ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ: สิ่งนี้คืออะไรและเพราะอะไรจึงสําคัญ

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. การกันวงเงินแบบแบ่งรอบคืออะไร
  3. การกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีหลักการทํางานอย่างไร
  4. การกันวงเงินแบบคงที่ (ไม่เปลี่ยนแปลง) เทียบกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
    1. การกันวงเงินแบบคงที่ (ไม่เปลี่ยนแปลง)
    2. การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
  5. ธุรกิจประเภทใดบ้างที่เหมาะกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
  6. ข้อดีและข้อเสียของการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
    1. ข้อดี
    2. ข้อเสีย
  7. คุณควรกันวงเงินแบบแบ่งรอบไว้นานเท่าใด
  8. ประเภทของเงินทุนที่กันวงเงิน: การกันวงเงินแบบจํากัดยอดและแบบล่วงหน้า
    1. การกันวงเงินแบบจํากัดยอด
    2. การกันวงเงินล่วงหน้า
    3. การเลือกประเภทการกันวงเงินที่เหมาะสม
  9. การยกเลิกการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
    1. ขั้นตอนการยกเลิก
    2. ผลกระทบจากการยกเลิก

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบคือการเตรียมความพร้อมทางการเงินระหว่างผู้ประมวลผลการชําระเงินกับธุรกิจ ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะหักเปอร์เซ็นต์จากธุรกรรมแต่ละรายการที่ธุรกิจประมวลผลในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยจะกันจํานวนเงินนี้ไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การดึงเงินคืน การฉ้อโกง และความรับผิดทางการเงินอื่นๆ เงื่อนไขในข้อตกลงและระดับความเสี่ยงที่ธุรกิจรับรู้จะเป็นตัวกําหนดเปอร์เซ็นต์ของยอดขายที่กันวงเงินไว้และระยะเวลา

หลังจากระยะเวลากันวงเงินผ่านไปแล้ว ธุรกิจจะได้รับเงินที่กันไว้ โดยมักจะดำเนินการแบบแบ่งรอบ ตัวอย่างเช่น หากระยะเวลาการกันวงเงินอยู่ที่ 6 เดือน ธุรกิจจะได้รับเงินจากเดือนมกราคมในเดือนกรกฎาคม และได้รับเงินจากเดือนกุมภาพันธ์ในเดือนสิงหาคม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจก็จะมีกันชนทางการเงินจากธุรกรรมล่าสุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ครอบคลุมปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ด้านล่างนี้เราจะอธิบายการทํางานของการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ ธุรกิจประเภทใดบ้างที่เหมาะกับวิธีนี้ ข้อดีและข้อเสีย รวมถึงข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • การกันวงเงินแบบแบ่งรอบคืออะไร
  • การกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีหลักการทํางานอย่างไร
  • การกันวงเงินแบบคงที่ (ไม่เปลี่ยนแปลง) เทียบกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
  • ธุรกิจประเภทใดบ้างที่เหมาะกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
  • ข้อดีและข้อเสียของการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
  • คุณควรกันวงเงินแบบแบ่งรอบไว้นานแค่ไหน
  • ประเภทของเงินทุนที่กันวงเงิน: การกันวงเงินแบบจํากัดยอดและแบบล่วงหน้า
  • การยกเลิกการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบคืออะไร

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีหน้าที่เป็นเหมือนระบบป้องกันความปลอดภัยในการประมวลผลการชําระเงิน ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะดึงเงินส่วนนี้มาจากธุรกรรมที่ประมวลผลแล้วของธุรกิจ ไม่ใช่ในฐานะบทลงโทษแต่เป็นการป้องกันล่วงหน้า ขั้นตอนเชิงรุกนี้จะช่วยป้องกันปัญหาที่ไม่คาดคิด เช่น การดึงเงินคืนและการฉ้อโกง สําหรับธุรกิจ การกันวงเงินแบบแบ่งรอบอาจจํากัดกระแสเงินสดชั่วคราวและส่งผลต่อวิธีที่ธุรกิจจัดการการวางแผนทางการเงินและการคาดการณ์รายรับ สำหรับผู้ประมวลผลการชําระเงิน การกันวงเงินจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์ต่อไปนี้

  • การป้องกันการดึงเงินคืน: ในปี 2023 ชาวอเมริกันโต้แย้งการชําระเงินเป็นจำนวนกว่า $6.5 หมื่นล้านในการเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิต การกันวงเงินแบบแบ่งรอบช่วยให้ธุรกิจและผู้ประมวลผลการชําระเงินรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโต้แย้งการชําระเงินได้ เช่น การดึงเงินคืนและการคืนเงิน การทำเช่นนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินของผู้ประมวลผลการชําระเงิน

  • การป้องกันการฉ้อโกง: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบจะช่วยป้องกันไม่ให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง โดยการหักเงินส่วนหนึ่งเพื่อรับผิดชอบความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

  • การเริ่มต้นให้บริการแก่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงหรือธุรกิจใหม่: สําหรับธุรกิจที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงเนื่องด้วยอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือการมีประวัติธุรกรรมเพียงเล็กน้อย ผู้ประมวลผลการชําระเงินอาจตกลงร่วมงานกับธุรกิจเหล่านี้ก็ต่อเมื่อใช้การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีหลักการทํางานอย่างไร

ต่อไปนี้คือวิธีที่ผู้ประมวลผลการชําระเงินกันและยกเลิกการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

  • การกำหนดเงื่อนไข: เมื่อธุรกิจเริ่มใช้การประมวลผลการชําระเงินกับผู้ให้บริการ ธุรกิจจะยอมรับเงื่อนไขที่พิจารณาตามประเภทธุรกิจ ขนาด อุตสาหกรรม และปัจจัยความเสี่ยง เงื่อนไขเหล่านี้ประกอบด้วยเปอร์เซ็นต์ที่จะกันวงเงินธุรกรรมแต่ละรายการ รวมถึงระยะเวลาที่จะเก็บไว้ก่อนปล่อยเงินทุน

  • การหักเงิน ณ ที่จ่าย: ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะกันวงเงินเป็นเปอร์เซ็นต์จากธุรกรรมรายวันของธุรกิจดังกล่าว

  • การกันเงินทุน: ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะกันเงินทุนไว้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยทั่วไปจะเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ทั้งนี้ ธุรกิจและผู้ประมวลผลต้องใช้เวลาในการเจรจาเพื่อมอบความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานให้ธุรกิจและมอบการคุ้มครองจากความรับผิดทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประมวลผลการชำระเงิน

  • การปล่อยเงินทุน: หลังจากระยะการกันวงเงินแล้ว ธุรกิจจะได้รับเงินทุน ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างกันชนด้วยเงินทุนล่าสุดสำหรับรับมือกับความต้องการทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

  • การปรับเงื่อนไข: ธุรกิจและผู้ประมวลผลสามารถปรับเงื่อนไขการกันวงเงินแบบแบ่งรอบตามข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความเสี่ยงทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจ โดยอาจหมายถึงการปรับเปอร์เซ็นต์การกันวงเงินตามการเติบโตและเสถียรภาพของธุรกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม

สมมติว่าธุรกิจขายสินค้ามูลค่า $100 และมีการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ 10% เป็นระยะเวลา 90 วัน ผู้ประมวลผลจะหักเงิน $10 จากยอดซื้อและกันวงเงินไว้ หลังจากผ่านไป 90 วัน หากไม่มีการดึงเงินคืนหรือปัญหาใดๆ ธุรกิจจะได้รับเงินคืน $10 นั้นคืน

การกันวงเงินแบบคงที่ (ไม่เปลี่ยนแปลง) เทียบกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

นี่คือทางเลือกอื่นสำหรับธุรกิจหรือผู้ประมวลผลการชําระเงินที่ไม่ต้องการใช้การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ โดยผู้ประมวลผลบางรายจะใช้การกันวงเงินแบบคงที่ ซึ่งหักยอด ณ ที่จ่ายในจํานวนคงที่แทนที่จะเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ในขณะที่ผู้ให้บริการบางรายอาจกำหนดให้ธุรกิจต้องชําระค่ามัดจําล่วงหน้า แทนที่จะกันวงเงินจากธุรกรรมแต่ละรายการ

ความแตกต่างระหว่างการกันวงเงินแบบคงที่ (ไม่เปลี่ยนแปลง) และการกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีดังนี้

การกันวงเงินแบบคงที่ (ไม่เปลี่ยนแปลง)

ผู้ประมวลผลการชําระเงินหักเงินจํานวนคงที่ตามที่กําหนดไว้ล่วงหน้าจากบัญชีของธุรกิจ ระบบจะเก็บเงินจํานวนนี้ไว้เป็นช่วงเวลาหนึ่งๆ หรือจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขบางอย่าง (เช่น ประวัติการประมวลผลที่สําเร็จ หรือมีธุรกรรมถึงจำนวนที่กำหนด) โดยทั่วไปแล้วยอดการกันวงเงินจะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าธุรกิจจะมียอดขายเท่าใดก็ตาม

การกันวงเงินแบบคงที่จะมอบความปลอดภัยให้กับผู้ประมวลผลและเป็นกันชนสำหรับการดึงเงินคืนหรือการคืนเงินที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ประมวลผลจึงมักจะใช้วิธีนี้สําหรับธุรกิจใหม่หรือธุรกิจที่มีประวัติการประมวลผลที่จํากัด

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะหักเปอร์เซ็นต์จากธุรกรรมแต่ละรายการ (โดยปกติจะอยู่ที่ 5%–15%) เป็นรอบระยะเวลา (เช่น 180 วัน) ธุรกิจจะได้รับเงินทุนจากรอบก่อนเมื่อมีการเพิ่มเงินทุนรอบใหม่ จํานวนเงินที่กันไว้มักจะผันผวนตามยอดขายของธุรกรรม

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบคล้ายกับการกันวงเงินแบบคงที่ แต่ผู้ประมวลผลการชําระเงินมักจะใช้การกันวงเงินรูปแบบนี้เพื่อจัดการความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปผู้ประมวลผลจะใช้การกันวงเงินแบบแบ่งรอบกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง หรือธุรกิจที่มีประวัติการดึงเงินคืน

ฟีเจอร์
การกันวงเงินแบบคงที่
การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ
จำนวนที่หัก
จำนวนคงที่ เปอร์เซ็นต์ของธุรกรรมแต่ละรายการ
การปล่อยเงินทุน
หลังจากเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนด ทยอยปล่อยขณะที่มีการเพิ่มเงินทุน
การเติบโตของการกันวงเงิน
ไม่เปลี่ยนแปลง ผันผวนตามยอดขาย
วัตถุประสงค์หลัก
การรักษาความปลอดภัยและการบรรเทาความเสี่ยงเบื้องต้น การจัดการความเสี่ยงต่อเนื่องและการปกป้องการดึงเงินคืน
กรณีการใช้งานทั่วไป
ธุรกิจใหม่ ธุรกิจที่มีประวัติเพียงเล็กน้อย ธุรกิจความเสี่ยงสูง ธุรกิจที่มีประวัติการดึงเงินคืน

ธุรกิจประเภทใดบ้างที่เหมาะกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบสําหรับธุรกิจประเภทต่อไปนี้

  • ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบสามารถจัดการความเสี่ยงสําหรับธุรกิจที่ดําเนินงานในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการดึงเงินคืนสูง เช่น การเดินทาง ความบันเทิงสําหรับผู้ใหญ่ การพนัน การตลาดทางไกล และบริการแบบสมัครสมาชิก หรือธุรกิจที่จําหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการโต้แย้งการชําระเงินหรือการคืนสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าหรูหรา และหลักสูตรออนไลน์

  • ธุรกิจใหม่: ผู้ประมวลผลการชําระเงินอาจกําหนดให้บริษัทสตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่มีประวัติการประมวลผลการชําระเงินน้อยมากหรือไม่มีเลยใช้การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ จนกว่าจะมีประวัติธุรกรรมที่สําเร็จ

  • ธุรกิจที่มีปัญหาด้านการเงิน: ผู้ประมวลผลอาจกําหนดให้มีการกันวงเงินแบบแบ่งรอบเป็นมาตรการลดความเสี่ยงสําหรับธุรกิจที่มีคะแนนเครดิตต่ําหรือความไม่แน่นอนทางการเงิน

  • ธุรกิจที่มีปริมาณธุรกรรมสูง: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบอาจเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่ประมวลผลธุรกรรมจํานวนมาก เนื่องจากจะมอบการป้องกันการดึงเงินคืนหรือการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ธุรกิจตามฤดูกาล: ธุรกิจที่มียอดขายผันผวนอย่างมากตลอดทั้งปีอาจพบว่าการกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีประโยชน์เนื่องจากจํานวนเงินที่กันไว้จะปรับตามปริมาณธุรกรรม

  • ธุรกิจระหว่างประเทศ: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบสามารถมอบความคุ้มครองเพิ่มเติมให้กับธุรกิจที่จัดการธุรกรรมข้ามพรมแดน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการดึงเงินคืนมากขึ้นเนื่องจากความผันผวนของสกุลเงิน ปัญหาการจัดส่ง หรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ข้อดีและข้อเสียของการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

การกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีทั้งข้อดีและข้อเสียสําหรับธุรกิจ ผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจมีดังนี้

ข้อดี

  • การเข้าถึงผู้ประมวลผลการชําระเงิน: ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่มีประวัติเครดิตจํากัดสามารถเพิ่มโอกาสที่จะได้รับบัญชีผู้ค้าด้วยการเลือกใช้การกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

  • การสร้างความเชื่อมั่น: ธุรกิจสามารถแสดงความรับผิดชอบทางการเงินต่อผู้ประมวลผลการชําระเงินด้วยการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ ซึ่งจะมอบประโยชน์ต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ต่ําลงและขีดจํากัดการประมวลผลที่สูงขึ้น

  • การป้องกันการดึงเงินคืน: เมื่อใช้การกันวงเงินแบบแบ่งรอบเป็นเกราะป้องกัน ธุรกิจจะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดึงเงินคืนและการคืนเงินได้โดยที่ไม่ต้องลดเงินทุนหมุนเวียน

  • การออมเงินภาคบังคับ: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบมีหน้าที่เป็นกลไกการออมเงินภาคบังคับ โดยจะช่วยกันเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดหรือการลงทุนในอนาคต

ข้อเสีย

  • กระแสเงินสดที่ลดลง: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบอาจลดกระแสเงินสด เนื่องจากมีการกันเงินส่วนหนึ่งของรายรับไว้

  • ค่าเสียโอกาส: การกันวงเงินแบบแบ่งรอบจะกันเงินที่สามารถนำไปใช้ลงทุนในด้านอื่นๆ ของธุรกิจ จึงอาจจํากัดโอกาสในการเติบโต

  • ความไม่แน่นอน: การกันวงเงินในจำนวนที่ไม่แน่นอนอาจทําให้การคาดการณ์และการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องยาก

  • การโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้น: ความไม่สอดคล้องในแง่ของจํานวนเงิน ระยะเวลา หรือกําหนดเวลาการปล่อยวงเงินอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้ประมวลผลการชําระเงิน

  • การควบคุมที่จํากัด: ธุรกิจสามารถควบคุมข้อกําหนดและเงื่อนไขของการกันวงเงินแบบแบ่งรอบได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากปกติแล้วจะกำหนดโดยการประเมินความเสี่ยงของผู้ประมวลผล

คุณควรกันวงเงินแบบแบ่งรอบไว้นานเท่าใด

ต่อไปนี้คือปัจจัยบางประการที่สามารถกําหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสําหรับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

  • ความเสี่ยงในอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมที่มีอัตราการดึงเงินคืนสูงกว่า เช่น การเดินทาง การพนัน และความบันเทิงสําหรับผู้ใหญ่ อาจต้องกันวงเงินไว้นานกว่า (180 วันหรือนานกว่านั้น) เพื่อให้ครอบคลุมการโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ธุรกิจในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงต่ํา อาจมีระยะเวลากันวงเงินน้อยกว่านั้น (30–90 วัน) เนื่องจากมีโอกาสที่จะถูกดึงเงินคืนน้อยกว่า

  • ประวัติธุรกิจ: ธุรกิจที่มีประวัติการประมวลผลที่จํากัดอาจต้องกันวงเงินไว้นานขึ้นจนกว่าจะมีประวัติที่ดีชัดเจน ธุรกิจที่มีอัตราการดึงเงินคืนต่ําและมีสถานะดีอาจมีสิทธิ์ใช้ระยะเวลาการกันวงเงินที่สั้นลง

  • กรอบเวลาการดึงเงินคืน: กรอบเวลาดึงเงินคืนมาตรฐานที่เครือข่ายบัตรกําหนดไว้ (เช่น Visa, Mastercard) มักจะส่งผลต่อระยะเวลาการกันวงเงิน กรอบเวลาเหล่านี้มีช่วงตั้งแต่ 45 ถึง 120 วัน

  • นโยบายของผู้ประมวลผลการชําระเงิน: ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะกําหนดข้อกําหนดและเงื่อนไขในข้อตกลงของคุณ ทั้งนี้ ผู้ประมวลผลบางรายอาจเสนอเงื่อนไขที่มีความยืดหยุ่นหรือสามารถต่อรองได้

ประเภทของเงินทุนที่กันวงเงิน: การกันวงเงินแบบจํากัดยอดและแบบล่วงหน้า

การกันวงเงินแต่ละรายการอาจมีความแตกต่างกัน นอกจากการกันวงเงินแบบแบ่งรอบแล้ว ยังมีการกันวงเงินแบบจํากัดยอดและการกันวงเงินแบบล่วงหน้าด้วย วิธีการมีดังนี้

การกันวงเงินแบบจํากัดยอด

การกันวงเงินแบบจํากัดยอดจะหักเปอร์เซ็นต์จากธุรกรรมแต่ละรายการเช่นเดียวกับการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ แต่การกันวงเงินประเภทนี้จะมีขีดจํากัดสูงสุดหรือ "ยอดสูงสุดที่จำกัด" เมื่อถึงวงเงินสูงสุดแล้ว จะไม่มีการหักเงินทุนเพิ่มเติม แม้ว่าระยะเวลาการกันวงเงินจะยังไม่สิ้นสุดลงก็ตาม ตัวอย่างเช่น หากธุรกิจมีการกันวงเงินไม่เกิน 10% โดยมีขีดจำกัดอยู่ที่ $5,000 ระบบจะกันวงเงินไว้ 10% ของธุรกรรมแต่ละรายการจนกว่าจะถึง $5,000 หลังจากนั้น จะไม่มีการหักเงินทุนอีกต่อไป แม้ว่าจะมีการทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง

การกันวงเงินแบบจํากัดยอดจะให้ข้อมูลที่คาดการณ์ได้กับธุรกิจ เนื่องจากระบุจำนวนเงินสูงสุดที่สามารถกันวงเงินไว้ได้ แต่การกันวงเงินเหล่านั้นก็ยังอาจส่งผลกับกระแสเงินสด โดยเฉพาะในกรณีที่มีการกันวงเงินถึงขีดจำกัดอย่างรวดเร็ว และเงินที่กันไว้อาจไม่เพียงพอสําหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงหรือธุรกิจที่มียอดขายผันผวน วิธีนี้ยังมอบความคุ้มครองแก่บางส่วนผู้ประมวลผลการชําระเงิน แม้ว่าจะมีการกันวงเงินน้อยกว่าแบบแบ่งรอบก็ตาม

การกันวงเงินล่วงหน้า

การกันวงเงินล่วงหน้ากําหนดให้ธุรกิจกันเงินไว้ล่วงหน้าเป็นก้อนก่อนที่จะเริ่มประมวลผลการชําระเงินได้ จํานวนนี้มักจะอิงตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขายที่คาดหมายหรือโปรไฟล์ความเสี่ยงของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่คาดว่าจะประมวลผลยอดเงิน $100,000 ต่อเดือนอาจจําเป็นต้องกันวงเงินล่วงหน้าจํานวน $10,000

การกันวงเงินล่วงหน้าให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประมวลผลการชําระเงินจากการดึงเงินคืนหรือการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นทันที และอาจสร้างความติดขัดในแง่ของกระแสเงินสดต่อธุรกิจน้อยกว่าการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ เนื่องจากธุรกิจจะทราบยอดเงินดังกล่าวล่วงหน้า แต่ธุรกิจใหม่ๆ หรือธุรกิจขนาดเล็กอาจพบว่าการกันวงเงินเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องมีการลงทุนเป็นจํานวนมากล่วงหน้า และไม่สามารถปรับเปลี่ยนยอดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยอดขายที่ไม่คาดคิดได้

การเลือกประเภทการกันวงเงินที่เหมาะสม

การกันวงเงินที่เหมาะสมที่สุดจะขึ้นอยู่กับความต้องการและระดับความเสี่ยงของธุรกิจคุณ ต่อไปนี้เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสําหรับแต่ละประเภท:

  • การกันวงเงินแบบจำกัดยอดอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสําหรับธุรกิจที่มียอดขายที่คาดการณ์ได้ซึ่งต้องการคุ้มครองในระดับหนึ่ง แต่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการกันวงเงินแบบแบ่งรอบต่อกระแสเงินสด

  • การกันวงเงินล่วงหน้าอาจเหมาะสําหรับธุรกิจที่มีความมั่นคงซึ่งมีการเงินที่แข็งแกร่งและต้องการการชําระเงินแบบครั้งเดียว แทนที่จะหักเงินตามแบบแผนล่วงหน้า

  • การกันวงเงินแบบแบ่งรอบเหมาะสําหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงหรือธุรกิจที่มียอดขายผันผวน การกันวงเงินประเภทนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดเนื่องจากมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับจำนวนได้

การยกเลิกการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ

การยกเลิกการกันวงเงินแบบแบ่งรอบเป็นผลดีต่อธุรกิจส่วนใหญ่ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มจำนวนเงินทุนและมอบความยืดหยุ่นทางการเงินที่มากขึ้น แต่ธุรกิจควรวางแผนยกเลิกสัญญาการกันวงเงินอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดําเนินกิจการได้หากปราศจากกันชนทางการเงินจากการกันวงเงิน วิธียกเลิกการกันวงเงินมีดังนี้

ขั้นตอนการยกเลิก

ขั้นตอนการยกเลิกจะเริ่มต้นเมื่อการกันวงเงินแบบแบ่งรอบสิ้นสุดลง เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ประมวลผลการชําระเงินมักจะแจ้งธุรกิจให้ทราบ และให้รายละเอียดเกี่ยวกับการยกเลิกการกันเงินทุนและการปรับยอดขั้นสุดท้าย หากจําเป็น

ผู้ประมวลผลการชําระเงินจะตรวจสอบบัญชีเพื่อชําระหนี้สินที่ค้างชําระ เช่น การดึงเงินคืนและการโต้แย้งการชําระเงิน รวมทั้งทําการปรับยอดตามที่จําเป็น จากนั้นธุรกิจจะได้รับเงินที่เหลือจากการกันวงเงินแบบแบ่งรอบ โดยจะได้รับเงินที่หักไว้นานที่สุดก่อน เมื่อได้รับเงินทั้งหมดแล้ว บัญชีกันวงเงินจะถูกปิดอย่างเป็นทางการ

ผลกระทบจากการยกเลิก

  • กระแสเงินสดที่ดีขึ้น: การเข้าถึงเงินที่ถูกกันไว้ก่อนหน้านี้จะสามารถกระตุ้นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจได้อย่างมาก

  • การปรับสมดุล: ธุรกิจมักจะต้องปรับกลยุทธ์ทางการเงินหลังจากยกเลิก ตัวอย่างเช่น อาจมีการเปลี่ยนแนวทางการจัดการงบประมาณและเงินสดเพื่อรองรับสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจอาจต้องปรับกลยุทธ์การดําเนินงานของตนโดยเฉพาะในกรณีที่การกันวงเงินส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายหรือลงทุนในโครงการใหม่

  • การปรับการจัดการความเสี่ยง: ธุรกิจต่างๆ อาจต้องปรับปรุงการจัดการความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เนื่องจากไม่มีการป้องกันจากการกันวงเงินแล้ว ตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องมือตรวจจับการฉ้อโกงที่มีประสิทธิภาพหรือการอัปเดตข้อกําหนดการให้บริการเพื่อลดการดึงเงินคืน

  • ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประมวลผลการชําระเงิน: การยกเลิกการกันวงเงินแบบแบ่งรอบอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับผู้ประมวลผลการชําระเงิน ผู้ประมวลผลอาจขอเจรจาเงื่อนไขสําหรับธุรกรรมหรือประเมินโปรไฟล์ความเสี่ยงโดยรวมของธุรกิจอีกครั้ง

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe