การสร้างรายได้จาก API คืออะไร หลักการทํางานและเหตุผลที่ทำให้การสร้างรายได้จาก API น่าสนใจ

Connect
Connect

แพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก รวมทั้ง Shopify และ DoorDash ต่างก็ใช้ Stripe Connect ในการผสานรวมการชำระเงินเข้ากับผลิตภัณฑ์

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. โมเดลค่าบริการสำหรับการสร้างรายได้จาก API
  3. ข้อดีของการสร้างรายได้จาก API
  4. วิธีเริ่มใช้งานการสร้างรายได้จาก API
    1. ประเมินข้อมูลการใช้งาน API
    2. ประเมินคุณค่าของ API
    3. ทําความเข้าใจความต้องการและความยินดีที่จะชําระเงินของผู้ใช้
    4. จับคู่โมเดลการสร้างรายได้จาก API กับกรณีการใช้งาน
    5. สำรวจค่าบริการไฮบริดและแบบไดนามิก
    6. พิจารณาแง่มุมทางกฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนด

การสร้างรายได้จาก API คือกระบวนการสร้างรายได้จากส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (API) สิ่งที่ธุรกิจทำก็คือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักพัฒนาแลกกับการเข้าใช้งาน โดยธุรกิจจะให้บริการฟีเจอร์พื้นฐานแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะเรียกเก็บเงินสําหรับการใช้งานฟีเจอร์แบบพรีเมียม หรือเรียกเก็บเงินตามจํานวนครั้งที่ใช้งาน API นอกจากนี้ ธุรกิจบางแห่งยังสร้างรายได้ทางอ้อมด้วยการใช้ API มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการหลักของตน ซึ่งจะช่วยดึงดูดและรักษาผู้ใช้ได้ โดยวิธีการสร้างรายได้ที่ดีที่สุดจะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ การทำงานของ API และสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

ในรายงานประจําปี 2023 พบว่า บริษัทเกือบ 2 ใน 3 ที่ตอบแบบสํารวจต่างก็มี API ที่สร้างรายได้ และ 43% ระบุว่ารายได้จาก API คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายรับของธุรกิจ ต่อไปในบทความนี้ เราจะอธิบายเกี่ยวกับโมเดลค่าบริการสำหรับการสร้างรายได้จาก API ประโยชน์ของการสร้างรายได้จาก API และวิธีเริ่มต้น

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • โมเดลค่าบริการสำหรับการสร้างรายได้จาก API
  • ข้อดีของการสร้างรายได้จาก API
  • วิธีเริ่มใช้งานการสร้างรายได้จาก API

โมเดลค่าบริการสำหรับการสร้างรายได้จาก API

การสร้างรายได้จาก API มีรูปแบบการคิดค่าบริการหลายแบบที่ช่วยเพิ่มรายรับได้สูงสุด พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โมเดลการสร้างรายได้จาก API มีดังต่อไปนี้

  • ชําระเงินตามการใช้งานหรือต่อการใช้งาน: ผู้ให้บริการ API เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ตามจํานวนคําขอ API ที่ผู้ใช้ส่งมา โมเดลนี้มีความยืดหยุ่นและดึงดูดผู้ใช้ที่อาจจะมีรูปแบบการใช้งานผันผวน เนื่องจากผู้ใช้จะจ่ายเฉพาะส่วนที่ใช้งานเท่านั้น

  • ชําระเงินตามรอบบิล: ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามแบบแผนล่วงหน้าซึ่งปกติแล้วจะเรียกเก็บเป็นรายเดือนหรือรายปีเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมการเข้าถึง API การชําระเงินตามรอบบิลอาจมีระดับต่างๆ กัน ซึ่งมีการกำหนดขีดจํากัดการใช้งาน ฟีเจอร์ หรือระดับประสิทธิภาพที่ไม่เหมือนกัน โมเดลนี้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้จํานวนมากตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่จากการขยายบริการให้ครอบคลุมความต้องการและงบประมาณที่แตกต่างกันไป

  • ฟรีเมียม: โครงสร้างค่าบริการแบบนี้ให้สิทธิ์เข้าถึง API พื้นฐานฟรี แต่จะเรียกเก็บเงินหากผู้ใช้ต้องการฟีเจอร์ขั้นสูง ขีดจำกัดการใช้งานที่สูงขึ้น หรือการสนับสนุนระดับพรีเมียม ถือเป็นโมเดลที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการดึงดูดผู้ใช้และเปลี่ยนให้เป็นลูกค้าที่ชําระเงินเมื่อความต้องการของผู้ใช้เพิ่มขึ้น

  • โควตา: ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ตามจํานวนการเรียกใช้ API หรือตามปริมาณการโอนข้อมูลที่กำหนดไว้ เมื่อครบโควตาแล้ว ผู้ใช้สามารถซื้อหน่วยเพิ่มเติมหรืออัปเกรดเป็นแพ็กเกจที่สูงขึ้นได้ โมเดลนี้ช่วยให้ผู้ใช้คาดการณ์ค่าใช้จ่ายได้และมีความยืดหยุ่น

  • ค่าธรรมเนียมธุรกรรม: โครงสร้างแบบนี้จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้สําหรับธุรกรรมแต่ละรายการที่ดําเนินการผ่าน API โมเดลนี้เป็นที่นิยมสำหรับ API การชําระเงิน, บริการจอง และแพลตฟอร์มการทําธุรกรรมอื่นๆ โดยค่าใช้จ่ายจะสอดคล้องมูลค่าที่มอบให้

  • การแบ่งรายรับ: เมื่อใช้โมเดลนี้ ผู้ให้บริการ API จะหักเปอร์เซ็นต์ของรายรับที่สร้างขึ้นผ่าน API ผู้ให้บริการมักจะใช้โมเดลนี้ในมาร์เก็ตเพลสหรือแพลตฟอร์มที่นักพัฒนาบุคคลที่สามสร้างรายได้ผ่าน API

  • ใบอนุญาตสําหรับองค์กร: ใบอนุญาตระดับองค์กรมอบสิทธิ์เข้าถึงและตัวเลือกการปรับแต่งที่หลากหลายให้กับผู้ใช้ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก้อนใหญ่ โมเดลนี้มักจะมาพร้อมการสนับสนุนโดยเฉพาะ รวมทั้งบริการเพิ่มเติมที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร

นอกจากโมเดลค่าบริการเหล่านี้แล้ว ธุรกิจยังสร้างรายได้จาก API ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การสร้างรายได้ทางอ้อม: ผู้ให้บริการไม่ได้ขาย API โดยตรง แต่ใช้เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบชําระเงินอื่นๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้ฟังก์ชันการผสานการทำงาน ตลอดจนฟีเจอร์สำหรับบริการอื่นๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือสามารถเข้าถึงพื้นที่เฉพาะที่ช่วยให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินกับผลิตภัณฑ์หลักมากขึ้น

  • การแชร์ข้อมูล: ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้จาก API ที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์ โดยแชร์หรือขายข้อมูลนี้ให้กับบุคคลที่สามตราบใดที่ผู้ให้บริการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัว

ข้อดีของการสร้างรายได้จาก API

การสร้างรายได้จาก API ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสร้างแหล่งรายได้อีกหนึ่งทางหนึ่ง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาโมเดลการขายแบบเดิมๆ ได้ นอกจากนี้ การให้นักพัฒนาบุคคลที่สามใช้ API ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาและช่วยให้สามารถสร้างแอปพลิเคชันและบริการใหม่ๆ ซึ่งดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างขึ้นได้ ต่อไปนี้คือข้อดีบางส่วนของการสร้างรายได้จาก API

  • ดึงนักพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง: การสร้างรายรับจาก API ช่วยให้ธุรกิจสร้างความสัมพันธ์ด้านรายรับกับนักพัฒนาโดยตรง และอาจได้รับคําติชมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น สามารถออกการพัฒนาใหม่ ๆ ที่ผ่านการปรับแต่งตามความต้องการมากขึ้น เนื่องจากนักพัฒนาจะลงทุนกับประสิทธิภาพและฟีเจอร์ต่างๆ ของ API

  • รายรับจากการให้บริการข้อมูล: API สามารถแปลงข้อมูลดิบให้เป็นสินทรัพย์สร้างรายได้ ตัวอย่างเช่น API บริการด้านสภาพอากาศอาจจะขายข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตร ลอจิสติกส์ และการจัดงานอีเวนท์ เพื่อสร้างแหล่งรายรับใหม่ๆ จากข้อมูลที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

  • ระบบนิเวศของพาร์ทเนอร์ดีขึ้น: API ช่วยให้ธุรกิจสร้างรายได้จากระบบนิเวศของตัวเองโดยการอนุญาตให้พาร์ทเนอร์สร้างบริการเสริมได้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะสร้างรายรับจาก API ได้โดยการเรียกเก็บเงินจากพาร์ทเนอร์ที่สร้างโซลูชันการชําระเงิน การผสานการทํางานสําหรับการจัดส่ง หรือเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับแพลตฟอร์มหลัก

  • การปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า: ธุรกิจสามารถปรับแต่ง API ที่สร้างรายได้ให้ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้า และใช้ API เหล่านั้นสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองหรือฟีเจอร์ระดับพรีเมียมได้ ตัวอย่างเช่น บริการทางการเงินอาจจะให้บริการ API ระดับพรีเมียมสําหรับการซื้อขายที่มีความถี่สูงหรือการวิเคราะห์ตลาดขั้นสูง วิธีนี้ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างรายรับที่มีเป้าหมายชัดเจน

  • การขยายระบบอย่างมีประสิทธิภาพ: การสร้างรายได้จาก API ช่วยให้ธุรกิจขยายบริการได้โดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายตามสัดส่วน สําหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ API ช่วยให้ขยายทรัพยากรด้านการประมวลผลได้โดยอัตโนมัติตามการใช้งาน ซึ่งจะแปลงมาเป็นโมเดลรายรับแบบยืดหยุ่นได้โดยตรง

  • ข้อตกลงระดับบริการ (SLA) ที่ดีกว่า: การสร้างรายได้จาก API รองรับ SLA ที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการพื้นที่จัดเก็บระบบคลาวด์อาจจะให้บริการ API แบบพรีเมียมที่รับประกันระยะเวลาให้บริการสูงกว่า การดึงข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น หรือการสนับสนุนลูกค้าแบบเร่งด่วน ซึ่งเป็นการมอบบริการมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสมกับราคาที่สูงขึ้น

  • ข้อมูลเชิงลึกตามการใช้งาน: การสร้างรายได้จาก API ให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่ลูกค้าใช้บริการ ทําให้ธุรกิจจับจุดได้ว่าฟีเจอร์ใดบ้างที่มีมูลค่าสูงและปรับปรุงข้อเสนอของตนได้ ตัวอย่างเช่น เครือข่ายส่งมอบเนื้อหาอาจจะใช้ข้อมูลการใช้งาน API เพื่อหาภูมิภาคยอดนิยม และปรับปรุงการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานของตัวเองได้

  • เพิ่มเงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนา: รายรับจาก API จะกลายเป็นเงินทุนให้กับการวิจัยและการพัฒนาเพิ่มเติมโดยตรง ตัวอย่างเช่น บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิงสามารถนำรายได้จาก API มาลงทุนพัฒนาโมเดลและเครื่องมือที่ซับซ้อนขึ้นได้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพและความน่าสนใจของ API ได้อย่างต่อเนื่อง

  • โมเดลค่าบริการแบบไดนามิก: API ช่วยมอบกลยุทธ์ค่าบริการแบบใหม่ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทบริการซอฟต์แวร์อาจจะนําค่าบริการแบบไดนามิกมาใช้กับการเรียกใช้ API เมื่อการใช้งานเพิ่มขึ้นสูงสุดหรือความอ่อนไหวของข้อมูลเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายรับในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง

  • ปฏิบัติตามข้อกําหนดและความปลอดภัยง่ายขึ้น: API แบบสร้างรายได้นั้นคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติตามข้อกําหนดและความปลอดภัยที่มีความรัดกุมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น API ด้านการดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกาอาจจะเรียกเก็บเงินแบบพรีเมียมสำหรับการรับรองการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเคลื่อนย้ายและความรับผิดชอบในการประกันสุขภาพ (HIPAA) การเข้ารหัสข้อมูล และการเข้าถึงที่ปลอดภัย ซึ่งจะทําให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจ

วิธีเริ่มใช้งานการสร้างรายได้จาก API

ต่อไปนี้คือคําแนะนําอย่างละเอียดในสร้างรายได้จาก API ของธุรกิจ

ประเมินข้อมูลการใช้งาน API

  • หาว่าปลายทางใดที่มีการใช้งานบ่อยที่สุด คุณอาจสร้างรายได้จากปลายทางที่นิยมใช้งานโดยกำหนดค่าบริการตามระดับหรือโมเดลการชําระเงินตามการใช้งาน

  • แบ่งกลุ่มผู้ใช้ตามรูปแบบการใช้งาน ผู้ใช้ที่มีปริมาณการใช้งานสูงอาจจะชอบโมเดลแบบชำระเงินตามรอบบิลมากกว่า ส่วนผู้ใช้แบบครั้งคราวจะได้รับประโยชน์จากการชําระเงินตามแบบแผนล่วงหน้า

ประเมินคุณค่าของ API

  • หาก API ของคุณให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือมีมูลค่าสูง แนะนำให้ใช้โมเดลค่าบริการที่สอดคล้องกับคุณค่าดังกล่าว เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงขึ้นสําหรับการเข้าถึงข้อมูลแบบพรีเมียม

  • หาก API ของคุณมีฟังก์ชันหลากหลายหรือซับซ้อน ควรสร้างรายได้ผ่านการชําระเงินตามรอบบิลตามระดับการใช้งาน โดยให้บริการฟีเจอร์พื้นฐานฟรีและเรียกเก็บเงินจากฟีเจอร์ขั้นสูง

  • วิเคราะห์ว่าคู่แข่งสร้างรายได้จาก API ของตนอย่างไร มองหาโมเดลที่ประสบความสําเร็จ และช่องว่างที่คุณเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยการเสนอคุณค่าที่ไม่เหมือนใคร

ทําความเข้าใจความต้องการและความยินดีที่จะชําระเงินของผู้ใช้

  • สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายเพื่อทําความเข้าใจว่านักพัฒนายินดีจ่ายเงินให้กับฟีเจอร์ API แบบต่างๆ มากเพียงใด วิธีนี้จะช่วยให้คุณปรับแต่งโมเดลค่าบริการให้เข้ากับความคาดหวังของผู้ใช้ได้

  • สนทนากับลูกค้าหลักโดยตรงเพื่อทําความเข้าใจความต้องการเฉพาะของลูกค้าและดูว่า API ของคุณจะเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจของลูกค้าได้อย่างไร

จับคู่โมเดลการสร้างรายได้จาก API กับกรณีการใช้งาน

  • หากการใช้งาน API ของคุณไม่อาจคาดการณ์ได้หรือแตกต่างกันไปในหมู่ผู้ใช้ ควรใช้โมเดลแบบชําระเงินตามการใช้งาน แพลตฟอร์ม API ของคุณจะต้องสามารถติดตามและรายงานการใช้งาน รวมถึงปรับใช้ขีดจํากัดอัตราได้อย่างถูกต้องเพื่อควบคุมการใช้งานและปกป้องทรัพยากร

  • สําหรับ API ที่สร้างมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง เช่น API ที่ใช้กับการดําเนินงานรายวัน (เช่น API การจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า) แนะนำว่าควรเสนอแพ็กเกจการชําระเงินตามรอบบิลที่มีระดับแตกต่างกัน เพื่อให้คุณมีรายรับที่เสถียร

  • ถ้าเป้าหมายของคุณคือการดึงดูดฐานนักพัฒนาขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว แนะนำให้ใช้โมเดลฟรีเมียมที่อนุญาตให้เข้าถึงฟีเจอร์ขั้นพื้นฐานได้ฟรี และเรียกเก็บเงินจากการใช้ฟีเจอร์ขั้นสูงที่สร้างมูลค่าสูง

  • สําหรับ API ที่ประมวลผลธุรกรรมทางการเงินหรือการจอง ควรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามธุรกรรมเพื่อให้ต้นทุนสอดคล้องกับมูลค่าที่มอบให้

สำรวจค่าบริการไฮบริดและแบบไดนามิก

  • พิจารณาโมเดลไฮบริดที่นำองค์ประกอบของกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีการชําระเงินตามรอบบิลเป็นพื้นฐาน และเรียกเก็บเงินตามการใช้งานเพิ่มเติมหากมีการใช้งานเกินจํานวนที่กําหนด

  • ให้บริการแพ็กเกจที่ปรับแต่งได้แก่องค์กรขนาดใหญ่ โดยคิดค่าบริการคงที่สําหรับการเข้าถึงฟีเจอร์ขั้นพื้นฐาน และเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมสําหรับฟีเจอร์ระดับพรีเมียมหรือการใช้งานที่สูงขึ้น

  • ใช้โมเดลค่าบริการแบบไดนามิกที่ปรับตามความต้องการ ประเภทผู้ใช้ หรือปริมาณการใช้งาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายรับสูงสุดด้วยการปรับราคาให้สอดคล้องกับมูลค่าที่รับรู้

  • สําหรับ API ที่มียอดการใช้งานพุ่งสูงขึ้นตามฤดูกาล ควรปรับราคาในช่วงเวลาที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

พิจารณาแง่มุมทางกฎหมายและการปฏิบัติตามข้อกําหนด

  • ตรวจสอบว่าโมเดลค่าบริการของคุณเป็นไปตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (เช่น กฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล [GDPR]) หรือไม่ ซึ่งมีความสําคัญอย่างยิ่งหากคุณวางแผนจะเรียกเก็บเงินตามปริมาณการใช้งานข้อมูลหรือปริมาณธุรกรรม

  • จัดเตรียม SLA หลายแบบสำหรับค่าบริการระดับต่างๆ แพ็กเกจราคาสูงอาจประกอบด้วยการสนับสนุนที่ดีกว่า การรับประกันระยะเวลาให้บริการ และการตอบกลับที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ SLA ยังทําให้แพ็กเกจมีผลผูกพันทางกฎหมายอีกด้วย

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Connect

Connect

ใช้งานจริงภายในไม่กี่สัปดาห์แทนที่จะต้องเสียเวลาหลายไตรมาส สร้างธุรกิจการชำระเงินที่สร้างผลกำไร และขยายธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

Stripe Docs เกี่ยวกับ Connect

ดูวิธีกำหนดเส้นทางการชำระเงินระหว่างหลายฝ่าย