Shopify, WooCommerce, Adobe Commerce (เดิมคือ Magento) และระบบ POS ต่างๆ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเริ่มขายสินค้าทางออนไลน์หรือในร้านค้าจริงได้ง่ายขึ้น

  • การผสานการทํางานอย่างรวดเร็ว: Stripe ช่วยให้ธุรกิจที่มีความต้องการเฉพาะผสานการทำงานระบบได้อย่างเหมาะสมตามต้องการ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อธรกิจที่ต้องการมอบประสบการณ์พิเศษให้กับลูกค้าโดยมีงานด้านวิศวกรรมเพียงเล็กน้อย Optimized Checkout Suite ของ Stripe มีอินเทอร์เฟซผู้ใช้สำเร็จรูปของหน้าชําระเงินที่หลากหลายและตัวเลือกการชําระเงินแบบรวดเร็ว

  • Plug-and-play อย่างง่ายดาย: Stripe ยังมีตัวเลือกในการติดตั้งใช้งานที่รวดเร็วสําหรับธุรกิจที่ต้องการเริ่มประมวลผลการชําระเงินทันที

การเข้าถึงทั่วโลกและการรองรับสกุลเงิน

  • รองรับหลายสกุลเงินและวิธีการชําระเงินระหว่างประเทศ: Stripe รองรับมากกว่า 135 สกุลเงินและวิธีการชําระเงินที่หลากหลายในระดับสากล ธุรกิจจึงขายสินค้าและได้ลูกค้าจากทั่วโลกง่ายขึ้น

  • การจัดการการแปลงสกุลเงินและค่าธรรมเนียมข้ามเขตแดน แพลตฟอร์มนี้มีเครื่องมือสําหรับให้ลูกค้าชําระเงินในสกุลเงินท้องถิ่น และชำระค่าธรรมเนียมธุรกรรมข้ามพรมแดนซึ่งทําให้ธุรกรรมระหว่างประเทศง่ายขึ้น

ความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกําหนดขั้นสูง

  • การปฏิบัติตามมาตรฐาน PCI DSS: Stripe มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน PCI ซึ่งรักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลการชําระเงินของลูกค้า

  • การป้องกันการฉ้อโกงและการจัดการความเสี่ยง: แพลตฟอร์มนี้มีเครื่องมือขั้นสูงในการระบุและป้องกันธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง ซึ่งถือเป็นส่วนสําคัญในการปกป้องรายรับและรักษาความไว้วางใจของลูกค้า

  • การเข้ารหัสข้อมูลและโปรโตคอลความปลอดภัย: ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดได้รับการเข้ารหัสและปลอดภัย

การคิดค่าบริการที่เรียบง่ายและโปร่งใส

  • การคิดค่าบริการที่เรียบง่าย: การคิดค่าบริการการชำระเงินต่อธุรกรรมของ Stripe คาดการณ์ได้และเข้าใจง่าย ซึ่งช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย

  • ไม่มีค่าติดตั้งใช้งานหรือค่าธรรมเนียมแอบแฝง: Stripe ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงหรือสัญญาระยะยาว ความยืดหยุ่นและความโปร่งใสแบบนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดเล็กที่มีปริมาณธุรกรรมเปลี่ยนแปลงไป

  • มีคุณสมบัติการใช้งานชั้นแนวหน้าของอุตสาหกรรม: คุณสมบัติชั้นแนวหน้าของอุตสาหกรรมหลายอย่างรวมอยู่ในค่าบริการแบบรายธุรกรรมแล้ว เช่น การป้องกันการฉ้อโกง เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการชําระเงิน ฟีเจอร์ขั้นสูงเพื่อเพิ่มรายรับ และอื่นๆ

การรายงานและการวิเคราะห์อัตโนมัติ

  • การรายงานทางการเงินในเชิงลึก: Stripe มีรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรม ซึ่งช่วยธุรกิจติดตามยอดขาย การคืนเงิน และรายรับสุทธิ นอกจากนี้ ธุรกิจยังเพิ่มประสิทธิภาพการทําบัญชีแบบเกณฑ์คงค้างด้วย Revenue Recognitionได้อีกด้วย

  • การวิเคราะห์ที่เป็นปัจจุบัน: ธุรกิจต่างๆ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลได้มากขึ้น ด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการซื้อ พฤติกรรมของลูกค้า และประสิทธิภาพโดยรวม

  • รายงานที่ปรับแต่งได้: Stripe Sigma ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างตัวชี้วัดและรายงานที่ออกแบบเองให้เหมาะกับความต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการจัดการทางการเงินได้ โดยคุณสามารถเขียนภาษาคิวรีแบบมีโครงสร้าง (SQL) ตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มต้นจากเทมเพลตสําเร็จรูป หรือแก้ไขรายงานที่มีอยู่ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ช่วย AI ของ Stripe

ฟีเจอร์และบริการเพิ่มเติม

  • การเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้าและการชําระเงินตามรอบบิล: Stripe รองรับโมเดลการสมัครใช้บริการ และการเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับธุรกิจที่ให้บริการแบบสมัครสมาชิก

  • ลิงก์ใบแจ้งหนี้และการชําระเงิน: แพลตฟอร์มนี้ช่วยลดความยุ่งยากในการสร้างใบแจ้งหนี้แบบมืออาชีพและการสร้างลิงก์ชําระเงินแบบครั้งเดียว ซึ่งมีประโยชน์สําหรับการเรียกเก็บเงินและธุรกรรมระยะไกล

  • การเข้าถึงบริการทางการเงิน: Stripe ให้บริการทางการเงินเพิ่มเติม เช่น การจัดหาเงินทุนผ่าน Stripe Capital และบริการธนาคารผ่าน Stripe Treasury

การสนับสนุนนักพัฒนาและชุมชน

  • ชุมชนนักพัฒนาที่มีชีวิตชีวา: การเข้าถึงชุมชนนักพัฒนาได้ ทำให้ธุรกิจต่างสามารถขอคําแนะนํา แบ่งปันประสบการณ์ และค้นหาโซลูชันที่ออกแบบเองได้

  • เอกสารประกอบและการสนับสนุนที่ครอบคลุม: Stripe มีเอกสารประกอบและแหล่งข้อมูลสนับสนุนที่ละเอียด เพื่อให้ธุรกิจแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชําระเงินได้

  • การอัปเดตและฟีเจอร์ใหม่: ธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการชําระเงินและการรักษาความปลอดภัยล่าสุดได้จากข่าวสารการอัปเดตเป็นประจํา ซึ่งช่วยให้แพลตฟอร์มเป็นปัจจุบันและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe