วิธีระดมทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณ: คู่มือเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดหาเงินทุนและแหล่งเงินทุน

Atlas
Atlas

จัดตั้งบริษัทได้ด้วยการคลิกไม่กี่ครั้งและพร้อมที่จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้า จัดจ้างทีมงาน และระดมทุน

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ระยะการจัดหาเงินทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพมีอะไรบ้าง
  3. ความสําคัญของการระดมทุนในแต่ละระยะของธุรกิจสตาร์ทอัพ
  4. แหล่งที่มาของเงินทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
    1. การจัดหาเงินทุนด้วยตัวเองและการใช้เงินทุนของตัวเองหรือ Bootstrapping
    2. เพื่อนและครอบครัว
    3. นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor):
    4. บริษัทร่วมลงทุน
    5. การระดมทุนสาธารณะ
    6. เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนของรัฐบาล
    7. สินเชื่อธนาคารและวงเงินสินเชื่อ
  5. วิธีสร้างแผนการจัดหาเงินทุนสําหรับบริษัทสตาร์ทอัพ

การระดมทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพคือการจัดหาเงินทุนที่มั่นคงเพื่อสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาธุรกิจใหม่ เปลี่ยนแนวคิดเชิงนวัตกรรมให้กลายเป็นองค์กรที่ดําเนินงานได้จริง ธุรกิจสตาร์ทอัพมักต้องได้รับเงินทุนเป็นจํานวนมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิจัยตลาดพนักงาน และการเติบโตด้านการดำเนินกิจการ

ต่อไป เราจะอธิบายถึงวิธีระดมทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งรวมถึงระยะการระดมทุน แหล่งเงินทุนที่พบได้ทั่วไป และแผนการจัดหาเงินทุนที่เหมาะกับเป้าหมายและระยะการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณ

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ระยะการจัดหาเงินทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพมีอะไรบ้าง
  • ความสําคัญของการระดมทุนในแต่ละระยะของธุรกิจสตาร์ทอัพ
  • แหล่งที่มาของเงินทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
  • วิธีสร้างแผนการจัดหาเงินทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ

ระยะการจัดหาเงินทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพมีอะไรบ้าง

ระยะการจัดหาเงินทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพประกอบด้วยช่วงต่างๆ ในวงจรการดําเนินงานของบริษัท ซึ่งธุรกิจแต่ละรายมีลักษณะเฉพาะ เป้าหมาย และประเภทนักลงทุนที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ แต่ละระยะยังมีการจัดหาเงินทุนในระดับที่แตกต่างกันด้วย ดังนี้ Crunchbase รายงานว่า ระยะเริ่มต้น (Seed round) โดยเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2023 สําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนระยะ Series A เฉลี่ยอยู่ที่ 18.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อไปนี้คือภาพรวมของระยะเหล่านี้

  • การจัดหาเงินทุนสําหรับก่อนระยะเริ่มต้น (Pre-seed funding)
    ระยะถือเป็นระยะการจัดหาเงินทุนที่เร็วที่สุด โดยทั่วไปแล้ว ผู้ก่อตั้งธุรกิจจะต้องใช้ทรัพยากรของตัวเองหรือเงินทุนจากเพื่อนและครอบครัวเพื่อเปิดตัวธุรกิจ การจัดหาเงินทุนสําหรับก่อนระยะเริ่มต้นมักเกิดขึ้นก่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์

  • การจัดหาเงินทุน
    การจัดหาเงินทุนคือระยะการจัดหาเงินทุนอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธุรกิจสตาร์ทอัพมีการเติบโตในระดับหนึ่งแล้ว นักลงทุนในระยะนี้ ได้แก่ นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (angel investor) บริษัทบ่มเพาะธุรกิจ และบริษัทร่วมลงทุนที่เชี่ยวชาญในการลงทุนในระยะเริ่มต้น

  • การจัดหาเงินทุนในระยะ Series A
    ในระยะนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ได้สร้างบันทึกธุรกิจหรือ Track record (ฐานผู้ใช้ที่เป็นที่ยอมรับ ตัวเลขรายรับที่สอดคล้องกัน หรือตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพหลักอื่นๆ บางส่วน) บริษัทร่วมลงทุนคือนักลงทุนหลักๆ ในระยะ Series A และบริษัทเหล่านี้คาดหวังจะได้เห็นโมเดลธุรกิจที่พัฒนาแล้วและกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการสร้างผลกำไร

  • การจัดหาเงินทุนในระยะ Series B
    บริษัทที่เข้าไปถึงระยะนี้ได้ถือเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและแสวงหาทางขยายการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น การจัดหาเงินทุนในระยะ Series B มักจะมาจากบริษัทร่วมลงทุน

  • การจัดหาเงินทุนในระยะ Series C และอื่นๆ
    ระยะการจัดหาเงินทุนเหล่านี้ (Series C, D และอื่นๆ) มักจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื่องจากบริษัทมีผลงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ระยะเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับบริษัทหุ้นเอกชน ธนาคารเพื่อการลงทุน และในบางกรณีก็เป็นกองทุนบริหารความเสี่ยง เป้าหมายสุดท้ายของระยะการจัดหาเงินทุนเหล่านี้มักเป็นการเตรียมบริษัทให้พร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) หรือการเข้าซื้อกิจการ

แต่ละระยะแสดงถึงแต่ละก้าวในการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงการขยายตลาด ซึ่งต้องใช้เงินทุนและนักลงทุนประเภทต่างๆ ความคาดหวัง ความเสี่ยง และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนจะแตกต่างกันอย่างมากในระยะเหล่านี้

ความสําคัญของการระดมทุนในแต่ละระยะของธุรกิจสตาร์ทอัพ

ความต้องการของธุรกิจสตาร์ทอัพจะเปลี่ยนไปในระยะต่างๆ และการระดมทุนใดๆ ควรพิจารณาถึงความพร้อมของธุรกิจ ต่อไปนี้คือภาพรวมเกี่ยวกับระยะต่างๆ ของการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และผลกระทบของการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีต่อกระบวนการตัดสินใจด้านการระดมทุน

  • การจัดหาเงินทุนก่อนและในระยะเริ่มต้น
    ในระยะแรกๆ นี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพมักไม่มีเงินทุนที่จะเปลี่ยนไอเดียให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จับต้องได้ การระดมทุนจะนำไปใช้ในกิจกรรมพื้นฐานต่างๆ เช่น การวิจัยตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และและการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำ (MVP) นอกจากนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพยังใช้เงินทุนเหล่านี้เพื่อว่าจ้างพนักงานหลักๆและสร้างโมเดลธุรกิจด้วย เงินทุนที่ได้จะช่วยตรวจสอบแนวคิดทางธุรกิจและเตรียมธุรกิจสตาร์ทอัพให้พร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

  • การจัดหาเงินทุนในระยะ Series A
    เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพพัฒนา MVP ของตัวเองและได้รับการยอมรับมากขึ้น (แสดงให้เห็นผ่านจำนวนผู้ใช้ รายได้ หรือตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่สำคัญอื่นๆ) ธุรกิจสตาร์ทอัพจะใช้เงินทุนจากระยะ Series A เพื่อขยายธุรกิจ ระยะต่อไปของการระดมทุนนี้เน้นไปที่การปรับแต่งผลิตภัณฑ์หรือบริการ การขยายฐานลูกค้า และการพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพ โดยจะให้เงินทุนในการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดที่ตรวจสอบแล้วไปเป็นบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจที่ปรับขนาดได้

  • การจัดหาเงินทุนในระยะ Series B
    ในระยะนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพพร้อมที่จะขยายธุรกิจอย่างมีนัยสําคัญ การจัดหาเงินทุนระยะ Series B ช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถขยายการเข้าถึงตลาด ลงทุนในการหาพนักงานที่มีความสามารถ ยกระดับเทคโนโลยีหรือโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งอาจขยายเข้าสู่ตลาดหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ โดยสนับสนุนความพยายามของธุรกิจสตาร์ทอัพในการครองตลาดที่มีอยู่หรือจับตลาดใหม่ๆ นําหน้าคู่แข่ง

  • การจัดหาเงินทุนในระยะ Series C และอื่นๆ
    เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพก้าวหน้าสู่ Series C และระยะต่อๆ ไป ธุรกิจเหล่านี้มักจะเป็นที่รู้จักในตลาดของตน การรจัดหาเงินทุนในระยะ Series C จะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจเพิ่มเติม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการแสวงหาโอกาสการเติบโตอื่นๆ เช่น การเข้าซื้อกิจการ ซึ่งขั้นตอนการจัดหาเงินทุนเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทมีตําแหน่งที่มั่นคงและขยายการเข้าถึงในขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น การเจาะตลาดโลกหรือการกระจายข้อเสนอต่างๆ

  • กลยุทธ์การออกจากการทำธุรกิจ (Exit strategies)
    ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่งมีเป้าหมายระยะยาวในออกจากการทำธุรกิจผ่านการทำ IPO หรือการเข้าซื้อกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเงินทุนสนับสนุนจากการ่วมลงทุน การระดมทุนในระยะต่อๆ มาสามารถช่วยสร้างการประเมินค่าของบริษัทและทําให้มีความน่าสนใจสําหรับนักลงทุนในตลาดสาธารณะหรือผู้ที่อาจเข้าซื้อกิจการ

แหล่งที่มาของเงินทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ

นอกเหนือจากการรักษาไว้ซึ่งเงินทุนแล้ว การระดมทุนยังช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และได้รับข้อมูลเชิงลึกและคำปรึกษาอันมีค่าจากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ สิ่งที่คุณสนใจมากที่สุดในการได้รับจากระยะการจัดหาเงินทุนหนึ่งๆ จะกำหนดว่าแหล่งเงินทุนใดเหมาะสมที่สุด สําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ มีตัวเลือกมากมาย ต่อไปนี้คือภาพรวมของแหล่งเงินทุนหลักๆ

การจัดหาเงินทุนด้วยตัวเองและการใช้เงินทุนของตัวเองหรือ Bootstrapping

  • สิ่งนี้คืออะไร: การจัดหาเงินทุนด้วยตัวเองและการใช้เงินทุนของตนเองหมายถึงแนวทางการเริ่มต้นบริษัทด้วยทรัพยากรทางการเงินของตนเอง แทนที่จะใช้เงินทุนจากภายนอก จากนั้น บริษัทจะนำรายได้เริ่มแรกกลับมาลงทุนใหม่ในธุรกิจเพื่อเติบโตต่อไป

ข้อดี

  • การควบคุมที่สมบูรณ์: ผู้ประกอบการยังคงมีกรรมสิทธิ์อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถควบคุมการตัดสินใจทางธุรกิจและทิศทางของตนโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากนักลงทุนภายนอก

  • มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน: ธุรกิจที่ดําเนินธุรกิจด้วยการใชเงินทุนของตนเองมักจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตช้าๆ แต่มั่นคง ซึ่งอาจนําไปสู่การดําเนินธุรกิจในระยะยาวที่ยั่งยืนมากขึ้น

  • ไม่มีแรงกดดันในการชำระเงินคืน: หากไม่มีเงินกู้หรือนักลงทุนภายนอก ก็ไม่จําเป็นต้องกดดันที่จะปฏิบัติตามกําหนดเวลาการชำระเงินคืนหรือผลตอบแทนจากความคาดหวังด้านการลงทุน

  • สัญญาณที่แข็งแกร่งถึงนักลงทุน: เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการทําธุรกิจด้วยเงินทุนของตนเองที่ประสบความสําเร็จ ซึ่งเป็นสัญญาณอันแข็งแกร่งที่ส่งถึงนักลงทุนในอนาคตที่บ่งบอกถึงศักยภาพของบริษัทและความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ

ข้อเสีย

  • แหล่งเงินทุนที่จํากัด: การจัดหาเงินทุนด้วยตัวเองอาจจํากัดจํานวนเงินที่ใช้ได้ ซึ่งอาจทําให้โอกาสในการเติบโตและการขยายธุรกิจช้าลง

  • ความเสี่ยงทางการเงินส่วนบุคคล: ผู้ประกอบการนำเงินทุนของตนเองไปอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งอาจเป็นภาระหนักหากธุรกิจล้มเหลว

  • ค่าใช้จ่ายด้านโอกาส: เงินและเวลาที่ลงทุนไปนั้นอาจนําไปใช้กับด้านอื่นๆ ที่อาจมีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่า

  • ศักยภาพในการเติบโตที่ช้า: การใช้เงินทุนของตนเองอาจนําไปสู่การเติบโตที่ช้าลง เนื่องจากการลงทุนซ้ำจะจำกัดอยู่แค่การสร้างรายได้ของธุรกิจเองเท่านั้น

การจัดหาแหล่งเงินทุนด้วยตัวเองและการใช้เงินทุนของตนเองจะมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถเปิดตัวและเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนล่วงหน้าจำนวนมาก ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสําหรับผู้ประกอบการที่ต้องการรักษาการควบคุมไว้ และธุรกิจที่มีแนวทางที่ชัดเจนในการทํากําไร

การจัดหาเงินทุนด้วยตัวเองอาจมีประโยชน์สําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นบริการหรือธุรกิจที่มีความต้องการเงินทุนเริ่มแรกน้อยที่สุด เนื่องจากช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายการดําเนินงานได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือต้องเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด แนวทางนี้อาจมีประสิทธิผลน้อยกว่า

เพื่อนและครอบครัว

  • สิ่งนี้คืออะไร: การจัดหาเงินทุนจากเพื่อนและครอบครัวนั้นเป็นการขอการสนับสนุนทางการเงินโดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แหล่งเงินทุนประเภทนี้มักเป็นแหล่งแรกๆ ที่ผู้ประกอบการพิจารณาเนื่องด้วยความไว้วางใจและความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้อง

ข้อดี

  • ความเรียบง่ายและความรวดเร็ว: การจัดหาเงินทุนจากเพื่อนและครอบครัวอาจมีความซับซ้อนน้อยกว่าและรวดเร็วกว่าช่องทางการลงทุนอย่างเป็นทางการ ด้วยระเบียบการและข้อกําหนดทางกฎหมายที่น้อยกว่า

  • ข้อกําหนดที่ยืดหยุ่น: เงินกู้หรือการลงทุนจากเพื่อนและครอบครัวอาจมาพร้อมกับข้อกําหนดการชําระคืนที่ยืดหยุ่นกว่า และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับเงินกู้แบบเดิมๆ

  • การสนับสนุนทางอารมณ์: เพื่อนและครอบครัวสามารถให้การสนับสนุนทางอารมณ์และศีลธรรม ซึ่งอาจทรงคุณค่าในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งเป็นระยะที่ท้าทาย

  • ความไว้วางใจที่เข้มแข็ง: นักลงทุนเหล่านี้รู้และเชื่อในผู้ประกอบการอยู่แล้ว ซึ่งสามารถนำไปสู่ความมุ่งมั่นร่วมกันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ

ข้อเสีย

  • ความสัมพันธ์ที่อาจเกิดความตึงเครียด: การนำความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจอาจทําให้เกิดความตึงเครียดหรือความขัดแย้งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธุรกิจสตาร์ทอัพประสบปัญหาหรือล้มเหลว

  • ศักยภาพในการให้เงินทุนที่จํากัด: เพื่อนและครอบครัวอาจจะไม่ได้มีเงินทุนจํานวนมาก ซึ่งอาจจํากัดศักยภาพการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ

  • ขาดความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ: เพื่อนและครอบครัวอาจไม่สามารถส่งมอบความเชี่ยวชาญทางธุรกิจที่มีคุณค่า หรือโอกาสในการสร้างเครือข่ายที่จําเป็นสําหรับการเติบโต ซึ่งแตกต่างจากนักลงทุนมืออาชีพ

  • การบริหารจัดการทุน: การยอมรับการลงทุนจากเครือข่ายส่วนบุคคลอาจทําให้การกระจายหุ้นและระยะการลงทุนในอนาคตมีความซับซ้อน

การจัดหาเงินทุนจากเพื่อนและครอบครัวมีประสิทธิผลสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้นที่ต้องการเงินทุนจำนวนไม่มากนักเพื่อให้เริ่มต้นได้หรือไปถึงจุดหมายถัดไป ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายส่วนตัวที่แข็งแกร่งและเป็นผู้เต็มใจที่จะลงทุนในวิสัยทัศน์ของตน วิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือผู้ที่ต้องการความเชี่ยวชาญและเครือข่ายทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์

นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor):

  • สิ่งนี้คืออะไร: การลงทุนของนักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยที่ให้ทุนแก่ธุรกิจสตาร์อัพ โดยปกติจะแลกกับหนี้แปลงสภาพหรือส่วนของเจ้าของ กลุ่มนักลงทุน Angel Investor ลงทุนประมาณ 950 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนเหล่านี้จะนําเสนอความเชี่ยวชาญ การให้คําปรึกษา และการเข้าถึงเครือข่ายของตน รวมถึงการสนับสนุนทางการเงิน

ข้อดี

  • คําแนะนําและแนวทาง: นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) สําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพมักจะมีประสบการณ์ด้านการเป็นผู้ประกอบการ และสามารถให้คําปรึกษาและให้คําแนะนําที่มีคุณค่าเพื่อช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพ

  • โอกาสในการสร้างเครือข่าย: พวกเขาสามารถแนะนำธุรกิจสตาร์ทอัพให้รู้จักกับพาร์ทเนอร์ ลูกค้า และนักลงทุนในอนาคตได้ผ่านเครือข่ายที่มั่นคงของตน

  • ความเป็นทางการน้อยลงและการตัดสินใจที่รวดเร็วยิ่งขึ้น: การลงทุนจากนักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) มักแตกต่างจากการจัดหาเงินทุนแบบเดิมๆ ทําให้สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและเป็นทางการน้อยลง ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าถึงเงินทุนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

  • โอกาสในระยะลงทุนเพิ่มเติม: การลงทุนจากนักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) ที่ประสบความสําเร็จสามารถนําไปสู่การจัดหาเงินทุนได้มากขึ้นและเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาด

ข้อเสีย

  • จํานวนการให้เงินทุนที่จํากัด: นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) สําหรับบริษัทสตาร์ทอัพอาจไม่สามารถให้เงินก้อนใหญ่ได้ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีความต้องการด้านเงินทุนสูง

  • ข้อกําหนดเรื่องหุ้น: ธุรกิจสตาร์ทอัพมักต้องสละหุ้นส่วนหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการสูญเสียการควบคุมบางส่วนที่มีต่อบริษัท

  • ความสอดคล้องกันของผลประโยชน์: นักลงทุนและผู้ก่อตั้งต้องมีความสอดคล้องกันในด้านผลประโยชน์และความคาดหวังของตนอย่างมาก ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความขัดแย้ง

  • การลดสัดส่วนหุ้น: ระยะการลงทุนในอนาคตอาจทำให้ส่วนแบ่งของนักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) ลดลง เว้นแต่จะมีข้อตกลงที่เหมาะสม

การลงทุนจากนักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) จะมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษในระยะแรกสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุนเพื่อพิสูจน์แนวคิดหรือบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ ซึ่งเหมาะสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพนการสร้างผลตอบแทนสูงและเปิดกว้างต่อคำปรึกษา อย่างไรก็ดี วิธีนี้ไม่เหมาะสําหรับบริษัทร่วมลงทุนที่ต้องการเงินทุนหลายจำนวนในทันที หรือธุรกิจที่ต้องการควบคุมธุรกิจอย่างสมบูรณ์

บริษัทร่วมลงทุน

  • สิ่งนี้คืออะไร: บริษัทร่วมลงทุน (VC) คือนักลงทุนมืออาชีพหรือบริษัทที่นำเงินทุนรวมจากบุคคลทั่วไปที่มีสินทรัพย์สุทธิสูง บริษัท กองทุนบำเหน็จบำนาญ และแหล่งเงินทุนอื่นๆ มาลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเติบโตสูง ในปี 2021 กลุ่ม VC ลงทุนจำนวน 671 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก โดยทั่วไปแล้ว บริษัทร่วมลงทุนจะจัดหาให้มากกว่าเงินทุน กล่าวคือ มีการให้คําปรึกษา คําแนะนําเชิงกลยุทธ์ และการเข้าถึงเครือข่ายของพาร์ทเนอร์ ลูกค้า และนักลงทุนในอนาคตที่กว้างขึ้นด้วย

ข้อดี

  • เงินทุนจํานวนมาก: บริษัทร่วมลงทุน (VC) มีความสามารถในการลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งมักจำเป็นสำหรับการเติบโตอย่างรวดเร็ว

  • ความเชี่ยวชาญและการให้คําปรึกษา: ทั้งสองสิ่งนี้นำมาซึ่งประสบการณ์อุตสาหกรรมอันทรงคุณค่า ความเฉียบแหลมทางธุรกิจ และคำแนะนำด้านการดำเนินงาน

  • โอกาสในการสร้างเครือข่าย: การเข้าถึงเครือข่ายผู้ติดต่อที่กว้างขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรม ผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า และพาร์ทเนอร์สามารถสร้างคุณค่าทางการเติบโตได้

  • ความน่าเชื่อถือและสิทธิพิเศษ: การร่วมมือกับบริษัทร่วมลงทุน (VC) ที่มีชื่อเสียงจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในสายตาของลูกค้า พาร์ทเนอร์ และนักลงทุนในอนาคต

ข้อเสีย

  • หุ้นและการควบคุม: บริษัทร่วมลงทุน (VC) มักต้องการส่วนแบ่งหุ้นเพื่อแลกกับการลงทุน โดยส่วนแบ่งหุ้นนี้อาจเป็นส่วนแบ่งจำนวนมาก ซึ่งอาจลดอำนาจการควบคุมของผู้ก่อตั้งที่มีต่อบริษัทได้

  • ความคาดหวังสูงต่อการเติบโตและผลตอบแทน: บริษัทร่วมลงทุน (VC) ลงทุนด้วยความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนสูง โดยมักคาดหวังจะได้รับผลตอบแทนผ่านกลยุทธ์การออกจากธุรกิจ เช่น การทำ IPO หรือการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งอาจสร้างความกดดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องจัดลําดับความสําคัญเพื่อการเติบโตที่รวดเร็ว

  • กระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่เข้มงวด: การจัดหาเงินทุนจากบริษัทร่วมลงทุนนั้นมีการแข่งขันสูง อีกทั้งยังต้องมีกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน

  • ความสอดคล้องกันของผลประโยชน์: ผู้ก่อตั้งต้องตรวจสอบว่าวิสัยทัศน์ของพวกเขาสอดคล้องกับของนักลงทุนจากบริษัทร่วมลงทุน (VC) หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคต

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพในการเติบโต และต้องการเงินทุนจํานวนมากในการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว เหมาะที่สุดสําหรับเงินทุนจากบริษัทร่วมลงทุน (VC) วิธีนี้เหมาะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เฮลท์เทค และฟินเทค ธุรกิจเหล่านี้มักจะต้องลงทุนในด้านการเติบโตและการพัฒนา โดยทั่วไปแล้ว บริษัทร่วมลงทุน (VC) จะไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีจุดมุ่งหมายด้านการเติบโตปานกลาง และธุรกิจในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาโดยไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสามารถในการทํากําไร

การระดมทุนสาธารณะ

  • สิ่งนี้คืออะไร: การระดมทุนเป็นการจัดหาเงินทุนจํานวนเล็กน้อยจากคนจํานวนมาก ซึ่งปกติแล้วมักผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการระดมทุนสาธาณะหลายประเภท ได้แก่ การระดมทุนแบบให้ผลตอบแทน การระดมทุนแบบให้หุ้น การระดมทุนแบบบริจาค และการระดมทุนในรูปแบบการออกหุ้นกู้

ข้อดี

  • การตรวจสอบตลาดและการมีส่วนร่วมของลูกค้า: การระดมทุนสาธารณะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถทดสอบความต้องการในตลาดสําหรับสินค้าหรือบริการของตนอเอง และสร้างฐานลูกค้าก่อนเปิดตัว

  • การตลาดและการมองเห็น: การเปิดตัวแคมเปญระดมทุนสามารถดึงดูดความสนใจจากสื่อและสาธารณชนได้อย่างมาก จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ

  • ความยืดหยุ่นและการเข้าถึง: บริษัทสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้สะดวกยิ่งขึ้นหากไม่มีนักลงทุนหรือผู้ให้กู้แบบเดิม

  • โอกาสในการระดมทุนเกินเป้าหมาย: แคมเปญที่ประสบความสําเร็จสามารถระดมทุนได้มากกว่าเป้าหมายที่กําหนด โดยได้รับเงินทุนเพิ่มเติม

ข้อเสีย

  • ไม่รับประกันความสําเร็จ: มีแคมเปญจํานวนมากที่ไม่ตรงตามเป้าหมายการให้เงินทุน

  • ต้องนําเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ: ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องสร้างการนำเสนอที่มีพลังโน้มน้าวใจ และนำเสนอสิ่งตอบแทนที่น่าดึงดูดใจเพื่อสร้างความโดดเด่น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและทรัพยากรมาก

  • ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของแพลตฟอร์ม: โดยทั่วไปแพลตฟอร์มการระดมทุนสาธารณะจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการทําการตลาดและการให้สิ่งตอบแทน

  • ความเสี่ยงในด้านทรัพย์สินทางปัญญา: การแชร์ไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณะจะเพิ่มความเสี่ยงของการคัดลอกแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์ของคุณ

การระดมทุนสาธารณะเหมาะสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและต้องการตรวจสอบแนวคิดของพวกเขากับกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสตาร์ทอัพที่นําเสนอผลิตภัณฑ์ที่เน้นผู้บริโภค แต่สําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะความคิดโดยไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม หรือธุรกิจที่ต้องการเงินทุนจํานวนมากเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา วิธีนี้อาจไม่เหมาะสม

เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนของรัฐบาล

  • สิ่งนี้คืออะไร: แหล่งที่มาของเงินทุนนี้นับเป็นการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานของรัฐบาล โดยทั่วไปแล้วโครงการเหล่านี้จะให้ทุนแก่โครงการ การวิจัย หรือโครงการริเริ่มที่เฉพาะเจาะจง และไม่จําเป็นต้องชําระคืน เงินอุดหนุนนี้อาจรวมถึงการลดหย่อนภาษีหรือผลประโยชน์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจในอุตสาหกรรมหรือภูมิภาคบางแห่ง

ข้อดี

  • การจัดหาเงินทุนแบบไม่ลดสัดส่วนหุ้น: เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนไม่จำเป็นต้องมีส่วนแบ่งทุน ช่วยให้ผู้ก่อตั้งยังคงเป็นเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพของตนได้อย่างเต็มรูปแบบ

  • สนับสนุนนวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนา: เงินช่วยเหลือหลายๆ โครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมนวัตกรรม การวิจัย และการพัฒนา ซึ่งอาจมีประโยชน์เป็นพิเศษสําหรับเทคโนโลยีหรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นวิทยาศาสตร์

  • ความน่าเชื่อถือและการตรวจสอบความถูกต้อง: การรับความช่วยเหลือของรัฐบาลจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกิจสตาร์ทอัพ ทําให้เป็นที่สนใจสําหรับนักลงทุนและพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ มากขึ้น

  • การบรรเทาทางการเงิน: เงินอุดหนุน เช่น การลดหย่อนภาษี สามารถช่วยลดภาระทางการเงินของธุรกิจสตาร์ทอัพได้ ช่วยให้กระแสเงินสดและผลกำไรดีขึ้น

ข้อเสีย

  • แข่งขันสูง: เงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนมักจะมีการแข่งขันสูง ทำให้การได้รับเงินทุนนั้นเป็นเรื่องท้าทาย

  • กระบวนการสมัครที่ซับซ้อน: ขั้นตอนการสมัครอาจใช้เวลานานและซับซ้อน ต้องมีข้อเสนอโดยละเอียดและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะ

  • ข้อจํากัดและความรับผิดชอบ: โดยทั่วไปแล้ว เงินทุนจะถูกจัดสรรไว้สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะ และธุรกิจสตาร์ทอัพอาจต้องแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าและผลลัพธ์

  • ความพร้อมให้บริการที่ไม่สม่ำเสมอ: ความพร้อมของเงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนออาจขึ้นอยู่กับลำดับความสําคัญของภาครัฐและงบประมาณ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นภาคธุรกิจต่างๆ เช่น เทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ การศึกษา ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และองค์กรทางสังคมมักจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับธุรกิจที่ดำเนินโครงการที่เน้นการวิจัยหรือธุรกิจที่สนับสนุนเป้าหมายทางสังคม สตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมที่กำหนดหรือภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอาจเข้าถึงเงินอุดหนุนได้ง่ายขึ้น

สินเชื่อธนาคารและวงเงินสินเชื่อ

  • สิ่งนี้คืออะไร: วิธีนี้เกี่ยวข้องการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน สินเชื่อธนาคารคือเงินทุนจำนวนคงที่ที่ต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า วงเงินสินเชื่อคือวงเงินกู้ยืมที่ยืดหยุ่นซึ่งใช้ได้ตามต้องการ และมักจะใช้สําหรับข้อกําหนดเกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น

ข้อดี

  • โครงสร้างการชําระเงินที่คาดเดาได้: เงินกู้มีกําหนดเวลาชําระคืนแบบคงที่ ทําให้วางแผนทางการเงินได้ง่ายขึ้น

  • ไม่มีการลดสัดส่วนหุ้น: สินเชื่อไม่จำเป็นต้องสละส่วนแบ่งหุ้นในธุรกิจ ไม่เหมือนกับการระดมทุนด้วยการขายหุ้น

  • สร้างเครดิต: การชําระคืนเงินกู้ตามเวลาสามารถสร้างความน่าเชื่อถือทางเครดิตของธุรกิจได้

ข้อเสีย

  • ข้อกําหนดหลักประกัน: เงินกู้มักต้องมีหลักประกัน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงหากธุรกิจดําเนินการไม่สําเร็จ

  • เกณฑ์การมีสิทธิ์ที่เข้มงวด: โดยทั่วไปธนาคารจะมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับประวัติเครดิตและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

  • ภาระหนี้: การจ่ายดอกเบี้ยและภาระในการชำระเงินต้นอาจเป็นภาระที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีรายได้ไม่แน่นอน

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีกระแสเงินสดคงที่หรือสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อใช้เป็นหลักประกันนั้นเหมาะกับเงินกู้ธนาคารมากกว่า วงเงินสินเชื่อมีประโยชน์สําหรับธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงเงินทุนที่ยืดหยุ่นสําหรับค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน แหล่งเงินทุนประเภทนี้เหมาะสําหรับผู้ก่อตั้งที่ต้องการรักษากรรมสิทธิ์และควบคุมบริษัทไว้อย่างสมบูรณ์ แต่มีความมั่นใจในการสร้างรายได้เพื่อชำระคืนเงินกู้ เงินกู้ธนาคารและวงเงินสินเชื่อมีความเหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งซึ่งไม่มีรายรับหรือสินทรัพย์ที่จะใช้ประโยชน์

วิธีสร้างแผนการจัดหาเงินทุนสําหรับบริษัทสตาร์ทอัพ

การสร้างกลยุทธ์การจัดหาเงินทุนสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแนวทางที่ครอบคลุม ซึ่งตรงกับความทะเยอทะยานของธุรกิจ ความอยากเสี่ยง และเส้นทางการเติบโต แผนที่สร้างขึ้นอย่างรอบคอบจะทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทาง ซึ่งจะช่วยแนะนำว่าธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณจะรับและใช้ทรัพยากรทางการเงินอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้าและบรรลุเป้าหมายในระยะยาว วิธีการมีดังนี้

  • ทําความเข้าใจความต้องการด้านการจัดหาเงินทุน
    ขั้นแรก คุณต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าคุณกำลังระดมทุนอะไร เริ่มต้นด้วยการสร้างงบประมาณโดยละเอียดที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการจัดตั้งตั้งแต่เริ่มต้น ดําเนินงาน และเส้นทางที่ขยายความครอบคลุมจนกว่าคุณจะคาดการณ์ว่าธุรกิจจะสร้างรายรับที่ยั่งยืนต่อไป วางงบประมาณนี้ไว้สำหรับการวิจัยตลาดที่เข้มงวดและสมมติฐานที่สมจริงเกี่ยวกับอัตราการเติบโตและยอดขาย

  • ทำแมประยะการจัดหาเงินทุน
    จากนั้น พิจารณาระยะการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณและความต้องการด้านการจัดหาเงินทุนที่ตรงกัน ระยะแรกอาจเป็นเรื่องของทุนเริ่มต้นจากเงินออมส่วนบุคคล เพื่อน ครอบครัว หรือกลุ่มนักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) เงินทุนนี้มักจะครอบคลุมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเข้าสู่ตลาดขั้นต้น เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น อาจขอเงินทุนจากบริษัทร่วมลงทุน (VC) ได้ โดยมุ่งเป้าไปที่การขยายและปรับขนาดที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนี้ การจัดหาเงินทุนสามารถเปลี่ยนไปสู่การลงทุนเชิงกลยุทธ์ หุ้นส่วนตัว หรือแม้กระทั่งตลาดสาธารณะผ่าน IPO ได้

  • การกระจายแหล่งเงินทุน
    การพึ่งพาแหล่งเงินทุนแหล่งเดียวอาจมีความเสี่ยง กกลยุทธ์การจัดหาเงินทุนที่ชาญฉลาดนั้นเป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยง ผสมผสานการระดมทุนจากการขายหุ้นแบบดั้งเดิมเข้ากับเงินช่วยเหลือ เงินกู้ หรือแม้แต่การจัดหาเงินทุนตามรายได้ โดยที่การชำระเงินคืนจะสอดคล้องกับกระแสรายได้ วิธีนี้จะลดการพึ่งพานักลงทุนหรือผู้ให้กู้รายเดียวและสามารถลดต้นทุนของเงินทุนได้ด้วย

  • สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ
    แผนของคุณจะต้องเชื่อมโยงระยะการระดมทุนเข้ากับเหตุการณ์สำคัญทางธุรกิจที่สำคัญ นักลงทุนต้องการดูว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะนำเงินทุนของพวกเขาไปสู่การสร้างมูลค่าได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เป้าหมายการเข้าถึงผู้ใช้ หรือเป้าหมายด้านผลกำไร นอกจากนี้ เหตุการณ์สำคัญทางธุรกิจยังเป็นกรอบการทำงานให้กับการประเมินผลการดำเนินงานและการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การระดมทุนของคุณ

  • เตรียมพร้อมสําหรับการตรวจสอบ
    นักลงทุนดําเนินการตรวจสอบข้อมูลก่อนให้เงินทุน จัดทํางบการเงิน แผนธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาด และเอกสารทางกฎหมายเพื่อเตรียมพร้อมสําหรับการตรวจสอบดังกล่าว ความโปร่งใสและการเตรียมความพร้อมจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและอุทธรณ์ของสร้างความน่าดึงดูดใจต่อผู้ให้ทุนของบริษัทสตาร์ทอัพได้อย่างมาก

  • เจรจาเกี่ยวกับข้อกําหนด
    ข้อกําหนดควรช่วยปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจสตาร์ทอัพ ในขณะเดียวกันก็เสนอสิ่งจูงใจให้แก่นักลงทุนด้วย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องราคาในการแปลงสภาพ สิทธิในการลงคะแนนเสียง หรือความต้องการในการชำระบัญชี เตรียมพร้อมที่จะเดินออกไปหากเงื่อนไขจะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเสียเปรียบ

  • ติดตามตรวจสอบและปรับอย่างต่อเนื่อง
    หมั่นตรวจสอบผลประกอบการทางการเงินและปรับแผนการจัดหาเงินทุนของคุณอย่างสม่ําเสมอ สภาพตลาดจะเปลี่ยนแปลงไป และความต้องการทางการเงินของธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณจะเปลี่ยนไป ความยืดหยุ่นช่วยให้คุณใช้ประโยชน์จากโอกาสและบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

  • ส่งเสริมนักลงทุนสัมพันธ์
    ความสัมพันธ์ด้านการจัดหาเงินทุนเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนาน สื่อสารกับนักลงทุนอย่างเปิดเผยเพื่อให้ข้อมูลอัปเดตเป็นประจํา และส่งเสริมให้เกิดการเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งจะนําไปสู่การให้เงินทุนเพิ่มเติมตามสายงานและคําแนะนําเชิงกลยุทธ์ที่มีคุณค่า

  • พิจารณากลยุทธ์การออกจากธุรกิจ
    สุดท้ายนี้ ลองพิจารณากลยุทธ์การออกจากธุรกิจโดยให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดหาเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อกิจการ การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) หรือรูปแบบการออกจากธุรกิจแบบอื่น ๆ กลยุทธ์ดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อประเภทของแหล่งเงินทุนที่คุณต้องการและนักลงทุนที่คุณร่วมงานด้วย

เมื่อจัดหาเงินทุนแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ โปรดปรับกลยุทธ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในระยะยาว เป้าหมายทางธุรกิจ และแผนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินทุนของตนเอง นักลงทุนอิสระที่มีเงินทุนและประสบการณ์ (Angel Investor) หรือบริษัทร่วมลงทุน แต่ละทางเลือกเหล่านี้จะมีประโยชน์และข้อดีของตัวเอง สตาร์ทอัพของคุณจะสามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตและความสำเร็จในอนาคตได้ ด้วยแนวทางการระดมทุนที่รอบคอบ

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Atlas

Atlas

จัดตั้งบริษัทได้ด้วยการคลิกไม่กี่ครั้งและพร้อมที่จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้า จัดจ้างทีมงาน และระดมทุน

Stripe Docs เกี่ยวกับ Atlas

ก่อตั้งบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้จากทุกที่ทั่วโลกโดยใช้ Stripe Atlas