การตรวจสอบความถี่ในการชำระเงิน สิ่งที่ธุรกิจควรทราบ

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ประเภทของการตรวจสอบความถี่
  3. การตรวจสอบความถี่ทํางานอย่างไร
  4. มีการใช้การตรวจสอบความถี่ในการตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงอย่างไร
  5. วิธีใช้การตรวจสอบความถี่
    1. ระบุข้อมูล
    2. สร้างกฎ
    3. ตั้งค่าทริกเกอร์
    4. ใช้กฎ
  6. ความท้าทายในการตรวจสอบความถี่
    1. ผลบวกลวง
    2. ผลลบเท็จ
    3. ผลเสียต่อประสบการณ์ของผู้ใช้
    4. ข้อกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบและความเป็นส่วนตัว
    5. ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก
    6. การผสานการทํางาน

การตรวจสอบความถี่เป็นวิธีการป้องกันการฉ้อโกงที่ใช้ในการประมวลผลการชําระเงิน และทํางานโดยการตรวจสอบความถี่และรูปแบบของธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในกรอบเวลาที่กําหนดไว้และตรวจสอบกิจกรรมที่ผิดปกติ เช่น การทำธุรกรรมหลายรายการจากบัญชีเดียวหรือที่อยู่ IP เดียวจนดูผิดปกติ มิจฉาชีพมักจะพยายามใช้ข้อมูลบัตรที่ขโมยมาให้เร็วที่สุดก่อนที่เจ้าของบัตรจะเห็น ดังนั้น จำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันอาจเป็นสัญญาณเตือนที่แสดงว่าอาจมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น การตรวจสอบความถี่อาจจะทริกเกอร์การแจ้งเตือนหรือบล็อกธุรกรรมหากจำนวนธุรกรรมเกินเกณฑ์ที่กําหนด ซึ่งจะช่วยปกป้องธุรกิจและลูกค้าจากกิจกรรมที่เป็นการฉ้อโกง

มาตรการป้องกันการฉ้อโกง เช่น การตรวจสอบความถี่ มีความสําคัญมากขึ้นสําหรับธุรกิจ โดยองค์กร 80%รายงานว่าเคยถูกฉ้อโกงหรือมีการพยายามฉ้อโกงการชําระเงินในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 15 จุดเปอร์เซ็นต์จากปี 2022 ต่อไปนี้เราจะอธิบายประเภทของการตรวจสอบถี่ วิธีการตรวจสอบความถี่ วิธีใช้งานฟังก์ชันนี้ และความท้าทายที่พบเจอ

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ประเภทของการตรวจสอบความถี่
  • การตรวจสอบความถี่ทํางานอย่างไร
  • มีการใช้การตรวจสอบความถี่ในการตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงอย่างไร
  • วิธีใช้การตรวจสอบความถี่
  • ความท้าทายในการตรวจสอบความถี่

ประเภทของการตรวจสอบความถี่

การตรวจสอบความถี่มีหลายประเภท แต่ละประเภทจะตรวจสอบรูปแบบธุรกรรมในด้านต่างๆ เพื่อตรวจจับการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น

  • การตรวจสอบความถี่ในการใช้บัตร: การตรวจสอบเหล่านี้จะตรวจสอบจํานวนธุรกรรมที่ทําผ่านบัตรใบใดบัตรหนึ่งภายในระยะเวลาที่กําหนด หากมีการใช้บัตรใบหนึ่งซื้อสินค้าหรือบริการหลายรายการในระยะเวลาสั้นๆ แสดงว่าบัตรนั้นอาจจะถูกขโมย และขโมยพยายามใช้งานบัตรให้ได้มากที่สุดก่อนที่บัตรจะถูกบล็อก

  • การตรวจสอบความถี่ของที่อยู่ IP: การตรวจสอบเหล่านี้จะวิเคราะห์จํานวนธุรกรรมที่มาจากที่อยู่ IP เดียวกันภายในระยะเวลาที่กําหนด การทำธุรกรรมจํานวนมากจากที่อยู่ IP เดียวกันอาจบ่งบอกว่าผู้ไม่ประสงค์ดีกำลังใช้เครื่องมืออัตโนมัติหรือบอตเพื่อทําการซื้อหลายๆ รายการ

  • การตรวจสอบความถี่ของ ID อุปกรณ์: การตรวจสอบเหล่านี้เน้นที่จํานวนธุรกรรมที่ดําเนินการจากอุปกรณ์เดียวกันภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งจะช่วยตรวจหากรณีที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้อุปกรณ์เดียวกันในการซื้อสินค้าหลายรายการ

  • การตรวจสอบความถี่ของบัญชี: การตรวจสอบเหล่านี้จะตรวจสอบจํานวนธุรกรรมที่ดําเนินการจากบัญชีหนึ่งๆ ภายในระยะเวลาที่กําหนด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการตรวจจับการฉ้อโกงด้วยการเข้าควบคุมบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะเข้าใช้งานบัญชีที่ถูกต้องและทําธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

  • การตรวจสอบความถี่ของที่อยู่ในการเรียกเก็บเงินและที่อยู่สําหรับจัดส่ง: การตรวจสอบเหล่านี้จะวิเคราะห์จํานวนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่จัดส่งหรือที่อยู่ในการเรียกเก็บเงินเดียวกันในกรอบเวลาหนึ่งๆ หากธุรกรรมหลายรายการที่้ใช้หมายเลขบัตรต่างกันแต่มีความเกี่ยวข้องกับที่อยู่เดียวกัน อาจแสดงว่าเป็นกิจกรรมการฉ้อโกง

  • การตรวจสอบความถี่ของยอดธุรกรรม: การตรวจสอบเหล่านี้จะตรวจสอบยอดเงินทั้งหมดที่ใช้จ่ายในช่วงเวลาหนึ่งๆ การใช้จ่ายในปริมาณมากผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของการฉ้อโกง

การตรวจสอบความถี่ทํางานอย่างไร

การตรวจสอบความถี่จะตรวจสอบติดตามธุรกรรมในพารามิเตอร์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจจับรูปแบบที่ผิดปกติ โดยใช้กฎหรือเกณฑ์มาประเมินว่าพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิธีการชําระเงิน เช่น บัตรเครดิตนั้นมีลักษณะปกติหรือน่าสงสัยหรือไม่

โปรดดูวิธีการทํางานโดยทั่วไปของการตรวจสอบเหล่านี้ด้านล่าง

  • ตั้งค่าเกณฑ์: ขั้นตอนแรกคือการกําหนดพฤติกรรมปกติในการทำธุรกรรมของผู้ใช้ บัตร หรือบัญชีโดยอิงตามข้อมูลในอดีต จากนั้นจึงกำหนดเกณฑ์ด้านต่างๆ เช่น ความถี่ของธุรกรรม ยอดเงิน ที่อยู่ IP อุปกรณ์ที่ใช้ และตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ คุณสามารถตั้งเกณฑ์เหล่านี้ให้เหมาะกับโปรไฟล์ความเสี่ยงเฉพาะสำหรับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้

  • ติดตามตรวจสอบธุรกรรม: ระบบจะติดตามตรวจสอบธุรกรรมอย่างต่อเนื่องโดยเทียบกับเกณฑ์ที่กําหนด โดยจะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เช่น จํานวนธุรกรรมภายในกรอบเวลาหนึ่งๆ ยอดใช้จ่ายสะสม หรือการใช้ซ้ำจากที่อยู่ IP หรืออุปกรณ์เดียวกัน

  • ตรวจจับความผิดปกติ: เมื่อธุรกรรมหรือชุดธุรกรรมสูงเกินเกณฑ์ที่กําหนดไว้ ระบบจะแจ้งว่าธุรกรรมนั้นผิดปกติ ตัวอย่างเช่น หากปกติแล้วบัตรทําธุรกรรม 3 รายการต่อวัน หากระบบตรวจพบว่ามีการทําธุรกรรม 10 รายการใน 1 ชั่วโมง พฤติกรรมที่ผิดปกตินี้จะทริกเกอร์ให้มีการแจ้งเตือน

  • ดําเนินการ: เมื่อตรวจพบสิ่งผิดปกติ ระบบอัตโนมัติจะดําเนินการทันทีโดยการบล็อกธุรกรรม ส่งคําขอตรวจสอบสิทธิ์เพิ่มเติม หรือแจ้งให้นักวิเคราะห์การฉ้อโกงตรวจสอบธุรกรรม การตอบสนองดังกล่าวสามารถปรับแต่งให้เหมาะกับความรุนแรงและลักษณะของความผิดปกติได้

  • ปรับปรุงระบบ: ระบบจะป้อนผลการตรวจสอบเหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็นผลบวกจริงหรือผลบวกลวง) กลับเข้ามาในระบบเพื่อช่วยให้การตรวจสอบความถี่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลนี้จะช่วยปรับปรุงเกณฑ์และกฎ ทําให้กระบวนการตรวจจับการฉ้อโกงมีความแม่นยํามากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

มีการใช้การตรวจสอบความถี่ในการตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกงอย่างไร

การตรวจสอบความถี่เป็นการป้องกันเชิงรุกที่ใช้จํากัดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฉ้อโกงในทันที รวมทั้งช่วยให้ธุรกิจเข้าใจและปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการรักษาความปลอดภัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างวิธีใช้การตรวจสอบความถี่ในการประมวลผลการชําระเงินและการจัดการบัญชีมีดังนี้

  • การระบุธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง: การตรวจสอบความถี่จะใช้ตรวจหาธุรกรรมที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากการทํางานปกติของผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น หากบัตรเครดิตที่ปกติมักจะใช้งานเพียงสัปดาห์ละครั้งทำธุรกรรมหลายรายการในวันเดียว จำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันแบบนี้จะทริกเกอร์ให้มีการตรวจสอบ

  • ป้องกันการโจมตีอัตโนมัติ: การพยายามฉ้อโกงด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น การโจมตีด้วยบอท มักจะทำธุรกรรมหรือเข้าสู่ระบบจากที่อยู่ IP หรืออุปกรณ์เดียวกันติดต่อกันหลายรายการอย่างรวดเร็ว การตรวจสอบความถี่จะตรวจจับและบล็อกการดําเนินการเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วด้วยการระบุหาการทำธุรกรรมด้วยความเร็วสูงและปริมาณมากผิดปกติ

  • เรียกใช้การตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (MFA): เมื่อการตรวจสอบความถี่ตรวจพบธุรกรรมที่น่าสงสัย ระบบจะเรียกใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยด้วย MFA ซึ่งกําหนดให้ผู้ใช้ต้องทําการยืนยันเพิ่มเติม (เช่น รหัสที่ส่งไปยังโทรศัพท์) ในการทําธุรกรรม เพื่อเพิ่มขั้นตอนความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง

  • วิเคราะห์ตําแหน่งทางภูมิศาสตร์: การตรวจสอบตําแหน่งทางภูมิศาสตร์สามารถตรวจจับธุรกรรมที่ืทำรายการ จากสถานที่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งอาจแสดงว่าบัตรถูกโคลนหรือบัญชีที่ถูกบุกรุก

  • จุดข้อมูลสำหรับเปรียบเทียบจากหลายแหล่ง: การตรวจสอบความถี่จะให้มุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าด้วยการผสานข้อมูลจากแหล่งต่างๆ (เช่น ยอดธุรกรรม ตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การใช้งานอุปกรณ์) เข้าด้วยกัน การเปรียบเทียบในลักษณะนี้จะช่วยระบุหารูปแบบการฉ้อโกงที่ซับซ้อนที่อาจจะตรวจหาไม่เจอหากใช้ข้อมูลจากแหล่งเดียว

  • ปรับตัวรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น: มิจฉาชีพปรับตัวและเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่เรื่อยๆ การตรวจสอบความถี่จึงต้องอัปเดตและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันพฤติกรรมฉ้อโกงรูปแบบใหม่ๆ และช่วยให้ธุรกิจป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ ได้

วิธีใช้การตรวจสอบความถี่

การใช้งานการตรวจสอบความถี่อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สร้างกฎจากข้อมูลนี้ นำกฎเหล่านี้มาใช้แบบเรียลไทม์ และกําหนดการตอบสนองที่เหมาะสมเมื่อเรียกใช้ทริกเกอร์ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบความถี่ไม่ควรทําให้ผู้ใช้ตัวจริงเกิดความไม่สะดวกและควรออกแบบระบบให้ลดจํานวนผลบวกลวงลงด้วย นอกจากนี้ยังต้องออกแบบมาให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ดูคําอธิบายของกระบวนการติดตั้งใช้งานแต่ละขั้นตอนดังต่อไปนี้

ระบุข้อมูล

ระบุและรวบรวมข้อมูลที่จะติดตามตรวจสอบ คุณภาพและความสอดคล้องของข้อมูลเป็นสิ่งสําคัญ ควรบันทึกและจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่ช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้สะดวก

โดยปกติแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะประกอบด้วย

  • รายละเอียดธุรกรรม เช่น ยอดเงินของธุรกรรม ความถี่ของธุรกรรม เวลาทําธุรกรรม และประเภทธุรกรรม (เช่น ซื้อ ถอนเงิน โอน)

  • ข้อมูลผู้ใช้ เช่น หมายเลขบัญชี หมายเลขประจำตัวของผู้ใช้ และรูปแบบพฤติกรรมในอดีต

  • ข้อมูลอุปกรณ์ เช่น ที่อยู่ IP รหัสอุปกรณ์ และอาจเป็นคุกกี้หรือข้อมูลระบุอื่นๆ

  • ข้อมูลภูมิศาสตร์ เช่น ที่อยู่ IP ข้อมูล GPS หรือรายละเอียดตําแหน่งที่ตั้งที่ระบุ

สร้างกฎ

กําหนดกฎที่ให้คำจำกัดความว่ากิจกรรมที่น่าสงสัยมีลักษณะเป็นอย่างไร กฎเหล่านี้มักจะอิงตามเกณฑ์พฤติกรรมโดยทั่วไปของผู้ใช้และนำข้อมูลมาจากข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมในระยะยาวและมาตรฐานอุตสาหกรรม

ตัวอย่างกฎ ได้แก่

  • จํานวนธุรกรรมสูงสุดที่อนุญาตต่ออุปกรณ์ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง

  • ยอดเงินสูงสุดในสกุลดอลลาร์สหรัฐที่สามารถทําธุรกรรมจากบัญชีหนึ่งในรอบระยะเวลาหนึ่ง

  • จํากัดจํานวนครั้งในการพยายามเข้าสู่ระบบจากที่อยู่ IP เดียวกันในหนึ่งชั่วโมง

ขั้นตอนการตั้งค่ากฎเหล่านี้ควรใช้การวิเคราะห์ทางสถิติมากําหนดว่าพฤติกรรมปกติและข้อมูลผิดปกติมีลักษณะอย่างไร หากกฎมีข้อจํากัดมากเกินไป ธุรกรรมที่ถูกต้องอาจจะถูกบล็อกได้ แต่หากหย่อนยานเกินไปก็จะไม่สามารถตรวจจับกิจกรรมการฉ้อโกงได้

ตั้งค่าทริกเกอร์

กําหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อกฎถูกทริกเกอร์ การตอบสนองอาจแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงและลักษณะของการละเมิดและอาจประกอบด้วยการดำเนินการต่อไปนี้

  • แจ้งเตือนให้ผู้ดูแลระบบหรือนักวิเคราะห์การฉ้อโกงทราบถึงความจําเป็นในการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่

  • ปฏิเสธธุรกรรมที่น่าจะเป็นการฉ้อโกงโดยอัตโนมัติ

  • ขอให้ผู้ใช้ทําการยืนยันเพิ่มเติม เช่น ส่งรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) หรือขอให้ผู้ใช้ตอบคําถามรักษาความปลอดภัย

  • ระงับบัญชีชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการยืนยันเพิ่มเติม

ใช้กฎ

ใช้กฎที่กําหนดไว้แบบเรียลไทม์ ติดตั้งระบบที่สามารถตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้น และเปรียบเทียบธุรกรรมแต่ละรายการกับกฎที่กำหนดไว้ ใช้อัลกอริทึมของแมชชีนเลิร์นนิงที่สามารถปรับเปลี่ยนกฎแบบไดนามิกตามรูปแบบธุรกรรมที่กําลังดําเนินอยู่และแนวโน้มที่กําลังเกิดขึ้นเพื่อให้กฎเหล่านั้นทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเสมอ

ความท้าทายในการตรวจสอบความถี่

แม้ว่าการตรวจสอบความถี่จะเป็นเครื่องมือจัดการการฉ้อโกงที่มีประสิทธิภาพ แต่เครื่องมือเหล่านี้ต้องออกแบบและนำมาปรับใช้อย่างรอบคอบ รวมทั้งปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรักษาความปลอดภัย ปฏิบัติตามตามข้อกําหนดทางกฎหมาย และมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้อย่างสมดุลกันทุกด้าน ข้อเสียและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความถี่อาจแก้ไขได้โดยการลงทุนในการวิเคราะห์ขั้นสูง แมชชีนเลิร์นนิง และการจัดทำแบบจำลองพฤติกรรมผู้ใช้

ปัญหาที่พบบ่อยในการตรวจสอบความถี่มีดังนี้

ผลบวกลวง

การตรวจสอบความถี่มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกลวง หรือกรณีที่ระบบขึ้นสถานะแจ้งว่าธุรกรรมที่ถูกต้องน่าสงสัย สาเหตุอาจมีดังต่อไปนี้

  • กฎที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งระบุว่ากิจกรรมของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นมาตามปกติ (เช่น การใช้จ่ายในวันหยุด การซื้อสินค้าลดราคา) เป็นการฉ้อโกง

  • กฎที่ไม่ได้ปรับแต่งให้เหมาะกับรูปแบบการใช้จ่ายของผู้ใช้แต่ละรายหรือกลุ่มผู้ใช้แต่ละกลุ่ม พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มอาจจะแตกต่างกันไป ดังนั้นการใช้กฎแบบเดียวกันกับลูกค้าทั้งหมดอาจทําให้ธุรกรรมที่ถูกต้องถูกบล็อกได้

ผลลบเท็จ

ผลลบเท็จพบได้น้อยกว่าผลบวกลวง แต่เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ระบบไม่ตรวจจับธุรกรรมฉ้อโกงและอนุญาตให้ธุรกรรมเหล่านั้นดําเนินการต่อได้ สาเหตุอาจมีดังต่อไปนี้

  • เทคนิคการฉ้อโกงที่มีความซับซ้อน เช่น การทำธุรกรรมสม่ำเสมอซึ่งหลีกเลี่ยงการทริกเกอร์เกณฑ์ความถี่ได้

  • ข้อมูลไม่สมบูรณ์หรือล้าสมัย ซึ่งทําให้การติดตามตรวจสอบไม่เพียงพอ

ผลเสียต่อประสบการณ์ของผู้ใช้

การตรวจสอบความถี่อย่างเข้มงวดส่งผลดีในแง่ของการรักษาความปลอดภัยให้กับธุรกรรม แต่ทําให้ประสบการณ์ของผู้ใช้แย่ลง ธุรกรรมแต่ละรายการที่ขึ้นสถานะฉ้อโกงอาจจะต้องทำการยืนยันเพิ่มเติม ทำให้ประมวลผลได้ช้า นอกจากนี้ การได้รับผลบวกลวงบ่อยๆ อาจสร้างความติดขัดให้ลูกค้า และอาจทำให้ลูกค้าหันไปใช้ทางเลือกอื่นที่ใช้งานง่ายกว่า

ข้อกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบและความเป็นส่วนตัว

การตรวจสอบความถี่มักจะต้องเก็บรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลจํานวนมาก ธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอย่างเข้มงวด เช่น กฎระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR) ในยุโรปและกฎหมายความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (CCPA) ซึ่งการปฏิบัติตามข้อกําหนดอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง

ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก

การติดตั้งใช้งานและการคอยปรับปรุงดูแลการตรวจสอบความถี่ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมออาจต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก รวมทั้งต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสําหรับการประมวลผลแบบเรียลไทม์และการวิเคราะห์ธุรกรรมปริมาณมาก นอกจากนี้ กฎสําหรับการตรวจสอบความถี่ยังต้องอัปเดตเป็นประจํา ซึ่งต้องใช้การวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนทางเทคนิค

การผสานการทํางาน

การผสานการทำงานของการตรวจสอบความถี่เข้ากับระบบอื่นๆ เช่น เกตเวย์การชําระเงิน เครื่องมือจัดการการฉ้อโกง และฐานข้อมูลลูกค้า อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อมูลอาจกระจายอยู่ตามหน่วยงานหรือระบบต่างๆ ภายในองค์กร ทำให้การตรวจสอบความถี่อย่างครอบคลุมกลายเป็นเรื่องยาก

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe