กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้า: คู่มือจำเป็นสําหรับธุรกิจ

Revenue Recognition
Revenue Recognition

Stripe Revenue Recognition เพิ่มประสิทธิภาพในการทำบัญชีคงค้างเพื่อให้คุณปิดบัญชีได้รวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งยังกำหนดค่าและปรับขั้นตอนการจัดทำรายงานรายรับให้เป็นอัตโนมัติ คุณจึงปฏิบัติตามมาตรฐานการรับรู้รายรับ ASC 606 และ IFRS 15 ได้อย่างง่ายดาย

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าทั้งหมดประกอบด้วยอะไรบ้าง
  3. เหตุใดการจัดการเจ้าหนี้การค้าจึงสําคัญต่อธุรกิจ
  4. องค์ประกอบของขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับเจ้าหนี้การค้า
  5. แผนผังกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้า
    1. แผนผังกระบวนการเจ้าหนี้การค้าแบบพื้นฐาน
    2. แผนผังกระบวนการเจ้าหนี้การค้าแบบละเอียด
  6. ความท้าทายในกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าและวิธีแก้ปัญหา
    1. การป้อนข้อมูลด้วยตัวเอง
    2. ขั้นตอนการอนุมัติไม่มีประสิทธิภาพ
    3. การมองเห็นข้อมูลได้จํากัด
    4. การจัดการการฉ้อโกงและความเสี่ยง
    5. การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์
    6. การเชื่อมต่อการทํางานกับระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP)
  7. วิธีลดความซับซ้อนของกระบวนด้านการเจ้าหนี้การค้า

เจ้าหนี้การค้า (AP) คือกระบวนการจัดการและชําระค่าสินค้าและบริการที่บริษัทได้รับมาแล้ว แต่ได้รับเครดิตจากซัพพลายเออร์หรือผู้ให้บริการให้สามารถชำระเงินในภายหลังได้ ซึ่งบริษัทจะจัดการกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าด้วยตนเองหรือดําเนินการโดยระบบอัตโนมัติก็ได้ ในปี 2022 63% ของแผนกเจ้าหนี้การค้า ทั่วโลกทํางานโดยใช้ระบบอัตโนมัติทั้ง 100% หรือเฉพาะบางส่วน

ต่อไปนี้เราจะอธิบายว่ากระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าทํางานอย่างไร เหตุใดจึงมีความสําคัญต่อธุรกิจ รวมถึงวิธีการปรับใช้และปรับปรุงดูแลกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าทั้งหมดประกอบด้วยอะไรบ้าง
  • เหตุใดการจัดการเจ้าหนี้การค้าจึงสําคัญต่อธุรกิจ
  • องค์ประกอบของขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับเจ้าหนี้การค้า
  • แผนผังของกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้า
  • ความท้าทายในกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าและวิธีแก้ปัญหา
  • วิธีลดความซับซ้อนของกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้า

กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าทั้งหมดประกอบด้วยอะไรบ้าง

กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าทั้งหมดประกอบด้วยขั้นตอนที่เกี่ยวเนื่องกันดังต่อไปนี้

  • การสร้างและอนุมัติคำสั่งซื้อ (PO): แผนกจัดซื้อสร้างคำสั่งซื้อที่แจกแจงรายละเอียดสินค้าหรือบริการที่มีความประสงค์จะซื้อ จํานวน ราคาที่ตกลง และรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น บุคลากรที่ได้รับอนุญาตจะตรวจสอบและอนุมัติคำสั่งซื้อ

  • การจับคู่ใบเสร็จกับใบแจ้งหนี้: แผนกจัดซื้อสร้างใบเสร็จเพื่อยืนยันการส่งมอบสินค้าหรือบริการ จากนั้นจึงเปรียบเทียบเอกสารนี้กับคำสั่งซื้อต้นฉบับและใบแจ้งหนี้ของซัพพลายเออร์เพื่อยืนยันความถูกต้องและความสอดคล้องกันของราคาและปริมาณ

  • การยืนยันและการอนุมัติใบแจ้งหนี้: บุคลากรตรวจสอบใบแจ้งหนี้เพื่อมองหาข้อมูลคลาดเคลื่อน ข้อผิดพลาด หรือรายละเอียดที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น ข้อมูลผู้ให้บริการ หมายเลขใบแจ้งหนี้ วันที่ คำอธิบายรายการสินค้าหรือบริการ จำนวน ราคา และภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทต้องแก้ไขข้อมูลที่ไม่ตรงกันก่อนที่จะส่งใบแจ้งหนี้ไปขอนุมัติ

  • การบันทึกใบแจ้งหนี้และการอนุมัติการชําระเงิน: บริษัทบันทึกใบแจ้งหนี้ในระบบบัญชีของบริษัท จากนั้นระบบจะกําหนดรหัสบัญชีแยกประเภททั่วไปที่เหมาะสม และอนุมัติการชําระเงินโดยพิจารณาจากเงื่อนไขการชําระเงินหรือส่วนลดที่ได้รับ

  • การประมวลผลและการกระทบยอดการชําระเงิน: บริษัทประมวลผลการชําระเงินตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน หลังจากชําระเงินแล้ว ทีมเจ้าหนี้การค้าจะกระทบยอดการชําระเงินกับใบแจ้งหนี้และอัปเดตบัญชีให้สอดคล้องกัน

เหตุใดการจัดการเจ้าหนี้การค้าจึงสําคัญต่อธุรกิจ

วิธีที่บริษัทจัดการเจ้าหนี้การค้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงิน ประสิทธิภาพการดําเนินงาน และความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของบริษัท กระบวนการจัดการเจ้าหนี้การค้าที่รัดกุมอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจดังต่อไปนี้

  • เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน: การจัดการเจ้าหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งทำได้โดยใช้กลยุทธ์กําหนดระยะเวลาชําระเงินอย่างเหมาะสมและเจรจากับซัพพลายเออร์ให้ได้เงื่อนไขการชำระเงินที่เป็นประโยชน์กับบริษัท วิธีนี้จะช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม และสามารถนำเงินไปลงทุนในโครงการที่ช่วยให้บริษัทเติบโต

  • ลดความเสี่ยงทางการเงิน: กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าที่ดีจะช่วยตรวจหาและลดความเสี่ยงทางการเงิน เช่น การฉ้อโกง ข้อผิดพลาด และค่าปรับจากการชําระเงินล่าช้าได้ นอกจากนี้ การใช้มาตรการควบคุมภายในที่รัดกุม เช่น การแบ่งแยกหน้าที่และการตรวจสอบบัญชีเป็นประจํา ยังช่วยธุรกิจปกป้องทรัพย์สินของตัวเองและปฏิบัติตามข้อบังคับทางการเงินอีกด้วย

  • สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน: สําหรับธุรกิจแล้ว กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าที่ไม่ซับซ้อนจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจในตลาด บริษัทสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการประมวลผลใบแจ้งหนี้อย่างรวดเร็ว ใช้ส่วนลดกรณีชำระเงินก่อนกําหนด และรักษาความสัมพันธ์ระหว่างซัพพลายเออร์ให้แน่นแฟ้น

  • จัดทำข้อมูลเชิงลึก: โซลูชันเจ้าหนี้การค้าที่ทันสมัยจะมีเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับรูปแบบการใช้จ่าย ประสิทธิภาพการทํางานของซัพพลายเออร์ และแนวโน้มกระแสเงินสด ธุรกิจต่างๆ สามารถนําข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจแบบอิงตามข้อมูล ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าของตนและช่วยในการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

  • สนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์: บริษัทต่างๆ สามารถปรับกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจโดยรวมได้ เช่น การลดต้นทุน การจัดการความเสี่ยง และการส่งเสริมเติบโต

องค์ประกอบของขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับเจ้าหนี้การค้า

ต่อไปนี้คือขั้นตอนการทํางานของเจ้าหนี้การค้าทั่วไป

  • การรับใบแจ้งหนี้และการบันทึกข้อมูล: ซัพพลายเออร์ส่งใบแจ้งหนี้ฉบับกระดาษหรือใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นบริษัทจะป้อนข้อมูลใบแจ้งหนี้ลงในระบบเจ้าหนี้การค้า โดยอาจป้อนด้วยตนเองหรือดำเนินการผ่านระบบอัตโนมัติ วิธีการบันทึกข้อมูลแบบอัตโนมัติ เช่น เทคโนโลยีการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) จะช่วยเร่งกระบวนการนี้และลดภาระในการป้อนข้อมูลด้วยตัวเองได้

  • การตรวจสอบความถูกต้องและการจับคู่ใบแจ้งหนี้: ระบบเจ้าหนี้การค้าจะตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งหนี้ โดยเปรียบเทียบกับคำสั่งซื้อและเอกสารที่ได้รับ ระบบจับคู่อัตโนมัติแบบสามทางสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดและข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้

  • การแก้ไขความคลาดเคลื่อน: หากพบว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ระบบจะแก้ไขข้อมูลเหล่านั้นก่อนการอนุมัติ

  • ขั้นตอนการอนุมัติ: ระบบส่งใบแจ้งหนี้ไปให้บุคลากรที่เหมาะสมดำเนินการอนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้และระดับการอนุมัติ

  • การอนุมัติการชําระเงิน: บุคลากรอนุมัติการชําระเงินให้กับใบแจ้งหนี้ที่ได้รับอนุมัติแล้ว

  • การประมวลผลการชําระเงิน: บริษัทจะกําหนดเวลาชําระเงินให้กับใบแจ้งหนี้ที่ได้รับการอนุมัติ และชำระเงินแก่ซัพพลายเออร์ โดยพิจารณาตามเงื่อนไขการชําระเงิน ส่วนลด และวิธีการชําระเงินที่ต้องการ

  • การบันทึกรายการบัญชี: บริษัทจะบันทึกใบแจ้งหนี้และการชําระเงินในระบบบัญชี

  • การกระทบยอดการชําระเงิน: ธุรกิจจะกระทบยอดการชําระเงินกับใบแจ้งหนี้และรายการเดินบัญชีธนาคาร

  • การกระทบยอดใบแจ้งยอดของผู้ให้บริการ: ธุรกิจจะกระทบยอดใบแจ้งยอดของผู้ให้บริการกับข้อมูลในระบบเจ้าหนี้การค้า

นอกจากนี้ ในกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้ายังอาจมีขั้นตอนการสร้างรายงานและการวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเจ้าหนี้การค้าและแนวทางบริหารจัดการซัพพลายเออร์ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการเริ่มต้นใช้งานของซัพพลายเออร์ การประเมินประสิทธิภาพ และการแก้ไขการโต้แย้งการชําระเงิน ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่สําคัญที่มีส่วนช่วยให้การดําเนินงานราบรื่นขึ้นและช่วยประหยัดต้นทุนได้

แผนผังกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้า

แผนผังกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าแสดงขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการประมวลผลใบแจ้งหนี้และการชําระเงินให้แก่ซัพพลายเออร์อย่างเห็นภาพ แผนผังเหล่านี้จะมีความซับซ้อนแตกต่างกันไปตามขนาดและข้อกําหนดเฉพาะขององค์กร ต่อไปนี้คือ 2 ตัวอย่างที่พบได้ทั่วไป

แผนผังกระบวนการเจ้าหนี้การค้าแบบพื้นฐาน

แผนผังนี้อธิบายขั้นตอนพื้นฐานในกระบวนการเจ้าหนี้การค้าโดยทั่วไป

เริ่ม -> รับใบแจ้งหนี้ -> ตรวจสอบใบแจ้งหนี้ -> อนุมัติ -> ประมวลผลการชําระเงิน -> ลงรายการบัญชี -> สิ้นสุด

แผนผังกระบวนการเจ้าหนี้การค้าแบบละเอียด

แผนผังนี้แสดงให้เห็นกระบวนการเจ้าหนี้การค้าอย่างครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งขั้นตอนเพิ่มเติมและประเด็นในการตัดสินใจ

เริ่ม -> รับใบแจ้งหนี้ -> ลงรายการหรือบันทึกข้อมูล -> จับคู่ใบแจ้งหนี้ -> แก้ไขข้อมูลที่ไม่ตรงกัน -> ขั้นตอนการอนุมัติ -> อนุมัติการชําระเงิน -> ประมวลผลการชําระเงิน -> กระทบยอดการชําระเงิน -> กระทบยอดกับใบแจ้งยอดของผู้ให้บริการ -> สิ้นสุด

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นตัวอย่างแบบง่ายเท่านั้น แต่แผนผังกระบวนการเจ้าหนี้การค้าของจริงอาจมีรายละเอียดมากกว่านี้ รวมทั้งมีขั้นตอน ประเด็นตัดสินใจ และการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม แผนผังเหล่านี้แสดงกระบวนการเจ้าหนี้การค้า ซึ่งช่วยให้มองเห็นส่วนที่สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติได้

ความท้าทายในกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าและวิธีแก้ปัญหา

กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าอาจมีปัญหาท้าทายบางอย่าง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต้องสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย ต่อไปนี้คือความท้าทายที่พบบ่อยและวิธีแก้ไขปัญหา

การป้อนข้อมูลด้วยตัวเอง

การป้อนข้อมูลด้วยตัวเองเป็นงานที่สิ้นเปลืองเวลา เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย และอาจทําให้การประมวลผลใบแจ้งหนี้และการชําระเงินล่าช้าได้ ข้อผิดพลาดเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการชําระเงินซ้ำ จํานวนเงินที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์

  • วิธีแก้ปัญหา: โซลูชันเจ้าหนี้การค้าอัตโนมัติใช้เทคโนโลยี OCR ดึงข้อมูลจากใบแจ้งหนี้ จับคู่แบบสามทางอัตโนมัติ และทําให้ขั้นตอนการอนุมัติง่ายขึ้น ซึ่งช่วยลดความผิดพลาดและเร่งเวลาในการประมวลผลให้เร็วขึ้น

ขั้นตอนการอนุมัติไม่มีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการอนุมัติที่ยืดยาวและซับซ้อนอาจทําให้เกิดปัญหาติดขัด ชําระเงินล่าช้า และพลาดส่วนลดสำหรับการชำระเงินก่อนกําหนดไป กรณีแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์และทําให้กระแสเงินสดของธุรกิจเสียหายได้

  • วิธีแก้ปัญหา: ขั้นตอนการอนุมัติแบบดิจิทัลที่มีความชัดเจนซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการส่งข้อมูล การแจ้งเตือน และการรายงานปัญหาแบบอัตโนมัติจะช่วยให้ธุรกิจอนุมัติใบแจ้งหนี้ได้ทันเวลาและลดความล่าช้าลง

การมองเห็นข้อมูลได้จํากัด

หากมองไม่เห็นกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าแบบเรียลไทม์ จะทําให้การติดตามสถานะใบแจ้งหนี้ ระบุปัญหาติดขัด และติดตามตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพหลัก (KPI) ทำได้ลาำบาก การไม่มีมาตรการควบคุมในส่วนนี้อาจส่งผลให้เกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น ไม่สามารถดำเนินการต่างๆ ได้ตามกำหนดเวลา และตัดสินใจอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

  • วิธีแก้ปัญหา: แดชบอร์ดเจ้าหนี้การค้าแบบรวมศูนย์ที่ให้คุณมองเห็นกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าทุกๆ แง่มุมได้แบบเรียลไทม์จะสามารถติดตามสถานะใบแจ้งหนี้ ตรวจสอบขั้นตอนการอนุมัติ ระบุข้อยกเว้น และวิเคราะห์ KPI ได้ การมองเห็นข้อมูลในลักษณะนี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการแบบเชิงรุกและตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล

การจัดการการฉ้อโกงและความเสี่ยง

กระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าเสี่ยงต่อการฉ้อโกงหลายประเภท เช่น การชําระเงินซ้ำหรือการชำระเงินที่ไม่ได้รับอนุญาตและใบแจ้งหนี้ปลอม กิจกรรมฉ้อโกงเหล่านี้อาจทำให้ธุรกิจประสบความสูญเสียทางการเงินอย่างมหาศาลและทําให้ชื่อเสียงของบริษัทเสียหาย

  • วิธีแก้ปัญหา: มาตรการควบคุมภายในที่รัดกุม เช่น การแยกบทบาทหน้าที่ การตรวจสอบเป็นประจํา และกลไกตรวจจับการฉ้อโกง ช่วยลดความเสี่ยงด้านการฉ้อโกงได้ เช่นเดียวกันกับโซลูชันเจ้าหนี้การค้าอัตโนมัติที่มีฟีเจอร์ช่วยป้องกันการฉ้อโกง เช่น การตรวจจับการชําระเงินซ้ำและการตรวจจับสิ่งผิดปกติ

การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์

การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์จะช่วยให้บริษัทได้รับสินค้าตรงเวลา ได้รับเงื่อนไขการชำระเงินที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และแก้ไขการโต้แย้งการชําระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความผิดพลาดในการสื่อสารและการชําระเงินล่าช้าอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์เหล่านี้ได้

  • วิธีแก้ปัญหา: การกำหนดช่องทางการสื่อสารกับซัพพลายเออร์อย่างชัดเจนช่วยให้ธุรกิจแจ้งอัปเดตสถานะการชําระเงินได้อย่างสม่ำเสมอและแก้ไขปัญหาหรือข้อกังวลที่เกิดขึ้นได้ทันที ส่วนพอร์ทัลซัพพลายเออร์และแพลตฟอร์มความร่วมมือก็ช่วยอํานวยความสะดวกให้ธุรกิจสื่อสารได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน

การเชื่อมต่อการทํางานกับระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP)

หากไม่เชื่อมต่อระบบเจ้าหนี้การค้าเข้ากับระบบ ERP อาจทําให้เกิดปัญหาข้อมูลแยกส่วน จำเป็นต้องป้อนข้อมูลด้วยตัวเอง และเกิดความยุ่งยากในการกระทบยอดได้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพและทำให้ข้อมูลในรายงานทางการเงินไม่ตรงกัน

  • วิธีแก้ปัญหา: เชื่อมต่อโซลูชันเจ้าหนี้การค้ากับระบบ ERP วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องป้อนข้อมูลด้วยตัวเอง ลดข้อผิดพลาด และรับประกันว่าข้อมูลจะสอดคล้องกันภายในองค์กร

วิธีลดความซับซ้อนของกระบวนด้านการเจ้าหนี้การค้า

การลดความซับซ้อนของกระบวนการด้านเจ้าหนี้การค้าเป็นกุญแจสําคัญในการปรับปรุงการดําเนินงาน ลดข้อผิดพลาด และกระชับความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการ ต่อไปนี้คือตัวอย่างกลยุทธ์ที่เราแนะนำ

  • ใช้ซอฟต์แวร์ประมวลผลใบแจ้งหนี้: ซอฟต์แวร์จะทำให้การบันทึกข้อมูล การเขียนโค้ด และการอนุมัติเป็นระบบอัตโนมัติ ช่วยให้ธุรกิจไม่ต้องป้อนข้อมูลด้วยตัวเอง ลดข้อผิดพลาด และร่นเวลาในการประมวลผลลง

  • ใช้วิธีการชําระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์: วิธีการชําระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโอนเงินแบบ ACH และบัตรดิจิทัลจะทําให้การชําระเงินเป็นระบบอัตโนมัติ จึงไม่จําเป็นต้องเขียนเช็คและส่งไปรษณีย์ด้วยตัวเอง

  • เปลี่ยนกระบวนการจับคู่ให้เป็นระบบอัตโนมัติ: เครื่องมืออัตโนมัติสามารถจับคู่ใบแจ้งหนี้ คําสั่งซื้อ และรายงานที่ได้รับด้วยความแม่นยํามากขึ้น ช่วยป้องกันการชําระเงินเกินจํานวนที่กําหนด

  • สร้างมาตรฐานรูปแบบใบแจ้งหนี้: รูปแบบใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐาน (เช่น PDF) ช่วยให้บันทึกและประมวลผลข้อมูลได้ง่ายขึ้น

  • กําหนดขั้นตอนการอนุมัติที่ชัดเจน: กระบวนการอนุมัติที่สอดคล้องกันจะช่วยให้ตรวจสอบใบแจ้งหนี้ได้ทันเวลาและลดปัญหาติดขัด

  • เจรจาเงื่อนไขการชําระเงินที่สอดคล้องกัน: เงื่อนไขการชําระเงินที่สอดคล้องกันกับของผู้ให้บริการจะช่วยลดความซับซ้อนในการกําหนดเวลาชําระเงินและปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการกระแสเงินสด

  • จัดเก็บเอกสารแบบดิจิทัล: การจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับเจ้าหนี้การค้าทั้งหมด (เช่น ใบแจ้งหนี้ คําสั่งซื้อ) ไว้ในคลังข้อมูลดิจิทัลที่รวมไว้ในที่เดียวจะช่วยให้เข้าถึงและจัดการเอกสารได้ง่าย

  • สร้างช่องทางการสื่อสารกับผู้ให้บริการ: การกำหนดช่องทางการสื่อสารแบบรวมศูนย์สําหรับสอบถามข้อมูลผู้ให้บริการจะช่วยให้ได้รับคําตอบที่รวดเร็วและลดความสับสน

  • ใช้ประโยชน์จากส่วนลดกรณีชําระเงินก่อนกําหนด: ส่วนลดจากผู้ให้บริการเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกระแสเงินสดให้กับธุรกิจได้

  • ปรับระยะเวลาการชําระเงิน: การกำหนดระยะเวลาชําระเงินอย่างมีกลยุทธ์ช่วยให้ธุรกิจใช้ประโยชน์สูงสุดจากเงินทุนหมุนเวียนและหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับกรณีชําระเงินล่าช้า

  • ดูแลความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการ: การมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้ให้บริการจะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาเงื่อนไขการชําระเงินและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Revenue Recognition

Revenue Recognition

กำหนดค่าและปรับขั้นตอนการจัดทำรายงานรายรับให้เป็นอัตโนมัติเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรับรู้รายรับ ASC 606 และ IFRS 15 ได้อย่างง่ายดาย

Stripe Docs เกี่ยวกับ Revenue Recognition

สร้างกระบวนการทำบัญชีแบบเกณฑ์คงค้างอัตโนมัติด้วย Stripe Revenue Recognition