วิธีโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้ธุรกิจ

Atlas
Atlas

จัดตั้งบริษัทได้ด้วยการคลิกไม่กี่ครั้งและพร้อมที่จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้า จัดจ้างทีมงาน และระดมทุน

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้บ้าง
  3. ข้อตกลงการโอนทรัพย์สินทางปัญญา
  4. วิธีโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้ธุรกิจ
    1. ขั้นตอนที่ 1: ระบุความจําเป็นในการโอน
    2. ขั้นตอนที่ 2: ดําเนินการตรวจสอบข้อมูล
    3. ขั้นตอนที่ 3: เจรจาต่อรองข้อกําหนด
    4. ขั้นตอนที่ 4: ร่างข้อตกลงการโอน
    5. ขั้นตอนที่ 5: ดําเนินการตามข้อตกลง
    6. ขั้นตอนที่ 6: บันทึกข้อมูลการโอน
    7. ขั้นตอนที่ 7: แจ้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง
    8. ขั้นตอนที่ 8: นำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์
  5. ข้อดีและข้อเสียของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา
    1. ข้อดีของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา
    2. ข้อเสียของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของใครบางคนตามกฎหมายเสมอ บุคคลทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และนิติบุคคลอย่างเช่นธุรกิจและองค์กรไม่แสวงผลกําไรก็เช่นกัน ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเปลี่ยนเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้หลายครั้งและการโอนทรัพย์สินทางปัญญาคือกระบวนการที่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาโอนสิทธิ์เหล่านั้นให้กับบุคคลอื่น การโอนนี้จะสมบูรณ์และเพิกถอนไม่ได้ นั่นหมายความว่าเจ้าของเดิมสละสิทธิ์ในการเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดหลังจากมอบหมายเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับการขายสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เมื่อขายแล้ว เจ้าของเดิมจะไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอีกต่อไป

การโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ศิลปินโอนลิขสิทธิ์ในผลงานให้แก่แกลเลอรี่หรือสํานักพิมพ์ การโอนทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่งที่พบบ่อยคือ ผู้ประดิษฐ์ผลงานโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้กับธุรกิจเพื่อแลกกับเงินหรือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการจ้างงาน แล้วการโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้ธุรกิจหมายความว่าอย่างไร ในบทความนี้ เราจะอธิบายเกี่ยวกับวิธีโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้กับธุรกิจ ผลกระทบทางกฎหมายของการโอนสิทธิ์ประเภทนี้ รวมถึงข้อดีและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้บ้าง
  • ข้อตกลงการโอนทรัพย์สินทางปัญญา
  • วิธีโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้ธุรกิจ
  • ข้อดีและข้อเสียของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้บ้าง

สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเป็นเจ้าของได้โดยบุคคลประเภทต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะของทรัพย์สินทางปัญญาและบริบทในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมา ต่อไปนี้คือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาโดยทั่วไป

  • บุคคลทั่วไป: ผู้สร้างผลงานที่เป็นบุคคลทั่วไป เช่น ศิลปิน ผู้เขียน นักเขียน และนักดนตรีสามารถเป็นเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาได้ ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปผู้เขียนจะถือครองลิขสิทธิ์ของงานเขียนของตัวเอง

  • ธุรกิจและองค์กร: ธุรกิจมักจะเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการที่พัฒนาขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ธุรกิจอาจจะมีสิทธิบัตรคุ้มครองเทคโนโลยีใหม่หรือเครื่องหมายการค้าสําหรับโลโก้แบรนด์ของบริษัท

  • สถาบันการศึกษาและองค์กรการวิจัย: มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมักจะถือสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งที่ค้นพบใหม่และสิ่งประดิษฐ์ของพนักงานและนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบันเป็นผู้ให้ทุนการวิจัย

  • หน่วยงานรัฐ: สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นของหน่วยงานรัฐบาล โดยเฉพาะสําหรับสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานที่พนักงานของรัฐบาลสร้างขึ้นในระหว่างทำงานของตน

  • เจ้าของหลายราย: เมื่อผลงานชิ้นหนึ่งถูกสร้างขึ้นร่วมกันโดยบุคคลหรือหน่วยงานหลายฝ่าย สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอาจแชร์ร่วมกันตามข้อกําหนดในข้อตกลงของพวกเขา

  • ทายาทและกองมรดก: สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถสืบทอดหรือทำพินัยกรรมยกให้ได้ ทำให้ทายาทหรือกองมรดกได้รับสิทธิ์เหล่านั้นหลังจากเจ้าของเดิมเสียชีวิต

  • ผู้รับโอนสิทธิ์และผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์: สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถโอนหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ได้ ผู้รับโอนสิทธิ์จะได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์จะได้รับอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นภายใต้เงื่อนไขบางอย่างโดยไม่ได้รับกรรมสิทธิ์

ข้อตกลงการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

ข้อตกลงการโอนทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีความครอบคลุม และมีผลผูกพันตามกฎหมาย รวมทั้งระบุข้อกําหนดในการโอนสิทธิ์การเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ในการร่างข้อตกลงการโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องพิจารณาและระบุหัวข้อดังต่อไปนี้

  • ตัวตนของคู่สัญญา: ชื่อ-นามสกุลตามกฎหมายและที่อยู่ของผู้โอน (เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาคนปัจจุบัน) และผู้รับโอน (ฝ่ายที่ได้รับโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา)

  • รายละเอียดเฉพาะของทรัพย์สินทางปัญญา: คําอธิบายโดยละเอียดและชัดเจนเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่จะโอน สําหรับสิทธิบัตร ข้อมูลนี้ควรประกอบด้วยหมายเลขสิทธิบัตร กรรมสิทธิ์ และคําอธิบายสั้นๆ สําหรับเครื่องหมายการค้า ควรระบุหมายเลขการจดทะเบียนและเครื่องหมายที่เฉพาะเจาะจง และสำหรับลิขสิทธิ์ ต้องระบุผลงานที่เจาะจงและรายละเอียดการจดทะเบียน (หากมี)

  • ข้อความแจ้งกรรมสิทธิ์และสิทธิ์ในการโอน: ข้อความแจ้งกรรมสิทธิ์และสิทธิ์ทางกฎหมายจากผู้โอน ซึ่งยืนยันว่าผู้โอนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างชัดเจนโดยไม่มีภาระติดพันใดๆ และมีสิทธิ์ตามกฎหมายในการโอนสิทธิ์ ข้อพิพาทหรือภาระผูกพันในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่เดิมจะทําให้กรรมสิทธิ์มีความซับซ้อนและอาจจะทําให้การโอนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นควรเปิดเผยและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ข้อตกลง หรือการอ้างสิทธิ์ทั้งหมดที่อาจส่งผลต่อการโอน

  • ข้อกําหนดในการโอน: ข้อความที่ระบุว่าผู้โอนจะโอนสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ และประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอน พร้อมทั้งระบุว่าการโอนนั้นสมบูรณ์และไม่สามารถเพิกถอนได้ หรือมาพร้อมกับเงื่อนไขที่กำหนด

  • การโอนสิทธิ์กับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์: ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (การโอนกรรมสิทธิ์) หรือเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (มอบสิทธิ์ให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้น ไม่ใช่ความเป็นเจ้าของ)

  • สิ่งตอบแทน: ค่าตอบแทนหรือสิ่งตอบแทนที่จะมอบให้เพื่อแลกกับสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจเป็นเงิน หุ้น ทรัพย์สินอื่นๆ หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าตามที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ โดยจำเป็นต้องมีค่าตอบแทนเพื่อให้ข้อตกลงมีผลผูกพันตามกฎหมาย

  • การรับประกันและการรับรอง: การรับประกันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจรวมถึงการรับประกันว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ผู้โอนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่แท้จริง และไม่มีความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญานั้น โดยทั่วไปแล้ว ผู้โอนจะให้การรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้องของทรัพย์สินทางปัญญา กรรมสิทธิ์ของพวกเขา และการไม่มีการละเมิดหรือภาระผูกพัน การละเมิดการรับประกันเหล่านี้อาจทําให้เกิดความรับผิดทางกฎหมายได้

  • การชดเชยความเสียหาย: ในกรณีที่มีการละเมิดการรับประกันบางอย่าง เช่น หากบุคคลที่สามอ้างว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น ผู้โอนจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้รับโอน

  • การระงับข้อพิพาท: ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับการระงับด้วยวิธีการใด ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ การฟ้องร้องดําเนินคดี หรือกระบวนการอื่น นอกจากนี้ยังควรระบุกฎหมายที่ใช้บังคับกับข้อพิพาทต่างๆ ด้วย

  • การโอนสิทธิ์และการมอบหมาย: ข้อความที่ระบุว่าผู้รับโอนสามารถโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาหรือมอบมอบหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะถูกจํากัดไว้ในข้อตกลง

  • การพัฒนาในอนาคต: การพัฒนาที่กําลังดําเนินอยู่จะได้รับการจัดการอย่างไร และผู้รับโอนมีสิทธิ์หรือหน้าที่ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในอนาคตเหล่านี้หรือไม่

  • ลายเซ็น: ลายเซ็นและวันที่จากทั้งสองฝ่าย การโอนทรัพย์สินทางปัญญาบางประเภทจําเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเฉพาะบางอย่าง เช่น การรับรองความถูกต้องโดยโนตารีหรือการบันทึกข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เหมาะสมเพื่อให้มีผลหรือบังคับใช้ได้

  • ข้อกําหนดเบ็ดเตล็ด: ข้อกําหนดเพิ่มเติมใดๆ ที่คู่สัญญาต้องการระบุไว้ในข้อตกลง รวมถึงหน้าที่ในการรักษาความลับ การคืนวัสดุอุปกรณ์ หรือข้อกําหนดเฉพาะใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนนี้อาจระบุผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้โอนหรือผู้รับโอนล้มละลาย ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ล้มละลาย ซึ่งอาจส่งผลต่อสิทธิ์และผลประโยชน์ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

วิธีโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้ธุรกิจ

การโอนทรัพย์สินทางปัญญาให้ธุรกิจมี 8 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1: ระบุความจําเป็นในการโอน

ความจําเป็นในการโอนทรัพย์สินทางปัญญาอาจเกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ รวมถึงการขายธุรกิจ ข้อตกลงการจ้างงานใหม่ ข้อตกลงการออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ หรือธุรกิจหนึ่งซื้อทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจอื่น เมื่อมีความจําเป็นต้องโอนทรัพย์สินทางปัญญา คู่สัญญาที่เกี่ยวข้องจะต้องระบุทรัพย์สินทางปัญญาที่จะโอน

ขั้นตอนที่ 2: ดําเนินการตรวจสอบข้อมูล

ผู้รับโอนควรตรวจสอบข้อมูลของผู้โอนเพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้โอน ระบุภาระผูกพัน ข้อจํากัด หรือปัญหาการละเมิดที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งประเมินมูลค่าและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ขั้นตอนนี้อาจต้องมีการตรวจสอบทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจากหน่วยงานราชการ สัญญา และการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์หรือการโอนที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

ขั้นตอนที่ 3: เจรจาต่อรองข้อกําหนด

คู่สัญญาจะเจรจาเกี่ยวกับข้อกําหนดในการโอนสิทธิ์ รวมถึงขอบเขตของสิทธิ์ที่โอน สิ่งตอบแทน (การชําระเงินหรือค่าตอบแทนอื่นๆ) การรับประกัน ค่าชดเชย และข้อกําหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการเจรจานี้เป็นการกําหนดความคาดหวังและหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย

ขั้นตอนที่ 4: ร่างข้อตกลงการโอน

หลังจากเจรจาแล้ว คู่สัญญาจะร่างข้อตกลงการโอนทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายสามารถให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายของตนตรวจสอบข้อตกลงนี้เพื่อยืนยันว่าข้อตกลงดังกล่าวตรงกับความเข้าใจและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนที่ 5: ดําเนินการตามข้อตกลง

เมื่อสรุปข้อตกลงแล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะลงนามในเอกสาร การลงนามอาจต้องมีพยานหรือได้รับการรับรองจากโนตารี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเขตอํานาจศาลและลักษณะของทรัพย์สินทางปัญญา แม้จะไม่มีข้อกําหนดทางกฎหมายเสมอไป แต่เราแนะนำให้ขอการรับรองจากโนตารีเพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่งให้กับธุรกรรม วิธีนี้จะช่วยให้เอกสารได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานราชการ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความซับซ้อนทางกฎหมาย เมื่อลงนามในเอกสารแล้ว (และอาจได้รับการรับรองจากโนตารีแล้ว) หมายความว่ามีการดำเนินการตามข้อตกลงแล้ว และโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาจากผู้โอนให้กับผู้รับโอนอย่างเป็นทางการ

ขั้นตอนที่ 6: บันทึกข้อมูลการโอน

ในบางกรณี โดยเฉพาะกับทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียน เช่น สิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า การโอนจะต้องบันทึกข้อมูลกับสํานักงานทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง การบันทึกข้อมูลนี้เป็นการแจ้งเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ต่อหน่วยงานราชการและบ่อยครั้งก็มีความจําเป็นต่อการช่วยให้ผู้โอนบังคับใช้สิทธิ์ต่างๆ ได้ คู่สัญญาควรอัปเดตข้อมูลหรือการจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐให้ตรงกับสถานะกรรมสิทธิ์ใหม่ด้วย

ขั้นตอนที่ 7: แจ้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง

คู่สัญญาควรแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ หรือบุคคลที่สามทราบ เช่น ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์หรือพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนแจ้งว่าสิทธิ์หรือหน้าที่ของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนที่ 8: นำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์

ธุรกิจควรนำทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่งได้รับมาใช้การดําเนินงาน อัปเดตบันทึกข้อมูลสินทรัพย์ และวางแผนวิธีใช้และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัท

ข้อดีและข้อเสียของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

การโอนทรัพย์สินทางปัญญามีทั้งข้อดีและข้อเสียสําหรับธุรกิจ

ข้อดีของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

  • กรรมสิทธิ์และการควบคุม: การโอนสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้รับโอนเป็นการมอบสิทธิ์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนให้ผู้รับโอนสามารถควบคุมทรัพย์สินทางปัญญา ตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และบังคับใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญากับผู้ละเมิด ความชัดเจนนี้มีความสําคัญอย่างยิ่งสําหรับธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีกลยุทธ์

  • โอกาสทางธุรกิจ: ธุรกรรมทางธุรกิจ เช่น การควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ หรือการร่วมมือกันอาจได้รับประโยชน์จากมูลค่าและความน่าสนใจของทรัพย์สินทางปัญญาใหม่เมื่อมีการทำข้อตกลงการโอน

  • โอกาสในการสร้างรายรับ: ผู้โอนจะได้รับเงินก้อนหรือสิ่งตอบแทนอย่างอื่นตามที่ตกลงกันไว้เมื่อโอนทรัพย์สินทางปัญญา สําหรับผู้รับโอน การเป็นเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการสร้างช่องทางสร้างรายรับใหม่ๆ เช่น การออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ การผลิต หรือการโอนสิทธิ์เพิ่มเติม

  • การดึงดูดนักลงทุน: ธุรกิจที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญามักจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากกว่า เนื่องจากทรัพย์สินเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดมูลค่าและศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันในตลาด

ข้อเสียของการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

  • ความถาวรของการโอน: เมื่อมีการโอนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ผู้โอนจะเสียสิทธิ์ทั้งหมดในทรัพย์สินทางปัญญานั้น นี่เป็นการดําเนินการแบบถาวร เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเฉพาะในข้อตกลงการโอนที่อนุญาตให้ยกเลิกการโอนภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง

  • ความท้าทายด้านการประเมินมูลค่า: การหามูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นเรื่องซับซ้อนและขึ้นอยู่กับมุมมอง การประเมินมูลทรัพย์สินทางปัญญาต่ำหรือสูงเกินไปมีความเสี่ยง ที่อาจนําไปสู่การขาดทุนหรือข้อพิพาททางการเงิน

  • โอกาสที่จะเกิดข้อพิพาท: หากข้อตกลงการโอนไม่ครอบคลุม ข้อพิพาทอาจเกิดขึ้นกับสิ่งที่อยู่เหนือขอบเขตของสิทธิ์ที่โอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผู้โอนไม่ได้คาดหวังไว้

  • ความท้าทายในการนำมาใช้งาน: สําหรับผู้รับโอน การนำทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่งได้รับมาใช้ในการปฏิบัติงานหรือสายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยต้องมีการปรับและเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่าง

  • ความเสี่ยงต่อการให้ความสำคัญมากเกินไป: หากธุรกิจพึ่งพาทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับมามากเกินไปโดยไม่สร้างนวัตกรรมใหม่ อาจทำให้พลาดโอกาสอื่น ๆ หรือเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดเมื่อทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีคุณค่าน้อยลง

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Atlas

Atlas

จัดตั้งบริษัทได้ด้วยการคลิกไม่กี่ครั้งและพร้อมที่จะเรียกเก็บเงินจากลูกค้า จัดจ้างทีมงาน และระดมทุน

Stripe Docs เกี่ยวกับ Atlas

ก่อตั้งบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้จากทุกที่ทั่วโลกโดยใช้ Stripe Atlas