การกําหนดจุดยืนในตลาดเป็นการสร้างสถานะที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยเป็นการระบุลักษณะเฉพาะและประโยชน์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านั้นแตกต่างจากคู่แข่ง
เป้าหมายก็เพื่อสร้างการรับรู้ในสายตาของกลุ่มเป้าหมาย ทําให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นที่น่าปรารถนามากขึ้น หรือตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นๆ ในหมวดหมู่เดียวกัน ธุรกิจต่างๆ สามารถวางจุดยืนผ่านกลยุทธ์การตลาด การสร้างแบรนด์ และการสื่อสาร โดยจะต้องเน้นสร้างคุณค่าที่ไม่เหมือนใคร (UVP) ให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ
ต่อไปนี้ เราจะพูดถึงกลยุทธ์การกําหนดจุดยืนในตลาดที่ธุรกิจสตาร์ทอัพนิยมใช้ รวมทั้งอธิบายวิธีกําหนดจุดยืนในตลาดของธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนการรักษาจุดยืนในตลาดให้มีความสดใหม่และตอบโจทย์ของธุรกิจอยู่เสมอ แม้ว่าธุรกิจจะเติบโตขึ้นก็ตาม
บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง
- เหตุใดการวางจุดยืนในตลาดจึงสําคัญสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
- วิธีกําหนดจุดยืนในตลาดสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
- วิธีทดสอบและตรวจสอบจุดยืนในตลาด
- วิธีผสานรวมจุดยืนในตลาดเข้ากับกลยุทธ์การตลาด
- วิธีการทําให้จุดยืนในตลาดยังคงตอบโจทย์ของธุรกิจอยู่เสมอ
เหตุใดการวางจุดยืนในตลาดจึงสําคัญสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
การกําหนดจุดยืนในตลาดส่งผลต่อวิธีที่ลูกค้ารับรู้เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาด สําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว การกำหนดจุดยืนอย่างชัดเจนอาจสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจที่ยังไม่ติดตลาด โดยสาเหตุอันดับแรกที่ธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ประสบความสําเร็จก็คือการไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ต่อไปนี้คือภาพรวมที่แสดงให้เห็นว่าเหตุใดการวางจุดยืนในตลาดจึงเป็นสิ่งสําคัญสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
สร้างความแตกต่างในตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมาก: ธุรกิจสตาร์ทอัพมักต้องแข่งขันกับธุรกิจที่มีชื่อเสียงในตลาดอยู่แล้ว การกําหนดจุดยืนในตลาดอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพโดดเด่น โดยเน้นสิ่งที่ทําให้ธุรกิจแตกต่างและดีกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม ราคา คุณภาพ การบริการลูกค้า หรือโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร การกําหนดจุดยืนจะช่วยสื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจถึงเอกลักษณ์นี้
สร้างอัตลักษณ์แบรนด์และการรับรู้: การกําหนดจุดยืนในตลาดช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ที่ชัดเจนและน่าสนใจได้ อัตลักษณ์นี้ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์และเป็นที่จดจำของผู้ที่จะกลายมาเป็นลูกค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ
เจาะกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม: ธุรกิจสตาร์ทอัพมักจะมีทรัพยากรจํากัด จึงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะการตลาดแบบหว่านแห การกําหนดจุดยืนในตลาดช่วยให้ธุรกิจมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าบางกลุ่มที่มีแนวโน้มจะตอบสนองต่อข้อเสนอของธุรกิจมากที่สุด การกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนแบบนี้ช่วยให้ธุรกิจใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดี
ชี้นำให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์: การกําหนดจุดยืนในตลาดจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าและช่องว่างในตลาด ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและตอบสนองความต้องการที่บริษัทอื่นๆ ยังคงมองไม่เห็น
ดึงดูดนักลงทุน: นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะให้เงินทุนแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีจุดยืนในตลาดที่ชัดเจนและน่าสนใจ หากกำหนดจุดยืนในตลาดอย่างดี นั่นแสดงให้เห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าใจตลาดและวางแผนจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตน
อํานวยความสะดวกให้กับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์: เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตขึ้น บริษัทจะต้องทำการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์มากมาย ตั้งแต่การขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายไปจนถึงการสํารวจตลาดใหม่ๆ จุดยืนในตลาดที่ชัดเจนจะเป็นเสมือนกรอบที่ช่วยให้การตัดสินใจเหล่านี้สอดคล้องกับคุณค่าหลักและวิสัยทัศน์ในระยะยาวของธุรกิจสตาร์ทอัพ
สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน: การกําหนดจุดยืนในตลาดอย่างมีประสิทธิภาพอาจช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ธุรกิจสตาร์ทอัพจะปกป้องตัวเองจากคู่แข่งและสร้างอุปสรรคในการเข้าตลาดได้โดยการเข้าไปครองตลาดเฉพาะกลุ่ม
วิธีกําหนดจุดยืนในตลาดสําหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ
ทําความเข้าใจตลาดเป้าหมายของคุณ
การกําหนดจุดยืนในตลาดของธุรกิจสตาร์ทอัพเริ่มต้นด้วยการทําความเข้าใจตลาดเป้าหมายอย่างละเอียด นี่ควรเป็นขั้นตอนแรกเนื่องจากส่งผลต่อแง่มุมอื่น ๆ ทั้งหมดของกลยุทธ์การกําหนดจุดยืนของคุณ วิธีการมีดังนี้
กำหนดกลุ่มลูกค้าในอุดมคติของคุณ: เริ่มต้นด้วยการสร้างโปรไฟล์ลูกค้าในอุดมคติอย่างละเอียด โดยพิจารณาทั้งปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ เช่น อายุ เพศ ระดับรายได้ การศึกษา และตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รวมถึงปัจจัยทางจิตวิทยา เช่น ความสนใจ ค่านิยม วิถีชีวิต และพฤติกรรมการซื้อ
ทําความเข้าใจความต้องการและปัญหาของลูกค้า: ลูกค้าเป้าหมายเผชิญกับปัญหาใดบ้างที่ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถช่วยแก้ไขให้ได้ ระบุปัญหาที่มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงความต้องการที่มองเห็นได้ยากกว่า ทําแบบสํารวจ สัมภาษณ์ หรือจัดกลุ่มสนทนาเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยตรงจากผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า
วิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้า: ตลาดเป้าหมายของคุณมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร รูปแบบการซื้อของพวกเขาเป็นแบบไหน ตรวจสอบช่องทางการซื้อ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และแนวโน้มที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของลูกค้า โดยอาจจะต้องหาข้อมูลทางออนไลน์ ศีกษารายงานตลาด หรือใช้เครื่องมือวิเคราะห์ของโซเชียลมีเดีย
ประเมินขนาดและศักยภาพของตลาด: ประเมินขนาดของตลาดเป้าหมายและศักยภาพในการเติบโต วิธีนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจศักยภาพในการเติบโตของผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ สิ่งที่คุณต้องถามตัวเองก็คือคุณเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มหรือเป็นกลุ่มเป้าหมายกว้างๆ การประมาณขนาดตลาดจำเป็นต้องวิเคราะห์แนวโน้มตลาดปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคต
แบ่งกลุ่มลูกค้าในตลาด: ปกติแล้ว คุณจะสามารถแบ่งตลาดเป้าหมายออกเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดเล็กลงและมีลักษณะเฉพาะชัดเจนมากขึ้น กลุ่มลูกค้าเหล่านี้อาจมีความต้องการหรือความชอบที่แตกต่างกันเล็กน้อย การระบุกลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะช่วยธุรกิจสร้างกลยุทธ์การกําหนดจุดยืนที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับตัวเอง
รับข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด: ตลาดมีความเคลื่อนไหวและความต้องการของลูกค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในตลาดเป้าหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าความรู้ความเข้าใจของคุณยังสอดคล้องกับปัจจุบัน โดยคุณอาจจะต้องศึกษาตลาดและคอยติดตามข่าวสารในวงการ
การทําความเข้าใจตลาดเป้าหมายเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อธุรกิจเติบโตและพัฒนามากขึ้น กลุ่มลูกค้าของคุณและแนวทางการเจาะกลุ่มเป้าหมายของคุณอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับจุดยืนในตลาดของธุรกิจสตาร์ทอัพในอนาคต
วิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขัน
เมื่อคุณเข้าใจตลาดเป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการวิเคราะห์การแข่งขัน คุณต้องรู้ว่ามีใครอีกบ้างกําลังพยายามเข้าถึงลูกค้าของคุณ สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือศึกษาคู่แข่ง กลยุทธ์และข้อเสนอของคู่แข่ง รวมทั้งมองหาโอกาสที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณจะทำได้ดี
ต่อไปนี้เป็นวิธีวิเคราะห์คู่แข่งอย่างมีประสิทธิภาพ
ระบุว่าใครคือคู่แข่งของคุณ: จัดทํารายชื่อคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม คู่แข่งทางตรงคือธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการคล้ายคลึงกับธุรกิจของคุณ ส่วนคู่แข่งทางอ้อมจะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเดียวกัน แต่ใช้วิธีที่แตกต่างกัน ในขั้นตอนนี้แนะนำให้รวมคู่แข่งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และทั่วโลกด้วย เพื่อให้ได้มุมมองที่ครอบคลุม
ประเมินข้อเสนอและกลยุทธ์ของคู่แข่ง: ตรวจสอบผลิตภัณฑ์หรือบริการของคู่แข่ง พวกเขาเน้นคุณลักษณะหรือประโยชน์ด้านใดบ้าง ประเมินกลยุทธ์การตลาด กลยุทธ์การขาย โมเดลค่าบริการ และช่องทางการจัดจําหน่ายของคู่แข่ง ศึกษาว่าสิ่งใดที่คู่แข่งทำได้ดีและสิ่งใดที่ยังต้องปรับปรุง
วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่ง: วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม (SWOT) สําหรับคู่แข่งรายหลักแต่ละราย วิธีนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าคู่แข่งของคุณเป็นเลิศด้านใดและมีความเปราะบางตรงไหนบ้าง พิจารณาชื่อเสียงของแบรนด์ ส่วนแบ่งตลาด คุณภาพของผลิตภัณฑ์ การบริการลูกค้า และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ศึกษาจุดยืนของคู่แข่ง: พิจารณาว่าคู่แข่งแต่ละรายมีจุดยืนอย่างไรในตลาด พวกเขาอ้างว่า UVP ของตัวเองคืออะไร แล้วลูกค้ามีมุมมองต่อคู่แข่งอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่ามีช่องว่างหรือโอกาสที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณสามารถใช้ประโยชน์หรือไม่
ติดตามตรวจสอบกิจกรรมของคู่แข่ง: ติดตามตรวจสอบกิจกรรมของคู่แข่ง รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ แคมเปญการตลาด การเปลี่ยนแปลงค่าบริการ หรือการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ การอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอจะช่วยให้คุณตอบสนองและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
รวบรวมข้อมูลตลาด: รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายงานอุตสาหกรรม การตรวจสอบลูกค้า โซเชียลมีเดีย บันทึกข้อมูลทางการเงินสาธารณะ และบทความข่าว นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ข้อมูลตลาดก็ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์เช่นกัน
เรียนรู้จากความสําเร็จและความล้มเหลวของคู่แข่ง: วิเคราะห์กรณีศึกษาหรือสถานการณ์ที่คู่แข่งประสบความสําเร็จหรือล้มเหลวซึ่งส่งผลต่อธุรกิจอย่างมีนัยสําคัญ สถานการณ์ทั้งสองแบบต่างก็ให้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์ของคุณ
ซึ่งการวิเคราะห์การแข่งขันอย่างละเอียดครอบคลุมจะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณพบข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันของตัวเอง ขั้นตอนนี้มีความสําคัญในการกําหนดจุดยืนในตลาดที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง
กำหนดคุณค่าที่ไม่เหมือนใคร
การกําหนดคุณค่าที่ไม่เหมือนใครของธุรกิจสตาร์ทอัพคือการอธิบายว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณจะมอบประโยชน์และคุณค่าที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ให้กับลูกค้าอย่างไรบ้าง ต่อไปนี้คือวิธีสร้างคุณค่าให้ไม่เหมือนใครและน่าสนใจ (ซึ่งอาจจะประกอบด้วยคุณค่ามากกวา่หนึ่งอย่าง):
สังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดและคู่แข่ง: ระบุสิ่งที่ลูกค้าของคุณให้ความสําคัญอย่างแท้จริงและสิ่งคู่แข่งที่ไม่ได้นําเสนอโดยอิงจากความเข้าใจของคุณเกี่ยวกับตลาดเป้าหมายและการแข่งขันในตลาด UVP ควรตอบสนองความต้องการในตลาดได้จริง
เน้นคุณลักษณะหรือประโยชน์ที่ไม่เหมือนใคร: ระบุสิ่งที่ทําให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งอาจจะเป็นคุณลักษณะที่เป็นนวัตกรรม คุณภาพที่เหนือกว่า ค่าบริการ การบริการลูกค้า หรือการใช้เทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของคุณแตกต่างและมีความสําคัญต่อลูกค้า
เชื่อมโยงประโยชน์เข้ากับความต้องการของลูกค้า: แค่มีคุณลักษณะที่แตกต่างนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะคุณลักษณะเหล่านั้นต้องเปลี่ยนเป็นประโยชน์ที่จับต้องได้ในสายตาของลูกค้า ข้อเสนอของคุณจะช่วยแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิต หรือมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างไร คุณควรระบุความเชื่อมโยงนี้ใน UVP ให้ชัดเจน
กระชับและชัดเจน: UVP ควรเข้าใจได้ง่ายและน่าจดจํา ไม่ควรใช้ศัพท์เฉพาะหรือภาษาที่ซับซ้อนเกิน
น่าเชื่อถือและมีความเฉพาะเจาะจง: ระบุคุณค่าอย่างจำเพาะเจาะจงและหลีกเลี่ยงคํากล่าวอ้างที่คลุมเครือ UVP ควรน่าเชื่อถือและมีหลักฐานสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นโดยอาศัยคํารับรองจากลูกค้า ข้อมูล หรือการสาธิตการทํางานของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
สอดคล้องกับค่านิยมหลักของแบรนด์: UVP ของคุณควรสะท้อนถึงคุณค่าหลักและพันธกิจโดยรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในสารที่คุณจะสื่อและเสริมสร้างอัตลักษณ์แบรนด์
ทดสอบและปรับแต่ง: เช่นเดียวกับองค์ประกอบส่วนอื่นๆ ของจุดยืนในตลาด UVP เองก็ควรปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพและสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะต้องทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย รวบรวมคําติชม และปรับปรุงตามเวลาที่ผ่านไป
คุณค่าที่แบรนด์นำเสนอจะกลายมาเป็นข้อมูลในการสื่อสารด้านการตลาดและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทั้งหมด
สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์
การสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ช่วยสร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจให้โดดเด่นและสอดคล้องกันในสายตาของลูกค้า อัตลักษณ์แบรนด์ประกอบด้วยคุณค่า บุคลิกของบริษัท และอารมณ์ที่คุณอยากให้ลูกค้ารู้สึก แบบสํารวจปี 2021 พบว่าลูกค้า 88% บอกว่าความจริงใจนั้นสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกแบรนด์ที่ตนชอบและให้การสนับสนุน ต่อไปนี้คือวิธีสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ที่เด่นชัด
กําหนดคุณค่าและบุคลิกภาพของแบรนด์: ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณให้ความสำคัญกับสิ่งใด ความเชื่อและจริยธรรมของธุรกิจคืออะไร แบรนด์ของคุณอาจจะเน้นนวัตกรรม สนุกสนาน จริงจัง หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ ขึ้นอยู่กับพันธกิจและตลาดเป้าหมายของคุณ คุณค่าหลักและบุคลิกเหล่านี้ควรจะเห็นได้ชัดเจนจากทุกแง่มุมของธุรกิจ
สร้างอัตลักษณ์ที่มองเห็นได้ด้วยตา: ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ ชุดสี การพิมพ์ และการออกแบบโดยรวม องค์ประกอบเหล่านี้ควรแสดงถึงบุคลิกภาพของแบรนด์และดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หากออกแบบมาเป็นอย่างดี อัตลักษณ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาจะทําให้แบรนด์ของคุณเป็นที่จดจําและจําได้ง่าย
กำหนดน้ำเสียงของแบรนด์และสิ่งที่แบรนด์จะสื่อ: แบรนด์ของคุณมีวิธีสื่อสารอย่างไร น้ำเสียงของแบรนด์ควรสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะสื่อสารผ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือการโฆษณา และต้องแสดงถึงบุคลิกภาพของแบรนด์ ข้อความควรสื่อถึง UVP อย่างชัดเจน รวมทั้งตอบสนองความสนใจและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
ปรับอัตลักษณ์แบรนด์ให้สอดคล้องกับประสบการณ์ของลูกค้า: การโต้ตอบแต่ละครั้งระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ควรจะทำให้อัตลักษณ์ของแบรนด์ชัดเจนขึ้น ในที่นี้อาจรวมถึงการบริการลูกค้า ประสบการณ์ของผู้ใช้บนเว็บไซต์หรือแอป บรรจุภัณฑ์ หรือสภาพแวดล้อมในร้านค้า
สร้างเรื่องราวของแบรนด์: ผู้คนจะรู้สึกเชื่อมโยงกับเรื่องราว ดังนั้นควรสร้างคําบรรยายเกี่ยวกับแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเรื่องราวของแบรนด์อาจประกอบด้วยแรงบันดาลใจเบื้องหลังธุรกิจสตาร์ทอัพ ความท้าทายที่คุณเอาชนะได้ และเป้าหมายที่คุณต้องการจะบรรลุ หากเรื่องราวน่าสนใจ ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับกลุ่มเป้าหมายได้
สอดคล้องกัน: ความสอดคล้องกันคือกุญแจสําคัญในการสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ดังนั้นแบรนด์จะต้องมีความสอดคล้องกันในทุกช่องทางและในทุกแง่มุม ตั้งแต่องค์ประกอบด้านภาพไปจนถึงประสบการณ์ของลูกค้า
สร้างและส่งเสริมผู้สนับสนุนแบรนด์: เชิญชวนให้ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นตัวแทนของแบรนด์ คำชมและคํารับรองในแง่บวกช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้
เฝ้าสังเกตและปรับเปลี่ยน: ตลาดและธุรกิจของคุณจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อัตลักษณ์แบรนด์ของคุณก็เช่นกัน ดังนั้น คุณต้องประเมินเป็นระยะว่าลูกค้ามีทัศนคติต่อแบรนด์อย่างไร และปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นเพื่อให้แบรนด์ยังคงตอบโจทย์และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย
การสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ที่ชัดเจนไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณในทุกๆ ส่วนและมีบทบาทสําคัญในการรับรู้ธุรกิจของคุณในตลาดที่แข่งขันกันอย่างร้อนแรง
เลือกกลยุทธ์ในการกําหนดจุดยืน
หลังจากศึกษาตลาดเป้าหมาย วิเคราะห์การแข่งขัน กําหนด UVP และสร้างอัตลักษณ์แบรนด์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกกลยุทธ์ในการกําหนดจุดยืนในตลาดที่สอดคล้องกับองค์ประกอบเหล่านี้ กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนของคุณจะเป็นตัวกําหนดวิธีการนําเสนอธุรกิจสตาร์ทอัพในตลาดและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเลือกกลยุทธ์การกําหนดจุดยืนในตลาดได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และโมเดลธุรกิจ ตัวอย่างกลยุทธ์การกําหนดจุดยืนในตลาดที่ธุรกิจสตาร์ทอัพเลือกใช้มีดังนี้
ผู้นําด้านต้นทุน: กลยุทธ์นี้ใช้วิธีวางจุดยืนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นตัวเลือกที่มีราคาย่อมเยาที่สุดในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่อ่อนไหวต่อราคา ซึ่งต้นทุนคือปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ความท้าทายก็คือการรักษาความสามารถในการทํากําไรไปพร้อมๆ กับการเสนอสินค้า/บริการในราคาที่ถูกกว่า
การสร้างความแตกต่าง: กลยุทธ์นี้จะวางจุดยืนของธุรกิจสตาร์ทอัพให้นําเสนอสิ่งที่มีเอกลักษณ์แตกต่างที่คู่แข่งไม่มี ซึ่งอาจจะเป็นนวัตกรรมบางอย่างของผลิตภัณฑ์ คุณภาพที่เหนือกว่า บริการที่ยอดเยี่ยม หรือเทคโนโลยีใหม่ การสร้างความแตกต่างสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าที่กําลังมองหาสิ่งที่โดดเด่น ไม่ธรรมดา
ตลาดเฉพาะกลุ่ม: การกําหนดเป้าหมายเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มคือการเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในตลาดที่มักจะถูกมองข้ามโดยคู่แข่งรายใหญ่ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มประชากรที่เฉพาะเจาะจง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือเป็นหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เฉพาะทางก็ได้ การกําหนดจุดยืนโดยเน้นที่ตลาดเฉพาะกลุ่มช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพกลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดที่มีขนาดเล็กลง
จุดยืนด้านคุณภาพ: การกําหนดจุดยืนด้านคุณภาพจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เหนือกว่าของธุรกิจสตาร์ทอัพ กลยุทธ์นี้จะดึงดูดความสนใจของลูกค้าที่ให้ความสําคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา และยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่ม
จุดยืนด้านความสะดวก: กลยุทธ์นี้เน้นการมอบตัวเลือกที่สะดวกสบายที่สุดให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นตําแหน่งที่ตั้ง ความสะดวกในการใช้งาน การบริการลูกค้า หรือการเข้าถึง ซึ่งได้ผลอย่างยิ่งสําหรับลูกค้าที่ต้องการประหยัดเวลาหรือความสะดวกในการใช้งาน
จุดยืนด้านมูลค่า: กลยุทธ์นี้เป็นการกําหนดจุดยืนให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมอบคุณค่าที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งคุณภาพ บริการ และราคาอยู่ในจุดที่มีความสมดุลกัน เพื่อลูกค้าได้รับความคุ้มค่ามากขึ้นจากเงินที่เสียไป
จุดยืนด้านไลฟ์สไตล์: ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถกําหนดจุดยืนให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์หรืออัตลักษณ์บุคคล กลยุทธ์นี้พบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมแฟชั่น สุขภาพ และสุขภาวะ ซึ่งลูกค้าจะมองว่าการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการเป็นการยกระดับภาพลักษณ์หรือคุณค่าส่วนบุคคล
จุดยืนด้านความยั่งยืน: การกําหนดจุดยืนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือมีความยั่งยืนจะได้รับความสนใจจากลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันผู้คนตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กลยุทธ์นี้จะเน้นว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอย่างไรบ้าง
จุดยืนด้านการเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม: ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เปิดตัวเทคโนโลยีหรือไอเดียใหม่ๆ สามารถกําหนดจุดยืนให้ตัวเองเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือผู้นําอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
จุดยืนด้านการเน้นลูกค้าเป็นหลัก: กลยุทธ์นี้เน้นการให้บริการที่ยอดเยี่ยมหรือบริการเฉพาะบุคคลแก่ลูกค้า ซึ่งได้ผลดีในอุตสาหกรรมที่การบริการลูกค้าเป็นปัจจัยสร้างความแตกต่างที่สําคัญ
ต่อไปนี้คือวิธีเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณ
เชื่อมโยงกลยุทธ์กับ UVP: กลยุทธ์ในการกําหนดจุดยืนควรจะเป็นส่วนเสริมของ UVP ตัวอย่างเช่น หาก UVP ของคุณมุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรม กลยุทธ์ในการกำหนดจุดยืนที่เหมาะสมอาจก็อาจจะเป็นการวางจุดยืนให้คุณเป็นผู้นําตลาดด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
พิจารณาความต้องการของตลาดเป้าหมาย: กลยุทธ์ควรตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย หากกลุ่มเป้าหมายของคุณให้ความสําคัญกับความคุ้มค่า กลยุทธ์ผู้นำด้านต้นทุนจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่หากพวกเขาให้ความสําคัญกับความพิเศษหรือคุณภาพระดับพรีเมียม กลยุทธ์แบบสร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพหรือความหรูหราอาจเหมาะสมกว่า
สอดคล้องกับอัตลักษณ์แบรนด์: กลยุทธ์ในการกําหนดจุดยืนที่คุณเลือกจะต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ หากอัตลักษณ์แบรนด์ของคุณเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนควรส่งเสริมภาพลักษณ์ดังกล่าวในตลาดด้วย
ประเมินทรัพยากรและความสามารถของธุรกิจ: คำนึงถึงทรัพยากรและความสามารถที่แท้จริงของธุรกิจสตาร์ทอัพ กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนบางแบบอาจจะใช้ทรัพยากรมากกว่าปกติ หรือไม่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพ
วิเคราะห์กลยุทธ์การแข่งขัน: ตรวจสอบจุดยืนของคู่แข่ง มองหาช่องว่างในกลยุทธ์ของคู่แข่งที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณน่าจะทำได้ดี หากคู่แข่งทุกรายใช้กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนที่คล้ายกัน คุณก็อาจมีโอกาสที่จะโดดเด่นกว่าหากเลือกวิธีที่แตกต่าง
พิจารณาศักยภาพในระยะยาว: คำนึงถึงอนาคต กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนในตลาดควรมีความยั่งยืนและปรับเปลี่ยนได้เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตขึ้นและสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไป
ตัดสินใจ: การรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากทีมงาน ที่ปรึกษา หรือผู้ให้คําปรึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้ การร่วมกันระดมสมองและหารือกันอาจจะช่วยให้กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนได้รับการขัดเกลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทดสอบและตรวจสอบ: ก่อนจะดำเนินการตามกลยุทธ์อย่างเต็มตัว แนะนำให้ทดสอบการดำเนินงานในขอบเขตเล็ก ๆ จากนั้นจึงรวบรวมความคิดเห็นจากตลาดเป้าหมายเพื่อตรวจสอบว่ากลยุทธ์การกําหนดจุดยืนตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพหรือไม่
การเลือกกลยุทธ์การกําหนดจุดยืนที่เหมาะสมต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับจุดแข็ง ตลาดเป้าหมาย การแข่งขัน และความต้องการของลูกค้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ กลยุทธ์ที่คุณเลือกควรสอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมของธุรกิจและวิสัยทัศน์ของแบรนด์ และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเหตุใดธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดและแตกต่างจากคู่แข่ง
วิธีทดสอบและตรวจสอบจุดยืนในตลาด
การทดสอบและตรวจสอบจุดยืนในตลาดบอกได้ว่ากลยุทธ์ของคุณตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และสร้างความแตกต่างในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ กระบวนการนี้ต้องอาศัยวิธีการที่ซับซ้อน การวิเคราะห์ข้อมูล และการทดลองกับสถานการณ์จริง รายละเอียดมีดังนี้
วิธีขั้นสูงสําหรับการทดสอบจุดยืนในตลาด
การทดสอบการตลาดดิจิทัลด้วยเทคนิค A/B: ดําเนินการทดสอบ A/B กับการสื่อสารจุดยืนในช่องทางการตลาดดิจิทัล เช่น โฆษณาแบบชําระเงินและบนเว็บไซต์ของคุณ โดยสร้างโฆษณาหรือหน้าแลนดิ้งเพจ 2 เวอร์ชัน แต่ละเวอร์ชันจะต้องแสดงแง่มุมต่างๆ ของกลยุทธ์การกําหนดจุดยืน จากนั้นวัดการมีส่วนร่วม อัตราการคลิกผ่าน และอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินเพื่อดูว่าการสื่อสารแบบใดที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า เครื่องมืออย่าง Google Ads และ Meta Business Manager มีแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสําหรับการทดสอบดังกล่าว
การทดสอบแนวคิดผ่านกลุ่มสนทนา: ลองจัดกลุ่มสนทนาโดยใช้กระดานนำเสนอคอนเซปต์หรือสตอรีบอร์ดมาอธิบายจุดยืนของแบรนด์ จากนั้นขอความคิดเห็นเกี่ยวกับคอนเซปต์ทั้งหมด เช่น พวกเขามองแบรนด์อย่างไร เชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร ตลอดจนความน่าเชื่อถือของจุดยืน วิธีนี้ช่วยให้คุณได้รับข้อมูลเชิงลึกที่แสดงให้เห็นว่าตลาดเป้าหมายมีทัศนคติต่อแบรนด์ของคุณอย่างไรในโลกจริง
การสัมภาษณ์ลูกค้าโดยใช้คำถามหลายระดับ: สัมภาษณ์บุคคลที่มีโอกาสเป็นลูกค้าอย่างละเอียด โดยเริ่มด้วยคําถามกว้างๆ เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า จากนั้นค่อยๆ ลดขอบเขตของคำถามมาสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้แบรนด์และจุดยืนของแบรนด์ การถามคำถามแบบหลายชั้นนี้จะค่อยๆ เผยทัศนคติและความเชื่อใต้จิตสำนึกที่ลูกค้าอาจจะไม่ตอบออกมาหากใช้คำถามที่ตรงไปตรงมา
การวิเคราะห์แบบคาดการณ์: ใช้การวิเคราะห์แบบคาดการณ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงจุดยืนอาจส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดและพฤติกรรมของลูกค้าอย่างไรบ้าง เครื่องมืออย่าง SAS หรือ IBM SPSS มีฟังก์ชันการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นประโยชน์กับขั้นตอนนี้
การวิเคราะห์ความเชื่อมั่นในโซเชียลมีเดีย: ติดตามตรวจสอบแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเชื่อมั่นขั้นสูง นี่ไม่ใช่แค่การนับจำนวนการกล่าวถึงในแง่บวกและแง่ลบเท่านั้น เป็นการทําความเข้าใจว่าผู้คนรู้สึกอย่างไรกับแบรนด์ของคุณและจุดยืนของแบรนด์ในตลาด เครื่องมืออย่าง Brandwatch หรือ Pulsar มีประโยชน์กับการวิเคราะห์แบบนี้
ข้อมูลเชิงลึกทางเทคนิคเพื่อการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
การทดสอบเฉพาะกลุ่ม: ตรวจสอบจุดยืนของคุณในสายตาของลูกค้ากลุ่มต่างๆ ในตลาด จุดยืนของคุณอาจจะตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มอายุ ตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือลูกค้าที่มีลักษณะทางประชากรแบบต่างๆ ไม่เหมือนกัน การทดสอบกับลูกค้าแต่ละกลุ่มจะช่วยให้คุณปรับจุดยืนได้
แนวทางแบบแบ่งตามระยะเวลา: ทดสอบจุดยืนในตลาดด้วยช่วงเวลาที่แตกต่างกันเพื่อวัดประสิทธิภาพและความยั่งยืนของจุดยืน เพราะปฏิกิริยาระยะสั้นอาจแตกต่างจากการรับรู้ในระยะยาวอย่างมาก
การติดตามการแข่งขัน: สังเกตว่าคู่แข่งตอบสนองต่อจุดยืนของคุณอย่างไร หากคู่แข่งเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อจุดยืนของคุณ อาจเป็นสัญญาณว่าจุดยืนของคุณได้ผล
ความคิดเห็นจากช่องทางการขายและจัดจําหน่าย ขอความคิดเห็นจากฝ่ายขายและคู่ค้าผู้จัดจําหน่าย บุคคลเหล่านี้อาจจะให้ข้อมูลเชิงลึกว่าลูกค้ามองจุดยืนของแบรนด์คุณอย่างไร
ขั้นตอนการให้คําติชมแบบต่อเนื่อง: สร้างระบบสําหรับให้คําติชมอย่างต่อเนื่อง จัดทำระบบการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) เพื่อเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นของลูกค้า ข้อมูลการขาย และแนวโน้มตลาดอยู่เป็นประจํา
ข้อควรพิจารณาอื่นๆ
การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา: ลองทำการศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งนักวิจัยจะต้องไปคลุกคลีกับสังคมของลูกค้าจริงๆ วิธีนี้อาจจะให้ข้อมูลเชิงลึกว่าลูกค้าโต้ตอบกับแบรนด์ของคุณอย่างไรในชีวิตประจําวัน
การศึกษาระยะยาว: ทําการศึกษาเป็นระยะเวลานานขึ้นเพื่อทําความเข้าใจว่าการรับรู้แบรนด์ของคุณพัฒนาไปอย่างไรเมื่อใช้กลยุทธ์การกําหนดจุดยืนที่เลือก
การขอความร่วมมือจากแผนกต่างๆ: ให้หลายๆ แผนกเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบด้วย ข้อมูลเชิงลึกจากแผนกต่างๆ (เช่น ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายขาย หรือฝ่ายบริการลูกค้า) อาจให้มุมมองรอบด้านเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกลยุทธ์การกำหนดจุดยืน
การทดสอบและการตรวจสอบจุดยืนในตลาดเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติแล้วจะต้องใช้เทคนิคหลายแบบ คุณอาจเริ่มต้นด้วยการวิจัยตลาดแบบดั้งเดิมเพื่อทําความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ใช้วิธีวิเคราะห์ที่ละเอียดยิ่งขึ้น แล้วจากนั้นจึงทดสอบแนวคิดของคุณในโลกจริง ในขั้นตอนการรวบรวมความคิดเห็น คุณสามารถผสานกลยุทธ์เข้าไป โดยต้องปรับให้เหมาะกับแนวโน้มตลาดและรสนิยมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
วิธีผสานรวมจุดยืนในตลาดเข้ากับกลยุทธ์การตลาด
หลังจากกําหนดจุดยืนในตลาดเรียบร้อยแล้ว คุณจะต้องตัดสินใจว่าจะนำมาใช้อย่างไร ต่อไปนี้คือวิธีผสานรวมจุดยืนเข้ากับกลยุทธ์การตลาดของคุณ
การปรับกลยุทธ์ในทุกช่องทาง
สร้างความสอดคล้องกันในทุกจุดสัมผัส: สื่อสารจุดยืนของคุณอย่างชัดเจนบนช่องทางการตลาดทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาดิจิทัล โซเชียลมีเดีย การตลาดเนื้อหา การประชาสัมพันธ์ (PR) หรือการตลาดออฟไลน์ หากทำได้อย่างสอดคล้องกันก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการสื่อสารของแบรนด์ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เด่นชัดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ออกแบบการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มต่างๆ: ปรับแต่งการสื่อสารให้ตอบโจทน์กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ในตลาดเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น การสื่อสารคุณค่าของแบรนด์บน LinkedIn อาจแตกต่างจากวิธีที่คุณนำมาใช้บน Instagram ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มประชากรเป้าหมายและไดนามิกของแพลตฟอร์มเหล่านั้น
การสื่อสารด้านการตลาดแบบผสานรวม (IMC): ใช้แนวทาง IMC เพื่อให้การสื่อสารและข้อความทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กลยุทธ์นี้ควรประกอบไปด้วยการดำเนินงานด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องกันให้แก่ลูกค้า
เนื้อหาขั้นสูงและกลยุทธ์ดิจิทัล
การสร้างเนื้อหาโดยอาศัยข้อมูล: ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางให้กับกลยุทธ์เนื้อหา สร้างเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการ ความสนใจ และปัญหาท้าทายของกลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลที่ได้จากการวิจัยจุดยืนในตลาด
ใช้บริการเพิ่มประสิทธิภาพโปรแกรมค้นหาเว็บโดยใช้คีย์เวิร์ดเกี่ยวกับจุดยืนของแบรนด์: ปรับแต่งเนื้อหาออนไลน์โดยใส่คีย์เวิร์ดที่สื่อถึงจุดยืนในตลาดของคุณ วิธีนี้จะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง อีกทั้งยังเพิ่มระดับการมองเห็นในเครื่องมือค้นหาเมื่อมีการส่งคําขอที่เกี่ยวข้องกับ UVP ของคุณ
กําหนดเป้าหมายอย่างแม่นยําในการโฆษณาดิจิทัล: ใช้ฟังก์ชันกําหนดเป้าหมายขั้นสูงของแพลตฟอร์มโฆษณาดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ปรับแต่งโฆษณาให้สอดคล้องกับจุดยืนของคุณ โดยเน้นไปที่สิ่งที่ทำให้แบรนด์ของคุณมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคู่แข่ง
การสร้างแบรนด์ด้วยกลยุทธ์
ผู้นําทางความคิด: กำหนดให้แบรนด์ของคุณเป็นผู้นําทางความคิดในอุตสาหกรรม โดยใช้วิธีเผยแพร่เอกสารไวท์เปเปอร์ ร่วมบรรยายในงานต่างๆ และเข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อมีการพูดคุยหารือในวงการธุรกิจ เนื้อหาที่ใช้นำเสนอแบรนด์ในฐานะผู้นําความคิดควรเสริมสร้างจุดยืนในตลาดและแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของคุณ
การเป็นพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์และการทํางานร่วมกัน: จับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีจุดยืนตรงกันกับคุณ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น
การตลาดเชิงประสบการณ์: สร้างประสบการณ์ของแบรนด์ที่ช่วยให้มองเห็นและสัมผัสจุดยืนของคุณได้อย่างชัดเจน เช่น จัดงานอีเวนท์ ร้านป๊อบอัป หรือประสบการณ์ออนไลน์แบบโต้ตอบ เป้าหมายคือเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสกับแบรนด์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยให้จุดยืนของคุณมีความเป็นรูปธรรมและน่าจดจำ
การใช้คำติชมและการมีส่วนร่วมจากลูกค้า
ขอความคิดเห็นจากลูกค้า: ขอความคิดเห็นของลูกค้าทั้งบนโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ตรวจสอบ และแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างแข็งขัน จากนั้นใช้คําติชมมาปรับปรุงการสื่อสารด้านการตลาดและยืนยันว่าการสื่อสารตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
สร้างชุมชน: ส่งเสริมการสร้างชุมชนของแบรนด์ผ่านฟอรัมออนไลน์ กลุ่มโซเชียลมีเดีย หรือโปรแกรมสะสมคะแนน เพราะชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นเสมือนผู้สนับสนุนแบรนด์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างจุดยืนในตลาดของคุณผ่านการบอกปากต่อปาก
การวัดผลและการปรับเปลี่ยน
กำหนด KPI ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของจุดยืน: กำหนดตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ (KPI) หลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของจุดยืนในตลาดโดยตรง ซึ่งรวมถึงเมตริกเกี่ยวกับการรับรู้แบรนด์ อัตราการมีส่วนร่วม อัตราการเปลี่ยนเป็นลูกค้าหรือดัชนีความภักดีของลูกค้า
ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง: หมั่นตรวจสอบและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดตามข้อมูลด้านประสิทธิภาพและการตอบรับของตลาด ตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นกลยุทธ์การตลาดของคุณควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการและพลวัติการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
วิธีการทําให้จุดยืนในตลาดยังคงตอบโจทย์ของธุรกิจอยู่เสมอ
การทำให้จุดยืนในตลาดยังคงตอบโจทย์ในอนาคต โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว จำเป็นต้องอาศัยแนวทางแบบเชิงรุกที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกและปรับตัวได้ดี นั่นหมายความว่าแค่แนวทางปฏิบัติมาตรฐานและกลยุทธ์ขั้นสูงยังไม่เพียงพอ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับบางส่วนที่ช่วยให้จุดยืนในตลาดของคุณจะยังคงได้ผลดีในอนาคต
วิเคราะห์ตลาดและแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง
ลงทุนในการวิจัยตลาดอย่างต่อเนื่อง: ทำการวิจัยตลาดเป็นประจําเพื่อให้ทราบแนวโน้มใหม่ๆ ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และคู่แข่งรายใหม่ในตลาด และใช้ทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อให้ได้มุมมองที่ครอบคลุม
ใช้บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ (AI): ใช้การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและเครื่องมือ AI ในการประมวลผลข้อมูลตลาดปริมาณมหาศาล เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยระบุรูปแบบ คาดการณ์แนวโน้ม และให้ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนําไปใช้ได้จริง ซึ่งการวิเคราะห์โดยมนุษย์อาจพลาดไป
ติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี: ติดตามข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของคุณ เช่น เครื่องมือ แพลตฟอร์ม และช่องทางใหม่ๆ ที่สามารถนําเสนอวิธีล่าสุดในการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมกับแบรนด์
กลยุทธ์ที่คล่องตัว
สร้างความยืดหยุ่นให้โมเดลธุรกิจของคุณ พัฒนาโมเดลธุรกิจที่ช่วยให้คุณปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว เช่น อาจจะเพิ่มความหลากหลายให้กับไลน์ผลิต สํารวจช่องทางการจัดจําหน่ายใหม่ๆ หรือใช้กลยุทธ์การกําหนดราคาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
ส่งเสริมวัฒนธรรมการปรับปรุงพัฒนา: ส่งเสริมวัฒนธรรมของบริษัทที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุง เช่น จัดประชุมระดมสมองเป็นประจํา เวิร์กช็อปสร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของคุณก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของการพัฒนาในอุตสาหกรรม
วางแผนรับมือสถานการณ์: ร่วมวางแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ เป็นประจํา เพื่อคาดการณ์การพัฒนาในตลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและผลกระทบต่อจุดยืนของคุณ การทำแบบนี้จะช่วยคุณรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสที่อาจเกิดขึ้น
การดึงลูกค้าและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
มีส่วนร่วมกับชุมชนอยู่เสมอ: สร้างและดูแลชุมชนออนไลน์และออฟไลน์ของแบรนด์คุณ เข้าร่วมชุมชนนี้เพื่อรวบรวมคําติชม ทดสอบแนวคิดใหม่ๆ และปรับตัวให้เหมาะกับความต้องการและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ระบบ CRM: ใช้ระบบ CRM ขั้นสูงเพื่อติดตามการโต้ตอบ ความชอบ และคําติชมของลูกค้า จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลนี้เพื่อทําความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและปรับจุดยืนของคุณให้เหมาะสม
เครื่องมือรับฟังกระแสสังคม: ใช้เครื่องมือรับฟังกระแสสังคมเพื่อตรวจสอบการสนทนาเกี่ยวกับแบรนด์ คู่แข่ง และอุตสาหกรรมของคุณ ข้อมูลนี้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการรับรู้ของสาธารณะและแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์
พัฒนาแบรนด์และการสื่อสาร
พัฒนาแบรนด์ของคุณไปพร้อมกับตลาด: ยินดีที่จะพัฒนาอัตลักษณ์แบรนด์และการสื่อสารไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางตลาด โดยคุณอาจจะต้องปรับแบรนด์ใหม่หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การสื่อสารแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้จุดยืนของแบรนด์ยังคงตอบโจทย์ของตลาด
สื่อสารแบบไดนามิก แต่ก็ต้องสอดคล้องกัน: ปรับกลยุทธ์การสื่อสารของคุณ แต่ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกันของสารหลักที่จะสื่อด้วย โดยอาจทดลองใช้ช่องทางการตลาดใหม่ๆ หรือปรับการสื่อสารให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่
วัดผลและทำซ้ำ
การวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อวัดผลกระทบ: ทำการวิเคราะห์ขั้นสูงเป็นประจําเพื่อวัดประสิทธิภาพของจุดยืน ซึ่งรวมถึงการติดตามการรับรู้แบรนด์ ส่วนแบ่งตลาด ความภักดีของลูกค้า และ KPI อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง: รวบรวมคําติชม วิเคราะห์ และปรับจุดยืนของคุณอย่างต่อเนื่อง
การรักษาจุดยืนในตลาดให้ตอบโจทย์ในอนาคตต้องอาศัยการคาดการณ์อย่างมีกลยุทธ์ ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และความสามารถในการปรับตัว นี่จึงเป็นการดำเนินงานเชิงรุก ไม่ใช่เน้นการตอบสนอง กล่าวคือต้องคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนในยามจําเป็น เพื่อให้ธุรกิจยังคงแข็งแกร่งและตอบโจทย์ในตลาด
เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ