Revenue recovery 101: A playbook for businesses

Billing
Billing

Stripe Billing ช่วยให้คุณเรียกเก็บเงินและจัดการลูกค้าได้ในทุกแบบที่ต้องการ ตั้งแต่การเรียกเก็บเงินแบบตามรอบไปจนถึงการเรียกเก็บเงินตามการใช้งาน และสัญญาการเจรจาการขาย

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. เหตุใดการกู้คืนรายรับจึงสําคัญต่อธุรกิจ
  3. สาเหตุของการสูญเสียรายรับที่พบบ่อย
  4. วิธีระบุหาสาเหตุของการสูญเสียรายรับในธุรกิจของคุณ
  5. กลยุทธ์ 7 ข้อในการการกู้คืนรายรับ
    1. การเรียกเก็บเงินและการติดตามหนี้ที่ดีขึ้น
    2. การคิดค่าบริการที่มีประสิทธิภาพ
    3. การดําเนินการที่มีประสิทธิภาพ
    4. ระบบอัตโนมัติและระบบจัดการรายได้
    5. การวิเคราะห์ข้อมูลและการรายงาน
    6. ประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีขึ้น
    7. การตลาดและการเข้าหาลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ
  6. ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้คืนรายรับ
  7. Stripe จะช่วยได้อย่างไร

การกู้คืนรายรับคือชุดของการดําเนินการที่ธุรกิจต้องทําเพื่อเรียกคืนรายได้ที่สูญเสียไปหรือเสี่ยงที่จะสูญเสีย ซึ่งโดยปกติมักเป็นการระบุหาและแก้ไขปัญหาที่ทําให้เกิดการสูญเสียรายรับ เช่น การชําระเงินที่ไม่สําเร็จ การสูญเสียลูกค้่่า หรือแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป้าหมายคือการลดความสูญเสียทางการเงินและเพิ่มโอกาสการหารายได้ให้สูงที่สุด โดยทั่วไปการกู้คืนรายรับยังรวมถึงความพยายามในการกู้คืนรายรับด้วยกระบวนการทางการเงินที่ดีขึ้น กลยุทธ์การรักษาลูกค้า และเทคโนโลยีที่ดำเนินการอัตโนมัติและปรับปรุงการเรียกเก็บเงิน และขั้นตอนการชําระเงิน จากข้อมูลของ MGI Research พบว่า ธุรกิจ 42% สูญเสียรายรับจากมาตรการที่ป้องกันได้ ซึ่งมักจะเรียกว่าการรั่วไหลของรายรับ

การสูญเสียรายรับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ แต่มียุทธวิธีและโซลูชันเทคโนโลยีหลายอย่างที่สามารถลดการสูญเสียรายรับอย่างไม่จําเป็น และยังช่วยเร่งการกู้คืนรายรับให้เร็วขึ้นได้ด้วย ด้านล่างนี้ เราจะอธิบายถึงวิธีจัดการการกู้คืนรายรับและการลดการสูญเสียรายรับ

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • เหตุใดการกู้คืนรายรับจึงสําคัญต่อธุรกิจ
  • สาเหตุของการสูญเสียรายรับที่พบบ่อย
  • วิธีระบุหาสาเหตุของการสูญเสียรายรับในธุรกิจของคุณ
  • กลยุทธ์การกู้คืนรายรับ 7 แบบ
  • ข้อพิจารณาทางกฎหมายในการการกู้คืนรายรับ
  • Stripe ช่วยอะไรได้บ้าง

เหตุใดการกู้คืนรายรับจึงสําคัญต่อธุรกิจ

ไม่ว่าคุณจะดําเนินธุรกิจประเภทใด คุณย่อมต้องการรักษารายรับให้ได้มากที่สุด หากไม่เช่นนั้นต่อผลกําไรของคุณอาจได้รับผลกระทบ การกู้คืนรายรับมีผลต่อธุรกิจอย่างไร

  • ผลกําไรที่ลดลงและต้นทุนโอกาส: รายรับที่ไม่มีการกู้คืนทำให้กําไรของธุรกิจลดลง โดยผลกําไรที่ลดลงนี้อาจจํากัดความสามารถของธุรกิจในการลงทุนด้านการดำเนินงานเพิ่ม สร้างนวัตกรรม หรือขยายธุรกิจ

  • กระแสเงินสดที่หยุดชะงัก: การกู้คืนรายรับที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทําให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระแสเงินสดได้ กระแสเงินสดช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้จ่ายเพื่อการดําเนินงาน จ่ายค่าจ้างให้พนักงาน และลงทุนเชิงกลยุทธ์ได้ การขาดกระแสเงินเข้าที่มั่นคงจะทำให้ประสิทธิภาพการดําเนินงานและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจอยู่ในความเสี่ยง

  • การจัดสรรทรัพยากรและประสิทธิผล: การไม่สามารถกู้คืนรายรับอาจหมายถึงธุรกิจจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ได้ผล โดยบ่งบอกถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการเรียกเก็บเงิน การติดตามหนี้ หรือกระบวนการขาย ซึ่งทําให้เสียเวลาและแรงงาน

  • การรับรู้ของตลาดและความน่าเชื่อถือ: ความสามารถในการจัดการการเงินของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการกู้คืนรายรับส่งผลต่อชื่อเสียงของธุรกิจ การจัดการทางการเงินที่ไม่ดีอาจเป็นอันตรายต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจกับนักลงทุน เจ้าหนี้ และพันธมิตรธุรกิจ

  • ความยั่งยืนในระยะยาว: การมีปัญหาเกี่ยวกับการกู้คืนรายรับอย่างต่อเนื่องอาจเป็นอันตรายต่อความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้รากฐานการเงินของธุรกิจอ่อนแอลง ทําให้ธุรกิจเปราะบางต่อความผันผวนของตลาดและเศรษฐกิจตกต่ำได้

สาเหตุของการสูญเสียรายรับที่พบบ่อย

การสูญเสียรายรับอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ ต่อไปนี้คือตัวอย่างที่พบบ่อยที่สุด

  • ขั้นตอนการเรียกเก็บเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ: ข้อผิดพลาดในการเรียกเก็บเงินอาจทําให้ออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการหรือสินค้าน้อยกว่ายอดจริงหรือไม่มีการออกใบแจ้งหนี้ ข้อผิดพลาดประเภทเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากระบบการเรียกเก็บเงินที่ล้าสมัยหรือไม่เพียงพอ

  • การจัดการบัญชีลูกหนี้ที่ไม่ดี: การติดตามและทวงถามการชำระเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทําให้เกิดการสูญเสียรายรับอย่างมีนัยสําคัญ ความบกพร่องในการติดตามการชําระเงินเหล่านี้อาจรวมถึงการติดตามบัญชีที่เลยกําหนดชําระ หรือการขาดกลยุทธ์การเรียกเก็บเงินอย่างเป็นระบบ

  • ปัญหาด้านการจัดส่งผลิตภัณฑ์หรือบริการ: หากธุรกิจไม่ได้ส่งมอบบริการหรือผลิตภัณฑ์ตามที่สัญญาไว้ อาจนําไปสู่การขอเงินคืน การคืนสินค้า หรือการยกเลิก ซึ่งส่งผลต่อรายรับ

  • ข้อผิดพลาดด้านกลยุทธ์ค่าบริการ: การตั้งราคาไม่ถูกต้อง เช่น ตั้งค่าราคาต่ำเกินไปหรือไม่ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดอาจทําให้เกิดการสูญเสียรายรับ นอกจากนี้ ข้อผิดพลาดด้านกลยุทธ์ค่าบริการยังรวมถึงการไม่ใช้โอกาสปรับราคาสูงขึ้นเมื่อตลาดเอื้อให้ทำได้

  • การบริหารจัดการสัญญาและข้อกําหนด การขาดการบริหารจัดการสัญญาและข้อกําหนดกับลูกค้าและซัพพลายเออร์อย่างเหมาะสมอาจทําให้รายรับเกิดการรั่วไหลได้ โดยอาจเกิดจากการต่อรองที่ไม่ดี ข้อกําหนดที่ไม่ชัดเจน หรือการไม่สามารถบังคับใช้บทลงโทษในกรณีที่ชําระเงินที่ล่าช้า

  • การฉ้อโกงและการโจรกรรม: การฉ้อโกงภายในหรือการฉ้อโกงภายนอก ตั้งแต่การโจรกรรมโดยพนักงานไปจนถึงอาชญากรรมไซเบอร์ที่มุ่งเป้าการเงินของธุรกิจอาจเป็นที่มาของการสูญเสียรายได้

  • การเปลี่ยนแปลงของตลาดและอุปสงค์: การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มตลาดหรือความต้องการของลูกค้าอาจทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการบางอย่างลดลง ซึ่งส่งผลเสียต่อรายรับหากธุรกิจปรับตัวไม่ทัน

  • การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและค่าปรับ: การไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของอุตสาหกรรมอาจทำให้ต้องเสียค่าปรับและค่าธรรมเนียมทางกฎหมายจำนวนมากซึ่งทำให้รายรับลดลง

วิธีระบุหาสาเหตุของการสูญเสียรายรับในธุรกิจของคุณ

แล้วคุณจะระบุได้อย่างไรว่าธุรกิจเกิดการสูญเสียรายรับที่ตรงไหน ต่อไปนี้คือขั้นตอนในการหาที่มาของการสูญเสียรายรับ

  • ดําเนินการตรวจสอบทางการเงินอย่างละเอียด: ตรวจสอบงบการเงินและบัญชีอย่างละเอียด มองหาข้อมูลคลาดเคลื่อน รูปแบบที่ผิดปกติ หรือจุดที่รายรับดูเหมือนจะต่ำกว่าที่คาดไว้ การตรวจสอบนี้ควรครอบคลุมการเงินของธุรกิจทั้งหมดของคุณ รวมถึงยอดขาย การเรียกเก็บเงิน บัญชีลูกหนี้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ

  • วิเคราะห์ขั้นตอนการเรียกเก็บเงินและการติดตามหนี้: ตรวจสอบขั้นตอนการเรียกเก็บเงินและติดตามหนี้ เพื่อหาจุดที่ขาดประสิทธิภาพหรือข้อผิดพลาด ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในการออกใบแจ้งหนี้ ความตรงต่อเวลาของการเรียกเก็บเงิน และประสิทธิภาพในการติดตามหนี้

  • ประเมินความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของลูกค้า: ความคิดเห็นของลูกค้าสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจุดที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียรายรับ เช่น ความไม่พึงพอใจในผลิตภัณฑ์หรือบริการ ปัญหาเกี่ยวกับการส่งมอบ หรือข้อผิดพลาดในการเรียกเก็บเงิน

  • ติดตามแนวโน้มตลาดและพฤติกรรมของลูกค้า: ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มตลาดและความต้องการของลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูลยอดขายและการวิจัยตลาด จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของความต้องการซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายรับของคุณ

  • ตรวจสอบสัญญาและข้อตกลง ตรวจสอบสัญญาและข้อตกลงทั้งหมดที่ทำกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรธุรกิจอย่างละเอียด เพราะเงื่อนไขที่ทำไม่ได้ตามกำหนด ช่องว่าง เหรือข้อสัญญาที่ไม่มีการบังคับใช้อาจทําให้รายรับรั่วไหลได้

  • สืบสวนการฉ้อโกงหรือการโจรกรรม: จัดให้มีการตรวจตราและตรวจสอบเพื่อหากรณีการฉ้อโกงหรือการโจรกรรมทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจสอบทางการเงินเป็นประจํา การติดตามตรวจสอบธุรกรรม และการจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อการคุ้มครองข้อมูล

  • ปรึกษาฝ่ายและทีมต่างๆ: รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในองค์กรของคุณ โดยเฉพาะในฝ่ายขาย ฝ่ายบริการลูกค้า และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในด้านที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้สามารถให้ความคิดเห็นได้จากหลากหลายมุมมอง

  • ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล: ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลด้านการเงินและการดำเนินงานชุดใหญ่ เครื่องมือเหล่านี้ช่วยระบุรูปแบบและความผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงแหล่งที่มาของการสูญเสียรายรับได้

กลยุทธ์ 7 ข้อในการการกู้คืนรายรับ

เมื่อพิจารณาได้แล้วว่ากำลังสูญเสียรายรับจากจุดไหน ก็ให้ดำเนินการแก้ไข อย่าแก้ไขแค่ปัญหาที่มีอยู่ แต่ให้พิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย ต่อไปนี้คือกลยุทธ์ 7 ข้อในการจัดการสถานการณ์ทั้งสองแบบ

การเรียกเก็บเงินและการติดตามหนี้ที่ดีขึ้น

  • ยกเครื่องขั้นตอนการเรียกเก็บเงินใหม่: ทบทวนขั้นตอนการเรียกเก็บเงินอีกครั้งเพื่อระบุหาส่วนที่ต้องปรับปรุง โดยอาจต้องทำการอัปเดตซอฟต์แวร์ ปรับรอบการเรียกเก็บเงิน หรือปรับปรุงใบแจ้งหนี้ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการเรียกเก็บเงินถูกต้องและตรงเวลา

  • เสริมสร้างงานด้านการติดตามหนี้: จัดทำขั้นตอนการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้การแจ้งเตือนที่สุภาพแต่ต่อเนื่องสำหรับการชําระเงินที่เลยกําหนดชําระ และกําหนดเงื่อนไขการชำระเงินที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์กับลูกค้า

  • ใช้ระบบอัตโนมัติเท่าที่ทำได้: ระบบอัตโนมัติช่วยปรับปรุงการเรียกเก็บเงินและการติดตามหนี้ได้ ใช้ซอฟต์แวร์ที่สร้างและส่งใบแจ้งหนี้ ติดตามการชําระเงิน และแจ้งเตือนคุณถึงบัญชีที่เลยกําหนดชําระ วิธีนี้ช่วยประหยัดเวลาและลดความผิดพลาดจากการใช้คนทำงาน

  • ให้บริการตัวเลือกการชําระเงินที่หลากหลาย: ให้ลูกค้าชําระเงินได้ง่ายด้วยวิธีการชําระเงิน ที่ตนต้องการ ซึ่งอาจประกอบด้วยการชําระเงินออนไลน์ การโอนเงินผ่านธนาคาร หรือแผนการผ่อนชําระสําหรับใบแจ้งหนี้ที่มียอดสูง

  • ฝึกอบรมพนักงานให้สื่อสารอย่างประสิทธิภาพ: การสร้างทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมด้านการบริการลูกค้าและการเจรจา จะช่วยให้พนักงานของคุณจัดการการชําระเงินล่าช้าและเจรจาเงื่อนไขการชําระเงินได้

  • ตรวจสอบและอัปเดตนโยบายอยู่เป็นประจํา:0 ประเมินและอัปเดตนโยบายการเรียกเก็บเงินและการติดตามหนี้ของคุณเป็นประจํา เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้คุณยังควรตรวจสอบสัญญาของลูกค้าเพื่อให้มั่นใจว่ามีการระบุเงื่อนไขการชําระเงินไว้อย่างชัดเจนและมีผลบังคับใช้

  • ติดตั้งระบบการควบคุมเครดิต: สร้างขั้นตอนการควบคุมเครดิตเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของลูกค้าใหม่และกําหนดวงเงินที่เหมาะสม วิธีนี้จะช่วยลดอัตราการไม่ชำระหนี้และช่วยให้คุณจัดการเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • จัดการบัญชีที่ผิดนัดชำระ: จัดทํากลยุทธ์เพื่อจัดการบัญชีผิดนัดชำระ ซึ่งอาจรวมถึงการแจ้งเตือนการชำระเงิน การเจรจาแผนการชำระเงิน หรือการทํางานร่วมกับตัวแทนติดตามหนี้

การคิดค่าบริการที่มีประสิทธิภาพ

  • การวิเคราะห์ตลาดในเชิงลึก: ศึกษาตลาดของคุณอย่างละเอียด รวมถึงการกําหนดราคาของคู่แข่ง ความคาดหวังของลูกค้า และแนวโน้มอุตสาหกรรม การเข้าใจตลาดจะทำให้คุณตั้งราคาที่แข่งขันได้โดยที่ยังทํากําไรได้

  • ค่าบริการตามกลุ่มลูกค้า: ลองใช้กลยุทธ์ค่าบริการตามกลุ่มลูกค้า กลุ่มลูกค้าที่ต่างกันอาจมีความยินดีที่จะจ่ายแตกต่างกัน การปรับราคาให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า เช่น ลูกค้าระดับพรีเมียม ลูกค้าที่มีความละเอียดอ่อนต่องบประมาณ หรือลูกค้าที่ซื้อจํานวนมาก สามารถเพิ่มรายรับให้ดีขึ้นได้

  • โมเดลค่าบริการแบบผันแปร: พิจารณาใช้โมเดลค่าบริการแบบผันแปรหากเป็นไปได้ ซึ่งหมายถึงการปรับราคาตามปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานแบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น ค่าบริการอาจสูงขึ้นในช่วงที่มีปริมาณความต้องการสูงและลดลงในช่วงที่ปริมาณการใช้งานไม่สูง การคิดราคาคงที่นานเกินไปอาจทําให้พลาดโอกาสด้านรายรับหรือทำให้ค่าบริการไม่สอดคล้องกับคู่แข่ง

  • ค่าบริการตามคุณค่า: เปลี่ยนไปใช้การตั้งราคาตามมูลค่าโดยกําหนดราคาตามมูลค่าที่ลูกค้ารับรู้ แทนการอ้างอิงจากต้นทุนการผลิตหรือราคาตลาดเป็นหลัก การคิดค่าค่าบริการแบบนี้ช่วยเพิ่มรายรับจากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าสูงได้

  • เทคนิคการกําหนดราคาตามหลักจิตวิทยา: ใช้กลยุทธ์การกําหนดราคาตามหลักจิตวิทยา งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการตั้งราคาผลิตภัณฑ์ต่ํากว่าเลขจำนวนเต็มเล็กน้อย (เช่น 19.99 แทนที่จะเป็น 20 ดอลลาร์) ช่วยกระตุ้นยอดขายได้เนื่องจากลูกค้าไม่ค่อยสังเกตทศนิยมหลักสุดท้าย

  • การจัดชุดผลิตภัณฑ์และการขายพ่วง: สํารวจโอกาสขายผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบจัดชุดและการขายพ่วง การจัดชุดผลิตภัณฑ์ช่วยเพิ่มคุณค่าที่ลูกค้ารับรู้ ในขณะที่การขายที่พ่วงเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์เสริมให้ลูกค้าซึ่งทำให้เกิดการซื้อโดยรวมในปริมาณมากขึ้น

  • สัญญาและข้อตกลงค่าบริการที่ปรับให้เหมาะกับลูกค้า: สําหรับการขายแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ให้พิจารณาทำสัญญาและข้อตกลงค่าบริการที่ปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการและศักยภาพของลูกค้าธุรกิจแต่ละราย โดยข้อตกลงเหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายรับไปพร้อมๆ กับการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้น

  • วงจรคําติชมและข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้า: สร้างวงจรคําติชมเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้าเกี่ยวกับการตั้งราคา การทราบถึงการรับรู้และความอ่อนไหวของลูกค้าจะเป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนและสร้างนวัตกรรมในกลยุทธ์การกําหนดราคาได้

  • ใช้การวิเคราะห์การตั้งราคา วิเคราะห์ข้อมูลการกำหนดราคาระดับสูง เพื่อดูว่ากลยุทธ์การกำหนดราคาแต่ละแบบมีประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร เครื่องมือเหล่านี้ช่วยระบุหาโมเดลค่าบริการที่สร้างผลกําไรสูงสุดและช่วยในการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

การดําเนินการที่มีประสิทธิภาพ

  • การวิเคราะห์กระบวนการอย่างครอบคลุม: เริ่มต้นด้วยการประเมินกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมดโดยละเอียด ระบุหาส่วนที่ขาดประสิทธิภาพ มีความซ้ำซ้อน หรือมีปัญหาคอขวดซึ่งทําให้เกิดความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การวิเคราะห์นี้ควรครอบคลุมปัจจัยต่างๆ เช่น ด้านการผลิต การส่งมอบบริการ และการบริหารจัดการ

  • หลักการจัดการแบบลีน: ใช้หลักการจัดการแบบลีนเพื่อลดการสูญเปล่าและปรับปรุงประสิทธิผลในกระบวนการ การใช้ทรัพยากร และขั้นตอนการทำงาน

  • การผสานการทํางานเทคโนโลยีและการอัปเกรด: ลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการดําเนินงาน ซึ่งอาจรวมถึงการอัปเกรดเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้ระบบอัตโนมัติกับงานที่ทำซ้ำๆ และการบูรณาการงานด้านต่างๆ ของธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเพื่อการประสานงานที่ดีขึ้น

  • การเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน: ตรวจสอบและปรับปรุงซัพพลายเชนของคุณ เจรจากับซัพพลายเออร์ให้ได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น พิจารณาใช้แหล่งจัดหาวัสดุอื่นๆ เพื่อประหยัดต้นทุน และปรับปรุงโลจิสติกส์ให้คล่องตัวเพื่อลดระยะเวลาการส่งมอบสินค้าและต้นทุน

  • การฝึกอบรมพนักงานและการให้อํานาจ: ส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะและให้อํานาจในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อการทํางานตามความจำเป็น พนักงานที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีและได้รับมอบอำนาจจะสามารถระบุหาและแก้ไขความไม่มีประสิทธิภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

  • ระบบควบคุมคุณภาพ: เริ่มต้นหรือปรับปรุงระบบการควบคุมคุณภาพ การป้องกันข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์หรือบริการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำซ้ำใหม่และช่วยปกป้องชื่อเสียงของแบรนด์ซึ่งอาจส่งผลต่อรายรับโดยอ้อม

  • จ้างงานคนนอกสำหรับงานที่ไม่ใช่กิจกรรมหลัก: พิจารณาจ้างงานภายนอกสำหรับงานที่ไม่ใช่กิจกรรมหลัก การกระจายงาน เช่น บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) งานด้านทรัพยากรบุคคล (HR) หรือการทําบัญชีให้กับบริษัทเฉพาะทาง จะช่วยให้คุณมุ่งเน้นธุรกิจหลักและลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้

  • ออกแบบกระบวนการที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง: ออกแบบกระบวนการใหม่โดยมุ่งเน้นที่ประสบการณ์ของลูกค้า กระบวนการที่ราบรื่นและเป็นมิตรกับลูกค้าช่วยเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้าได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายรับได้ด้วย

ระบบอัตโนมัติและระบบจัดการรายได้

  • การใช้ระบบอัตโนมัติอย่างรอบคอบ: ประเมินธุรกิจของคุณอย่างถี่ถ้วนว่าส่วนใดของธุรกิจ เช่น การออกใบแจ้งหนี้ การจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า การควบคุมสินค้าคงคลัง หรือการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดูว่าส่วนใดจะได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบอัตโนมัติ ใช้ระบบอัตโนมัติกับงานที่ทำซ้ำๆ และใช้เวลานาน เพื่อให้พนักงานมีเวลากับงานที่ซับซ้อนมากขึ้น

  • ระบบการจัดการรายได้ขั้นสูง (RMS): ใช้ RMS ประสิทธิภาพสูงซึ่งสามารถจัดการกลยุทธ์กำหนดราคาที่ซับซ้อน การแบ่งส่วนลูกค้า และการคาดการณ์รายรับ ระบบเหล่านี้ควรให้การวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีข้อมูลประกอบ

  • การผสานการทํางานกับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจ: ใช้ตัวเลือกระบบอัตโนมัติและ RMS ที่สามารถผสานการทํางานกับระบบธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) และระบบการจัดการซัพพลายเชน การผสานการทํางานนี้ช่วยให้มีการส่งต่อข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมในทุกส่วนงานในการดำเนินธุรกิจ

  • การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล: ใช้ฟังก์ชันการวิเคราะห์ข้อมูลของ RMS เพื่อติดตามรูปแบบรายรับ พฤติกรรมของลูกค้า และแนวโน้มตลาด ใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ และระบุหาโอกาสในการสร้างรายรับใหม่ๆ

  • การปรับแต่งและการขยายขนาด: เลือก RMS และโซลูชันระบบอัตโนมัติที่ปรับแต่งตามความต้องการของธุรกิจได้ และปรับขนาดได้เมื่อธุรกิจของคุณเติบโตขึ้น เพื่อให้การลงทุนในโซลูชันเหล่านี้สร้างคุณค่าให้อย่างต่อเนื่อง

การวิเคราะห์ข้อมูลและการรายงาน

  • พัฒนากลยุทธ์ข้อมูลที่ครอบคลุม: สร้างกลยุทธ์สําหรับการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยพิจารณาว่าข้อมูลใดเกี่ยวข้องกับเป้าหมายด้านรายรับของคุณมากที่สุด วิธีการเก็บรวบรวม และวิธีที่จะใช้วิเคราะห์ข้อมูลนั้น มุ่งเน้นที่ข้อมูลคุณภาพซึ่งจะเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ดําเนินการได้จริง

  • ลงทุนในเครื่องมือการวิเคราะห์ขั้นสูง: ใช้เครื่องมือขั้นสูงที่จัดการชุดข้อมูลขนาดใหญ่และวิเคราะห์ที่ซับซ้อนได้ คุณควรจะได้เห็นภาพและมีรายงานที่ตีความได้ง่ายเพื่อให้สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การติดตามประสิทธิภาพด้านรายรับเป็นประจํา: จัดให้มีระบบติดตามตัวชี้วัดด้านรายรับเป็นประจำ ซึ่งรวมถึงการติดตามตัวเลขยอดขาย อัตรากําไร ต้นทุนการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ และตัวบ่งชี้ทางการเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การติดตามอย่างสม่ำเสมอจะช่วยระบุหาแนวโน้มและทำให้แก้ไขปัญหาได้ทันที

  • การแบ่งกลุ่มลูกค้าและการวิเคราะห์พฤติกรรม: วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อระบุกลุ่มลูกค้าและพฤติกรรมของลูกค้า ดูรูปแบบการซื้อ ความต้องการ และความคิดเห็น ข้อมูลนี้ช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ที่ตรงเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายรับจากลูกค้าแต่ละกลุ่ม

  • การเปรียบเทียบกับคู่แข่ง: ใช้ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับคู่แข่ง การทราบว่าคุณอยู่ตรงไหนในตลาดจะช่วยให้คุณหาจุดที่ต้องปรับปรุงและโอกาสในการเติบโตได้

  • การวิเคราะห์แนวโน้มเชิงคาดการณ์: ใช้เครื่องมือวิเคราะห์เชิงคาดการณ์เพื่อคาดการณ์แนวโน้มและพฤติกรรมของตลาด แนวทางเชิงรุกนี้จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้

  • การผสานแหล่งข้อมูลเพื่อมุมมองแบบองค์รวม: ผสานข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริการลูกค้า และฝ่ายการเงิน มุมมองข้อมูลแบบองค์รวมช่วยให้มองเห็นภาพรวมของสถานะธุรกิจและแนวโน้มด้านรายรับอย่างแม่นยำขึ้น

ประสบการณ์ของลูกค้าที่ดีขึ้น

  • การรู้ลึกถึงความต้องการของลูกค้า: ใช้เวลาทําความเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการและคาดหวังจากธุรกิจของคุณ ความรู้นี้ลึกซึ้งกว่าความคาดหวังเกี่ยวกับบริการขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นความเข้าใจความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับความต้องการและความท้าทายของลูกค้า

  • ปรับแต่งการส่งมอบบริการ: ปรับแต่งการโต้ตอบให้เหมาะกับลูกค้าเป็นรายบุคคล ใช้ข้อมูลของลูกค้าเพื่อปรับแต่งการสื่อสาร ข้อเสนอ และบริการสนับสนุน การปรับแต่งให้เหมาะกับลูกค้าทำให้ลูกค้ารู้สึกมีคุณค่า ได้รับความเข้าใจ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดความภักดี และยังอาจช่วยเพิ่มรายได้จากการซื้อซ้ำ งานวิจัยจาก McKinsey & Co. พบว่าธุรกิจที่เก่งเรื่องการปรับแต่งให้เหมาะกับรายบุคคลสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 40% จากกิจกรรมดังกล่าว

  • วงจรคําติชม: สร้างวงจรคําติชมที่มีประสิทธิภาพ กระตุ้นและช่วยให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็นได้ง่าย ฟังสิ่งที่ลูกค้าพูดอย่างตั้งใจและแสดงให้เห็นว่าคุณนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

  • ความเข้าอกเข้าใจและการแก้ไขปัญหา: ฝึกอบรมพนักงานของคุณไม่เพียงแค่บทบาททางด้านเทคนิค แต่ให้อบรมเรื่องความเข้าอกเข้าใจและการแก้ไขปัญหาด้วย ทีมที่เข้าใจลูกค้าและแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กลายเป็นประสบการณ์ที่ดีได้

  • การแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว: มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของลูกค้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีขั้นตอนการจัดการข้อร้องเรียนและการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องที่จําเป็นได้โดยไม่ต้องมีขั้นตอนแบบระบบราชการมากเกินไป

  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการที่ดีกว่า: ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้บริการลูกค้าเพิ่มเติม ซึ่งอาจรวมถึง Chatbots ที่ตอบสนองได้ทันที ระบบ CRM ที่ใช้ติดตามการโต้ตอบของลูกค้า และตัวเลือกแบบบริการตัวเองสําหรับลูกค้าที่ต้องการแบบนั้น

  • มาตรฐานการบริการที่สม่ำเสมอและมีคุณภาพสูง:4 คุณภาพการบริการลูกค้าที่สม่ำเสมอช่วยสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือในหมู่ลูกค้า

  • สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า: สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าแทนที่แค่ทำธุรกรรม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นสามารถนําไปสู่มูลค่าตลอดอายุการเป็นลูกค้าและการแนะนำแบบปากต่อปาก

  • เข้าหาลูกค้าเชิงรุก: อย่ารอให้ลูกค้ามาพบคุณเมื่อมีปัญหา แต่ให้เข้าไปดูแลลูกค้าในเชิงรุก ความช่วยเหลือ คําแนะนํา และข้อมูลเชิงลึกจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นต่อสินค้าหรือบริการของคุณ

  • วัดและปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้า: วัดความพึงพอใจของลูกค้าเป็นประจําผ่านแบบสํารวจ คะแนนผู้สนับสนุนสุทธิ และตัวชี้วัดอื่นๆ ใช้ข้อมูลนี้ในการปรับแนวทางการบริการลูกค้าให้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าให้ความสําคัญมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง

การตลาดและการเข้าหาลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ

  • กลยุทธ์การตลาดแบบเจาะจงเป้าหมาย: จัดทํากลยุทธ์การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลซึ่งมุ่งเป้าไปที่กลุ่มประชากรหลักของคุณ การปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ จะทําให้การทําการตลาดของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น ติดตามประสิทธิภาพของแคมเปญ ศึกษาว่าอะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผล และปรับแต่งกลยุทธ์ตามข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้

  • การตลาดผ่านเนื้อหาและการเล่าเรื่อง: ใช้การตลาดผ่านเนื้อหาและการเล่าเรื่องเพื่อดึงดูดผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ ผลลัพธ์ของลูกค้า หรือเรื่องราวว่าสินค้าหรือบริการของคุณช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร การเล่าเรื่องจะช่วยสร้างจุดเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ

  • ใช้ช่องทางการตลาดดิจิทัล: ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากช่องทางการตลาดดิจิทัล เช่น โซเชียลมีเดีย การตลาดทางอีเมล การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือค้นหา (SEO) และการโฆษณาทางออนไลน์ ช่องทางเหล่านี้จะช่วยให้คุณติดต่อกับกลุ่มเป้าหมายจํานวนมากได้ในราคาที่ค่อนข้างต่ํา

  • สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ที่เข้มแข็ง: ตัวตนบนโลกออนไลน์ของคุณ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์และโปรไฟล์โซเชียลมีเดียควรที่จะดูดี อัปเดต และน่าสนใจ ตัวตนบนโลกออนไลน์ของคุณมักเป็นช่องทางการติดต่อแรกของผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า จึงควรสร้างความประทับใจที่ดี

  • การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ: พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ความสัมพันธ์เหล่านี้เปิดโอกาสทางการตลาดและเพิ่มการเข้าถึงให้กับคุณได้

  • ลูกค้าบอกต่อและโปรแกรมแนะนําเพื่อน: ลูกค้าที่พึงพอใจเป็นนักการตลาดที่ดีที่สุดของคุณ จัดทำโปรแกรมแนะนำเพื่อนที่ให้สิ่งจูงใจกับลูกค้าที่แนะนะลูกค้าใหม่ให้คุณ

  • ความสัมพันธ์กับชุมชนและโครงการ CSR: โครงการริเริ่มด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และกิจกรรมในพื้นที่ทําให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์และช่วยสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบและห่วงใยชุมชน

  • การสื่อสารข้อความของแบรนด์ที่สอดคล้อง: การสื่อสารข้อความด้วยน้ำเสียง โทน และจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องสม่ำเสมอในทุกช่องทางและในทุกสื่อการตลาดจะช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์และความไว้วางใจ

  • การทดลองและการปรับตัว: เปิดใจทดลองกลยุทธ์และช่องทางการตลาดใหม่ๆ แนวปฏิบัติทางการตลาดมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และการปรับตัวอยู่เสมอจะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากโอกาสและเทรนด์ใหม่ๆ

ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้คืนรายรับ

ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรทราบเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนดเกี่ยวกับการกู้คืนรายรับ

  • การปฏิบัติตามข้อกําหนดในสัญญา: คุณจะต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญากับลูกค้าหรือลูกค้า ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงการให้บริการ โครงสร้างค่าบริการ และเงื่อนไขการชำระเงิน

  • แนวทางปฏิบัติในการติดตามหนี้ที่เป็นธรรม: ธุรกิจจะต้องดําเนินการตามแนวทางการติดตามหนี้อย่างเป็นธรรมตามที่กฎหมายกําหนด โดยจะต้องเคารพความเป็นส่วนตัว หลีกเลี่ยงการคุกคามหรือใช้กลยุทธ์ในเชิงข่มเหง และติดต่อลูกหนี้ตามเวลาที่กฎหมายอนุญาต ตัวอย่างเช่น จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เช่น กฎหมายว่าด้วยแนวปฏิบัติในการติดตามหนี้อย่างเป็นธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งห้ามมิให้มีการหลอกลวง ข่มเหง หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การโทรติดต่อลูกหนี้ในเวลาที่ไม่เหมาะสมหรือใช้ภาษาเชิงข่มขู่

  • กฎหมายคุ้มครองลูกค้า: ให้ตระหนักถึงกฎหมายคุ้มครองลูกค้าที่มีผลกับธุรกิจของคุณ กฎหมายเหล่านี้ปกป้องลูกค้าจากแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือหลอกลวง ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียกเก็บเงิน การโฆษณา และบริการลูกค้า สื่อโฆษณาและส่งเสริมการขายจะต้องไม่ชี้นำให้เข้าใจผิด และจะต้องเปิดเผยค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดล่วงหน้าตามที่กฎหมายกําหนด เช่น Federal Trade Commission Act ในสหรัฐอเมริกา

  • กฎหมายคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว: ธุรกิจจําเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องจัดการข้อมูลการเรียกเก็บเงินลูกค้าและการติดตามการชำระเงิน โดยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เช่น ระเบียบข้อบังคับทั่วไปว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ในสหภาพยุโรป หรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมและการส่งผ่านข้อมูลทางด้านการประกันสุขภาพ (HIPAA) ของภาคธุรกิจการดูแลสุขภาพ

  • ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการล้มละลาย: มีข้อกำหนดทางกฏหมายเฉพาะบางประการที่คุณต้องปฏิบัติตามหากลูกค้าของคุณประกาศล้มละลาย ตัวอย่างเช่น บทบัญญัติว่าด้วยการพักชำระหนี้จะห้ามกิจกรรมการเรียกเก็บเงินเกือบทั้งหมดกับลูกหนี้ทันทีที่ลูกหนี้ยื่นล้มละลาย ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของคุณในการเรียกเก็บรายรับค้างชําระ

  • การปฏิบัติตามข้อกําหนดด้านภาษี: ตรวจสอบว่าแนวทางการกู้คืนรายรับเป็นไปตามกฎหมายภาษี โดยต้องมีการออกใบแจ้งหนี้ การเรียกเก็บภาษี และการส่งใบกํากับภาษีอย่างถูกต้อง คุณต้องรายงานและนําส่งภาษีสำหรับรายรับที่กู้คืนได้ทั้งหมดอย่างถูกต้องตามกฎหมายภาษีของท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง รวมทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเรียกเก็บและนำส่งภาษีขายของภูมิภาคต่างๆ

  • ธุรกรรมข้ามพรมแดน: หากธุรกิจของคุณดําเนินธุรกิจข้ามพรมแดน คุณควรตระหนักถึงผลกระทบทางกฎหมายและภาษีในเขตอํานาจศาลต่างๆ ด้วย แต่ละประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงิน การติดตามหนี้ และธุรกรรมทางการเงินที่แตกต่างกัน

  • ระเบียบข้อบังคับเฉพาะอุตสาหกรรม: อาจมีข้อกำหนดด้านการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเฉพาะที่ควรพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ ตัวอย่างเช่น ในภาคการดูแลสุขภาพ คุณต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ เช่น HIPAA ในสหรัฐอเมริกาซึ่งบัญญัติกฎการจัดการข้อมูลผู้ป่วยระหว่างการเรียกเก็บเงินไว้อย่างเข้มงวด

  • ข้อควรพิจารณาด้านจริยธรรม: พิจารณาผลกระทบทางจริยธรรมของแนวทางการกู้คืนรายรับของคุณ นําแนวทางปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีและความเคารพลูกค้า เช่น การจัดทําแผนการชําระเงินที่เหมาะสม หรือการหลีกเลี่ยงการดําเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดกับหนี้สินขนาดเล็ก เพื่อรักษาภาพลักษณ์ในสาธารณะและความไว้วางใจของลูกค้า

Stripe จะช่วยได้อย่างไร

Stripe มีชุดเครื่องมือที่ครอบคลุมซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยลดการสูญเสียรายรับ โดยเฉพาะสําหรับธุรกิจที่ใช้โมเดลรายรับจากการเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้า โซลูชันเหล่านี้ช่วยให้ธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมปรับกระบวนการเรียกเก็บรายรับได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 ฟีเจอร์กู้คืนรายรับอัตโนมัติของ Stripe ช่วยให้ธุรกิจมีรายรับเพิ่มขึ้น 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการลดอัตราการเลิกใช้บริการของลูกค้าและการชําระเงินไม่สําเร็จ

องค์ประกอบหลักของตัวเลือกการกู้คืนรายรับของ Stripe ได้แก่

  • การวิเคราะห์การกู้คืน: ฟีเจอร์นี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอัตราการชําระเงินตามรอบบิลไม่สำเร็จและอัตราการกู้คืน ซึ่งช่วยให้ธุรกิจตรวจพบและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการชําระเงินของลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังมีการติดตามการชําระเงินที่ไม่สําเร็จครั้งล่าสุดของลูกค้ารายสำคัญด้วย

+- Smart Retries: Smart Retries จะพยายามประมวลผลการชําระเงินที่ไม่สําเร็จอีกครั้งโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยป้องกันการเลิกใช้บริการโดยไม่ได้ตั้งใจจากปัญหาที่เกิดชั่วคราว เช่น บัตรหมดอายุหรือมีเงินทุนไม่เพียงพอ

  • การแจ้งเตือนทางอีเมล: การแจ้งเตือนอัตโนมัติเหล่านี้จะแจ้งเตือนลูกค้าเมื่อชําระเงินไม่สําเร็จ บัตรกําลังจะหมดอายุ หรือต้องอัปเดตวิธีการชําระเงิน ซึ่งช่วยให้แก้ไขปัญหาการชําระได้รวดเร็วขึ้น

  • ระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องเขียนโค้ด: Stripe มีลอจิกและกลยุทธ์การกู้คืนที่ปรับแต่งได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด ช่วยให้ธุรกิจนำยุทธวิธีการกู้คืนรายรับมาใข้ได้ง่าย

  • การบันทึกบัตรที่ฉลาดขึ้น: Stripe จะอัปเดตข้อมูลบัตรของลูกค้าโดยอัตโนมัติเมื่อลูกค้าได้รับหมายเลขบัตรใหม่ ซึ่งช่วยลดโอกาสที่ธุรกรรมจะไม่สําเร็จเพราะรายละเอียดบัตรที่ไม่อัปเดต

นอกจากนั้น Stripe ยังให้คําแนะนําที่เฉพาะเจาะจงเพื่อการปรับปรุงการกู้คืนรายรับตามแบบแผนล่วงหน้าอีกด้วย ซึ่งได้แก่การตั้งค่าการเรียกเก็บเงินที่ไม่สำเร็จซ้ำและการตั้งค่าอีเมลสําหรับลูกค้าอัตโนมัติ การสร้างระบบอัตโนมัติที่ออกแบบเองสําหรับขั้นตอนต่างๆ เช่น ขั้นตอนการติดตามหนี้สําหรับลูกค้าที่ใช้บริการรายปี การแจ้งให้ทีมทราบเกี่ยวกับใบแจ้งหนี้ที่มีมูลค่าสูงที่เลยกําหนด และการกําหนดเวลา Webhook ก่อนที่ใบเสนอราคาจะหมดอายุ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรองรับการกู้คืนรายรับของ Stripe ให้ไปที่นี่

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Billing

Billing

เรียกเก็บและรักษารายรับได้มากขึ้น ใช้วิธีอัตโนมัติกับขั้นตอนการจัดการรายรับ ตลอดจนรับการชำระเงินได้ทั่วโลก

Stripe Docs เกี่ยวกับ Billing

สร้างและจัดการการชำระเงินตามรอบบิล ติดตามการใช้งาน และออกใบแจ้งหนี้