กลไกการชําระเงินเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สําหรับสภาพแวดล้อมทางการเงินสมัยใหม่ ที่อํานวยความสะดวกในการโอนเงินทั้งสําหรับธุรกรรมการซื้อของลูกค้าและธุรกรรมจากธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) เนื่องจากปริมาณการชําระเงินแบบไร้เงินสดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านล้านธุรกรรมจนเกือบ 1.9 ล้านล้านธุรกรรมในช่วงปี 2020 ถึง 2025 ความต้องการด้านกลไกการชําระเงินที่น่าเชื่อถือจะยิ่งเพิ่มขึ้น
คู่มือนี้จะอธิบายถึงวิธีการทํางานของเครื่องมือการชําระเงิน ข้อดี และความท้าทาย รวมถึงวิธีผสานการทํางานเครื่องมือการชําระเงินกับระบบการเงินที่มีอยู่
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- กลไกการชําระเงินคืออะไรและทํางานอย่างไร
- ประโยชน์ของกลไกการชําระเงิน
- ความท้าทายที่มาพร้อมกับการเพิ่มกลไกการชําระเงินลงในระบบการเงินปัจจุบัน
- วิธีเลือกกลไกการชําระเงินที่เหมาะสม
- เตรียมความพร้อมสําหรับการผสานการทํางาน
- ขั้นตอนการผสานการทํางานเป็นอย่างไร
- แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับขั้นตอนหลังการผสานการทํางาน
กลไกการชําระเงินคืออะไรและทํางานอย่างไร
กลไกการชําระเงินคือระบบซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อประมวลผลธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นกลไกส่วนกลางที่ธุรกิจใช้จัดการการชําระเงิน ไม่ว่าจะเป็นการรับหรือเบิกจ่ายเงินก็ตาม กลไกการชำระเงินช่วยดำเนินการในด้านต่อไปนี้:
การประมวลผลธุรกรรม: กลไกการชําระเงินสามารถจัดการธุรกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การซื้อที่ตรงไปตรงมาไปจนถึงการดำเนินการทางการเงินที่ซับซ้อนและประกอบด้วยหลายฝ่าย กลไกจะเริ่มต้น อนุมัติ และชําระเงินให้เสร็จสิ้น ซึ่งรวมถึงขั้นตอนต่างๆ เช่น การยืนยันข้อมูลการชําระเงิน การตรวจสอบจำนวนเงินที่ใช้ได้ และการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยรองรับวิธีการชําระเงินที่หลากหลาย (เช่น บัตรเครดิต การโอนเงินผ่านธนาคาร กระเป๋าเงินดิจิทัล) และปรับตามเทคโนโลยีการชําระเงินต่างๆ
ฟังก์ชันการผสานการทํางาน: กลไกการชําระเงินสามารถผสานการทํางานกับระบบการเงินและธุรกิจอื่นๆ ได้ ซึ่งรวมถึทุกสิ่งตั้งแต่ซอฟต์แวร์การทําบัญชีไปจนถึงระบบจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM)
การรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อกําหนด: ความปลอดภัยคือสิ่งที่มีความสําคัญสูงสุดสําหรับกลไกการชําระเงิน กลไกเหล่านี้ใช้โปรโตคอลการเข้ารหัสและการปฏิบัติตามข้อกําหนดขั้นสูงเพื่อปกป้องข้อมูลและรายละเอียดธุรกรรมที่ละเอียดอ่อนจากการฉ้อโกงและการละเมิด
ประโยชน์ของกลไกการชําระเงิน
กลไกการชําระเงินมอบสิทธิประโยชน์มากมายให้แก่ธุรกิจต่างๆ ซึ่งสามารถปรับปรุงกระบวนการภายใน ประสบการณ์ของลูกค้า และมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ
ความเร็วและความถูกต้อง: กลไกการชําระเงินทําให้กระบวนการทําธุรกรรมเป็นอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดการดำเนินการด้วยตนเองและลดข้อผิดพลาดได้ ธุรกิจสามารถทําธุรกรรมได้รวดเร็วขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน
การรักษาความปลอดภัย: กลไกการชําระเงินมีฟีเจอร์การรักษาความปลอดภัยแบบในตัวที่ช่วยปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและธุรกรรมจากการฉ้อโกง ฟีเจอร์เหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ รักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจของลูกค้าและการปฏิบัติตามมาตรฐานข้อบังคับ
ความพึงพอใจของลูกค้า: กลไกการชําระเงินให้บริการประมวลผลการชําระเงินที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ และรองรับตัวเลือกการชําระเงินที่หลากหลาย ซึ่งช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าโดยรวม
การปรับขนาด: กลไกการชําระเงินสามารถจัดการปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้นเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นได้โดยไม่มีอุปสรรคในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานหรือความปลอดภัย
ธุรกรรมข้ามพรมแดน: กลไกการชําระเงินสามารถประมวลผลได้หลากหลายสกุลเงินและรักษาความสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน ธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงตลาดต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างง่ายดาย
การผสานการทํางาน: กลไกการชําระเงินสามารถผสานการทํางานกับระบบธุรกิจอื่นๆ ได้ เช่น การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) จัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) และซอฟต์แวร์การทําบัญชี ซึ่งช่วยให้ข้อมูลสอดคล้องกันในทุกแพลตฟอร์ม ปรับปรุงการกํากับดูแลทางการเงิน และสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีขึ้น
ค่าใช้จ่าย: การเปลี่ยนขั้นตอนการชําระเงินเป็นอัตโนมัติและลดความพึ่งพากระบวนการที่ต้องทําด้วยตัวเองและโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารแบบเดิม ทําให้กลไกการชําระเงินสามารถช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายได้ เมื่อใช้กลไกการชําระเงิน ธุรกิจอาจลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมธุรกรรมให้ต่ำกว่าการใช้วิธีการชําระเงินแบบเดิม
ความท้าทายในการเพิ่มกลไกการชําระเงินในระบบการเงินที่มีอยู่
ต่อไปนี้คือความท้าทายบางข้อที่เกี่ยวข้องกับการผสานการทำงานกลไกการชําระเงินเข้ากับระบบการเงินที่มีอยู่
ความเข้ากันได้: การสร้างความเข้ากันได้ระหว่างโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธุรกิจกับกลไกการชําระเงินแบบใหม่อาจต้องใช้การเขียนโค้ดแบบกําหนดเอง การทดสอบที่ครอบคลุม หรือแม้แต่การอัปเกรดไปใช้ระบบในปัจจุบัน ซึ่งอาจใช้เวลานานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
การย้ายข้อมูล: การย้ายข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อนจากระบบเดิมไปใช้กลไกแบบใหม่จะเสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูล การหยุดชะงัก หรือการรั่วไหล กระบวนการนี้ต้องใช้การวางแผนที่พิถีพิถัน การทดสอบในขอบเขตที่กว้าง และมีกลยุทธ์การสํารองข้อมูลที่รอบคอบเพื่อลดความเสี่ยง
การรักษาความปลอดภัย: การประมวลผลการชําระเงินเกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของลูกค้า และการผสานการทํางานกับกลไกใหม่อาจทําให้เกิดช่องโหว่ ธุรกิจต่างๆ ต้องดําเนินการประเมินความปลอดภัยอย่างละเอียด ใช้โปรโตคอลการเข้ารหัสที่รัดกุม และปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรม
การปฏิบัติตามข้อกําหนด: เมื่อผสานการทํางานกับกลไกใหม่ ธุรกิจต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับข้อควรพิจารณาทางกฎหมายและทางเทคนิคที่ซับซ้อน
การหยุดชะงักในการปฏิบัติงาน: ในระหว่างขั้นตอนการผสานการทํางาน ธุรกิจอาจต้องเผชิญกับการหยุดชะงักในการดําเนินงานทั่วไปชั่วคราว ซึ่งรวมถึงระยะเวลาหยุดทํางาน ข้อบกพร่อง หรือความล่าช้าในการประมวลผลการชําระเงิน ซึ่งอาจสร้างความติดขัดให้กับลูกค้าและส่งผลกระทบต่อรายรับ
ค่าใช้จ่าย: การผสานการทํางานกับกลไกการชําระเงินต้องมีการลงทุนทางการเงินในซอฟต์แวร์เอง การอัปเกรดฮาร์ดแวร์ที่อาจต้องใช้ ความเชี่ยวชาญของนักพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัย และผู้จัดการโครงการ
วิธีเลือกกลไกการชําระเงินที่เหมาะสม
กลไกการชําระเงินแต่ละตัวมีชุดฟีเจอร์ ฟังก์ชันการทำงาน และค่าใช้จ่ายเป็นของตัวเอง เมื่อเลือกว่าประเภทใดเหมาะกับธุรกิจของคุณ คุณจะต้องประเมินทั้งความต้องการทางธุรกิจและตัวเลือกทั้งหมดที่มี ต่อไปนี้คือคําแนะนําแบบทีละขั้นตอน
ประเมินความต้องการทางธุรกิจของคุณ
ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่คุณมีอยู่ก่อนทําการเปลี่ยนแปลง อันดับแรก โปรดระบุความท้าทายของระบบการชําระเงินปัจจุบันของคุณ ซึ่งอาจประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
เวลาประมวลผลช้า: ระยะเวลาธุรกรรมที่ล่าช้าอาจทําให้เกิดการละทิ้งตะกร้าสินค้าและความไม่พึงพอใจของลูกค้า
ค่าธรรมเนียมธุรกรรมสูง: ค่าธรรมเนียมผู้ให้บริการชำระเงินที่สูงเกินควรอาจลดผลกำไรของคุณและทำให้ธุรกิจของคุณมีการแข่งขันน้อยลง
ตัวเลือกการชําระเงินที่จํากัด: วิธีชำระเงินที่มีจำกัดอาจทำให้คุณสูญเสียยอดขายได้
ข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องที่พบบ่อย: ปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือความล้มเหลวในการชำระเงินอาจส่งผลต่อการดำเนินงานของคุณและทำลายความไว้วางใจของลูกค้า
ไม่มีข้อมูลเชิงลึก: หากไม่มีการวิเคราะห์โดยละเอียด คุณจะระบุแนวโน้ม ปรับค่าบริการ หรือข้อเสนอเฉพาะบุคคลได้ยาก
เมื่อคุณระบุความท้าทายของคุณได้แล้ว ให้กำหนดเป้าหมายของคุณ โดยอาจประกอบด้วยข้อมูลต่อไปนี้
การขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ: กลไกการชำระเงินที่รองรับหลายสกุลเงินและวิธีการชำระเงินที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่สามารถเปิดโอกาสใหม่ๆ เพื่อการขยายตัวในระดับนานาชาติได้
ประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า: กลไกการชําระเงินที่มีฟีเจอร์อย่างการชําระเงินในคลิกเดียว และขั้นตอนการชําระเงินของผู้ใช้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบบัญชีจะสร้างกระบวนการชําระเงินที่ราบรื่นและสะดวกสบายมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายที่ลดลง: กลไกการชําระเงินที่มีการทำงานอัตโนมัติและค่าบริการที่แข่งขันได้จะช่วยให้คุณประหยัดเงิน
การรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น: กลไกการชําระเงินที่มีฟีเจอร์การรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งจะช่วยปกป้องธุรกิจของคุณและข้อมูลของลูกค้าจากการฉ้อโกงและการละเมิดข้อมูล
ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม: กลไกการชําระเงินที่มีการวิเคราะห์ขั้นสูงจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของคุณ
ถัดไป มาดูประวัติธุรกรรมเพื่อทําความเข้าใจความต้องการด้านการชําระเงินของคุณ ประเมินปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
ปริมาณธุรกรรม: คุณประมวลผลธุรกรรมเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนเป็นจํานวนเท่าใด เลือกกลไกที่สามารถจัดการโหลดธุรกรรมในปัจจุบันและที่คาดการณ์ได้
มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย: ยอดโดยเฉลี่ยต่อธุรกรรมคิดเป็นจํานวนเท่าไหร่ ซึ่งจำนวนนี้อาจส่งผลต่อโครงสร้างค่าบริการที่คุณเลือก
วิธีการชําระเงินที่ต้องการ: ลูกค้าของคุณใช้วิธีการชําระเงินใดบ่อยมากที่สุด
อัตราการดึงเงินคืน: คุณมีการดึงเงินคืนหรือการโต้แย้งการชําระเงินในระดับสูงหรือไม่ สิ่งนี้อาจบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการป้องกันการฉ้อโกงที่ดีขึ้น
ประเมินตัวเลือกกลไกการชําระเงิน
เมื่อคุณระบุเป้าหมายและฟีเจอร์ที่จําเป็นแล้ว ต่อไปนี้คือวิธีประเมินตัวเลือกที่พร้อมใช้งาน
ฟีเจอร์ที่พร้อมใช้งาน
วิธีการชําระเงิน: โปรดพิจารณากลไกที่รองรับวิธีการชําระเงินที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ (เช่น บัตรเครดิต กระเป๋าเงินดิจิทัล และการโอนเงินผ่านธนาคาร)
การเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้า: หากคุณมีบริการการเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้าหรือการชําระเงินปกติ ให้หากลไกที่มีฟังก์ชันการเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้าเพื่อทําให้กระบวนการนี้เป็นอัตโนมัติ
การป้องกันการฉ้อโกง: มองหาเครื่องมือขั้นสูงในการตรวจจับการฉ้อโกง เช่น อัลกอริทึมของแมชชีนเลิร์นนิงและระบบยืนยันที่อยู่
การปรับแต่ง: ค้นหาตัวเลือกที่ให้คุณปรับแต่งประสบการณ์การชําระเงินให้เหมาะกับแบรนด์ของคุณ และมอบตัวเลือกการชําระเงินที่เหมาะกับลูกค้าโดยเฉพาะ
การปรับขนาด
ปริมาณธุรกรรม: หากลไกที่ช่วยจัดการปริมาณธุรกรรมในปัจจุบันและมีความสามารถในการปรับขนาด ขณะที่ธุรกิจของคุณขยายออกไป
ทราฟฟิกสูงสุด: พิจารณากลไกที่สามารถรับมือกับปริมาณการเข้าชมที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงลดราคาหรือกิจกรรมส่งเสริมการขายได้
รองรับหลายสกุลเงิน: หากคุณวางแผนที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศหรือมีลูกค้าอยู่ในหลายประเทศ ให้หาการสนับสนุนในหลายสกุลเงิน
การผสานการทํางาน
ความพร้อมให้บริการของ API: พิจารณากลไกที่มีอินเทอร์เฟซสําหรับการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชัน (API) ที่ครอบคลุม ซึ่งช่วยให้ผสานการทํางานกับระบบและแพลตฟอร์มที่คุณมีอยู่ได้อย่างง่ายดาย
การสนับสนุนทางเทคนิค: ค้นหาผู้ให้บริการที่มีการสนับสนุนทางเทคนิคที่แข็งแกร่งและมีแหล่งข้อมูลเพื่อช่วยในกระบวนการผสานการทํางาน
กรอบเวลาในการผสานการทํางาน: ประเมินเวลาการผสานการทํางานโดยประมาณและผลกระทบที่อาจมีต่อลําดับเวลาและงบประมาณของโครงการ
การรักษาความปลอดภัย
การปฏิบัติตามข้อกําหนดของ PCI DSS: ตรวจสอบว่าเครื่องมือของคุณเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสําหรับอุตสาหกรรมบัตรชําระเงิน (PCI DSS)
การเข้ารหัสข้อมูล: ตรวจสอบว่ากลไกของคุณใช้วิธีการเข้ารหัสแบบรัดกุมเพื่อป้องกันข้อมูลลูกค้าที่ละเอียดอ่อนหรือไม่
การติดตามตรวจสอบการฉ้อโกง: ตรวจสอบยืนยันว่ากลไกของคุณมีระบบตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงที่รัดกุมหรือไม่
ค่าบริการ
ค่าธรรมเนียมธุรกรรม: กําหนดว่าค่าธรรมเนียมเป็นแบบต่อธุรกรรม เปอร์เซ็นต์ของยอดธุรกรรม หรือทั้งสองอย่างผสมกัน
ค่าธรรมเนียมรายเดือน: ศึกษาค่าธรรมเนียมการสมัครใช้บริการหรือการบํารุงรักษารายเดือน
ค่าธรรมเนียมเตรียมการ: ประเมินค่าธรรมเนียมการจัดตั้งเบื้องต้น
ค่าธรรมเนียมแอบแฝง: พิจารณาค่าธรรมเนียมหรือการเรียกเก็บเงินแอบแฝงที่อาจเพิ่มเข้ามาเมื่อเวลาผ่านไป
การสนับสนุนลูกค้า
การสนับสนุนทางเทคนิค: ค้นหาผู้ให้บริการที่มีการสนับสนุนทางเทคนิคตลอด 24 ชม.
เอกสารประกอบ: ค้นหากลไกที่มีเอกสารประกอบที่ครอบคลุมและคู่มือการผสานการทำงาน
การฝึกอบรม: ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการมีเซสชันการฝึกอบรมหรือการสัมมนาผ่านเว็บเพื่อช่วยให้คุณได้รับประโยชน์สูงสุดจากกลไกดังกล่าว
การเตรียมพร้อมสําหรับการผสานการทํางาน
ต่อไปนี้คือวิธีเตรียมธุรกิจของคุณให้พร้อมเพื่อผสานการทํางานกับกลไกการชําระเงิน
การวางแผนโครงการ
วัตถุประสงค์: ระบุอย่างชัดเจนว่าคุณมีมุ่งที่จะบรรลุเป้าหมายอะไรในการผสานการทํางาน (เช่น ธุรกรรมที่รวดเร็วขึ้น การรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น)
เป้าหมายสำคัญระหว่างทาง: แบ่งโครงการออกเป็นระยะที่สามารถจัดการได้พร้อมเป้าหมายสำคัญระหว่างทางและวันครบกําหนดเฉพาะ
แหล่งข้อมูล: ระบุทรัพยากรที่จําเป็นสําหรับการผสานการทํางาน รวมทั้งบุคลากร งบประมาณ และเทคโนโลยี ยืนยันว่าคุณมีการสนับสนุนที่จําเป็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและแผนกต่างๆ
ความเสี่ยง: ระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและพัฒนาแผนการตอบสนองเพื่อบรรเทาความเสี่ยง เตรียมพร้อมสําหรับปัญหาทางเทคนิค ความท้าทายในการย้ายข้อมูล และปัญหาในการดําเนินงานที่หยุดชะงักชั่วคราว
การรวมทีม
ผู้จัดการโครงการ: แต่งตั้งผู้จัดการโครงการให้ดูแลการผสานการทํางาน ประสานงานระหว่างทีม และดูแลให้โครงการเป็นไปตามแนวทาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที: แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่สามารถจัดการแง่มุมต่างๆ ทางเทคนิคของการผสานการทํางาน เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การกําหนดค่าระบบ และการรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย
การเงินและการบัญชี จัดให้บุคลากรด้านการเงินและบัญชีมีส่วนร่วมเพื่อปรับการผสานการทํางานของกลไกการชําระเงินแบบใหม่ให้สอดคล้องกับกระบวนการรายงานทางการเงินและการกระทบยอดของคุณ
การปฏิบัติงานและบริการลูกค้า: ให้ทีมปฏิบัติงานและฝ่ายบริการลูกค้ามีส่วนร่วมในการจัดการกบผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมถึงการโต้ตอบกับลูกค้า
กฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนด ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนดมีส่วนร่วมเพื่อสํารวจข้อกําหนดทางกฎหมายและมาตรฐานอุตสาหกรรม
การสํารองข้อมูลระบบ
การสํารองข้อมูล: ทําการสํารองข้อมูลทั้งหมดสําหรับข้อมูลทางการเงินปัจจุบันของคุณ ซึ่งรวมถึงประวัติธุรกรรม ข้อมูลลูกค้า และบันทึกการทําบัญชี
การสํารองข้อมูลระบบ: สํารองข้อมูลของระบบและการกําหนดค่าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อกู้คืนข้อมูลในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างการผสานการทํางาน
การทดสอบ: ทดสอบการสํารองข้อมูลของคุณเป็นประจําเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถกู้คืนข้อมูลเหล่านั้นได้ ขั้นตอนนี้เป็นการยืนยันว่าข้อมูลของคุณปลอดภัยและสามารถกู้คืนได้ในกรณีฉุกเฉิน
การฝึกอบรม
เนื้อหาการฝึกอบรม: พัฒนาเนื้อหาการฝึกอบรมที่ครอบคลุม รวมถึงคู่มือผู้ใช้ วิดีโอสอน และคู่มืออ้างอิงฉบับย่อที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับบทบาทต่างๆ ภายในองค์กรของคุณ
เซสชันการฝึกอบรม: จัดเซสชันการฝึกอบรมสําหรับพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกคน โดยมุ่งเน้นที่วิธีใช้กลไกการชําระเงินใหม่ จัดการปัญหาทั่วไป และทําความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของขั้นตอนการทํางาน
การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง: สร้างระบบสนับสนุนเพื่อตอบข้อสงสัยและข้อกังวลของพนักงาน ทั้งในระหว่างและหลังจากกระบวนการผสานการทํางาน ซึ่งอาจรวมถึงบุคลากรฝ่ายสนับสนุนโดยเฉพาะ ทีมช่วยเหลือ หรือฟอรัมออนไลน์
การสื่อสาร
การสื่อสารภายใน: อัปเดตผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผสานการทํางาน เป้าหมายสําคัญ และการเปลี่ยนแปลงลําดับเวลา การประชุมปกติและการรายงานสถานะจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน
การสื่อสารกับลูกค้า: แจ้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกค้า เช่น ตัวเลือกการชําระเงินใหม่และการหยุดชะงักของบริการชั่วคราว การสื่อสารที่ชัดเจนจะช่วยจัดการความคาดหวังและรักษาความเชื่อมั่นได้
กระบวนการการผสานการทํางานเป็นอย่างไร
ต่อไปนี้คือวิธีผสานการทํางานกลไกการชําระเงินเข้ากับระบบการเงินของคุณ
การผสานการทํางาน API
เชื่อมต่อเว็บไซต์ แอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์อื่นๆ เข้ากับ API ของกลไก คุณสามารถผสานการทํางานโดยตรงด้วยการเขียนโค้ดที่กำหนดเเองเพื่อเชื่อมต่อระบบของคุณไปยัง API ของกลไกโดยตรง หรือผ่านแพลตฟอร์มการผสานการทำงานหรือปลั๊กอินของกลไกดังกล่าว การผสานการทํางานโดยตรงนั้นมีความยืดหยุ่นมากที่สุด แต่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ส่วนแพลตฟอร์มและปลั๊กอินก็ทําให้กระบวนการง่ายขึ้นเนื่องจากมีตัวเชื่อมต่อและเครื่องมือสําเร็จรูป
การย้ายข้อมูล
ย้ายข้อมูลลูกค้าและธุรกรรมที่มีอยู่ไปยังกลไกใหม่
การจับคู่ข้อมูล: จับคู่ฟิลด์ในข้อมูลที่มีอยู่ของคุณกับฟิลด์ที่สอดคล้องกันในฐานข้อมูลของกลไกชำระเงิน
การจัดระเบียบข้อมูล: จัดระเบียบและสร้างมาตรฐานข้อมูลของคุณเพื่อให้เข้ากันได้กับกลไกใหม่
การโอนข้อมูล: โอนข้อมูลเป็นกลุ่มหรือแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและความละเอียดอ่อนของข้อมูล
การกําหนดค่า
กําหนดค่ากลไกการชําระเงินให้ตรงกับกฎและค่ากําหนดของธุรกิจที่ต้องการ
วิธีการชําระเงิน: เปิดใช้วิธีการชําระเงินที่คุณเลือก
สกุลเงิน: ใช้สกุลเงินที่คุณต้องการรับ
กฎการฉ้อโกง: กําหนดพารามิเตอร์สําหรับการตรวจจับและการป้องกันการฉ้อโกง
การแจ้งเตือน: กําหนดค่าอีเมลหรือการแจ้งเตือนทาง SMS สําหรับธุรกรรมที่ดำเนินการสําเร็จ การชําระเงินที่ไม่สําเร็จ หรือกิจกรรมที่น่าสงสัย
การทดสอบ
ก่อนที่จะใช้การผสานการทำงานในระบบจริง ให้ทําการทดสอบอย่างละเอียดในสภาพแวดล้อมแบบแซนด์บ็อกซ์ก่อน
ขั้นตอนการชําระเงิน: ทดสอบขั้นตอนการชําระเงินทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการชําระเงินไปจนถึงการยืนยันสําหรับวิธีการชําระเงินที่รองรับทั้งหมด
การจัดการกับข้อผิดพลาด: จําลองสถานการณ์ข้อผิดพลาดต่างๆ เช่น การชําระเงินที่ถูกปฏิเสธหรือความล้มเหลวในการเชื่อมต่อ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบจะจัดการปัญหาได้อย่างราบรื่น
การรักษาความปลอดภัย: ทําการทดสอบความปลอดภัยเพื่อแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ
การปรับใช้
เมื่อคุณมั่นใจว่าทุกอย่างทํางานได้อย่างราบรื่น ให้ติดตั้งใช้งานการผสานการทํางานกับสภาพแวดล้อมการใช้งานจริง ควรทําเช่นนี้ในช่วงเวลาทราฟฟิกต่ำเพื่อลดการหยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้น
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับหลังการผสานการทํางาน
ต่อไปนี้คือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดหลังการผสานการทํางานเพื่อให้กลไกการชําระเงินของคุณทํางานได้อย่างราบรื่น
การตรวจสอบประสิทธิภาพ
จับตาดูตัวชี้วัดต่อไปนี้
อัตราธุรกรรมที่สําเร็จ: ควรมีธุรกรรมที่สําเร็จในเปอร์เซ็นต์สูง การลดลงอย่างมากอาจบ่งบอกถึงปัญหาทางเทคนิคหรือการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นได้
ระยะเวลาการประมวลผล: ติดตามระยะเวลาในการประมวลผลธุรกรรม ความล่าช้าอาจสร้างความติดขัดให้ลูกค้าและส่งผลต่อรายรับของคุณ
อัตราข้อผิดพลาด: ตรวจสอบข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลวในกระบวนการชําระเงิน สาเหตุเหล่านี้อาจเกิดจากข้อบกพร่องทางเทคนิค การกําหนดค่าที่ไม่ถูกต้อง หรือปัจจัยภายนอก
ความผิดปกติ: มองหารูปแบบที่น่าสงสัยหรือความผิดปกติใดๆ ที่อาจบ่งบอกถึงกิจกรรมการฉ้อโกง
การตรวจสอบความปลอดภัย
ทําการตรวจสอบความปลอดภัยอยู่เป็นประจําโดยทําตามขั้นตอนต่อไปนี้
การตรวจหาช่องโหว่: ใช้เครื่องมืออัตโนมัติเพื่อสแกนระบบเพื่อหาจุดอ่อนด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น
การทดสอบการเจาะ: จ้างแฮกเกอร์ที่มีจริยธรรมเพื่อทดสอบการพยายามเจาะระบบของคุณและค้นหาจุดอ่อนต่างๆ
ตรวจสอบโค้ด: ตรวจสอบโค้ดของคุณเป็นประจําเพื่อหาข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
การฝึกอบรมพนักงาน: ให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการรักษาความปลอดภัยและความสําคัญของการคุ้มครองข้อมูล
วงจรข้อเสนอแนะ
รวบรวมข้อเสนอแนะจากทั้งลูกค้าและทีมภายใน
ประสบการณ์ของลูกค้า: ลูกค้าของคุณพึงพอใจกับกระบวนการชําระเงินใหม่หรือไม่ มีปัญหาหรือด้านที่ต้องการการปรับปรุงหรือไม่
ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน: ทีมภายในของคุณค้นหาระบบใหม่ที่ใช้งานง่ายหรือไม่ มีปัญหาคอขวดหรือความไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่
การเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการกําหนดค่าและการตั้งค่าของกลไกชําระเงินของคุณอย่างต่อเนื่อง อิงตามข้อมูลและข้อเสนอแนะที่คุณรวบรวม
การตรวจจับการฉ้อโกง: ปรับแต่งกฎการตรวจจับการฉ้อโกงของคุณอย่างละเอียดตามรูปแบบและแนวโน้มที่พบ
ขั้นตอนการชําระเงิน: ทดลองขั้นตอนการชําระเงินแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงิน
ข้อเสนอเฉพาะบุคคล: ใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อปรับแต่งตัวเลือกการชําระเงินและข้อเสนอให้เหมาะกับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ
กระบวนการที่ต้องทําด้วยตัวเอง: ทําให้กระบวนการที่ต้องทําเองทํางานโดยอัตโนมัติหากเป็นไปได้
การอัปเดตเป็นประจำ
เทคโนโลยีการชําระเงิน ข้อบังคับ และภัยคุกคามด้านความปลอดภัยใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นประจํา ติดตามข้อมูลและอัปเดตตามขั้นตอนต่อไปนี้
การอัปเดตซอฟต์แวร์: ติดตั้งการอัปเดตและแพตช์ซอฟต์แวร์ล่าสุดเพื่อให้กลไกของคุณปลอดภัยและเป็นปัจจุบัน
การปฏิบัติตามข้อกําหนด: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องมือการชําระเงินของคุณเป็นไปตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมดขณะที่พัฒนาขึ้น
ฟีเจอร์ใหม่: สํารวจฟีเจอร์และการผสานการทํางานใหม่ๆ จากผู้ให้บริการกลไกการชําระเงินเพื่อปรับปรุงฟังก์ชันการชําระเงินของคุณ
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ