Afterpay/Clearpay: คู่มือเชิงลึก

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. Afterpay/Clearpay ทํางานอย่างไร
  3. มีการใช้งาน Afterpay/Clearpay ในพื้นที่ใดบ้าง
    1. อเมริกาเหนือ
    2. ยุโรป
    3. เอเชีย
    4. ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
  4. ใครคือผู้ใช้ Afterpay/Clearpay
  5. ประโยชน์ของการรับชําระผ่าน Afterpay/Clearpay
  6. มาตรการรักษาความปลอดภัยของ Afterpay/Clearpay
  7. การทํางานกับ Afterpay/Clearpay
  8. ตัวเลือกอื่นๆ นอกเหนือจาก Afterpay/Clearpay

Afterpay หรือที่รู้จักกันในชื่อ Clearpay ในสหราชอาณาจักร คือบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินของออสเตรเลียที่ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง (BNPL) ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว Afterpay/Clearpay ให้บริการฐานลูกค้าที่กำลังเติบโตในหลายภูมิภาค และเป็นพาร์ทเนอร์กับเครือข่ายแบรนด์และธุรกิจท้องถิ่นจำนวนมากที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมต่างๆ และเนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดใหญ่มากในภูมิภาคที่มีความสําคัญอย่างเช่นออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ทําให้บริษัทกลายเป็นผู้ให้บริการ BNPL ในระดับแถวหน้า

บริการเรือธงของ Afterpay ช่วยให้ลูกค้าแบ่งชําระเงินค่าสินค้า/บริการออกเป็น 4 งวดเท่าๆ กันโดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งปกติแล้วจะต้องผ่อนชําระทุกๆ 2 สัปดาห์ การชำระเงินรูปแบบนี้ช่วยให้ลูกค้าจัดการการใช้จ่ายได้อย่างยืดหยุ่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม Afterpay/Clearpay เน้นให้บริการแผนผ่อนชําระระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งบางราย

Afterpay มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดต่างๆ ทั่วทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย รวมทั้งเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจในปี 2014 มีการคาดการณ์กันว่าธุรกิจ BNPL จะเติบโตอย่างมากในอนาคตอันใกล้ ส่วน Afterpay/Clearpay ก็มีความพร้อมที่จะครองความเป็นเจ้าตลาดต่อไปได้ การที่บริษัททุ่มเทพัฒนาโซลูชันที่เป็นมิตรกับผู้ใช้และผสานการทํางานทางเทคนิคได้อย่างง่ายดายถือเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมการชําระเงิน

คู่มือนี้จะอธิบายสิ่งที่ธุรกิจควรรู้เกี่ยวกับ Afterpay/Clearpay ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทํางาน ผู้ใช้และตลาดหลัก รวมถึงวิธีปรับใช้เป็นวิธีการชําระเงิน

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • Afterpay/Clearpay ทํางานอย่างไร
  • มีการใช้งาน Afterpay/Clearpay ในพื้นที่ใดบ้าง
  • ใครคือผู้ใช้ Afterpay/Clearpay
  • ประโยชน์ของการรับชําระผ่าน Afterpay/Clearpay
  • มาตรการรักษาความปลอดภัยของ Afterpay/Clearpay
  • การทํางานกับ Afterpay/Clearpay
  • ตัวเลือกอื่นๆ นอกเหนือจาก Afterpay/Clearpay

Afterpay/Clearpay ทํางานอย่างไร

Afterpay ขึ้นชื่อเรื่องบริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก Afterpay/Clearpay จะเบิกจ่ายเงินให้กับธุรกิจเต็มจํานวนในทันที ช่วยให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดไม่ขาดมือในระหว่างที่บริษัทเรียกเก็บเงินส่วนที่เหลือจากลูกค้า Afterpay ใช้งานง่ายและผสานการทํางานกับเฟรมเวิร์กการชําระเงินที่ธุรกิจมีอยู่ได้อย่างง่ายดายทั้งระบบแบบออนไลน์และที่จุดขาย หากต้องการใช้ Afterpay ลูกค้าจะต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีและมีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต Afterpay กําหนดวงเงินใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละรายตามความน่าเชื่อถือทางเครดิตเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบ

วิธีการชําระเงินด้วย Afterpay/Clearpay มีรูปแบบดังนี้

  • เลือกวิธีการชําระเงิน: ระหว่างการชําระเงินออนไลน์หรือในร้านค้า ลูกค้าจะเลือก Afterpay/Clearpay เป็นวิธีการชําระเงินที่ต้องการ หลังจากให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ Afterpay แล้ว ลูกค้าจะได้รับคำตัดสินเกี่ยวกับวงเงินใช้จ่ายโดยทันที วงเงินใช้จ่ายของลูกค้าอาจจะไม่เท่าเดิมเมื่อเวลาผ่านไป ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าใช้บัญชีของตัวเองอย่างไร ดังนั้น ระบบจะอัปเดตวงเงินใช้จ่ายของลูกค้าทุกครั้งที่ใช้บริการ

  • ชําระค่าสินค้า/บริการ: ลูกค้าสามารถชําระเงินด้วย Afterpay โดยชำระเพียง 25% ของยอดทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 75% จะแบ่งออกเป็น 3 งวดเท่าๆ กันโดยต้องชำระทุกๆ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้อาจมีค่าธรรมเนียมการชําระเงินล่าช้าด้วย ส่วนธุรกิจจะได้รับชำระเงินค่าสินค้า/บริการเต็มจํานวนล่วงหน้าจาก Afterpay/Clearpay

  • ส่งคืนสินค้าหรือบริการ: ธุรกิจแต่ละรายจะกําหนดนโยบายการคืนสินค้าของตัวเองสําหรับการซื้อสินค้า/บริการผ่าน Afterpay/Clearpay

  • ตรวจสอบผลกระทบด้านเครดิต: ลูกค้าควรทราบว่า Afterpay/Clearpay จะรายงานประวัติการชําระเงินไปยังเครดิตบูโร ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนเครดิตของลูกค้า

มีการใช้งาน Afterpay/Clearpay ในพื้นที่ใดบ้าง

Afterpay/Clearpay ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในภาคธุรกิจ BNPL บริษัทขยายตลาดไปยังภูมิภาคใหม่ๆ โดยใช้วิธีเจาะลึกพฤติกรรมของลูกค้าในพื้นที่ จับมือเป็นพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์กับธุรกิจต่างๆ และปรับการดําเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานกฎข้อบังคับที่แตกต่างกันไป โปรดดูการใช้งาน Afterpay ในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ดังต่อไปนี้

อเมริกาเหนือ

Afterpay มีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยในอเมริกาเหนือ โดยภาคธุรกิจ BNPL มีมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 นอกจากนี้ Afterpay ยังวางกลยุทธ์จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มและวิธีการชําระเงินยอดนิยมในอเมริกาเหนืออย่างเช่น Shopify และ WooCommerce รวมถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล เช่น Apple Pay และ Google Pay Afterpay พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในภูมิภาคนี้ และดำเนินงานตามระเบียบข้อบังคับที่หน่วยงานคุ้มครองทางการเงินสําหรับผู้บริโภคกําหนด

ยุโรป

ในบรรดาแอป BNPL Clearpay มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็นอันดับสองในยุโรป เป็นรองเพียงแค่Klarna Clearpay ออกแบบข้อเสนอให้เหมาะกับตลาดยุโรปแห่งละแห่งโดยผสานการทํางานกับวิธีการชําระเงินยอดนิยมในท้องถิ่น เช่น iDEAL และ Sofort รวมทั้งใช้แนวทางที่เป็นไปตามกฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ของสหภาพยุโรป

เอเชีย

Afterpay ให้บริการในตลาดเอเชียและน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดการณ์กันว่ามูลค่าของตลาด BNPL ในเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มขึ้นจาก 1.98 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 3.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2028 Afterpay จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับกระเป๋าเงินดิจิทัลรายใหญ่ เช่น WeChat Pay และ Alipay และเน้นให้บริการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกเพื่อรองรับวิธีการชำระเงินที่ลูกค้าในภูมิภาคนิยมใช้ ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังใช้ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์คาดการณ์พฤติกรรมของลูกค้ามายกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ด้วย

ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

Afterpay มีบทบาทอย่างโดดเด่นในนิวซีแลนด์ รวมถึงในประเทศบ้านเกิดอย่างออสเตรเลีย ซึ่งลูกค้า 40% ในรายงานต่างก็ใช้บริการ BNPL ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับจากเดือนเมษายน 2023 ในภูมิภาคเหล่านี้ Afterpay ใช้ประโยชน์จากการรับรู้แบรนด์และความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมทั้งจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ค้าปลีกรายใหญ่และเสนออัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท Afterpay ดําเนินงานโดยปฏิบัติตามข้อกําหนดของหน่วยงานด้านการเงินท้องถิ่น เช่น สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และการลงทุนของออสเตรเลีย (ASIC) ในออสเตรเลียและองค์การตลาดการเงิน (FMA) ในนิวซีแลนด์

ใครคือผู้ใช้ Afterpay/Clearpay

Afterpay/Clearpay พัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้นในระบบนิเวศการชําระเงิน โดยได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าอายุน้อย ผู้มีรายได้สูง และผู้อยู่อาศัยในเมือง ไม่เพียงเท่านั้นยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ต่างก็เสนอ Afterpay เป็นหนึ่งในวิธีการชําระเงิน นอกจากนี้ สายการบินและแพลตฟอร์มจองตั๋วเพื่อการเดินทาง ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและร้านขายยา หรือแม้แต่บริการสตรีมมิงและแหล่งบันเทิงต่างๆ ก็ผสานการทำงานกับระบบของ Afterpay เช่นกัน รายงานจาก Clearpay และ Accenture ในปี 2021 ระบุว่าลูกค้า Clearpay 47% ระบุว่าตนจะมองหาร้านค้าอื่นหรือไม่ส่งคําสั่งซื้อหากธุรกิจนั้นไม่เสนอให้ชำระเงินผ่าน Clearpay นี่จึงเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจเลือกนำเสนอวิธีการชําระเงินนี้

Afterpay เป็นบริการ BNPL ที่ได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าเนื่องจากใช้สะดวกและน่าเชื่อถือ โดยสามารถเลือกใช้ Afterpay/Clearpay ได้ทั้งกับการซื้อสินค้า/บริการที่จุดขายและทางออนไลน์ กลุ่มลูกค้าต่อไปนี้มีแนวโน้มที่จะใช้บริการมากที่สุด

  • ลูกค้าอายุน้อย: ตามรายงานของ Clearpay และ Accenture คนเจน Z และมิลเลนเนียลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของฐานลูกค้าของ Clearpay ลูกค้าวัยหนุ่มสาวเหล่านี้่มักเปิดใจทดลองใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ และเปลี่ยนมาใช้การชําระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ เช่น Afterpay/Clearpay ประสบความสำเร็จไม่น้อย

  • ผู้มีรายได้สูง: แพลตฟอร์มยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีรายได้สูง รายงานของ Clearpay และ Accenture แสดงให้เห็นว่า Clearpay มีลูกค้ากลุ่มรายได้สูงมากกว่ากลุ่มลูกค้าทั่วไปในสหราชอาณาจักร สาเหตุอาจเป็นเพราะลูกค้ามีกําลังซื้อเพิ่มขึ้น และผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มว่าจะเลือกช็อปปิ้งออนไลน์

ประโยชน์ของการรับชําระผ่าน Afterpay/Clearpay

ธุรกิจที่รับการชําระเงินผ่าน Afterpay/Clearpay อาจได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • เมตริกด้านยอดขายและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น: ธุรกิจที่รับชำระเงินแบบ BNPL เช่น Afterpay/Clearpay มักจะมียอดขายเพิ่มขึ้น โดย69% ของผู้ค้าปลีกในสหราชอาณาจักรรายงานว่าเมตริกด้านยอดขายและประสิทธิภาพของธุรกิจอย่างน้อย 1 รายการสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเสนอ BNPL เป็นวิธีการชําระเงิน

  • เข้าถึงฐานลูกค้าของ Afterpay/Clearpay: การยอมรับ Clearpay เป็นวิธีการชำระเงินช่วยให้ธุรกิจเจาะกลุ่มลูกค้าเจน Z และกลุ่มมิลเลเนียล ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% ของฐานลูกค้า Clearpay ไม่เพียงเท่านั้น การเสนอโซลูชันจาก Clearpay ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้ Clearpay บ่อยกว่าประชากรทั่วไปในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังคาดการณ์กันว่าการเติบโตของ Afterpay ในแอฟริกาและเอเชียจะช่วยให้ธุรกิจที่เสนอวิธีการชําระเงินนี้ขยายการเข้าถึงตลาดเหล่านั้นได้มากขึ้นด้วย

  • สร้างกระแสเงินสดได้ทันที: Afterpay/Clearpay จ่ายเงินให้กับธุรกิจเต็มจำนวน ซึ่งต่างจากระบบเครดิตหรือการโอนเงินผ่านธนาคารแบบเดิมๆ การชําระเงินในทันทีแบบนี้ช่วยเพิ่มความคล่องตัวของกระแสเงินสดได้อย่างมาก และอาจจะสําคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

  • อัตราการละทิ้งรถเข็นลดลง: การเสนอวิธีการชำระเงินแบบ BNPL ช่วยลดอัตราการละทิ้งรถเข็น เนื่องจากเป็นการขจัดอุปสรรคในการชำระเงินออกไป เมื่อพิจารณาจากอัตราการละทิ้งรถเข็นออนไลน์โดยเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70% แล้ว ตัวเลขที่ลดลงนี้ส่งผลกระทบต่อรายรับได้อย่างมาก

  • ลูกค้าภักดีต่อแบรนด์: ความสะดวกในการชําระเงินแบบ BNPL ช่วยเพิ่มอัตราการรักษาลูกค้าของธุรกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้ โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำใช้จ่ายมากกว่าลูกค้ารายใหม่โดยเฉลี่ยถึง 67%

  • ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน: ในตลาดที่การชำระเงินแบบ BNPL ยังเติบโตได้อีก ธุรกิจที่รับชําระเงินผ่าน Afterpay/Clearpay จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในหมู่ลูกค้าที่อ่อนไหวต่อราคา ทั้งนี้เป็นเพราะผู้คนมักจะมองว่า ธุรกิจที่เสนอโซลูชันการชําระเงินที่ทันสมัยนั้นยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและมีนวัตกรรมมากกว่า ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความโดดเด่นในตลาดต่างๆ ที่แบรนด์ประสบปัญหาในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

  • ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาด: การเป็นพาร์ทเนอร์กับ Afterpay/Clearpay ช่วยให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในรายละเอียด ซึ่งเผยให้เห็นแนวโน้มและความต้องการของลูกค้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง กลยุทธ์การตลาด หรือแม้แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์

  • ลดความรับผิด: Afterpay/Clearpay ช่วยธุรกิจลดความรับผิดทางการเงินโดยการให้ Afterpay/Clearpay รับความเสี่ยงด้านเครดิตแทน ความเสี่ยงที่ลดลงนี้อาจมีความสําคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากการจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตภายในบริษัทอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและซับซ้อนอย่างมาก

มาตรการรักษาความปลอดภัยของ Afterpay/Clearpay

Afterpay/Clearpay ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยหลายอย่างเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินและความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อมูล

  • การเข้ารหัสข้อมูล: Afterpay/Clearpay ใช้การเข้ารหัสขั้นสูง เช่น AES-256 เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลทั้งระหว่างการส่งและระหว่างจัดเก็บ การเข้ารหัสนี้จะแปลงข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น หมายเลขบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนบุคคลเป็นรหัสที่ปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อมูลรั่วไหล

  • การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ: Afterpay/Clearpay ปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสําหรับอุตสาหกรรมบัตรชําระเงิน (PCI DSS) ซึ่งกําหนดให้ต้องตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเป็นประจํา และดูแลให้แพลตฟอร์มมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสําหรับการจัดการข้อมูลของเจ้าของบัตร นอกจากนี้ยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลทั่วโลก เช่น GDPR ในยุโรป ซึ่งกําหนดให้ใช้มาตรการควบคุมที่รัดกุมในการจัดการข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

  • การตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัย (2FA): Afterpay/Clearpay ใช้ 2FA กับบัญชีของลูกค้าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกระดับ ผู้ใช้ไม่เพียงต้องกรอกรหัสผ่านและชื่อผู้ใช้เท่านั้น แต่ยังต้องใช้ปัจจัยที่ 2 เช่น โทเค็นจริงหรือวิธีการยืนยันตัวตนทางแอปมาตรวจสอบสิทธิ์ธุรกรรมด้วย มาตรการยืนยันตัวตนจะประกอบไปด้วยการยืนยันที่อยู่และโทรศัพท์ รวมถึงวิธีดิจิทัลอย่างการตรวจสอบสิทธิ์แบบ 3D Secure

  • การแปลงเป็นโทเค็น: Afterpay/Clearpay ใช้การแปลงเป็นโทเค็นในกระบวนการชําระเงิน วิธีการรักษาความปลอดภัยแบบนี้จะเปลี่ยนข้อมูลการชําระเงินที่ละเอียดอ่อนให้เป็นรหัสระบุหรือโทเค็นที่ไม่ซ้ำกัน แทนที่จะจัดเก็บหรือถ่ายโอนรายละเอียดบัตรของจริง

  • การตรวจสอบสิทธิ์ลูกค้าแบบรัดกุม (SCA): ในประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งคําสั่งว่าด้วยบริการชําระเงิฉบับปรับปรุง (PSD2) มีผลบังคับใช้ Afterpay/Clearpay จะนํา SCA มาปรับใช้ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์การชําระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยการยืนยันองค์ประกอบต่อไปนี้อย่างน้อย 2 รายการ ได้แก่ สิ่งที่ลูกค้าทราบ (เช่น รหัสผ่าน) สิ่งที่ลูกค้ามี (เช่น อุปกรณ์เคลื่อนที่) หรือสิ่งที่ลูกค้าเป็น (เช่น ข้อมูลไบโอเมตริก)

  • การตรวจสอบและอัปเดตด้านความปลอดภัยเป็นประจํา: Afterpay/Clearpay ตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเป็นประจําเพื่อระบุหาและแก้ไขช่องโหว่ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่ามาตรการป้องกันที่มีอยู่นั้นทันต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การประเมินและการทดสอบการเจาะข้อมูลเป็นประจําเป็นขั้นตอนหนึ่งในแนวทางการระบุและแก้ไขจุดอ่อนด้านการรักษาความปลอดภัยของ Afterpay

  • API ที่ปลอดภัยสําหรับธุรกิจ: Afterpay/Clearpay มีส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (API) สําหรับการผสานการทํางานกับแพลตฟอร์มของธุรกิจ API เหล่านี้ออกแบบมาเพื่อปกป้องข้อมูลที่ระบบของธุรกิจกับ Afterpay ถ่ายโอนแลกเปลี่ยนกัน

  • การคุ้มครองข้อมูลลูกค้า: Afterpay/Clearpay มีนโยบายสําหรับการป้องกันข้อมูลลูกค้า ซึ่งรวมถึงการจํากัดการเข้าถึงข้อมูลของบุคลากรที่ได้รับอนุญาตและใช้โซลูชันการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย

  • การจัดการความเสี่ยง: Afterpay/Clearpay ใช้การตรวจสอบธุรกรรมแบบเรียลไทม์ที่สามารถตรวจจับและตอบสนองต่อกิจกรรมที่ผิดปกติได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทางแพลตฟอร์มยังใช้ระบบให้คะแนนการฉ้อโกงขั้นสูงและเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องเมื่อได้รับข้อมูลใหม่ๆ ทำให้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ฟีเจอร์การจำกัดความถี่ยังคอยตรวจสอบรูปแบบธุรกรรม จึงช่วยเพิ่มการรักษาความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่งในการป้องกันธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง

  • เครื่องมือป้องกันการสูญเสียข้อมูล (DLP): Afterpay/Clearpay ยังมีเครื่องมือสําหรับป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลทั้งภายในและภายนอกด้วย

การทํางานกับ Afterpay/Clearpay

ธุรกิจต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดทางเทคนิค กฎหมาย และข้อบังคับบางอย่างจึงจะใช้ Afterpay/Clearpay เป็นวิธีการชำระเงินได้ ข้อกําหนดเบื้องต้น ได้แก่ ต้องเป็นธุรกิจจดทะเบียนและมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องในทุกภูมิภาคที่ดําเนินงาน รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น ขั้นตอนปฏิบัติว่าด้วยการฟอกเงิน (AML) ตลอดจนกระบวนการรู้จักลูกค้าของคุณ (KYC) และกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่น GDPR หรือกฎหมายความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (CCPA) นอกจากนี้ ธุรกิจจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกําหนดทางเทคนิคต่อไปนี้จึงจะร่วมงานกับ Afterpay ได้

  • ความเข้ากันได้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ: ธุรกิจที่ต้องการรับชําระเงินผ่าน Afterpay ต้องมีร้านค้าออนไลน์ที่รองรับ Afterpay/Clearpay มีปลั๊กอินและ API ที่จะผสานการทํางานกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป เช่น Shopify, WooCommerce และ Magento ซึ่งจะเชื่อมต่อเกตเวย์การชําระเงินของ Afterpay กับระบบการชําระเงินออนไลน์

  • การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เสถียร: สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียรจําเป็นอย่างมากต่อการประมวลผลธุรกรรมด้วย Afterpay/Clearpay อย่างราบรื่น

  • การปฏิบัติตามข้อกําหนด PCI DSS: ธุรกิจต้องปฏิบัติตาม PCI DSS เพื่อให้จัดการข้อมูลบัตรได้อย่างปลอดภัย

หากธุรกิจมีคุณสมบัติตามข้อกําหนดทางเทคนิคเหล่านี้ ธุรกิจจะเริ่มตั้งค่าเป็นผู้ค้าของ Afterpay/Clearpay ได้โดยทําตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ใบสมัครออนไลน์: ธุรกิจจะต้องส่งข้อมูลเบื้องต้นของธุรกิจและรายละเอียดทางการเงินไปยัง Afterpay/Clearpay ผ่านแบบฟอร์มใบสมัครออนไลน์ที่ปลอดภัย รวมทั้งยื่นหลักฐานยืนยันตัวตนของธุรกิจและการเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อยืนยันตัวตนของธุรกิจ ทีมของ Afterpay จะตรวจสอบใบสมัครและส่งคำตัดสินภายในระยะเวลาที่กําหนด

  • การตั้งค่าบัญชี: หากใบสมัครได้รับการอนุมัติ ธุรกิจจะต้องลงทะเบียนกับ Afterpay/Clearpay เพื่อสร้างบัญชีผู้ค้า โดยอาจมีการประเมินความมั่นคงทางการเงินและความน่าเชื่อถือทางเครดิตของธุรกิจในระหว่างกระบวนการนี้ หลังจากลงทะเบียนเสร็จแล้ว ธุรกิจจะต้องเปิดใช้งานบัญชีดังกล่าวเพื่อตั้งค่าการชําระเงิน

  • การเชื่อมต่อการทํางาน: จากนั้น ธุรกิจจะต้องเชื่อมต่อการทํางานของ Afterpay/Clearpay เข้ากับระบบการชําระเงินของตน โดยสามารถเลือกการเชื่อมต่อการทํางานด้วย API แบบต่างๆ หรือใช้ปลั๊กอินสําเร็จรูปสําหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยม ขึ้นอยู่กับว่าวิธีใดเหมาะกับความสามารถทางเทคนิคและแพลตฟอร์มของธุรกิจมากที่สุด การเชื่อมต่อการทํางานกับ Afterpay จะช่วยให้ธุรกิจเพิ่มวิธีการชําระเงินนี้ลงในขั้นตอนชําระเงินของตนได้ทั้งในร้านค้าและทางออนไลน์

  • การทดสอบก่อนการใช้งาน: ธุรกิจควรทําการทดสอบอย่างละเอียดก่อนเริ่มรับการชําระเงินจริง นอกจากนี้ยังควรยืนยันว่า Afterpay/Clearpay รองรับสกุลเงินและประเทศที่ธุรกิจทำธุรกรรมก่อนจะเชื่อมต่อการทํางานกับวิธีการชําระเงินนี้

ธุรกิจที่ใช้ Stripe เป็นผู้ประมวลผลการชําระเงิน สามารถตั้งค่า Afterpay/Clearpay ผ่าน Stripe ได้ โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ยืนยันว่ามีบัญชี Stripe ที่ใช้งานอยู่: ธุรกิจควรยืนยันว่าแพลตฟอร์มของตนรองรับการเชื่อมต่อการทํางานทั้งของ Stripe และ Afterpay/Clearpay และจะต้องเชื่อมต่อการทํางาน API ของ Stripe เข้ากับแพลตฟอร์ม หากยังไม่ได้ดําเนินการ

  • เปิดใช้งาน Afterpay/Clearpay เป็นวิธีการชําระเงิน: ธุรกิจต้องเปิดใช้งาน Afterpay ภายในบัญชี Stripe ซึ่งอาจจะต้องทำการยืนยันเพิ่มเติม

  • ทดสอบฟังก์ชันการทํางาน: ธุรกิจจะทดสอบฟังก์ชันของวิธีการชําระเงินได้ในสภาพแวดล้อมการทดสอบของ Stripe

  • ปฏิบัติตามข้อกําหนดของ PCI รวมทั้งกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่น: ธุรกิจสามารถแสดงข้อตกลงสำหรับผู้ใช้และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Stripe ไว้อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งครอบคลุมการใช้ Stripe และ Afterpay/Clearpay

  • ตรวจสอบธุรกรรมเป็นประจํา: หลังจากเริ่มใช้งาน ธุรกิจควรตรวจสอบปัญหาหรือรูปแบบที่ผิดปกติเป็นประจํา

ตัวเลือกอื่นๆ นอกเหนือจาก Afterpay/Clearpay

ตลาดหลักของ Afterpay แต่ละแห่งมีทางเลือกในการชําระเงินที่หลากหลาย ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ Afterpay เป็นผู้นําตลาด BNPL แต่ก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งหลายราย เช่น Zip, Humm และ Laybuy ส่วนในอเมริกาเหนือ Klarna และ Affirm เป็นคู่แข่งหลักในตลาด BNPL Afterpay/Clearpay มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อยในตลาด BNPL ของยุโรป ซึ่งมี Klarna เป็นเจ้าตลาด แต่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลังของสหราชอาณาจักร โดยที่คู่แข่งคือ Klarna และ Laybuy

คู่แข่งหลักของ Afterpay/Clearpay ได้แก่

  • Klarna: Klarna เป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้าน BNPL ในสวีเดนที่มีชื่อเสียงทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งยังมีตัวเลือกการชําระเงินคล้ายกับ Afterpay/Clearpay เช่น แผนการชําระเงิน “Pay in 4” และ “Pay in 30 days”

  • Zip: Zip เป็นผู้ให้บริการ BNPL ของออสเตรเลียที่กําลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีฐานที่มั่นในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา Zip มีตัวเลือกการชําระเงินที่หลากหลาย รวมถึงแผนผ่อนชําระแบบปลอดดอกเบี้ยในออสเตรเลีย (เลือกผ่อนชำระเป็นรายสัปดาห์ รายสองสัปดาห์ หรือรายเดือน) หรือการชำระเงินแบบ “Pay in 4” ในตลาดอื่นๆ

  • Sezzle: Sezzle คือบริษัท BNPL ในสหรัฐอเมริกาที่มีแผนการชำระเงินแบบ “Pay in 2,” “Pay in 4” และ “Pay Monthly” บริษัทเน้นให้บริการในตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้ขยายธุรกิจไปยังแคนาดาด้วยเช่นกัน

  • Affirm: Affirm คือผู้ให้บริการ BNPL ในสหรัฐอเมริกาที่มีบริการจัดหาเงินทุนระยะยาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเหมาะกับการซื้อที่มีมูลค่าสูง โดยบริษัทเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Peloton และ Wayfair

  • Laybuy: Laybuy เป็นบริษัท BNPL ในนิวซีแลนด์ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร และมีตัวเลือกการชําระเงินแบบ “Pay in 6”

  • บัตรเครดิต: ถึงแม้ว่าบัตรเครดิต จะมีข้อกําหนดและอัตราดอกเบี้ยแตกต่างจากบริการ BNPL แต่ยังคงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นการชำระเงินที่มีความยืดหยุ่น

  • บัตรเดบิตและการโอนเงินผ่านธนาคาร: ธนาคารบางแห่งมีฟีเจอร์ "ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง" ที่เชื่อมโยงกับบัตรเดบิตหรือบัญชีธนาคาร ซึ่งใช้ฟังก์ชันที่คล้ายคลึงกันกับบริการ BNPL

  • การจัดหาเงินทุนที่จุดขาย: ผู้ค้าปลีกบางรายเสนอบริการจัดหาเงินทุนของตนเองในขั้นตอนการชําระเงิน เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนบริการ BNPL

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe