การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงคืออะไร สิ่งที่ธุรกิจต้องรู้

Radar
Radar

ต้านการฉ้อโกงด้วยประสิทธิภาพที่ทรงพลังของเครือข่าย Stripe

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงมีหลักการทํางานอย่างไร
    1. การได้มาซึ่งข้อมูลบัตรเครดิต
    2. การยืนยันรายละเอียดที่ขโมยมา
    3. การทําธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
    4. การรับสินค้าหรือบริการ
    5. การปกปิดเส้นทาง
    6. ความท้าทายในการป้องกันและการตรวจจับ
    7. การตอบสนองและการบรรเทาความเสียหาย
  3. การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงเทียบกับการฉ้อโกงแบบใช้บัตรจริง
    1. ข้อแตกต่างสําคัญในวิธีดำเนินการ
    2. ความท้าทายและวิธีแก้ไขสำหรับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
  4. การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงส่งผลกระทบต่อธุรกิจและลูกค้าอย่างไร
    1. ผลกระทบต่อลูกค้า
    2. ผลกระทบต่อธุรกิจ
  5. สัญญาณของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
    1. สําหรับธุรกิจ
    2. สําหรับลูกค้า
    3. ตัวบ่งชี้ทั่วไป
  6. วิธีปกป้องธุรกิจของคุณจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
    1. ใช้เครื่องมือการยืนยันขั้นสูง
    2. ตรวจสอบธุรกรรม
    3. เกตเวย์การชําระเงินที่ปลอดภัย
    4. ให้ความรู้แก่ทีมและลูกค้า
    5. อัปเดตระบบอยู่เสมอ
    6. ตรวจสอบและปรับนโยบายเป็นประจํา
    7. ใช้วิธีการยืนยันตัวตนลูกค้าแบบต่างๆ
  7. วิธีรับมือกับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
    1. ขั้นตอนการตอบสนองอย่างทันท่วงที
    2. ติดตามผล
    3. การสื่อสารกับลูกค้า
    4. มาตรการป้องกัน
    5. กฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนด

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง (CNP) คือการฉ้อโกงบัตรเครดิตที่ไม่จําเป็นต้องใช้บัตรใบจริงทําธุรกรรม การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงพบบ่อยที่สุดในการซื้อออนไลน์หรือการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ การฉ้อโกงประเภทนี้เพิ่มขึ้นตามยอดขายอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้น โดยในปี 2020 การขายปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้น 36% ในขณะที่ความสูญเสียจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงก็เพิ่มขึ้น 31% ความแตกต่างที่สําคัญระหว่างการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงกับการฉ้อโกงบัตรเครดิตรูปแบบอื่น ๆ คือไม่มีการใช้บัตรใบจริงในระหว่างการทําธุรกรรม ทําให้การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงเป็นข้อกังวลที่สําคัญสําหรับวงการอีคอมเมิร์ซและการขายจากระยะไกล

ตรงกันข้ามกับการฉ้อโกงแบบดั้งเดิมที่มิจฉาชีพอาจจะขโมยหรือปลอมแปลงบัตรใบจริง มิจฉาชีพที่ทำการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงมักจะได้รับรายละเอียดบัตรเครดิตผ่านวิธีอื่น ซึ่งอาจรวมถึงการละเมิดข้อมูล การฟิชชิ่ง หรือวิธีการอื่นๆ ที่เป็นการหลอกลวง จากนั้นพวกเขาจะใช้รายละเอียดเหล่านี้เพื่อทําการซื้อหรือทำธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต

การรับมือกับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากการโจมตีเหล่านี้เปลี่ยนไปตลอดเวลา เมื่อเทคโนโลยีการชําระเงินพัฒนาไปเรื่อยๆ มิจฉาชีพเองก็พยายามแสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งกดดันให้ธุรกิจต้องสร้างแผนบรรเทาความเสี่ยงที่รัดกุมไปพร้อมๆ กับการอัปเดตเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ในบทความนี้ เราจะพิจารณาการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงว่าสิ่งนี้คืออะไร หลักการทํางานของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ธุรกิจต่างๆ ใช้ต่อสู้กับการฉ้อโกงประเภทนี้

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงมีหลักการทํางานอย่างไร
  • การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงเทียบกับการฉ้อโกงแบบใช้บัตรจริง
  • การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงส่งผลกระทบต่อธุรกิจและลูกค้าอย่างไร
  • สัญญาณของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
  • วิธีปกป้องธุรกิจของคุณจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง
  • วิธีรับมือกับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงมีหลักการทํางานอย่างไร

การฉ้อโกงแบบเก่าต้องใช้บัตรเครดิตที่ถูกขโมยหรือคัดลอกปลอมแปลง แต่การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงใช้กลไกดิจิทัลที่ขโมยข้อมูลบัตร การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงนั้นซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การได้มาซึ่งข้อมูลบัตรเครดิตไปจนถึงการทำธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อไปนี้คือรายละเอียดการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

การได้มาซึ่งข้อมูลบัตรเครดิต

  • การละเมิดข้อมูล: มิจฉาชีพจะได้รับข้อมูลบัตรเครดิตผ่านการละเมิดข้อมูลภายในองค์กรธุรกิจ เช่น อาจมีการแฮ็กฐานข้อมูลเพื่อขโมยหมายเลขบัตรเครดิต วันหมดอายุ และรหัสความปลอดภัย

  • การโจมตีแบบฟิชชิ่ง: อีกวิธีที่พบบ่อยคือการฟิชชิ่ง ซึ่งมิจฉาชีพจะหลอกให้บุคคลทั่วไปส่งข้อมูลของพวกเขามาให้ โดยอาจใช้อีเมลหรือเว็บไซต์ปลอมที่ออกแบบมาเพื่อดูเหมือนธุรกิจที่ดําเนินการถูกต้อง

  • อุปกรณ์แอบบันทึกข้อมูล: ส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์แอบบันทึกข้อมูลมักจะถูกนำไปใช้ในการฉ้อโกงโดยบัตรใบจริง แต่ก็สามารถบันทึกรายละเอียดของบัตร แล้วถูกนำไปใช้ในการทําธุรกรรมแบบไม่ใช้บัตรจริงได้เช่นกัน

  • การซื้อข้อมูลที่ขโมย: มิจฉาชีพสามารถซื้อข้อมูลบัตรเครดิตจากเว็บมืดหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายซึ่งมีการขายข้อมูลดังกล่าวได้เช่นกัน

การยืนยันรายละเอียดที่ขโมยมา

  • ธุรกรรมขนาดเล็ก: เพื่อยืนยันว่าข้อมูลที่ถูกขโมยมาถูกต้องและบัญชียังมีการใช้งาน มิจฉาชีพจะทําธุรกรรมขนาดเล็ก (บางครั้งเรียกว่าการเรียกเก็บเงินจํานวนเล็กน้อย) ซึ่งมักจะมีมูลค่าเล็กน้อยจนเจ้าของบัตรไม่สังเกต

  • บริการยืนยันตัวตนออนไลน์: มิจฉาชีพบางรายอาจใช้บริการออนไลน์เพื่อยืนยันความถูกต้องของรายละเอียดบัตรโดยไม่ทําธุรกรรม

การทําธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

  • การช็อปปิ้งออนไลน์: เมื่อได้รับรายละเอียดของบัตรที่ถูกต้องแล้ว มิจฉาชีพจะซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ โดยมักจะกำหนดเป้าหมายไปยังสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่จัดส่งได้อย่างรวดเร็ว

  • การซื้อหรือธุรกรรมขนาดใหญ่ขึ้น: หากธุรกรรมขนาดเล็กเกิดขึ้นโดยไม่มีใครสังเกตเห็น มิจฉาชีพอาจทำการซื้อที่มียอดซื้อจํานวนมากขึ้นหรือพยายามโอนเงิน

การรับสินค้าหรือบริการ

  • การจัดส่งไปยังที่อยู่ที่ปลอดภัย: บ่อยครั้งที่มิจฉาชีพจะจัดส่งสินค้าไปยังที่อยู่ซึ่งไม่สามารถติดตามได้ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับได้

  • การนำสินค้าไปขายต่อ: มิจฉาชีพจะขายสินค้าที่ซื้อมาโดยการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงเพื่อแลกเป็นเงินสด

การปกปิดเส้นทาง

  • การปิดธุรกรรมอย่างรวดเร็ว: หลังจากซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว มิจฉาชีพจะปิดเส้นทางธุรกรรมอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบัญชีหรือทิ้งบัญชีฉ้อโกงไปเลย

  • การใช้คริปโตเคอเรนซีหรือการชําระเงินแบบไม่ระบุตัวตน: นักต้มตุ๋นอาจใช้คริปโตเคอร์เรนซีหรือวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ระบุตัวตนของผู้รับในการโอนเงิน

ความท้าทายในการป้องกันและการตรวจจับ

  • กลยุทธ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว: มิจฉาชีพจะอัปเดตวิธีการอยู่เสมอเพื่อเอาชนะมาตรการรักษาความปลอดภัย

  • เข้าถึงทั่วโลก: การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงดำเนินการผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งหมายความว่ามิจฉาชีพโจมตีได้จากทุกที่ สร้างความซับซ้อนในแง่ของเขตอํานาจศาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

  • การสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยกับประสบการณ์ของลูกค้า: ธุรกิจต่างๆ มุ่งมั่นใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งพอที่จะป้องกันการฉ้อโกง แต่ก็ละเอียดพอที่จะไม่ทําให้ลูกค้าตัวจริงเกิดความไม่สะดวก

การตอบสนองและการบรรเทาความเสียหาย

  • การตรวจสอบและการวิเคราะห์ขั้นสูง: การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีความซับซ้อนมาตรวจสอบธุรกรรมเพื่อหากิจกรรมที่ผิดปกติเป็นวิธีสําคัญในการเพิ่มความปลอดภัย

  • การตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย: การขอการยืนยันเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายละเอียดบัตรจะช่วยป้องกันการโจมตีได้

  • การให้ความรู้แก่ลูกค้า: การทําให้เจ้าของบัตรทราบถึงความสําคัญของการปกป้องข้อมูลบัตรเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความปลอดภัย

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงมีการพัฒนาอยู่เสมอ โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีที่แยบยลมากขึ้น ดังนั้นทั้งธุรกิจ ผู้ประมวลผลการชําระเงิน และลูกค้าจะต้องระมัดระวัง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และร่วมมือกัน

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงเทียบกับการฉ้อโกงแบบใช้บัตรจริง

หากต้องการรับมือกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง คุณควรจำแนกการฉ้อโกงแบบไม่ใช้บัตรจริงออกจากการฉ้อโกงแบบใช้บัตรจริง เพราะรูปแบบการฉ้อโกงทั้ง 2 แบบมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของวิธีการและปัญหาที่ก่อให้เกิดตามมา

ข้อแตกต่างสําคัญในวิธีดำเนินการ

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

  • การเกิดขึ้น: การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงเกิดขึ้นในธุรกรรมที่ไม่ต้องใช้บัตรใบจริง เช่น การซื้อออนไลน์ ธุรกรรมทางโทรศัพท์ และคําสั่งซื้อทางไปรษณีย์

  • วิธีการ: มิจฉาชีพจะใช้รายละเอียดของบัตรที่ขโมยมาผ่านการละเมิดข้อมูล การฟิชชิ่ง หรือวิธีการอื่นๆ พวกเขาไม่ต้องใช้บัตรจริงในการทําธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง แต่ใช้เพียงหมายเลขบัตร วันหมดอายุ และบางครั้งก็ต้องใช้หมายเลขยืนยันบัตร (CVV)ร่วมด้วย

  • การตรวจจับ: การตรวจจับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะมิจฉาชีพไม่จําเป็นต้องแสดงบัตรตัวจริงเพื่อซื้อสินค้า การยืนยันจะอาศัยข้อมูลที่รั่วไหลได้ง่ายกว่า

การฉ้อโกงที่ใช้บัตรจริง

  • การเกิดขึ้น: การฉ้อโกงที่ใช้บัตรจริงเกิดขึ้นระหว่างการทำธุรกรรมที่จุดขาย ซึ่งมีการใช้บัตรใบจริงในการชําระเงิน

  • วิธีการ: มิจฉาชีพจะใช้บัตรใบจริงที่ขโมยมาหรือสร้างบัตรลอกเลียนแบบโดยใช้ข้อมูลบัตรที่ขโมยมา

  • การตรวจจับ: การฉ้อโกงที่ใช้บัตรจริงตรวจจับได้ง่ายกว่าการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง การตรวจจับจะอาศัยสัญญาณทางกายภาพ เช่น บัตรที่เสียหาย ลายเซ็นไม่ตรงกัน หรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยของผู้ที่ทําธุรกรรม ซึ่งอาจทําให้ธุรกรรมนั้นน่าสงสัยและแจ้งเตือนธุรกิจว่ามีความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงได้

ความท้าทายและวิธีแก้ไขสำหรับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

ความท้าทาย

  • ไม่มีการยืนยันตัวตนทางกายภาพ: ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการฉ้อโกงแบบไม่ใช้บัตรจริงก็คือการไม่มีบัตรใบจริง ทําให้ยืนยันได้ยากว่าผู้ใช้เป็นเจ้าของบัตรที่ถูกต้องหรือไม่

  • กลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว: เทคนิคการฉ้อโกงออนไลน์ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทําให้ธุรกิจรับมือกับวิธีการฉ้อโกงแบบใหม่ๆ ไม่ทัน

  • เข้าถึงทั่วโลก: มิจฉาชีพสามารถทำการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงได้จากทุกที่ ทำให้เขตอํานาจศาลและการบังคับใช้กฎหมายซับซ้อนมากขึ้น

วิธีแก้ปัญหา

  • เครื่องมือการยืนยันทางดิจิทัลขั้นสูง: เครื่องมือ เช่น บริการยืนยันที่อยู่ (AVS) หรือที่เรียกว่าระบบการยืนยันที่อยู่ และการตรวจสอบ CVV และการตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัย จะช่วยยืนยันตัวตนของบุคคลที่ทําธุรกรรม

  • การวิเคราะห์พฤติกรรมและ AI: การใช้อัลกอริทึมของแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อวิเคราะห์รูปแบบการซื้อและตรวจจับสิ่งผิดปกติจะมีประสิทธิภาพในการระบุการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงที่อาจเกิดขึ้น

  • การให้ความรู้แก่ลูกค้า: การให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับแนวทางการช็อปปิ้งออนไลน์ที่ปลอดภัยและวิธีการปกป้องข้อมูลบัตรของลูกค้าเป็นสิ่งสําคัญในการต่อสู้กับการฉ้อโกง

แม้ว่าการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงและใช้บัตรจริงจะเกี่ยวข้องกับการใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ก็แตกต่างกันอย่างมากในแง่ของวิธีการและความท้าทายที่เกิดขึ้น การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงไม่ต้องใช้การยืนยันบัตรใบจริง จึงต้องพึ่งพาวิธีการยืนยันแบบดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่รัดกุมมากขึ้นเพื่อตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกง ข้อแตกต่างเหล่านี้ทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์มาต่อสู้กับการฉ้อโกงแต่ละประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำหรับการฉ้อโกงแบบไม่ใช้บัตรจริง จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบอิงเทคโนโลยีเป็นหลักและปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงส่งผลกระทบต่อธุรกิจและลูกค้าอย่างไร

การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงอาจสร้างผลกระทบต่อธุรกิจและลูกค้าเป็นทอดๆ ซึ่งการทําความเข้าใจถึงผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งสําคัญต่อการพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับปัญหานี้ ตัวอย่างผลกระทบ ได้แก่

ผลกระทบต่อลูกค้า

  • ความสูญเสียและความรับผิดทางการเงิน: แม้ว่าบริษัทบัตรเครดิตหลายแห่งจะมีนโยบายที่จํากัดความรับผิดของลูกค้าในกรณีที่เป็นการฉ้อโกง แต่ผลกระทบโดยตรงจากธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นผลเสียอย่างยิ่ง ลูกค้าอาจต้องสูญเสียเงินไปชั่วคราว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความติดขัด โดยเฉพาะในกรณีที่ยอดเงินมีมูลค่าสูง

  • ข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว: การฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงมักเกิดจากการละเมิดข้อมูล ซึ่งนําไปสู่การละเมิดต่อลูกค้าที่ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินรั่วไหล

  • ความไว้วางใจและความมั่นใจ: เมื่อลูกค้าตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง ความไว้วางใจต่อการรักษาความปลอดภัยของธุรกรรมออนไลน์ก็จะลดลง ความไว้ใจนี้อาจขยายไปยังภาคธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ทั้งหมดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของลูกค้า

  • เวลาและความพยายามในการแก้ไขปัญหา: เหยื่อการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงต้องเสียเวลาและความพยายามไปกับการคัดค้านการเรียกเก็บเงินที่เป็นการฉ้อโกง ดูแลบัญชีให้ปลอดภัย และบางครั้งต้องรับมือกับการดําเนินคดีทางกฎหมาย สิ่งเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมาก

ผลกระทบต่อธุรกิจ

  • ความสูญเสียทางการเงิน: ธุรกิจต่างๆ ต้องรับภาระจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงจากการดึงเงินคืน ทำให้สูญเสียรายรับจากการขายรวมถึงสินค้าหรือบริการ จากรายงานข้อมูลของ Insider ความสูญเสียจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง ในสหรัฐฯ คาดว่าจะสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2024 นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องเสียค่าปรับ รวมทั้งแบกรับค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชําระเงินเพิ่มขึ้นด้วย

  • ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่เพิ่มขึ้น: ธุรกิจที่หาทางต่อสู้กับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงต้องลงทุนในมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง ระบบตรวจจับการฉ้อโกง และกระบวนการยืนยันลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานที่มากขึ้น

  • ความเสียหายต่อชื่อเสียง: ธุรกิจที่ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือเหตุการณ์เป็นที่ทราบกันในวงกว้าง อาจทําให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงได้ ซึ่งอาจนําไปสู่การสูญเสียความไว้วางใจของลูกค้า และการกู้คืนชื่อเสียงดังกล่าวนั้นยากกว่าการกู้คืนความสูญเสียทางการเงิน

  • ผลกระทบต่อประสบการณ์ของลูกค้า: การใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงบางครั้งอาจทําให้ขั้นตอนการทำธุรกรรมยุ่งยากขึ้นสําหรับลูกค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายได้

  • ผลทางกฎหมายและข้อบังคับ: ธุรกิจอาจต้องเผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายและการตรวจสอบตามระเบียบข้อบังคับหากไม่สามารถปกป้องข้อมูลของลูกค้าหรือพบว่ามีมาตรการรักษาความปลอดภัยไม่เพียงพอ

  • ความท้าทายในระยะยาว: การรับมือภัยคุกคามจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงต้องอาศัยการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีและการฝึกอบรมพนักงาน นี่เป็นความท้าทายในระยะยาวที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง

สัญญาณของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

การจำแนกสัญญาณของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงสําคัญอย่างยิ่งสําหรับธุรกิจและลูกค้าในการป้องกันและรับมือกับการโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปนี้คือสิ่งที่อาจบ่งชี้ว่ามีการพยายามฉ้อโกงแบบไม่ใช้บัตรจริง

สําหรับธุรกิจ

  • รูปแบบการสั่งซื้อที่ผิดปกติ: สัญญาณเตือนอย่างหนึ่งคือคําสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าจํานวนมาก เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะพยายามสร้างมูลค่าจากรายละเอียดบัตรที่ขโมยมาให้ได้มากที่สุด

  • การทำธุรกรรมหลายรายการผ่านบัตรใบเดียว: การทำธุรกรรมจํานวนมากในระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดําเนินการไม่สําเร็จและลองซ้ำหลายครั้ง อาจบ่งชี้ว่ามิจฉาชีพกําลังทดสอบความถูกต้องของบัตรอยู่

  • ที่อยู่สําหรับจัดส่งและที่อยู่สําหรับการเรียกเก็บเงินแตกต่างกัน: คําสั่งซื้อที่ที่อยู่สําหรับจัดส่งแตกต่างจากที่อยู่ในการเรียกเก็บเงินจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากอาจเป็นกลยุทธ์มิจฉาชีพมักจะนําไปใช้

  • คําสั่งซื้อจากตําแหน่งที่ตั้งที่มีความเสี่ยงสูง: ธุรกรรมที่มีต้นทางหรือปลายทางเป็นภูมิภาคที่มีกิจกรรมการฉ้อโกงอย่างมาก จำเป็นต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

  • คําขอจัดส่งที่เร่งด่วนหรือแบบข้ามคืน: มิจฉาชีพมักจะเลือกวิธีการจัดส่งที่เร็วที่สุดเพื่อให้รับสินค้าได้ก่อนที่จะตรวจพบการฉ้อโกง

  • ความไม่สอดคล้องกันในรายละเอียดการสั่งซื้อ: ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เช่น ชื่อหรือรายละเอียดการติดต่อในคําสั่งซื้อที่แตกต่างกันอาจเป็นสัญญาณของกิจกรรมฉ้อโกง

สําหรับลูกค้า

  • ธุรกรรมที่ไม่คาดคิด: การเรียกเก็บเงินที่ไม่คุ้นเคยในใบแจ้งยอดบัตรเครดิตเป็นสัญญาณของการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น

  • การแจ้งเตือนจากสถาบันการเงิน ธนาคารและบริษัทผู้ออกบัตรหลายแห่งให้บริการแจ้งเตือนกิจกรรมที่ผิดปกติ การรับการแจ้งเตือนดังกล่าวอาจเป็นการแจ้งเตือนล่วงหน้าถึงการฉ้อโกง

  • การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง: การรับอีเมลหรือข้อความที่ขอข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินอาจเป็นวิธีหลักในการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

  • การแจ้งเตือนกิจกรรมผิดปกติในบัญชี: การแจ้งเตือนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน การอัปเดตที่อยู่ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอื่นๆ ในบัญชีที่คุณไม่ได้ทําไว้เป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการฉ้อโกง

ตัวบ่งชี้ทั่วไป

  • ธุรกรรมที่ดำเนินการไม่สําเร็จ: การทำธุรกรรมไม่สําเร็จหลายครั้ง แล้วดําเนินการสําเร็จในครั้งสุดท้ายอาจบ่งชี้ว่ามีใครบางคนกำลังใช้หมายเลขบัตรที่ขโมยมา

  • การทดสอบซื้อสินค้าหรือบริการขนาดเล็ก: เริ่มต้นด้วยธุรกรรมขนาดเล็ก ตามด้วยธุรกรรมการฉ้อโกงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มิจฉาชีพทำการเรียกเก็บเงิน "ทดสอบ" เหล่านี้เพื่อดูว่าบัตรดังกล่าวยังใช้งานอยู่หรือไม่

ธุรกิจและลูกค้าต้องเฝ้าระวังและจำแนกสัญญาณเตือนเหล่านี้ แล้วดําเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง สําหรับธุรกิจแล้ว สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการใช้กระบวนการยืนยันและระบบการตรวจสอบที่เหมาะสม ลูกค้าควรตรวจสอบรายการเดินบัญชีเป็นประจําและรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยแก่บริษัทผู้ออกบัตร

วิธีปกป้องธุรกิจของคุณจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

การปกป้องธุรกิจจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงต้องใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุม ซึ่งประกอบด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและมาตรการรักษาความปลอดภัย ธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีระบบการชําระเงินที่ทันสมัยยังต้องเลือกใช้ซอฟต์แวร์การชําระเงินและฮาร์ดแวร์ที่รับมือกับการฉ้อโกงที่ใช้บัตรจริงได้

กลยุทธ์และนโยบายควรเหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของธุรกิจคุณ แต่ต่อไปนี้คือตัวอย่างวิธีการลดความเสี่ยงของการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่อาจพบว่ามีประโยชน์

ใช้เครื่องมือการยืนยันขั้นสูง

  • AVS: เครื่องมือนี้จะเปรียบเทียบที่อยู่ในการเรียกเก็บเงินที่ลูกค้าระบุกับข้อมูลในระบบของบริษัทผู้ออกบัตรเครดิต หากข้อมูลไม่ตรงกันก็จะเป็นสัญญาณว่าธุรกรรมอาจเป็นการฉ้อโกงได้

  • CVV: การระบุ CVV ในการทำธุรกรรมออนไลน์ช่วยเพิ่มการรักษาความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่งเนื่องจากข้อมูลนี้ไม่ได้เก็บไว้ในแถบแม่เหล็กและมิจฉาชีพไม่ได้รับมาง่ายๆ

  • การตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัย (2FA): การใช้ 2FA สําหรับธุรกรรมจะเพิ่มขั้นตอนการยืนยันเพิ่มเติม ซึ่งปกติแล้วระบบมักส่งรหัสไปยังโทรศัพท์หรืออีเมลของลูกค้า

ตรวจสอบธุรกรรม

  • การวิเคราะห์ธุรกรรมแบบเรียลไทม์: ใช้ระบบที่วิเคราะห์ธุรกรรมแบบเรียลไทม์โดยมองหารูปแบบหรือกิจกรรมที่ผิดปกติ

  • กําหนดวงเงินธุรกรรม: การจํากัดมูลค่าหรือความถี่ธุรกรรมจะช่วยตรวจจับกิจกรรมฉ้อโกงได้แต่เนิ่นๆ

เกตเวย์การชําระเงินที่ปลอดภัย

  • เลือกผู้ประมวลผลการชําระเงินที่มีชื่อเสียง: เป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ประมวลผลการชําระเงินที่ประวัติการดำเนินงานที่ดีด้านการประมวลผลข้อมูลอย่างปลอดภัยและการป้องกันการฉ้อโกง

  • การเข้ารหัสและการแปลงเป็นโทเค็น: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเกตเวย์การชําระเงินใช้การเข้ารหัสที่รัดกุมในการรับส่งข้อมูลและการแปลงเป็นโทเค็น ซึ่งแทนที่ข้อมูลบัตรที่ละเอียดอ่อนด้วยรหัสระบุที่ไม่ซ้ำกัน

ให้ความรู้แก่ทีมและลูกค้า

  • การจัดฝึกอบรมพนักงาน: จัดเซสชันการฝึกอบรมเป็นประจําสําหรับสมาชิกพนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและแนวโน้มล่าสุดในการป้องกันการฉ้อโกง

  • การรับรู้ของลูกค้า: ให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับความสําคัญของการปกป้องข้อมูลบัตรและสัญญาณของการฟิชชิ่ง

อัปเดตระบบอยู่เสมอ

  • อัปเดตซอฟต์แวร์เป็นประจํา: อัปเดตซอฟต์แวร์ทั้งหมดให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอด้วยแพตช์ความปลอดภัยล่าสุด โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลการชําระเงินและการรักษาความปลอดภัย

  • การปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสําหรับอุตสาหกรรมบัตรชําระเงิน (PCI DSS): มาตรฐานเหล่านี้เป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามและเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของเจ้าของบัตร

ตรวจสอบและปรับนโยบายเป็นประจํา

  • กลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์: เมื่อเทคนิคการฉ้อโกงเปลี่ยนแปลงไป แผนการป้องกันก็คุณก็ควรปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ตรวจสอบและปรับนโยบายและวิธีการของคุณเป็นประจํา

ใช้วิธีการยืนยันตัวตนลูกค้าแบบต่างๆ

  • การชะลอการจัดส่งสําหรับคําสั่งซื้อที่น่าสงสัย: หากคําสั่งซื้อน่าสงสัย การชะลอการจัดส่งจนกว่าจะยืนยันความถูกต้องจะป้องกันการสูญเสียได้

  • การตรวจสอบธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงโดยเจ้าหน้าที่: ธุรกรรมบางรายการอาจต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง

การปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสร้างชั้นการรักษาความปลอดภัยที่จะร่วมกันตรวจจับ ป้องกัน และตอบสนองต่อกิจกรรมที่เป็นการฉ้อโกงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อทําให้ธุรกิจของคุณตกเป็นเป้าหมายที่ยากขึ้นสำหรับมิจฉาชีพ และลูกค้าตัวจริงยังคงได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่น

วิธีรับมือกับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง

คุณต้องมีกลยุทธ์ที่รวดเร็วและเป็นระบบในการรับมือกับการโจมตีด้วยการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริง ดูข้อมูลสรุปเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการตอบสนองอย่างทันท่วงที

  • ยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น: ยืนยันกิจกรรมที่เป็นการฉ้อโกง บางครั้ง สิ่งที่ดูเหมือนว่าการฉ้อโกงอาจเป็นลูกค้าที่ลืมการซื้อนั้นหรือใช้บัตรใบอื่น

  • ติดต่อผู้ประมวลผลการชําระเงิน รายงานเหตุการณ์ไปยังผู้ประมวลผลการชําระเงิน บริการเหล่านี้มีระเบียบการในการจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้และให้คําแนะนําแก่คุณได้

  • ยกเลิกธุรกรรม: หากยังไม่ได้ดำเนินการตามคําสั่งซื้อ ให้ยกเลิกคําสั่งซื้อเพื่อป้องกันไม่ให้การสูญเสียสินค้าหรือบริการ

  • ทำเครื่องหมายบัญชีฉ้อโกง: ทำเครื่องหมายบัญชีที่ใช้ทำธุรกรรมฉ้อโกง เพื่อช่วยในการติดตามและป้องกันการพยายามใช้รายละเอียดเดิมซ้ำ

ติดตามผล

  • ตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัย: ประเมินว่าการฉ้อโกงเกิดขึ้นได้อย่างไร วิเคราะห์ว่ามีข้อบกพร่องใดๆ ในมาตรการรักษาความปลอดภัยของคุณหรือไม่ รวมถึงสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงมาตรการดังกล่าว

  • อัปเดตระบบ: หากการฉ้อโกงใช้ประโยชน์จากช่องโหว่บางอย่างในระบบ ให้แก้ไขทันที โดยอาจจะอัปเดตซอฟต์แวร์หรือเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการปฏิบัติงาน

  • บันทึกข้อมูลทั้งหมดในเอกสาร: เก็บบันทึกข้อมูลธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง การตอบสนองของคุณ และการสื่อสารใดๆ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ขั้นตอนนี้สำคัญต่อการสอบสวนหรือการเรียกร้องการประกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้

การสื่อสารกับลูกค้า

  • การสื่อสารที่โปร่งใส: หากข้อมูลลูกค้ารั่วไหล โปรดแจ้งให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทราบทันที

  • คําแนะนําเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไป: แนะนําลูกค้าว่าจะปกป้องบัญชีของตัวเองอย่างไร และรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ออกบัตร

  • ช่องทางการสนับสนุน: มอบช่องทางการสนับสนุนลูกค้าที่เข้าถึงได้ เพื่อให้ลูกค้าติดต่อมาสอบถามข้อมูลและข้อกังวลเกี่ยวกับการฉ้อโกง

มาตรการป้องกัน

  • การฝึกอบรมพนักงาน: ให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงและความสําคัญของระเบียบการรักษาความปลอดภัยต่อไปนี้

  • อัปเดตมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่เป็นประจํา: ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแนวโน้มการฉ้อโกงล่าสุด และอัปเดตมาตรการรักษาความปลอดภัยของคุณให้สอดคล้องกัน

  • โปรแกรมส่งเสริมการรับรู้ลูกค้า: ให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลบัตรและการจำแนกการฟิชชิ่งหรือกลยุทธ์การฉ้อโกงอื่นๆ

  • ยกระดับกระบวนการยืนยันตัวตน: นําขั้นตอนการยืนยันที่เข้มงวดมากขึ้นมาใช้กับธุรกรรม โดยเฉพาะธุรกรรมที่มีความเสี่ยง

กฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนด

  • รายงานหน่วยงานกำกับดูแล: ในบางกรณีอาจจําเป็นต้องรายงานเหตุการณ์นี้ให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหรือหน่วยงานกํากับดูแลอื่นๆ

  • ปฏิบัติตามระเบียบการสําหรับการละเมิดข้อมูล: ปฏิบัติตามข้อกําหนดทางกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูล รวมถึงแจ้งบุคคลที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานกํากับดูแล

การดําเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจของคุณรับมือกับการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตรจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหาย และเสริมความแข็งแกร่งให้กับมาตรการป้องกันการฉ้อโกงในอนาคต คุณสามารถรักษาความปลอดภัยของธุรกิจและความไว้วางใจของลูกค้าได้โดยการตอบสนองอย่างรวดเร็ว รียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และปรับปรุงกระบวนการของคุณ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Stripe ปกป้องธุรกิจจากการฉ้อโกงที่ไม่ใช้บัตร

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Radar

Radar

ต้านการฉ้อโกงด้วยประสิทธิภาพที่ทรงพลังของเครือข่าย Stripe

Stripe Docs เกี่ยวกับ Radar

ใช้ Stripe Radar เพื่อปกป้องธุรกิจจากการฉ้อโกง