การฉ้อโกงการชําระเงิน อาจเป็นภัยคุกคามการเงินธุรกิจและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า และการต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ต้องอาศัยโซลูชันป้องกันที่แยบยลและยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือกับกลยุทธ์ฉ้อโกงที่มิจฉาชีพเลือกใช้
การฉ้อโกงการชําระเงินอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การขโมยหมายเลขบัตรเครดิต เครื่องอ่านบัตรที่ไม่มีการป้องกัน ไปจนถึงอีเมลปลอมที่ประสงค์ร้าย ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในปี 2021 จาก Tessian แสดงให้เห็นว่าพนักงานในสหรัฐอเมริกาได้รับอีเมลเฉลี่ย 14 ฉบับต่อปี ที่บอกให้พวกเขาดําเนินการทางการเงินที่เป็นการฉ้อโกง ในบางอุตสาหกรรม ตัวเลขนี้จะสูงกว่ามาก โดยพนักงานขายปลีกได้รับอีเมลที่เป็นการฉ้อโกงโดยเฉลี่ย 49 ฉบับในแต่ละปี
การฟิชชิ่งเป็นหนึ่งในประเภทการฉ้อโกงการชําระเงินที่พบบ่อยที่สุด โดยคิดเป็น 44% ของการละเมิดข้อมูลทั้งหมดในปี 2020 การสกิมมิ่งหมายถึงการที่มิจฉาชีพบันทึกข้อมูลบัตรที่เครื่องเอทีเอ็มหรือเทอร์มินัลการชําระเงิน ซึ่งสร้างความสูญเสียให้ธุรกิจ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การขโมยตัวตนหมายถึงการที่ข้อมูลส่วนบุคคลถูกขโมยและนําไปใช้ในการฉ้อโกงการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน24% ของรายงานการฉ้อโกงเกือบ 6 ล้านรายการในปี 2021 ตามข้อมูลของ FTC เหล่านี้เป็นเพียงการฉ้อโกงการชําระเงินบางประเภทที่ธุรกิจต้องรับมือ
การฉ้อโกงการชําระเงินเป็นภัยคุกคามที่สําคัญ แต่ธุรกิจต่างๆ สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยกลยุทธ์การป้องกันที่มีประสิทธิภาพหลายแบบ ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรทราบเกี่ยวกับการฉ้อโกงการชําระเงินประเภทต่างๆ ที่พบบ่อย วิธีการทํางานของการฉ้อโกงเหล่านี้ และสิ่งที่คุณทําได้เพื่อปกป้องตัวเอง ธุรกิจ และลูกค้าของคุณ
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- การฉ้อโกงการชําระเงินคืออะไร
- ประเภทการฉ้อโกงการชําระเงิน
- ประโยชน์ของการป้องกันการฉ้อโกง
การฉ้อโกงการชําระเงินคืออะไร
การฉ้อโกงการชําระเงิน คือการฉ้อโกงทางการเงินประเภทหนึ่งที่ใช้ข้อมูลการชําระเงินเท็จหรือที่ขโมยมาเพื่อรับเงินหรือสินค้า การฉ้อโกงการชําระเงินอาจเกิดขึ้นได้จากหลายวิธี แต่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพขโมยข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคาร ปลอมแปลงเช็ค หรือใช้ข้อมูลระบุตัวตนที่ขโมยมาทําธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
ประเภทการฉ้อโกงในการชําระเงิน
มิจฉาชีพฉ้อโกงการชําระเงินด้วยหลายวิธี นี่คือตัวอย่างกลยุทธ์การฉ้อโกงที่พบบ่อยที่สุด
ฟิชชิ่ง
คืออะไร
ฟิชชิ่งคือการโจมตีทางวิศวกรรมทางสังคมประเภทหนึ่งที่ใช้กลยุทธ์หลอกลวงผู้คนด้วยวิธีการทางจิตวิทยา โดยมิจฉาชีพจะใช้อีเมล ข้อความ SMS หรือเว็บไซต์ฉ้อโกง เพื่อหลอกให้บุคคลทั่วไปเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลเข้าสู่ระบบและข้อมูลบัตรเครดิต
การโจมตีแบบฟิชชิ่งมักจะดําเนินการผ่านอีเมลที่ดูเหมือนว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารหรือร้านค้าออนไลน์ที่มีชื่อเสียง อีเมลอาจขอให้ผู้รับคลิกลิงก์เพื่ออัปเดตข้อมูลบัญชี ยืนยันธุรกรรมล่าสุด หรือรับรางวัล เมื่อผู้รับคลิกลิงก์ ระบบจะนําทางผู้รับไปยังเว็บไซต์ปลอมที่แจ้งให้ป้อนข้อมูลประจําตัวสําหรับเข้าสู่ระบบ ข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ
การโจมตีแบบฟิชชิ่งยังดําเนินการผ่านข้อความได้ หรือที่เรียกว่า "สมิชชิ่ง" หรือผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เรียกอีกอย่างว่า "ฟาร์มมิ่ง" ในกรณีเหล่านี้ ผู้โจมตีจะส่งข้อความหรือลิงก์ไปยังเว็บไซต์ฉ้อโกงที่ดูเหมือนจะเป็นเว็บไซต์ที่ถูกต้องเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือติดตั้งมัลแวร์ในอุปกรณ์
วิธีป้องกัน:
โปรดระมัดระวังเมื่อคลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์แนบจากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือน่าสงสัยเพื่อป้องกันการโจมตีแบบฟิชชิ่ง รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่มิจจาชีพนิยมใช้ เช่น การใช้ภาษาแสดงความเร่งด่วนหรือข่มขู่ คําที่สะกดผิด หรือลิงก์ที่น่าสงสัย การใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสก็ช่วยป้องกันการโจมตีแบบฟิชชิ่งได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับการฉ้อโกงการชําระเงินประเภทอื่น ๆ การหลอกลวงแบบฟิชชิ่งมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนก้าวหน้าและดูน่าเชื่อถือมากขึ้น บุคคลทั่วไปและธุรกิจจึงควรศึกษาหาความรู้และคอยให้ข้อมูลพนักงานเกี่ยวกับการฟิชชิ่ง ตลอดจนวิธีการสังเกตและหลีกเลี่ยงการโจมตีประเภทนี้
การสกิมมิ่ง
คืออะไร
การสกิมมิ่งเกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่องสกิมเมอร์ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต มิจฉาชีพจะติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์เข้ากับเครื่องอ่านบัตรที่ตู้เอทีเอ็มหรือเทอร์มินัลระบบบันทึกการขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน ช่องชําระเงินด้วยตัวเอง และเทอร์มินัลการชําระเงินอื่นๆ เครื่องสกิมเมอร์จะบันทึกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กของบัตร ซึ่งสามารถใช้สร้างบัตรปลอมหรือซื้อสินค้าที่เป็นการฉ้อโกงได้
นอกจากเครื่องสกิมเมอร์แล้ว มิจฉาชีพยังอาจใช้กล้องขนาดเล็กหรือโอเวอร์เลย์ติดตั้งเข้ากับตู้เอทีเอ็มหรือแป้นพิมพ์ของเทอร์มินัลชําระเงินเพื่อบันทึกรหัส PIN ของลูกค้า จากนั้นจึงนําข้อมูลนี้ไปใช้ร่วมกับข้อมูลของบัตรที่ขโมยมาเพื่อถอนเงินหรือซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต
วิธีป้องกัน:
การสกิมมิ่งอาจตรวจจับได้ยากเนื่องจากอุปกรณ์สกิมมิ่งมักจะมีขนาดเล็กและไม่สะดุดตา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีร่องรอยที่บ่งบอกว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์สกิมมิ่ง เช่น เครื่องอ่านบัตรหลวมหรือเสียหาย อุปกรณ์ผิดปกติไปจากเดิม หรือมีการติดตั้งเพิ่มเติมเข้ามาและเชื่อมต่อกับเทอร์มินัลการชําระเงิน หรืออุปกรณ์ดูแตกต่างจากเทอร์มินัลการชําระเงินอื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน
โปรดระมัดระวังเมื่อใช้เทอร์มินัลการชําระเงินและตู้เอทีเอ็ม รวมทั้งตรวจสอบร่องรอยการดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อป้องกันการสกิมมิ่ง ใช้มือบังแป้นพิมพ์เสมอขณะป้อน PIN วิธีนี้ช่วยป้องกันการบันทึกภาพโดยใช้กล้องได้
นอกจากนี้ควรตรวจสอบรายการเดินบัญชีธนาคารและบัตรเครดิตเป็นประจําเพื่อมองหาธุรกรรมที่น่าสงสัย และรายงานการสกิมมิ่งที่สงสัยไปที่ธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรชําระเงินโดยเร็วที่สุด
การชําระเงินด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือบัตรที่ใช้ชิป EMV ก็ป้องกันการสกิมมิ่งได้เช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีความปลอดภัยมากกว่าบัตรแบบใช้แถบแม่เหล็ก การตั้งค่าธุรกิจของคุณให้ยอมรับวิธีการชําระเงินที่ปลอดภัยเหล่านี้เป็นวิธีป้องกันการสกิมมิ่งอันทรงประสิทธิภาพ
การขโมยตัวตน
คืออะไร
การขโมยตัวตนเป็นการฉ้อโกงการชําระเงินประเภทหนึ่งที่มิจฉาชีพจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลหนึ่ง เช่น ชื่อ หมายเลขประกันสังคม หรือหมายเลขบัตรเครดิต และใช้ข้อมูลนี้ทําการซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเปิดบัญชีในชื่อเหยื่อ การขโมยตัวตนอาจมีผลกระทบทางการเงินและทางกฎหมายที่ร้ายแรงสําหรับเหยื่อ ทั้งยังทําให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลอย่างมาก
การขโมยตัวตนเป็นคําศัพท์กว้างๆ ที่อธิบายถึงกลยุทธ์การฉ้อโกงจํานวนมาก ตัวอย่างเช่น การโจมตีแบบฟิชชิ่งก็เป็นการขโมยตัวตนประเภทหนึ่ง การละเมิดข้อมูลซึ่งแฮ็กเกอร์จะได้รับสิทธิ์เข้าถึงฐานข้อมูลของบริษัทและขโมยข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากก็เป็นการขโมยข้อมูลตัวตนเช่นกัน การขโมยตัวตนด้วยวิธีการอื่น ๆ ยังรวมถึงการขโมยจดหมายการคุ้ยถังขยะ หรือการขโมยกระเป๋าถือหรือกระเป๋าเงิน เมื่อมิจฉาชีพได้รับข้อมูลส่วนตัวของบุคคลหนึ่งแล้ว พวกเขาจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเปิดบัญชีบัตรเครดิตใหม่ สมัครขอเงินกู้ หรือแม้กระทั่งยื่นแบบแสดงรายการภาษีอันเป็นเท็จ
วิธีป้องกัน:
ธุรกิจสามารถดําเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อป้องกันการขโมยตัวตน ขั้นแรกให้จัดเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัยโดยใช้การเข้ารหัสและมาตรการรักษาความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อป้องกันการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต ธุรกิจควรจํากัดการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเฉพาะพนักงานที่ต้องการข้อมูลเหล่านั้นสําหรับการทำงานเท่านั้น และต้องใช้รหัสผ่านที่รัดกุมและการตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัยสําหรับทุกบัญชีและระบบที่มีข้อมูลลูกค้าอยู่
การฝึกอบรมพนักงานเป็นสิ่งสําคัญในการป้องกันการขโมยตัวตน และควรมีแนวทางปฏิบัติแนะนำด้านความปลอดภัย เช่น วิธีการสังเกตอีเมลฟิชชิ่งและสร้างรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก
การติดตามตรวจสอบบัญชีลูกค้าเพื่อมองหากิจกรรมที่น่าสงสัย เช่น การเข้าสู่ระบบหรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัญชีที่ไม่ได้รับอนุญาต จะช่วยให้ธุรกิจตรวจจับการขโมยตัวตนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ การเลือกสแต็กเทคโนโลยีการชําระเงินที่เหมาะสมสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ธุรกิจสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรไปกับการตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงได้ Stripe Radar คือเทคโนโลยีด้านการตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงอันซับซ้อนที่รวมอยู่ในผลิตภัณฑ์การชําระเงิน Stripe ทั้งหมด รวมถึง Terminal ด้วย
สุดท้ายนี้ ธุรกิจควรมีแผนรับมือกับการละเมิดข้อมูล ซึ่งรวมถึงการแจ้งให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทราบและเสนอบริการป้องกันการขโมยตัวตน
การฉ้อโกงการดึงเงินคืน
คืออะไร
การฉ้อโกงการดึงเงินคืน หรือที่เรียกว่า "การปฏิเสธการชำระเงิน" จะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าโต้แย้งธุรกรรมที่ถูกต้อง โดยอ้างว่าลูกค้าไม่ได้ทําการซื้อด้วยตัวเอง หรือลูกค้าไม่ได้รับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ชําระเงินซื้อ ในบางกรณี ลูกค้าอาจได้รับเงินคืนในขณะที่ยังคงเก็บผลิตภัณฑ์หรือบริการไว้ ทําให้ธุรกิจขาดทุน การฉ้อโกงการดึงเงินคืนอาจส่งผลเสียทางการเงินอย่างมากต่อธุรกิจ โดยธุรกิจเหล่านี้อาจสูญเสียรายรับจากการขาย และอาจถูกดึงเงินคืนและบทลงโทษด้วย
การฉ้อโกงการดึงเงินคืนอาจเกิดขึ้นได้หลายวิธี วิธีที่พบได้บ่อยที่สุดคือลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง จากนั้นจึงโต้แย้งการเรียกเก็บเงินกับบริษัทบัตรเครดิตของตน โดยอ้างว่าสินค้าหรือบริการไม่ตรงหรือไม่ได้รับสินค้าหรือบริการนั้นเลย อีกวิธีคือลูกค้าตั้งใจใช้บัตรเครดิตที่ขโมยมาทําการซื้อสินค้าหรือบริการ จากนั้นโต้แย้งการเรียกเก็บเงินว่าเป็นรายการที่ไม่ได้รับอนุญาต
วิธีป้องกัน:
ธุรกิจควรยืนยันตัวตนของลูกค้าและตรวจสอบว่าลูกค้าเป็นเจ้าของบัตรเครดิตที่ใช้ในการซื้อสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการฉ้อโกงการดึงเงินคืน ซึ่งอาจรวมถึงการต้องเซ็นชื่อหรือใช้รหัส CVV สําหรับธุรกรรมที่ไม่ได้แสดงบัตรจริง หรือใช้เครื่องมือตรวจจับการฉ้อโกง เช่น การยืนยันที่อยู่หรือตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ IP ธุรกิจควรมีนโยบายการคืนเงินและการคืนสินค้าที่ชัดเจน รวมถึงขั้นตอนการจัดการการโต้แย้งการดึงเงินคืน ธุรกิจควรบันทึกธุรกรรมทั้งหมดไว้อย่างชัดเจน รวมถึงใบเสร็จ ข้อมูลการจัดส่ง และการสื่อสารกับลูกค้า ในกรณีที่ต้องส่งหลักฐานคัดค้านการโต้แย้งการดึงเงินคืน
การละเมิดอีเมลระดับธุรกิจ
คืออะไร
การละเมิดอีเมลระดับธุรกิจ (BEC) เป็นการฉ้อโกงการชําระเงินประเภทหนึ่งที่มิจฉาชีพจะส่งอีเมลหลอกให้พนักงานโอนเงินไปยังบัญชีฉ้อโกง ในการหลอกลวงด้วย BEC มิจฉาชีพจะสามารถเข้าถึงบัญชีอีเมลธุรกิจได้โดยมักจะใช้กลยุทธ์การฟิชชิ่งหรือวิศวกรรมสังคมออนไลน์ และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อส่งอีเมลไปให้พนักงานหรือผู้ให้บริการเพื่อขอให้โอนเงินระหว่างธนาคารหรือชําระเงินด้วยวิธีอื่นๆ
การหลอกลวงด้วย BEC มีหลายรูปแบบ มิจฉาชีพมักจะปลอมตัวเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือผู้ให้บริการ และส่งคําขอให้ชําระเงินหรือโอนเงินโดยเร่งด่วน อีเมลอาจเหมือนของจริงเพราะแสดงแบรนด์ของบริษัทและที่อยู่อีเมลดูคุ้นเคย แต่ถ้าพนักงานปฏิบัติตามคําแนะนําในอีเมล พวกเขาจะโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่ควบคุมโดยมิจฉาชีพ
การหลอกลวงด้วย BEC อาจตรวจจับได้ยาก เนื่องจากมิจฉาชีพมักใช้กลยุทธ์ทางวิศวกรรมทางสังคมที่ใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจในอํานาจหน้าที่ของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบางส่วนที่บ่งชี้ถึงการหลอกลวงแบบ BEC เช่น
- คําขอให้ดำเนินการชําระเงินแบบเร่งด่วน
- คำสั่งชําระเงินที่ผิดปกติ
- อีเมลมีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์หรือสะกดคําผิดปกติ
วิธีป้องกัน:
การป้องกัน BEC ต้องอาศัยกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติแนะนำหลายอย่างที่ธุรกิจควรนำมาใช้ป้องกันการฉ้อโกงประเภทอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับวิธีจำแนกและรายงานอีเมลที่น่าสงสัย รวมทั้งใช้โปรโตคอลการรักษาความปลอดภัยของอีเมลที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัยและการเข้ารหัส
ธุรกิจต่างๆ ควรมีขั้นตอนการอนุมัติการชําระเงินที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงการยืนยันคำสั่งชําระเงินผ่านช่องทางที่ 2 เช่น การโทรศัพท์หรือการสนทนาแบบตัวต่อตัว ขอแนะนําให้จัดทำคู่มือที่ชัดเจนสําหรับการขอชำระเงินภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำขอเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายเงิน
เช่นเดียวการฉ้อโกงทั้งหลาย เราจําเป็นต้องตรวจสอบบัญชีธนาคารเป็นประจําเพื่อมองหากิจกรรมที่น่าสงสัย และจัดเตรียมแผนรับมือกับการหลอกลวงแบบ BEC ด้วย ซึ่งรวมถึงการติดต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและแจ้งลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์ที่อาจได้รับผลกระทบ
การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
คืออะไร
การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง (CNP) คือการฉ้อโกงการชําระเงินประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพใช้ข้อมูลบัตรเครดิตที่ขโมยมาในการซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่ได้แสดงบัตรโดยตรง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ การฉ้อโกงแบบ CNP เริ่มพบเห็นได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอีคอมเมิร์ซสร้างผลลัพธ์ทางการเงินต่อธุรกิจอย่างมาก จึงส่งผลให้มีการดึงเงินคืนหรือการซื้อที่เป็นการฉ้อโกงตามมา
การฉ้อโกงแบบ CNP มักเกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพได้รับข้อมูลบัตรเครดิตที่ขโมยมาผ่านการละเมิดข้อมูลหรือวิธีการอื่นๆ และใช้ข้อมูลดังกล่าวมาทําการซื้อทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกวิธีหนึ่งคือมิจฉาชีพใช้กลยุทธ์การทำวิศวกรรมทางสังคม เช่น การฟิชชิ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลบัตรจากเหยื่อโดยตรง
วิธีป้องกัน:
ธุรกิจต่างๆ อาจใช้ขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อป้องกันการฉ้อโกงแบบ CNP
- ใช้เครื่องมือตรวจจับการฉ้อโกง เช่น การยืนยันที่อยู่หรือตําแหน่งที่ตั้ง IP เพื่อยืนยันตัวตนของลูกค้าและตรวจจับกิจกรรมที่น่าสงสัย
- ใช้โปรโตคอลการตรวจสอบสิทธิ์แบบรัดกุม ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัยและการแปลงเป็นโทเค็น เพื่อปกป้องข้อมูลบัตร
- จัดเก็บและบันทึกธุรกรรมทั้งหมดอย่างชัดเจนและเข้าถึงได้ ซึ่งรวมถึงข้อมูลการจัดส่งและการสื่อสารจากลูกค้า ในกรณีที่เกิดการโต้แย้งการดึงเงินคืน
- จัดทำนโยบายการคืนเงินและการคืนสินค้าที่ละเอียดและแจ้งต่อลูกค้าอย่างชัดเจน รวมถึงกระบวนการจัดการการดึงเงินคืนและธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง
ประโยชน์ของการป้องกันการฉ้อโกง
มาตรการป้องกันการฉ้อโกงช่วยให้ธุรกิจดําเนินงานได้อย่างสบายใจ ปกป้องสินทรัพย์ทางการเงินของธุรกิจและข้อมูลของลูกค้า ยกระดับชื่อเสียงของธุรกิจในสายตาของลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ประโยชน์ไม่ได้มีแค่นั้น ด้านล่างนี้เป็นภาพรวมเกี่ยวกับประโยชน์หลักๆ ที่ธุรกิจจะได้รับจากการใช้มาตรการป้องกันการฉ้อโกง
การปกป้องสินทรัพย์ทางการเงิน
การป้องกันการฉ้อโกงจะช่วยปกป้องทรัพย์สินทางการเงินของธุรกิจ การฉ้อโกงการชําระเงินอาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงในแต่ละครั้ง แต่เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น โอกาสที่จะเกิดการฉ้อโกงในวงกว้างอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามที่มากยิ่งขึ้นได้ การใช้มาตรการป้องกันการฉ้อโกงจะช่วยให้ธุรกิจลดความเสี่ยงในการสูญเสียทางการเงินและวางแผนสําหรับอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้นการปกป้องข้อมูลลูกค้า
ธุรกิจไม่เพียงปกป้องตัวเองเท่านั้นเมื่อลงทุนกับมาตรการตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงที่รัดกุม แต่ยังช่วยปกป้องลูกค้าได้ด้วย เพราะการฉ้อโกงการชําระเงินมักจะเกี่ยวข้องกับการขโมยข้อมูลลูกค้า เช่น หมายเลขบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนตัว การใช้มาตรการป้องกันการฉ้อโกงจึงช่วยให้ธุรกิจสามารถปกป้องข้อมูลของลูกค้า รวมทั้งสร้างความไว้วางใจและความภักดีของลูกค้าได้การลดการดึงเงินคืน
สำหรับธุรกิจต่างๆ แล้ว การดึงเงินคืนอาจไม่เพียงทำให้เกิดการสูญเสียรายรับและสินค้าเท่านั้น แต่ธุรกิจยังต้องเสียค่าธรรมเนียมและได้รับบทลงโทษเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ยังเสียเวลาและพลังงานในการจัดการปัญหาด้วย มาตรการป้องกันการฉ้อโกงสามารถป้องกันการดึงเงินคืนได้โดยการตรวจจับและป้องกันธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง และโดยการแสดงแนวโน้มและช่องโหว่การดึงเงินคืนการรักษาชื่อเสียงและความภักดีของลูกค้า
การพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดการฉ้อโกงจะเพิ่มความเชื่อใจของลูกค้าในธุรกิจ การฉ้อโกงการชําระเงินที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของธุรกิจได้ และบางครั้งก็ไม่สามารถกู้คืนมาได้ การนํามาตรการป้องกันการฉ้อโกงมาใช้เป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีความตั้งใจที่จะรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับแพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลส เนื่องจากลูกค้ามีลูกค้าเป็นของตนเองและชื่อเสียงที่ต้องรักษาไว้การปฏิบัติตามกฎระเบียบ
หลายอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เมื่อนํามาตรการป้องกันการฉ้อโกงมาใช้ ธุรกิจก็สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ได้ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงค่าปรับและบทลงโทษด้วย
ซึ่งโชคดีมากที่การป้องกันการฉ้อโกงที่รัดกุมจะมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยที่สุดสําหรับการรับและประมวลผลการชําระเงิน ติดตามคําสั่งซื้อของลูกค้า และจัดการข้อมูลทางการเงินของบริษัท รวมถึงข้อมูล Stripe ที่นําเสนอ โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายในการปรับใช้มาตรการเหล่านี้จะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการฉ้อโกงการชําระเงิน
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกี่ยวกับวิธีที่ Stripe Radar ปกป้องผลิตภัณฑ์ Stripe โดยใช้ข้อมูลจากบริษัทหลายล้านแห่งทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกงในทุกช่องทาง เริ่มต้นที่นี่
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ