การรับรู้รายรับจากแฟรนไชส์คืออะไร คู่มือสําหรับธุรกิจ

Revenue Recognition
Revenue Recognition

Stripe Revenue Recognition เพิ่มประสิทธิภาพในการทำบัญชีคงค้างเพื่อให้คุณปิดบัญชีได้รวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งยังกำหนดค่าและปรับขั้นตอนการจัดทำรายงานรายรับให้เป็นอัตโนมัติ คุณจึงปฏิบัติตามมาตรฐานการรับรู้รายรับ ASC 606 และ IFRS 15 ได้อย่างง่ายดาย

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ประเภทค่าธรรมเนียมการแฟรนไชส์และวิธีรับรู้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้
  3. วิธีการใช้ ASC 606 กับรายรับจากแฟรนไชส์
    1. ขั้นตอนที่ 1: ระบุสัญญากับลูกค้า
    2. ขั้นตอนที่ 2: ระบุภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญา
    3. ขั้นตอนที่ 3: กําหนดราคาธุรกรรม
    4. ขั้นตอนที่ 4: จัดสรรราคาธุรกรรมให้กับภาระหน้าที่ในการปฏฺิบัติตามสัญญา
    5. ขั้นตอนที่ 5: รับรู้รายรับเมื่อ (หรือในขณะที่) ปฏิบัติตามภาระหน้าที่เสร็จสิ้น
  4. ความท้าทายในการรับรู้รายรับจากแฟรนไชส์
    1. บริการแบบรวมชุด
    2. สิ่งตอบแทนผันแปร
    3. เงินคืนและเงินจูงใจ
  5. แนวทางปฏิบัติแนะนำสําหรับการรับรู้รายรับอย่างถูกต้อง
    1. สร้างแผนการรับรู้รายรับสำหรับแฟรนไชส์โดยเฉพาะ
    2. แบ่งกลุ่มรายรับตามอายุของแฟรนไชส์
    3. จัดตั้งคณะทำงานด้านรายรับจากหลายฝ่ายงาน
    4. จัดทำสถานการณ์จำลองการรับรู้รายรับแบบ What-if
    5. ปรับแนวทางการรับรู้รายได้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตามความจำเป็น
    6. นำความคิดเห็นของผู้ซื้อแฟรนไชส์มาช่วยให้ประเมินสิ่งตอบแทนผันแปรได้ดีขึ้น
    7. สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับข้อความหมายเหตุเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อการตลาด
    8. จัดทำคู่มืออ้างอิงฉบับย่อสําหรับทีมภาคสนาม
    9. ปรับปรุงรางวัลจูงใจภายในเพื่อส่งเสริมให้มีการรายงานรายรับอย่างถูกต้อง

ในการสร้างแฟรนไชส์ การรับรู้รายรับหมายถึงว่าวิธีการและช่วงเวลาที่เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะบันทึกรายรับจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ แต่เดิมจะขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เริ่มต้น แต่มาตรฐานการทำบัญชีสมัยใหม่กำหนดวิธีการที่ละเอียดรอบคอบมากขึ้น ซึ่งจะรับรู้รายรับหลังจากปฏิบัติตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ต้องระบุสินค้าหรือบริการแยกเป็นรายการภายในข้อตกลงแฟรนไชส์ (เช่น ใบอนุญาตให้ใช้แบรนด์ การฝึกอบรม การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง) และรับรู้รายรับเมื่อส่งมอบสินค้าหรือบริการแต่ละรายการให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์แล้ว ซึ่งมักจะหมายถึงการรับรู้รายรับตลอดช่วงเวลา ไม่ใช่รับรู้รายรับล่วงหน้า

ด้านล่างนี้เราจะอธิบายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ประเภทต่างๆ วิธีการรับรู้รายรับจากแต่ละรายการ วิธีนําโมเดลการรับรู้รายรับแบบ 5 ขั้นตอนไปใช้กับแฟรนไชส์ และแนวทางปฏิบัติแนะนำสําหรับการรับรู้รายรับจากแฟรนไชส์

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ประเภทค่าธรรมเนียมการแฟรนไชส์และวิธีรับรู้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้
  • วิธีการใช้ ASC 606 กับรายรับจากแฟรนไชส์
  • ความท้าทายในการรับรู้รายรับจากแฟรนไชส์
  • แนวทางปฏิบัติแนะนำสําหรับการรับรู้รายรับอย่างถูกต้อง

ประเภทค่าธรรมเนียมการแฟรนไชส์และวิธีรับรู้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้

ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์อาจรวมถึงค่าสิทธิต่อเนื่อง ค่าธรรมเนียมการโฆษณา และการขายสินค้าหรือบริการ ตามมาตรฐานการทำบัญชี เช่น Accounting Standards Codification (ASC) 606 ค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์และช่วงเวลาในการรับรู้รายรับที่แตกต่างกัน ต่อไปนี้คือค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ประเภทต่างๆ และวิธีรับรู้ค่าธรรมเนียมเหล่านั้น

  • ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เริ่มแรก: ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะจ่ายค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ล่วงหน้า โดยทั่วไปแล้ว ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะครอบคลุมสิทธิ์ในการดําเนินงานภายใต้แบรนด์และระบบของเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะรับรู้รายรับจากค่าธรรมเนียมเหล่านี้ตลอดช่วงเวลาขณะที่ตนปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เช่น การฝึกอบรม การสนับสนุน หรือการให้สิทธิเด็ดขาดภายในพื้นที่

  • ค่าสิทธิต่อเนื่อง: โดยปกติแล้วผู้ซื้อแฟรนไชส์จะจ่ายค่าสิทธิเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายและเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะรับรู้ค่าสิทธิเป็นรายรับเมื่อมีการขายเกิดขึ้น โดยจะถือเป็นหน้าที่ตามสัญญาที่มีการแยกรายการเป็นเอกเทศ และช่วงเวลาในการรับรู้รายรับจะสอดคล้องกับรอบการรายงานยอดขายของแฟรนไชส์

  • ค่าธรรมเนียมการโฆษณา: เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์มักจะเก็บค่าธรรมเนียมการโฆษณาจากผู้ซื้อแฟรนไชส์เพื่อนำมาใช้สนับสนุนกิจกรรมการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยจะรับรู้ค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นรายรับเมื่อมีการส่งมอบบริการโฆษณาหรือโฆษณานั้นเกิดขึ้นแล้ว หากเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จัดการเงินทุนเหล่านี้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ของเครือข่ายแฟรนไชส์และค่าธรรมเนียมไม่ได้ถือเป็นบริการที่เป็นเอกเทศ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะรับรู้เงินดังกล่าวเป็นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เริ่มแรก

  • การขายสินค้าหรือบริการ: เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จําหน่ายสินค้า อุปกรณ์ หรือบริการแก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ การรับรู้รายรับจะเกิดขึ้นเมื่อโอนการควบคุมสินค้าและบริการเหล่านี้ไปยังผู้ซื้อแฟรนไชส์แล้ว ซึ่งมักจะหมายถึงตอนที่จัดส่งหรือเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามข้อกําหนดตามสัญญา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลง

วิธีการใช้ ASC 606 กับรายรับจากแฟรนไชส์

ASC 606 มอบกรอบให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์เพื่อให้มั่นใจว่าการรายงานทางการเงินสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่เกิดขึ้นจริงระหว่างพวกเขากับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ต่อไปนี้คือวิธีการใช้มาตรฐานนี้กับรายรับจากแฟรนไชส์

ขั้นตอนที่ 1: ระบุสัญญากับลูกค้า

ขั้นแรกระบุสัญญาระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ ในการสร้างเครือข่ายแฟรนไชส์ โดยปกติแล้วสิ่งนี้หมายถึงข้อตกลงแฟรนไชส์ ซึ่งระบุข้อกําหนด หน้าที่ และสิทธิ์ของทั้งสองฝ่ายเอาไว้ สัญญาจะต้องมีข้อกําหนดที่ชัดเจน ได้รับอนุมัติจากทั้งสองฝ่าย และกําหนดความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการที่จัดหาให้

ขั้นตอนที่ 2: ระบุภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญา

จากนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จําเป็นต้องกําหนดภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาในข้อตกลง ซึ่งเป็นข้อสัญญาว่าจะจัดส่งสินค้าหรือบริการ โดยจัดทำเป็นรายการแยกกัน ภาระหน้าที่ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ การให้สิทธิ์ในการใช้แบรนด์ การฝึกอบรมเบื้องต้น การกำหนดพื้นที่ประกอบกิจการให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ และบริการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ต้องประเมินภาระหน้าที่แต่ละอย่างว่าเป็นเอกเทศต่อกันหรือไม่ และควรจัดการแยกกันในแง่ของการรับรู้รายรับ

ขั้นตอนที่ 3: กําหนดราคาธุรกรรม

ราคาธุรกรรมคือยอดรวมที่เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์คาดว่าจะได้รับ ซึ่งรวมถึงยอดเงินคงที่ (เช่น ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ล่วงหน้า) และค่าสิทธิแบบแปรผัน (เช่น ค่าสิทธิตามยอดขาย) เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ต้องประมาณสิ่งตอบแทนผันแปรอย่างถี่ถ้วนโดยใช้วิธี "มูลค่าที่คาดหวัง" (พิจารณาจากผลลัพธ์ที่เป็นไปได้หลายๆ แบบ) หรือไม่ก็วิธี "จํานวนที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด" (พิจารณาจากผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด) เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ต้องรับรู้รายรับก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะไม่มีการปรับคืนเป็นจำนวนเงินที่มีนัยสำคัญในภายหลัง

ขั้นตอนที่ 4: จัดสรรราคาธุรกรรมให้กับภาระหน้าที่ในการปฏฺิบัติตามสัญญา

เมื่อระบุภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะต้องจัดสรรราคาธุรกรรมให้กับภาระหน้าที่เหล่านี้โดยอิงตามราคาจําหน่ายแบบเอกเทศ การจัดสรรนี้้เป็นการกําหนดว่าภาระหน้าที่แต่ละอย่างจะเกี่ยวกับข้องกับรายรับเป็นจำนวนเท่าใด และจะช่วยให้การรับรู้รายรับสะท้อนถึงการจัดส่งสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์

ขั้นตอนที่ 5: รับรู้รายรับเมื่อ (หรือในขณะที่) ปฏิบัติตามภาระหน้าที่เสร็จสิ้น

การรับรู้รายรับเกิดขึ้นเมื่อ (หรือในขณะที่) เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ปฏิบัติภาระหน้าที่ตามสัญญาแล้ว สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น การสนับสนุนและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะรับรู้รายรับตลอดช่วงเวลาเดียวกันนั้น สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น การขายสินค้าและบริการแบบครั้งเดียวจบ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์จะรับรู้รายรับเมื่อโอนการควบคุมกรรมสิทธิ์ไปให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์

ความท้าทายในการรับรู้รายรับจากแฟรนไชส์

การรับรู้รายรับจากแฟรนไชส์อาจมีความซับซ้อนอันเนื่องมาจากโครงสร้างของข้อตกลงแฟรนไชส์และแหล่งรายรับที่หลากหลาย ต่อไปนี้เป็นความท้าทายที่เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์มักจะต้องเผชิญในการรับรู้รายรับ

บริการแบบรวมชุด

เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์มักรวมบริการหลายอย่าง (เช่น การฝึกอบรมเบื้องต้น การเลือกสถานที่ การสนับสนุนด้านการตลาด) ไว้ในค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ การกําหนดวิธีการแยกบริการเหล่านี้ออกจากกันเพื่อการรับรู้รายรับไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์อาจจะต้องกำหนดราคาแบบเอกเทศให้กับบริการแต่ละรายการ และต้องรับรู้รายรับในขณะที่ให้บริการนั้น ซึ่งต้องใช้การติดตามและการประมาณอย่างถี่ถ้วน

  • ตัวอย่าง: แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดรับรู้ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ทั้งหมดอย่างไม่ถูกต้องเมื่อเปิดร้านในทำเลใหม่ ส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมเป็นค่าการฝึกอบรมและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรจะรับรู้ตลอดช่วงเวลาที่ให้บริการ เหตุการณ์นี้ทำให้ต้องปรับผลกำไรที่เคยรายงานไปก่อนหน้า

สิ่งตอบแทนผันแปร

ค่าสิทธิที่อิงตามเปอร์เซ็นต์ยอดขายของผู้ซื้อแฟรนไชส์เป็นสิ่งตอบแทนผันแปรรูปแบบหนึ่งที่อาจจะไม่คงที่ การคาดการณ์ความผันผวนเหล่านี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรับรู้รายรับอาจทําให้การพยากรณ์ทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ยังต้องตัดสินใจด้วยว่าจะรับรู้รายรับตามยอดขายที่คาดหวังหรือไม่ ซึ่งอาจนําไปสู่การปรับยอดในอนาคตหากยอดขายจริงแตกต่างจากยอดขายที่ประมาณไว้

  • ตัวอย่าง: แฟรนไชส์ฟิตเนสมีข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับวิธีคํานวณและรับรู้ค่าสิทธิ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์รับรู้ค่าสิทธิโดยอิงตามการพยากรณ์ยอดขายต่อปีของแฟรนไชส์ใหม่ แต่ยอดขายจริงนั้นต่ำกว่ามาก ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องโดยผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ถูกทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับศักยภาพและความสามารถในการทํากําไรของแฟรนไชส์

เงินคืนและเงินจูงใจ

แฟรนไชส์บางรายอาจเสนอเงินคืนหรือรางวัลจูงใจให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ เช่น มอบส่วนลดค่าสิทธิในเดือนแรกๆ ที่เริ่มดําเนินกิจการ การทําบัญชีเงินจูงใจเหล่านี้จึงต้องมีการปรับราคาธุรกรรมและอาจส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการรับรู้รายได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เงินจูงใจขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคต

  • ตัวอย่าง: แฟรนไชส์ค้าปลีกมอบเงินคืนสำหรับการสั่งซื้อสินค้าครั้งแรกให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ แต่ไม่ได้นำเงินคืนเหล่านี้มาหักออกจากรายรับอย่างเหมาะสม ส่งผลให้มีการระบุรายรับเกินจริงในงบการเงิน และพบข้อผิดพลาดนี้ในระหว่างการตรวจสอบและต้องดําเนินการแก้ไขภายใต้ข้อกําหนดของมาตรฐาน ASC 606

แนวทางปฏิบัติแนะนำสําหรับการรับรู้รายรับอย่างถูกต้อง

การรับรู้รายรับอาจเป็นกระบวนการที่เข้าใจยาก แต่ยังมีแนวทางปฏิบัติแนะนำที่ช่วยให้กระบวนการดําเนินไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น โปรดดูข้อมูลสรุปต่อไปนี้

สร้างแผนการรับรู้รายรับสำหรับแฟรนไชส์โดยเฉพาะ

จัดทำคู่มือเฉพาะที่เน้นการใช้ ASC 606 กับโมเดลแฟรนไชส์เฉพาะ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมสําหรับค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ประเภทต่างๆ ค่าสิทธิ การจัดสรรเงินทุนเพื่อการตลาด และการขายผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ปรับแต่งแผนเพื่อแสดงให้เห็นว่าแง่มุมต่างๆ ของธุรกิจคุณ เช่น ข้อแตกต่างในระดับภูมิภาคในข้อตกลงและเงินจูงใจพิเศษ จะส่งผลต่อช่วงเวลาและวิธีการรับรู้รายรับอย่างไร

แบ่งกลุ่มรายรับตามอายุของแฟรนไชส์

คำนึงว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์รายใหม่อาจต้องการการสนับสนุนในระดับที่แตกต่างกันและมีรูปแบบรายได้ที่แตกต่างจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ดำเนินธุรกิจมานานแล้ว การรับรู้รายรับอาจเปลี่ยนแปลงไปตามระยะการดำเนินธุรกิจของผู้ซื้อแฟรนไชส์ (เช่น ปีแรกหรือปีที่ 10 ของการดำเนินกิจการ) ตัวอย่างเช่น เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์อาจจะรับรู้ค่าธรรมเนียมเริ่มแรกสําหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์รายใหม่เป็นช่วงเวลาที่นานกว่า เนื่องจากจําเป็นจะต้องให้การสนับสนุนและฝึกอบรมอย่างเข้มข้นกว่า ในขณะที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่สั่งสมประสบการณ์มาพอสมควรแล้วอาจเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับรู้ค่าธรรมเนียมแบบต่อเนื่อง เราแนะนำให้สร้างหมวดหมู่การรายงานที่สะท้อนข้อแตกต่างเหล่านี้ และปรับแนวทางการรับรู้รายรับให้สอดคล้องกัน

จัดตั้งคณะทำงานด้านรายรับจากหลายฝ่ายงาน

แทนที่จะมอบหมายให้ฝ่ายบัญชีทำหน้าที่รับรู้รายรับแต่เพียงผู้เดียว แนะนำให้จัดตั้งทีมที่ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายฝ่ายงาน เช่น ฝ่ายพัฒนาแฟรนไชส์ ฝ่ายปฏิบัติงาน และฝ่ายกฎหมาย คณะทำงานดังกล่าวสามารถตรวจสอบและปรับปรุงวิธีการรับรู้รายรับเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อมีบริการหรือผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ การใช้บุคลากรที่มีมุมมองแตกต่างกันจะช่วยให้ตรวจพบข้อผิดพลาดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และป้องกันไม่ให้กระบวนการรับรู้รายได้ของโครงการใหม่ๆ มีความซับซ้อนโดยไม่ได้ตั้งใจ

จัดทำสถานการณ์จำลองการรับรู้รายรับแบบ What-if

ข้อตกลงการแฟรนไชส์นั้นไม่ได้เหมือนเดิมไปตลอด แต่จะเปลี่ยนไปตามการต่ออายุ ส่วนเสริม และการแก้ไขปรับเปลี่ยน ดังนั้นควรสร้างโมเดลสถานการณ์จำลองแบบ What-if เพื่อทําความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของข้อตกลง (เช่น การเพิ่มบริการใหม่ๆ การขยายข้อกําหนด) จะส่งผลต่อการรับรู้รายรับอย่างไร เพื่อให้คุณเตรียมพร้อมสําหรับสถานการณ์ต่างๆ และจัดทําแนวทางการรับรู้รายรับที่มีความคล่องตัว ตัวอย่างเช่น คุณอาจลองพิจารณาว่าการเพิ่มบริการการตลาดดิจิทัลแบบใหม่ที่เรียกเก็บเงินด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปจะเปลี่ยนช่วงเวลาและวิธีการรับรู้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

ปรับแนวทางการรับรู้รายได้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตามความจำเป็น

การดําเนินกิจการแฟรนไชส์อาจแตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือประเทศ ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละแห่งอาจมีความคาดหวัง สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย และเงื่อนไขของตลาดแตกต่างกันไป ดังนั้น คุณควรออกแบบแนวทางการรับรู้รายรับให้สอดคล้องกับข้อแตกต่างเหล่านี้ด้วย ตัวอย่างเช่น หากผู้ซื้อแฟรนไชส์ในประเทศหนึ่งได้รับบริการสนับสนุนมากขึ้นเนื่องจากระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่นหรือกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด โปรดตรวจสอบว่าแนวทางการรับรู้รายได้ของคุณสะท้อนถึงบริการที่เพิ่มเข้ามานี้ แทนที่จะใช้โมเดลแบบเดียวในทุกประเทศหรือภูมิภาค

นำความคิดเห็นของผู้ซื้อแฟรนไชส์มาช่วยให้ประเมินสิ่งตอบแทนผันแปรได้ดีขึ้น

พูดคุยกับผู้ซื้อแฟรนไชส์อย่างสม่ำเสมอเพื่อทําความเข้าใจความคาดหวัง ความท้าทาย และแผนการเติบโตของพวกเขา ความคิดเห็นจากผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่คาดหวังได้แบบเรียลไทม์และถูกต้องมากขึ้น ซึ่งจะช่วยคุณปรับโมเดลและคำนึงถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับการแปรผันของรายรับ การสอบถามหรือการสํารวจความคิดเห็นเป็นประจําอาจจะกลายขั้นตอนให้คําติชม ซึ่งจะช่วยคุณปรับการพยากรณ์รายรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับข้อความหมายเหตุเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อการตลาด

ค่าธรรมเนียมการตลาดที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อแฟรนไชส์อาจจะไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร หากข้อตกลงแฟรนไชส์ของคุณระบุว่ารวมค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไว้ด้วยและจะนําไปใช้กับกิจกรรมการตลาดทั่วทั้งระบบ ให้ระบุและติดตามการใช้เงินทุนอย่างชัดเจน ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะนับเป็นรายรับหรือหนี้สินก็ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีจัดการและการใช้จ่ายเงินทุน หากค่าธรรมเนียมนี้คือรายรับ ให้รับรู้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวว่าเป็นกิจกรรมการตลาด มิฉะนั้น ให้ถือเป็นเงินทุนแยกต่างหากเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนหรือการรายงานอย่างไม่ถูกต้อง

จัดทำคู่มืออ้างอิงฉบับย่อสําหรับทีมภาคสนาม

ฝ่ายปฏิบัติงานนอกพื้นที่มักจะมีบทบาทสําคัญในการทํางานร่วมกับผู้ซื้อแฟรนไชส์เป็นประจําทุกวัน รวมทั้งอาจออกแบบหรือทำการแก้ไขต่างๆ ข้อตกลงที่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายรับ ดังนั้น โปรดส่งคู่มืออ้างอิงฉบับย่อให้แก่ทีมภาคสนาม ซึ่งอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงหรือข้อกําหนดสำหรับแฟรนไชส์อาจส่งผลต่อการรายงานทางการเงินอย่างไร วิธีนี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการตัดสินใจของพวกเขาส่งผลต่อการทําบัญชีอย่างไร

ปรับปรุงรางวัลจูงใจภายในเพื่อส่งเสริมให้มีการรายงานรายรับอย่างถูกต้อง

หากรางวัลจูงใจภายใน (เช่น โบนัสสําหรับทีมขายแฟรนไชส์หรือผู้จัดการระดับภูมิภาค) ผูกกับรายรับ โปรดตรวจสอบว่ารางวัลจูงใจเหล่านี้ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติงานที่อาจนําไปสู่การรับรู้รายรับก่อนกําหนดหรือเกินความจริง ควรปรับรางวัลจูงใจให้ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและการรายงานที่ถูกต้อง แม่นยํา ไม่ใช่แค่ผลกําไรระยะสั้น แนวทางที่สมดุลจะช่วยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่รับผิดชอบ ซึ่งสนับสนุนความสัมพันธ์และการปฏิบัติตามข้อกําหนดแฟรนไชส์ในระยะยาว

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Revenue Recognition

Revenue Recognition

กำหนดค่าและปรับขั้นตอนการจัดทำรายงานรายรับให้เป็นอัตโนมัติเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรับรู้รายรับ ASC 606 และ IFRS 15 ได้อย่างง่ายดาย

Stripe Docs เกี่ยวกับ Revenue Recognition

สร้างกระบวนการทำบัญชีแบบเกณฑ์คงค้างอัตโนมัติด้วย Stripe Revenue Recognition