การลดการเลิกใช้บริการสําคัญต่ออุตสาหกรรมการให้บริการซอฟต์แวร์ (SaaS) ในธุรกิจ SaaS ที่มักจะเรียกเก็บเงินค่าบริการสมาชิกรายเดือนหรือรายปี การเลิกใช้บริการมีผลต่อรายรับโอกาสการเติบโตของธุรกิจ
การเลิกใช้บริการในบริบทของ SaaS หมายถึงอัตราที่ลูกค้าหยุดใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ โดยเป็นตัววัดการลดลงของลูกค้า (การสูญเสีย) ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น หากธุรกิจ SaaS มีลูกค้า 100 รายในตอนต้นเดือน โดยมี 5 รายที่ยกเลิกการสมัครใช้บริการก่อนสิ้นเดือน อัตราการเลิกใช้บริการ/ซื้อสินค้าก็จะคิดเป็น 5%
การเลิกใช้บริการส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากกว่าการสูญเสียลูกค้า เพราะถือเป็นการสูญเสียเงินที่ลงทุนไปเพื่อหาลูกค้ารายนั้น รวมถึงควมพยายามด้านการตลาดและการขายด้วย การรักษาความพึงพอใจและความผูกพันของลูกค้าเป็นปัจจัยส่งเสริมความมั่นคงและการเติบโตสำหรับโมเดลรายรับตามแบบแผนล่วงหน้าอย่าง SaaS
ธุรกิจ SaaS ต้องเข้าใจเหตุผลที่ลูกค้าจากไปและใช้ข้อมูลนี้ปรับปรุงบริการของตนเอง ซึ่งอาจจะต้องยกระดับการสนับสนุนลูกค้า การทําผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานง่ายขึ้น หรือปรับเปลี่ยนโมเดลค่าบริการ
การจัดการกับการเลิกใช้บริการคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการหาลูกค้าใหม่ โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกค้าปัจจุบันจะน้อยกว่าและทําให้มีรายรับมากขึ้นตามเวลาจากการซื้อหรือการอัปเกรดเพิ่มเติม ลูกค้าที่ภักดียังช่วยขยายธุรกิจผ่านการส่งเสริมการขายแบบปากต่อปากอีกด้วย
นี่คือคําแนะนําเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการลดอัตราการเลิกใช้บริการสำหรับธุรกิจ SaaS
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- เหตุใดอัตราการเลิกใช้บริการจึงสําคัญต่อธุรกิจ SaaS
- วิธีลดอัตราการเลิกใช้บริการสําหรับธุรกิจ SaaS
เหตุใดอัตราการเลิกใช้บริการจึงสําคัญต่อธุรกิจ SaaS
การเลิกใช้บริการได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของ SaaS ที่สำคัญที่สุด ต่อไปนี้คือสาเหตุบางประการ:
บ่งบอกถึงรายรับที่สูญเสียไป: การสูญเสียรายรับเป็นผลกระทบโดยตรงที่สุดของการเลิกใช้บริการ เมื่อลูกค้าจากไปแล้ว รายรับตามแบบแผนล่วงหน้าที่ธุรกิจ SaaSพึ่งพาอยู่ก็ย่อมลดลง โดยอาจส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่น ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการลงทุนกับความริเริ่มใหม่ การตลาด และการเติบโตด้านอื่นๆ ต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่มาแทนที่ลูกค้าที่สูญเสียไปมักจะสูงกว่าต้นทุนในการรักษาลูกค้าปัจจุบัน ทําให้การเลิกใช้บริการเป็นข้อกังวลที่สำคัญด้านการเงิน
สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ: อัตราการเลิกใช้บริการที่สูงอาจบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการมีปัญหา ซึ่งอาจรวมถึงข้อบกพร่องในซอฟต์แวร์ ขาดฟีเจอร์ที่จําเป็น ประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ที่ไม่ดี หรือการสนับสนุนลูกค้าที่ไม่เพียงพอ ธุรกิจที่อัตราการเลิกใช้บริการเพิ่มขึ้นควรตรวจสอบแต่ละด้านอย่างละเอียดเพื่อระบุและแก้ไขปัญหา
ส่งสัญญาณถึงตําแหน่งทางการตลาดและการแข่งขัน: อัตราการเลิกใช้บริการที่สูงอาจบ่งบอกว่าคู่แข่งกำลังเสนอฟีเจอร์ ค่าบริการ หรือบริการที่ดีกว่า การทําความเข้าใจอัตราการเลิกใช้บริการในบริบทนี้ช่วยให้ธุรกิจ SaaS แข่งขันกับคู่แข่งได้ด้วยการปรับตัวตามความต้องการและแนวโน้มของตลาด
วัดความภักดีและความพึงพอใจของลูกค้า: อัตราการเลิกใช้บริการยังใช้วัดความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้าด้วย หากลูกค้าพอใจกับผลิตภัณฑ์ โอกาสที่จะเลิกใช้ก็น้อยลง จึงทำให้อัตราการเลิกใช้บริการเป็นตัวชี้วัดที่มีค่าในการประเมินว่าผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าได้ดีเพียงใด
ให้แนวทางในการปรับปรุงและสร้างนวัตกรรม: การทําความเข้าใจสาเหตุที่ลูกค้าจากไปช่วยให้ธุรกิจ SaaS สามารถมุ่งเน้นด้านที่ต้องปรับปรุงได้ ซึ่งอาจหมายถึงการปรับฟีเจอร์ที่มีอยู่ การนำเสนอคุณสมบัติการใช้งานใหม่ๆ หรือการออกแบบอินเทอร์เฟซผู้ใช้ใหม่ คําติชมจากลูกค้าที่เพิ่งจากไปช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น
อาจส่งผลกระทบต่อการประเมินค่าของธุรกิจ: สําหรับธุรกิจ SaaS ที่กําลังหาผู้ลงทุน อัตราการเลิกใช้บริการเป็นตัวชี้วัดสําคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณา อัตราการเลิกใช้บริการที่สูงอาจทำให้นักลงทุนลังเลเนื่องจากบ่งบอกถึงกระแสรายรับที่ผันผวนและปันหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ ในทางกลับกัน อัตราการเลิกใช้บริการที่ต่ำอาจแสดงถึงความน่าสนใจเนื่องจากส่งสัญญาณให้เห็นถึงโมเดลธุรกิจที่ดีและยั่งยืน
ส่งผลต่อความสัมพันธ์ลูกค้าในระยะยาว: การลดอัตราการเลิกใช้บริการไม่ใช่แค่การรักษาลูกค้ารายใดรายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการรักษาลูกค้าที่เหมาะสมซึ่งเห็นคุณค่าที่แท้จริงในผลิตภัณฑ์ สิ่งนี้ช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ระยะยาว ซึ่งจะให้ผลกําไรที่มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าเหล่านี้มักจะกลายเป็นผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้วยการบอกต่อกับผู้ใช้รายใหม่และนำไปสู่การเติบโตอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
การจัดการอัตราการเลิกใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพได้ต้องอาศัยการสร้างธุรกิจที่ตอบสนองและให้ความสำคัญกับลูกค้า รวมทั้งปรับตัวและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อัตราการเลิกใช้บริการที่ต่ำเป็นสิ่งชี้วัดว่าธุรกิจ SaaS นั้นเข้าใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งนำไปสู่การขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนและความสําเร็จ
วิธีลดอัตราการเลิกใช้บริการสําหรับธุรกิจ SaaS
สร้างกระบวนการเริ่มต้นใช้งานที่ยอดเยี่ยม
กระบวนการเริ่มต้นใช้งานคือปฏิสัมพันธ์แรกที่ลูกค้ามีต่อผลิตภัณฑ์จริง และเป็นตัวกำหนดภาพรวมของประสบการณ์ทั้งหมด กระบวนการเริ่มต้นใช้งานที่คิดและจัดโครงสร้างอย่างดีสามารถลดอัตราการเลิกใช้บริการได้อย่างมาก ด้วยการช่วยให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่แรก วิธีเข้าสู่กระบวนการเริ่มต้นใช้งานมีดังนี้
ทําให้กระบวนการชัดเจนและง่าย: กระบวนการเริ่มต้นใช้งานควรตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย อย่าให้ข้อมูลกับผู้ใช้ใหม่มากเกินไปในคราวเดียว ใช้การแนะนำทีละขั้นตอน เคล็ดลับเครื่องมือ และบทเรียนแบบโต้ตอบ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สํารวจการตั้งค่าเริ่มต้นและฟีเจอร์สําคัญต่างๆ
กําหนดความคาดหวัง: ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าทราบถึงสิ่งที่ควรคาดหวังจากผลิตภัณฑ์ สื่อสารอย่างชัดเจนถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ว่าสามารถสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร ตั้งหมายเป้าหมายที่ลูกค้าสามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการใช้เพื่อเริ่มสร้างความพึงพอใจ
ปรับให้เหมาะกับแต่ละราย: ปรับแต่งประสบการณ์ในกระบวนการเริ่มต้นใช้งานตามขนาดธุรกิจ อุตสาหกรรมหรือบทบาทของลูกค้า สิ่งนี้ขะทําให้รู้สึกว่ากระบวนการสอดคล้องและน่าสนใจสำหรับผู้ใช้มากขึ้น นําเสนอแนวทางการเริ่มต้นใช้งานหรือเนื้อหาที่ปรับแต่งเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้ที่ต่างกัน จากแบบสํารวจแนวโน้มผู้ซื้อซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจําปี 2022 ของ Gartner องค์ประกอบสำคัญที่สุด 2 ประการที่ผู้ซื้อซอฟต์แวร์ที่ทำธุรกิจแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) คือการเข้าถึงการสนับสนุนและการอบรมแบบเฉพาะลูกค้า
เปิดช่องทางให้คําติชม: เปิดโอกาสให้แสดงความคิดทั้งระหว่างและหลังกระบวนการเริ่มต้นใช้งาน สิ่่งนี้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าความคิดเห็นของตนมีค่าและช่วยให้ธุรกิจระบุและแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ใช้แบบสํารวจหรือช่องทางการสื่อสารโดยตรงเพื่อรวบรวมและตอบสนองต่อความคิดเห็น
ให้ความรู้และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง: กระบวนการเริ่มต้นใช้งานไม่ควรสิ้นสุดลงหลังการเริ่มต้นใข้งาน ให้ความรู้และแหล่งข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มที่ เสนอสัมมนาผ่านเว็บ ฐานความรู้ และเคล็ดลับเป็นประจําเพื่อให้ลูกค้ามีส่วนร่วมและมีข้อมูลอยู่เสมอ
ตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพ: เฝ้าตรวจสอบประสิทธิภาพของกระบวนการเริ่มต้นใช้งานอย่างต่อเนื่อง ติดตามตัวชี้วัด เช่น การมีส่วนร่วม เวลาที่ใช้ก่อนการดําเนินการสำคัญครั้งแรก และความคิดเห็นของลูกค้า อัปเดตและปรับแต่งกระบวนการเริ่มต้นใช้งานเป็นประจําโดยอิงจากข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้
การปรับปรุงวิธีการเริ่มต้นใช้บริการของผู้ใช้ใหม่จะช่วยให้ผู้ใช้ตระหนักถึงคุณค่าของบริการและนำมาใช้เป็นกิจวัตรในทุกวัน การลงทุนเพื่อการเริ่มต้นที่ราบรื่นช่วยป้องกันไม่ให้ลูกค้าใหม่เลิกใช้บริการเร็วเกินไป รวมทั้งทำให้พึงพอใจและใช้งานระยะยาว
ยกระดับการสนับสนุนลูกค้าของคุณ
การสนับสนุนลูกค้าที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่เรื่องของการแก้ปัญหาเท่านั้น ตัวแทนฝ่ายสนับสนุนลูกค้าควรสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและทําให้รู้สึกว่ามีผู้รับฟัง จากการวิจัยของ Gartner ผู้ซื้อซอฟต์แวร์ B2B 84% มักมองหาการสนับสนุนลูกค้าที่ยอดเยี่ยมในช่วงที่กําลังต่ออายุการสมัครใช้บริการ หากทำได้ถูกต้อง การสนับสนุนลูกค้าที่ดีจะสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ที่ไม่ดีให้เป็นประสบการณ์ที่ดีได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความภักดีและลดอัตราการเลิกใช้บริการ
ตั้งเป้าหมายให้เข้าถึงง่ายและตอบสนองอย่างรวดเร็ว: ทำให้ลูกค้าเข้าถึงการสนับสนุนได้ง่ายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อีเมล แชท โทรศัพท์ และโซเชียลมีเดีย ตั้งเป้าให้ตอบกลับอย่างรวดเร็ว ยิ่งการสนับสนุนแก้ปัญหาได้ลูกค้าเร็ว ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกได้รับความสำคัญมากขึั้น
สร้างทีมสนับสนุนที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจลูกค้า: ลงทุนฝึกอบรมทีมสนับสนุนของคุณให้มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และมีทักษะการแก้ไขปัญหาที่ดี ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมของความเข้าอกเข้าใจและความเข้าใจ ลูกค้าควรรู้สึกว่าทีมสนับสนุนให้ความใส่ใจในปัญหาของตนอย่างจริงใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้
ให้การสนับสนุนในเชิงรุก: อย่ารอให้ลูกค้าพบปัญหา ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุปัญหาที่พบบ่อยและนําเสนอคําแนะนําในเชิงรุก แชร์เคล็ดลับและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดกับลูกค้าตามรูปแบบการใช้งาน
เสนอแหล่งข้อมูลสําหรับการสนับสนุนแบบบริการตัวเอง: ระบุคําถามที่พบบ่อย ฐานความรู้ และวิดีโอแนะนําการใช้งานที่ครอบคลุม ลูกค้าจํานวนมากต้องการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองโดยมีสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เหมาะสม แหล่งข้อมูลเหล่านี้ควรเป็นปัจจุบัน ใช้งานง่าย และครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย
ปรับแต่งการสนับสนุนลูกค้าให้ลูกค้าเฉพาะราย: ปรับแต่งประสบการณ์การสนับสนุนให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย การจดจําการโต้ตอบและความต้องการที่ผ่านมาอาจทําให้ลูกค้ารู้สึกได้รับความสำคัญ แบ่งลูกค้าตามขนาดธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือรูปแบบการใช้งานเพื่อให้การสนับสนุนที่สอดคล้องมากขึ้น
ปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่อง: รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การสนับสนุนลูกค้าอยู่เป็นประจํา และใช้ข้อมูลนี้เพื่อปรับปรุง ติดตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน เช่น เวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า และอัตราการเกิดปัญหาซ้ำเพื่อวัดประสิทธิภาพการสนับสนุน
การให้การสนับสนุนลูกค้าที่โดดเด่นอาจเปลี่ยนสถานการณ์ยุ่งยากให้กลายเป็นประโยชน์ต่อบริการซอฟต์แวร์ของคุณ การสนับสนุนที่ดีทําให้ลูกค้ารู้สึกดีที่เลือกคุณและจดจําประสบการณ์การสนับสนุนที่ได้รับได้นานหลังที่ปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว
ใช้คําติชมจากลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การมองหาคําตอบและตอบสนองความคิดเห็นของลูกค้าอย่างรอบคอบและในเชิงรุกแสดงถึงความมุ่งมั่นในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ วิธีนี้สามารถเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยลดอัตราการเลิกใช้บริการ วิธีการทํามีดังนี้:
รับความคิดเห็นอย่างเป็นระบบ: ใช้วิธีการเก็บรวบรวมความคิดเห็นหลายวิธี เช่น การสำรวจ แบบฟอร์มคำติชม ในแอป การรับฟังความคิดเห็นทางโซเชียล และการสัมภาษณ์ลูกค้าโดยตรง กระตุ้นให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนต่างๆ ของเส้นทางของลูกค้า ไม่ใช่แค่หลังจากการโต้ตอบกับฝ่ายสนับสนุนหรือช่วงเวลาต่อบริการเท่านั้น
วิเคราะห์ความคิดเห็นเพื่อรับข้อมูลเชิงลึก: ใช้เครื่องมือและเทคนิคในการวิเคราะห์หาแนวโน้มของข้อมูลคําติชม มองหารูปแบบทั่วไปหรือปัญหาที่ลูกค้าพบซ้ำๆ ให้ความสําคัญกับความคิดเห็นเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อทำความเข้าใจกระแสความรู้สึกของลูกค้าอย่างครอบคลุม
ดำเนินการตามความคิดเห็น: ให้ความสําคัญกับคําติชมเพื่อดำเนินการโดยอิงจากผลกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้าและความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยน จัดทำแผนแก้ไขข้อติชมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่อง การเพิ่มฟีเจอร์ หรือการแก้ไขขั้นตอน
สื่อสารกลับถึงลูกค้า: แจ้งลูกค้าว่าคุณรับทราบความคิดเห็นจากลูกค้าแล้ว และกำลังดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งสามารถผ่านอีเมล จดหมายข่าว หรือการแจ้งเตือนในแอปที่ปรับแต่งให้เหมาะกับลูกค้า การทำขั้นตอนการแสดงความคิดเห็นและวิธีการนำความคิดเห็นไปใช้ให้โปร่งใส ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าความคิดเห็นที่ให้มามีความสําคัญ
ปิดวงจรคําติชม: ติดตามผลกับลูกค้าที่ให้คําติชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณทําการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อตอบรับคําแนะนําของลูกค้า สิ่งนี้แสดงถึงความขอบคุณที่มีต่อความคิดเห็นของลูกค้าและกระตุ้นให้ลูกค้าให้คำติชมเพิ่มเติม
สร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยคำติชม: ส่งเสริมวัฒนธรรมของบริษัทที่ให้ความสําคัญกับคำติชมของลูกค้า และมองว่าเป็นโอกาสในการเติบโตและการปรับปรุง ตรวจสอบให้มั่นใจว่าทุกทีมตั้งแต่ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงทีมสนับสนุนลูกค้า เข้าใจความสําคัญของความคิดเห็นของลูกค้าและรู้สึกมีส่วนร่วมในกระบวนการ
การปรับใช้ความคิดเห็นของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นกลยุทธ์ที่ทรงประสิทธิภาพในการลดอัตราการเลิกใช้บริการ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจ SaaS ตอบสนองความต้องการของลูกค้า คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาด และปรับปรุงข้อเสนอของตนเอง เมื่อลูกค้าเห็นว่าความคิดเห็นของตนนําไปสู่การปรับปรุงที่จับต้องได้ ลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและภักดีต่อผลิตภัณฑ์มากขึ้น
จัดทำโปรแกรมความสําเร็จของลูกค้า
โปรแกรมเพื่อความสําเร็จของลูกค้าซึ่งแตกต่างจากการสนับสนุนลูกค้าแบบเดิมที่เป็นการทำงานเชิงรับ ช่วยให้ลูกค้าบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการด้วยผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการในเชิงรุก วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาและแนะนําลูกค้าให้ใช้บริการอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งช่วยลดความเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะจากไป ต่อไปนี้คือวิธีสร้างโปรแกรมความสําเร็จของลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ
กําหนดเป้าหมายเพื่อความสําเร็จของลูกค้า: ดูว่าความสำเร็จของลูกค้าเป็นอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างไปตามผลิตภัณฑ์และธุรกิจของลูกค้า จัดทำโปรแกรมความสำเร็จของลูกค้าที่มีเป้าหมายชัดเจนและบรรลุผลได้ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของลูกค้าและผลลัพธ์ทางธุรกิจ
จัดตั้งทีมความสําเร็จของลูกค้าโดยเฉพาะ: รวบรวมทีมที่มุ่งเน้นความสําเร็จของลูกค้าเพียงอย่างเดียว เป้าของทีมคือการเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย ฝึกอบรมทีมเพื่อจัดการปัญหาและแนะนําลูกค้า โดยให้ข้อมูลเชิงลึกและคําแนะนํา
พัฒนาแผนความสําเร็จของลูกค้า: จัดทำแผนงานที่มีแบบแผนให้ลูกค้าแต่ละรายหรือกลุ่ม ที่มีขั้นตอนที่จําเป็นในการบรรลุเป้าหมายระหว่างทางด้วยผลิตภัณฑ์ของคุณ ตรวจสอบและอัปเดตแผนเหล่านี้เป็นประจําเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือรูปแบบการใช้งานของลูกค้าที่การเปลี่ยนแปลงไป
ติดตามความคืบหน้าจากลูกค้าอยู่เป็นประจํา: กําหนดเวลาตรวจสอบกับลูกค้าเป็นประจำเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความคืบหน้า ความท้าทาย และความคิดเห็นของลูกค้า ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ให้คําแนะนําลูกค้าแบบเฉพาะราย อัปเดตคุณสมบัติการใช้งานใหม่ๆ และให้เคล็ดลับการใช้ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ติดตามและวัดความสําเร็จ: เพื่อวัดประสิทธิภาพของโปรแกรมความสําเร็จของลูกค้า ให้ตรวจสอบข้อมูลการใช้งานของลูกค้าเพื่อทําความเข้าใจว่าลูกค้าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ และพึงพอใจในภาพรวมหรือไม่ ใช้ตัวชี้วัด เช่น คะแนนสุขภาพของลูกค้า ซึ่งอ้างอิงข้อมูลรูปแบบการใช้งาน ระดับการมีส่วนร่วม และความคิดเห็นของลูกค้า เพื่อระบุลูกค้าที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเลิกใช้บริการ
ปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า: ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์โดยพิจารณาจากความคิดเห็นและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป มองหาวิธีการปรับปรุงโปรแกรมและทำให้สอดคล้องกับความคาดหวังของลูกค้า
การมุ่งเน้นความสําเร็จของลูกค้าคือการทำให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่คุณเสนอให้อย่างแท้จริง การมุ่งเน้นในลักษณะนี้ช่วยเสริมสร้างความพันธ์ให้ดีขึ้น และทำให้ลูกค้ามีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณต่อไป
มุ่งเน้นการปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ใช้เฉพาะรายและคุณสมบัติแบบปรับแต่งเอง
การปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้เฉพาะรายคือการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้และผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการและความชอบของลูกค้าแต่ละราย เมื่อลูกค้ารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษให้เหมาะกับตน ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมต่อไปและไม่ค่อยจะแสวงหาทางเลือกอื่นทดแทน ต่อไปนี้คือวิธีการทำตามกลยุทธ์นี้
ทําความเข้าใจความต้องการของลูกค้าแต่ละราย: รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าเพื่อทําความเข้าใจว่าสิ่งใดในผลิตภัณฑ์ของคุณที่ลูกค้าให้ความสำคัญมากที่สุด ข้อมูลนี้อาจมาจากหลายแหล่ง รวมถึงรูปแบบการใช้งาน การโต้ตอบกับทีมสนับสนุน และแบบสํารวจความคิดเห็นของลูกค้าโดยตรง
ปรับแต่งประสบการณ์ของผู้ใช้: ใช้ข้อมูลที่คุณเก็บรวบรวมเพื่อปรับแต่งประสบการณ์ของผู้ใช้ ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนอินเทอร์เฟซผู้ใช้ การนําเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง หรือการแนะนําผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะบุคคล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าแต่ละคนรู้สึกราวกับว่าปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์นั้นมีความพิเศษและตอบสนองความต้องการของตนโดยเฉพาะ
นำเสนอตัวเลือกการปรับแต่งเฉพาะบุคคล: เปิดให้ลูกค้าปรับแต่งฟีเจอร์หรือการตั้งค่าผลิตภัณฑ์ตามต้องการ ซึ่งอาจรวมถึงแดชบอร์ดที่ปรับแต่งได้ การแจ้งเตือนที่ปรับได้ หรือขั้นตอนการทํางานที่ปรับเปลี่ยนได้ การช่วยให้ลูกค้าสามารถควบคุมการโต้ตอบกับผลิตภัณฑ์ของคุณสามารถยกระดับความรู้สึกเป็นเจ้าของและความพึงพอใจได้เป็นอย่างมาก
กําหนดเป้าหมายการสื่อสารของคุณ: ส่งข้อความสื่อสารที่สอดคล้องกับการใช้งานและความสนใจของลูกค้าแต่ละราย ประกอบด้วยอีเมล ข้อความในแอป และการแจ้งเตือน หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อความทั่วไป ลูกค้าจะตอบสนองได้ดีกว่าต่อการสื่อสารที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวและสัมพันธ์กับตนเองมากที่สุด
ทําการอัปเดตเป็นประจําตามคําติชม: อัปเดตและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องโดยอ้างอิงความคิดเห็นจากลูกค้า แสดงให้ลูกค้าเห็นว่าความคิดเห็นของพวกเขามีส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ วิธีนี้จะช่วยปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกค้า เนื่องจากลูกค้าเห็นว่ามีการนำคำแนะนำไปใช้
ตรวจสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง: ประเมินประสิทธิภาพในการปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ใช้เฉพาะรายและคุณสมบัติแบบปรับแต่งเองของคุณ พิจารณาตัวชี้วัด เช่น ระดับการมีส่วนร่วม การใช้งานฟีเจอร์ และคําติชม เตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์ของคุณโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
การปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ใช้เฉพาะรายและคุณสมบัติแบบปรับแต่งเองจะช่วยให้ธุรกิจ SaaS สร้างประสบการณ์ที่น่าดึงดูดและน่าพึงพอใจมากขึ้นแก่ลูกค้าได้ วิธีการปรับแต่งลักษณะนี้ทำให้ลูกค้ารู้สึกมีคุณค่าและมีคนเข้าใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความภักดีและลดโอกาสที่ลูกค้าจะผละไปหาคู่แข่งได้
นําเสนอค่าบริการที่แข่งขันได้และแพ็กเกจที่ยืดหยุ่น
วิธีการนี้ต้องอาศัยความเข้าใจว่าลูกค้ายินดีจ่ายเพื่ออะไรและต้องการชำระเงินอย่างไร แล้วจึงปรับโครงสร้างค่าบริการของคุณให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว แบบสํารวจแนวโน้มผู้ซื้อซอฟต์แวร์ทั่วโลกของ Gartner พบว่าลูกค้าเกือบ 10% เลิกใช้บริการสมัครสมาชิกเนื่องจากการกำหนดค่าบริการ กลยุทธ์การกําหนดราคาที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบอาจทําให้บริการของคุณน่าสนใจและเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกค้ายังอยู่ต่อไป สิ่งที่คุณควรทํา
ศึกษาข้อมูลตลาดเกี่ยวกับค่าบริการ: ทําการค้นคว้าอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบอัตราค่าบริการของบริการแบบเดียวกันในตลาด ควรทราบว่าคู่แข่งของคุณคิดค่าบริการเท่าไหร่และให้ฟีเจอร์อะไรบ้างในราคาดังกล่าว ใช้ข้อมูลจากการศึกษาเพื่อกําหนดราคาที่ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นธรรมและทัดเทียมกับคู่แข่ง
ใช้การคิดค่าบริการตามคุณค่า: ตั้งราคาตามคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับจากผลิตภัณฑ์ของคุณแทนที่จะตั้งราคาจากต้นทุนในการผลิต ทําความเข้าใจฟีเจอร์หรือบริการที่ลูกค้าของคุณให้ความสําคัญมากที่สุด และพิจารณาว่าจะกำหนดราคาให้สอดคล้องกันอย่างไร
พิจารณาโมเดลการคิดค่าสมัครใช้บริการที่ยืดหยุ่น: นําเสนอโมเดลการคิดค่าสมัครใช้บริการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจรวมถึงแพ็กเกจแบบรายเดือน รายปี หรือการคิดค่าบริการตามการใช้งาน ความยืดหยุ่นช่วยให้ลูกค้าเลือกแพ็กเกจที่เหมาะกับงบประมาณและรูปแบบการใช้งานมากที่สุด ซึ่งช่วยลดโอกาสที่ลูกค้าจะเลิกใช้บริการเพราะกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย
ใช้การคิดค่าบริการแบบแบ่งระดับ: ใช้โครงสร้างการค่าบริการแบบแบ่งระดับที่มีชุดบริการหรือฟีเจอร์แบ่งเป็นหลายระดับ โดยแต่ละระดับควรรองรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน วิธีนี้ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กหรือบุคคลทั่วไปเข้าถึงบริการของคุณได้ในราคาที่ต่ำลง ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถเลือกใช้แพ็กเกจที่ครอบคลุมมากขึ้นได้
โปร่งใสเกี่ยวกับค่าบริการ: ชัดเจนเกี่ยวกับการคิดค่าบริการตั้งแต่แรก ค่าธรรมเนียมแอบแฝงหรือค่าใช้จ่ายเรียกเก็บที่ไม่คาดคิดมาก่อนอาจทําให้ลูกค้าไม่พอใจและการเลิกใช้บริการได้ ค่าบริการที่โปร่งใสสร้างความเชื่อมั่นและกําหนดความคาดหวังให้กับลูกค้าอย่างชัดเจน
ตรวจสอบและปรับปรุงเป็นประจํา: ติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพของกลยุทธ์ค่าบริการของคุณอย่างต่อเนื่อง ให้ความสําคัญกับความคิดเห็นของลูกค้า อัตราการเลิกใช้บริการ รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงค่าบริการต่อการสมัครใช้และการต่ออายุบริการ เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนค่าบริการและแพ็กเกจตามความจำเป็นเพื่อให้แข่งขันได้
การเสนอแพ็กเกจที่สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าให้ความสําคัญมากที่สุด จะทำให้ลูกค้าซื้อและใช้บริการของคุณต่อไปได้ง่ายขึ้น การปรับปรุงราคาอย่างเหมาะสมจะทำให้ลูกค้าพึงพอใจและรู้สีกเชื่อมโยงกับบริการของคุณ
ปรับปรุงแนวทางการเรียกเก็บเงินให้มีประสิทธิภาพ
การปรับปรุงแนวทางการเรียกเก็บเงินเพื่อประสิทธิภาพด้านความโปร่งใส ความยืดหยุ่น และฟีเจอร์การเรียกเก็บเงินขั้นสูงจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจและรักษาลูกค้าไว้ได้ ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณจะทำได้เมื่อใช้ Stripe Billing
รอบการเรียกเก็บเงินที่โปร่งใส: กำหนดรอบการเรียกเก็บเงินเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกค้าตกใจกับการเรียกเก็บเงินที่ไม่คาดคิด จัดทำใบแจ้งหนี้แบบละเอียด ที่อธิบายการเรียกเก็บเงินแต่ละรายการ และส่งการแจ้งเตือนก่อนปิดรอบการเรียกเก็บเงินแต่ละรอบ
ตัวเลือกการชําระเงินที่ยืดหยุ่น: เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกวิธีการชําระเงินและความถี่ในการเรียกเก็บเงินที่ต้องการ การเพิ่มความยืดหยุ่นจะช่วยให้ลูกค้าจัดการค่าใช้จ่ายของตัวเองได้ดีขึ้น
Smart Retries: Stripe Billing ใช้ Smart Retries ซึ่งใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อกําหนดเวลาที่เหมาะสมในการพยายามเรียกเก็บเงินที่ชำระไม่สำเร็จซ้ำ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเรียกเก็บเงินให้สำเร็จโดยที่ไม่ต้องรบกวนลูกค้า
การเรียกเก็บเงินตามสัดส่วน: การเรียกเก็บเงินตามสัดส่วนสําหรับการอัปเกรดและดาวน์เกรด เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับข้อเสนอที่ยุติธรรมหากตัดสินใจเปลี่ยนระดับการสมัครใช้บริการ
การหยุดรับบริการสมาชิกชั่วคราว: ให้ตัวเลือกหยุดการรับบริการสมาชิกชั่วคราวแทนที่จะยกเลิก ความยืดหยุ่นนี้อาจจะน่าสนใจต่อลูกค้าที่มีข้อจำกัดทางการเงินชั่วคราวหรือกำลังพิจารณาเลิกใช้บริการ
การอัปเดตวิธีการชําระเงินในเชิงรุก: ฟีเจอร์การเรียกเก็บเงินอัตโนมัติช่วยจัดการและกู้คืนรายรับ ตัวอย่างเช่น ส่งอีเมลเมื่อการชําระเงินไม่สําเร็จหรือบัตรกําลังจะหมดอายุเพื่อให้ลูกค้าอัปเดตข้อมูลการชําระเงิน ซึ่งทำให้มีโอกาสพลาดการชําระเงินน้อยลงและทำให้คุณและลูกค้าสบายใจมากขึ้น
ส่วนลดและคูปองแบบกำหนดเอง: สร้างส่วนลดและคูปองด้วย Stripe เพื่อจูงใจให้ลูกค้าใช้บริการต่อไปหรือเพื่อดึงดูดลูกค้าที่อาจกําลังพิจารณาเลิกใช้บริการให้กลับมา
การจัดการการติดตามหนี้: ตั้งค่าขั้นตอนการติดตามหนี้ด้วย Stripe เพื่อจัดการการชําระเงินที่ไม่สําเร็จ ซึ่งอาจรวมถึงการให้ Stripe ดําเนินการตามนโยบายการเรียกเก็บเงินซ้ำแบบกำหนดเองสําหรับการเรียกเก็บเงินที่ไม่สําเร็จ และระบุสถานะใบแจ้งหนี้เป็นยังไม่ได้ชำระหรือเรียกเก็บเงินไม่ได้ แล้วทำการส่งข้อความสื่อสารไปยังทีมและลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถสื่อสารกับลูกค้าเกี่ยวกับการชําระเงินที่ไม่สําเร็จด้วยวิธีที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นการเผชิญหน้า
การติดตามด้านประสิทธิภาพ: ตรวจสอบตัวชี้วัดหลักที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงิน เช่น อัตราการชําระเงินสําเร็จ รายรับเฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) และอัตราการเลิกใช้บริการ ใช้เครื่องมือการรายงานของ Stripe เพื่อระบุแนวโน้มและด้านที่ต้องปรับปรุง
สร้างเสริมชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการของคุณ
ชุมชนที่แข็งแกร่งและมีส่วนร่วมจะสนับสนุนผู้ใช้และส่งเสริมความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและความภักดีต่อผลิตภัณฑ์ของคุณ เมื่อลูกค้ารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ให้ความสําคัญและให้การสนับสนุนความคิดเห็นของพวกเขา ก็ย่อมจะมีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณต่อไป ซึ่งมักใช้ยุทธวิธีต่อไปนี้
สร้างฟอรัมและแพลตฟอร์มออนไลน์: พัฒนาพื้นที่ออนไลน์เช่น ฟอรัม กลุ่มโซเชียลมีเดีย หรือแพลตฟอร์มเฉพาะอื่นๆ ที่ลูกค้าใช้โต้ตอบ แชร์ไอเดีย และถามคําถาม พื้นที่เหล่านี้ควรจะอบอุ่นและใช้งานง่าย ดูแลฟอรัมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี มีประสิทธิภาพ และเคารพซึ่งกันและกัน
ส่งเสริมการโต้ตอบของผู้ใช้: กระตุ้นการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชน ซึ่งอาจทำได้โดยการเริ่มต้นการสนทนา การตั้งคําถาม หรือการแชร์เนื้อหาที่มีประโยชน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคุณ ให้ความชื่นชมและเชิดชูสมาชิกที่มีบทบาทเพื่อกระตุ้นให้มีส่วนร่วมมากขึ้น
จัดกิจกรรมและการสัมมนาผ่านเว็บ: จัดอีเวนต์ การสัมมนาผ่านเว็บ หรือการประชุมทางออนไลน์ที่นำผู้ใช้มารวมกัน ซึ่งอาจเป็นการให้ความรู้โดยเน้นวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือจัดเพื่อการเข้าสังคมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ นอกจากนั้นกิจกรรมยังอาจใช้เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้แสดงความคิดเห็นหรือให้ไอเดียต่างๆ แก่ทีมได้โดยตรงอีกด้วย
นำเสนอเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้: กระตุ้นให้ผู้ใช้สร้างและแชร์เนื้อหาของตนเอง เช่น คู่มือแนะนําวิธีการใช้งาน กรณีศึกษา หรือเคล็ดลับ เนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นอาจเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ทำให้ผู้ใช้รายอื่นเห็นประโยชน์ที่ใช้ได้จริงของผลิตภัณฑ์จากอีกมุมมองหนึ่ง การนําเสนอเนื้อหาดังกล่าวเป็นการแสดงถึงความชื่นชมและเป็นสิ่งรับรองความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของลูกค้า
มอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่สมาชิกในชุมชน: มอบเนื้อหาพิเศษ สิทธิ์ทดลองใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ก่อนใคร หรือให้การสนับสนุนพิเศษให้แก่สมาชิกในชุมชน วิธีนี้อาจช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและเป็นเหตุผลให้ผู้ใช้ยังมีบทบาทในชุมชนและใช้งานผลิตภัณฑ์ของคุณต่อไป
มีส่วนร่วมต่อเนื่อง: มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนผู้ใช้อย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจกับความคิดเห็นของชุมชน นอกจากนี้คุณยังใช้ชุมชนเป็นแหล่งรวบรวมความคิดเห็นได้อีกด้วย
ชุมชนของคุณจะกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนความคิด ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และพัฒนาตนเอง ซึ่งจะทำให้ใช้บริการของคุณได้ดีขึ้น และยังสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและการทำงานเป็นทีมที่จะรักษาลูกค้าได้ในระยะยาว เมื่อลูกค้ารู้สึกเชื่อมโยงกัน ก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนบริการของคุณและรู้สึกว่าตนเองเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีส่วนในความสำเร็จของคุณ
ให้ข้อมูลอัปเดตเป็นประจํา
แนะนําฟีเจอร์ การปรับปรุง และการอัปเดตใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สดใหม่ เป็นประโยชน์ และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การทำผลิตภัณฑ์ของคุณให้ล้ำหน้าในด้านเทคโนโลยีและแนวโน้มของตลาดช่วยเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้าได้อย่างมาก และทําให้โอกาสที่ลูกค้าจะมองหาทางเลือกอื่นๆ มีน้อยลง ซึ่งคุณสามารถทำได้โดย
รับข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มตลาด: ติดตามแนวโน้มและความก้าวหน้าล่าสุดในอุตสาหกรรมของคุณ รับทราบว่าคู่แข่งกำลังทำอะไรและลูกค้าคาดหวังฟีเจอร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้าง การรับรู้นี้ช่วยให้ตัดสินใจว่าผลิตภัณฑ์ของคุณควรอัปเดตหรือใช้นวัตกรรมใดบ้างโดยมีข้อมูลอ้างอิง
ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา: ส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจทําได้โดยใช้แบบสํารวจความคิดเห็น การทดสอบฟีเจอร์ใหม่ๆ หรือจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาจากกลุ่มลูกค้า เมื่อลูกค้ารู้สึกมีสิทธิ์มีเสียงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและพึงพอใจมากขึ้น
รักษาสมดุลระหว่างฟีเจอร์และการใช้งาน: แม้ว่าการเพิ่มฟีเจอร์จะสําคัญแต่สิ่งที่สําคัญไม่แพ้กันก็คือการรักษาการใช้งานหลักและความเรียบง่ายของผลิตภัณฑ์ อย่าทำให้ผลิตภัณฑ์ซับซ้อนด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็น ทบทวนอินเทอร์เฟซและประสบการณ์ผู้ใช้เป็นประจําเพื่อให้แน่ใจว่าการอัปเดตช่วยปรับปรุงแทนที่จะเป็นการขัดขวางประสบการณ์ของผู้ใช้
การสื่อสารการอัปเดตอย่างมีประสิทธิภาพ: แจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับการอัปเดตต่างๆ และประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ ใช้อีเมล การแจ้งเตือนในแอป หรือบล็อกโพสต์เพื่อประกาศและอธิบายการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ การสื่อสารเกี่ยวกับการอัปเดตอย่างมีประสิทธิภาพแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าผลิตภัณฑ์มีการพัฒนาและทำให้รอคอยอย่างตื่นเต้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
การติดตามผลตอบรับหลังการอัปเดต: หลังจากทําการอัปเดตแล้ว ให้ตรวจสอบความคิดเห็นของลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อวัดผลกระทบที่เกิดขึ้น มองหาความเห็นเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ปัญหา หรือคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงต่อไป คําติชมดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงตามความจำเป็นและเพื่อวางแผนการอัปเดตเพิ่มเติม
ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการปรับปรุง: สร้างวัฒนธรรมบริษัทที่ให้ความสําคัญกับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและนวัตกรรม กระตุ้นให้ทีมของคุณคิดอย่างสร้างสรรค์และพยายามทําให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้นเสมอ ทัศนคติแบบนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณไม่หยุดอยู่กับที่ และจะยังคงตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าได้ต่อไป
การปรับปรุงบริการซอฟต์แวร์อยู่เสมอแสดงให้เห็ว่าคุณมุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณภาพและคุณค่าให้กับลูกค้า ทําให้บริการของคุณสดใหม่และน่าสนใจ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าพึงพอใจและภักดี และจะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างยาวนาน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมว่า Stripe Billing ช่วยคุณได้อย่างไร ให้ไปที่นี่
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ