รายการรหัสการปฏิเสธของ ACH ฉบับสมบูรณ์: สาเหตุและวิธีจัดการ

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. การโอนเงินผ่าน ACH คืออะไร
    1. ลักษณะเฉพาะของการโอนเงินผ่าน ACH
    2. ความสําคัญต่อธุรกิจ
    3. ข้อจํากัด
  3. รหัสการปฏิเสธของ ACH คืออะไร
  4. สาเหตุที่เกิดการปฏิเสธของ ACH ขึ้น
    1. ข้อผิดพลาดในการดูแลระบบ
    2. ปัญหาการอนุมัติวงเงิน
    3. ปัญหาด้านการเงิน
    4. ข้อจำกัดด้านเวลาและการประมวลผล
    5. การจัดการความเสี่ยงและการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ
  5. รายการรหัสการปฏิเสธของ ACH
  6. วิธีที่ธุรกิจควรจัดการกับการปฏิเสธของ ACH
    1. มาตรการป้องกัน
    2. การจัดการการปฏิเสธ
    3. การดําเนินการสําหรับสถานการณ์เฉพาะ

การโอนเงินผ่านสํานักหักบัญชีอัตโนมัติ (ACH) เป็นวิธีที่นิยมใช้โดยธุรกิจและผู้ใช้เพื่อส่งหรือรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2022 มีการโอนเงินผ่าน ACH 3 หมื่นล้านรายการโดยมีมูลค่ามากกว่า 76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้วิธีการชําระเงินนี้จะมีความสะดวกสบาย ประหยัดต้นทุน และได้รับความนิยม แต่ก็ยังพบว่าการโอนเงินผ่าน ACH ถูกปฏิเสธในบางครั้ง

เมื่อไม่สามารถประมวลผลการโอนเงินแบบ ACH ได้ เครือข่าย ACH จะส่ง "รหัสการปฏิเสธ" หรือ "รหัสตีกลับ" เพื่ออธิบายสาเหตุที่การโอนเงินไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยอาจมีสาเหตุพื้นฐาน เช่น หมายเลขบัญชีที่ไม่ถูกต้อง หรือสาเหตุซับซ้อนกว่าจากกฎและข้อจํากัดที่สถาบันการเงินกําหนดไว้สําหรับธุรกรรมประเภทนั้นๆ

เมื่อ ACH ปฏิเสธธุรกรรม ธุรกิจต่างๆ จําเป็นต้องทราบว่าข้อผิดพลาดคืออะไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต รวมถึงรักษาความไว้วางใจและความพึงพอใจของลูกค้า ด้านล่างนี้ เราจะอธิบายรหัสการปฏิเสธประเภทต่างๆ รวมถึงสาเหตุที่เกิดการปฏิเสธ วิธีการป้องกัน และวิธีจัดการเมื่อเกิดปัญหานี้

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • การโอนเงินผ่าน ACH คืออะไร
  • รหัสการปฏิเสธของ ACH คืออะไร
  • สาเหตุเกิดการปฏิเสธ ACH
  • รายการรหัสการปฏิเสธของ ACH
  • วิธีที่ธุรกิจควรใช้เพื่อจัดการกับการปฏิเสธของ ACH

การโอนเงินผ่าน ACH คืออะไร

การโอนเงินผ่านสํานักหักบัญชีอัตโนมัติ (ACH) คือการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่งที่รับส่งเงินระหว่างสถาบันการเงินต่างๆ ธุรกรรมเหล่านี้มักจะได้รับการประมวลผลเป็นกลุ่มและอยู่ภายใต้กฎที่ Nacha (หรือที่เรียกว่าสมาคมสํานักหักบัญชีอัตโนมัติแห่งชาติ) ในสหรัฐอเมริกากำหนดไว้

การโอนเงินผ่าน ACH เป็นวิธีการชําระเงินที่น่าเชื่อถือ ประหยัดค่าใช้จ่าย และตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายที่ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับในวงกว้าง แม้จะมีข้อจํากัดบางประการ แต่วิธีนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประสิทธิภาพการดําเนินงานและการจัดการค่าใช้จ่าย ต่อไปนี้คือประเด็นสําคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับการโอนเงินผ่าน ACH

ลักษณะเฉพาะของการโอนเงินผ่าน ACH

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย: การโอนเงินผ่าน ACH มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการโอนเงินระหว่างธนาคารและธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต ธุรกิจที่มุ่งลดค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานมักจะเลือกใช้ ACH โอนเงินด้วยเหตุผลดังกล่าว

  • ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย: สามารถใช้การโอนเงินวิธีนี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การจ่ายเงินเดือนโดยตรง การชําระเงินตามแบบแผนล่วงหน้า เช่น การชําระเงินค่าสมาชิก และการชําระเงินแก่ผู้ให้บริการ

  • การประมวลผลชุดเป็นกลุ่ม: การโอนเงินผ่าน ACH มักจะได้รับการประมวลผลเป็นกลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากธุรกรรมแบบเรียลไทม์ และมักจะส่งผลให้ระยะเวลาการชําระเงินนานกว่า ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาสูงสุด 3 วันทําการ

  • ประเภท: การโอนเงินผ่าน ACH แบ่งออกเป็นการหักบัญชีแบบ ACH และการชำระเครดิตผ่าน ACH การหักบัญชี ACH ช่วยให้ธุรกิจถอนเงินจากบัญชีอื่นได้ โดยต้องมีการอนุมัติล่วงหน้า การชำระเครดิตผ่าน ACH ช่วยให้ธุรกิจฝากเงินเข้าบัญชีได้ และธุรกิจต่างๆ มักจะใช้วิธีนี้สําหรับการจ่ายเงินเดือนและการชําระเงินแก่ผู้ให้บริการ

ความสําคัญต่อธุรกิจ

  • เป็นวิธีการชําระเงินที่มีประสิทธิภาพสูง
    การประมวลผลการโอนเงินผ่าน ACH เป็นกลุ่มจะช่วยให้ธุรกิจวางแผนกิจกรรมทางการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าใด

  • เป็นไปตามข้อบังคับด้านการชําระเงิน
    การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของ Nacha จะช่วยให้มั่นใจถึงการใช้งานที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการฉ้อโกงหรือการโต้แย้งการชําระเงินได้

  • ช่วยให้คาดการณ์ทางการเงินได้แม่นยำขึ้น
    การโอนเงินผ่าน ACH ช่วยเพิ่มความสามารถในการจัดการเงินสด เนื่องจากสามารถคาดการณ์ได้และมีค่าใช้จ่ายต่ำ ธุรกิจสามารถคาดการณ์ด้านการเงินของตนได้แม่นยํามากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรที่ใช้ได้

  • ใช้ได้กับกลยุทธ์การชําระเงินที่ยืดหยุ่น
    ธุรกิจที่รับชําระเงินผ่าน ACH อาจน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

ข้อจํากัด

  • ใช้เวลาประมวลผลนานกว่า
    ข้อเสียอย่างหนึ่งของการโอนเงินผ่าน ACH ก็คือเงินโอนจะเข้าบัญชีช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2-3 วัน ทำให้อาจเป็นปัญหาสําหรับธุรกิจที่ต้องการใช้เงินอย่างรวดเร็ว

  • ความเสี่ยงที่จะเงินไม่เพียงพอ
    การหักบัญชี ACH ดำเนินการไม่สำเร็จหากบัญชีของผู้ชําระเงินไม่มีเงินเพียงพอ ทําให้การชําระเงินล่าช้าและเกิดค่าธรรมเนียมได้

  • การแก้ไขข้อผิดพลาดอาจมีความซับซ้อน
    เนื่องจากการโอนเงินผ่าน ACH เป็นไปโดยอัตโนมัติและดําเนินการเป็นชุด ดังนั้น การจัดการข้อผิดพลาดอาจใช้เวลานานและซับซ้อนกว่าการชําระเงินรูปแบบอื่นๆ

รหัสการปฏิเสธของ ACH คืออะไร

รหัสการปฏิเสธของ ACH เป็นข้อความตัวอักษรและตัวเลขที่ระบุว่าเพราะเหตุใดธุรกรรม ACH จึงประมวลผลไม่สําเร็จ รหัสเหล่านี้อธิบายว่าเกิดข้อผิดพลาดใดกับการโอนเงินแบบ ACH โดยเฉพาะ ทําให้ธุรกิจและสถาบันการเงินดําเนินการแก้ไขได้

สาเหตุที่เกิดการปฏิเสธของ ACH ขึ้น

การปฏิเสธของ ACH อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุผลหลายประการ ซึ่งโดยทั่วไปจะจัดอยู่ใน 1 ใน 5 ประเภท ดังนี้ ข้อผิดพลาดด้านการดูแลระบบ ปัญหาการอนุมัติวงเงิน ยอดเงินไม่เพียงพอ ข้อจำกัดด้านเวลาและการประมวลผล หรือการจัดการความเสี่ยงและการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ แต่ละหมวดหมู่มีความท้าทายเฉพาะตัวและต้องการโซลูชันที่เฉพาะเจาะจง นี่คือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ ACH ปฏิเสธธุรกรรม

ข้อผิดพลาดในการดูแลระบบ

  • ข้อมูลบัญชีไม่ถูกต้อง: หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ ACH ปฏิเสธธุรกรรมคือหมายเลขบัญชีหรือ Routing Number ไม่ถูกต้อง หากหมายเลขใดหมายเลขหนึ่งมีข้อผิดพลาด ธุรกรรมจะดำเนินการไม่สำเร็จ

  • บัญชีปิดไปแล้วหรือไม่มีอยู่: หากบัญชีถูกปิดหรือไม่มีอยู่ ธุรกรรม ACH จะถูกปฏิเสธด้วยรหัสเฉพาะ เช่น R02 หรือ R03

  • ประเภทบัญชีไม่ตรงกัน: ธุรกรรม ACH บางรายการอาจต้องใช้บัญชีประเภทที่เฉพาะเจาะจง เช่น บัญชีธุรกิจหรือบัญชีออมทรัพย์ หากข้อมูลไม่ตรงกัน การโอนเงินจะไม่สําเร็จ

ปัญหาการอนุมัติวงเงิน

  • ไม่มีการอนุมัติล่วงหน้า: ตามปกติแล้วเจ้าของบัญชีจะต้องให้การอนุมัติล่วงหน้าเพื่อให้หักเงินจากบัญชี ACH ได้สำเร็จ หากไม่มีการอนุมัติ ธุรกรรมจะถูกปฏิเสธ

  • การอนุมัติถูกเพิกถอจ: บางครั้งลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์ธุรกิจอาจเพิกถอนการอนุมัติการหักบัญชีที่เคยให้ไว้ก่อนหน้า ในกรณีเช่นนี้ ธุรกรรมผ่าน ACH ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจะถูกปฏิเสธ

  • การโต้แย้งการอนุมัติขององค์กร: ในบริบทของการทําธุรกรรมระดับองค์กร หากองค์กรแจ้งว่าตนไม่อนุมัติการหักบัญชีหรือการชำระเครดิตผ่าน ACH ธุรกรรมดังกล่าวจะถูกรายงานและปฏิเสธ

ปัญหาด้านการเงิน

  • เงินไม่เพียงพอ: เหตุผลพื้นฐานอีกข้อที่ทำให้ ACH ปฏิเสธธุรกรรมคือบัญชีที่จะหักเงินมีเงินไม่เพียงอ กรณีนี้ระบบจะทริกเกอร์รหัส R01

  • ยังไม่ได้เรียกเก็บเงิน: อาจมีเงินอยู่ในบัญชีแต่ยังไม่สรุปยอดหรือชำระ ทําให้มีรหัสการปฏิเสธ R09

  • คําสั่งหยุดการชําระเงิน: เจ้าของบัญชีมีสิทธิ์ออกคําสั่งหยุดการชําระเงินจากธุรกรรมบางรายการ เมื่อมีการออกคำสั่งดังกล่าว การหักบัญชีผ่าน ACH ที่เกี่ยวข้องจะถูกปฏิเสธ

ข้อจำกัดด้านเวลาและการประมวลผล

  • ข้อมูลธุรกรรมใช้ไม่ได้แล้วหรือหมดอายุ: ในบางกรณี ธุรกรรม ACH จะมีกรอบระยะเวลาการประมวลผลที่จํากัด หากส่งธุรกรรมช้าเกินไปก็อาจถูกปฏิเสธได้

  • เกินวงเงินธุรกรรม: ทั้งบัญชีส่วนบุคคลและธุรกิจจะมีวงเงินที่โอนได้แตกต่างกัน Nacha เพิ่มวงเงินสำหรับการโอนผ่าน ACH ในวันเดียวกันเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อการชําระเงินแต่ละรายการ เมื่อปี 2022 การจ่ายเกินวงเงินเหล่านี้จะทําให้ธุรกรรมถูกปฏิเสธ

  • ปัญหาด้านระบบต้นทาง: บางครั้งปัญหาอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากบัญชีที่รับเงิน แต่เป็นสถาบันทางการเงินต้นทางที่ส่งคำขอโอนเงิน (ODFI) หากสถาบันเหล่านี้ขอตีกลับข้อมูลธุรกรรมด้วยเหตุผลบางประการ ธุรกรรมจะไม่เสร็จสมบูรณ์

การจัดการความเสี่ยงและการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ

  • กิจกรรมที่อาจเป็นการฉ้อโกง: สถาบันการเงินจะติดตามกิจกรรมที่น่าสงสัยอย่างต่อเนื่อง ธุรกรรม ACH ที่ถูกทำเครื่องหมายว่าอาจถูกฉ้อโกง จะถูกปฏิเสธเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต

  • การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ: การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ Nacha หรือมาตรฐานด้านการกํากับดูแลอื่นๆ ก็สามารถส่งผลให้ธุรกรรมถูกปฏิเสธได้เช่นกัน ซึ่งอาจรวมถึงการไม่เข้ารหัส หรือไม่ปฏิบัติตามโปรโตคอลการตรวจสอบสิทธิ์แบบ 2 ปัจจัย

การทําความเข้าใจเหตุผลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจและสถาบันการเงินปรับแต่งกระบวนการทำธุรกรรม ACH ให้เหมาะสม ปรับปรุงการแก้ไขปัญหา แก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และโดยปกติแล้วจะช่วยให้ปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น

รายการรหัสการปฏิเสธของ ACH

Top most common ACH rejection codes - Web chart outlines the most common ACH rejection codes

ในบางครั้ง ACH อาจส่งรหัสการปฏิเสธและตีกลับได้เมื่อคุณยอมรับการโอนเงินผ่านธนาคารเป็นวิธีการชําระเงิน ก่อนที่เราจะพูดคุยเกี่ยวกับรหัสที่เฉพาะเจาะจง เรามาทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์บางส่วนกัน

  • รายการธุรกรรม: การส่งธุรกรรม ACH
  • ตีกลับ: การที่ข้อมูลธุรกรรมถูกส่งกลับไปที่ ODFI หลังจากระบบยอมรับเพื่อประมวลผลแล้ว
  • ปฏิเสธ: การที่ระบบไม่ยอมรับข้อมูลธุรกรรมในเครือข่าย ACH สําหรับการประมวลผลตั้งแต่แรก
  • ODFI: สถาบันทางการเงินต้นทางที่ส่งคำขอโอนเงิน (Originating Depository Financial Institution) ที่ส่งธุรกรรม ACH
  • RDFI: สถาบันทางการเงินที่รับโอนเงิน (Receiving Depository Financial Institution) ที่รับเงินจากธุรกรรม ACH

ต่อไปนี้คือรายการรหัสการปฏิเสธของ ACH แบบสมบูรณ์ พร้อมความหมาย สาเหตุ และการดำเนินการที่จำเป็น

R01 – เงินไม่เพียงพอ

  • คำอธิบาย: มีเงินในบัญชีไม่เพียงพอสำหรับธุรกรรมนี้
  • การป้องกัน: ตรวจสอบยอดคงเหลือในบัญชีเป็นประจําและตั้งค่าการแจ้งเตือนเมื่อมียอดคงเหลือต่ำ
  • การดำเนินการ: ติดต่อเจ้าของบัญชีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและส่งธุรกรรมเมื่อมีเงินพร้อมใช้แล้ว

R02 – บัญชีถูกปิด

  • คำอธิบาย: เจ้าของบัญชีได้ปิดบัญชีที่กําลังพยายามเข้าถึง
  • การป้องกัน: ยืนยันสถานะบัญชีก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: ขอข้อมูลบัญชีใหม่จากเจ้าของบัญชีและอัปเดตข้อมูลในระบบของคุณ

R03 – ไม่มีบัญชี/ไม่พบบัญชี

  • คำอธิบาย: หมายเลขบัญชีหรือข้อมูล Routing Number ไม่ตรงกับบัญชีใดๆ ของ RDFI
  • การป้องกัน: ยืนยันหมายเลขบัญชีก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: ขอข้อมูลบัญชีที่ถูกต้องจากผู้รับ

R04 – หมายเลขบัญชีไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: หมายเลขบัญชีที่ระบุในธุรกรรมไม่ถูกต้องเนื่องจากหมายเลขมีตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง ไม่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแบบดิจิทัล หรือไม่ตรงกับหมายเลขบัญชีของ RDFI
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขบัญชีเทียบกับโครงสร้างที่กําหนดไว้ล่วงหน้า
  • การดำเนินการ: ขอหมายเลขบัญชีที่ถูกต้องแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R05 – มีการหักบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีผู้ใช้ผ่านรหัส SEC สําหรับองค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาต

  • คำอธิบาย: มีการใช้รหัสข้อมูลมาตรฐาน (SEC) สําหรับบัญชีผู้ใช้อย่างไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบว่ามีการใช้รหัส SEC ที่ถูกต้องกับประเภทของธุรกรรม
  • การดำเนินการ: แก้ไขรหัส SEC แล้วส่งธุรกรรมอีกครั้ง

R06 – ถูกตีกลับตามคําขอของ ODFI

  • คำอธิบาย: ODFI ได้ตีกลับธุรกรรมนี้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ
  • การป้องกัน: ยืนยันรายละเอียดธุรกรรมก่อนส่ง
  • การดำเนินการ: ติดต่อ ODFI เพื่อระบุปัญหาและตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนถัดไป

R07 – ลูกค้าเพิกถอนการอนุมัติ

  • คำอธิบาย: ลูกค้าเพิกถอนการอนุมัติธุรกรรมแล้ว
  • การป้องกัน: ตรวจสอบสถานะการอนุมัติและสื่อสารกับลูกค้าอยู่เสมอ
  • การดำเนินการ: อย่าส่งธุรกรรมเดิมซ้ำโดยไม่ได้รับการอนุมัติใหม่

R08 – การชำระเงินถูกหยุด

  • คำอธิบาย: เจ้าของบัญชีได้ส่งคําสั่งให้หยุดการชําระเงินในธุรกรรมนี้ รหัสนี้คือคำสั่งหยุดการชำระเงินที่พบได้บ่อยที่สุด เว้นแต่จะมีการหยุดดำเนินการจากเอกสารต้นทางหรือรายการธุรกรรมแบบ RCK (รายการธุรกรรมผ่านเช็คที่ส่งเข้าระบบอีกครั้งหรือเช็คเด้ง) ซึ่งมีรหัสเฉพาะด้านล่าง
  • การป้องกัน: ยืนยันการอนุมัติและรายละเอียดการชําระเงินกับเจ้าของบัญชี
  • การดำเนินการ: ติดต่อเจ้าของบัญชีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

R09 – ยังไม่ได้เรียกเก็บเงิน

  • คำอธิบาย: บัญชีอาจมีเงินรอฝากที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ ซึ่งทําให้ธุรกรรมมีเงินไม่เพียงพอ
  • การป้องกัน: ตรวจสอบกำหนดเวลาการฝากเงิน
  • การดำเนินการ: คุณสามารถส่งธุรกรรมซ้ำได้เมื่อเก็บเงินแล้ว

R10 – ลูกค้าแจ้งว่าไม่อนุมัติ

  • คำอธิบาย: ลูกค้าระบุว่าธุรกรรมไม่ได้รับการอนุมัติ
  • การป้องกัน: ทำการอนุมัติให้เรียบร้อยก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อย่าส่งธุรกรรมเดิมซ้ำโดยไม่ได้ขอการอนุมัติใหม่

R11 – การตีกลับข้อมูลการแปลงเช็คเป็นดิจิทัล

  • คำอธิบาย: เกิดข้อผิดพลาดในการแปลงเช็คเป็นดิจิทัล (การเคลียร์เช็ค) ด้วยเหตุผลหลายประการตามนโยบายของธนาคาร
  • การป้องกัน: ยืนยันรายละเอียดเช็คก่อนแปลงเช็คเป็นดิจิทัล
  • การดำเนินการ: ปรึกษาธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงและดําเนินการตามความจําเป็น

R12 – บัญชีถูกขายให้ RDFI รายอื่นแล้ว

  • คำอธิบาย: ลูกค้าเปลี่ยนธนาคารและโอนบัญชีไปให้ RDFI รายอื่นแล้ว
  • การป้องกัน: อัปเดตข้อมูลบัญชีเป็นประจํา
  • การดำเนินการ: ขอรายละเอียดธนาคารใหม่จากลูกค้าและอัปเดตข้อมูลในระบบ

R13 – Routing Number ของ ACH ไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: Routing Number ของ ACH ไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ยืนยัน Routing Number ก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อัปเดต Routing Number แล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R14 – ตัวแทนผู้รับเงินถูกปฏิเสธหรือไม่สามารถดําเนินการต่อได้

  • คำอธิบาย: ตัวแทนผู้รับเงินถูกปฏิเสธหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
  • การป้องกัน: ติดตามสถานะตัวแทนผู้รับเงิน
  • การดำเนินการ: หาตัวแทนผู้รับเงินรายใหม่และอัปเดตข้อมูลในระบบ

R15 – ผู้รับประโยชน์หรือเจ้าของบัญชีเสียชีวิต

  • คำอธิบาย: ผู้รับประโยชน์หรือเจ้าของบัญชีเสียชีวิตไปแล้ว
  • การป้องกัน: อัปเดตเจ้าของบัญชีและข้อมูลผู้รับประโยชน์เป็นประจํา
  • การดำเนินการ: ยกเลิกธุรกรรมและปรึกษากับเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของบัญชีใหม่

R16 – บัญชีถูกระงับ

  • คำอธิบาย: บัญชีถูกระงับเนื่องจากนโยบายด้านกฎหมายหรือนโยบายธนาคาร
  • การป้องกัน: ติดตามปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัญชี
  • การดำเนินการ: ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อสอบถามรายละเอียดและแก้ไข

R17 – เกณฑ์การแก้ไขข้อมูลในระบบ

  • คำอธิบาย: รายการธุรกรรมมีรูปแบบหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่ง RDFI อาจตีความว่าเป็นธุรกรรมที่เริ่มต้นภายใต้สถานการณ์ที่น่าสงสัย
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องในแต่ละช่องของข้อมูลก่อนที่จะส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขรายการแล้วส่งอีกครั้ง

R18 – ป้อนข้อมูลวันที่ที่ธุรกรรมมีผลไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: มีการเริ่มต้นธุรกรรมโดยใช้วันที่ที่ธุรกรรมมีผลไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวันที่ที่ ODFI ต้องการให้ธุรกรรมเกิดขึ้น
  • การป้องกัน: ยืนยันว่าป้อนวันที่ที่ธุรกรรมมีผลถูกต้องแล้วก่อนส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขวันที่แล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R19 – ข้อผิดพลาดในช่องจํานวนเงิน

  • คำอธิบาย: ยอดเงินที่ป้อนในช่องจํานวนไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของจํานวนเงินก่อนส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขยอดเงินแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R20 – บัญชีที่ไม่ได้ใช้สำหรับทำธุรกรรม

  • คำอธิบาย: มีนโยบายหรือข้อบังคับที่ป้องกันไม่ให้ทำธุรกรรม ACH ในบัญชีนี้
  • การป้องกัน: ยืนยันประเภทบัญชีก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: ใช้วิธีการชําระเงินอื่นหรือบัญชีอื่น

R21 – ข้อมูลประจําตัวของบริษัทไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: ข้อมูลประจําตัวของบริษัทไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งมักจะเกิดจากการป้อนข้อมูลที่ผิด
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของรหัสบริษัทก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อัปเดตประจําตัวของบริษัทแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R22 – หมายเลขประจําตัวประชาชนไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: หมายเลขประจําตัวประชาชนที่ลูกค้าป้อนไม่ถูกต้อง (ปกติจะอยู่ในช่องหมายเลขประจําตัวประชาชน)
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขประจําตัวประชาชนก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อัปเดตหมายเลขประจําตัวประชาชนแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R23 – ผู้รับปฏิเสธรายการธุรกรรมเครดิต

  • คำอธิบาย: สถาบันทางการเงินที่รับเงินจากธุรกรรม (RDFI) ปฏิเสธรายการธุรกรรมเดรดิต เนื่องมาจากการโต้แย้งการชําระเงินหรือไม่มีข้อตกลงที่บังคับใช้
  • การป้องกัน: ยืนยันข้อกําหนดธุรกรรมร่วมกับ RDFI
  • การดำเนินการ: แก้ไขปัญหาร่วมกับ RDFI และดําเนินการให้สอดคล้องกัน

R24 – ข้อมูลธุรกรรมซ้ำ

  • คำอธิบาย: ส่งธุรกรรมรายการเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง
  • การป้องกัน: ใช้การควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดธุรกรรมซ้ำ
  • การดำเนินการ: ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่ซ้ำกันจริงๆ และใช้มาตรการที่เหมาะสม

R25 – ข้อผิดพลาดของข้อมูลส่วนท้าย

  • คำอธิบาย: ข้อมูลส่วนท้ายที่ระบุเจ้าของบัญชีหรือให้ข้อมูลการชําระเงินแก่ RDFI มีรายละเอียดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เรียงตามลําดับ
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของรข้อมูลส่วนท้ายก่อนที่จะส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขข้อมูลส่วนท้ายแล้วส่งอีกครั้ง

R26 – ข้อผิดพลาดในช่องข้อมูลที่ต้องระบุ

  • คำอธิบาย: ไม่มีข้อมูลในช่องที่ต้องระบุ เนื่องจากการป้อนข้อมูลไม่ครบถ้วน ทําให้เจ้าหน้าที่ของ ACH ปฏิเสธธุรกรรม
  • การป้องกัน: ตรวจสอบว่าคุณใส่ข้อมูลในช่องที่ต้องระบุครบแล้ว
  • การดำเนินการ: ใส่ข้อมูลในช่องที่ยังไม่ระบุแล้วส่งอีกครั้ง

R27 – ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับหมายเลขติดตาม

  • คำอธิบาย: หมายเลขติดตามที่ส่งไม่สอดคล้องกับหมายเลขติดตามในข้อมูลส่วนท้าย
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขติดตามก่อนส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขหมายเลขติดตามแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R28 – ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับหมายเลขตัวสุดท้ายใน Routing Number

  • คำอธิบาย: หมายเลขตัวสุดท้ายใน Routing Number ไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบ Routing Number และหมายเลขตัวสุดท้าย
  • การดำเนินการ: แก้ไขหมายเลขตัวสุดท้ายแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R29 – ลูกค้าองค์กรแจ้งว่าไม่อนุมัติ

  • คำอธิบาย: เจ้าของบัญชีองค์กรได้แจ้ง RDFI ว่าธุรกรรมนั้นไม่ได้รับอนุมัติ
  • การป้องกัน: ทำการอนุมัติให้เรียบร้อยก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อย่าส่งธุรกรรมเดิมซ้ำโดยไม่ได้ขอการอนุมัติใหม่

R30 – RDFI ไม่เข้าร่วมในโปรแกรมการแปลงเช็คเป็นดิจิทัล

  • คำอธิบาย: RDFI ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมการแปลงเช็คเป็นดิจิทัล
  • การป้องกัน: ยืนยันความสามารถในการดำเนินการร่วมกับ RDFI
  • การดำเนินการ: ใช้การชําระเงินรูปแบบอื่น

R31 – ธุรกรรมที่ตีกลับได้

  • คำอธิบาย: RDFI ได้ขอให้ ODFI ตีกลับรูปแบบการชําระเงินของบัตรเครดิต บัตรเดบิตองค์กร หรือ Corporate Trade Exchange (CTX) และ ODFI ตกลงที่จะดำเนินการ
  • การป้องกัน: ไม่มี เนื่องจากขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย
  • การดำเนินการ: ปฏิบัติตามแนวทางที่ระบุไว้ในข้อตกลงระหว่าง ODFI และ RDFI

R32 – การชําระเงินที่ไม่เกี่ยวกับ RDFI

  • คำอธิบาย: RDFI ไม่สามารถดำเนินการชำระเงินรายการนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ
  • การป้องกัน: ยืนยันความสามารถในการดำเนินการร่วมกับ RDFI
  • การดำเนินการ: ปรึกษา RDFI เพื่อหาสาเหตุและดําเนินการให้เหมาะสม

R33 – การตีกลับข้อมูลธุรกรรม XCK

  • คำอธิบาย: RDFI ได้ตีกลับข้อมูลเนื่องจากมีเช็คที่สูญหาย ถูกทําลาย หรือเสียหาย (ข้อมูลธุรกรรม XCK)
  • การป้องกัน: ทําความคุ้นเคยกับเงื่อนไขการตีกลับเช็คที่สูญหายหรือเสียหาย
  • การดำเนินการ: ประเมินว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถประมวลผลเช็คได้และดําเนินการขั้นตอนต่อไปให้สอดคล้องกัน

R34 – สถาบันทางการเงินที่ทำธุรกรรม (DFI) มีการเข้าร่วมที่จำกัด

  • คำอธิบาย: หน่วยงานกํากับดูแลของรัฐบาลกลางหรือระดับรัฐจํากัดความสามารถของ RDFI ในการประมวลผลธุรกรรม ACH
  • การป้องกัน: ยืนยันล่วงหน้าว่า RDFI สามารถดำเนินการได้
  • การดำเนินการ: หารือกับ RDFI เกี่ยวกับวิธีดำเนินการ

R35 – การตีกลับเนื่องจากข้อมูลธุรกรรมหักบัญชีไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: มีการส่งรายการธุรกรรมการหักบัญชีอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตในบางสถานการณ์
  • การป้องกัน: ทําความเข้าใจเกณฑ์ของข้อมูลธุรกรรมการหักบัญชีที่ถูกต้อง
  • การดำเนินการ: ประเมินสาเหตุและทําการแก้ไขก่อนส่งอีกครั้ง

R36 – การตีกลับเนื่องจากข้อมูลธุรกรรมเครดิตไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: มีการส่งรายการธุรกรรมเครดิตอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตในบางสถานการณ์
  • การป้องกัน: ทําความเข้าใจเกณฑ์ของข้อมูลธุรกรรมเครดิตที่ถูกต้อง
  • การดำเนินการ: ประเมินสาเหตุและทําการแก้ไขก่อนส่งอีกครั้ง

R37 – มีการแสดงเอกสารต้นทางสำหรับธุรกรรมแล้ว

  • คำอธิบาย: มีการพยายามชําระเงินซ้ำโดยการแสดงเอกสารต้นทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม ACH ของการชําระเงินที่มีอยู่ในระบบ
  • การป้องกัน: ติดตามเอกสารต้นทางและรายการธุรกรรม ACH ที่เกี่ยวข้อง
  • การดำเนินการ: ประเมินและแก้ไขข้อมูลที่ซ้ำกัน

R38 – หยุดการชําระเงินในเอกสารต้นทาง

  • คำอธิบาย: เจ้าของบัญชีที่รับเงินจะขอให้หยุดการชําระเงินในเช็คที่แปลงเป็นการชําระเงินอิเล็กทรอนิกส์
  • การป้องกัน: ติดตามคําสั่งหยุดการชําระเงิน
  • การดำเนินการ: หยุดการประมวลผลและปรึกษาเจ้าของบัญชี

R39 – เอกสารต้นทางไม่เหมาะสม

  • คำอธิบาย: เอกสารต้นทางที่เกี่ยวข้องกับการชําระเงินแบบ ACH ไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอ
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต้นทางก่อนสร้างข้อมูลธุรกรรม
  • การดำเนินการ: แทนที่หรือแก้ไขเอกสารต้นฉบับ

R40 – การตีกลับข้อมูลธุรกรรม ENR โดยหน่วยงานของรัฐบาลกลาง

  • คำอธิบาย: หน่วยงานของรัฐบาลกลางตีกลับรายการข้อมูลที่ลงทะเบียนอัตโนมัติ (ข้อมูล ENR)
  • การป้องกัน: ปฏิบัติตามกฎการส่งข้อมูล ENR
  • การดำเนินการ: ปรึกษาหน่วยงานดังกล่าวเพื่อหาสาเหตุและดําเนินการให้เหมาะสม

R41 – รหัสธุรกรรมไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: รหัสธุรกรรมไม่ถูกต้อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนโอนเงินแบบอัตโนมัติหรือบริการชําระเงินอัตโนมัติกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของรหัสธุรกรรมก่อนที่จะส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขรหัสธุรกรรมแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R42 – ข้อผิดพลาดของหมายเลขใน Routing Number/เช็ค

  • คำอธิบาย: หมายเลขตัวสุดท้ายของ Routing Number ไม่ถูกต้องในข้อมูล ENR ของรัฐบาลกลาง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบ Routing Number และหมายเลขตัวสุดท้าย
  • การดำเนินการ: แก้ไขหมายเลขตัวสุดท้ายแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R43 – หมายเลขบัญชี DFI ไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: หมายเลขบัญชี RDFI ไม่ถูกต้อง รหัสตีกลับนี้เกิดขึ้นเฉพาะในข้อมูล ENR เท่านั้น ทําให้สามารถใช้ได้กับเฉพาะหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขบัญชีก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: แก้ไขหมายเลขบัญชีแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R44 – หมายเลขประจําตัวประชาชนไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: หมายเลขประจําตัวประชาชนที่ระบุไม่ตรงกับหมายเลขประจําตัวประชาชนในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับธุรกรรมที่ทำกับรัฐบาลกลาง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขประจําตัวประชาชนก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อัปเดตหมายเลขประจําตัวประชาชนแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R45 – ชื่อบุคคลไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: ชื่อเจ้าของบัญชีไม่ถูกต้องหรือสะกดผิด
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของชื่อก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: อัปเดตชื่อแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R46 – รหัสระบุตัวแทนผู้รับเงินไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: รหัสระบุตัวแทนผู้รับเงินไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของรหัสระบุก่อนเริ่มต้นธุรกรรม
  • การดำเนินการ: แก้ไขรหัสระบุแล้วส่งใหม่อีกครั้ง

R47 – การลงทะเบียนซ้ำกัน

  • คำอธิบาย: RDFI ส่ง ENR ไปยังหน่วยงานของรัฐบาลกลางเพื่อเริ่มการชําระเงินผ่าน ACH หรือฝากเงินโดยตรงกับสถาบันเหล่านี้ ในกรณีนี้ ระบบได้ส่ง ENR เดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง
  • การป้องกัน: นําการควบคุมไปใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลงทะเบียนซ้ำ
  • การดำเนินการ: ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่ซ้ำกันจริงๆ และใช้มาตรการที่เหมาะสม

R50 – กฎหมายของรัฐมีผลต่อการยอมรับ RCK

  • คำอธิบาย: RDFI อยู่ในรัฐที่ไม่อนุญาตให้ชําระเงินแบบดิจิทัล หรือกําหนดให้ยกเลิกเช็คเพื่อส่งตีกลับคืนลูกค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของรัฐ
  • การป้องกัน: ทําความคุ้นเคยกับกฎหมายของรัฐที่กํากับดูแลธุรกรรมของคุณ
  • การดำเนินการ: ตรวจสอบกฎหมายเฉพาะของรัฐที่ธุรกรรมถูกเปลี่ยนเส้นทางไป และนำกฎหมายเหล่านั้นไปปฏิบัติกับธุรกรรมในอนาคต

R51 – รายการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล RCK นั้นไม่ตรงตามเกณฑ์หรือข้อมูล RCK ไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: รายการสําหรับเช็คที่ถูกตีกลับและส่งเข้าระบบอีกครั้งไม่เหมาะสําหรับการประมวลผลเนื่องจากไม่ตรงตามเกณฑ์ หรือข้อมูลได้รับการจัดเตรียมหรือดําเนินการอย่างไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบสิทธิ์การใช้งานและความถูกต้องของข้อมูล
  • การดำเนินการ: ตรวจสอบธุรกรรมเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกรรมเป็นไปตามข้อบังคับและแนวทางทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

R52 – หยุดการชําระเงินในรายการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล RCK

  • คำอธิบาย: เจ้าของบัญชีสั่งให้หยุดดำเนินการกับเช็คเด้งซึ่งกําลังจะถูกประมวลผลซ้ำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
  • การป้องกัน: ยืนยันว่าไม่มีคําสั่งหยุดการชําระเงินก่อนที่จะดําเนินการต่อ
  • การดำเนินการ: ติดต่อธนาคารที่ออกบัตรหรือผู้ชําระเงินเพื่อแก้ไขปัญหานี้

R53 – รายการสินค้าและข้อมูล RCK ที่นำเข้าระบบเพื่อชำระเงิน

  • คำอธิบาย: มีการส่งทั้งธุรกรรมแรกเริ่มและข้อมูล RCK ที่เกี่ยวข้องแล้ว ทําให้มีธุรกรรมซ้ำกัน
  • การป้องกัน: ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนเมื่อนำรายการและข้อมูลเข้าสู่ระบบ
  • การดำเนินการ: กระทบยอดประวัติการชําระเงินเพื่อลดธุรกรรมที่ซ้ำซ้อน

R61 – ตีกลับธุรกรรมไปผิดที่

  • คำอธิบาย: ส่งธุรกรรมที่ถูกปรับคืนไปยังสถาบันที่ไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบ Routing Number ให้ถูกต้อง
  • การดำเนินการ: แก้ไขข้อมูล Routing Number แล้วส่งธุรกรรมอีกครั้ง

R62 – ตีกลับเนื่องจากมีการหักบัญชีที่ผิดพลาดหรือมีการปรับคืน

  • คำอธิบาย: มีการส่งรายการหักบัญชีที่ผิดพลาดหรือจําเป็นต้องปรับคืน
  • การป้องกัน: ตรวจทานข้อมูลอีกครั้งก่อนสรุป
  • การดำเนินการ: ทําการแก้ไขหรือยกเลิกธุรกรรมตามความจําเป็น

R63 – จํานวนเงินเป็นดอลลาร์ไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: ยอดเงินเป็นดอลลาร์ที่ระบุในธุรกรรมไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ยืนยันยอดธุรกรรมก่อนส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขจํานวนเงินและเริ่มต้นธุรกรรมใหม่

R64 – ข้อมูลประจําตัวไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: หมายเลขประจําตัวประชาชนในธุรกรรมที่ตีกลับไม่ตรงกับหมายเลขในธุรกรรมเดิม
  • การป้องกัน: ยืนยันข้อมูลประจําตัวบุคคล
  • การดำเนินการ: อัปเดตข้อมูลและประมวลผลธุรกรรมอีกครั้ง

R65 – รหัสธุรกรรมไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: รหัสธุรกรรมไม่ถูกต้องสําหรับธุรกรรมประเภทนี้
  • การป้องกัน: ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารหัสธุรกรรมถูกต้อง
  • การดำเนินการ: อัปเดตรหัสธุรกรรมแล้วส่งธุรกรรมอีกครั้ง

R66 – ข้อมูลประจําตัวของบริษัทไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: ข้อมูลประจำตัวของบริษัทในธุรกรรมไม่ตรงกับหมายเลขข้อมูลในส่วนหัวของกลุ่มธุรกรรม ซึ่งเป็นข้อมูลเมตาเกี่ยวกับการโอนธุรกรรมเป็นกลุ่ม
  • การป้องกัน: ยืนยันข้อมูลประจำตัวของบริษัท
  • การดำเนินการ: แก้ไขข้อมูลประจำตัวของบริษัทแล้วประมวลผลธุรกรรมอีกครั้ง

R67 – ตีกลับเนื่องจากมีข้อมูลซ้ำ

  • คำอธิบาย: ธุรกรรมที่ตีกลับถูกประมวลผลไปแล้ว ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน
  • การป้องกัน: ติดตามธุรกรรมตีกลับที่ดําเนินการแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ส่งเข้ามาใหม่
  • การดำเนินการ: ไม่จําเป็นต้องดําเนินการใดๆ แต่ควรตรวจสอบกระบวนการภายในเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์นี้ในอนาคต

R68 – ตีกลับเนื่องจากเกินเวลา

  • คำอธิบาย: ธุรกรรมที่ตีกลับไม่ได้รับการประมวลผลตามกรอบเวลาที่กำหนด
  • การป้องกัน: ตรวจสอบกําหนดเวลาสําหรับการประมวลผลธุรกรรมที่ตีกลับ
  • การดำเนินการ: ส่งธุรกรรมอีกครั้งภายในระยะเวลาที่อนุญาต (หากเป็นไปได้)

R69 – ข้อผิดพลาดของช่องข้อมูล

  • คำอธิบาย: ช่องข้อมูลอย่างน้อย 1 ช่องมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องโดย ODFI เช่น หมายเลขบัญชีไม่ถูกต้องหรือชื่อไม่ตรงกันในบัญชี ทําให้มีการตีกลับธุรกรรม
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของช่องข้อมูลทั้งหมดก่อนส่ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขข้อผิดพลาดในช่องที่ระบุแล้วส่งอีกครั้ง

R70 – ธุรกรรมที่อนุญาตให้ตีกลับไม่ได้รับการยอมรับ หรือธุรกรรมที่ตีกลับไม่ได้เกิดจากคำขอของ ODFI

  • คำอธิบาย: ธุรกรรมที่ตีกลับอย่างถูกต้องไม่ได้รับการประมวลผลตามที่ควรจะเป็น หรือ ODFI ไม่ได้เป็นผู้ส่งคำขอให้ตีกลับ
  • การป้องกัน: ปฏิบัติตามกฎของ ODFI เกี่ยวกับการตีกลับ
  • การดำเนินการ: ตรวจสอบสาเหตุที่ไม่ยอมรับและดําเนินการให้สอดคล้องกัน

R71 – ตีกลับธุรกรรมที่ถูกปฏิเสธชำระไปผิดที่

  • คำอธิบาย: ธุรกรรมที่ส่งคืนเนื่องจากถูกปฏิเสธชำระ ซึ่งส่งกลับไปที่ ODFI อีกครั้งแต่ไม่ได้ดําเนินการอย่างถูกต้องและต้องส่งอีกครั้ง แต่กลับส่งไปผิดสถาบัน
  • การป้องกัน: ตรวจสอบให้มั่นใจว่า Routing Number ของการตีกลับถูกต้อง
  • การดำเนินการ: เปลี่ยนเส้นทางธุรกรรมที่ถูกปฏิเสธชำระไปยังสถาบันที่เหมาะสม

R72 – ตีกลับธุรกรรมที่ถูกปฏิเสธชำระและดำเนินการไม่ทันเวลา

  • คำอธิบาย: ธุรกรรมที่ตีกลับเนื่องจากถูกปฏิเสธชำระนั้นไม่ได้รับการประมวลผลภายในกรอบเวลาที่กําหนด
  • การป้องกัน: คอยติดตามกำหนดการสำหรับการตีกลับธุรกรรมที่ถูกปฏิเสธชำระ
  • การดำเนินการ: ส่งธุรกรรมอีกครั้งภายในกรอบเวลาที่อนุญาต

R73 – ตีกลับธุรกรรมเดิมตรงเวลา

  • คำอธิบาย: RDFI กําลังยืนยันว่าตีกลับธุรกรรมเดิมได้รับการประมวลผลภายในกรอบเวลาที่กําหนด
  • การป้องกัน: ไม่มี
  • การดำเนินการ: ไม่ต้องดําเนินการใดๆ

R74 – การตีกลับธุรกรรมได้รับการแก้ไขแล้ว

  • คำอธิบาย: การตีกลับธุรกรรมที่ดําเนินการอย่างไม่ถูกต้องก่อนหน้านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว
  • การป้องกัน: ไม่มี
  • การดำเนินการ: ไม่ต้องดําเนินการใดๆ

R75 – ธุรกรรมที่ดีกลับไม่ซ้ำกัน

  • คำอธิบาย: นี่คือการตอบกลับรหัสการปฏิเสธ R67 โดย RDFI กำลังคัดค้านการปฏิเสธชำระที่ไม่เหมาะสมของธุรกรรมที่ตีกลับโดย ODFI
  • การป้องกัน: ไม่มี
  • การดำเนินการ: ไม่ต้องดําเนินการใดๆ

R76 – ไม่พบข้อผิดพลาด

  • คำอธิบาย: นี่คือการตอบกลับของรหัสการปฏิเสธ R69 ซึ่ง ODFI ระบุข้อผิดพลาดของช่องข้อมูล รหัสนี้ใช้เป็นการแจ้งว่าไม่เห็นด้วยอย่างเป็นทางการ โดยRDFI เชื่อว่าไม่มีข้อผิดพลาดังกล่าวอยู่
  • การป้องกัน: ไม่มี
  • การดำเนินการ: ไม่ต้องดําเนินการใดๆ

R77 – การไม่ยอมรับการตีกลับของธุรกรรมที่ปฏิเสธชำระรหัส R62

  • คำอธิบาย: นี่คือการตอบกลับของรหัสการปฏิเสธ R62 ซึ่งหมายความว่า RDFI ได้ตีกลับธุรกรรมและการปรับคืนที่ไม่ถูกต้องแล้ว หรือไม่สามารถกู้คืนเงินจากผู้รับตามที่ระบุใน R62 ได้
  • การป้องกัน: ทําความเข้าใจเกณฑ์การยอมรับการตีกลับธุรกรรมที่ปฏิเสธชำระ
  • การดำเนินการ: ตรวจสอบเหตุผลที่ไม่ยอมรับแล้วส่งใหม่อีกครั้งตามที่กำหนด

นอกจากนี้ รหัสการปฏิเสธต่อไปนี้ยังเกี่ยวข้องกับธุรกรรม ACH ระหว่างประเทศ (IAT) ด้วย

R80 – ข้อผิดพลาดในการเขียนโค้ดธุรกรรม IAT

  • คำอธิบาย: เกิดข้อผิดพลาดในการเขียนโค้ดของธุรกรรม IAT
  • การป้องกัน: ตรวจสอบความถูกต้องของการเขียนโค้ดสําหรับธุรกรรม IAT
  • การดำเนินการ: แก้ไขข้อผิดพลาดในการเขียนโค้ดแล้วส่งธุรกรรม IAT อีกครั้ง

R81 – ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรม IAT

  • คำอธิบาย: RDFI ไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรม IAT
  • การป้องกัน: ตรวจสอบว่า RDFI มีส่วนร่วมในโปรแกรม IAT
  • การดำเนินการ: ค้นหา RDFI ที่เข้าร่วมโปรแกรมหรือหลีกเลี่ยงการใช้ IAT เพื่อทําธุรกรรม

R82 – รหัสของ RDFI ต่างประเทศไม่ถูกต้อง

  • คำอธิบาย: รหัสของ RDFI ต่างประเทศไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ตรวจสอบรายละเอียดรหัสสถาบันต่างประเทศซ้ำอีกครั้ง
  • การดำเนินการ: แก้ไขรหัสและประมวลผลธุรกรรมอีกครั้ง

R83 – RDFI ต่างประเทศไม่สามารถชําระเงินได้

  • คำอธิบาย: RDFI ต่างประเทศไม่สามารถทําธุรกรรมให้เสร็จสมบูรณ์ได้
  • การป้องกัน: ยืนยันว่าสถาบันต่างประเทศสามารถชําระเงินธุรกรรมก่อนเริ่มต้น
  • การดำเนินการ: ทํางานร่วมกับสถาบันต่างประเทศโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหา

R84 – รายการไม่ได้รับการประมวลผลโดยเกตเวย์

  • คำอธิบาย: ธุรกรรมไม่ได้รับการประมวลผลโดยเกตเวย์ที่กำหนด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ทําหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่าย ACH ของสถาบันทางการเงิน
  • การป้องกัน: กําหนดเส้นทางธุรกรรมผ่านเกตเวย์ที่ใช้งานได้
  • การดำเนินการ: ส่งธุรกรรมอีกครั้งผ่านเกตเวย์ที่ถูกต้องหรือติดต่อเกตเวย์เพื่อขอการแก้ไข

R85 – เขียนโค้ดไม่ถูกต้องสําหรับการชําระเงินขาออกระหว่างประเทศ

  • คำอธิบาย: ระบบได้กําหนดรหัสสําหรับการชําระเงินขาออกระหว่างประเทศไว้ไม่ถูกต้อง
  • การป้องกัน: ยืนยันการเขียนโค้ดของการชําระเงินระหว่างประเทศ
  • การดำเนินการ: แก้ไขรหัสแล้วส่งธุรกรรมอีกครั้ง

วิธีที่ธุรกิจควรจัดการกับการปฏิเสธของ ACH

การปฏิเสธของ ACH ที่ลดลงทำให้ทีมของคุณมีภาระงานน้อยลงและลูกค้าดำเนินการง่ายขึ้น ซึ่งอาจช่วยเพิ่มอัตราการรักษาลูกค้าได้

เพื่อป้องกันการปฏิเสธของ ACH ที่ไม่จําเป็นและจัดการการปฏิเสธเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจต่างๆ จําเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่รอบด้าน ซึ่งรวมถึงมาตรการป้องกัน การระบุปัญหาที่ทันเวลา และการดําเนินการติดตามผลที่เหมาะสม ต่อไปนี้คือขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้

มาตรการป้องกัน

  • ยืนยันข้อมูลบัญชี: ก่อนเริ่มต้นธุรกรรม ACH โปรดยืนยันบัญชีและ Routing Number ของผู้รับ คุณสามารถดําเนินการนี้ด้วยตนเองหรือผ่านบริการยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์

  • ใช้การอนุมัติที่ปลอดภัยและเหมาะสม: สําหรับการชําระเงินตามแบบแผนล่วงหน้า โปรดตรวจสอบว่าคุณได้ขอและจัดเก็บการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าหรือผู้ให้บริการไว้อย่างปลอดภัย อัปเดตข้อมูลเหล่านี้เป็นประจําเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง

  • ใช้วงเงินธุรกรรม: กําหนดวงเงินต่อวันและต่อธุรกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกินยอดเงินที่อนุญาต ซึ่งอาจทําให้ระบบปฏิเสธได้

  • ให้ความรู้แก่พนักงานและพาร์ทเนอร์: ฝึกอบรมพนักงานซึ่งจัดการธุรกรรมทางการเงินที่มีความซับซ้อนของเครือข่าย ACH เป็นประจํา รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกําหนดเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาด

  • ใช้การแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์: นําระบบที่มีการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ไปใช้กับยอดคงเหลือในบัญชีและสถานะของธุรกรรม วิธีนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการปฏิเสธเนื่องจากเงินไม่เพียงพอหรือมีเงินที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ

  • กระทบยอดบัญชีเป็นประจํา: กระทบยอดใบแจ้งยอดธนาคารอย่างสม่ำเสมอ โดยเทียบกับข้อมูลการทําบัญชีเพื่อตรวจหาข้อมูลที่ไม่ตรงกันที่อาจนําไปสู่การปฏิเสธ

การจัดการการปฏิเสธ

  • ระบุการปฏิเสธทันที: ตั้งค่าการแจ้งเตือนเพื่อแจ้งบุคลากรหลักทันทีที่เกิดการปฏิเสธขึ้นเพื่อช่วยให้ดําเนินการได้อย่างรวดเร็ว

  • ตีความรหัสการปฏิเสธ: ทําความเข้าใจเหตุผลการปฏิเสธโดยอ้างอิงจากรหัสการปฏิเสธของ ACH วิธีนี้จะช่วยแนะนำแนวทางการดําเนินการในครั้งต่อๆ ไปของคุณ

  • สื่อสารกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง: แจ้งให้ลูกค้า พนักงาน หรือผู้ให้บริการทราบเกี่ยวกับปัญหาและทํางานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา การดําเนินการนี้อาจเกี่ยวข้องกับการอัปเดตข้อมูลบัญชีหรือการรักษาแบบฟอร์มการอนุมัติใหม่ให้ปลอดภัย

  • ทําการแก้ไขที่จําเป็น: อัปเดตระบบภายในด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และเริ่มทําธุรกรรมใหม่ ACH หากจําเป็น

  • เก็บบันทึกข้อมูล: เก็บข้อมูลการปฏิเสธและการดําเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาไว้ในเอกสาร วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์สําหรับการตรวจสอบบัญชีและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ประเมินและปรับขั้นตอน: หลังจากแก้ปัญหาแต่ละรายการแล้ว ให้วิเคราะห์เพื่อระบุรูปแบบหรือปัญหาของระบบ ทําการเปลี่ยนแปลงแบบมีขั้นตอนตามความจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

การดําเนินการสําหรับสถานการณ์เฉพาะ

  • เงินเดือน: สําหรับการฝากเงินเดือนโดยตรง ให้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีอีกครั้งเมื่อพนักงานใหม่เริ่มต้นใช้งาน และทุกครั้งที่พนักงานรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดธนาคาร

  • การชําระเงินให้แก่ผู้ขาย: เมื่อชําระเงินให้ผู้ขาย โปรดตรวจสอบว่าคุณมีแบบฟอร์มและการอนุมัติที่เป็นปัจจุบัน เพื่อป้องกันความล่าช้าของธุรกรรมซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิบัติงานของซัพพลายเชนได้

  • การเรียกเก็บเงินตามแบบแผนล่วงหน้าจากลูกค้า: สําหรับการชําระเงินตามรอบบิล หรือการชําระเงินแบบผ่อนชําระ ให้เตือนลูกค้าก่อนถึงรอบการเรียกเก็บเงินแต่ละรอบ เพื่อให้แน่ใจว่ามีเงินเพียงพอและเปิดโอกาสให้ลูกค้าอัปเดตข้อมูลบัญชีได้

  • ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ: สําหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ให้ผสานฟีเจอร์การยืนยันเข้ากับเกตเวย์การชําระเงินเพื่อยืนยันรายละเอียดบัญชีแบบเรียลไทม์

  • ธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง: สําหรับธุรกรรมที่มียอดเงินสูง โปรดพิจารณาขั้นตอนการยืนยันเพิ่มเติม เช่น การยืนยันทางโทรศัพท์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธเนื่องจากปัญหาการอนุมัติหรือปัญหาเกี่ยวกับบัญชี

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe