ตารางทุนคือเอกสารที่มีรายละเอียดความเป็นเจ้าของบริษัทคุณในกลุ่มผู้ก่อตั้ง นักลงทุน และพนักงาน เอกสารนี้เป็นเอกสารสําคัญในการดึงดูดการลงทุน การรักษาการควบคุมของธุรกิจ และการวางแผนเพื่อการเติบโตในอนาคต ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณพัฒนาตารางทุนจะกลายสภาพจากรายการบันทึกง่ายๆ เป็นเครื่องมือที่สะท้อนโครงสร้างความเป็นเจ้าของที่มีหลายชั้นอย่างครอบคลุม
ด้านล่างนี้ เราจะอธิบายว่าตารางทุนคืออะไร ทําไมจึงสําคัญต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ และหลักการทำงาน ทั้งในระยะเริ่มต้นและเมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณเติบโตขึ้น
มีอะไรในบทความนี้บ้าง
- ตารางทุนคืออะไร
- ทําไมธุรกิจสตาร์ทอัพจึงต้องมีตารางทุน
- วิธีจัดทำตารางทุนตั้งแต่เริ่มต้น
- ตารางทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพควรมีอะไรบ้าง
- วิธีใช้ตารางทุนในรอบระดมทุน
- ตารางโครงสร้างทุนจะพัฒนาไปอย่างไรเมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณเติบโตขึ้น
ตารางทุนคืออะไร
ตารางทุนซึ่งเป็นชื่อย่อของตารางโครงสร้างทุน เป็นเอกสารอธิบายโครงสร้างการเป็นเจ้าของของบริษัท โดยแสดงรายการหลักทรัพย์ต่างๆ ของบริษัท เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ สิทธิ์การซื้อหุ้น วอร์แรนต์ และรายการอื่นๆ เกี่ยวกับทุน และแสดงบุคคลที่เป็นเจ้าของแต่ละสิ่ง ปกติตารางทุนจะประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อผู้ถือหุ้น จํานวนหุ้นที่ถือ และเปอร์เซ็นต์กรรมสิทธิ์ในบริษัท
ตารางทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพระยะแรกเริ่มค่อนข้างเรียบง่าย โดยมีรายชื่อผู้ก่อตั้งและนักลงทุนไม่กี่ราย เมื่อบริษัทขยายและระดมทุนได้มากขึ้น ตารางทุนก็อาจมีชื่อนักลงทุนมากขึ้น ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพ และการให้สิทธิ์การซื้อหุ้นแก่พนักงาน
ทําไมธุรกิจสตาร์ทอัพจึงต้องมีตารางทุน
ตารางทุนแสดงรายละเอียดแจกแจงความเป็นเจ้าของกิจการของผู้ร่วมก่อตั้ง นักลงทุน พนักงานที่ได้สิทธิ์การซื้อหุ้น และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ซึ่งช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจสัดส่วนความเป็นเจ้าของในปัจจุบันของตน และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในการระดมทุนรอบต่างๆ ในอนาคต หรือการใช้สิทธิ์ซื้อหุ้น การจัดทำบันทึกที่ชัดเจนเป็นสิ่งสําคัญด้วยเหตุผลต่อไปนี้
การระดมทุน: เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพระดมเงินจากนักลงทุนตารางทุนจะช่วยให้นักลงทุนเห็นโครงสร้างการเป็นเจ้าของในปัจจุบันและผลกระทบของการลงทุนของตนที่จะมีต่อโครงสร้างดังกล่าว เอกสารนี้แสดงให้นักลงทุนเห็นว่าตนเองจะมีส่วนในทุนเท่าใด มีกรรมสิทธิ์ในบริษัทกี่เปอร์เซ็นต์ และมีผลทำให้สัดส่วนทุนของผู้ถือหุ้นเดิมลดลงอย่างไร
หลีกเลี่ยงความประหลาดใจเรื่องมูลค่าเงินลงทุนที่ลดลง: เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพขยายตัวและระดมทุนมากขึ้น มูลค่าเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นปัจจุบันก็อาจลดลง ตารางทุนช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเป็นเจ้าของบริษัทเห็นผลกระทบจากมูลค่าเงินลงทุนที่ลดลงและสามารถวางแผนได้
การตัดสินใจ: การตัดสินใจสําคัญๆ หลายอย่างในบริษัท เช่น การขายธุรกิจหรือการออกหุ้นใหม่ต้องขออนุมัติผู้ถือหุ้น ตารางทุนช่วยให้เห็นภาพชัดว่าใครบ้างที่มีอำนาจตัดสินใจโดยพิจารณาจากกรรมสิทธิ์หุ้นที่มี
วัตถุประสงค์ด้านกฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนด: การยื่นเอกสารตามกฎหมายมักกำหนดให้ยื่นตารางทุนด้วย โดยตารางนี้ยังช่วยให้มั่นใจถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงผู้ถือหุ้นและระเบียบข้อบังคับด้านหลักทรัพย์
การจัดทำตารางทุนที่ดีช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพมีระเบียบ วางแผนสําหรับอนาคต และสื่อสารกับนักลงทุน พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน
วิธีจัดทำตารางทุนตั้งแต่เริ่มต้น
การจัดทำตารางทุนตั้งแต่เริ่มต้นต้องรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยทำให้เป็นระเบียบชัดเจนและอ่านง่าย คุณสามารถเริ่มต้นทำได้โดยการใช้สเปรดชีตแบบธรรมดาที่สร้างด้วยเครื่องมือ เช่น Excel หรือ Google Sheets แต่เมื่อบริษัทของคุณเติบโตขึ้น คุณอาจต้องใช้เครื่องมือขั้นสูงอื่นๆ เช่น Carta, Capshare และ Pulley เพื่อทําให้กระบวนการนี้ทํางานอัตโนมัติ
ต่อไปนี้คือคําแนะนําแบบทีละขั้นตอนเกี่ยวกับการสร้างตารางทุนเวอร์ชันพื้นฐาน
สร้างสเปรดชีต
สร้างสเปรดชีตที่มีคอลัมน์สําหรับข้อมูลต่อไปนี้
ชื่อผู้ถือหุ้น: ชื่อบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลทุกรายที่มีกรรมสิทธิ์ในทุนของบริษัท
ประเภทของตราสารทุน: ประเภทของหลักทรัพย์ที่แต่ละรายถือ (เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ สิทธิ์การซื้อหุ้น วอร์แรนต์)
จํานวนหุ้น: จำนวนหุ้นหรือหน่วยที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายเป็นเจ้าของ
เปอร์เซ็นต์กรรมสิทธิ์: เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายเป็นเจ้าของ
คลาสของหุ้น: คลาสของหุ้น (เช่น หุ้นสามัญ, ซีรีส์ A, ซีรีส์ B) (ถ้ามี)
ราคาต่อหุ้น: ราคาหุ้นที่ซื้อหรือออกหุ้น (ถ้ามี)
กรอกข้อมูลความเป็นเจ้าของ
จากนั้นให้ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องในแต่ละคอลัมน์
หุ้นผู้ก่อตั้ง
กรอกจํานวนหุ้นทั้งหมดที่ออกให้ผู้ก่อตั้ง บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งจะออกหุ้นจํานวนมากในตอนต้น (เช่น 1,000,000 หรือ 10,000,000 หุ้น) เพื่อให้คํานวณได้ง่ายขึ้น
ส่วนของนักลงทุน
กรอกจำนวนเงินที่ระดมทุนฃจากนักลงทุน โดยระบุชื่อนักลงทุน จํานวนเงินที่ลงทุน จํานวนหุ้นที่นักลงทุนซื้อ และเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับหุ้น (เช่น หุ้นบุริมสิทธิที่มีสิทธิ์ได้รับคืนทุนก่อน)
สิทธิ์การซื้อหุ้นของพนักงาน
กรอกข้อมูลสิทธิ์การซื้อหุ้นของพนักงาน ใส่ชื่อของผู้ถือสิทธิ์แต่ละคน (หรือปล่อยไว้โดยไม่ระบุชื่อหากคุณเพิ่งเริ่มต้นตัวตนหากคุณเพิ่งก่อตั้งหุ้นกลุ่มนี้) จำนวนสิทธิ์ที่ให้ไปแล้ว ตารางเวลาการให้สิทธิ์ และเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดว่ามีการใช้สิทธิ์ไปแล้วหรือยัง
ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพหรือสัญญา SAFE (Simple Agreements for Future Equity)
ป้อนข้อมูลเงินที่ระดมทุนโดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพหรือสัญญา SAFE ระบุจํานวนเงินต้นของตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสัญญา SAFE และเงื่อนไขการแปลงสภาพ (เช่น อัตราส่วนลด ราคาสูงสุดในการแปลงสภาพ) เมื่อมีการแปลงเป็นหุ้นแล้ว ให้อัปเดตตารางทุนให้แสดงถึงหุ้นใหม่ที่ออก
คํานวณจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด
รวมจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดไว้ด้านล่างของสเปรดชีต (รวมถึงหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และสิทธิ์การซื้อหุ้นที่มอบแล้ว) โดยตัวเลขนี้จะใช้เป็นฐานในการคํานวณเปอร์เซ็นต์การเป็นเจ้าของบริษัทของผู้ถือหุ้นแต่ละราย
อัปเดตเป็นประจํา
ตารางทุนเป็นเอกสารที่มีชีวิต ทุกครั้งที่คุณออกหุ้นใหม่ เสนอสิทธิ์การซื้อหุ้น หรือจัดระดมทุนรอบใหม่ คุณต้องอัปเดตตารางเพื่อให้สะท้อนเปอร์เซ็นต์การเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นแต่ละราย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งผู้ก่อตั้ง พนักงาน และนักลงทุนเห็นภาพโครงสร้างหุ้นของบริษัทอย่างถูกต้อง
ตัวอย่างตารางทุนแบบง่าย
ผู้ถือหุ้น |
ประเภททุน |
จํานวนหุ้น |
% กรรมสิทธิ์ |
---|---|---|---|
ผู้ก่อตั้ง 1 |
หุ้นสามัญ |
500,000 |
40% |
ผู้ก่อตั้ง 2 |
หุ้นสามัญ |
500,000 |
40% |
นักลงทุน A |
หุ้นบุริมสิทธิ |
250,000 |
20% |
ยอดรวม |
1,250,000 |
100% |
ตารางทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพควรมีอะไรบ้าง
ตารางทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพควรมีข้อมูลที่จําเป็นทั้งหมดเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทและการถือครองกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหุ้น ส่วนประกอบหลักมีดังนี้
ข้อมูลผู้ถือหุ้น
รายชื่อผู้ถือหุ้นทุกราย (เช่น ผู้ก่อตั้ง นักลงทุน พนักงานที่ได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้น) ระบุว่าผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลทั่วไป ธุรกิจการร่วมลงทุน หรือนิติบุคคลประเภทอื่น
ประเภทของตราสารทุน
แจกแจงประเภทของตราสารทุนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถือ ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วน
หุ้นสามัญ: หุ้นที่ออกให้แก่ผู้ก่อตั้งพนักงาน และนักลงทุนในระยะแรกบางครั้ง หุ้นประเภทนี้เป็นหุ้นมาตรฐานที่มาพร้อมกับสิทธิ์ในการออกเสียง
หุ้นบุริมสิทธิ: หุ้นที่ออกให้นักลงทุนในรอบการระดมทุน เมื่อระบุรายการเหล่านี้ ให้ใส่ข้อมูลสิทธิเพิ่มเติม เช่น สิทธิ์การได้รับคืนทุนก่อนและความคุ้มครองการลดมูลค่าเงินลงทุน
สิทธิ์การซื้อหุ้น: สิทธิ์การซื้อหุ้นที่มอบให้แล้วหรือสิทธิ์ในการซื้อหุ้นของพนักงาน (ESOP) ที่ชำระแล้ว เมื่อระบุข้อมูลเหล่านี้ ให้คุณใส่กําหนดเวลาการให้สิทธิ์ไว้ด้วย
ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพและสัญญา SAFE: ตราสารหนี้หรือตราสารทุนที่แปลงสภาพเป็นหุ้นในรอบการจัดหาเงินทุนภายหลัง เมื่อคุณระบุรายการเหล่านี้ ให้ใส่รายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขของตราสาร เช่น อัตราส่วนลดและราคาสูงสุดในการแปลงสภาพ
จํานวนหุ้น
ระบุจํานวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นหรือที่ผู้ถือสิทธิการซื้อหุ้นแต่ละคนมี โดยแยกตามประเภทของตราสารทุน โดยให้รวมข้อมูลต่อไปนี้ด้วย
จํานวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทอนุมัติให้ออกหุ้น ซึ่งอาจแตกต่างจากจํานวนหุ้นที่ออกในปัจจุบัน
จํานวนหุ้นทั้งหมดที่ออกจริงและมีผู้ถือหุ้นถืออยู่ในปัจจุบัน
กรรมสิทธิ์ในรูปแบบเปอร์เซ็นต์
ระบุเปอร์เซ็นต์กรรมสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นแต่ละราย คำนวนโดยการหารจํานวนหุ้นที่ถือด้วยจํานวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด
ข้อมูลการประเมินมูลค่า
บันทึกราคาที่มีการออกหุ้น การทําเช่นนี้ช่วยให้คุณติดตามได้ว่าการระดมทุนแต่ละรอบลดมูลค่าความเป็นเจ้าของลงเท่าใด นอกจากนี้ ให้บันทึกมูลค่าของบริษัทหลังจากรอบการระดมทุนด้วย ข้อมูลนี้จะช่วยให้ทราบมูลค่าตราสารหนี้ที่นักลงทุนใหม่ได้รับเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินทุนที่ลงไป
รายละเอียดสิทธิ์การซื้อหุ้น
ให้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิ์การซื้อหุ้นที่มอบให้กับพนักงาน เช่น จำนวนหุ้น กําหนดเวลาการได้รับสิทธิ์ และระยะเวลารอก่อนใช้สิทธิ์ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถเริ่มใช้สิทธิ์ได้เมื่อใด
ข้อมูลการลดลงของมูลค่าเงินลงทุน
ข้อมูลแสดงผลกระทบของรอบการจัดหาทุนรอบใหม่หรือการออกหุ้นต่อเปอร์เซ็นต์ความเป็นเจ้าของกิจการของผู้ถือหุ้น ข้อมูลส่วนนี้ช่วยให้ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนเห็นภาพความเป็นเจ้าของที่พวกเขาเสียไปเมื่อออกหุ้นใหม่เพิ่มเติม
เงื่อนไขของหุ้นบุริมสิทธิ
ระบุเงื่อนไขของหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด รวมถึงสิ่งต่อไปนี้
สิทธิ์การได้รับคืนทุนก่อน: ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นทั่วไปในกรณีชำระบัญชีหรือขายบริษัท
สิทธิ์ในการออกเสียง: สิทธิ์ในการออกเสียงหรือสิทธิ์พิเศษใดๆ ที่ติดมากับคลาสของหุ้นแต่ละคลาส (เช่น หุ้นบุริมสิทธิกับหุ้นสามัญ)
สิทธิ์การแปลงสภาพ เงื่อนไขการแปลงสภาพหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญ
ESOP
ระบุจํานวนหุ้นทั้งหมดที่กันไว้เพื่อออกหุ้นให้แก่พนักงาน ที่ปรึกษา และบุคคลอื่นในอนาคต นี่เป็นสิ่งสําคัญในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถและให้ค่าตอบแทนพนักงาน แสดงจํานวนสิทธิ์การซื้อหุ้นที่มอบไปแล้วและสิทธิ์การซื้อหุ้นที่ยังคงเหลืออยู่สำหรับพนักงานในอนาคต
ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพหรือสัญญา SAFE
ระบุจํานวนเงินต้นที่ระดมทุนผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพหรือสัญญา SAFE ระบุอัตราส่วนลด ราคาสูงสุดในการแปลงสภาพ และเงื่อนไขการแปลงสภาพ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อวิธีและช่วงเวลาที่ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ SAFE จะแปลงสภาพเป็นหุ้น
คลาสของหุ้น
ระบุว่าหุ้นสามัญมีการแบ่งเป็นหลายคลาสหรือไม่ เช่น คลาส A และ คลาส B ซึ่งอาจมีสิทธิ์ การออกเสียง หรือสิทธิในการแปลงสภาพที่แตกต่างกัน
วิธีใช้ตารางทุนในรอบระดมทุน
ระหว่างรอบการระดมทุน ตารางทุนจะช่วยให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจถึงผลกระทบของการลงทุนใหม่ที่มีต่อเปอร์เซ็นต์กรรมสิทธิ์ มูลค่าเงินลงทุนที่ลดลง และมูลค่าบริษัทโดยรวม ต่อไปนี้เป็นวิธีใช้ตารางทุนของคุณอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงรอบการระดมทุน
ทำการประเมินมูลค่าก่อนการระดมทุน
การประเมินมูลค่าก่อนการระดมทุน (มูลค่าของบริษัทก่อนรับเงินทุนใหม่) ก่อนเริ่มรอบการระดมทุน ตารางทุนของคุณจะแจกแจงกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน ซึ่งช่วยในการพิจารณาว่าควรจะเสนอส่วนทุนเท่าใดเพื่อแลกกับเงินลงทุน เมื่อเงินลงทุนมาแล้ว คุณจะต้องคำนวณมูลค่าบริษัทหลังการระดมทุน (ซึ่งก็คือมูลค่าใหม่ของบริษัทซึ่งรวมเงินลงทุนใหม่ด้วย)
จําลองสถานการณ์การระดมทุนหลายๆ รูปแบบ
ใช้ตารางทุนจำลองสถานการณ์ว่าจำนวนการลงทุนและการประเมินมูลค่าที่แตกต่างกันจะมีผลต่อความเป็นเจ้าของกิจการอย่างไร กําหนดว่านักลงทุนจะได้รับจัดส่วนทุนเท่าใดเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินที่นำมาลงทุน (จํานวนหุ้นที่นักลงทุนจะได้รับ) และดูว่าหุ้นใหม่จะมีผลต่อหุ้นที่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันถือครองอยู่อย่างไร (สัดส่วนการลงทุนที่ลดลง) ตารางทุนของคุณควรอัปเดตเปอร์เซ็นต์กรรมสิทธิ์โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อออกหุ้นเพิ่ม
สรุปเงื่อนไขสำหรับหุ้นบุริมสิทธิ
หากคุณออกหุ้นบุริมสิทธิ ตารางทุนของคุณควรแสดงเงื่อนไขพิเศษใดๆ ที่มาพร้อมกับหุ้นเหล่านี้ ใส่รายละเอียดต่อไปนี้
สิทธิ์การได้รับคืนทุนก่อน: ระบุว่านักลงทุนรายใหม่จะได้รับเงินก่อนหรือไม่หากบริษัทขายหรือชําระบัญชี
สิทธิ์การแปลงสภาพ ระบุว่าหุ้นมีตัวเลือกให้แปลงจากหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญในภายหลังหรือไม่
ข้อกำหนดที่คุ้มครองการลดมูลค่าเงินลงทุน: ระบุว่านักลงทุนจะได้รับความคุ้มครองจากการลดมูลค่าเงินลงทุนในอนาคตหรือไม่
ใช้ตารางทุนในการเจรจาต่อรอง
ระหว่างการเจรจาต่อรอง นักลงทุนย่อมต้องการทราบว่าส่วนทุนของตนจะเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนทุนที่มีอยู่เดิม ใช้ตารางทุนเพื่อแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าจะมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของบริษัทมากแค่ไหนหลังจากรอบการระดมทุน รวมทั้งอำนาจการควบคุมและการลงคะแนนเสียง และเพื่อนำเสนอสถานการณ์การลงทุนหลายๆ แบบที่แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนจะเปลี่ยนไปอย่างไรในกรณีที่ยอดเงินลงทุนหรือเงื่อนไขแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการหาจุดสมดุลที่ดีต่อทุกฝ่าย
อัปเดตโครงสร้างการถือหุ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เมื่อคุณปิดข้อตกลงแล้ว ให้อัปเดตตารางทุนและแจ้งโครงสร้างการถือหุ้นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนระยะแรกย่อมอยากเห็นว่าสัดส่วนความเป็นเจ้าของของตนเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากการลงทุน ส่วนนักลงทุนใหม่ย่อมอยากเห็นส่วนของตนเอง รวมทั้งสิทธิหรือสิทธิพิเศษเฉพาะใดๆ ที่ตนมี หากคุณมีโครงการ ESOP คุณจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กับคนที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์และอธิบายผลที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่อาจจะต้องการรับสิทธิ์การซื้อหุ้น
เตรียมพร้อมสําหรับรอบการจัดหาเงินทุนในอนาคต
ตารางทุนที่เป็นปัจจุบันยังช่วยคุณวางแผนสำหรับรอบลงทุนในอนาคตได้อีกด้วย หลังการระดมทุนรอบปัจจุบันก็จะเห็นได้ง่ายว่าผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นระยะแรกมีหุ้นอยู่เท่าใด ซึ่งสำคัญต่อการรักษาอำนาจควบคุม และยังทำให้เห็นว่าในอนาคตยังสามารถลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของได้อีกเท่าใดโดยไม่ทำให้เกิดปัญหากับผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ นอกจากนี้คุณยังสามารถดูว่าจำเป็นต้องขยายโครงการ ESOP ในรอบถัดไปเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถหรือไม่
ตรวจสอบตัวชี้วัดหลัก
ขณะที่คุณดำเนินการระดมทุน ตารางทุนจะช่วยให้คุณติดตามจุดข้อมูล เช่น ผู้ก่อตั้งยังมีส่วนทุนอยู่เท่าใด (ซึ่งหากมูลค่าเงินลงทุนลดลงมากเกินไปก็อาจทำให้ขาดแรงจูงใจ) หรือดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับหุ้นที่เตรียมไว้สำหรับให้สิทธิในการซื้อ (โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเพิ่มในช่วงรอบนี้) รวมทั้งดูว่ามูลค่าของบริษัทเปลี่ยนไปอย่างไรในแต่ละรอบ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลต่อราคาหุ้นในอนาคตสำหรับนักลงทุนรายใหม่
ตารางโครงสร้างทุนจะพัฒนาไปอย่างไรเมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณเติบโตขึ้น
เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณเติบโตขึ้น ตารางทุนของคุณจะพัฒนาจนกลายเป็นเอกสารที่ซับซ้อนและมีหลายชั้นมากขึ้น ต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ระยะเริ่มก่อตั้ง
ในตอนแรกตารางทุนของคุณจะเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ปกติในระยะนี้จะมีแต่ผู้ก่อตั้งเท่านั้นที่เป็นผู้ถือหุ้น คุณอาจแบ่งหุ้นกันในกลุ่มของตนเองและอาจทำตารางเวลาการให้สิทธิ์ด้วยเพื่อให้ทุกคนมีแรงจูงใจในระยะยาว ตารางในระยะแรกเริ่มจะระบุรายละเอียดเหล่านี้และกําหนดจํานวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทสามารถออกได้
การเพิ่มโครงการ ESOP
ทันทีที่คุณเริ่มจ้างพนักงานหรือที่ปรึกษา คุณอาจจะกันหุ้นไว้เป็นออปชันเพื่อให้สิทธิ์การซื้อหุ้น ซึ่งจะทำให้ตารางทุนของคุณมีส่วนข้อมูลใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา
ESOP: ESOP ซึ่งในตอนแรกอาจเป็นหุ้นจำนวนหนึ่งที่กันเอาไว้สำหรับพนักงานที่จ้างในอนาคต สิทธิการซื้อหุ้นเหล่านี้ปกติจะมีตารางเวลาการให้สิทธิ์และจะไม่แสดงในส่วน "หุ้นที่ชำระแล้ว" จนกว่าจะมีการใช้สิทธิ์ แต่คุณยังคงต้องติดตามข้อมูลนี้อยู่
สิทธิ์ที่มอบแล้วกับที่ยังไม่ได้จัดสรร: ออปชันที่มอบแล้ว (สิทธิ์ที่มอบให้กับพนักงานแล้ว) และออปชันที่เหลือไว้สำหรับสมาชิกทีมในอนาคต
รอบ Early Seed
เมื่อคุณเริ่มระดมทุนจากนักลงทุนภายนอก ตารางทุนจะมีข้อมูลส่วนใหม่ดังเช่นต่อไปนี้
หุ้นบุริมสิทธิ: นักลงทุนมักต้องการหุ้นประเภทนี้เพื่อให้มีการคุ้มครองในระดับหนึ่ง
การประเมินมูลค่าหลังการระดมทุน: มูลค่าของบริษัทหลังบันทึกเงินลงทุนใหม่ เปอร์เซ็นต์การถือหุ้นของนักลงทุนรายใหม่จะคำนวณโดยอ้างอิงมูลค่าหลังการระดมทุน
ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพและสัญญา SAFE
การระดมทุนผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพหรือสัญญา SAFE หมายความว่าคุณกําลังเตรียมพื้นที่ไว้ในตารางทุน เพราะตราสารเหล่านี้จะไม่แปลงเป็นหุ้นในทันที แต่จะแปลงสภาพในอนาคต (โดยมักจะแปลงสภาพในการระดมทุนรอบถัดไป)
ให้ทำรายการตราสารเหล่านี้แยกต่างหากในตารางทุนจนกว่าจะมีการแปลงสภาพ โดยจะต้องบันทึกจํานวนเงินต้น อัตราส่วนลด ราคาสูงสุดในการแปลงสภาพ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อจํานวนหุ้นที่ได้รับหลังแปลงสภาพ
ซีรี่ส์ A และอื่นๆ
เมื่อผ่านการระดมทุนหลายรอบ ตารางทุนของคุณจะมีหลายชั้นขึ้น เพราะแต่ละรอบจะมีนักลงทุนใหม่ที่มีหุ้นบุริมสิทธิและเงื่อนไขเป็นของตนเอง การเปลี่ยนแปลงมีดังนี้
แต่ละรอบการระดมทุนจะมีหุ้นบุริมสิทธิคลาสใหม่เกิดขึ้น (เช่น หุ้นบุริมสิทธิซีรีส์ A, หุ้นบุริมสิทธิซีรีส์ B) โดยแต่ละรอบจะมีชุดเงื่อนไขของตัวเอง
การระดมทุนแต่ละรอบจะลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิม (รวมทั้งของผู้ก่อตั้ง) ซึ่งหมายความว่าเปอร์เซ็นต์กรรมสิทธิ์จะลดลงเมื่อมีการออกหุ้นใหม่ ตารางทุนของคุณช่วยติดตามได้ว่าสัดส่วนที่ลดลงเป็นเท่าใดและโครงสร้างการถือหุ้นใหม่เป็นอย่างไร
นักลงทุนบางรายจะต่อรองขอความคุ้มครองการลดมูลค่าเงินลงทุนเพื่อให้หุ้นของตนไม่ลดมูลค่ามากเกินไปในรอบระดมทุนในอนาคต ตารางทุนจะต้องแสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขเหล่านี้ส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์การถือหุ้นอย่างไรในแต่ละรอบการระดมทุน
การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ หรือการขายหุ้นต่อ
เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณเติบโตขึ้น คุณอาจเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ และการขายหุ้นต่อ (ซึ่งนักลงทุนหรือผู้ก่อตั้งขายหุ้นของตนเป็นการส่วนตัว) โดยตารางทุนจะแสดงข้อมูลดังต่อไปนี้
การขายหุ้นต่อ: หากมีการขายหุ้นต่อระหว่างผู้ถือหุ้นปัจจุบันหรือนักลงทุน ตารางทุนจะต้องสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
การเข้าซื้อกิจการ: หากบริษัทถูกเข้าซื้อกิจการ ตารางทุนของคุณต้องแสดงว่าใครได้อะไรในการจ่าย โดยเฉพาะหากมีเงื่อนไขสิทธิ์การได้รับคืนทุนก่อนหลายแบบหรือมีหุ้นหลายคลาส
การเติบโตในช่วงหลัง
เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณกําลังเตรียมพร้อมเสนอขายต่อสาธารณะในครั้งแรก (IPO) หรือเตรียมพร้อมรับการเข้าซื้อกิจการ ตารางทุนจะแสดงความเป็นเจ้าของหลากหลายชั้น ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งและนักลงทุนระยะแรกไปจนถึงนักลงทุนระยะหลังและพนักงานที่ได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้น ข้อมูลอาจประกอบด้วย
หุ้นหลายคลาส: ในขั้นตอนนี้ตารางทุนของคุณอาจมีหุ้นสามัญหลายคลาสและหุ้นบุริมสิทธิ สิทธิ์การซื้อหุ้น ตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพ และอาจจะมีวอร์แรนต์ด้วย
ตารางทุนแสดงมูลค่าหลังคำนวณการใช้สิทธิ์: คุณอาจมีตารางทุนแสดงมูลค่าหลังคำนวณการใช้สิทธิ์ซึ่งแสดงสัดส่วนความเป็นเจ้าของในกรณีที่มีการใช้สิทธิ์แปลงสภาพออปชัน วอร์แรนต์ และตั๋วสัญญาใช้เงินแปลงสภาพหรือมีการแปลงสภาพเป็นหุ้น
การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะ: ในกรณีที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ตารางทุนจะสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นปัจจุบันกับนักลงทุนสาธารณะ
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ