การคิดราคาตามปริมาณคืออะไร ต่อไปนี้คือวิธีลดราคาตามปริมาณ

Billing
Billing

Stripe Billing ช่วยให้คุณเรียกเก็บเงินและจัดการลูกค้าได้ในทุกแบบที่ต้องการ ตั้งแต่การเรียกเก็บเงินแบบตามรอบไปจนถึงการเรียกเก็บเงินตามการใช้งาน และสัญญาการเจรจาการขาย

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ประเภทของการคิดราคาตามปริมาณ
  3. ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ใช้การคิดราคาตามปริมาณ
  4. ประโยชน์ของการคิดราคาตามปริมาณ
  5. ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นของการคิดราคาตามปริมาณ
  6. แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการคิดราคาตามปริมาณ

การคิดราคาตามปริมาณคือกลยุทธ์การกําหนดราคาที่ราคาต่อหน่วยจะลดลงเมื่อปริมาณการซื้อเพิ่มขึ้น แนวทางปฏิบัตินี้ซึ่งจูงใจให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ในปริมาณมากนี้ขึ้นพบได้ทั่วไปในตลาดค้าส่งและค้าปลีก กลยุทธ์ให้ประโยชน์กับผู้ขายด้วยการเพิ่มปริมาณการขายและช่วยลูกค้าประหยัดเงินเมื่อซื้อเป็นจํานวนมาก

ตัวอย่างเช่น ลองนึกภาพว่าลูกค้าต้องการซื้อสกรู หากซื้อกล่องขนาด 100 ตัว อาจจะต้องจ่ายในราคา 10 เซ็นต์ต่อสกรูหนึ่งตัว แต่ถ้าตัดสินใจสกรู 1,000 ตัวในคราวเดียว ธุรกิจอาจเรียกเก็บเงินเพียง 8 เซ็นต์ต่อสกรูหนึ่งตัว ซึ่งลูกค้าจะได้รับข้อเสนอที่ดีขึ้นเมื่อซื้อมากขึ้น การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการคิดค่าบริการแบบนี้ได้ผลเพราะส่วนลดทุกประเภทสามารถกระตุ้นยอดขายได้ โดยรายงานปี 2021 พบว่า ผู้ซื้อ 37% บอกว่าข้อความโปรโมตคูปองหรือส่วนลดช่วยเพิ่มโอกาสที่ตนจะซื้อจากแบรนด์นั้นๆ

โมเดลค่าบริการประเภทนี้เรียกว่า "การคิดราคาตามปริมาณ" "การลดราคาตามปริมาณ" "การลดราคาตามจํานวน" และ "การคิดราคาตามจํานวน" โดยคำเหล่านี้ไม่แตกต่างกันนักในแง่ความหมาย ทุกคำอธิบายถึงแนวคิดการให้ราคาต่อหน่วยลดลงตามปริมาณที่ซื้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อในปริมาณมากด้วยการเสนอราคาที่ดีขึ้นเมื่อลูกค้าซื้อ

ด้านล่างเราจะอธิบายสิ่งที่คุณควรทราบเกี่ยวกับการคิดราคาตามปริมาณ ใครบ้างที่ใช้วิธีนี้และเพราะเหตุใด ประโยชน์และข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงวิธีปรับใช้โมเดลราคาตามปริมาณเชิงกลยุทธ์สําหรับธุรกิจของคุณ

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ประเภทของการคิดราคาตามปริมาณ
  • ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ใช้การคิดราคาตามปริมาณ
  • ประโยชน์ของการคิดราคาตามปริมาณ
  • ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นของการคิดราคาตามปริมาณ
  • แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการคิดราคาตามปริมาณ

ประเภทของการคิดราคาตามปริมาณ

การคิดราคาตามปริมาณมีประโยชน์กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ผู้ขายสามารถระบายสินค้าหรืออาจขายสินค้าในสต็อกได้ทั้งหมด ในขณะที่ผู้ซื้อก็ได้รับราคาต่อหน่วยที่ดีขึ้น ต่อไปนี้คือสรุปการคิดราคาตามปริมาณประเภทต่างๆ

  • ค่าบริการแบบแบ่งระดับ
    สำหรับโมเดลนี้ ราคาต่อหน่วยจะลดลงเมื่อถึงระดับปริมาณที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาจมีราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยสำหรับหน่วยที่ 1 ถึง 100 แต่สำหรับหน่วยที่ 101 ถึง 200 หน่วย ราคาอาจลดลงเป็น 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้ซื้อซื้อมากขึ้นจนถึงระดับถัดไปเพื่อให้ได้ราคาที่ดีกว่า

  • ราคาตามช่วงปริมาณ
    เช่นเดียวกับค่าบริการแบบแบ่งระดับ การคิดราคาตามช่วงปริมาณจะกำหนดราคาสำหรับแต่ละช่วงปริมาณไว้ ทั้งนี้ ราคาสำหรับทั้งคำสั่งซื้อจะคิดตามอัตราที่ตรงกับช่วงปริมาณที่สั่งซื้อ ตัวอย่างเช่น การซื้อ 150 หน่วยในช่วงปริมาณ 100 ถึง 200 หน่วย อาจหมายถึงราคาทั้งคำสั่งซื้อจะคิดในอัตราที่อยู่ในช่วงที่ต่ำลง

  • ค่าบริการตามปริมาณสะสม
    การคิดราคาประเภทนี้เป็นการให้รางวัลกับลูกค้าที่ซื้อซ้ำ โดยจะให้ส่วนลดในระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนด เช่น 1 ไตรมาสหรือปี และขึ้นอยู่กับมูลค่าการซื้อรวมของลูกค้า หากมูลค่าการซื้อรวมของลูกค้าในช่วงเวลาหนึ่งถึงจํานวนที่กำหนด ลูกค้าก็จะได้รับส่วนลด

  • ค่าบริการแบบแพ็กเกจหรือรวมชุด
    การคิดราคาแบบนี้ธุรกิจจะให้ส่วนลดเมื่อลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างรวมกัน ซึ่งเป็นวิธีการกระตุ้นให้ผู้ซื้อซื้อสินค้าเพิ่มโดยให้ข้อเสนอที่ดีกว่าในกรณีที่ซื้อผลิตภัณฑ์เป็นชุดแทนที่จะซื้อแยกเป็นรายการ

  • ค่าบริการเหมือนกันทุกหน่วย
    สำหรับวิธีการที่ตรงไปตรงมานี้ เมื่อผู้ซื้อซื้อถึงปริมาณตามเกณฑ์ที่กําหนดไว้ ราคาลดจะใช้กับสินค้าทั้งหมด รวมถึงหน่วยที่ต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย ตัวอย่างเช่น หากเกณฑ์คือ 100 หน่วยที่ราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย และลูกค้าซื้อ 150 หน่วย ก็จะคิดราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยกับสินค้าทั้งหมด ไม่ใช่แค่หน่วยที่ 101 ถึง 150

  • ค่าบริการอัตราแปรผัน
    วิธีนี้เป็นกลยุทธ์แบบยืดหยุ่นซึ่งอัตราส่วนลดจะเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น ช่วงเวลาของปี ระดับสต็อก หรือทักษะการเจรจาต่อรองของผู้ซื้อ โดยมีลักษณะไม่ค่อยเป็นแบบแผนและสามารถปรับแต่งให้เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะได้

  • ค่าบริการแบบจับคู่
    วิธีนี้ช่วยให้ลูกค้ารวมซื้อผลิตภัณฑ์หลายอย่างเข้าด้วยกันเพื่อให้ถึงจํานวนที่กําหนดที่จะได้รับส่วนลด ซึ่งใช้โดยทั่วไปในธุรกิจค้าปลีกในกรณี เช่น ผู้ซื้อสามารถจับคู่ซื้อเสื้อผ้าหลายรายการเพื่อให้ได้จำนวนตามเกณฑ์ที่จะได้รับส่วนลด

ธุรกิจประเภทใดบ้างที่ใช้การคิดราคาตามปริมาณ

มีธุรกิจหลายประเภทในหลายภาคธุรกิจที่ใช้การคิดราคาตามปริมาณ กลยุทธ์นี้ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมที่มีการซื้อจํานวนมากเป็นปกติ หรือในกรณีที่ธุรกิจจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการขายปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วน:

  • ผู้จําหน่ายแบบขายส่ง
    ธุรกิจเหล่านี้ขายสินค้าในปริมาณมากให้แก่ผู้ค้าปลีก ธุรกิจอื่นๆ หรือลูกค้าอุตสาหกรรม การค้า และสถาบัน ผู้ขายส่งใช้การคิดราคาตามปริมาณเพื่อกระตุ้นให้ได้คําสั่งซื้อขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยในการจัดการสินค้าคงคลังและลดต้นทุนในการจัดการ

  • ผู้ผลิต
    ผู้ผลิตมักจะขายผลิตภัณฑ์ของตนในปริมาณมากให้กับผู้จัดจําหน่ายหรือขายโดยตรงให้กับผู้ค้าปลีก ส่วนลดตามปริมาณช่วยให้ผู้ผลิตรักษาระดับความต้องการผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตได้

  • ผู้ค้าปลีก
    ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเครือธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ใช้การคิดราคาตามปริมาณเพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อซื้อสินค้ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอ "ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง" หรือส่วนลดกรณีซื้อจํานวนมาก

  • บริษัทด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี
    ในบางครั้งบริษัทเหล่านี้ใช้การกําหนดราคาตามปริมาณสำหรับค่าสิทธิ์การใช้งานผลิตภัณฑ์ของตน โดยยิ่งลูกค้าซื้อใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ์มากขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อใบอนุญาตลดลง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการขายที่มากขึ้นและการใช้ซอฟต์แวร์ในวงกว้างขึ้น

  • ซัพพลายเออร์การเกษตรและผู้ผลิตอาหาร
    ธุรกิจที่ซื้อขายสินค้าการเกษตรหรืออาหารมักจะใช้การคิดราคาตามปริมาณเพื่อจัดการสินค้าคงคลังที่เน่าเสียได้ และเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถป้อนสินค้าสู่ตลาดหรือผู้แปรรูปได้อย่างสม่ำเสมอ

  • ซัพพลายเออร์ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง
    การคิดราคาตามปริมาณเป็นเครื่องมือสําคัญสําหรับธุรกิจที่ขายวัสดุ เช่น ไม้แปรรูป เหล็ก หรือคอนกรีตในปริมาณมาก เนื่องจากโครงการก่อสร้างมักต้องใช้วัสดุเป็นจํานวนมาก

  • ยาและเวชภัณฑ์
    การคิดราคาตามปริมาณใช้กันทั่วไปในการขายยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจทํางานกับโรงพยาบาล คลินิก หรือบริการด้านสุขภาพของรัฐบาล ซึ่งปกติแล้วจะสั่งซื้อในปริมาณมาก

  • งานพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์
    ธุรกิจในภาคนี้ให้ส่วนลดตามปริมาณกับลูกค้าที่สั่งพิมพ์ปริมาณมาก เนื่องจากการพิมพ์ปริมาณมากจะประหยัดกว่าเนื่องจากมีต้นทุนในการเตรียมการพิมพ์

  • ซัพพลายเออร์เคมีและวัตถุดิบ
    ธุรกิจเหล่านี้ใช้การคิดราคาตามปริมาณเพื่อจัดการคําสั่งซื้อขนาดใหญ่สำหรับงานด้านอุตสาหกรรมซึ่งผู้ซื้อมักต้องใช้สินค้าจำนวนมากในกระบวนการผลิตของตน

  • ผู้จำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์สํานักงาน
    บริษัทที่จำหน่ายวัสดุหรืออุปกรณ์สํานักงานมักใช้การคิดราคาตามปริมาณเพื่อรองรับธุรกิจที่ต้องสต็อกสินค้าเหล่านี้เป็นรอบๆ เป็นประจํา

การคิดราคาตามปริมาณได้ผลเพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างได้ประโยชน์ ผู้ขายได้ประโยชน์เนื่องจากระบายสินค้าคงคลังได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการจัดเก็บและจัดการที่ลดลง ส่วนผู้ซื้อก็ได้ความคุ้มค่าจากเงินที่จ่ายไปมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ ต้องติดตามดูอัตรากําไรของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กำลังเสียเงินไปกับการขายแต่ละครั้ง

ประโยชน์ของการคิดราคาตามปริมาณ

การคิดราคาตามปริมาณมีประโยชน์มากมายต่อธุรกิจ ทําให้เป็นกลยุทธ์ด้านราคาที่ได้รับความนิยมในหลากหลายอุตสาหกรรม กลยุทธ์นี้ปรับเปลี่ยนได้หลายแบบ โดยอาจเป็นส่วนลดสำหรับการซื้อในปริมาณมากแบบตรงไปตรงมา โดยที่การซื้อในปริมาณที่สูงระดับหนึ่งจะได้ราคาที่ลดลง หรืออาจมีการคิดราคาแบบแบ่งระดับซึ่งส่วนลดจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่ซื้อ โครงสร้างของส่วนลดเองขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงประเภทของผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขของตลาด และเป้าหมายของผู้ขาย แต่ทุกกรณีเปิดโอกาสให้ได้รับประโยชน์ทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

ต่อไปนี้คือประโยชน์บางส่วนที่ธุรกิจจะได้จากการใช้ส่วนลดตามปริมาณ

  • ยอดขายเพิ่มขึ้น
    ธุรกิจสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อมากขึ้นได้ด้วยการเสนอขายสินค้าปริมาณมากในราคาต่อหน่วยที่ต่ำลง ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนี้อาจทําให้รายรับโดยรวมเพิ่มขึ้นแม้ว่าอัตรากําไรต่อหน่วยจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม

  • การจัดการสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น
    การคิดราคาตามปริมาณช่วยให้ธุรกิจจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การขายสินค้าในปริมาณมากทําให้ต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังลดลงและลดความเสี่ยงที่จะจมอยู่กับสต็อกที่ยังไม่ได้ขาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสําหรับธุรกิจที่ซื้อขายสินค้าที่เน่าเสียได้หรือมีความอ่อนไหวด้านเวลา

  • กระแสเงินสดที่ดีขึ้น
    ธุรกิจมักมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้นเมื่อปริมาณการขายเพิ่มขึ้น การขายผลิตภัณฑ์ได้ในระยะเวลาที่สั้นลงช่วยให้มีรายรับเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งจะทำให้สถานะการดำเนินงานของธุรกิจดีขึ้น

  • ประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในการผลิตและกระจายสินค้า
    สําหรับผู้ผลิต การขายในปริมาณมากช่วยให้ประหยัดต่อขนาด ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการผลิตแต่ละหน่วยต่อมาจะลดลงเมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประหยัดต้นทุนโดยรวมได้ ในทํานองเดียวกัน การจัดการคำสั่งซื้อขนาดใหญ่รายการเดียวอาจคุ้มค่ามากกว่าการจัดการกับคําสั่งซื้อขนาดเล็กจํานวนมาก

  • การดึงดูดและรักษาลูกค้า
    การเสนอราคาที่ดีกว่าสําหรับการซื้อปริมาณมากสามารถดึงดูดลูกค้าที่กําลังต้องการซื้อปริมาณมาก เช่น ผู้ค้าส่งหรือผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ และยังช่วยเพิ่มอัตราการรักษาลูกค้า เนื่องจากผู้ซื้อมีแรงจูงใจให้ซื้อสินค้าทั้งหมดจากซัพพลายเออร์รายเดียวเพื่อให้ได้ราคาในอัตราซื้อปริมาณมาก

  • ความได้เปรียบในการแข่งขัน
    การใช้กลยุทธ์การคิดราคาตามปริมาณอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้ธุรกิจได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด การกําหนดราคาตามปริมาณอาจเป็นปัจจัยในการตัดสินใจสําหรับลูกค้าที่กำลังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันจากบริษัทอื่นๆ

  • ความยืดหยุ่นท่ามกลางความผันผวนของตลาด
    การกําหนดราคาตามปริมาณช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีความต้องการสูง ธุรกิจสามารถลดส่วนลดเพื่อรักษาผลกําไร ส่วนในช่วงที่ความต้องการลดลง ธุรกิจก็สามารถเพิ่มส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดขายได้

  • การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในระยะยาว
    ธุรกิจสามารถสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้ารายสําคัญได้ด้วยการให้ข้อเสนอที่น่าพึงพอใจมากขึ้นแก่ลูกค้าที่ซื้อปริมาณมาก ความสัมพันธ์อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจและผลประโยชน์ร่วมกันอาจทําให้เกิดยอดขายที่มั่นคงและต่อเนื่องได้

  • เจาะตลาดและการขยายตลาด
    การคิดราคาตามปริมาณอาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสําหรับธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดใหม่หรือขยายธุรกิจในตลาดที่มีอยู่เดิม เนื่องจากทําให้สินค้าน่าสนใจสำหรับลูกค้าในวงกว้างได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจได้

  • การรวบรวมข้อมูลและข้อมูลเชิงลึก
    การขายปริมาณมากให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดและความต้องการของลูกค้าได้ ธุรกิจต่างๆ สามารถนําข้อมูลนี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตลาด และโมเดลการคิดราคาในอนาคต

ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นของการคิดราคาตามปริมาณ

แม้การกําหนดราคาตามปริมาณจะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็ยังอาจมีข้อเสียด้วย การกําหนดราคาตามปริมาณสามารถส่งเสริมการเติบโตและขยายฐานลูกค้าของธุรกิจได้ แต่ธุรกิจก็ต้องคอยจับตาอัตราผลกําไรอยู่เสมอ แนวทางที่วางแผนอย่างรอบคอบและได้รับการจัดการอย่างดีเป็นกุญแจสําคัญในการลดความเสี่ยงเหล่านี้ และปกป้องความยั่งยืนในระยะยาวของกลยุทธ์การกําหนดราคา

ต่อไปนี้คือข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นซึ่งควรรับทราบไว้:

  • ผลกําไรที่ลดลง
    ข้อเสียที่เห็นได้ทันทีคืออัตรากำไรที่ลดลง การขายสินค้าในราคาต่อหน่วยที่ต่ำลงหมายถึงผลกำไรต่อหน่วยจากการขายที่ลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียกำไรโดยรวมหากไม่ได้จัดการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถชดเชยอัตรากำไรที่ลดลง

  • ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้ารายหลักมากเกินไป
    หากยอดขายจำนวนมากมาจากลูกค้าเพียงบางรายที่ซื้อปริมาณมาก ก็มีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะพึ่งพิงยอดขายจากลูกค้าเหล่านี้มากเกินไป หากลูกค้าหลักเหล่านี้ลดจํานวนคําสั่งซื้อหรือเปลี่ยนไปใช้คู่แข่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณเป็นอย่างมาก

  • แรงกดดันต่อสินค้าคงคลังและห่วงโซ่อุปทาน
    การให้ส่วนลดตามปริมาณอาจทําให้มีคําสั่งซื้อจํานวนมาก ซึ่งอาจทําให้สินค้าคงคลังและห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจตึงตัวได้ หากบริษัทไม่ได้เตรียมพร้อมจัดการกับคําสั่งซื้อจํานวนมากอย่างมีประสิทธิภาพ อาจทําให้ส่งมอบสินค้าล่าช้า มีสินค้าค้างส่ง และทำให้ลูกค้าไม่พอใจ

  • มูลค่าที่รับรู้ลดลง
    มีความเสี่ยงที่ลูกค้าอาจรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพลดลงเนื่องจากราคาที่ต่ำลง โดยเฉพาะในตลาดที่ราคาเป็นตัวแทนของคุณภาพ

  • มีโอกาสที่จะขายไม่ได้กำไร
    หากการคิดค่าบริการตามปริมาณมีการจัดโครงสร้างไม่ถูกต้อง ธุรกิจอาจขายสินค้าในราคาขาดทุน ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นหากคํานวณต้นทุนไม่ถูกต้อง หรือหากเงื่อนไขของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดคิด

  • ความซับซ้อนในโครงสร้างค่าบริการ
    การใช้กลยุทธ์การกําหนดราคาตามปริมาณอาจเพิ่มความซับซ้อนให้กับโครงสร้างราคาและต้องใช้ระบบที่ทันสมัยในการจัดการการคิดค่าบริการและการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า นอกจากนั้นยังอาจทำให้ลูกค้าสับสนได้หากธุรกิจไม่ได้สื่อสารข้อมูลอย่างชัดเจน

  • ความเสี่ยงจากตลาดอิ่มตัว
    การกระตุ้นให้เกิดการซื้อปริมาณมากอาจทําให้ธุรกิจทำให้ตลาดอิ่มตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่ลดลงในอนาคต จุดนี้เป็นข้อกังวลอย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนานหรือการหมุนเวียนที่ช้า

  • ความคาดหวังของลูกค้าและอํานาจในการต่อรอง
    ลูกค้าที่คุ้นเคยกับส่วนลดตามปริมาณการซื้ออาจคาดหวังส่วนลดแบบเดิมหรือส่วนลดจากการซื้อขายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจกดดันอัตรากําไรได้ และผู้ซื้อรายใหญ่อาจใช้กําลังซื้อของตนเพื่อต่อรองขอราคาที่ต่ำลงอีก

  • การจัดการกระแสเงินสด
    แม้ว่าการขายปริมาณมากจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวของกระแสเงินสดได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องผูกเงินสดจำนวนมากกับสต็อกสินค้าปริมาณมาก ซึ่งอาจทําให้เกิดปัญหาได้หากขายไม่ได้ตามที่คาดหมาย

  • ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์
    สําหรับบางแบรนด์ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับหรูหรา การลดราคาอาจลดคุณค่าที่รับรู้และความพิเศษของแบรนด์ลง

แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการคิดราคาตามปริมาณ

การนําวิธีคิดราคาตามปริมาณมาใช้ต้องอาศัยการคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโดยไม่กระทบต่อผลกําไรหรือตําแหน่งทางการตลาด ต่อไปนี้คือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับธุรกิจที่กำลังพิจารณาใช้การกําหนดราคาตามปริมาณ หรือธุรกิจที่กำลังอยู่ระหว่างการดําเนินการดังกล่าว

  • โมเดลการคิดราคาที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
    พัฒนาโมเดลการคิดราคาโดยอ้างอิงการค้นคว้าวิจัยตลาดอย่างละเอียด การวิเคราะห์ต้นทุน และข้อมูลอุปสงค์ของลูกค้า ใช้การวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อทําความเข้าใจความยืดหยุ่นของราคา พฤติกรรมการซื้อของลูกค้า และเกณฑ์การทํากําไร ควรใช้ข้อมูลนี้เป็นแนวทางในการจัดโครงสร้างระดับราคาและส่วนลด

  • กลยุทธ์การกำหนดราคาตามกลุ่มลูกค้า
    รับรู้ว่าลูกค้าทุกรายอาจไม่ได้มีความต้องการหรือการรับรู้คุณค่าที่เหมือนกัน และให้ปรับแต่งโมเดลการคิดราคาให้เหมาะกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ การแบ่งกลุ่มลูกค้าจะช่วยให้คุณจัดทำข้อตกลงราคาตามปริมาณที่กำหนดเองให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะและรูปแบบการซื้อของลูกค้ากลุ่มต่างๆ

  • ฟังก์ชันการคิดค่าบริการแบบไดนามิก
    ใช้กลไกการกําหนดราคาแบบไดนามิกที่ปรับราคาได้แบบเรียลไทม์ตามเงื่อนไขของตลาด ระดับสินค้าคงคลัง และความผันผวนของความต้องการ ส่วนนี้ต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อน แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกําหนดราคาได้เป็นอย่างมาก

  • การสื่อสารที่ชัดเจนและความโปร่งใส
    สื่อสารโครงสร้างราคาที่ออกแบบเองให้ลูกค้าเข้าใจอย่างชัดเจน หลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์เฉพาะหรือคำศัพท์ที่ซับซ้อนและสร้างความสับสน ความโปร่งใสสร้างความเชื่อมั่นและสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ลูกค้าในระยะยาว

  • ระบบปรับราคาอัตโนมัติ
    สําหรับการทางขายดิจิทัล ให้วางระบบที่อัปเดตราคาอัตโนมัติตามปริมาณที่ลูกค้าเลือก วิธีนี้จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้และป้องกันข้อผิดพลาดในการปรับค่าบริการด้วยตัวเอง

  • การปกป้องอัตรากําไร
    จัดทำมาตรการป้องกันเพื่อรับประกันว่าราคาที่ลดราคาจะไม่ส่งผลเสียต่ออัตรากําไร โดยตั้งค่าเกณฑ์ขั้นต่ำสําหรับส่วนลดและคอยติดตามข้อมูลการขายเพื่อตรวจสอบความสามารถในการทำกำไร

  • การจัดการสินค้าคงคลังและห่วงโซ่อุปทานที่ปรับขนาดได้
    เตรียมระบบการจัดการสินค้าคงคลังและห่วงโซ่อุปทานของคุณให้พร้อมรับมือกับความผันผวนของขนาดคําสั่งซื้อ โดยอาจต้องลงทุนในโซลูชันลอจิสติกส์ที่ปรับขนาดได้ หรือการพัฒนาความสัมพันธ์ที่กับซัพพลายเออร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

  • การตรวจสอบและปรับปรุงเป็นประจํา
    ตรวจสอบกลยุทธ์การกําหนดราคาตามปริมาณเป็นประจําเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงใช้ได้และมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมที่จะปรับระดับราคา ส่วนลด และเงื่อนไขตามเงื่อนไขตลาด โครงสร้างต้นทุน และความคิดเห็นของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

  • การผสานการทํางานกับระบบการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า
    ผสานกลยุทธ์การกําหนดราคาตามปริมาณกับระบบการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) การผสานการทํางานจะทำให้สามารถมอบข้อเสนอที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละรายโดยอ้างอิงจากประวัติการซื้อและความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าโดยรวม

  • การปฏิบัติตามข้อกําหนดทางกฎหมายและจริยธรรม
    ยืนยันว่ากลยุทธ์การกำหนดราคาของคุณเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงที่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับราคา นอกจากนี้ควรใช้ข้อควรพิจารณาด้านจริยธรรมเป็นแนวทางในการตัดสินใจด้านการกำหนดราคาด้วย

  • การวัดผลกระทบและประสิทธิภาพการทํางาน
    ใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPI) มาใช้เพื่อวัดความสําเร็จของกลยุทธ์การกําหนดราคาตามปริมาณ ซึ่งอาจรวมถึงตัวชี้วัด เช่น การเติบโตของยอดขาย อัตราการหาลูกค้าใหม่และอัตราการรักษาลูกค้า รวมถึงความสามารถในการทํากําไรโดยรวม

  • ให้ความรู้แก่ฝ่ายขายและฝ่ายบริการลูกค้า
    ฝึกอบรมบุคลากรฝ่ายขายและเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าเกี่ยวกับรายละเอียดของกลยุทธ์การกําหนดราคาตามปริมาณ บุคลากรควรสามารถอธิบายประโยชน์และเงื่อนไขให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดการกับการเจรจาอย่างมืออาชีพ

  • รักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นกับเป้าหมายระยะยาว
    ตรวจสอบให้แน่ใจว่ากลยุทธ์การกําหนดราคาตามปริมาณสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจ หลีกเลี่ยงส่วนลดที่มากเกินไปซึ่งอาจช่วยเพิ่มยอดขายในระยะสั้น แต่สร้างความเสียหายให้แบรนด์หรือความสามารถในการทํากําไรในระยะยาว

  • ความยืดหยุ่นและการตอบสนอง
    คงความยืดหยุ่นและพร้อมปรับกลยุทธ์การกําหนดราคาเพื่อรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

การยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจนํากลยุทธ์การกําหนดราคาแบบปริมาณมาใช้เพื่อเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดได้ พร้อมๆ กับการรักษาความสามารถในการทํากําไรและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Billing

Billing

เรียกเก็บและรักษารายรับได้มากขึ้น ใช้วิธีอัตโนมัติกับขั้นตอนการจัดการรายรับ ตลอดจนรับการชำระเงินได้ทั่วโลก

Stripe Docs เกี่ยวกับ Billing

สร้างและจัดการการชำระเงินตามรอบบิล ติดตามการใช้งาน และออกใบแจ้งหนี้