ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นสิ่งสําคัญเพราะบอกเล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยบทเรียนให้เรียนรู้ ตลอดจนข้อผิดพลาดที่พบบ่อยและความเป็นไปได้มากมาย การเริ่มต้นธุรกิจน่าตื่นเต้น แต่ก็เสี่ยงด้วยเช่นกัน ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่ประสบความสําเร็จ ซึ่งคุณอาจจะสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะจัดการกระแสเงินสดได้ไม่ดีใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะไม่มีความต้องการในตลาด เมื่อคุณเข้าใจสาเหตุ คุณก็จะปรับปรุงกลยุทธ์ของตัวเอง มองเห็นอันตรายล่วงหน้า และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่พบบ่อยได้
ข้อมูลสถิติจะช่วยคุณประเมินความเสี่ยง ปรับปรุงวิสัยทัศน์ และตัดสินใจได้อย่างมั่นใจโดยอาศัยข้อมูลประกอบ ให้คุณมองว่าข้อมูลสถิติเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นคําแนะนําที่มีประโยชน์ ตั้งใจฟังดีๆ ตั้งคําถามว่าอะไรอยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้น และใช้สิ่งที่คุณเรียนรู้มากำหนดเส้นทางในอนาคต ต่อไปนี้เราจะอธิบายแนวโน้มธุรกิจสตาร์ทอัพที่คุณควรทราบเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- สถิติล่าสุดเกี่ยวกับอัตราความสําเร็จและอัตราความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพคือเท่าใด
- จากข้อมูลที่มี อะไรคือเหตุผลสําคัญที่สุดของความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพ
- แนวโน้มการลงทุนส่งผลต่อความยั่งยืนและการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไร
- อัตราการอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันอย่างไร
- ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการเติบโตในการจ้างงานและการสร้างงานของธุรกิจสตาร์ทอัพ
- ข้อมูลธุรกิจสตาร์ทอัพบอกอะไรเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ในปี 2025 และอื่นๆ
สถิติล่าสุดเกี่ยวกับอัตราความสําเร็จและอัตราความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพคือเท่าใด
ข้อมูลสถิติล่าสุดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของธุรกิจสตาร์ทอัพจะให้บริบทสําคัญเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะพบเจอเมื่อเปิดตัวธุรกิจของคุณเอง ตัวอย่างเช่น อัตราความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพถือว่าสูง เพราะประมาณ 90% ของธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ประสบความสําเร็จ ธุรกิจที่ประสบความสําเร็จมักจะใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะทํากําไร ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม เงินทุน และการใช้จ่ายของธุรกิจสตาร์ทอัพ อายุและระดับประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งก็มีแนวโน้มว่าจะมีความสําคัญเช่นกัน เพราะผู้ก่อตั้งที่ทํางานมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีในอุตสาหกรรมเดียวกันกับธุรกิจสตาร์ทอัพมีแนวโน้มกว่า 85% ที่จะเปิดตัวธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างประสบความสําเร็จอย่างสูงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง และอายุโดยเฉลี่ยของผู้ที่ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดคือ45
ต่อไปนี้คืออัตราความสําเร็จในแต่ละอุตสาหกรรมในปี 2023
ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มีธุรกิจระดับ "ยูนิคอร์น" (ธุรกิจสตาร์ทอัพของเอกชนที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มากที่สุดตั้งแต่ปี 2016 โดยมีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านดอลลาร์
ผลิตภัณฑ์และบริการสําหรับผู้บริโภคมีธุรกิจระดับยูนิคอร์นจํานวนสูงสุดเป็นอันดับสอง โดยมีมูลค่ารวม 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อธุรกิจมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับสามโดยมีมูลค่ารวม 534 พันล้านดอลลาร์
จากข้อมูลที่มี อะไรคือเหตุผลสําคัญที่สุดของความล้มเหลวของธุรกิจสตาร์ทอัพ
การทําความเข้าใจสาเหตุที่ธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ประสบความสําเร็จจะช่วยให้ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่พบบ่อยได้ จากรายงานการวิเคราะห์ธุรกิจปี 2021 ต่อไปนี้คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพล้มเหลว
เงินทุนไม่เพียงพอ: บริษัทสตาร์ทอัพประมาณ 38% ต้องปิดตัวลงเพราะเงินหมดหรือไม่มีเงินลงทุนอย่างเพียงพอ
ไม่มีความต้องการในตลาด: บริษัทสตาร์ทอัพประมาณ 35% ไม่ประสบความสําเร็จเนื่องจากตลาดไม่ได้ต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ธุรกิจเสนอ
การแข่งขันสูง: บริษัทสตาร์ทอัพประมาณ 20% ประสบกับความล้มเหลวเนื่องจากคู่แข่งรายอื่นๆ ทำได้ดีกว่า
โมเดลธุรกิจไม่เหมาะสม: ธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 19% ไม่ประสบความสําเร็จเนื่องจากโมเดลธุรกิจไม่ดีพอ
ปัญหาด้านกฎหมาย: ธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 18% ปิดตัวลงเนื่องจากเผชิญกับปัญหาด้านกฎหมายหรือข้อกําหนดทางกฎหมาย จนไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้
ปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการและค่าใช้จ่าย: ประมาณ 15% ของธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งราคาสินค้าหรือบริการไม่เหมาะสม และไม่สามารถจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาภายใน: ธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 14% ล้มเหลวเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับทีม เช่น ไม่มีทักษะที่จําเป็นหรือไม่สามารถทํางานร่วมกันได้ และประมาณ 7% ของธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ประสบความสําเร็จเนื่องจากผู้ก่อตั้งสมาชิกทีม หรือนักลงทุนขัดแย้งกัน
จังหวะเวลาไม่เหมาะสม: ธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 10% ล้มเหลวเพราะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เร็วเกินไปหรือช้าเกินไป
สินค้าไม่ได้คุณภาพ: ธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 8% ปิดตัวลงเนื่องจากขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงตามความคาดหวังของลูกค้า
แนวโน้มการลงทุนส่งผลต่อความยั่งยืนและการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไร
การลงทุนเป็นตัวกําหนดว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะอยู่รอดและเติบโตได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการลงทุน ผู้ก่อตั้งจะมองเห็นว่าโอกาสในการอยู่รอดของธุรกิจมีมากแค่ไหนในแต่ละระยะของกระบวนการจัดหาเงินทุน และเข้าใจว่าอุตสาหกรรมและตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงเงินทุนอย่างไร
การระดมทุน
การจัดหาเงินทุนแต่ละรอบส่งผลกระทบต่อโอกาสในการอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นในทุกระยะ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ระดมทุนแรกเริ่มได้สำเร็จจะมีเวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์และพิสูจน์ความต้องการของตลาด โดยเฉลี่ยแล้ว บริษัทสตาร์ทอัพ 1 ใน 3 แห่งที่ระดมเงินทุนเริ่มต้นหรือระดมทุนล่วงหน้าจะสามารถระดมทุนใน Series A หรือรอบต่อไปได้ สําหรับธุรกิจที่ระดมทุนได้อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าครึ่งหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบ Series A หรือหลังจากนั้น ความท้าทายนี้แสดงให้เห็นว่าหากมีแรงฉุดของตลาดมากพอก็จะดึงดูดการลงทุนเพิ่มได้
การระดมทุนรอบ Series A มักจะส่งสัญญาณว่าธุรกิจสตาร์ทอัพเปลี่ยนจากระยะทดสอบตลาดและเข้าสู่ระยะขยายธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ระดมทุนรอบ Series B มักจะเริ่มทำการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ส่วนการระดมทุนรอบ Series C เป็นต้นไป ธุรกิจมักจะมุ่งเน้นไปที่การซื้อกิจการ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ หรือการเตรียมตัวเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO)
โอกาสในการซื้อกิจการจะเพิ่มขึ้นตามการระดมทุนแต่ละรอบ เมื่อระดมทุนไปจนถึงรอบ Series E ธุรกิจ 16% ที่ระดมทุนมาถึงรอบ Series E จะได้รับการซื้อกิจการ แต่การระดมทุนมากเกินไปหรือภาวะมูลค่าเฟ้อในกระบวนการระดมทุน อาจทำให้เกิดความคาดหวังด้านการเติบโต ซึ่งหากธุรกิจสตาร์ทอัพทำได้ไม่ดีตามความคาดหวัง ก็อาจทำให้ธุรกิจล้มเหลวหลังการระดมทุนรอบ Series B ได้ ปรากฏการณ์นี้เห็นได้จากการชะลอการลงทุนในปี 2022 ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพจํานวนมากที่ได้รับการประเมินมูลค่าสูงเกินไปต้องลดบุคลากรหรือปิดตัวลง
โมเดลการระดมทุนทางเลือก เช่น การขอสินเชื่อตามรายรับก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน วิธีนี้สามารถให้ความยืดหยุ่น แต่ใช้ได้เฉพาะกับธุรกิจที่มีรายรับแล้วเท่านั้น
การกระจายการลงทุน
การกระจายการลงทุนยังมีผลต่อการอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างมาก โปรดดูรายละเอียดจากการลงทุนในธุรกิจร่วมลงทุน (VC) ของสหรัฐอเมริกาตามภาคธุรกิจในปี 2023
ซอฟต์แวร์: ธุรกิจซอฟต์แวร์ระดมทุนเกือบ 66.6 พันล้านจากการลงทุนใน VC ทั้งหมด
สินค้าและบริการเชิงพาณิชย์: ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ขายสินค้าและบริการเชิงพาณิชย์ได้รับเงินทุนเกือบ 27.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการลงทุนใน VC ทั้งหมด
เภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ: ธุรกิจด้านเภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพได้รับเงินทุนประมาณ 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการลงทุนใน VC
บริการและระบบการดูแลสุขภาพ: ธุรกิจสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมบริการและระบบการดูแลสุขภาพได้รับเงินลงทุนใน VC กว่า 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าและบริการสําหรับผู้บริโภค: ธุรกิจสตาร์ทอัพที่จําหน่ายสินค้าและบริการสําหรับผู้บริโภคได้รับเงินลงทุนใน VC เกือบ 10.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แนวโน้มทางภูมิศาสตร์
ตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้การเข้าถึงเงินทุน ต่อไปนี้คือการลงทุนใน VC ตามประเทศใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2024:
สหรัฐอเมริกา: ธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาได้รับเงินลงทุนVCจากทั่วโลกเป็นจํานวนมาก คิดเป็นมูลค่ารวม 128.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าประเทศอื่น ๆ ถึง 4 เท่า
จีน: การลงทุนใน VC ของจีนสูงเป็นอันดับสอง โดยอยู่ที่ 29.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สหราชอาณาจักร: ในยุโรป ธุรกิจสตาร์ทอัพในสหราชอาณาจักรได้รับเงินลงทุนมากที่สุด โดยการลงทุนใน VC ของสหราชอาณาจักรมีมูลค่ารวมทั้งหมด 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินเดีย: การลงทุนใน VC รวม 10.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เยอรมนี: เยอรมนีรั้งอันดับสองในยุโรปและอันดับ 5 จากทั่วโลก โดยมีการลงทุนใน VC เป็นมูลค่า 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การทำงานระยะไกลได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้มีการกระจายเงินทุนได้เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเมืองรองในสหรัฐอเมริกาอย่างออสตินและไมอามีมีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น ส่วนในต่างประเทศ การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคในแอฟริกาก็เพิ่มขึ้น
อัตราการอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันอย่างไร
อัตราการรอดชีวิตของธุรกิจสตาร์ทอัพจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคเพราะปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินทุน ภูมิภาคที่มีเครือข่าย VC แข็งแกร่ง เช่น อเมริกาเหนือและส่วนต่างๆ ในยุโรป มักจะมีอัตราการอยู่รอดสูงกว่าเนื่องจากมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้มากกว่า เศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ระเบียบข้อบังคับที่เป็นมิตรกับธุรกิจ และความสะดวกในการทําธุรกิจ ยังมอบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจสตาร์ทอัพและเพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจ สุดท้าย การเข้าถึงศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ผู้เร่งการเติบโตของธุรกิจ และโปรแกรมให้คําปรึกษาก็สามารถสร้างความแตกต่างให้กับโอกาสที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะประสบความสําเร็จได้เช่นกัน
ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบการอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายๆ ส่วนทั่วโลก
สหรัฐอเมริกา: ประมาณ 35% ของธุรกิจอยู่รอดได้ถึง 10 ปี
สหราชอาณาจักร: 50% ของธุรกิจอยู่รอดเกิน 3 ปี
สหภาพยุโรป: ธุรกิจประมาณ 45% อยู่รอด 5 ปี
อินเดีย: ธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 10% อยู่รอดได้ 5 ปี
บราซิล: 50% ของธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่รอดได้ 4 ปี
แอฟริกา: โดยเฉลี่ยแล้ว 46% ของธุรกิจสตาร์ทอัพจะอยู่รอดในช่วงแรกเริ่ม โดยที่เคนยาและอียิปต์มีอัตราความสําเร็จสูงที่สุดในภูมิภาค แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพในแอฟริกาน้อยมากที่จะอยู่รอดหลังการระดมทุนรอบ Series B
ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการเติบโตในการจ้างงานและการสร้างงานของธุรกิจสตาร์ทอัพ
ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถสร้างงานได้อย่างน่าเชื่อถือ แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะมีแนวโน้มที่จะจ้างงานอย่างอนุรักษ์นิยมหรือลดบุคลากรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพก็สามารถเพิ่มตำแหน่งทำงานเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ซึ่งธุรกิจหลายแห่งเน้นการปรับปรุง ประสบการณ์ของลูกค้า และต้องแก้ไขปัญหาด้านการปฏิบัติงานที่มีความท้าทาย สิ่งเหล่านี้สร้างโอกาสให้กับบุคลากรกลุ่มต่างๆ ที่มีชุดทักษะที่หลากหลาย สถิติการสร้างงานล่าสุดแสดงให้เห็นข้อมูลต่อไปนี้
ในปี 2023 ธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุไม่ถึง 1 ปีสร้างงานกว่า 3.7 ล้านตําแหน่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย
ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกายื่นขอจดทะเบียนธุรกิจ 5.2 ล้านราย ระหว่างเดือนมกราคม 2021 ถึงธันวาคม 2023 ซึ่งสูงกว่าช่วงปี 2017–2019 ประมาณ 3 เท่า ธุรกิจเหล่านี้ "มีโอกาสที่จะเป็นนายจ้าง" (จากการยื่นแผนจ้างพนักงาน)
ธุรกิจอายุน้อยในสหรัฐอเมริกามีอัตราการสร้างงานสุทธิสูงกว่าธุรกิจเก่าแก่ตลอดมา โดยอัตราการสร้างงานจะอยู่ระหว่าง 15% ถึง 20% ในขณะที่บริษัทเก่าแก่จะอยู่ที่ประมาณ 0% หรือติดลบ
นอกจากนี้ สถานที่ตั้งสตาร์ทอัพยังส่งผลต่อการเติบโตของงานด้วย ศูนย์กลางที่สําคัญของโลกอย่างซานฟรานซิสโกมีการจ้างงานจากธุรกิจสตาร์ทอัพมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา แต่เมืองอื่นๆ อย่างออสตินก็มีการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในระดับโลก การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพและการจ้างงานในภูมิภาคต่างๆ เช่น ประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศสก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
จํานวนงานของธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จริง แต่ผู้หางานควรคำนึงด้วยว่าพนักงานของธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะแรกมักจะต้องทำงานยาวนานหลายชั่วโมง แต่ข้อดีก็คือพวกเขาจะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากและมีอิทธิพลต่อทิศทางของธุรกิจด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพยังมีแนวโน้มที่จะจ้างงานอย่างรวดเร็วในช่วงขยายกิจการ แต่อาจจะมีการลดจำนวนคนงานลงในภายหลังหากเงินทุนหมดหรือสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไป
ตัวอย่างภาคอุตสาหกรรมที่สร้างงานได้มากที่สุด ได้แก่
เทคโนโลยี: ธุรกิจซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) และธุรกิจสตาร์ทอัพที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะว่าจ้างวิศวกรและสร้างทีมสําหรับการจัดการผลิตภัณฑ์ การตลาด การสนับสนุนลูกค้า และการดำเนินงาน ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีมักจะขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะว่าจ้างพนักงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
การดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ: ธุรกิจเหล่านี้จะสร้างงานในตำแหน่งวิจัยและพัฒนา (R&D) การปฏิบัติตามข้อกําหนด และบริการสําหรับผู้ป่วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแล้ว การจ้างงานของภาคธุรกิจนี้อาจจะช้ากว่าในช่วงแรกเนื่องจากมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบข้อบังคับ แต่จะจ้างงานได้เร็วขึ้นเมื่อผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด
ร้านค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ: แบรนด์เหล่านี้สร้างงานด้านโลจิสติกส์ การตลาด และการบริการลูกค้า ธุรกิจสตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกยังคงมีโอกาสในการเติบโตอยู่มากมาย
ความยั่งยืน: ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพลังงานหมุนเวียน การชดเชยคาร์บอน และวัสดุที่ยั่งยืนจะว่าจ้างงานในสาขาวิศวกรรม การจัดการโครงการ และการเข้าถึงลูกค้า เมื่อบริษัทขยายธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและตอบสนองความสนใจของนักลงทุน
ข้อมูลธุรกิจสตาร์ทอัพบอกอะไรเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ในปี 2025 และอื่นๆ
ในปี 2025 เป็นต้นไป ธุรกิจสตาร์ทอัพจะให้ความสําคัญกับด้านต่างๆ ที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพสูงสุดในการเติบโต (เช่น AI, ความยั่งยืน) มาเจาะลึกแนวโน้มใหม่เหล่านี้กันอย่าง
AI
AI กําลังเติบโต และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทํางานอัตโนมัติง่ายๆ เท่านั้น รายงานของ McKinsey & Company พบว่าในปี 2024 72% ของธุรกิจนำ AI เชิงสร้างสรรค์มาใช้อย่างน้อย 1 ขั้นตอน ธุรกิจสตาร์ทอัพใช้ AI ในการปรับแต่งประสบการณ์ของลูกค้าให้เหมาะกับลูกค้าในวงกว้าง วิเคราะห์แนวโน้มตลาดแบบเรียลไทม์ และปรับปรุงการดําเนินงาน เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง เครื่องมือ AI เชิงสร้างสรรค์ช่วยให้ผู้ก่อตั้งทดสอบไอเดียได้รวดเร็วขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ภายในปี 2025 ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ไม่ได้เชื่อมต่อระบบ AI เข้ากับกระบวนการหลักของตนอาจจะตามคู่แข่งไม่ทัน
ความยั่งยืน
ความยั่งยืนกลายเป็นข้อได้เปรียบของตลาดอย่างรวดเร็ว เพราะลูกค้าต้องการความโปร่งใส และลูกค้า Gen Z และลูกค้าวัยมิลเลนเนียลจํานวน 51% บอกว่าต้องการซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักลงทุนเองก็สังเกตเห็นแนวโน้มนี้เช่นกัน ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสภาพอากาศระดมทุนได้กว่า 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในรูปของการลงทุนใน VC และหุ้นเอกชนทั่วโลกในปี 2023 โดยธุรกิจที่ใช้พลังงานและการขนส่งคาร์บอนต่ำได้รับเงินทุนมากที่สุด
การเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล:
ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลเป็นอันดับแรกอาจเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า และนําเสนอประสบการณ์ที่ธุรกิจแบบเก่าตามไม่ทัน ปัจจุบัน ธุรกิจสตาร์ทอัพกําลังปรับทุกอย่างเป็นระบบดิจิทัล ตั้งแต่การโต้ตอบของลูกค้าไปจนถึงการดําเนินการหลังบ้าน มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 90% ขององค์กรจะใช้ระบบคลาวด์แบบไฮบริดจนถึงปี 2027 ธุรกิจฟินเทคใหม่ๆ ได้สร้างระบบการธนาคารดิจิทัลล้วนที่มีฟีเจอร์มากมาย เช่น การชําระเงินข้ามพรมแดนและการตรวจจับการฉ้อโกง AI แบบเรียลไทม์ รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพที่ให้บริการการแพทย์ทางไกลและการวินิจฉัยผ่านระบบเสมือน
เทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก
ธุรกิจสตาร์ทอัพต่างก็ออกแบบเครื่องมือมาแก้ปัญหาของมนุษย์ เช่น การช่วยเหลือในการเข้าถึงและความต้องการดูแลสุขภาพจิต โดยเน้นการใช้งานและมอบการเข้าถึงอย่างทั่วถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Calm และ Headspace ที่เน้นเรื่องสุขภาวะแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลักและสามารถทำกำไรได้นั้นมีหน้าตาอย่างไร โดยธุรกิจทั้งสองมีมูลค่ารวมกันว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ช่องว่างด้านทักษะที่ปิดได้
ธุรกิจสตาร์ทอัพกําลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น นั่นคือการหาบุคลากรที่มีทักษะที่ใช่เพื่อให้ตามเทรนด์ข้างต้นได้ทัน AI และเครื่องมือดิจิทัลจําเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตลาดขาดแคลนอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น ความยั่งยืน ในอีก 5 ปีข้างหน้า 23% ของงานทั่วโลกคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยธุรกิจสตาร์ทอัพที่มองการณ์ไกลจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้โดยการจัดฝึกอบรมในที่ทํางาน เป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มการศึกษาทางออนไลน์ หรือใช้ AI ในการระบุช่องว่างด้านทักษะและคาดการณ์ความต้องการบุคลากรล่วงหน้า
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ