ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องมีกลยุทธ์การชำระเงินที่รอบด้านเพื่อการประสบความสำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงจากการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซ โดยจะต้องมีการวางแผนสำหรับสิ่งที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพให้สิ่งที่คุณทำได้ เพื่อปกป้องธุรกิจและลูกค้าของคุณจากการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ปรับปรุงกระบวนการชำระเงิน และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
ด้านล่างนี้ เราจะอธิบายการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซประเภทต่างๆ และวิธีการวางแผน ป้องกัน และตอบสนองต่อการฉ้อโกงดังกล่าวในฐานะส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การชำระเงินแบบองค์รวม การรวมมาตรการป้องกันการฉ้อโกงที่แข็งแกร่งไว้ในระบบการชำระเงินจะช่วยให้ธุรกิจของคุณตัดสินใจอย่างมีข้อมูลและรักษาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับลูกค้าได้
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- การฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซคืออะไร
- ประเภทของการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซและวิธีการดำเนินการ
- การขโมยตัวตน
- การฉ้อโกงบัตรเครดิต
- การฉ้อโกงด้วยการดึงเงินคืน
- ฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคม
- การฉ้อโกงด้วยการเข้าควบคุมบัญชี
- การฉ้อโกงการคืนเงิน
- การฉ้อโกงโปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตร
- สินค้าลอกเลียนแบบหรือของปลอม
- การฉ้อโกงด้วยการดร็อปชิป
- การขโมยตัวตน
- แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับการป้องกันการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซ
การฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซคืออะไร
การฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซเป็นอาชญากรรมไซเบอร์รูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกรรมออนไลน์ของลูกค้า มิจฉาชีพจะหลอกลวงธุรกิจและลูกค้าเพื่อขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต ทําธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกง หรือฉวยโอกาสจากสภาพแวดล้อมค้าปลีกออนไลน์ของตนเพื่อประโยชน์ของตัวเอง การฉ้อโกงประเภทนี้อาจทําให้เกิดความสูญเสียทางการเงินที่สําคัญต่อธุรกิจและลูกค้า รวมถึงทำลายชื่อเสียงของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ประเภทของการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซและวิธีการดำเนินการ
ในขณะที่อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต่างๆ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ รวมถึงภูมิทัศน์ของการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซที่เปลี่ยนแปลงไป การปกป้องธุรกิจและลูกค้าของคุณจากมิจฉาชีพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจใดๆ ที่ยอมรับการชำระเงินออนไลน์
ด้านล่างเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซประเภทต่างๆ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกและผลกระทบจากการฉ้อโกงเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญที่ธุรกิจต้องรู้เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจต่างๆ จะสามารถปกป้องชื่อเสียง รายได้ และความไว้วางใจของลูกค้าได้ด้วยการคอยติดตามข้อมูลและดำเนินการเชิงรุกเกี่ยวกับภัยคุกคามจากการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
การขโมยตัวตน
สิ่งนี้คืออะไร
การขโมยตัวตนเกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น เช่น ชื่อ ที่อยู่ หรือรายละเอียดบัตรเครดิต เพื่อทําการซื้อหรือเปิดบัญชีโดยไม่ได้รับอนุญาต
วิธีการดำเนินการ
มิจฉาชีพจะใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคล โดยรวมถึงการละเมิดข้อมูล การโจมตีแบบฟิชชิ่ง และวิศวกรรมสังคม จากนั้น ก็ใช้ข้อมูลนี้ในการปลอมแปลงเป็นเหยื่อและทําธุรกรรมหรือสร้างบัญชีใหม่ในชื่อของเหยื่อ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจที่ดําเนินงานทางออนไลน์และเก็บรวบรวมข้อมูลลูกค้าจะมีความเสี่ยง รวมถึงผู้ค้าปลีกออนไลน์ บริการแบบชำระเงินตามรอบบิล และสถาบันทางการเงิน
การฉ้อโกงบัตรเครดิต
สิ่งนี้คืออะไร
การฉ้อโกงบัตรเครดิตเป็นการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซประเภทหนึ่งที่ใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาตในการซื้อทางออนไลน์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ไม่ประสงค์ดีได้รับข้อมูลบัตรเครดิตของเหยื่อและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการซื้อที่เป็นการฉ้อโกง
วิธีการดำเนินการ
มิจฉาชีพจะได้รับข้อมูลบัตรเครดิตผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การแฮ็ก การฟิชชิ่ง หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ในการฉ้อโกงในอีคอมเมิร์ซเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต
- การแฮ็กประกอบด้วยการใช้ความรู้และเครื่องมือทางเทคนิคเพื่อเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทําได้โดยการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของซอฟต์แวร์หรือใช้การโจมตีด้วยการสุ่มเดารหัสผ่าน
- อุปกรณ์บันทึกข้อมูลคืออุปกรณ์ทางกายภาพที่ติดตั้งบนเอทีเอ็มหรือเครื่องรูดบัตรเครดิตเพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิต อุปกรณ์เหล่านี้มักจะมีขนาดเล็กและไม่สะดุดตา และอาจตรวจจับได้ยาก มิจฉาชีพอาจใช้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่ติดตั้งครอบเครื่องอ่านบัตร หรืออุปกรณ์ที่ขโมยข้อมูลจากบัตรที่มีชิป
เราจะพูดถึงการฟิชชิ่งในรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง
เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว มิจฉาชีพจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อทำการซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต สร้างบัตรปลอม หรือขายข้อมูลให้กับอาชญากรรายอื่นๆ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจทั้งหมดที่รับชําระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตต่างตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงผู้ค้าปลีกออนไลน์ ผู้ประมวลผลการชําระเงิน และผู้ให้บริการเนื้อหาดิจิทัล
การฉ้อโกงการดึงเงินคืน
สิ่งนี้คืออะไร
การฉ้อโกงการดึงเงินคืนหรือที่เรียกว่า "การฉ้อโกงที่เป็นมิตร" จะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการโดยใช้บัตรเครดิต ได้รับผลิตภัณฑ์หรือบริการของตน จากนั้นจึงโต้แย้งการเรียกเก็บเงินกับบริษัทบัตรเครดิตเพื่อขอรับเงินคืน บางครั้ง การฉ้อโกงประเภทนี้ถูกเรียกว่า "เป็นมิตร" เนื่องจากลูกค้าอาจไม่มีเจตนาร้าย แต่ทำการโต้แย้งการเรียกเก็บเงินด้วยสาเหตุที่ไม่ถูกต้อง
วิธีการดำเนินการ
การฉ้อโกงการดึงเงินคืนอาจเกิดขึ้นได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น ลูกค้าอาจโต้แย้งการเรียกเก็บเงิน โดยอ้างว่าไม่เคยได้รับผลิตภัณฑ์นั้น ทั้งๆ ที่ได้รับแล้ว หรือลูกค้าอาจโต้แย้งการเรียกเก็บเงิน โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์มีตําหนิหรือไม่เป็นไปตามที่อธิบายไว้
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ผู้ค้าปลีกออนไลน์ ผู้ให้บริการเนื้อหาดิจิทัล และบริการแบบชำระเงินตามรอบบิล คือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการฉ้อโกงการดึงเงินคืน
ฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคม
สิ่งนี้คืออะไร
กลยุทธ์การฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคมเกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพที่ใช้อีเมล ข้อความ หรือเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงให้ผู้ใช้ต้องส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบที่ละเอียดอ่อนซึ่งสามารถนําไปใช้ทำการฉ้อโกงได้
วิธีการดำเนินการ
กลยุทธ์การฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคมนิยมใช้ในการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซเพื่อหลอกลูกค้าให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน กลยุทธ์เหล่านี้ทํางานโดยการใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจหรือสถานะทางอารมณ์ของเหยื่อเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของพวกเขา
การโจมตีแบบฟิชชิ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของอีเมลหรือข้อความปลอมที่ดูเหมือนว่ามาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคาร ร้านค้าอีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ข้อความอาจขอให้ผู้รับระบุข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงิน เช่น ข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือรายละเอียดของบัตรเครดิต โดยคลิกที่ลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบ
กลยุทธ์วิศวกรรมสังคมมีความละเอียดอ่อนกว่ามากและอาจเกี่ยวข้องกับกลวิธีต่างๆ เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อ เล่นกับอารมณ์หรือความกลัวของเหยื่อ หรือการใช้การบงการทางสังคมเพื่อเข้าถึงข้อมูลของเหยื่อ ตัวอย่างเช่น มิจฉาชีพอาจสร้างโปรไฟล์โซเชียลมีเดียปลอมและพยายามเป็นเพื่อนกับเหยื่อ โดยค่อยๆ ใช้เวลาสร้างความเชื่อใจ ก่อนที่จะสอบถามข้อมูลที่ละเอียดอ่อน
ในบริบทของการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซ กลยุทธ์การฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคมนั้นถูกใช้สําหรับการขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน เช่น ข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือรายละเอียดบัตรเครดิต จากนั้นมิจฉาชีพอาจใช้ข้อมูลนี้เพื่อทำการซื้อที่ไม่ได้รับอนุญาต ขโมยเงินจากบัญชีธนาคาร หรือขโมยตัวตน
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการออนไลน์อาจตกเป็นเป้าหมายได้ เนื่องจากการโจมตีแบบฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคมสามารถกำหนดเป้าหมายไปที่พนักงานหรือลูกค้า เพื่อเข้าถึงข้อมูลหรือระบบที่ละเอียดอ่อน การโจมตีที่เป็นการฉ้อโกงประเภทนี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด แต่มิจฉาชีพมัพกําหนดเป้าหมายไปยังอุตสาหกรรมบางแห่งมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างธุรกิจที่มักเผชิญการหลอกลวงด้วยการฟิชชิ่งและวิศวกรรมสังคมบ่อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ
- ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
- บริษัทด้านบริการทางการเงิน
- องค์กรด้านการดูแลสุขภาพ
- หน่วยงานราชการ
- สถาบันการศึกษา
การฉ้อโกงด้วยการเข้าควบคุมบัญชี
สิ่งนี้คืออะไร
การฉ้อโกงด้วยการเข้าควบคุมบัญชี เป็นการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงบัญชีออนไลน์ของลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อซื้อสินค้าหรือทํากิจกรรมฉ้อโกงอื่นๆ การฉ้อโกงประเภทนี้มักเกิดขึ้นจากการโจมตีแบบฟิชชิ่งหรือวิธีการทางวิศวกรรมสังคมที่หลอกเหยื่อให้เปิดเผยรายละเอียดการเข้าสู่ระบบหรือข้อมูลละเอียดอ่อนอื่นๆ
วิธีการดำเนินการ
ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การฟิชชิ่ง การละเมิดข้อมูล หรือการโจมตีแบบสุ่มเดารหัสผ่าน เพื่อรับข้อมูลเข้าสู่ระบบ เมื่อมีสิทธิ์เข้าถึงบัญชีแล้ว ก็อาจเปลี่ยนที่อยู่สําหรับจัดส่ง ทําการซื้อ หรือแม้กระทั่งขายข้อมูลบัญชีดังกล่าวให้กับอาชญากรรมคนอื่นๆ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจทั้งหมดที่มีบัญชีลูกค้า เช่น ผู้ค้าปลีกออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส หรือบริการแบบชำระเงินตามรอบบอล สามารถตกเป็นเป้าหมายของการฉ้อโกงด้วยการเข้าควบคุมบัญชี
การฉ้อโกงการคืนเงิน
สิ่งนี้คืออะไร
การฉ้อโกงการคืนเงินจะเกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพแอบอ้างตัวเป็นลูกค้าและขอคืนเงินสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตนเองไม่เคยซื้อและไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินคืน โดยมักจะสร้างรายละเอียดคำสั่งซื้อปลอมหรือใช้ข้อมูลบัญชีที่ขโมยมา
วิธีการดำเนินการ
การฉ้อโกงการคืนเงินอาจเกิดขึ้นได้หลายวิธีดังนี้
การส่งคืนสินค้าที่ถูกขโมยหรือสินค้าปลอมเพื่อขอรับเงินคืน
มิจฉาชีพอาจส่งคืนสินค้าที่ขโมยมาหรือสินค้าปลอมให้กับผู้ขายปลีกเพื่อขอคืนเงิน ผู้ค้าปลีกอาจคืนเงินโดยไม่รู้ตัวว่าสินค้านั้นถูกขโมยหรือเป็นของปลอมการขอเงินคืนสําหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยซื้อหรือได้รับ
มิจฉาชีพอาจขอเงินคืนสําหรับผลิตภัณฑ์ที่ตนไม่ได้ซื้อหรือได้รับจริงๆ สามารถทําได้โดยการสร้างใบเสร็จหรือการยืนยันคําสั่งซื้อปลอมการส่งคืนสินค้าที่ใช้แล้วหรือเสียหายโดยอ้างว่าเป็นสินค้าใหม่เพื่อขอรับเงินคืน
มิจฉาชีพอาจใช้หรือสร้างความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์ จากนั้นจึงส่งคืนเป็นสินค้าใหม่เพื่อทําการขอเงินคืน ผู้ค้าปลีกอาจไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ถูกใช้หรือมีความเสียหาย และทําการคืนเงินให้การขอเงินคืนซ้ำซ้อนทั้งจากผู้ค้าปลีกและบริษัทบัตรเครดิต
มิจฉาชีพอาจขอเงินคืนทั้งจากผู้ค้าปลีกและบริษัทบัตรเครดิตสําหรับการซื้อรายการเดียวกัน ซึ่งทําได้โดยการอ้างว่าการซื้อนี้เป็นการฉ้อโกง จากนั้นก็ส่งคืนผลิตภัณฑ์เพื่อขอเงินคืน
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ผู้ค้าปลีกออนไลน์ ผู้ให้บริการเนื้อหาดิจิทัล และบริการแบบชำระเงินตามรอบบิลมักเสี่ยงต่อการขอเงินคืนที่เป็นการฉ้อโกง
การฉ้อโกงโปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตร
สิ่งนี้คืออะไร
การฉ้อโกงประเภทนี้เกิดกับโปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตร ซึ่งธุรกิจจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชันให้กับพันธมิตรสำหรับการโปรโมตผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจ การฉ้อโกงโปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตรเกิดขึ้นเมื่อพันธมิตรทํากิจกรรมฉ้อโกงเพื่อรับค่าคอมมิชชัน โดยที่จริงๆ แล้วไม่มีสิทธิ์ได้รับ
วิธีการดำเนินการ
มิจฉาชีพใช้วิธีต่างๆ เช่น การปั่นยอดคลิก ใช้บ็อต หรือบัญชีปลอมเพื่อสร้างยอดเข้าชม ยอดคลิก หรือการขายปลอมๆ เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าคอมมิชชัน การฉ้อโกงประเภทนี้มีหลายประเภทดังต่อไปนี้
การแอบใส่คุกกี้: การแอบใส่คุกกี้คือการเพิ่มคุกกี้ไปยังคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อเพิ่มจํานวนยอดคลิกหรือยอดขายสำหรับพันธมิตรรายนั้นๆ
การฉ้อโกงโฆษณา: การฉ้อโกงโฆษณาเกิดขึ้นเมื่อพันธมิตรสร้างเว็บไซต์ปลอมหรือมีโกงยอดคลิก เพื่อสร้างยอดเข้าถึงหรือยอดคลิกโฆษณาปลอมๆ เพื่อให้ได้รับค่าคอมมิชชัน
ลูกค้าเป้าหมายปลอม: พันธมิตรอาจส่งข้อมูลของลูกค้าเป้าหมายปลอมๆ เพื่อรับค่าคอมมิชชันอย่างไม่ถูกต้อง
การนำชื่อแบรนด์ไปเสนอราคา: การนำชื่อแบรนด์ไปเสนอราคาเกี่ยวข้องกับการที่พันธมิตรนำคีย์เวิร์ดแบรนด์ของธุรกิจไปเสนอราคาในเครื่องมือค้นหา ทำให้ต้นทุนการโฆษณาสูงขึ้นและลดประสิทธิภาพของแคมเปญของธุรกิจ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจที่ใช้โปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตรอาจได้รับผลกระทบจากการฉ้อโกงประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางประเภทมีความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงโปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตรมากกว่าธุรกิจอื่นๆ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการฉ้อโกงโปรแกรมการตลาดแบบพันธมิตร เนื่องจากยอดขายมักสร้างขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งทําให้มิจฉาชีพเข้ามาปั่นอัตรายอดคลิกและโอกาสในการขายได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่เสนอค่าคอมมิชชันให้กับพันธมิตรเพื่อกระตุ้นการเข้าชมเว็บไซต์หรือสร้างยอดขายจะมีความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงประเภทนี้มากกว่า
สินค้าลอกเลียนแบบหรือของปลอม
สิ่งนี้คืออะไร
สินค้าลอกเลียนแบบหรือปลอมแปลงมักถูกผลิตและจำหน่ายด้วยเจตนาหลอกลวง โดยมักใช้ชื่อยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ผลิตหรือเจ้าของตัวจริง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีตั้งแต่สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋าถือและนาฬิกาจากดีไซเนอร์ ไปจนถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง และยา
สินค้าลอกเลียนแบบอาจแยกแยะจากของแท้ได้ยาก และลูกค้าอาจซื้อของเหล่านั้นทางออนไลน์โดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าตนกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ของแท้ สิ่งนี้ไม่เพียงส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางการเงินสำหรับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยขั้นร้ายแรงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของยาปลอม เครื่องสำอาง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
วิธีการดำเนินการ
การจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซปลอมหรือเลียนแบบนั้นทำได้หลายวิธี มิจฉาชีพบางรายจะสร้างเว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ที่ดูถูกต้องตามกฎหมายและเสนอผลิตภัณฑ์ในราคาแบบมีส่วนลด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจติดฉลากว่าเป็น "ของแท้" แต่จริงๆ แล้วเป็นสินค้าเลียนแบบราคาถูกที่ผลิตขึ้นให้ดูเหมือนของจริง มิจฉาชีพอาจใช้รูปภาพและคําอธิบายที่ขโมยมาจากเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์ของจริง เพื่อทําให้ผลิตภัณฑ์ปลอมดูน่าเชื่อถือมากขึ้น
อีกวิธีหนึ่งที่มิจฉาชีพอาจขายผลิตภัณฑ์ปลอมออนไลน์ ก็คือการเข้าไปยึดครองหน้าแสดงสินค้าจริงในมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เช่น Amazon หรือ eBay โดยอาจสร้างบัญชีปลอมและเสนอผลิตภัณฑ์เลียนแบบในราคาต่ํากว่าผู้ขายจริง เมื่อผู้ซื้อทำการซื้อสินค้าลอกเลียนแบบ มิจฉาชีพจะจัดส่งสินค้านั้นให้กับผู้ซื้อโดยตรง แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของจริง ผู้ซื้อจึงอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ํา (หรือแม้กระทั่งไม่ปลอดภัย)
ในบางกรณี มิจฉาชีพอาจสร้างแบรนด์สินค้าลอกเลียนแบบด้วยตนเอง โดยทําโลโก้ บรรจุภัณฑ์ และการโฆษณาปลอมๆ แบรนด์สินค้าลอกเลียนแบบเหล่านี้ออกแบบมาให้ดูเหมือนผลิตภัณฑ์จริงและอาจจําหน่ายบนเว็บไซต์หรือผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
เพื่อดำเนินการฉ้อโกงดังกล่าว มิจฉาชีพอาจหลอกลวงลูกค้าโดยใช้กลวิธีต่างๆ เช่น การเขียนรีวิวหรือคำรับรองปลอม คำอธิบายผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เข้าใจผิด และการอ้างว่าสินค้าเป็นของจริง และเนื่องจากการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการฉ้อโกงประเภทเดียวในแต่ละสถานการณ์ มิจฉาชีพยังอาจใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ขโมยมาหรือรายละเอียดบัตรเครดิตเพื่อทำการซื้อแบบฉ้อโกงได้อีกด้วย
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ธุรกิจใดๆ ที่ผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงหรือแบรนด์ที่มีชื่อเสียงก็อาจเสี่ยงต่อการฉ้อโกงด้วยสินค้าลอกเลียนแบบหรือของปลอมในอีคอมเมิร์ซได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางแห่งจะมีความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงประเภทนี้มากกว่าธุรกิจอื่นๆ ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วน
- สินค้าหรูหรา: สินค้าหรูหรามีความเสี่ยงต่อการลอกเลียนแบบเนื่องจากมีมูลค่าสูงและแบรนด์เป็นที่รู้จัก มิจฉาชีพมักสร้างสินค้าแบรนด์ความหรูหรายอดนิยมเวอร์ชันปลอม เช่น กระเป๋าถือดีไซเนอร์ นาฬิกาข้อมือ และเสื้อผ้า
- เครื่องใช้ไฟฟ้า: อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็ปท็อปมักถูกลอกเลียนแบบ เนื่องจากเป็นสินค้าอุปสงค์และมูลค่าทางตลาดที่สูง
- ยา: ยาปลอมเป็นปัญหาสําคัญในอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับยาที่มีราคาแพงหรือหายาก ยาปลอมเหล่านี้อาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรือไม่มีประสิทธิภาพ
- ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม: ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม เช่น เครื่องสําอาง น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมักจะเป็นถูกลอกเลียนแบบ ผลิตภัณฑ์ปลอมเหล่านี้อาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายและอาจทําให้เกิดการระคายเคืองทางผิวหนังหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ
- สินค้ากีฬา: สินค้ากีฬา เช่น รองเท้ากีฬาและเครื่องแต่งกาย มักถูกปลอมแปลงเนื่องจากความนิยมและมูลค่าในการนำไปขายต่อที่สูง
- อะไหล่รถยนต์: อะไหล่รถยนต์ เช่น ผ้าเบรกและถุงลมนิรภัย มักเป็นของปลอม และผลิตภัณฑ์ปลอมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยร้ายแรงต่อลูกค้า
การฉ้อโกงการดร็อปชิป
สิ่งนี้คืออะไร
ผู้ทำการค้าแบบดร็อปชิป คือผู้ค้าปลีกที่ไม่มีสินค้าที่ขายไว้ในคลัง แต่จะดำเนินการตามคําสั่งซื้อโดยการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิต ซึ่งจะจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าโดยตรงในนามของผู้ค้าปลีกรายนั้นๆ วิธีนี้ช่วยให้ผู้ค้าปลีกหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนในการจัดเก็บและจัดการสินค้าคงคลัง จึงมุ่งเน้นไปที่การทําการตลาดและขายผลิตภัณฑ์ได้
การฉ้อโกงด้วยการดร็อปชิปเกิดขึ้นเมื่อผู้ทำการค้าแบบดร็อปชิปใช้กลวิธีหลอกลวงเพื่อหลอกผู้ซื้อหรือธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมฉ้อโกงต่างๆ เช่น การรายงานคุณภาพหรือความพร้อมจำหน่ายของผลิตภัณฑ์อย่างไม่ถูกต้อง การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งซื้อ การเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมหรือราคาที่มากเกินไป หรือการใช้ข้อมูลบัตรเครดิตที่ขโมยมาเพื่อซื้อสินค้า
วิธีการดำเนินการ
ผู้ทำการค้าแบบดร็อปชิปอาจสร้างเว็บไซต์หรือบัญชีโซเชียลมีเดียปลอท โดยแสร้งเป็นผู้ค้าปลีกที่ถูกต้อง และรับการชําระเงินจากลูกค้าสําหรับสินค้าที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะจัดส่งจริงๆ โดยอาจบิดเบือนคำอธิบายและรูปภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ดูเหมือนว่าเสนอขายผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับด้อยคุณภาพหรือไม่มีอยู่จริง
ผู้ทำการค้าแบบดร็อปชิปอาจใช้วิธีขึ้นราคาสินค้าเพื่อหวังกำไรมากขึ้น หรือใช้การโฆษณาที่เป็นเท็จเพื่อล่อลวงลูกค้าให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงตามที่คาดหวัง ในบางกรณี พวกเขาอาจขโมยตัวตนของธุรกิจจริงเพื่อเข้าถึงซัพพลายเชนหรือฐานลูกค้า
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ใช้การจัดส่งแบบดร็อปชิปเป็นวิธีดําเนินการตามคําสั่งซื้อมักจะเสี่ยงต่อการฉ้อโกงประเภทนี้มากที่สุด
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับป้องกันการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซ
แม้ว่ามิจฉาชีพจะมีวิธีการต่างๆ มากมายในการหลอกลวงในระบบอีคอมเมิร์ซ แต่ธุรกิจต่างๆ ก็ยังสามารถปกป้องตัวเองได้ ต่อไปนี้คือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับการป้องกันการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซ
- การใช้เกตเวย์การชําระเงินที่ปลอดภัย
- การใช้วิธีการตรวจสอบสิทธิ์แบบรัดกุม
- การติดตามตรวจสอบธุรกรรมและพฤติกรรมของผู้ใช้
- การตั้งค่ากฎและตัวกรองเพื่อตรวจจับการฉ้อโกง
- การใช้ระบบยืนยันที่อยู่และบัตร
- การปรับปรุงซอฟต์แวร์และระบบให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
- การฝึกอบรมพนักงานและสร้างการตระหนักรู้เรื่องการฉ้อโกงเป็นการภายใน
- การเข้ารหัสและปกป้องข้อมูลลูกค้า
- การติดตามตรวจสอบการดึงเงินคืน
- การมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจและองค์กรอุตสาหกรรมอื่นๆ
- การใช้ข้อมูลไบโอเมตริกและการวิเคราะห์พฤติกรรม
เมื่อทำตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเหล่านี้ ธุรกิจต่างๆ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซ และสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการจับจ่ายในโลกออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับลูกค้าได้ หากต้องการทราบแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างละเอียดยิ่งขึ้น โปรดอ่านเพิ่มเติมที่นี่
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ