Open Banking คือแนวทางปฏิบัติของธนาคาร บริษัทฟินเทค และผู้ให้บริการทางการเงินที่จะแชร์ข้อมูลทางการเงินผ่าน API โดยได้รับความยินยอมจากลูกค้า และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน แม้ว่า คําสั่งว่าด้วยบริการชําระเงินฉบับปรับปรุง (PSD2) และ มาตรฐาน Open Banking ของสหราชอาณาจักรจะบังคับใช้มาตรฐานการกํากับดูแล Open Banking แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ปรับใช้กรอบกฎหมายที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการเงินได้เป็นผู้นําในการพัฒนาและนําแนวทางสำหรับ Open Banking มาใช้ในสหรัฐฯ อันเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าต้องการบริการทางการเงินแบบบูรณาการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของตนมากขึ้น
แบบสํารวจของ Visa ในปี 2022 พบว่าผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา 87% ใช้ Open Banking เพื่อเชื่อมโยงบัญชีการเงินของตนเข้ากับบริการของบริษัทอื่น ถึงแม้ว่า Open Banking จะดำเนินการภายใต้โครงการริเริ่มที่ขับเคลื่อนโดยตลาดในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีความคืบหน้าในการจัดทําระเบียบข้อบังคับว่าด้วย Open Banking โดยมีสำนักงานคุ้มครองทางการเงินเพื่อผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา (CFPB) ผลักดันให้มีการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้บริโภคและดูแลรักษาความปลอดภัย ปัจจุบัน Open Banking ในสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้แนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมและข้อตกลงโดยสมัครใจระหว่างองค์กรเอกชน ซึ่งให้ความสำคัญนวัตกรรมและการสร้างความแตกต่างเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน
คู่มือนี้จะอธิบายถึงสิ่งที่คุณควรทราบเกี่ยวกับ Open Banking ในสหรัฐอเมริกา หลักการทำงาน แนวทางการกำกับดูแล ตลอดจนข้อแตกต่างจาก Open Banking ในภูมิภาคอื่นๆ
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- Open Banking คืออะไร
- ระเบียบข้อบังคับว่าด้วย Open Banking ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร
- ข้อแตกต่างระหว่าง Open Banking ในสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
- ประโยชน์ของ Open Banking สําหรับผู้บริโภคและธุรกิจ
- ความท้าทายในการใช้ Open Banking ในสหรัฐอเมริกา
- แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับ Open Banking
Open Banking คืออะไร
Open Banking คือแนวทางปฏิบัติของธนาคารและบริษัทการเงินที่แบ่งปันข้อมูลผู้บริโภคกับนักพัฒนาบุคคลที่สามโดยใช้ API (ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์) แบบเปิดเฉพาะเมื่อผู้บริโภคให้ความยินยอมเท่านั้น ซึ่งนักพัฒนาจะนำข้อมูลนี้ไปใช้สร้างแอปพลิเคชันและบริการทางการเงิน Open Banking ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมธนาคารมีการแข่งขันกันมากขึ้นและพัฒนานวัตกรรมออกมาได้เร็วขึ้น รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินส่วนบุคคล
Open Banking ต่อยอดมาจากแนวคิดที่ว่าผู้บริโภคจะเป็นเจ้าของข้อมูลทางการเงินของตัวเอง และสามารถเลือกแชร์ข้อมูลเหล่านั้นกับผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (TPP) เพื่อให้ผู้ให้บริการเหล่านี้สร้างแอปและบริการใหม่ๆ ได้ ระเบียบข้อบังคับอย่างคำสั่ง PSD2 ในสหภาพยุโรปและมาตรฐานว่าด้วย Open Banking ในสหราชอาณาจักรกําหนดให้ธนาคารเปิดระบบของตนให้กับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต เพื่อให้ผู้ให้บริการเหล่านั้นสร้างบริการและเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภค
ระเบียบข้อบังคับว่าด้วย Open Banking ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ Open Banking ในสหรัฐอเมริกายังไม่สมบูรณ์และยังไม่มีกรอบการกํากับดูแลอย่างเป็นทางการที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนอย่างในสหภาพยุโรปหรือสหราชอาณาจักร การกำกับดูแล Open Banking ของสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ภายใต้ข้อบังคับทางการเงิน แนวทางของภาคธุรกิจต่างๆ และมาตรฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากมาย ไม่ใช่ระเบียบข้อบังคับแบบรวมศูนย์
การกำกับดูแล Open Banking ในสหรัฐอเมริกามีลักษณะดังต่อไปนี้
การคุ้มครองผู้บริโภคและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: มาตรา 1033 ของกฎหมาย Dodd-Frank ถือเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสําหรับระบบ Open Banking ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตัวเองได้ และแชร์ข้อมูลนี้กับบุคคลที่สามได้อย่างปลอดภัย โดยสำนักงานคุ้มครองทางการเงินเพื่อผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา (CFPB) เป็นหน่วยงานกํากับดูแลหลักในสหรัฐอเมริกาที่ดูแลเกี่ยวกับ Open Banking
มาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล: ระเบียบข้อบังคับอย่างกฎหมาย Gramm-Leach-Bliley (GLBA) กําหนดมาตรฐานเกี่ยวกับวิธีการที่สถาบันการเงินต้องนำมาใช้ปกป้องข้อมูลผู้บริโภคและรักษาความเป็นส่วนตัว เมื่อแชร์ข้อมูลผู้บริโภคกับบุคคลที่สาม สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เข้มงวดภายใต้กฎหมายดังกล่าว
มาตรฐานอุตสาหกรรมโดยสมัครใจ: กลุ่มอุตสาหกรรมและสมาคมต่าง ๆ เริ่มสร้างมาตรฐานโดยสมัครใจเพื่ออํานวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูล ตัวอย่างเช่น Financial Data Exchange (FDX) กลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกําไรที่จัดทำและส่งเสริมการใช้มาตรฐาน API เพื่อให้มีการเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลทางการเงินอย่างปลอดภัยและสะดวกง่ายดาย
แนวทางและการทํางานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน: หน่วยงานกํากับดูแลต่างๆ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานกํากับดูแลของธนาคารกลาง สำนักงานควบคุมเงินตราของสหรัฐฯ (OCC) และองค์กรประกันเงินฝากในสหรัฐอเมริกา (FDIC) ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับธนาคารว่าด้วยวิธีจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากความสัมพันธ์ภายนอกประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Open Banking (กล่าวคือการแชร์ข้อมูลกับบริษัทฟินเทคหรือผู้รวบรวมข้อมูล)
ระเบียบข้อบังคับสำหรับระบบ Open Banking ในสหรัฐอเมริกายังอยู่ระหว่างการพัฒนา เป้าหมายของ CFPB ที่ส่งเสริมการใช้งาน Open Banking อย่างค่อยเป็นค่อยไปคือเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคกับการดูแลความปลอดภัยที่จําเป็น โดยจะค่อยๆ ขยายขอบเขตของ Open Banking ไปเรื่อยๆ
ในเดือนตุลาคม 2023 CFPB ได้เสนอกฎระเบียบว่าด้วยสิทธิ์เกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล (“กฎระเบียบที่เสนอ”) เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงมาใช้ Open Banking กฎระเบียบดังกล่าวจะกำกับดูแลด้านต่างๆ ต่อไปนี้
การควบคุมของผู้บริโภค: กฎระเบียบที่เสนอช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตัวเองและอนุญาตให้แชร์ข้อมูลนี้กับผู้ให้บริการบุคคลที่สามได้อย่างปลอดภัย
สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน: กฎระเบียบที่เสนอกําหนดรูปแบบมาตรฐานให้กับการแบ่งปันข้อมูลทําให้ข้อมูลสอดคล้องกันและทุกฝ่ายเข้าถึงได้
ความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล: กฎระเบียบที่เสนอเน้นความสำคัญของมาตรการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่รัดกุมเพื่อปกป้องข้อมูลผู้บริโภค โดยห้ามไม่ให้บริษัทต่างๆ ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนอย่างผิดๆ หรือแสวงประโยชน์ทางการเงินอย่างไม่เหมาะสม
ข้อแตกต่างระหว่าง Open Banking ในสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
แม้ว่าระบบ Open Banking ในสหรัฐอเมริกาจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา แต่ก็ใช้แนวทางที่คล้ายคลึงกับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร โดยให้ความสำคัญกับความยินยอมของผู้บริโภค การสร้างมาตรฐานข้อมูล และการเพิ่มการแข่งขันด้านการเงิน กฎระเบียบที่ CFPB เสนอเป็นก้าวสําคัญสําหรับ Open Banking ในสหรัฐอเมริกา
ต่อไปนี้คือความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง Open Banking ของสหรัฐอเมริกากับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นสองผู้นําด้านระเบียบข้อบังคับว่าด้วย Open Banking
ระเบียบข้อบังคับ
สหรัฐอเมริกา: ไม่มีกฎหมายสำหรับ Open Banking โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมการเงินเป็นผู้ให้คำแนะนำการเริ่มใช้งาน ส่วนแนวทางกํากับดูแลมีจุดมุ่งหมายเพื่อการคุ้มครองข้อมูลและสิทธิ์ของผู้บริโภคภายใต้กฎหมายทางการเงินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมาย Dodd-Frank และกฎหมาย Gramm-Leach-Bliley Act
สหภาพยุโรป: Open Banking อยู่ภายใต้คําสั่งว่าด้วยบริการชําระเงินฉบับปรับปรุง (PSD2) ซึ่งกําหนดให้ธนาคารต้องเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้าถึงข้อมูลบริการธนาคารสําหรับผู้บริโภค ธุรกรรม และข้อมูลทางการเงินอื่นๆ ผ่าน API หลังจากได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคแล้ว
สหราชอาณาจักร: สหราชอาณาจักรกำหนดกฎระเบียบสำหรับ Open Banking ของตัวเอง ซึ่งคล้ายกับ PSD2 และอยู่ภายใต้การจัดการของหน่วยงานกำกับดูแลการใช้งานระบบ Open Banking (OBIE) ระเบียบข้อบังคับนี้มีโครงสร้างที่เป็นระบบมากกว่าและมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับวิธีที่ธนาคารและบุคคลที่สามติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน
การใช้งาน
สหรัฐอเมริกา: การใช้งานเป็นไปโดยสมัครใจและแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน ธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งมี API พร้อมแล้วและทำงานร่วมกับบริษัทฟินเทค ในขณะที่ธนาคารอื่นๆ ปรับตัวและนำมาใช้ช้ากว่า
สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร: ธนาคารจําเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุง API ที่ TPP นำไปใช้สร้างบริการทางการเงินได้ ซึ่งการดำเนินการนี้จะอยู่ภายใต้มาตรฐานและการกํากับดูแลที่เข้มงวด
การเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค
สหรัฐอเมริกา: การเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคเป็นไปตามหลักการให้ความยินยอมของผู้บริโภคภายใต้กฎหมายความเป็นส่วนตัวที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกให้กับระบบนิเวศ TPP น้อยกว่า
สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร: การคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภคและการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคมีความสำคัญเท่าเทียมกัน
สิ่งที่ให้ความสำคัญและผลลัพธ์
สหรัฐอเมริกา: ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสะดวกสบายของผู้บริโภคและความปลอดภัยของข้อมูลในบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิม
สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร: ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการแข่งขันและการลดค่าใช้จ่ายในภาคธุรกิจบริการทางการเงิน
การเข้าร่วมอุตสาหกรรม
สหรัฐอเมริกา: ไม่บังคับให้เข้าร่วม การเข้าร่วมจะเกิดขึ้นผ่านการเป็นพาร์ทเนอร์และการทำงานร่วมกัน ซึ่งบ่อยครั้งมักจะกำหนดโดยกลไกตลาด แนวทางบางอย่างที่อุตสาหกรรมริเริ่มขึ้นมา (เช่น มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน) มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน
สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร: ธนาคารมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมและปฏิบัติตามมาตรฐานกํากับดูแล ซึ่งบังคับใช้กับสถาบันทางการเงินทุกแห่งในรูปแบบเดียวกัน
ตลาด
|
สหรัฐอเมริกา
|
สหภาพยุโรป
|
สหราชอาณาจักร
|
---|---|---|---|
ระยะของการกำกับดูแล
|
การพัฒนา กฎที่ CFPB เสนอสำหรับปี 2023 เป็นการเติบโตก้าวใหญ่ | มั่นคง PSD2 จัดตั้งกรอบงานที่เชื่อมั่นได้สำหรับ Open Banking | มั่นคง มาตรฐาน Open Banking เป็นแนวทางการปรับใช้ |
ความยินยอมของผู้บริโภค
|
ศูนย์กลางการแชร์ข้อมูล ผู้บริโภคเป็นผู้อนุมัติการเข้าถึงโดยบุคคลที่สามอย่างชัดเจน | ศูนย์กลางการแชร์ข้อมูล มีกลไกการยินยอมที่มีประสิทธิภาพ | ศูนย์กลางการแชร์ข้อมูล ผู้บริโภคสามารถควบคุมได้อย่างละเอียด |
ขอบเขตข้อมูล
|
เริ่มต้นจากการมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลทางธนาคารของผู้บริโภค มีโอกาสขยายไปสู่ข้อมูลทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต | ครอบคลุมข้อมูลทางการเงินที่หลากหลาย รวมถึงการเริ่มการชำระเงินและบริการข้อมูลบัญชี | ครอบคลุมบริการและข้อมูลด้านการเงินในช่วงเท่าๆ กับสหภาพยุโรป |
การจัดทำมาตรฐาน
|
กฎที่ CFPB เสนอมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรูปแบบการแชร์ข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน | การสร้างมาตรฐานที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็น | การสร้างมาตรฐานที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็น |
การนำไปใช้ในตลาด
|
การเกิดใหม่ ความสนใจจากฟินเทคและสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมมีมากขึ้นเรื่อยๆ | อัตราการใช้งานสูง TPP จำนวนมากดำเนินงานในตลาดนี้ | อัตราการใช้งานสูง Open Banking ได้กลายเป็นทางเลือกปกติสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจจำนวนมาก |
การแข่งขัน
|
คาดว่า Open Banking จะช่วยเพิ่มการแข่งขันและกระตุ้นนวัตกรรมในบริการทางการเงิน | Open Banking นำไปสู่การแข่งขันที่มากขึ้นและมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเกิดใหม่ตามมา | Open Banking ได้ก่อให้เกิดมาร์เก็ตเพลสที่มีการแข่งขันสูงและนวัตกรรมฟินเทคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว |
ความท้าทาย
|
หาจุดลงตัวระหว่างความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้บริโภคกับการเข้าถึงที่เปิดกว้าง ทำให้มั่นใจได้ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง | จัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจมี ทำให้มั่นใจว่าธนาคารแบบดั้งเดิมกับ TPP มีการแข่งขันที่ยุติธรรม | จัดการการเปลี่ยนแปลงสำหรับธนาคารขนาดเล็ก รับมือกับข้อสงสัยที่ผู้บริโภคอาจมี |
ประโยชน์ของ Open Banking สําหรับผู้บริโภคและธุรกิจ
Open Banking ช่วยปรับปรุงบริการด้านการเงิน สร้างโอกาสและสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ
สิทธิประโยชน์สําหรับผู้บริโภค
การจัดการทางการเงินส่วนบุคคล: Open Banking ช่วยให้ผู้บริโภครวบรวมข้อมูลทางการเงินจากหลายบัญชีไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งจะให้มุมมองทางการเงินแบบองค์รวมและช่วยอํานวยความสะดวกด้านการจัดงบประมาณ การติดตามค่าใช้จ่าย การกําหนดเป้าหมายทางการเงิน ตลอดจนบริการแนะนําการลงทุน
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอัจฉริยะ: เมื่อใช้ Open Banking API บริษัทฟินเทคจะสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น เงินกู้ ประกันภัย และตัวเลือกการลงทุนที่ปรับตามความต้องการและโปรไฟล์ความเสี่ยงของผู้บริโภคแต่ละราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับอัตราดอกเบี้ยถูกลง อนุมัติวงเงินได้รวดเร็วขึ้น และเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้า
ประสบการณ์ของผู้ใช้: Open Banking มีฟีเจอร์การเงินดิจิทัลที่สะดวกและใช้งานง่าย เช่น การชําระเงินภายในคลิกเดียว การออมเงินอัตโนมัติ และข้อมูลเชิงลึกด้านการเงิน
ที่ปรึกษาหุ่นยนต์และการลงทุนอัตโนมัติ: Open Banking ช่วยให้ที่ปรึกษาด้านการเงินที่เป็นหุ่นยนต์เข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้หลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้คําแนะนําด้านการลงทุนมีความแม่นยํามากขึ้นและจัดการพอร์ตโฟลิโอให้นักลงทุนแบบอัตโนมัติได้
เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน: Open Banking ช่วยให้ผู้ที่เข้าถึงสินเชื่อได้จำกัดหรือบุคคลที่ไม่สามารถใช้บริการธนาคารแบบดั้งเดิมได้เท่าที่ควรสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ TPP จะขยายสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ให้กับประชากรได้ในวงกว้างโดยใช้แหล่งข้อมูลทางเลือกและอัลกอริทึมขั้นสูงมาประเมินใบสมัครเงินกู้และสินเชื่อ
สิทธิประโยชน์สำหรับทางธุรกิจ
โซลูชันการชําระเงิน: Open Banking ช่วยให้วิธีการชําระเงินรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น TPP จะเริ่มการชําระเงินจากบัญชีผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาวิธีการแบบเก่าได้
การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน: การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินจากหลายแหล่งช่วยให้ธุรกิจได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์เกี่ยวกับพฤติกรรม รูปแบบการใช้จ่าย และโปรไฟล์ความเสี่ยงของผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจต่างๆ สามารถนําข้อมูลนี้ไปใช้จัดทำแคมเปญการตลาดแบบกําหนดเป้าหมายและปรับปรุงการบริการลูกค้าได้
โมเดลธุรกิจใหม่ๆ: Open Banking ช่วยส่งเสริมให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในภาคธุรกิจการเงิน ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทคต่างใช้ Open Banking API เพื่อสร้างแพลตฟอร์มและบริการมาทดแทนผลิตภัณฑ์ของสถาบันธนาคารแบบเก่า
การป้องกันการฉ้อโกงและการรักษาความปลอดภัย: Open Banking ช่วยให้ธุรกิจและบุคคลทั่วไปสามารถจําแนกธุรกรรมที่น่าสงสัยและป้องกันการฉ้อโกง ได้โดยการช่วยให้มองเห็นกิจกรรมทางการเงินอย่างครอบคลุมมากขึ้น
บริการทางการเงินที่ผสานรวมในตัว: Open Banking ช่วยให้ธุรกิจนอกภาคการเงินผสานบริการทางการเงินเข้ากับสินค้าหรือบริการของตนได้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถเสนอสินเชื่อแบบทันทีหรือผลิตภัณฑ์ประกันภัยในขั้นตอนการชําระเงิน ส่วนแอปการเดินทางแบบร่วมโดยสารก็สามารถให้บริการโซลูชันการชําระเงินในแอปได้
โซลูชันด้านการเงินสําหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME): SME จะได้รับประโยชน์จากโซลูชันที่ใช้ระบบ Open Banking เช่น การคาดการณ์กระแสเงินสด การออกใบแจ้งหนี้อัตโนมัติ และสิทธิ์เข้าถึงตัวเลือกการจัดหาเงินทุนทางเลือก
ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน: ธุรกิจที่หันมาใช้ระบบ Open Banking เป็นกลุ่มแรกๆ จะมีความได้เปรียบในการเสนอบริการทางการเงินอันล้ำสมัยที่เน้นลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว
ความท้าทายในการใช้ Open Banking ในสหรัฐอเมริกา
การใช้ Open Banking ในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ได้แก่
ระเบียบข้อบังคับ: ระเบียบข้อบังคับของสหรัฐฯ ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ แตกต่างจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ที่ระเบียบข้อบังคับด้าน Open Banking เสถียรและอยู่ตัวแล้ว ความไม่แน่นอนนี้อาจส่งผลให้สถาบันการเงินและบริษัทฟินเทคบางแห่งไม่อยากลงทุนกับโครงการริเริ่มเกี่ยวกับ Open Banking
ความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล: การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อนกับ TPP จะทําให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ระเบียบข้อบังคับด้านการคุ้มครองข้อมูลที่รัดกุม และกลไกการให้ความยินยอมที่ชัดเจน จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและปกป้องข้อมูลจากการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการละเมิดข้อมูลได้
การสร้างมาตรฐานและการทํางานร่วมกัน: API และรูปแบบข้อมูลจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้สถาบันทางการเงินและ TPP ทั้งหลายทํางานร่วมกันได้ หากไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ก็อาจสร้างอุปสรรคทางเทคนิคและขัดขวางการพัฒนาระบบนิเวศ Open Banking
ระบบแบบเก่า: สถาบันทางการเงินหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาพึ่งพาระบบแบบเก่าที่ล้าสมัย ซึ่งอาจจะเข้ากับเทคโนโลยี Open Banking ไม่ได้ การอัปเกรดระบบเหล่านี้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้
ความไว้วางใจจากผู้บริโภค: ผู้บริโภคอาจจะไม่ต้องการให้ข้อมูลทางการเงินกับ TPP เนื่องจากกังวลเรื่องการรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้น อุตสาหกรรมจึงต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของ Open Banking และสร้างแนวทางการแชร์ข้อมูลที่โปร่งใส
การแข่งขันและพลวัตของตลาด: Open Banking อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมธนาคารดั้งเดิม ส่งผลให้บริษัทฟินเทคและผู้เล่นนอกภาคธุรกิจธนาคารแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้น สถานการณ์นี้อาจทําให้สถาบันการเงินแบบเก่าเผชิญกับความท้าทาย โดยอาจต้องปรับโมเดลธุรกิจและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ความรับผิดและการจัดการความเสี่ยง: อุตสาหกรรมต้องกำหนดว่าใครคือผู้รับผิดชอบในกรณีที่เกิดการละเมิดข้อมูล การฉ้อโกง หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบ Open Banking รวมทั้งต้องระบุความรับผิดอย่างชัดเจนเพื่อปกป้องผู้บริโภคและธุรกิจ
ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและมอบความคุ้มครองอย่างสมดุล: มาตรฐานและระเบียบข้อบังคับของ Open Banking ต้องส่งเสริมสร้างสรรค์นวัตกรรมและปกป้องผู้บริโภคอย่างสมดุลกัน กล่าวคือ ระเบียบข้อบังคับควรจะยืดหยุ่นเพียงพอให้เกิดการทดลองและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับ Open Banking
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ Open Banking ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
เริ่มต้นใช้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไป: เริ่มด้วยโปรเจกต์นําร่อง โดยเน้นกรณีการใช้งานหรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง จากนั้นทดสอบ ปรับปรุง และปรับขนาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงและเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด
ความปลอดภัยของ API: ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม เช่น OAuth 2.0 ในการตรวจสอบสิทธิ์และอนุมัติ เข้ารหัสสําหรับการส่งข้อมูล และตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเป็นประจําเพื่อระบุหาและแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ นอกจากนี้ควรออกแบบ API ให้ปรับเปลี่ยนและปรับขนาดได้เพื่อรับมือกับปริมาณการใช้งานและความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ประสิทธิภาพของ API: ใช้เครื่องมือวิเคราะห์และตรวจสอบติดตามที่มีประสิทธิภาพเพื่อติดตามประสิทธิภาพของ API ระบุปัญหาติดขัด และร่นระยะเวลาตอบกลับ ตลอดจนวิเคราะห์รูปแบบการใช้งานเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า และปรับแต่งข้อเสนอของคุณให้สอดคล้องกัน
ธรรมาภิบาลข้อมูลและกลไกการให้คํายินยอม: กําหนดนโยบายที่ชัดเจนสําหรับการเข้าถึง การใช้งาน และการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งขอความยินยอมอย่างชัดแจ้งและละเอียดจากลูกค้าก่อนแชร์ข้อมูลกับ TPP นอกจากนี้ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใสสำหรับการแชร์ข้อมูลและทำให้ลูกค้าสามารถควบคุมข้อมูลของตัวเองได้
ประสบการณ์ของนักพัฒนา: สร้างเอกสารประกอบที่มีเนื้อหาครอบคลุม ตลอดจน SDK (ชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์) และสภาพแวดล้อมแซนด์บ็อกซ์ เพื่อช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชันและบริการต่อยอดจาก Open Banking API ของคุณได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ควรสร้างชุมชนของนักพัฒนาและมอบช่องทางขอการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการทํางานร่วมกัน
พาร์ทเนอร์ด้านฟินเทค การเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทฟินเทคจะช่วยเร่งกระบวนการปรับใช้ Open Banking ของคุณได้ เพราะคุณจะได้ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์เกี่ยวกับลูกค้า และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของพาร์ทเนอร์มาช่วยพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ และขยายการเข้าถึงลูกค้า
การเปลี่ยนแปลงของระเบียบข้อบังคับ: ติดตามข้อกําหนดทางกฎหมายและมาตรฐานอุตสาหกรรมล่าสุดเกี่ยวกับ Open Banking เพื่อจะได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดและคงไว้ซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขัน
การมีส่วนร่วมของลูกค้า: ให้ข้อมูลลูกค้าเกี่ยวกับประโยชน์ของ Open Banking และวิธีการที่คุณใช้และปกป้องข้อมูลของลูกค้า รวมทั้งแจ้งแนวทางการแชร์ข้อมูล กลไกการให้ความยินยอม และมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างกระชับและชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและนำไปใช้
ประสบการณ์ของผู้ใช้: ออกแบบอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายและประสบการณ์ที่ใช้งานง่ายให้แก่ลูกค้า สร้างโซลูชัน Open Banking ที่เข้าถึงได้และใช้งานง่าย ซึ่งเชื่อมต่อการทํางานกับขั้นตอนการทํางานในปัจจุบัน
การทดลอง: Open Banking พัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อจะได้มอบบริการทางการเงินที่เหนือกว่า
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ