14 key marketplace metrics: What they mean and how to turn them into actionable insights

Connect
Connect

แพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก รวมทั้ง Shopify และ DoorDash ต่างก็ใช้ Stripe Connect ในการผสานรวมการชำระเงินเข้ากับผลิตภัณฑ์

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. เหตุใดเมตริกจึงมีความสําคัญต่อมาร์เก็ตเพลส
  3. เมตริกหลักที่ต้องติดตามสำหรับมาร์เก็ตเพลส:
    1. มูลค่าสินค้าขั้นต้น (GMV)
    2. รายรับสุทธิ
    3. อัตราค่าธรรมเนียม
    4. ต้นทุนการหาลูกค้าใหม่ (CAC)
    5. มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLTV)
    6. ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่
    7. ต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ให้บริการหรือผู้ขาย
    8. อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงิน
    9. อัตราการเลิกใช้บริการ
    10. มูลค่าคําสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV)
    11. อัตราส่วนการซื้อซ้ํา
    12. คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการหรือผู้ขาย
    13. ระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรก
    14. ความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อ

เมตริกเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่สําคัญที่สุดของมาร์เก็ตเพลส โดยให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพ แนวโน้มการเติบโต และด้านที่ต้องปรับปรุง เมตริกให้ข้อมูลแบบละเอียดซึ่งธุรกิจจําเป็นต้องใช้สำหรับการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลเกี่ยวกับทุกด้าน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงด้านการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการตัดสินใจสําคัญเชิงกลยุทธ์ อันที่จริงแล้ว บริษัทที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนอย่างมีประสิทธิภาพสามารถทํากําไรได้ 6% สูงกว่าธุรกิจแห่งอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม เมตริกจำนวนมากอาจเป็นเรื่องที่ดูยุ่งยาก หากต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเมตริก เคล็ดลับคือการรู้ว่าเมตริกใดที่ควรติดตาม และทำความเข้าใจว่าเมตริกเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของคุณอย่างไร เราจะครอบคลุมเมตริก 14 รายการที่สำคัญที่สุดสำหรับมาร์เก็ตเพลส โดยเจาะลึกว่าเมตริกเหล่านี้หมายถึงอะไร เหตุใดจึงมีความสำคัญ และวิธีตีความเมตริกเหล่านี้เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่นำไปดำเนินการได้

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • เหตุใดเมตริกจึงมีความสําคัญต่อมาร์เก็ตเพลส
  • เมตริกหลักที่ต้องติดตามสำหรับมาร์เก็ตเพลส:
    • มูลค่าสินค้าขั้นต้น (GMV)
    • รายรับสุทธิ
    • อัตราค่าธรรมเนียม
    • ต้นทุนการหาลูกค้าใหม่ (CAC)
    • มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLTV)
    • ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่
    • ต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ให้บริการหรือผู้ขาย
    • อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงิน
    • อัตราการเลิกใช้บริการ
    • มูลค่าคําสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV)
    • อัตราส่วนการซื้อซ้ํา
    • คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการหรือผู้ขาย
    • ระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรก
    • ความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อ

เหตุใดเมตริกจึงมีความสําคัญต่อมาร์เก็ตเพลส

เมตริกทําหน้าที่เป็นเข็มทิศสําหรับธุรกิจมาร์เก็ตเพลส แนะนําการตัดสินใจ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการปรับการดําเนินงาน เมตริกเสนอวิธีการวัดผลการดำเนินงานที่วัดได้ ช่วยให้ธุรกิจสามารถประเมินความคืบหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ระบุจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาส และติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงหรือการริเริ่มต่างๆ

เมตริกมีความสําคัญเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

  • ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้า
    การทําความเข้าใจวิธีที่ลูกค้าโต้ตอบกับมาร์เก็ตเพลสของคุณเป็นสิ่งสําคัญในการยกระดับพประสบการณ์และเพิ่มอัตราการรักษาลูกค้า เมตริกสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการหาลูกค้าใหม่ พฤติกรรม อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงิน และการเลิกใช้บริการ/ซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยให้คุณปรับแต่งกลยุทธ์การตลาดและการเสนอผลิตภัณฑ์ได้

  • ประเมินประสิทธิภาพทางการเงิน
    เมตริกทางการเงิน เช่น มูลค่าสินค้าขั้นต้น (GMV), รายรับสุทธิ และมูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLTV) คือตัวชี้วัดประสิทธิภาพทางการเงินของมาร์เก็ตเพลสอย่างเป็นกลาง โดยเมตริกเหล่านี้จะช่วยในการคาดการณ์รายรับ การจัดทํางบประมาณ และการตัดสินใจลงทุนได้

  • ช่วยประเมินประสิทธิภาพการดําเนินงาน
    เมตริกต่างๆ เช่น ความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อและต้นทุนการหาผู้ให้บริการหรือผู้ขาย จะช่วยธุรกิจในการวัดประสิทธิภาพการดําเนินงาน การระบุปัญหาติดขัดหรือความไร้ประสิทธิภาพอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและเพิ่มผลกําไร

  • ช่วยสร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประสิทธิภาพ
    ธุรกิจสามารถกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประสิทธิภาพ ระบุแนวโน้ม และเปรียบเทียบกับมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือคู่แข่งได้โดยการติดตามข้อมูลเมตริกในแต่ละช่วงเวลา

  • มอบความช่วยเหลือในการจัดการผู้ให้บริการ
    สําหรับมาร์เก็ตเพลส การจัดการความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการมีความสําคัญเท่ากับการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า เมตริกที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของผู้ให้บริการ การเลิกใช้บริการ และประสิทธิภาพของกระบวนการเริ่มต้นใช้งานของผู้ให้บริการสามารถช่วยสร้างและรักษาฐานผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพและพึงพอใจ

เมตริกจะแปลงข้อมูลดิบให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถดำเนินการได้ ช่วยให้ธุรกิจตลาดมีช่องทางในการใช้ความรู้เพื่อเติบโต ปรับตัว และประสบความสำเร็จในโลกอีคอมเมิร์ซที่มีการแข่งขันสูง

เมตริกหลักที่ต้องติดตามสำหรับมาร์เก็ตเพลส:

การทำความเข้าใจว่าเมตริกต่างๆ มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ตลอดการเติบโตและวิวัฒนาการนั้นเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น สิ่งที่สําคัญกว่าคือการตัดสินใจเลือกว่าจะดูเมตริกใด คุณสามารถตรวจสอบค่าเมตริกต่างๆ ได้ แต่หากค่าเหล่านั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้สังเคราะห์อย่างถูกต้อง คุณก็อาจเสี่ยงต่อการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือสูญเสียภาพรวม

ต่อไปนี้คือ 14 เมตริกของมาร์เก็ตเพลสที่จะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลเชิงลึกที่นําไปปฏิบัติได้มากที่สุดในส่วนที่สําคัญต่อภารกิจของธุรกิจ

มูลค่าสินค้าขั้นต้น (GMV)

มูลค่าสินค้าขั้นต้น (GMV) ซึ่งมักเป็นหนึ่งในเมตริกที่สําคัญที่สุดสําหรับธุรกิจมาร์เก็ตเพลส หมายถึงมูลค่ารวมของสินค้าหรือบริการทั้งหมดที่ขายผ่านมาร์เก็ตเพลสในช่วงเวลาที่กําหนด ตัวเลขนี้คํานวณก่อนที่จะหักค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย ทําให้เป็นตัวเลขขั้นต้นที่สรุปธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม

GMV มีความสําคัญเป็นพิเศษเนื่องจากเหตุผลสําคัญๆ หลายประการดังต่อไปนี้

  • วัดขนาดและการเติบโต
    GMV แสดงให้เห็นถึงปริมาณการขายทั้งหมดอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการวัดขนาดตลาดและอัตราการเติบโตของธุรกิจโดยตรง เมื่อติดตาม GMV ธุรกิจจะประเมินได้ว่ามาร์เก็ตเพลสของตนกําลังขยายตัว คงที่ หรือหดตัวลงเมื่อเวลาผ่านไป

  • ตัวบ่งชี้ความต้องการ
    GMV สูงหมายถึงความต้องการของลูกค้าที่สูง หากผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการจํานวนมาก ก็หมายความว่ามาร์เก็ตเพลสเสนอสิ่งที่มีคุณค่าให้พวกเขา

  • โอกาสในการสร้างรายรับ
    แม้ว่า GMV จะไม่รวมต้นทุนและไม่สะท้อนรายได้ที่แท้จริงของมาร์เก็ตเพลส แต่ก็บ่งชี้ถึงศักยภาพในการสร้างรายรับ รายรับของมาร์เก็ตเพลส ซึ่งมักมาจากค่าธรรมเนียมธุรกรรมหรือคอมมิชชั่นนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับ GMV ของมาร์เก็ตเพลส

  • ความสนใจของนักลงทุน
    สําหรับนักลงทุน GMV ทําหน้าที่เป็นเมตริกหลักที่ระบุศักยภาพของมาร์เก็ตเพลสในการสร้างผลกําไรและความน่าสนใจโดยรวมในการลงทุน

แม้ว่า GMV เป็นเมตริกที่สําคัญ แต่ก็ควรพิจารณาร่วมกับเมตริกอื่นๆ เช่น รายรับสุทธิ อัตราค่าธรรมเนียม และมูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า ตัวอย่างเช่น GMV ที่สูง แต่รายรับสุทธิที่ต่ำอาจบ่งชี้ถึงปัญหาในการบริหารต้นทุนหรือการกำหนดราคา ดังนั้น ไม่ควรตรวจสอบ GMV แบบแยกส่วน แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการวิเคราะห์ที่กว้างขึ้น

รายรับสุทธิ

รายรับสุทธิหมายถึงรายรับรวมที่มาร์เก็ตเพลสสร้างขึ้นหลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกรรม ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจรวมการคืนเงิน การประมวลผลการชําระเงิน ค่าธรรมเนียม ส่วนลด การคืนสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รายได้สุทธิจะบอกคุณถึงจำนวน “สุทธิ” ที่มาร์เก็ตเพลสของคุณได้รับจากการดำเนินงาน

ต่อไปนี้คือเหตุผลบางประการที่ทําให้รายรับสุทธิมีความสําคัญต่อมาร์เก็ตเพลส

  • แสดงถึงผลกําไรจริง
    รายได้สุทธิจะแสดงภาพรายได้ของมาร์เก็ตเพลสได้อย่างแม่นยำ ซึ่งต่างจาก GMV ซึ่งแสดงถึงมูลค่ารวมของธุรกรรมโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน นี่เป็นสิ่งสําคัญสําหรับการทําความเข้าใจสถานะทางการเงินของธุรกิจ

  • แสดงถึงความสามารถในการทํากําไร
    เมื่อเปรียบเทียบรายรับสุทธิกับค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานทั้งหมด มาร์เก็ตเพลสก็จะกําหนดความสามารถในการทํากําไรได้ หากรายรับสุทธิเกินค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน แสดงว่ามาร์เก็ตเพลสสามารถทํากําไร

  • แนวทางในการจัดการราคาและต้นทุน
    การติดตามรายได้สุทธิจะช่วยให้มาร์เก็ตเพลสเข้าใจว่าโมเดลค่าบริการของตนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือควรต้องปรับค่าธรรมเนียม ส่วนลด หรือกลยุทธ์การจัดการต้นทุน

  • ช่วยในการวางแผนทางการเงิน
    รายรับสุทธิเป็นข้อมูลสําคัญสําหรับการคาดการณ์และวางแผนทางการเงิน การทราบรายได้สุทธิช่วยในการกําหนดงบประมาณการตัดสินใจลงทุน พร้อมทั้งวัดความสําเร็จทางการเงินของธุรกิจ

  • ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
    นักลงทุนมีความสนใจอย่างมากในรายรับสุทธิของบริษัท เนื่องจากช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างผลกำไรของธุรกิจ

อัตราค่าธรรมเนียม

อัตราค่าธรรมเนียม ในบริบทของมาร์เก็ตเพลสคือเปอร์เซ็นต์ของ GMV ที่มาร์เก็ตเพลสเก็บเป็นรายรับ โดยเป็นค่าคอมมิชชั่นที่มาร์เก็ตเพลสเรียกเก็บจากธุรกรรมที่สร้างบนแพลตฟอร์ม

สําหรับธุรกิจบนมาร์เก็ตเพลส การทําความเข้าใจอัตราค่าธรรมเนียมของคุณเป็นสิ่งสําคัญเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

  • การประเมินโมเดลรายรับ
    อัตราค่าธรรมเนียมคือภาพสะท้อนประสิทธิภาพของโมเดลรายรับโดยตรง อัตราค่าธรรมเนียมที่สูงอาจบ่งชี้ถึงข้อเสนอที่มีคุณค่าที่แข็งแกร่งสำหรับผู้ขายของคุณ ในขณะที่อัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำอาจหมายความว่ามีช่องว่างสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพรูปแบบรายได้ของคุณ

  • กลยุทธ์ด้านราคา
    อัตราค่าธรรมเนียมอาจช่วยคุณประเมินกลยุทธ์ด้านราคา หากคุณมอบคุณค่าแก่ผู้ให้บริการอย่างเพียงพอ คุณอาจเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมได้ ซึ่งจะนําไปสู่รายรับที่สูงขึ้น ในทางกลับกั หากอัตราค่าธรรมเนียมของคุณสูงเกินไปอาจทำให้ผู้ขายที่มีศักยภาพท้อถอย และส่งผลกระทบต่ออุปทานในมาร์เก็ตเพลสของคุณ

  • การกําหนดจุดยืนในการแข่งขัน
    การเปรียบเทียบอัตราค่าธรรมเนียมกับมาร์เก็ตเพลสแห่งอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันจะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตําแหน่งของคุณในการแข่งขัน หากอัตราค่าธรรมเนียมของคุณสูงกว่าหรือต่ํากว่าคู่แข่งอย่างมาก คุณอาจต้องปรับเพิ่มค่าบริการหรือคุณค่าที่คุณมอบให้

  • การดึงดูดนักลงทุน
    อัตราค่าธรรมเนียมสูงอาจทําให้มาร์เก็ตเพลสของคุณน่าสนใจยิ่งขึ้นสําหรับนักลงทุน เพราะบ่งชี้ถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งในการสร้างรายรับ

การทําความเข้าใจอัตราค่าธรรมเนียมไม่ใช่แค่การสร้างความมั่นใจว่าคุณจะมีรายรับเพียงพอเพื่อรักษาและขยายมาร์เก็ตเพลสของคุณให้เติบโต นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการรายรับกับการมอบคุณค่าให้กับผู้ให้บริการของคุณและการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด เมตริกนี้ยังเชื่อมต่อโดยตรงกับคุณค่าที่แพลตฟอร์มของคุณนำเสนออีกด้วย การเสนอฟีเจอร์ บริการ หรือการเข้าถึงตลาดที่เหนือกว่าจะช่วยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สูงขึ้นได้ แต่สิ่งสําคัญคือการสร้างความพึงพอใจให้ผู้ให้บริการของคุณ

ต้นทุนการหาลูกค้าใหม่ (CAC)

ต้นทุนการหาลูกค้าใหม่ (CAC) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการ ในขอบเขตของมาร์เก็ตเพลส นี่คือค่าใช้จ่ายรวมของการดําเนินการด้านการตลาดและการขาย หารด้วยจํานวนลูกค้าใหม่ในช่วงที่กําหนด

CAC มีความสําคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสาเหตุหลายประการดังต่อไปนี้

  • ผลตอบแทนจากการลงทุน
    CAC เป็นตัวชี้วัดผลตอบแทนจากการลงทุนด้านการตลาดและการขายของคุณ CAC ที่สูงอาจบ่งชี้ว่าคุณใช้จ่ายเป็นจํานวนมากในการหาลูกค้าแต่ละราย ซึ่งอาจจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะในกรณีที่มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLTV) ไม่สมเหตุสมผลกับค่าใช้จ่าย

  • การจัดทำงบประมาณและการวางแผน
    การทําความเข้าใจ CAC มีความสําคัญสําหรับการจัดงบประมาณและการคาดการณ์ เนื่องจากช่วยให้คุณทราบว่าต้องลงทุนมากแค่ไหนเพื่อดึงดูดลูกค้าจํานวนหนึ่ง จึงช่วยให้คุณจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • กลยุทธ์ด้านราคา
    CAC สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านราคาของคุณได้ หาก CAC อยู่ในระดับสูง คุณอาจต้องเพิ่มราคาหรือหาวิธีลดต้นทุนเพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่

  • การทําความเข้าใจประสิทธิภาพด้านการตลาด
    หาก CAC ของคุณเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจบ่งชี้ว่ากลยุทธ์การตลาดของคุณกําลังจะมีประสิทธิภาพน้อยลงหรือการแข่งขันเพื่อหาลูกค้ากําลังเพิ่มขึ้น

โปรดทราบว่าการลด CAC ไม่ควรส่งผลต่อคุณภาพของลูกค้าที่ได้มา แม้ว่าการลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดเพื่อลด CAC อาจเป็นสิ่งที่น่าดึงดูด แต่การดึงดูดลูกค้าที่ใช่ ซึ่งพบคุณค่าที่แท้จริงในมาร์เก็ตเพลสของคุณ และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ใช้ระยะยาวก็มีความสำคัญพอๆ กัน (หรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ) ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างมาร์เก็ตเพลสและขั้นตอนการเติบโตเฉพาะเจาะจงของคุณ

มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLTV)

มูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (CLTV) คือกําไรสุทธิทั้งหมดที่บริษัทคาดว่าจะได้รับจากลูกค้าตลอดความสัมพันธ์ โดยไม่ได้คำนึงแต่รายรับเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นและระยะเวลาของความสัมพันธ์ด้วย โดยให้ข้อมูลวัดผลแบบองค์รวมเกี่ยวกับสิ่งที่มาร์เก็ตเพลสได้รับจากลูกค้า

ต่อไปนี้คือสาเหตุหลายประการที่ทําให้ CLTV เป็นสิ่งสําคัญสําหรับธุรกิจมาร์เก็ตเพลส

  • การรักษาลูกค้า
    CLTV ที่สูงแสดงว่าลูกค้าใช้บริการนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งมักหมายความว่าพวกเขาพอใจกับมาร์เก็ตเพลส เมตริกนี้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการรักษาลูกค้าและความภักดีของลูกค้าได้

  • การคาดการณ์รายรับ
    CLTV มีประโยชน์ในการคาดการณ์ทางการเงิน การทราบมูลค่าตลอดอายุการใช้งานเฉลี่ยของลูกค้าจะช่วยให้คุณทราบถึงรายรับในอนาคตที่ลูกค้าใหม่จะสร้างขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตและการวางแผนการลงทุน

  • กลยุทธ์การตลาด
    CLTV จะช่วยแนะนําแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดของคุณ หากมูลค่าของลูกค้าสูง การใช้จ่ายมากขึ้นในการหาลูกค้าใหม่ก็อาจเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ เมตริกนี้ยังอาจส่งผลต่อจํานวนเงินที่คุณยินดีจ่ายสําหรับการรักษาลูกค้าไว้ด้วย

  • ความสามารถในการทํากําไร
    ยิ่ง CLTV สูงเท่าไร ลูกค้าก็จะยิ่งสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจของคุณมากขึ้นตลอดช่วงอายุการใช้งานของพวกเขา

กุญแจสําคัญในการปรับปรุง CLTV มักอยู่ที่การยกระดับประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของลูกค้า ตัวอย่างเช่น การลงทุนในการออกแบบอินเทอร์เฟซผู้ใช้ การสนับสนุนลูกค้า การปรับแต่งหรือสิ่งใดก็ตามที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้า โดยทั่วไปแล้ว CLTV ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าความพยายามของคุณในการปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้านั้นได้ผล ทําให้มาร์เก็ตเพลสมีสถานะที่ดีและยั่งยืนมากขึ้น

ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่

ในบริบทของมาร์เก็ตเพลส ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่คือผู้ที่มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มของคุณภายในกรอบเวลาที่กําหนด เช่น หนึ่งวัน (ผู้ใช้งานรายวัน หรือ DAU), หนึ่งเดือน (ผู้ใช้ที่ใช้งานรายเดือน หรือ MAU) หรือหนึ่งปี การมีส่วนร่วมอาจเกี่ยวข้องกับการดําเนินการต่างๆ เช่น การเรียกดูรายการ ทําการซื้อ หรือโต้ตอบกับผู้ใช้รายอื่น

ต่อไปนี้คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่เป็นเมตริกที่สําคัญ

  • การมีส่วนร่วมของผู้ใช้
    จํานวนผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่คือภาพสะท้อนถึงความสามารถของมาร์เก็ตเพลสในการดึงดูดผู้ใช้อย่างชัดเจน หากจํานวนผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่เพิ่มขึ้นอาจหมายความว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณยังคงรักษาผู้ใช้ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ความสามารถในการอยู่รอดของมาร์เก็ตเพลส
    การมีผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่จํานวนมากจะบ่งชี้ถึงการเป็นแพลตฟอร์มแบบไดนามิกที่มีการทำธุรกรรมบ่อยครั้ง ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ใช้และผู้ให้บริการได้มากขึ้น

  • การคาดการณ์รายรับ
    ยิ่งคุณมีผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่มากขึ้นเท่าใด ธุรกรรมใหม่ก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีรายรับเพิ่มขึ้น

  • กลยุทธ์การหาผู้ใช้ใหม่
    การติดตามตรวจสอบจํานวนผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่ในเชิงรุกสามารถช่วยให้คุณเข้าใจประสิทธิภาพในการหาลูกค้าใหม่ได้ การเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันอาจบ่งชี้ว่าแคมเปญประสบความสําเร็จ ในขณะที่การลดลงก็อาจหมายความว่าถึงเวลาต้องประเมินกลยุทธ์ของคุณอีกครั้ง

การทำความเข้าใจจำนวนผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่ของคุณหมายถึงการมองไปไกลกว่าแค่ตัวเลขและดูว่ามาร์เก็ตเพลสของคุณมีประสิทธิภาพเพียงใด เมื่อผู้ใช้มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มของคุณอย่างแข็งขัน พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตและความยั่งยืนของมาร์เก็ตเพลส หากจำนวนผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่ของคุณต่ำกว่าที่ต้องการ ก็อาจถึงเวลาต้องตรวจสอบเพิ่มเติม รวมทั้งระบุปัญหาและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นในประสบการณ์ผู้ใช้หรือกลยุทธ์การซื้อของคุณ

ต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ให้บริการหรือผู้ขาย

ต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ให้บริการหรือผู้ขายคือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวให้ผู้ให้บริการหรือผู้ขายมาเข้าร่วมมาร์เก็ตเพลส โดยจะเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายรวมสำหรับความพยายามทางการตลาดและการขายหารด้วยจำนวนผู้ให้บริการหรือผู้ขายที่ได้มาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทําไมต้นทุนการได้มาซึ่งผู้ให้บริการหรือผู้ขายจึงเป็นเมตริกที่สําคัญ

  • วางแผนทางการเงิน
    การทราบต้นทุนการหาผู้ให้บริการของคุณอาจช่วยมอบข้อมูลสำหรับการวางแผนงบประมาณและการวางแผนทางการเงินของคุณได้ โดยจะช่วยให้คุณทราบว่าต้องใช้จ่ายเท่าใดเพื่อเพิ่มอุปทานในมาร์เก็ตเพลส

  • การประเมินคุณค่าที่นำเสนอ
    หากต้นทุนการหาผู้ให้บริการของคุณสูง ก็อาจบ่งชี้ว่าคุณค่าที่นำเสนอของคุณไม่น่าสนใจพอ หรือคุณไม่ได้สื่อสารกับผู้ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ

  • สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
    การทําความเข้าใจเมตริกนี้จะช่วยคุณรักษาสมดุลระหว่างอุปทาน (ผู้ขาย) และอุปสงค์ (ผู้ซื้อ) หากหาผู้ให้บริการได้ในอัตราที่เกินความต้องการ คุณอาจมีสินค้าส่วนเกิน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่อยากอยู่ในมาร์เก็ตเพลสนั้นอีกต่อไป

  • กลยุทธ์ด้านราคา
    ต้นทุนการหาลูกค้าใหม่ของผู้ให้บริการอาจส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ด้านราคาของคุณเช่นกัน ต้นทุนการหาผู้ให้บริการที่สูงอาจหมายความว่าคุณจําเป็นต้องปรับอัตราค่าคอมมิชชันหรือค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ขายเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้

การติดตามตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการหาผู้ให้บริการไม่ใช่แค่การติดตามดูค่าใช้จ่ายของคุณเท่านั้น แต่เป็นการทําความเข้าใจคุณค่าที่คุณมอบให้แก่ผู้ให้บริการ และผลกระทบต่อไดนามิกของมาร์เก็ตเพลสโดยรวม การหาผู้ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถช่วยให้คุณรักษาฝั่งอุปทานที่แข็งแกร่งและทำให้แน่ใจได้ว่ามาร์เก็ตเพลสของคุณยังคงน่าดึงดูดสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุลและประสบความสำเร็จ

อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงิน

อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินในบริบทของมาร์เก็ตเพลสหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ซึ่งดําเนินการที่ต้องการ เช่น การซื้อ ลงทะเบียนใช้บริการ หรือสร้างรายการ โดยปกติแล้ว ระบบจะคํานวณโดยการหารจํานวนการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินด้วยจํานวนผู้เข้าชมทั้งหมด จากนั้นคูณด้วย 100 เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์

ต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทําไมข้อมูลนี้จึงเป็นเมตริกที่สําคัญ

  • วัดประสิทธิภาพ
    อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินถือเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพว่ามาร์เก็ตเพลสของคุณกระตุ้นให้ผู้ใช้ดําเนินการตามที่ต้องการได้ดีเพียงใด หากอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินของคุณสูง ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณค่าที่คุณนำเสนอ อินเทอร์เฟซผู้ใช้ และประสบการณ์ของผู้ใช้โดยรวมนั้นดึงดูดผู้ใช้ของคุณ

  • ผลการดําเนินงานของธุรกิจ
    อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินที่สูงอาจส่งผลต่อผลการดําเนินงานของธุรกิจโดยตรง และโดยปกติแล้วจะทำให้มีธุรกรรมจํานวนมากขึ้น ซึ่งอาจนําไปสู่การเพิ่มรายรับ

  • การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาด
    การทําความเข้าใจอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินจะช่วยเพิ่มกลยุทธ์การตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากแคมเปญการตลาดบางรายการส่งผลให้อัตราการเปลี่ยนเป็นลูกค้าสูงขึ้น การจำลองหรือขยายกลยุทธ์เหล่านี้ก็อาจเป็นประโยชน์

  • ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ใช้
    อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินที่ต่ําอาจบ่งชี้ถึงปัญหาขัดข้องในเส้นทางของผู้ใช้ ซึ่งส่งผลไม่ให้ผู้ใช้เปลี่ยนมาเป็นผู้ใช้แบบชําระเงิน การระบุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อาจทําให้ประสบการณ์ของผู้ใช้ดีขึ้นและอาจส่งผลให้อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินเพิ่มขึ้น

อัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินคือช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับมาร์เก็ตเพลสของคุณ รวมถึงปฏิกิริยาของพวกเขาที่มีต่อสิ่งที่คุณมอบให้ การศึกษาสัญญาณพฤติกรรมเหล่านี้สามารถนำไปสู่การปรับปรุงอันมีค่าที่จะช่วยยกระดับความน่าดึงดูดและการทำงานของมาร์เก็ตเพลสได้ การปรับเปลี่ยนที่เน้นผู้ใช้ ซึ่งได้รับข้อมูลจากอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชำระเงินอาจช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้มาร์เก็ตเพลสของคุณ ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ดีขึ้น และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการเติบโต

อัตราการเลิกใช้บริการ

อัตราการเลิกใช้บริการ ซึ่งมักเรียกว่าอัตราการลาออก จะวัดจํานวนผู้ใช้ ลูกค้า หรือผู้ให้บริการที่ออกจากมาร์เก็ตเพลสของคุณในช่วงเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปจะแสดงเป็นเปอร์เซ็นต์ และจะช่วยให้เข้าใจอัตราที่มาร์เก็ตเพลสของคุณสูญเสียผู้เข้าร่วม

ต่อไปนี้คือเหตุผลที่ทำอัตราการเลิกใช้บริการเป็นเมตริกสำคัญ

  • การรักษาผู้ใช้
    อัตราการเลิกใช้บริการสูงแสดงถึงปัญหาในการรักษาผู้ใช้ หากผู้ใช้ออกจากมาร์เก็ตเพลสของคุณในอัตราที่สูง ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าบางสิ่งเกี่ยวกับธุรกิจของคุณไม่เป็นไปตามความคาดหวังของพวกเขา

  • นัยทางการเงิน
    การสูญเสียผู้ใช้ โดยเฉพาะลูกค้าหรือผู้ให้บริการที่สร้างรายรับ สามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางการเงินของคุณได้โดยตรง การลดอัตราการเลิกใช้บริการจะช่วยควบคุมและเพิ่มรายรับของคุณได้

  • การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการ
    อัตราการเลิกใช้บริการอาจช่วยคุณระบุพื้นที่ของบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องปรับปรุง ซึ่งอาจมีตั้งแต่ปัญหาด้านประสบการณ์ของผู้ใช้ การขาดการสนับสนุนลูกค้า ไปจนถึงการจัดการผู้ให้บริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

  • ความเหมาะสมกับตลาด
    อัตราการเลิกใช้บริการอาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ หากอัตราการเลิกใช้บริการอยู่ในระดับสูง อาจหมายความว่ามาร์เก็ตเพลสของคุณไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหรือตอบสนองความต้องการในตลาด

การทําความเข้าใจอัตราการเลิกใช้บริการของคุณเป็นขั้นตอนแรกในการปรับปรุงความยั่งยืนของความสัมพันธ์กับผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม เมตริกเป็นมากกว่าการรักษาลูกค้าไว้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการได้รับภาพรวมทั้งหมดของการเส้นทางของผู้ใช้ ความต้องการของพวกเขา และประสบการณ์ของผู้ใช้โดยรวมอีกด้วย การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์อัตราการเลิกใช้บริการช่วยให้คุณสามารถนำกลยุทธ์มาใช้ ทั้งเพื่อการรักษาผู้ใช้ไว้และเพื่อเพิ่มมูลค่าที่พวกเขาได้รับจากมาร์เก็ตเพลสของคุณอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมมากขึ้น มีความภักดีมากขึ้น และนำไปสู่ระบบนิเวศของมาร์เก็ตเพลสที่คึกคักมากขึ้น

มูลค่าคําสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV)

มูลค่าคําสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV) คือเมตริกที่คํานวณยอดรวมเฉลี่ยของคําสั่งซื้อทุกรายการที่สั่งซื้อกับมาร์เก็ตเพลสในช่วงเวลาที่กําหนด โดยคํานวณด้วยการหารรายรับทั้งหมดด้วยจํานวนคําสั่งซื้อ ข้อมูลนี้เป็นตัวชี้วัดว่าโดยเฉลี่ยแล้วลูกค้าใช้จ่ายเท่าไรในแต่ละครั้งที่พวกเขาทำการสั่งซื้อ

ต่อไปนี้คือเหตุผลที่ AOV เป็นเมตริกที่สําคัญ

  • ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรายรับ
    AOV จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อและรูปแบบการซื้อของลูกค้า โดยสามารถแสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีแนวโน้มที่จะซื้อในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้นหรือซื้อในปริมาณมากและน้อยครั้งลง

  • ประสิทธิภาพด้านการตลาด
    เมตริกนี้สามารถระบุถึงประสิทธิภาพของการดําเนินการทางการตลาดได้ ตัวอย่างเช่น หาก AOV เพิ่มขึ้นหลังจากแคมเปญส่งเสริมการขาย ก็อาจบ่งบอกว่าแคมเปญประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ลูกค้าเพิ่มสินค้าหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นลงในคำสั่งซื้อของพวกเขา

  • กลยุทธ์ด้านราคา
    AOV สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านราคาของคุณได้ หาก AOV ต่ำ คุณอาจทดลองเพิ่มราคาหรือใช้กลยุทธ์การขายต่อยอดหรือการขายแบบต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น (หรือสินค้าที่มีราคาแพงกว่า)

  • การแบ่งกลุ่มลูกค้า
    AOV มีประโยชน์สําหรับการแบ่งกลุ่มลูกค้า กลุ่มลูกค้าต่างๆ อาจมี AOV แตกต่างกันไป ซึ่งอาจส่งผลต่อวิธีที่คุณทําการตลาดกับเป้าหมายกลุ่มต่างๆ เหล่านี้

การวิเคราะห์ AOV สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ซื้อ ซึ่งอาจเป็นรากฐานสําหรับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการปรับปรุงราคา การตลาด และประสบการณ์ของลูกค้า การรับรู้ถึงแนวโน้มและดำเนินการตามข้อมูล AOV สามารถนำไปสู่แผนริเริ่มที่ส่งเสริมการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยเพิ่มรายได้โดยรวมและปรับปรุงสุขภาพและผลกำไรของมาร์เก็ตเพลสในระยะยาว

อัตราส่วนการซื้อซ้ํา

อัตราส่วนการซื้อซ้ําคือเมตริกที่เปรียบเทียบจํานวนลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ํากับจํานวนลูกค้าในรอบระยะเวลาหนึ่งๆ โดยจะแสดงให้เห็นว่ามีลูกค้าจำนวนเท่าไรที่ซื้อสินค้ามากกว่าหนึ่งครั้งภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงความภักดีและความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างชัดเจน

ต่อไปนี้คือเหตุผลที่เมตริกนี้มีความสําคัญ

  • ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโปรแกรมสร้างความภักดีของลูกค้า
    อัตราส่วนนี้ช่วยมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความภักดีของลูกค้าโดยตรง เพื่อช่วยให้คุณทราบว่ามาร์เก็ตเพลสของคุณทําให้ลูกค้ามีส่วนร่วมและกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ําหรือไม่

  • ศักยภาพในการสร้างรายรับในระยะยาว
    ปกติแล้ว ลูกค้าที่กลับมาซ้ํามักจะใช้จ่ายมากกว่าลูกค้าที่ซื้อเป็นครั้งแรก และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการหาลูกค้าใหม่ อัตราการซื้อซ้ำที่สูงขึ้นมักบ่งชี้ถึงกระแสรายได้ที่ยั่งยืนมากขึ้น

  • การตรวจสอบยืนยันผลิตภัณฑ์หรือบริการ
    อัตราการซื้อซ้ำที่สูงแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอในมาร์เก็ตเพลสของคุณตรงตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำและซื้อสินค้าเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

  • ประสิทธิภาพของกลยุทธ์การรักษาลูกค้า
    การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในอัตราการซื้อซ้ำสามารถสะท้อนถึงกลยุทธ์การรักษาลูกค้าที่ประสบความสำเร็จ เช่น โปรแกรมความภักดีหรือแคมเปญทางการตลาดแบบเฉพาะบุคคล

การตรวจสอบอัตราการซื้อซ้ำนั้นไม่เพียงช่วยให้คุณติดตามการกลับมาใช้บริการของลูกค้าเก่าได้เท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับความภักดีของลูกค้า ประสิทธิภาพของข้อเสนอของคุณ และความสำเร็จของกลยุทธ์การรักษาลูกค้าของคุณอีกด้วย การใช้ตัวชี้วัดนี้เป็นแนวทางจะช่วยให้คุณสามารถกำหนดลำดับความสำคัญของความพยายามในการเพิ่มการรักษาลูกค้า เสริมสร้างตำแหน่งในมาร์เก็ตเพลสของคุณ และขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืน

คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการหรือผู้ขาย

คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการหรือผู้ขาย มักวัดผ่านแบบสำรวจหรือแบบฟอร์มข้อเสนอแนะ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงระดับความพึงพอใจของผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่ใช้มาร์เก็ตเพลสของคุณ เป็นตัวบ่งชี้โดยตรงถึงความสุขและความพึงพอใจของผู้บริการที่มีต่อบริการที่คุณมอบให้

ต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทําไมเมตริกนี้จึงมีความสําคัญ

  • การรักษาผู้ให้บริการ
    คะแนนความพึงพอใจสูงบ่งชี้ว่าผู้ให้บริการของคุณมีความสุข ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญสําหรับการรักษาพวกเขา ผู้ให้บริการที่พึงพอใจจะมีโอกาสน้อยลงที่จะย้ายธุรกิจของตนไปที่อื่น ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สม่ำเสมอในมาร์เก็ตเพลสของคุณ

  • การมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการ
    คะแนนความพึงพอใจอาจสะท้อนถึงระดับการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการที่มีส่วนร่วมมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมในมาร์เก็ตเพลสของคุณอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แพลตฟอร์มคึกคัก

  • การควบคุมคุณภาพ
    คะแนนความพึงพอใจอาจส่งผลทางอ้อมต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการบนแพลตฟอร์มของคุณ ผู้ให้บริการที่พอใจกับมาร์เก็ตเพลสของคุณ มีแนวโน้มที่จะรักษามาตรฐานสูงสําหรับสินค้าหรือบริการที่พวกเขานำเสนอ

  • การแนะนำต่อ
    คะแนนความพึงพอใจที่สูงสามารถนำไปสู่การแนะนำต่อที่มากขึ้น และช่วยให้คุณขยายมาร์เก็ตเพลสได้ตามธรรมชาติ

ด้วยการติดตามคะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการอย่างใกล้ชิดและดำเนินการตามข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับ คุณจะสามารถสร้างมาร์เก็ตเพลสที่มีความแข็งแกร่งและมีพลวัตมากขึ้นได้ การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับผู้ให้บริการ รวมทั้งดึงดูดและรักษาผู้ขายที่มีคุณภาพ ทำให้มาร์เก็ตเพลสของคุณเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า

ระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรก

ระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรกคือเมตริกที่คํานวณระยะเวลาซึ่งลูกค้าที่เข้าชมมาร์เก็ตเพลสของคุณเป็นครั้งแรกทำการซื้อครั้งแรก นี่เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในเส้นทางของลูกค้าและประสิทธิภาพของกระบวนการขาย

ต่อไปนี้คือเหตุผลที่เมตริกนี้มีความสำคัญ

  • ประสิทธิภาพในกระบวนการขาย
    ระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรกที่สั้นลงบ่งชี้ว่ากระบวนการขายมีประสิทธิภาพสูง เมตริกนี้แสดงให้เห็นว่าการออกแบบ การนำทาง และเนื้อหาของตลาดสามารถแนะนำลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อได้อย่างทันท่วงที

  • ประสบการณ์ของผู้ใช้
    หากระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรกกินเวลานาน อาจบ่งชี้ว่ามีจุดติดขัดในเส้นทางของลูกค้า ซึ่งอาจรวมถึงกระบวนการชําระเงินที่ยุ่งยาก ข้อมูลผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอ หรือการไม่มีองค์ประกอบด้านการสร้างความเชื่อมั่น เช่น การตรวจสอบหรือตัวบ่งชี้การชําระเงินที่ปลอดภัย

  • กลยุทธ์การหาลูกค้าใหม่
    เมตริกนี้สามารถเผยให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์การหาลูกค้าใหม่ได้ หากแคมเปญดึงดูดการเข้าชมได้มากแต่ใช้เวลานานกว่าจะทำการซื้อครั้งแรก ข้อความทางการตลาดอาจไม่สอดคล้องกับประสบการณ์ในมาร์เก็ตเพลส

  • ประสิทธิภาพในการปรับแต่งตามบุคคล
    หากมาร์เก็ตเพลสของคุณใช้การแนะนำ การค้นหา หรือบริการลูกค้าที่ปรับตามบุคคล การใช้เวลาน้อยลงในการซื้อครั้งแรกอาจบ่งชี้ว่ากลยุทธ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงใดในการเร่งกระบวนการตัดสินใจ

การตีความระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรกไม่ได้หมายความถึงการวัดเวลาที่ลูกค้าใช้ในการซื้อครั้งแรกเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการทําความเข้าใจประสิทธิภาพในเส้นทางของลูกค้า การระบุส่วนที่มีความยุ่งยาก และการตระหนักถึงโอกาสในการปรับปรุง เมื่อลดระยะเวลาที่ทำการซื้อครั้งแรก คุณไม่เพียงแต่จะปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าได้เท่านั้น แต่ยังเพิ่มอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชำระเงินและเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของมาร์เก็ตเพลสของคุณอีกด้วย

ความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อ

ความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อหมายถึงระยะเวลาที่ลูกค้าจะได้รับผลิตภัณฑ์หรือบริการหลังจากที่สั่งซื้อบนมาร์เก็ตเพลสของคุณ เมตริกนี้อาจส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้าและชื่อเสียงของมาร์เก็ตเพลสของคุณเป็นอย่างมาก

ต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทําไมเมตริกนี้จึงมีความสําคัญ

  • ความพึงพอใจของลูกค้า
    การดําเนินการตามคําสั่งซื้อที่รวดเร็วทําให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น เมื่อการได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วกลายเป็นเรื่องปกติ ความล่าช้าในการจัดส่งอาจนำไปสู่ความไม่พอใจและการสูญเสียลูกค้าได้

  • ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
    มาร์เก็ตเพลสที่ดําเนินการตามคําสั่งซื้ออย่างรวดเร็วอาจโดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูง การดําเนินการตามคําสั่งซื้อไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดสําหรับลูกค้า เมื่อเลือกระหว่างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คล้ายกันบนแพลตฟอร์มต่างๆ

  • ประสิทธิภาพของผู้ให้บริการ
    คุณยังสามารถใช้ความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อเพื่อประเมินประสิทธิภาพของผู้ให้บริการได้ด้วย หากผู้ให้บริการบางรายมีเวลาดําเนินการตามคําสั่งซื้อที่ล่าช้าอย่างต่อเนื่อง คุณอาจต้องประเมินธุรกิจของพวกเขาในมาร์เก็ตเพลสของคุณอีกครั้ง

  • การจัดการสินค้าคงคลัง
    สําหรับมาร์เก็ตเพลสที่มีสินค้าคงคลัง การดําเนินการตามคําสั่งซื้ออย่างรวดเร็วอาจบ่งบอกถึงการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ โดยลดต้นทุนการถือครองและความเสี่ยงที่สินค้าจะล้าสมัย

การติดตามความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อไม่ใช่เพียงการวัดเวลาของลูกค้าในการได้รับคําสั่งซื้อเท่านั้น แต่ยังเป็นการวัดความพึงพอใจของลูกค้า การประเมินการดำเนินงานของผู้ให้บริการ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับมาร์เก็ตเพลสของคุณ การเพิ่มความเร็วในการดําเนินการตามคําสั่งซื้อจะช่วยให้คุณเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของมาร์เก็ตเพลส เพิ่มความภักดีของลูกค้า และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันได้

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Connect

Connect

ใช้งานจริงภายในไม่กี่สัปดาห์แทนที่จะต้องเสียเวลาหลายไตรมาส สร้างธุรกิจการชำระเงินที่สร้างผลกำไร และขยายธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

Stripe Docs เกี่ยวกับ Connect

ดูวิธีกำหนดเส้นทางการชำระเงินระหว่างหลายฝ่าย