บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คืออะไร คู่มือสําหรับธุรกิจ

Issuing
Issuing

Stripe Issuing เป็นผู้มอบระบบการให้บริการธนาคารสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพรูปแบบใหม่ แพลตฟอร์มที่ล้ำนวัตกรรม และองค์กรที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบัตรกว่า 200 ล้านใบที่สร้างขึ้นในระบบ

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คืออะไร
  3. บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์เหมือนกับบัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัวหรือมีแบรนด์ของตัวเองหรือไม่
    1. บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์
    2. บัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัว
  4. บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์มีหลักการทํางานอย่างไร
  5. ประโยชน์ของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สําหรับธุรกิจ
  6. ข้อเสียของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สําหรับธุรกิจ
  7. วิธีสร้างบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์ให้ธุรกิจของคุณ

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เริ่มได้รับความนิยมเมื่อเร็วๆ นี้คือบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์ ตลาดสําหรับบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์มีมูลค่ามากกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตถึงเกือบ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงเริ่มพิจารณาว่าจะเปิดตัวบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์กันมากขึ้น

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2 แห่ง สําหรับธุรกิจ การทํางานร่วมกันนี้จะช่วยเพิ่มความภักดีของลูกค้า กระจายแหล่งรายได้ และเพิ่มการรับรู้สำหรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

ด้านล่างนี้เราจะอธิบายว่าบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์ทํางานอย่างไร ข้อดีและปัญหาที่พบ กระบวนการที่ธุรกิจสามารถนำไปดำเนินการได้เพื่อตัดสินใจว่าจะเปิดตัวบัตรแบบร่วมแบรนด์หรือไม่

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คืออะไร
  • บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์เหมือนกับบัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัวหรือมีแบรนด์ของตัวเองหรือไม่
  • บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์มีการทํางานอย่างไร
  • ประโยชน์ของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สําหรับธุรกิจ
  • ข้อเสียของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สําหรับธุรกิจ
  • วิธีสร้างบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์ให้ธุรกิจของคุณ

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คืออะไร

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่นำเสนอโดยบริษัทผู้ออกบัตรเครดิตและธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทการเงิน ซึ่งปกติแล้วคือผู้ค้าปลีกหรือผู้ให้บริการ เจ้าของบัตรจะได้รับสิทธิประโยชน์และรางวัลจูงใจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจที่ไม่ใช่องค์กรการเงินจากบัตรเหล่านี้ โดยจะช่วยเสริมสร้างความภักดีและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากแบรนด์นั้น

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์เหมือนกับบัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัวหรือมีแบรนด์ของตัวเองหรือไม่

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์และบัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัวนั้นไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าบัตรทั้งสองประเภทจะเกิดจากการเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันระหว่างผู้ค้าปลีกและสถาบันการเงิน แต่ก็ให้บริการและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน บัตรร่วมแบรนด์มีการใช้งานที่กว้างขวางกว่าและเชื่อมโยงกับเครือข่ายบัตรเครดิตรายใหญ่ ในขณะที่ลูกค้าสามารถใช้บัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัวได้เฉพาะที่ร้านค้าปลีกที่ออกบัตรหรือบริษัทในเครือเท่านั้น ข้อมูลเปรียบเทียบโดยละเอียดมีดังนี้

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์

  • การเป็นพาร์ทเนอร์: บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สร้างขึ้นจากการเป็นพาร์ทเนอร์ระหว่างผู้ค้าปลีก (หรือธุรกิจประเภทอื่น) กับสถาบันทางการเงินหรือเครือข่ายบัตร เช่น Visa, Mastercard หรือ American Express
  • การใช้งาน: ลูกค้าสามารถใช้บัตรได้ทุกที่ในร้านค้าที่ยอมรับเครือข่ายบัตรนั้นๆ ไม่ใช่แค่ร้านค้าปลีกแบบร่วมแบรนด์เท่านั้น
  • คุณสมบัติ: ปกติแล้วจะมาพร้อมกับการสะสมคะแนนหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อในร้านค้าปลีกแบบร่วมแบรนด์โดยเฉพาะ และจะมอบคะแนนสะสมหรือสิทธิประโยชน์สําหรับการซื้อทั่วไปด้วย
  • การรับรู้แบรนด์: โลโก้ของผู้ค้าปลีกและโลโก้ของเครือข่ายบัตรมักจะปรากฏบนบัตรคู่กัน

บัตรเครดิตที่มีแบรนด์ส่วนตัว

  • การเป็นพาร์ทเนอร์: นอกจากนี้ บัตรเหล่านี้ยังสร้างขึ้นจากการเป็นพาร์ทเนอร์ระหว่างผู้ค้าปลีกกับสถาบันการเงิน แต่จะไม่แสดงโลโก้เครือข่ายบัตรเครดิตหลัก
  • การใช้งาน: ใช้ได้เฉพาะที่ร้านค้าหรือร้านค้าออนไลน์ของผู้ค้าปลีกที่ออกบัตรเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้าอาจออกบัตรที่มีแบรนด์ส่วนตัวที่สามารถใช้ได้กับการซื้อที่ร้านนั้นเท่านั้น
  • คุณสมบัติ: โดยทั่วไปแล้ว ข้อเสนอทางเงินจะจํากัดเฉพาะการซื้อที่ทํากับผู้ค้าปลีกดังกล่าวเท่านั้น อาจมีเงื่อนไขความช่วยเหลือทางการเงินพิเศษ ส่วนลด หรือรางวัลจูงใจอื่นๆ ด้วย
  • การรับรู้แบรนด์: โดยทั่วไปแล้ว จะมีเพียงแบรนด์ของผู้ค้าปลีกเท่านั้นที่ปรากฏในบัตร โดยไม่มีโลโก้ของเครือข่ายบัตรที่เด่นชัด

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์มีหลักการทํางานอย่างไร

บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์จะใช้ทํางานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัทผู้ออกบัตรเครดิตและธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทการเงิน วิธีการทำงานมีดังนี้

  • การเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ออกบัตร: แม้บริษัทผู้ออกบัตรจะรับผิดชอบการอนุมัติเครดิต การจัดการบัญชี และการเรียกเก็บเงิน แต่ธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทการเงินจะทำหน้าที่สร้างคุณค่าของแบรนด์ การเข้าถึงลูกค้า และทรัพยากรด้านข้อมูล การทํางานร่วมกันนี้ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และเพิ่มมูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า (LTV) ได้

  • โครงสร้างรางวัลจูงใจ: หนึ่งในฟีเจอร์ที่โดดเด่นของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์คือระบบการสะสมคะแนนที่ปรับให้เหมาะกับข้อเสนอของธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทการเงิน นอกจากคะแนนทั่วไปสําหรับการใช้จ่ายทุกๆ บาทแล้ว เจ้าของบัตรอาจได้รับคะแนนคูณเพิ่มหรือรับเงินคืนจากการซื้อกับธุรกิจที่เป็นพาร์ทเนอร์ด้วย โครงสร้างคะแนนสะสมที่แตกต่างนี้เป็นสิ่งจูงใจที่ช่วยให้เจ้าของบัตรใช้จ่ายกับพาร์ทเนอร์แบรนด์ร่วมได้มากขึ้น

  • ตัวเลือกการแลกคะแนน: แม้บัตรเครดิตหลายใบจะให้รางวัลที่คล้ายๆ กัน เช่น เงินคืน แต่บัตรแบบร่วมแบรนด์มักจะให้ตัวเลือกการแลกคะแนนที่เจาะจงมากขึ้นและเชื่อมโยงกับธุรกิจพาร์ทเนอร์ ตัวอย่างเช่น บัตรสายการบินแบบร่วมแบรนด์อาจให้เจ้าของบัตรแลกคะแนนสะสมเพื่อรับเที่ยวบิน การอัปเกรดที่นั่ง หรือสิทธิ์เข้าใช้เลานจ์ในสนามบินได้ บัตรผู้ค้าปลีกแบบร่วมแบรนด์สามารถนําเสนอส่วนลด สินค้าสุดพิเศษ หรือสิทธิ์ซื้อสินค้าก่อนใคร

  • แคมเปญการตลาด: นอกเหนือจากช่องทางการตลาดแบบเดิมๆ แล้ว บัตรแบบร่วมแบรนด์อาจได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการขายจากทั้ง 2 ทาง ธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทการเงินอาจใช้ร้านค้าปลีก เว็บไซต์ หรือบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์มาโฆษณาบัตร โดยข้อเสนอพิเศษ เช่น โบนัสช่วงแนะนำ หรือโปรโมชันตามเวลาจํากัด สามารถช่วยให้หาลูกค้าใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

  • การเสริมสร้างความภักดี: เจ้าของบัตรจะทราบถึงประโยชน์ของการใช้บัตรที่มีแบรนด์ร่วมได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้าของบัตรเป็นลูกค้าของธุรกิจที่ไม่ใช่บริษัทการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์ได้ เมื่อลูกค้าใช้บัตรมากขึ้น ก็จะได้รับรางวัลมากขึ้นไปด้วย ทำให้มีแนวโน้มกลับมาอุดหนุนธุรกิจพาร์ทเนอร์ต่อไป

  • การแบ่งความรับผิดชอบด้านความเสี่ยงและรายรับ: การเป็นพาร์ทเนอร์มักต้องมีการเจรจาโดยละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งความรับผิดชอบด้านความเสี่ยงทางการเงินและผลกำไรระหว่างสองฝ่าย ปัจจัยต่างๆ เช่น การผิดชำระหนี้ของเจ้าของบัตร ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน และงบประมาณทางการตลาดจะรวมอยู่ในการเจรจานี้ด้วย การแบ่งรายรับจากค่าธรรมเนียมการทําธุรกรรมผ่านบัตรระหว่างธนาคาร ค่าธรรมเนียมรายปี หรือค่าธรรมเนียมการเงินสามารถทำได้โดยอิงตามข้อกําหนดที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ทําให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากการทํางานร่วมกัน

ประโยชน์ของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สําหรับธุรกิจ

มีบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์อยู่มากมาย ซึ่งหากมีการดำเนินงานที่ดี บัตรเหล่านี้ก็อาจให้ประโยชน์ที่สําคัญต่อธุรกิจบางประเภท สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้แก่

  • ความภักดีต่อแบรนด์: ธุรกิจสามารถกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำได้จากการให้คะแนนสะสมและรางวัลจูงใจ ทำให้ลูกค้ามีความภักดี ยิ่งลูกค้าใช้บัตรแบบร่วมแบรนด์มากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับรางวัลจูงใจมากเท่านั้น ซึ่งมักจะนำไปสู่การซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ซ้ำ

  • ข้อมูลเชิงลึก: บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อ ความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้า ข้อมูลนี้จะช่วยเป็นแนวทางสำหรับกลยุทธ์การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการปรับปรุงบริการ

  • ช่องทางสร้างรายรับ: นอกจากการขายตรงแล้ว พาร์ทเนอร์มักจะแบ่งรายรับจากค่าธรรมเนียมรายปี ดอกเบี้ย และการเรียกเก็บเงินอื่นๆ เกี่ยวกับบัตรร่วมกัน ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มเติม

  • โอกาสในการทําการตลาด: ธุรกิจสามารถสร้างโปรโมชันเฉพาะหรือข้อเสนอพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น หากเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบการซื้อของเจ้าของบัตร แนวทางที่กำหนดเป้าหมายนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายและเพิ่มการดึงดูดลูกค้าได้

  • การเข้าถึงที่กว้างขึ้น: ฐานลูกค้าของบริษัทผู้ออกบัตรนําเสนอโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ การโปรโมตบัตรแบบร่วมแบรนด์โดยบริษัทผู้ออกบัตรจะช่วยให้แบรนด์ของธุรกิจเข้าถึงผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น

  • ข้อดีด้านการดำเนินงาน: ส่วนใหญ่แล้วผู้ออกบัตรจะรับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงิน การจัดการบัญชี การบริการลูกค้า และการจัดการความเสี่ยงด้านการฉ้อโกง ทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ด้านเครดิตโดยไม่ต้องจัดการกับความซับซ้อนทางการเงินทั้งหมดด้วยตัวเอง

  • การจำกัดการเป็นพาร์ทเนอร์: การสร้างแบรนด์ร่วมมักจะหมายถึงการทำงานร่วมกันโดยเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าคู่แข่งของธุรกิจพาร์ทเนอร์ที่ไม่ใช่บริษัทการเงินจะไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ออกบัตรรายเดิมได้อีก ซึ่งข้อนี้ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดได้

  • มีชื่อเสียงที่ดีขึ้น: การทำงานร่วมกับกับบริษัทผู้ออกบัตรที่มีชื่อเสียงสามารถเพิ่มการรับรู้แบรนด์ของธุรกิจได้ ลูกค้าอาจมองว่าการทํางานร่วมกันนี้เป็นการรับรอง ทำให้ช่วยเพิ่มความไว้วางใจจากลูกค้า และเพิ่มคุณค่าของแบรนด์

ข้อเสียของบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สําหรับธุรกิจ

แม้บัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์มอบสิทธิประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีความท้าทายบางประการสำหรับธุรกิจ บริษัทที่เปิดตัวบัตรที่แบบร่วมแบรนด์จะต้องเข้าใจและลดความเสี่ยงจากความท้าทายเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อรักษาของแบรนด์และความไว้วางใจของลูกค้า ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

  • ความเสี่ยงต่อชื่อเสียง: หากบริษัทผู้ออกบัตรประสบปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์หรือปัญหาด้านกฎหมายในทางลบ ธุรกิจที่เป็นพาร์ทเนอร์อาจได้รับความเสียหายทางอ้อมเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปด้วย

  • การเจรจาที่ซับซ้อน: การสร้างข้อกําหนดของการเป็นพาร์ทเนอร์ การแบ่งรายรับและความรับผิดชอบอาจต้องใช้เวลานานและอาจต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินและกฎหมายหลายอย่าง

  • ข้อกังวลเกี่ยวกับการบริการลูกค้า: แม้ว่าปกติบริษัทผู้ออกบัตรจะเป็นฝ่ายจัดการบัญชีและการบริการลูกค้า แต่ประสบการณ์ลูกค้าที่ไม่ดีอาจส่งผลทางอ้อมต่อธุรกิจได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ความรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม

  • มีความยืดหยุ่นจํากัด: เมื่อพาร์ทเนอร์ทำข้อตกลงแล้ว อาจปรับเปลี่ยนข้อตกลงได้ยากหากธุรกิจหรือสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจอาจต้องยึดตามข้อกําหนดที่ระบุไว้จนกว่าจะต่ออายุหรือยกเลิกสัญญา

  • การอ้างอิง: การใช้บัตรแบบร่วมแบรนด์เพื่อรักษาลูกค้ามากเกินไปอาจทําให้เกิดช่องโหว่ได้ หากบริษัทผู้ออกบัตรมีปัญหาในการประมวลผลธุรกรรมหรือหากยกเลิกการเป็นพาร์ทเนอร์

  • ความเสี่ยงทางการเงิน: หากผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตทํางานได้ไม่ดีในตลาด รายรับที่คาดการณ์ไว้อาจไม่ถึงตามเป้า และหากเจ้าของบัตรมีอัตราผิดชำระหนี้สูง ก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทํากําไรของผลิตภัณฑ์ที่ร่วมแบรนด์

  • ความอิ่มตัวของตลาด: หากคู่แข่งทําข้อตกลงร่วมแบรนด์ที่คล้ายกัน ตลาดอาจอิ่มตัวได้ โดยคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ของบัตรแบบร่วมแบรนด์อาจถูกกลืนไป

แต่ปัญหาเหล่านี้มีทางแก้ ธุรกิจที่สร้างแบรนด์ร่วมกับบริษัทผู้ออกบัตรต้องชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าบัตรเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์และการสร้างรายรับ แต่ธุรกิจต่างๆ จะต้องจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังหากต้องการรับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่

วิธีสร้างบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์ให้ธุรกิจของคุณ

การเป็นพาร์ทเนอร์กับบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เพิ่มความภักดีกับลูกค้าและสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายได้ แต่การเปิดตัวบัตรแบบร่วมแบรนด์นั้นต้องมีการวางแผนและดําเนินการอย่างถี่ถ้วน ต่อไปนี้คือภาพรวมสั้นๆ เกี่ยวกับวิธีการเริ่มใช้งาน

  • ประเมินความเหมาะสมกับธุรกิจคุณ: ก่อนจะหาพาร์ทเนอร์ ให้ประเมินว่าบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย และเป้าหมายในระยะยาวหรือไม่

  • ศึกษาเกี่ยวกับผู้ออกบัตร: หาผู้ออกบัตรเครดิตที่สอดคล้องกับคุณค่าของธุรกิจ มีชื่อเสียงด้านการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดี และมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สนับสนุนการร่วมธุรกิจดังกล่าว

  • ร่างข้อเสนอ: นําเสนอคุณค่าที่ธุรกิจมีผ่านการแสดงข้อมูลต่างๆ เช่น ขนาดฐานลูกค้า มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย และโอกาสการเติบโต ข้อเสนอนี้เป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นเจรจากับผู้ออกบัตร

  • เจรจา: เมื่อบริษัทผู้ออกบัตรแสดงความสนใจ ให้ร่วมพูดคุยโดยละเอียดเพื่อสรุปข้อกําหนดของการเป็นพาร์ทเนอร์ การแบ่งรายรับ และความรับผิดชอบ ทําการตรวจสอบทางกฎหมายที่ครอบคลุมในขั้นตอนนี้

  • กำหนดโครงสร้างรางวัลจูงใจ: ร่วมมือกับผู้ออกบัตรอย่างใกล้ชิดเพื่อออกแบบระบบสะสมคะแนนที่จะดึงดูดผู้ถือบัตร และให้ทั้งสองฝ่ายบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน

  • เปิดตัวแคมเปญการตลาด: ร่วมกันออกแบบและดําเนินการตามกลยุทธ์การตลาดที่กําหนดเป้าหมายไปยังลูกค้าปัจจุบันและผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า โดยเน้นข้อดีที่แตกต่างของบัตรแบบร่วมแบรนด์

  • ติดตามและปรับเปลี่ยน: หลังจากเปิดตัวบัตรแล้ว ให้ติดตามประสิทธิภาพการทํางานเป็นประจํา ใช้ความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อปรับข้อเสนอ กลยุทธ์การตลาด และองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้บริการกับเจ้าของบัตรให้ดียิ่งขึ้นและบรรลุผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

การร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบัตรเครดิตแบบร่วมแบรนด์เป็นการตัดสินใจที่สำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ บริษัทจําเป็นต้องเตรียมความพร้อม ทําความเข้าใจเป้าหมายร่วมกันอย่างถี่ถ้วน และทำงานร่วมกับบริษัทผู้ออกบัตรที่เลือกอย่างต่อเนื่อง การเป็นพาร์ทเนอร์ประเภทนี้สามารถพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ในการเติบโต การรักษาลูกค้า และการกระจายรายรับให้กับธุรกิจได้ หากมีเงื่อนไขที่เหมาะสมและใช้กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Issuing

Issuing

ระบบการให้บริการธนาคารสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพรูปแบบใหม่ แพลตฟอร์มที่ล้ำนวัตกรรม และองค์กรที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Stripe Docs เกี่ยวกับ Issuing

ดูวิธีใช้ Stripe Issuing API สร้าง จัดการ และแจกจ่ายบัตรชำระเงินสำหรับธุรกิจของคุณ