Open Banking คือแนวทางปฏิบัติที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการทางการเงินบุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลลูกค้าจากธนาคารและสถาบันทางการเงินอื่นๆ ลูกค้ามีสิทธิ์ควบคุมว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนได้บ้าง และต้องตกลงว่าจะแชร์ข้อมูลของตนกับบุคคลที่สาม ข้อมูลที่แชร์ซึ่งเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เฟซการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชัน (API) ทําให้เกิดนวัตกรรมและการแข่งขันในอุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น และทําให้เกิดการเติบโตของฟินเทคและข้อเสนอใหม่ๆ ในตลาดบริการทางการเงิน คาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกรรมรวมของการชําระเงินผ่าน Open Banking ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็นกว่า 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027
เมื่อดําเนินการอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย Open Banking จะต่อยอดจากรากฐานด้านความปลอดภัยที่ปกป้องข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อนซึ่งแบ่งปันกันระหว่างบุคคลต่างๆ ด้านล่างนี้ เราจะอธิบายวิธีการทํางานของ Open Banking และมาตรการต่างๆ ที่ทําให้ข้อมูลลูกค้าปลอดภัย รวมถึงความปลอดภัยของ API รวมทั้งกลยุทธ์การระบุตัวตนและการป้องกัน
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- Open Banking ใช้ทําอะไร
- Open Banking มีการทํางานอย่างไร
- ความท้าทายด้านความปลอดภัยของ Open Banking มีอะไรบ้าง
- API ทํางานอย่างไรกับ Open Banking
- ความปลอดภัยของ API ใน Open Banking
- การใช้กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยแบบอิงตามความเสี่ยง
- การนํานโยบาย Zero Trust มาใช้
- การระบุและป้องกันช่องโหว่
Open Banking ใช้ทําอะไร
Open Banking ช่วยอํานวยความสะดวกในการแชร์ข้อมูลซึ่งช่วยยกระดับบริการทางการเงินให้กับลูกค้าและธุรกิจ ต่อไปนี้คือเครื่องมือและฟีเจอร์ทางการเงินบางส่วนที่ Open Banking ช่วยให้เป็นไปได้
แอปจัดทํางบประมาณและการออม: Open Banking ช่วยให้สามารถสร้างแอปของบุคคลที่สามที่รวบรวมข้อมูลจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้ และให้คําแนะนําเกี่ยวกับการจัดทํางบประมาณและการออมโดยอ้างอิงจากมุมมองที่ครอบคลุมนี้
การตัดสินใจเกี่ยวกับการพิจารณาเครดิตและให้สินเชื่อ: ผู้ให้กู้สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้รวดเร็วและวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้นผ่าน Open Banking ซึ่งอาจนําไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการพิจารณาเครดิตที่ดีขึ้นและอนุมัติสินเชื่อได้เร็วขึ้น
บริการด้านการธนาคารที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคล: สถาบันการเงินสามารถใช้ข้อมูลที่เข้าถึงผ่าน Open Banking เพื่อนําเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะบุคคลที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เสนอให้ลูกค้าเฉพาะราย
การชําระเงินเข้าบัญชีโดยตรง: สามารถนำ Open Banking API มาใช้เพื่อเริ่มการชําระเงินจากบัญชีธนาคารได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านระบบการชําระเงินแบบเดิมๆ เช่น บัตรเครดิต และสามารถลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมได้
การตรวจจับการฉ้อโกงที่ดีขึ้น: การเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ช่วยให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการมีขีดความสามารถด้านการตรวจจับการฉ้อโกงที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต
การจัดการกระแสเงินสด: ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้โซลูชัน Open Banking เพื่อผสานข้อมูลจากหลายๆ บัฯญชี ไว้ในแพลตฟอร์มเดียวเพื่อให้เข้าใจกระแสเงินสดของตนได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาด: ธุรกิจต่างๆ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลธนาคารที่ Open Banking จัดให้เข้าถึงได้ เพื่อรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า แนวโน้มตลาด และสภาพเศรษฐกิจ
Open Banking มีการทํางานอย่างไร
Open Banking ใช้ API เพื่อแชร์ข้อมูลทางการเงินระหว่างธนาคารกับผู้ให้บริการบุคคลที่สามที่ได้รับอนุญาต การแชร์ข้อมูลขึ้นอยู่กับความยินยอมของลูกค้าซึ่งควบคุมภายใต้กรอบการทํางานที่หลากหลาย ต่อไปนี้คือวิธีการทํางานของ Open Banking
การพัฒนา API: ธนาคารพัฒนาหรือนํา API มาตรฐานมาใช้ ซึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการบุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้ API เหล่านี้ทําหน้าที่เป็นเกตเวย์ที่ปลอดภัยสําหรับการร้องขอและส่งข้อมูลตอบกลับ
ความยินยอมของลูกค้า: ลูกค้าให้ความยินยอมอย่างชัดเจนกับผู้ให้บริการบุคคลที่สามให้เข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตน โดยทั่วไปแล้วความยินยอมจะได้รับการจัดการผ่านอินเทอร์เฟซที่ปลอดภัย ซึ่งกฎหมายกําหนดให้ต้องได้รับทราบและแสดงอย่างชัดแจ้ง
การเข้าถึงข้อมูล: เมื่อได้รับความยินยอมแล้ว ผู้ให้บริการบุคคลที่สามจะใช้ API เพื่อขอเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของลูกค้าจากธนาคาร API จัดการคําขอเหล่านี้ด้วยวิธีการที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน
การตรวจสอบสิทธิ์และการอนุมัติ: ธนาคารจะยืนยันตัวตนของลูกค้า และตรวจสอบว่าผู้ให้บริการบุคคลที่สามมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ โดยกระบวนการมักจะประกอบด้วยขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์ เช่น การเข้าสู่ระบบผ่านพอร์ทัลของธนาคารหรือการตรวจสอบความปลอดภัยอื่นๆ
การแชร์ข้อมูล: หลังจากตรวจสอบสิทธิ์และอนุมัติสําเร็จแล้ว ธนาคารจะแชร์ข้อมูลที่ขอกับผู้ให้บริการบุคคลที่สามผ่าน API ข้อมูลอาจประกอบด้วยยอดคงเหลือในบัญชี ประวัติธุรกรรม ฟังก์ชันการเริ่มต้นการชําระเงิน และอื่นๆ
การใช้งานข้อมูล: ผู้ให้บริการบุคคลที่สามใช้ข้อมูลนี้เพื่อนําเสนอบริการแก่ลูกค้า ซึ่งอาจรวมถึงการจัดการทางการเงิน คําแนะนําทางการเงินส่วนบุคคล กระบวนการให้กู้ยืมที่ง่ายขึ้น หรือบริการชําระเงิน
คํายินยอมและการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง: ลูกค้าสามารถจัดการหรือเพิกถอนความยินยอมของตัวเองได้ทุกเมื่อ ธนาคารและผู้ให้บริการบุคคลที่สามจะต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อปกป้องข้อมูลและเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว
กรอบข้อบังคับ: Open Banking อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของหน่วยงานรัฐบาลและกฎหมายระดับประเทศ ซึ่งกําหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ขั้นตอนการขอความยินยอมจากลูกค้า และประเภทข้อมูลที่สามารถแชร์ใน Open Banking ได้ หน่วยงานกํากับดูแลตรวจสอบธนาคารและผู้ให้บริการบุคคลที่สามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับ Open Banking
ความท้าทายด้านความปลอดภัยของ Open Banking มีอะไรบ้าง
Open Banking ทำให้ข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อนมีความเสี่ยงมากขึ้น จึงต้องใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงเพื่อปกป้องข้อมูลนั้นจากการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต ความท้าทายด้านความปลอดภัยที่มากับ Open Banking จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูง กระบวนการรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาอย่างดี และการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายด้านความปลอดภัยหลักๆ ใน Open Banking มีดังนี้
ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความยินยอม
ข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลจะเข้าถึงได้เมื่อลูกค้าได้ให้ความยินยอมไว้อย่างชัดแจ้งเท่านั้น โดยลูกค้าจะต้องสามารถเพิกถอนการเข้าถึงนั้นได้ทุกเมื่อ
วิธีแก้ปัญหา
- นําระบบที่ทันสมัยมาใช้เพื่อจัดการความยินยอม
- ให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการควบคุมข้อมูลของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
- ปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวด เช่น กฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR)
การเข้าถึง API
API เปิดประตูสู่ข้อมูลและต้องได้รับการปกป้องอย่างดีจากการเข้าถึงและการโจมตีที่ไม่ได้รับอนุญาต
วิธีแก้ปัญหา
- ใช้วิธีการอนุมัติที่ทันสมัย เช่น OAuth 2.0
- ตรวจสอบว่า API ได้รับการปกป้องด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น Transport Layer Security (TLS) สองทางในการตรวจสอบสิทธิ์
- ตรวจสอบการใช้งานเพื่อป้องกันและตรวจจับกิจกรรมที่ผิดปกติ
ความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก
บริการของบุคคลที่สามมีระดับความปลอดภัยแตกต่างกันไป
วิธีแก้ปัญหา
- ประเมินมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ให้บริการภายนอกทั้งหมดอย่างละเอียด
- ติดตามตรวจสอบผู้ให้บริการบุคคลที่สามอย่างต่อเนื่อง
- ยืนยันที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง
การเข้ารหัสและความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูล
ข้อมูลต้องได้รับการเข้ารหัสเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแทรกแซงหรืออ่านหากถูกดักจับ
วิธีแก้ปัญหา
- ใช้เทคนิคการเข้ารหัสที่รัดกุมสําหรับข้อมูลที่จัดเก็บไว้และที่อยู่ระหว่างส่ง
- ตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูลเป็นประจําโดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น ลายเซ็นดิจิทัล
การตรวจจับการฉ้อโกง
การเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้นอาจนําไปสู่การฉ้อโกงประเภทใหม่ๆ
วิธีแก้ปัญหา
- ใช้แมชชีนเลิร์นนิงขั้นสูงเพื่อตรวจจับการฉ้อโกงที่เกิดขึ้น
- จัดให้มีระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อการกระทําที่น่าสงสัยอย่างรวดเร็ว
การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ
กฎระเบียบอาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งส่งผลต่อวิธีการจัดการข้อมูล
วิธีแก้ปัญหา
- สร้างกลยุทธ์การปฏิบัติตามข้อกําหนดที่สามารถปรับให้เข้ากับกฎหมายใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
- ตรวจสอบว่าทีมของคุณรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับข้อกําหนดล่าสุดอยู่เสมอ
การจัดการข้อมูลประจําตัวและการเข้าถึง
ผู้ใช้แต่ละรายต้องได้รับการยืนยันและจัดการสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลอย่างระมัดระวัง
วิธีแก้ปัญหา
- นําระบบการยืนยันตัวตนแบบรัดกุมและระบบการตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (MFA) มาใช้
- ตั้งค่าการควบคุมการเข้าถึงที่แม่นยํา
ความยืดหยุ่นและการตอบสนองต่อเหตุการณ์
บริการจะต้องทํางานได้อย่างราบรื่นแม้เมื่อเกิดปัญหา การละเมิดความปลอดภัยจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด
วิธีแก้ปัญหา
- เตรียมพร้อมและอัปเดตแผนรับมือภัยคุกคามเป็นประจํา
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีระบบสํารองอยู่
- ดําเนินการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัยเป็นประจํา
API ทํางานร่วมกับ Open Banking อย่างไร
API เป็นเครื่องมือหลักของ Open Banking ซึ่งมอบวิธีการที่ปลอดภัยและเป็นมาตรฐานให้แอปและบริการผสานการทํางานกับธนาคารและเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน ต่อไปนี้คือวิธีการทํางานของ API
ทําหน้าที่เป็นผู้ส่งสารที่ปลอดภัย: API จะส่งคําขอข้อมูล (เช่น ยอดคงเหลือในบัญชี ประวัติธุรกรรม) จากแอปที่คุณกําลังใช้ (เช่น แอปจัดทํางบประมาณ) ไปยังธนาคารของคุณ และรับข้อมูลตอบกลับของธนาคารกลับมายังแอป วิธีนี้ช่วยให้คุณได้ใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายผ่านแอปของบุคคลที่สามได้ โดยที่ข้อมูลด้านธนาคารของคุณยังปลอดภัยอยู่
จัดการสิทธิ์: เมื่อคุณใช้บริการหรือแอปทางการเงินใหม่เป็นครั้งแรก API จะถามว่าจะให้แอปดังกล่าวเข้าถึงข้อมูลของคุณหรือไม่ หากคุณตอบว่าใช่ API จะทําให้แน่ใจว่าแอปได้รับเฉพาะข้อมูลที่ต้องใช้เท่านั้น วิธีนี้ช่วยให้คุณควบคุมได้ว่าใครจะเห็นข้อมูลทางการเงินของคุณ และแน่ใจได้ว่าแอปไม่ได้เข้าถึงข้อมูลมากเกินจำเป็น
ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์: API ช่วยให้แอปดึงข้อมูลอัปเดตล่าสุดจากธนาคารของคุณได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมล่าสุดหรือการยืนยันกรรมสิทธิ์ในบัญชีก็ตาม วิธีนี้ช่วยอํานวยความสะดวกให้กับบริการเทคโนโลยีทางการเงินที่หลากหลาย รวมถึงแอปจัดทํางบประมาณและการอนุมัติเงินกู้อัตโนมัติ
สร้างมาตรฐานการสื่อสาร: Open Banking API ปฏิบัติตามมาตรฐานที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งหมายความว่าสามารถพูด "ภาษากลาง" ได้ แม้ว่าจะมีการใช้งานโดยธนาคารและแอปที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าแอปและบริการต่างๆ จะทํางานร่วมกับธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ได้อย่างราบรื่น
รักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว: API ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น การเข้ารหัส ระหว่างการโอนข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าเฉพาะคําขอที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่ได้รับการประมวลผล API เหล่านี้ทําหน้าที่เป็นผู้รักษาประตูที่ป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาตรักษาความเป็นส่วนตัวของคุณ และปกป้องข้อมูลทางการเงินของคุณจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
ความปลอดภัยของ API ใน Open Banking
การปรับปรุงความปลอดภัยของ API ใน Open Banking ต้องใช้ระบบหลายชั้นเพื่อให้แน่ใจว่าการโต้ตอบทั้งหมดระหว่างธนาคาร ผู้ให้บริการบุคคลที่สาม และลูกค้าความปลอดภัยและมีความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูล ต่อไปนี้คือแง่มุมด้านความปลอดภัยที่ต้องจัดการเกี่ยวกับ API
การตรวจสอบสิทธิ์และการอนุมัติ
โปรโตคอลการตรวจสอบสิทธิ์และการอนุมัติช่วยให้มั่นใจว่ามีเพียงผู้ใช้และบริการที่ถูกต้องเท่านั้นที่สามารถเข้าถึง API ได้
OAuth 2.0: OAuth 2.0 เป็นวิธีการอนุมัติที่ใช้โทเค็นแทนข้อมูลประจําตัว โทเค็นแต่ละตัวจะให้สิทธิ์เข้าถึงชุดทรัพยากรที่กำหนดไว้ในระยะเวลาที่จํากัด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการขโมยโทเค็น
OAuth: OAuth มีวิธีการรับโทเค็นสําหรับสถานการณ์ต่างๆ เช่น ใช้รหัสการอนุมัติสําหรับแอปและข้อมูลประจําตัวไคลเอ็นต์สําหรับการโต้ตอบระหว่างเซิร์ฟเวอร์กับเซิร์ฟเวอร์
การเข้ารหัส
การเข้ารหัสใช้เพื่อปกป้องข้อมูลขณะที่เคลื่อนย้ายระหว่างระบบ (ระหว่างส่ง) และเมื่อจัดเก็บ (อยู่ในที่จัดเก็บ) การใช้โปรโตคอลการเข้ารหัสที่อัปเดตและรัดกุมจะช่วยป้องกันการดักจับข้อมูลโดยผู้โจมตี
TLS: TLS ปกป้องข้อมูลระหว่างการส่ง เข้ารหัสข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์
AES: มาตรฐานการเข้ารหัสขั้นสูง (AES) ใช้กับรายการฐานข้อมูลและที่เก็บข้อมูลอื่นๆ เพื่อปกป้องข้อมูลที่จัดเก็บไว้
เกตเวย์ API
เกตเวย์ API จะจัดการและรักษาความปลอดภัยให้กับการรับส่งข้อมูลไปยัง API เกตเวย์ API ทําหน้าที่เป็นพร็อกซีย้อนกลับเพื่อรับการเรียกใช้ API ทั้งหมด รวมบริการที่จําเป็นสําหรับการดําเนินการ และส่งกลับผลลัพธ์ที่เหมาะสม โดยจะจัดการการจํากัดอัตราการเรียกใช้ รายการ IP ที่อนุญาตพิเศษ และการควบคุมการเข้าถึง เกตเวย์สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการรับส่งข้อมูลและแจ้งเตือนผู้ดูแลระบบถึงภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้
แนวทางการพัฒนา API ที่ปลอดภัย
API ปลอดภัยด้วยการออกแบบ นักพัฒนาควรปฏิบัติตาม Open Web Application Security Project (OWASP) API Security Top Ten ซึ่งเป็นเอกสารเพื่อความตระหนักเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย API
การตรวจสอบข้อมูลที่ป้อน: การตรวจสอบอินพุตจะป้องกันการแทรกแซง SQL และการโจมตีแบบ Cross-site Scripting (XSS)
การบันทึกธุรกรรม API: การบันทึกธุรกรรม API อย่างละเอียดจะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมในกรณีที่มีการตรวจสอบ
การตรวจสอบโค้ดเป็นประจํา: การตรวจสอบโค้ดเป็นประจําช่วยระบุช่องโหว่ก่อนที่จะเกิดการละเมิดความปลอดภัย
การจํากัดอัตราและควบคุมปริมาณการเรียกใช้
การจํากัดอัตราและควบคุมปริมาณการเรียกใช้ช่วยป้องกันการใช้ API ในทางที่ผิด กระบวนการนี้คือการจำกัดจำนวนคำขอที่ผู้ใช้หรือบริการสามารถทําได้ในช่วงเวลาหนึ่ง หากจํานวนเกินขีดจํากัด คําขอที่่เกินจากนั้นจะดำเนินการช้าลงหรือถูกบล็อก การควบคุมปริมาณช่วยจัดการภาระงานและช่วยให้ยังคงให้บริการได้ต่อไปแม้ในสถานการณ์ที่มีการรับส่งข้อมูลสูงหรือการโจมตี
การตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเป็นประจําและการทดสอบการเจาะระบบ
การตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเป็นประจําและการทดสอบการเจาะระบบเป็นประจำช่วยประเมินเสถียรภาพการรักษาความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน API อย่างต่อเนื่อง แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ควรเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบการรักษาความปลอดภัยตามปกติ และเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมและการปฏิบัติตามข้อกำหนด การตรวจสอบตามรอบและการทดสอบการเจาะระบบอาจทำให้พบช่องโหว่ก่อนที่จะถูกฉวยประโยชน์
ระบบตรวจจับและตอบสนองความผิดปกติ
ระบบเหล่านี้จะตรวจจับและตอบสนองต่อกิจกรรมที่ผิดปกติซึ่งอาจบ่งบอกถึงการละเมิดความปลอดภัย โดยใช้แมชชีนเลิร์นนิงและการวิเคราะห์ขั้นสูงอื่นๆ เพื่อตรวจสอบรูปแบบการรับส่งข้อมูล API และรายงานกิจกรรมที่ผิดปกติโดยอัตโนมัติ ซึ่งมักจะผสานรวมเข้ากับกลไกรับมือภัยคุกคามเพื่อแยกและบรรเทาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
การใช้กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยแบบอิงตามความเสี่ยง
การใช้กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยแบบอิงตามความเสี่ยง ประกอบด้วยการจัดลําดับความสําคัญของงานและทรัพยากรด้านการรักษาความปลอดภัยโดยพิจารณาจากความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามต่างๆ กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยแบบอิงตามความเสี่ยงช่วยให้องค์กรคล่องตัวและตอบสนองต่อภัยคุกคามใหม่ๆ ได้ และช่วยให้แน่ใจว่าทรัพยากรด้านความปลอดภัยถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นในส่วนที่จำเป็นมากที่สุด สิ่งนี้มีความสําคัญอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีงบประมาณด้านความปลอดภัยจํากัดหรือสภาพแวดล้อมที่ภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ต่อไปนี้คือหลักการทํางานของกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยแบบอิงตามความเสี่ยง
ประเมินความเสี่ยง: ระบุและประเมินความเสี่ยงตามผลกระทบและโอกาสที่อาจเกิดขึั้น ทำแผนผังสินทรัพย์ขององค์กร และพิจารณาภัยคุกคามที่สินทรัพย์แต่ละรายการต้องเผชิญ ประเมินช่องโหว่ และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามเหล่านั้น ใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การสร้างแบบจําลองภัยคุกคามและการสแกนช่องโหว่
จัดลําดับความสําคัญความเสี่ยง: พิจารณาว่าความเสี่ยงใดที่ต้องให้ความสนใจทันที ความเสี่ยงใดที่สามารถเฝ้าระวังได้ และความเสี่ยงใดที่ยอมรับได้ จัดอันดับความเสี่ยงตามความรุนแรงและแนวโน้ม โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่มีผลกระทบสูงและมีความเป็นไปได้สูงเพื่อการบรรเทาผลกระทบทันที
ใช้งานการควบคุม: ใช้มาตรการควบคุมที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดเพื่อจัดการและลดความเสี่ยงที่มีความสําคัญสูงสุด ใช้มาตรการควบคุมประเภทต่างๆ (เช่น เชิงป้องกัน เชิงสืบสวน เชิงแก้ไข) โดยขึ้นอยู่กับความเสี่ยง การควบคุมอาจรวมถึงโซลูชันทางเทคโนโลยี (เช่น ไฟร์วอลล์และการเข้ารหัส) นโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงาน รวมทั้งโปรแกรมการฝึกอบรมและสร้างการตระหนักรู้
ติดตามตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัย: ติดตามตรวจสอบมาตรการการจัดการความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ กระบวนการนี้อาจประกอบด้วยการตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจํา การใช้ระบบตรวจจับการบุกรุก และการตรวจติดตามบันทึกการเข้าถึงและเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ
เรียนรู้และปรับปรุง: ปรับมาตรการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงในองค์กร หรือบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ใช้คําติชมจากระยะการติดตามและตรวจสอบเพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัย รวมทั้งอัปเดตการประเมินและการควบคุมความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์และพบช่องโหว่
การใช้นโยบาย Zero Trust
ในขณะที่โมเดลการรักษาความปลอดภัยแบบดั้งเดิมตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าทุกสิ่งภายในเครือข่ายขององค์กรเชื่อถือได้ แต่นโยบาย Zero Trust มีหลักการว่าไม่มีอะไรเชื่อถือได้ Zero Trust กําหนดให้มีการยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวดกับทุกคนที่พยายามเข้าถึงทรัพยากรเครือข่าย ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกขอบเขตเครือข่ายก็ตาม ต่อไปนี้คือวิธีการนำนโยบาย Zero Trust มาใช้
ยืนยันอย่างชัดเจน: คําขอเข้าถึงทุกรายการต้องได้รับการยืนยันก่อนที่จะให้สิทธิ์เข้าถึง ไม่ว่าคําขอนั้นจะมาจากที่ใดหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลใดก็ตาม ใช้ MFA ไบโอเมตริก และการวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้ และใช้การตรวจสอบสิทธิ์ตามบริบทที่พิจารณาตัวแปรต่างๆ เช่น สถานะของอุปกรณ์ ตําแหน่งที่ตั้ง และเวลาในการเข้าถึง
ใช้หลักการให้สิทธิ์เข้าถึงน้อยที่สุด: ลดการเข้าถึงส่วนที่อ่อนไหวของเครือข่ายให้น้อยที่สุดด้วยการให้สิทธิ์การเข้าถึงขั้นต่ำแก่ผู้ใช้และอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นต่อการทํางาน จัดการสิทธิ์โดยใช้นโยบายควบคุมการเข้าถึงและกำหนดบทบาทที่เข้มงวด ซึ่งมีการตรวจสอบและปรับปรุงเป็นประจํา
การแบ่งส่วน: แบ่งเครือข่ายออกเป็นส่วนๆ เพื่อลดการเคลื่อนไหวแนวนอนภายในเครือข่ายโดยผู้โจมตี การดําเนินการนี้จะสร้างขอบเขตขนาดเล็กรอบๆ ข้อมูลและระบบที่ละเอียดอ่อน ทําให้ผู้โจมตีเคลื่อนที่ในเครือข่ายได้ยากขึ้นหากเข้าถึงระบบได้
การป้องกันแบบแบ่งระดับ: ใช้การป้องกันแบบหลายชั้นที่ผู้โจมตีต้องอยายามหาทางเข้าถึงทรัพยากร ผสมผสานการใช้ไฟร์วอลล์ ระบบตรวจจับการบุกรุก และระบบป้องกันการบุกรุก (IDS/IPS) และการเข้ารหัสข้อมูลระหว่างส่งและขณะจัดเก็บ
ตรวจสอบและรักษาความปลอดภัย: ตรวจสอบการรับส่งข้อมูลเครือข่ายและกิจกรรมของผู้ใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ ใช้ระบบการจัดการข้อมูลและเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย (SIEM) เพื่อวิเคราะห์และเชื่อมโยงบันทึกเพื่อหาพฤติกรรมที่ผิดปกติ แมชชีนเลิร์นนิงจะช่วยให้ทราบถึงรูปแบบที่ผิดปกติได้
การรักษาความปลอดภัยเป็นกระบวนการแบบบูรณาการ: การสร้างความปลอดภัยเป็นข้อพิจารณาที่สําคัญของทุกโครงการด้านไอทีและการดําเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น จัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยเป็นประจําสําหรับพนักงานทุกคน และบูรณาการการรักษาความปลอดภัยเข้าไปในวงจรการพัฒนาซอฟต์แวร์ (DevSecOps)
การระบุหาและป้องกันช่องโหว่
การระบุหาและป้องกันช่องโหว่คือการค้นหา จัดหมวดหมู่ และแก้ไขช่องโหว่ด้านความปลอดภัยหรือจุดอ่อนในซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ผู้โจมตีอาจใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ วิธีการทํางานโดยทั่วไปมีดังนี้
การระบุช่องโหว่: ทําการสแกนช่องโหว่เป็นประจําโดยใช้เครื่องมืออัตโนมัติที่เปรียบเทียบการกําหนดค่าระบบและซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งกับฐานข้อมูลช่องโหว่ที่รู้จัก การทดสอบการเจาะระบบ ซึ่งทำโดยแฮ็กเกอร์ที่มีจริยธรรมซึ่งจะพยายามฉวยโอกาสจากช่องโหว่ ก็เป็นอีกวิธีที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจุดอ่อนของระบบด้วย
การประเมินช่องโหว่: หลังจากพบช่องโหว่แล้ว ให้ประเมินช่องโหว่ตามปัจจัยต่างๆ เช่น ความสะดวกในการแสวงหาผลประโยชน์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตี และขอบเขตของความเสี่ยงต่อระบบ วิธีนี้ช่วยในการจัดลําดับความสําคัญของการแก้ไขตามลักษณะและความรุนแรงของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
การจัดการแพตช์: ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เป็นผู้จัดหาแพตช์หรือการอัปเดตเพื่อแก้ไขช่องโหว่ ใช้กระบวนการที่เป็นระบบเพื่อนำแพตช์ด้านความปลอดภัย อัปเดต และโปรแกรมแก้ไขด่วนมาใช้อย่างทันท่วงที เพื่อให้แน่ใจว่าช่องโหว่ได้รับการแก้ไขทันทีที่มีแพตช์แก้ไข
การจัดการการกําหนดค่า: ใช้เครื่องมือการจัดการการกําหนดค่าเพื่อให้แน่ใจว่าระบบได้รับการตั้งค่าอย่างปลอดภัยและได้รับการดูแลให้อยู่ในสถานะคงที่ ตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการกําหนดค่าเป็นประจําเพื่อลดพื้นที่การโจมตี และป้องกันช่องโหว่จากการกําหนดค่าผิดพลาดหรือการตั้งค่าเริ่มต้น
การป้องกันภัยคุกคามแบบ Zero-day: ใช้เทคโนโลยีการตรวจจับภัยคุกคามขั้นสูง เช่น ระบบตรวจจับแบบอิงตามพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้อาศัยรูปแบบของช่องโหว่ที่เป็นที่รู้จักเพียงอย่างเดียว เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถระบุและลดกิจกรรมที่ผิดปกติซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามีการใช้ช่องโหว่อยู่ และป้องกันช่องโหว่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือที่ไม่มีโปรแกรมแก้ไข
การศึกษาและความตระหนัก: ฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องให้กับพนักงานทุกคน โดยมุ่งเน้นเรื่องการระบุความพยายามฟิชชิ่ง การจัดการรหัสผ่านอย่างปลอดภัย และการตระหนักถึงความสําคัญของการอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นประจํา สิ่งนี้จะช่วยลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ ซึ่งอาจทําให้เกิดช่องโหว่หรือทําให้ช่องโหว่รุนแรงขึ้น
การตรวจสอบความปลอดภัยและการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกําหนดเป็นประจํา: ทําการตรวจสอบความปลอดภัยและตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกําหนดเป็นประจํา เพื่อประเมินการปฏิบัติตามนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยว่าทำได้ดีเพียงใด และเพื่อระบุช่องว่างในสถานะการรักษาความปลอดภัยขององค์กร การดําเนินการดังกล่าวช่วยให้มั่นใจว่าแนวทางปฏิบัติด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานและระเบียบข้อบังคับที่กําหนดไว้
การวางแผนรับมือกับเหตุการณ์: พัฒนาและทดสอบแผนรับมือภัยคุกคามซึ่งระบุขั้นตอนที่ต้องดําเนินการเมื่อมีการละเมิดความปลอดภัยเป็นประจํา แผนควรมีขั้นตอนการจำกัดขอบเขต การกําจัด การคืนสภาพ และการวิเคราะห์หลังเกิดเหตุ
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ