Independent sales organizations (ISOs): What they are and how they work

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ISO คืออะไร
  3. ISO ทําอะไรให้ธุรกิจต่างๆ บ้าง
  4. ISO กับผู้ประมวลผลการชําระเงิน มีความแตกต่างกันอย่างไร
  5. ISO แตกต่างจากผู้ให้บริการผู้ค้าหรือไม่
  6. ใครบ้างที่เป็น ISO ได้
  7. ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ควรทํางานร่วมกับ ISO
  8. ข้อดีข้อเสียของการทํางานร่วมกับ ISO
    1. ประโยชน์ของการทํางานร่วมกับ ISO
    2. ข้อเสียของการทํางานร่วมกับ ISO

กระแสการเปลี่ยนไปสู่การชําระเงินแบบไร้เงินสดทั่วโลกเติบโตขึ้น ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวตามความต้องการด้านการชําระเงินของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

การเข้าใจบทบาทของผู้ให้บริการประมวลผลการชําระเงินสมัยใหม่ รวมถึงองค์กรขายอิสระ (ISO) เป็นสิ่งสําคัญสําหรับธุรกิจที่ต้องการปรับตัวและปรับปรุงขีดความสามารถด้านการประมวลผลการชําระเงินของตนเอง แต่ ISO ไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการประมวลผลการชําระเงินเท่านั้น องค์กรเหล่านี้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างธุรกิจกับสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ประมวลผลการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

บทความนี้จะอธิบายถึงแง่มุมต่างๆ ที่สําคัญเกี่ยวกับ ISO สาเหตุที่องค์กรเหล่านี้มีความสําคัญ และองค์กรเหล่านี้จะช่วยธุรกิจปรับปรุงการดําเนินงานได้อย่างไร การทำงานร่วมกับ ISO ช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้กับธุรกิจของคุณได้

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ISO คืออะไร
  • ISO ทําอะไรให้ธุรกิจต่างๆ บ้าง
  • ISO เทียบกับผู้ประมวลผลการชําระเงิน แตกต่างกันอย่างไร
  • ISO แตกต่างจากผู้ให้บริการผู้ค้าหรือไม่
  • ใครบ้างที่เป็น ISO ได้
  • ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ควรทํางานร่วมกับ ISO
  • ข้อดีข้อเสียของการทํางานร่วมกับ ISO

ISO คืออะไร

ISO คือบริษัทบุคคลที่สามที่ได้รับอนุญาตให้ทําการตลาดและขายบริการประมวลผลบัตรเครดิต ของธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต โดยเป็นตัวกลางระหว่างสถาบันการเงินเหล่านี้กับธุรกิจที่จําเป็นต้องประมวลผลธุรกรรมบัตรเครดิต

ISO ขึ้นทะเบียนและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ และมีข้อกำหนดให้รักษามาตรฐานบางอย่าง รวมถึงความสัมพันธ์กับธนาคารผู้สนับสนุน รายรับขององค์กรเหล่านี้มาจากค่าธรรมเนียมธุรกรรม และบางครั้งก็มาจากการขายหรือให้เช่าอุปกรณ์ เช่น เทอร์มินัลการชําระเงินหรือเครื่องอ่านบัตร

ISO ทําอะไรให้ธุรกิจต่างๆ บ้าง

ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ดําเนินงานในโลกดิจิทัลและตลาดโลกมากขึ้น ISO ก็ยิ่งมีความสําคัญมากขึ้น โดยช่วยให้ธุรกิจสามารถชําระเงินได้หลากหลายวิธีและให้บริการโซลูชันที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการทางธุรกิจบางอย่างที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่อาจไม่มีให้บริการ ISO ให้บริการซึ่งปรับให้สอดคล้องกับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ การชําระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และโซลูชันการชําระเงินแบบบูรณาการ

ISO มีประโยชน์อย่างชัดเจนในภาคธุรกิจที่ให้บริการธนาคารแบบเดิมไม่สามารถเติมเต็มได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงและธุรกิจที่ต้องการการประมวลผลการชําระเงินที่ยืดหยุ่นหรือเฉพาะทาง นอกจากนี้การเติบโตของ ISO ยังสะท้อนแนวโน้มในภาพรวมด้านการเงินและเทคโนโลยีซึ่งการปรับบริการตามความต้องการส่วนบุคคล ความง่ายในการใช้งาน ความยืดหยุ่น และโซลูชันเฉพาะทางเป็นที่ต้องการสูง

ISO ให้บริการสําคัญหลายอย่างแก่ธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลการชําระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ซึ่งประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

  • บัญชีผู้ค้า
    ISO ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สร้างบัญชีผู้ค้า ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารประเภทพิเศษที่ทำให้ธุรกิจรับการชําระเงินผ่านบัตรเครดิตและเดบิตได้

  • การระมวลผลการชําระเงิน
    ISO มีเทคโนโลยีและบริการที่จําเป็นต่อการประมวลผลธุรกรรมบัตรเครดิต ซึ่งอาจรวมถึงเครื่องอ่านบัตรตัวจริง, เกตเวย์การชําระเงินออนไลน์ และอื่นๆ

  • การขายหรือให้เช่าอุปกรณ์
    ISO หลายรายขายหรือให้บริการเช่าอุปกรณ์ที่จําเป็นสําหรับการรับชําระเงินผ่านบัตร เช่น เทอร์มินัลบัตรเครดิตหรือระบบระบบบันทึกการขาย (POS)

  • ฝ่ายสนับสนุนลูกค้า
    ISO มักจะให้การสนับสนุนลูกค้าเพื่อช่วยเหลือธุรกิจแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบประมวลผลการชําระเงินที่อาจเกิดขึ้น

  • บริการเสริม
    ISO หลายรายมีบริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการประมวลผลการชําระเงิน เช่นอาจจะมีบริการ เช่น เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ โซลูชันการชําระเงินแบบบูรณาการ บริการรักษาความปลอดภัยและการป้องกันการฉ้อโกง และอื่นๆ

เป้าหมายของ ISO คือทําให้ธุรกิจรับและประมวลผลการชําระเงินด้วยบัตรได้ง่ายขึ้น การทำหน้าที่ตัวกลางระหว่างธุรกิจกับธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตทำให้ ISO สามารถให้บริการเฉพาะบุคคลและให้การสนับสนุนในแบบที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่อาจไม่สามารถทำได้โดยตรง

ISO กับผู้ประมวลผลการชําระเงิน มีความแตกต่างกันอย่างไร

ทั้ง ISO และผู้ประมวลผลการชําระเงินทํางานอยู่เบื้องหลังเพื่ออํานวยความสะดวกให้การทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ราบรื่นและปลอดภัย อย่างไร ผู้ให้บริการเหล่านนี้มีบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และการปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจและสถาบันทางการเงินที่แตกต่างกัน

ต่อไปนี้เป็นคําอธิบายความแตกต่างโดยละเอียด

  • องค์กรการขายอิสระ
    ISO คือหน่วยงานบุคคลที่สามที่ทําหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจกับผู้ประมวลผลการชําระเงินหรือธนาคารผู้รับบัตร โดยได้รับอนุญาตให้ขายหรือให้เช่าบริการของธนาคารและบริษัทบัตรเครดิต มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ได้แก่ การสร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจ ตลอดจนช่วยเหลือธุรกิจในการจัดตั้งบัญชีผู้ค้า โดยจัดหาอุปกรณ์ที่จําเป็นสําหรับการรับชําระเงินด้วยบัตรด้วยในบางครั้ง และมักจะให้บริการเพิ่มเติม เช่น การสนับสนุนลูกค้าและเครื่องมือการวิเคราะห์ธุรกิจ

  • ผู้ประมวลผลการชําระเงิน
    ผู้ประมวลผลการชําระเงินเป็นผู้จัดการรายละเอียดทางเทคนิคและการเงินของการประมวลผลธุรกรรม เมื่อลูกค้าชําระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะสื่อสารกับธนาคารผู้ออกบัตร (ธนาคารของลูกค้า) และธนาคารผู้รับบัตร (ธนาคารของธุรกิจ) เพื่ออํานวยความสะดวกในการโอนเงิน บทบาทคือเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลธุรกรรมส่งออกไปอย่างถูกต้อง ลูกค้ามีเงินหรือเครดิตเพียงพอ และระบบหักเงินจากบัญชีของลูกค้าและเพิ่มเข้าไปในบัญชีของธุรกิจอย่างถูกต้อง

บางครั้งบทบาทของ ISO และผู้ประมวลผลการชําระเงินก็มีส่วนที่ทับซ้อนกัน ธุรกิจบางแห่งทําหน้าที่เป็นทั้ง ISO และผู้ประมวลผลการชําระเงิน โดยให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การขายและการตั้งค่าบัญชีไปจนถึงดูแลด้านเทคนิคของการประมวลผลธุรกรรม การรับสองบทบาทเช่นนี้ทำให้ ISO ดังกล่าวสามารถเสนอตัวเป็นช่องทางติดต่อจุดเดียวให้กับธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผลการชําระเงินทั้งหมด ซึ่งทําให้ได้รับประสบการณ์การประมวลผลการชําระเงินที่ดีขึ้น

ISO แตกต่างจากผู้ให้บริการผู้ค้าหรือไม่

"ผู้ให้บริการผู้ค้า" เป็นคํากว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมองค์กรหลากหลายประเภท รวมถึง ISO และผู้ประมวลผลการชําระเงิน ผู้ให้บริการผู้ค้าคือบริษัทที่ให้บริการต่างๆ ที่ช่วยให้ธุรกิจรับชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรเครดิตและบัตรเดบิต

ISO คือผู้ให้บริการผู้ค้าประเภทหนึ่ง ISO เป็นองค์กรบุคคลที่สามที่มีความสัมพันธ์กับธนาคารและบริษัทบัตรเครดิต และได้รับอนุญาตให้ขายหรือให้เช่าบริการของธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตกับธุรกิจต่างๆ โดยอาจให้บริการที่หลากหลาย เช่น จัดตั้งบัญชีผู้ค้า ขาย หรือให้เช่าอุปกรณ์ประมวลผลการชําระเงิน ให้บริการสนับสนุนลูกค้า และอื่นๆ

ดังนั้นแม้ว่า ISO ทั้งหมดจะนับเป็นผู้ให้บริการผู้ค้า แต่ผู้ให้บริการผู้ค้าบางรายอาจไม่ใช่ ISO ผู้ให้บริการผู้ค้าประเภทอื่นๆ อาจรวมถึงผู้ประมวลผลการชําระเงิน ผู้ให้บริการเกตเวย์การชําระเงิน และธุรกิจที่ให้บริการระบบ POS

ในบางกรณี ธุรกิจรายเดียวกันอาจทําหน้าที่เป็นทั้ง ISO และผู้ประมวลผลการชําระเงิน โดยให้บริการผู้ค้าแบบครบวงจร ในอีกหลายกรณี ธุรกิจอาจทํางานร่วมกับผู้ให้บริการผู้ค้าหลายรายเพื่อให้ตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผลการชําระเงินทั้งหมด ข้อตกลงที่ดีที่สุดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงขนาดและประเภทของธุรกิจ ปริมาณธุรกรรม และบริการบางอย่างที่ต้องการ

ใครบ้างที่เป็น ISO ได้

เร็วๆ นี้ตลาด ISO มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกรรมดิจิทัลและความต้องการโซลูชันการชําระเงินเฉพาะทาง มีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่นําเสนอบริการ ISO โดยใช้ประโยชน์จากพัฒนาการเหล่านี้เพื่อให้บริการเฉพาะบุคคลให้กับภาคธุรกิจเฉพาะทาง เนื่องจากบางครั้งสถาบันการธนาคารแบบเดิมๆ ปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มใหม่ๆ หรือความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่มได้ลำบาก ISO จึงเข้ามาปิดช่องว่างนี้ด้วยความคล่องตัวและแนวทางที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

การเป็น ISO เป็นเรื่องน่าสนใจสําหรับธุรกิจที่ต้องการช่วยลดความซับซ้อนด้านการชําระเงินให้ธุรกิจต่างๆ หรือพัฒนาโมเดลรายรับแบบเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้า นอกจากนั้นจำนวน ISO ที่เพิ่มขึ้นยังสะท้อนถึงแนวโน้มในภาพรวมของภาคการเงินที่มุ่งสู่การกระจายศูนย์และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บริการที่ปรับเข้าผู้ใช้งานเฉพาะรายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเป็น ISO ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์หลายข้อและผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ขั้นตอนทั่วไปในการเป็น ISO มีดังนี้

  • ก่อตั้งธุรกิจ
    ขั้นตอนแรกคือจัดตั้งองค์กรธุรกิจที่ถูกต้อง เช่น บริษัท หรือ LLC ซึ่งต้องยื่นเอกสารที่เหมาะสมต่อเลขานุการรัฐหรือหน่วยงานรัฐแห่งอื่นที่มีอำนาจหน้าที่

  • หาธนาคารผู้สนับสนุน
    ISO ต้องมีธนาคารผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายบัตรเครดิตรายใหญ่และสามารถรับประกันธุรกรรมที่ประมวลผลโดย ISO ธนาคารผู้สนับสนุนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเสี่ยงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ประมวลผลโดย ISO

  • ขึ้นทะเบียนกับเครือข่ายบัตร
    ISO ต้องขึ้นทะเบียนกับเครือข่ายบัตรหลักที่ตนวางแผนจะใช้งาน ซึ่งโดยปกติจะต้องมีการชําระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน และ ISO จะต้องมีคุณสมบัติด้านความมั่นคงทางการเงินตามมาตรฐานของเครือข่ายและมีการปฏิบัติตามข้อกำหนด

  • ทำประกันภัย
    โดยปกติแล้ว ISO จะต้องมีประกันจํานวนหนึ่งเพื่อคุ้มครองความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

  • จัดทำขั้นตอนการปฏิบัติตามข้อกําหนด
    ISO ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งรวมถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสําหรับอุตสาหกรรมบัตรชําระเงิน (PCI DSS) และกฎหมายท้องถิ่น รัฐ หรือรัฐบาลกลางที่เกี่ยวข้อง

  • จัดตั้งฝ่ายบริการลูกค้าและฝ่ายสนับสนุนทางเทคนิค
    ISO จําเป็นต้องมีระบบสนับสนุนลูกค้าของธุรกิจตน โดยอาจต้องจ้างพนักงานหรือทําสัญญากับผู้ให้บริการบุคคลที่สาม

โปรดจําไว้ว่าขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงขั้นตอนทั่วไป ข้อกําหนดเฉพาะอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับในพื้นที่ของคุณและข้อกําหนดของธนาคารผู้สนับสนุนและเครือข่ายบัตร และการดำเนินงานเพื่อเป็น ISO เป็นเรื่องสําคัญที่มีความเสี่ยงด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงควรทําความเข้าใจธุรกิจอย่างถี่ถ้วนและมีแผนธุรกิจที่มั่นคงก่อนจะเริ่มดําเนินงาน

ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ควรทํางานร่วมกับ ISO

มีธุรกิจหลายประเภทที่สามารถได้ประโยชน์จากการทํางานกับ ISO โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ประมวลผลธุรกรรมบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตจํานวนมาก ต่อไปนี้คือธุรกิจบางประเภทที่อาจพิจารณาทำงานร่วมกับ ISO

  • ธุรกิจค้าปลีก
    ธุรกิจใดก็ตามที่มีหน้าร้านและลูกค้ามักชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตอยู่เป็นประจําจะได้ประโยชน์จากบริการของ ISO ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ร้านเสื้อผ้าไปจนถึงร้านอาหารหรือร้านขายของชํา

  • ธุรกิจออนไลน์
    บริษัทอีคอมเมิร์ซ ผู้ค้าปลีกออนไลน์ และธุรกิจใดก็ตามที่รับชําระเงินทางออนไลน์สามารถได้รับประโยชน์จากการร่วมงานกับ ISO

  • ผู้ให้บริการ
    ธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ร้านทําผม บริษัทที่ปรึกษา หรือร้านบริการซ่อมต่างๆ มักจะรับการชําระเงินผ่านบัตรซึ่งจะได้ประโยชน์จากบริการของ ISO

  • ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
    ธุรกิจบางแห่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผู้ประมวลผลการชำระเงินพิจารณาว่า "มีความเสี่ยงสูง" เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราการดึงเงินคืนที่สูงหรืออยู่ภายใต้การตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแล ตัวอย่างเช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมผู้ใหญ่ การพนัน ยาสูบ หรือกัญชา ในบางครั้ง ISO ก็สามารถช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เปิดบัญชีผู้ค้าได้ในขณะที่ธนาคารแบบดั้งเดิมอาจลังเลที่จะให้บริการ

  • ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMB)
    แม้ว่าธุรกิจทุกขนาดจะใช้บริการ ISO ได้ แต่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจะได้ประโยชน์เป็นพิเศษจากบริการลูกค้าแบบส่วนตัวที่ ISO มักจะจัดหาให้

แม้ธุรกิจหลายๆ แห่งจะได้ประโยชน์จากการใช้บริการ ISO แต่ ISO ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับธุรกิจทุกราย พิจารณาขนาดของธุรกิจ อุตสาหกรรม ปริมาณธุรกรรม และความต้องการเฉพาะของคุณขณะตัดสินใจว่าจะใช้บริการ ISO หรือไม่

ข้อดีข้อเสียของการทํางานร่วมกับ ISO

สำหรับธุรกิจ การทํางานรวมกับ ISO มีทั้งข้อดีและข้อเสียได้หลายประการ

ประโยชน์ของการทํางานร่วมกับ ISO

  • บริการลูกค้า
    ISO มักมีบริการลูกค้าที่เป็นส่วนตัวและตอบสนองลูกค้าได้ดีกว่าธนาคารหรือผู้ประมวลผลบัตรขนาดใหญ่ โดยมักจะเข้าถึงง่ายกว่าและสามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อกังวลใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

  • ความยืดหยุ่น
    ISO มักให้บริการโซลูชันที่ยืดหยุ่นมากกว่าซึ่งสามารถปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของธุรกิจได้ โดยอาจมีตัวเลือกอุปกรณ์ เกตเวย์การชําระเงิน และโครงสร้างค่าบริการที่หลากหลายกว่า

  • ความช่วยเหลือสําหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
    ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอาจประสบปัญหาในเปิดบัญชีผู้ค้ากับธนาคารแบบดั้งเดิม ส่วน ISO มักจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า และอาจช่วยธุรกิจเหล่านี้เปิดบัญชีได้

  • บริการเสริม
    ISO หลายแห่งให้บริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการประมวลผลการชําระเงิน เช่น เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ บริการด้านความปลอดภัยและการป้องกันการฉ้อโกง และอื่นๆ

ข้อเสียของการทํางานร่วมกับ ISO

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่า
    ISO อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าผู้ประมวลผลโดยตรงหรือธนาคาร ซึ่งอาจรวมถึงค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบัญชีผู้ค้า ค่าธรรมเนียมธุรกรรม ค่าธรรมเนียมรายเดือน ค่าเช่าอุปกรณ์ หรือค่าธรรมเนียมการซื้อ

  • ค่าธรรมเนียมแอบแฝง
    ISO บางแห่งอาจมีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ไม่โปร่งใส ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด

  • ข้อกําหนดของสัญญา
    ISO บางรายอาจกําหนดให้ธุรกิจต้องทำสัญญาระยะยาว ซึ่งทำให้การเลิกใช้บริการทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง

  • ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียง
    คุณภาพของบริการโดย ISO อาจแตกต่างกันเช่นเดียวกับในธุรกิจอื่นๆ ธุรกิจควรทําการสอบทานธุรกิจและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเสียงของ ISO ก่อนทําสัญญา

การตัดสินใจว่าจะทำงานกับ ISO หรือไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์เฉพาะของธุรกิจคุณ ศึกษาอย่างละเอียดและพิจารณาตัวเลือกทั้งหมดก่อนที่จะเลือกโซลูชันการประมวลผลการชําระเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการรายนั้นสามารถรองรับความต้องการด้านการชําระเงินในปัจจุบันและสามารถรองรับการเติบโตและพัฒนาการของธุรกิจคุณได้ด้วย รวมทั้งพิจารณาด้วยว่าการเติบโตดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านการชำระเงินในอนาคตของคุณไปอย่างไร

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe