ทุกวันนี้ธุรกิจขนาดเล็กจํานวนมากสร้างหน้าร้านดิจิทัลสําหรับลูกค้าที่ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ รายรับจากตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะสูงเกิน 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 และกว่า 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2029 ตอนนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะขยายไปสู่อีคอมเมิร์ซ
ในบทความนี้ เราจะมาพูดคุยกันว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทํางานอย่างไร และฟีเจอร์ใดบ้างที่ต้องมองหา และความท้าทายที่พบบ่อยสําหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคืออะไรและเหตุใดธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องการแพลตฟอร์มดังกล่าว
- ฟีเจอร์ใดบ้างที่ธุรกิจขนาดเล็กควรมองหาในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
- วิธีเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ดีที่สุดสําหรับธุรกิจขนาดเล็กของคุณ
- Stripe ทํางานร่วมกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างไร
- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีค่าใช้จ่ายเท่าใด
- ธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญความท้าทายแบบไหนบ้างจากอีคอมเมิร์ซ
- ธุรกิจขนาดเล็กจะปรับกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซของตัวเองได้อย่างไร
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคืออะไรและเหตุใดธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องการแพลตฟอร์มดังกล่าว
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นระบบดิจิทัลที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ขายสินค้าทางออนไลน์ โดยสร้างหน้าร้านดิจิทัลให้ผู้เยี่ยมชมสามารถเลือกดูผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ เลือกรูปแบบที่ต้องการ (เช่น ขนาด สี ระยะเวลาการสมัครใช้บริการ) และชําระเงินอย่างปลอดภัย
ธุรกิจขนาดเล็กหลายรายต่างก็วางใจในระบบเหล่านี้เพราะทําให้ยอดขายออนไลน์ได้เกินคาด ลดงานที่ต้องทำด้วยตัวเอง และจัดการงานในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น แม้แต่ร้านค้าที่มีคนจัดการแค่คนเดียวก็ได้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัติที่ช่วยติดตามคําสั่งซื้อและลดขั้นตอนการซื้อสินค้าของลูกค้า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถร่นเวลาในการทำงานทางเทคนิคสำหรับเว็บไซต์ได้เนื่องจากการโฮสติ้งและการออกแบบหลายๆ อย่างนั้นมีมาให้แล้วในตัว
ฟีเจอร์ใดบ้างที่ธุรกิจขนาดเล็กควรมองหาในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
หากคุณกําลังพิจารณาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ควรเริ่มจากแพลตฟอร์มที่เรียบง่ายและใช้งานง่าย ด้านล่างคือองค์ประกอบอื่นๆ ที่ควรคํานึงถึง
หน้าร้านที่ออกแบบง่าย: ร้านค้าที่สร้างมาอย่างดีช่วยให้ลูกค้าค้นหาและซื้อสินค้าโดยไม่ต้องหลงทาง แพลตฟอร์มหลายแห่งมีเทมเพลตสำเร็จรูปหรือเครื่องมือออกแบบเพื่อให้ธุรกิจสามารถเพิ่มการสร้างแบรนด์ รูปภาพ และรายละเอียดผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องเขียนโค้ด
จัดการผลิตภัณฑ์ได้อย่างยืดหยุ่น: ธุรกิจต่างๆ ต้องสามารถเพิ่ม นําออก และปรับรายการผลิตภัณฑ์ได้ สิ่งนี้มีความสําคัญอย่างยิ่งหากพวกเขามักจะเปลี่ยนข้อเสนอหรือรวมชุดผลิตภัณฑ์บ่อยๆ
การติดตามสินค้าคงคลัง: การมีข้อมูลภาพรวมของสินค้าในสต็อกจะช่วยหลีกเลี่ยงการสต็อกสินค้ามากเกินไปหรือน้อยเกินไปได้ หลายๆ แพลตฟอร์มจะช่วยให้คุณติดตามระดับสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์และส่งการแจ้งเตือนเมื่อสินค้าบางรายการเหลือน้อย
ประสบการณ์การชําระเงินที่ดีขึ้น: ขั้นตอนการชําระเงินที่ล่าช้าซึ่งมีช่องข้อมูลให้กอกหรือเปลี่ยนเส้นทางหลายครั้งเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการขายได้ แพลตฟอร์มที่ดีควรปรับปรุงกระบวนการชำระเงินตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อลดการละทิ้งรถเข็น
การเชื่อมต่อระบบการชําระเงิน: การรองรับตัวเลือกการชําระเงินที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิตและเดบิต กระเป๋าเงินดิจิทัล และบริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง (BNPL) ก็มีประโยชน์มาก ธุรกิจควรเลือกแพลตฟอร์มที่สามารถผสานการทํางานกับวิธีการชำระเงินที่ลูกค้าต้องการได้
การตั้งค่าการจัดส่ง: ร้านค้าขนาดเล็กต้องเสนอตัวเลือกการจัดส่งที่เชื่อถือได้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมักจะให้คุณสามารถสร้างป้ายชื่อการจัดส่ง คํานวณต้นทุนการจัดส่ง และทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งได้
ฟีเจอร์การตลาดขั้นพื้นฐาน: บางแพลตฟอร์มมีเครื่องมือส่งเสริมการขายในตัว เช่น รหัสส่วนลดและการขายต่อยอด
การวิเคราะห์และการรายงาน: คุณสามารถดูจํานวนคําสั่งซื้อรายวัน ยอดรวมรายรับ และสถิติอื่นๆ ที่ช่วยติดตามการเติบโตได้ในที่เดียว
วิธีเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ดีที่สุดสําหรับธุรกิจขนาดเล็กของคุณ
การเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการทางธุรกิจของคุณ ปัจจัยที่ต้องพิจารณามีดังนี้
รู้จักธุรกิจของคุณ
คุณจําหน่ายผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ สินค้าดิจิทัลที่ต้องดาวน์โหลด หรือบริการ Shopify และ WooCommerce สามารถจัดการสินค้าที่จับต้องได้ ในขณะที่ Squarespace เหมาะกับนักสร้างสรรค์ที่ขายสินค้าหรือบริการดิจิทัล หากคุณเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่มีผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่รายการ คุณสามารถเลือกได้เกือบทุกแพลตฟอร์ม แต่หากคุณมีรายการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก เราขอแนะนำ BigCommerce หรือ Adobe Commerce บริษัทเหล่านี้สามารถจัดการร้านค้าออนไลน์ที่ซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
พิจารณางบประมาณ
คุณต้องคิดถึงระยะยาวด้วย คุณต้องตรวจสอบว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้แพลตฟอร์มนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อยอดขายของคุณเพิ่มขึ้น หากการเติบโตมีความสําคัญมาก โปรดมองหาแพลตฟอร์มที่ปรับเพิ่มค่าบริการอย่างเหมาะสมสําหรับคุณ
เมื่อใช้ WooCommerce คุณจะต้องจ่ายค่าบริการโฮสต์ ธีม และส่วนขยาย ส่วน Shopify และ Squarespace รวมค่าโฮสต์เข้ากับค่าธรรมเนียมรายเดือน โปรดทราบว่าแพลตฟอร์มบางแห่งจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมเพิ่มเติมหากคุณใช้ผู้ประมวลผลการชําระเงินของบริษัทอื่นแทนแพลตฟอร์มเหล่านั้น
ประเมินทักษะทางเทคโนโลยีของคุณ
หากคุณต้องการแพลตฟอร์มที่ง่ายและรวดเร็ว Shopify, Wix และ Squarespace มีตัวเลือกที่เหมาะสม แถมคุณยังไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ
อย่างไรก็ตาม หากคุณทำงานพัฒนาบางอย่างบนเว็บไซต์ได้เอง หรือมีคนในทีมทำเป็น WooCommerce หรือ Adobe Commerce ก็จะให้การควบคุมและความยืดหยุ่นมากขึ้น ข้อแตกต่างก็คือแพลตฟอร์มอย่าง WooCommerce จะให้คุณเป็นผู้รับผิดชอบด้านการอัปเดตและการแก้ไขปัญหา ในขณะที่แพลตฟอร์มที่โฮสต์ไว้ในระบบจะจัดการงานเหล่านี้ให้คุณ
วางแผนเพื่อการเติบโต
หากคุณเพิ่งเริ่มทำธุรกิจ แพลตฟอร์มที่เรียบง่ายก็อาจจะเพียงพอแล้ว แต่หากคุณวางแผนจะขยายธุรกิจ ควรวางแผนเผื่ออนาคตด้วย ตัวอย่างเช่น Shopify และ BigCommerce สามารถจัดการปริมาณการเข้าชมสูง สินค้าคงคลังจำนวนมาก และมีเครื่องมือขั้นสูง
นอกจากนี้ คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มผสานการทํางานกับเครื่องมือที่คุณจะต้องใช้ในภายหลังได้ เช่น ซอฟต์แวร์การตลาดผ่านอีเมล โซลูชันการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) และแดชบอร์ดการวิเคราะห์ คุณจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่น
ประเมินตัวเลือกการชําระเงินและการจัดส่ง
ตรวจสอบว่าแพลตฟอร์มรองรับวิธีการชําระเงินแบบใดบ้าง ตัวอย่างเช่น หลายแพลตฟอร์มใช้โซลูชันการชําระเงินของ Stripe ซึ่งรองรับหลายสกุลเงินและวิธีการชําระเงินในท้องถิ่น
การจัดส่งอาจเป็นงานยาก ดังนั้นให้มองหาเครื่องมือที่ช่วยให้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น Shopify มีการผสานการทํางานกับระบบการจัดส่ง เพื่อความสะดวกในการซื้อ การพิมพ์รายละเอียดการจัดส่ง และการคํานวณอัตราการจัดส่ง
มุ่งเน้นที่ประสบการณ์ของลูกค้า
การช็อปปิ้งบนสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมมากขึ้น ดังนั้นร้านค้าของคุณต้องดูดีและทํางานได้ดีบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เว็บไซต์ที่ช้าอาจทำให้คุณขายไม่ออก แพลตฟอร์มอย่าง Shopify และ Wix จะปรับรูปลักษณ์และการทำงานให้เหมาะกับผู้ใช้มือถือและโหลดได้อย่างรวดเร็ว
ตรวจสอบเครื่องมือการตลาด
หากคุณวางแผนว่าจะทำแคมเปญทางอีเมล การกําหนดกลุ่มเป้าหมายโฆษณาใหม่ หรือโปรโมชันอื่นๆ แพลตฟอร์มจะต้องมีเครื่องมือที่คุณต้องการ หรือทํางานร่วมกับแอปต่างๆ ได้ดี ตัวอย่างเช่น Shopify และ BigCommerce มีเครื่องมือในตัวสําหรับการผสานการทํางานด้านการตลาดผ่านอีเมลและโซเชียลมีเดีย Etsy นําลูกค้ามาโดยตรง แต่ไม่ได้ให้คุณควบคุมการสร้างแบรนด์ได้มากเท่าใด
ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือค้นหา (SEO) และการวิเคราะห์:
อันดับสูงๆ ในผลลัพธ์การค้นหาของ Google จะช่วยให้ลูกค้าค้นพบธุรกิจของคุณได้ ดังนัน้ให้หาแพลตฟอร์มที่ให้คุณควบคุมรายละเอียดต่างๆ เช่น URL ของผลิตภัณฑ์ คําอธิบายเมตา และแท็กรูปภาพ WooCommerce และ Shopify เป็นทางเลือกที่ดีสําหรับงานด้าน SEO
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังควรเก็บรวบรวมและแสดงข้อมูลที่แม่นยําเกี่ยวกับยอดขาย พฤติกรรมของลูกค้า และการเข้าชมด้วย ฟังก์ชันการวิเคราะห์ในตัวนั้นยอดเยี่ยม แต่แพลตฟอร์มที่มีเครื่องมือนี้ก็ยังสามารถเชื่อมโยงกับ Google Analytics ได้เพื่อข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม
อย่ามองข้ามการสนับสนุน
หากคุณเพิ่งเริ่มทําธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ การสนับสนุนลูกค้าที่น่าเชื่อถือเป็นสิ่งสําคัญ Shopify และ BigCommerce ให้การสนับสนุนตลอด 24 ชม. ชุมชนผู้ใช้ที่กระตือรือร้นก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งเช่นกัน WooCommerce มีฟอรัม บทแนะนําการใช้งาน และแหล่งข้อมูลอื่นๆ จำนวนมาก
การทดสอบก่อนเริ่มใช้งานจริง
ใช้ประโยชน์จากการทดลองใช้ฟรี ทดสอบอินเทอร์เฟซ สร้างร้านค้าจําลอง และลองสัมผัสประสบการณ์การใช้งาน โดยสังเกตรายละเอียดอย่างใกล้ชิด เช่น อัปโหลดผลิตภัณฑ์ได้ง่ายหรือไม่ การชําระเงินเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ หากมีสิ่งใดที่รู้สึกติดขัด ลูกค้าของคุณอาจรู้สึกยุ่งยากในภายหลัง
Stripe ทํางานร่วมกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างไร
Stripe เป็นโซลูชันแบบไดนามิกสําหรับการผสานการทํางานกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ช่วยทําให้การชําระเงินง่ายขึ้น เพิ่มความปลอดภัย และมอบเครื่องมือที่ช่วยธุรกิจขยายกิจการ โดยให้ความช่วยเหลือได้ดังนี้
การประมวลผลการชําระเงิน
ตัวเลือกการชําระเงินที่หลากหลาย: Stripe รองรับบัตรเครดิต กระเป๋าเงินดิจิทัล (เช่น Apple Pay, Google Pay) การชําระเงินผ่าน Automated Clearing House (ACH) และผู้ให้บริการ BNPL เช่น Afterpay ความยืดหยุ่นนี้ช่วยให้ลูกค้าใช้การชําระเงินประเภทที่ต้องการได้
การเข้าถึงทั่วโลก: Stripe รับชําระเงินในกว่า 135 สกุลเงินเพื่ออํานวยความสะดวกในการขายระหว่างประเทศ
การชําระเงินตามแบบแผนล่วงหน้า: Stripe มีเครื่องมือสําหรับจัดการการเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้า และจัดการการอัปเกรด การดาวน์เกรด หรือการยกเลิกได้อย่างง่ายดาย
การผสานการทํางาน
ขั้นตอนการชําระเงินที่ปรับแต่งได้: นักพัฒนาสามารถสร้างประสบการณ์การชําระเงินที่ออกแบบเองได้อย่างเต็มที่ กระบวนการทั้งหมดจึงสะท้อนความเป็นแบรนด์ของคุณ
ปลั๊กอินที่ใช้งานง่าย: สําหรับผู้ใช้ที่ไม่ช่ำชองด้านเทคโนโลยี Stripe ผสานการทํางานกับ Shopify, WooCommerce, Wix และแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยมีการตั้งค่าน้อยที่สุด
อินเทอร์เฟซการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชัน (API): API ของ Stripe ช่วยให้ธุรกิจสร้างขั้นตอนการทํางานที่ออกแบบเอง ใช้กระบวนการอัตโนมัติ หรือสร้างแอปพลิเคชันใหม่ทั้งหมดได้
ความปลอดภัย
การปฏิบัติตามข้อกําหนดของ PCI: Stripe จัดการเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสําหรับอุตสาหกรรมบัตรชําระเงิน (PCI DSS) ดังนั้นธุรกิจจึงไม่จําเป็นต้องจัดการมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการชําระเงินเพียงลำพัง
ระบบป้องกันการฉ้อโกง: Stripe Radar ใช้แมชชีนเลิร์นนิงในการตรวจจับและบล็อกธุรกรรมที่เป็นการฉ้อโกงก่อนที่จะธุรกรรมเหล่านี้จะดำเนินการสำเร็จ แมชชีนเลิร์นนิงมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามข้อมูลการชําระเงินทั่วโลก
การเข้ารหัส: Stripe เข้ารหัสข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลของลูกค้า
การจัดการทางการเงิน
การรายงานแบบละเอียด: แดชบอร์ด Stripe มีเมตริกที่ชัดเจนเกี่ยวกับยอดขาย การคืนเงิน ค่าธรรมเนียม และการโต้แย้งการชําระเงิน ทําให้ติดตามประสิทธิภาพได้ง่ายจากข้อมูลสรุป
ความยืดหยุ่นในการเบิกจ่าย: คุณเลือกได้ว่าจะรับเงินเบิกจ่ายบ่อยแค่ไหนและเมื่อใด เพื่อช่วยจัดการกระแสเงินสด ความยืดหยุ่นนี้มีความสําคัญเป็นพิเศษสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก
เครื่องมือด้านภาษี: Stripe Tax คํานวณและเรียกเก็บภาษีโดยอัตโนมัติจากธุรกรรมทั่วโลก ทําให้เป็นเครื่องมือหลักสําหรับธุรกิจที่ขยายธุรกิจไปทั่วโลก
ความสามารถในการปรับขนาดและเครื่องมือสำหรับการเติบโต
การให้บริการระบบซอฟต์แวร์ (SaaS) และการรองรับการชําระเงินตามรอบบิล: Stripe Billing ช่วยให้คุณจัดการโมเดลการชําระเงินตามรอบบิลที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้นด้วยฟีเจอร์อย่างการเรียกเก็บเงินตามการใช้งานและการแบ่งชําระตามสัดส่วน
โซลูชันสําหรับแพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลส: สําหรับธุรกิจที่จัดการผู้ขายหลายราย Stripe Connect จะจัดการการเบิกจ่ายให้กับหลายฝ่าย พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกําหนดและการรายงาน
ประสบการณ์ของลูกค้า
ชําระเงินได้อย่างรวดเร็ว: กระบวนการชําระเงินสําเร็จรูปของ Stripe ออกแบบมาเพื่อลดความติดขัดสําหรับลูกค้า ลิงก์ โซลูชันการชําระเงินแบบรวดเร็วของ Stripe จะช่วยให้ลูกค้าชําระเงินโดยใช้รายละเอียดการชําระเงินที่บันทึกไว้ได้ ทําให้ชําระเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ตัวเลือกที่ปรับให้เหมาะกับท้องถิ่น: Stripe เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การชําระเงินแบบไดนามิกตามตําแหน่งที่ตั้งของลูกค้า เช่น โดยการแสดงวิธีการชําระเงินของท้องถิ่น
การปรับปรุงและการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต
การอัปเดตอย่างต่อเนื่อง: Stripe เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ บ่อยครั้ง เช่น การผสานการทํางานกับเครื่องมือ AI ฟังก์ชันการชําระเงินคริปโตเคอร์เรนซี และการวิเคราะห์ขั้นสูง
พาร์ทเนอร์: นอกจากนี้ Stripe ยังทํางานร่วมกับแอปและเครื่องมือของบริษัทอื่นมากมายเพื่อขยายฟังก์ชันการทํางานให้มากยิ่งขึ้น
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีค่าใช้จ่ายเท่าใด
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมักจะเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือนสําหรับการเข้าถึงเครื่องมือหน้าร้านดิจิทัล เทมเพลต บริการโฮสต์ และการสนับสนุน หลายแพ็กเกจเริ่มต้นจากระดับพื้นฐานประมาณ 25-30 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งมักจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการขายสินค้าของคุณออนไลน์ คุณสามารถปรับขนาดได้ในภายหลังหากต้องการฟีเจอร์ขั้นสูงเพิ่มเติม
ต่อไปนี้คือฟีเจอร์บางส่วนที่คุณอาจต้องชำระเงินเพื่อใช้งาน
ชื่อโดเมน: โดยปกติแล้ว คุณสามารถซื้อหรือเชื่อมต่อโดเมนที่กำหนดเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของคุณได้ ค่าใช้จ่ายมักจะขึ้นอยู่กับส่วนขยายชื่อโดเมนและปัจจัยอื่น ๆ
ค่าธรรมเนียมธุรกรรม: บางแพลตฟอร์มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมการประมวลผลการชําระเงินมาตรฐาน ค่าธรรมเนียมเหล่านี้มีความสําคัญสําหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีผลกำไรน้อยอยู่แล้ว
แอปหรือส่วนเสริม: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบางแห่งมีแอปมาร์เก็ตเพลสที่มีฟังก์ชันการตลาด การออกแบบ การพิมพ์รายละเอียดการจัดส่ง ฯลฯ ร่วมกับแอปฟรี
การประมวลผลการชําระเงิน: คุณอาจเสียค่าธรรมเนียมต่อธุรกรรม ซึ่งมักรวมค่าใช้จ่ายคงที่เล็กน้อยบวกค่าธรรมเนียมที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์
เทมเพลตธีมหรือรูปแบบ: บางอย่างก็ฟรี ส่วนรูปแบบที่ครอบคลุมกว่าอาจมีค่าใช้จ่ายซึ่งเรียกเก็บครั้งเดียว
ธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญความท้าทายแบบไหนบ้างจากอีคอมเมิร์ซ
การทําสต็อกสำหรับร้านค้าออนไลน์เป็นเรื่องยาก แต่การทําธุรกิจให้ดีก็ย่อมมีความท้าทายอยู่แล้ว ด้านล่างนี้เป็นปัญหาทั่วไปที่ธุรกิจขนาดเล็กอาจประสบ
มีเวลาหรือความเชี่ยวชาญจํากัด: ทีมขนาดเล็กต้องรับมือกับการสร้างผลิตภัณฑ์การตลาด การจัดส่ง การทําบัญชี และอีกมากมาย การหาเวลามาอัปเดตเว็บไซต์หรือแก้ไขปัญหาอาจทำได้ยากหากคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค
การเติบโต: ธุรกิจของคุณอาจจะเริ่มต้นด้วยคําสั่งซื้อ 20 รายการต่อเดือน ซึ่งคุณจัดการด้วยตนเองได้ง่าย แต่เมื่อคําสั่งซื้อรายเดือนเพิ่มเป็น 200 หรือ 2,000 รายการ คุณอาจพบว่ากระบวนการบางอย่างที่เคยได้ผลดีอาจจะเริ่มมีปัญหาขึ้นมาเมื่อธุรกิจโตขึ้น ดังนั้นคุณควรเลือกแพลตฟอร์มที่จัดการกับการเติบโตของธุรกิจได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อเว็บไซต์ของคุณ
สินค้าคงคลังและการจัดส่ง: ลูกค้าอาจไม่พอใจเมื่อข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์กับร้านค้าออฟไลน์ไม่ซิงค์กัน หรือหากเกิดความล่าช้าในการจัดส่ง การทำให้การขายออนไลน์และออฟไลน์สมดุลกันต้องอาศัยการประสานงานอย่างรอบคอบ แต่ผู้ขายมือใหม่หลายๆ คนอาจมองข้ามเรื่องนี้ รู้ตัวอีกทีก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว
การโต้แย้งการชําระเงินและการคืนเงิน: การดึงเงินคืนอาจเพิ่มขึ้นเมื่อคุณเริ่มขายสินค้าหรือบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ผู้ซื้ออาจยื่นการโต้แย้งการชําระเงินหากพัสดุเสียหาย หรือหากลูกค้าจําการเรียกเก็บเงินในใบแจ้งยอดของตนเองไม่ได้ ดังนั้นควรวางแผนรับมือปัญหาเหล่านี้ก่อนที่จะเกิดขึ้น
การใช้งานเว็บ: ร้านค้าออนไลน์จะประสบความสําเร็จก็ต่อเมื่อมีลูกค้าเข้าชมจำนวนมาก หากไม่ทําการตลาดหรือสร้างตัวตนบนโซเชียลมีเดียได้อย่างน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องที่ยากที่จะโดดเด่น โดยเฉพาะหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้วจํานวนมากในตลาด
แนวโน้มและเทคโนโลยี: อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากร้านค้าของคุณดูล้าสมัยหรือไม่น่าเชื่อถือ คนก็จะออกจากเว็บไซต์ไป อย่าลืมติดตามนวัตกรรมและตัวเลือกการชําระเงินใหม่ๆ อยู่เสมอ
ธุรกิจขนาดเล็กจะปรับกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซของตัวเองได้อย่างไร
การปรับกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซของคุณหมายถึงการให้ความสำคัญกับส่วนที่มีผลกระทบมากที่สุด ต่อไปนี้คือคําแนะนําบางส่วนสำหรับช่วยคุณเริ่มต้น
ทําให้เว็บไซต์ของคุณใช้งานง่าย
ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของคุณดูดีและทํางานได้ดีบนหน้าจอขนาดเล็ก
ทําให้ลูกค้าค้นหาสิ่งที่ตนต้องการได้ง่ายด้วยออกแบบให้ตัวเลือกเมนูมองเห็นได้ชัดเจน มีแถบค้นหา และเลย์เอาต์ที่สะอาดตา
บีบอัดรูปภาพ ใช้บริการเว็บโฮสติ้งที่เชื่อถือได้ และลบโค้ดที่ไม่จําเป็นออกเพื่อเร่งเวลาในการโหลด
นำเสนอผลิตภัณฑ์ของคุณ
ใช้ภาพถ่ายสินค้าในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แสดงผลิตภัณฑ์จากมุมต่าง ๆ โดยอาจสาธิตเป็นวิดีโอสั้น ๆ
แจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจนว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างหากซื้อผลิตภัณฑ์ เน้นคุณสมบัติ อธิบายว่าทําไมจึงเป็นการซื้อที่ดี และรายละเอียดอุปกรณ์เสริมใด ๆ ที่พวกเขาคาดหวัง
แสดงคําสัมภาษณ์และคํารับรองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและช่วยกระตุ้นให้ผู้คนมาซื้อสินค้า
ทําให้ขั้นตอนการชําระเงินเป็นเรื่องง่าย
อนุญาตให้ลูกค้าชําระเงินโดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบ การมีอุปสรรคน้อยลงอาจทําให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
ยิ่งมีตัวเลือกการชําระเงินมากเท่าไหร่ คุณก็จะได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นควรอนุญาตให้ลูกค้าชําระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต แอปชําระเงินบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ บริการ BNPL และวิธีอื่นๆ ที่ลูกค้าต้องการ
ไม่มีใครชอบเจอเรื่องเซอร์ไพรส์ตอนกําลังทําการซื้อ ดังนั้นควรแจ้งค่าจัดส่งและเวลาจัดส่งให้ลูกค้าในขั้นตอนการชําระเงินเพื่อให้ลูกค้าทราบถึงสิ่งเหล่านี้
ออกแบบเว็บไซต์สำหรับ SEO
ใช้คําหลักที่เกี่ยวข้องในชื่อผลิตภัณฑ์และคําอธิบายเพื่อให้เครื่องมือค้นหาค้นหาหาคุณเจอ
เขียนบล็อกโพสต์และคู่มือ หรือสร้างวิดีโอที่ตอบคําถามที่พบบ่อยจากฐานลูกค้าของคุณ
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องมือค้นหาเข้าถึงเว็บไซต์ของคุณได้ง่ายเพื่อรวบรวมข้อมูลและไม่มีลิงก์ที่ไม่สมบูรณ์
สร้างตัวตนบนโซเชียลมีเดีย
แพลตฟอร์มอย่าง Instagram และ Facebook ให้ผู้คนซื้อสินค้าได้โดยตรงจากโพสต์ของคุณ แนะนำให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้หากจําเป็นต่อธุรกิจของคุณ
งานภาพทั้งหมดจะต้องเหมือนกันบนทุกช่องทางเพื่อสร้างแบรนด์ของคุณ
ตอบกลับความคิดเห็น โพสต์วิดีโอ และไลฟ์เป็นครั้งคราว การมีส่วนร่วมบนโซเชียลมีเดียสามารถช่วยให้คุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้
ใส่ใจกับตัวเลข
เครื่องมืออย่าง Google Analytics และรายงานของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถบอกให้ได้ว่าสิ่งใดเป็นไปด้วยดีและสิ่งไหนต้องปรับปรุง
ทดสอบหัวเรื่อง เลย์เอาต์ หรือไอเดียส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อวัดผลการตอบโต้กับลูกค้าของคุณ
ทำการตลาดอย่างมีกลยุทธ์
สร้างรายการอีเมลและส่งส่วนลด การแจ้งเตือนเกี่ยวกับการละทิ้งรถเข็น หรือการอัปเดตผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่อย่าส่งอีเมลบ่อยเกินไป มิเช่นนั้นลูกค้าอาจจะอยากยกเลิกการสมัครรับข้อมูลจากคุณ
แพลตฟอร์มอย่าง Google Ads และ Facebook ช่วยให้คุณเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของคุณมากที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการเสียเงินกับการทำแคมเปญแบบหว่านแห
มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าประจำ เช่น ส่วนลดและสิทธิ์ทดลองใช้ก่อนเปิดตัวสําหรับการขาย
ให้การสนับสนุนลูกค้าเป็นอย่างดี
ใช้แชทสดหรือแชทบอตเพื่อตอบคําถามอย่างรวดเร็ว
จัดทำคําถามที่พบบ่อยและนโยบายการคืนสินค้าเพื่อช่วยประหยัดเวลาของทุกคน
แจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับสถานะคําสั่งซื้อ อัปเดตการจัดส่ง หรือความล่าช้า
มุ่งเน้นรักษาลูกค้า
ใช้ประวัติการซื้อในการแนะนําผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ
หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ซ้ำๆ หรือตามรอบเป็นประจํา ควรทำให้พวกเขาสมัครใช้บริการได้ง่าย
รักษาความยืดหยุ่น
แนวโน้ม เช่น คําแนะนําจาก AI และการค้นหาด้วยเสียงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ดังนั้นลองหันมาใช้ฟังก์ชันเหล่านี้และคอยติดตามประสิทธิภาพ
ให้ความสนใจกับคําติชมและปรับกลยุทธ์ของคุณใหม่เมื่อจําเป็น
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ