Payment Gateway ช่องทางชำระเงินที่ทุกธุรกิจควรรู้จัก

Payments
Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. Payment Gateway คืออะไร
  3. ประโยชน์ของ Payment Gateway
  4. ตัวเลือก Payment Gateway ที่ไม่ใช่ธนาคาร
  5. ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ Payment Gateway

เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากอัตราการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่สูงขึ้น รวมถึงการเติบโตของธุรกิจฟินเทค และแผน Thailand 4.0 ของภาครัฐที่มุ่งผลักดันเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี แนวคิดริเริ่มนี้ทำให้ผู้บริโภคมีการปรับตัวสู่การซื้อ - ขายออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของผ่านโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การซื้อ – ขายออนไลน์เป็นไปได้อย่างราบรื่นก็คือระบบ Payment Gateway ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อธุรกรรมการเงิน ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคารนั่นเอง โดยในบทความนี้ เราจะมาอธิบายว่า Payment Gateway หรือ เกตเวย์การชําระเงิน คืออะไร มีความสำคัญและประโยชน์ต่อระบบธุรกรรมการเงินอย่างไร รวมไปถึงตัวเลือกของ Payment Gateway ที่ไม่ใช่ธนาคารในประเทศไทย และ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ Payment Gateway

เนื้อหาหลักในบทความ

  • Payment Gateway คืออะไร
  • ประโยชน์ของระบบ Payment Gateway
  • ตัวเลือก Payment Gateway ที่ไม่ใช่ธนาคาร
  • ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ของระบบ Payment Gateway

Payment Gateway คืออะไร

Payment Gateway หรือ เกตเวย์การชําระเงิน คือระบบที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับชำระเงินออนไลน์จากลูกค้าได้อย่างปลอดภัย โดยจะเชื่อมต่อระหว่างเว็บไซต์ของผู้ขายและธนาคารของผู้ซื้อ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรวจสอบความถูกต้องของบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต และข้อมูลการชำระเงินจากผู้ซื้อ ทั้งนี้ Payment Gateway ยังสามารถใช้งานได้กับเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซ หรือแอปพลิเคชัน ผ่านระบบที่มีความเสถียร ช่วยให้ผู้ขายและลูกค้าทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

  • ส่งคำสั่งชำระเงิน – เมื่อผู้ซื้อทำการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ระบบจะทำการรวบรวมข้อมูลการชำระเงิน เช่น หมายเลขบัตรเครดิต วันหมดอายุ และคีย์ความปลอดภัย Payment Gateway จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประเมินข้อมูลในระบบที่ปลอดภัย
  • ตรวจสอบข้อมูล – มีการส่งคำขอตรวจสอบไปยังธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตของผู้ซื้อ เพื่อยืนยันว่ามีวงเงินเพียงพอ และข้อมูลการชำระเงินถูกต้องหรือไม่
  • ส่งต่อข้อมูล – ระบบจะส่งต่อข้อมูลการชำระเงินที่ผ่านการเข้ารหัส (encryption) เพื่อความปลอดภัยและเตรียมการดำเนินธุรกรรมการเงินที่คนนอกไม่สามารถดึงข้อมูลมาดูหรือแก้ไขได้
  • อนุมัติการชำระเงิน – หากข้อมูลการชำระเงินถูกต้องและมีวงเงินเพียงพอ ธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรจะอนุมัติการชำระเงิน และส่งสัญญาณการอนุมัติกลับมายัง Payment Gateway
  • ยืนยันการชำระเงิน – ผู้ให้บริการ Payment Gateway จะแจ้งผลการชำระเงินไปยังผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมจัดส่งสินค้า หรือให้บริการตามคำสั่งซื้อของลูกค้า

ประโยชน์ของ Payment Gateway

ระบบ Payment Gateway มีบทบาทหลักในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทั้งยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจออนไลน์อีกด้วย ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซสามารถรับชำระเงินได้อย่างปลอดภัย ผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งบัตรเครดิต การโอนเงิน และ กระเป๋าเงินดิจิทัล อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการได้มากขึ้น ลดผลกระทบต่อยอดขายเนื่องจากการชำระเงินที่ล่าช้า ตอบสนองต่อการทำธุรกรรมไร้เงินสด ผ่านระบบชำระเงินที่ปลอดภัยและมีความเสถียร

  • ชำระเงินอย่างปลอดภัย ช่วยป้องกันการโจรกรรมข้อมูล ผ่านการเข้ารหัสข้อมูลการชำระเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
  • เพิ่มยอดขาย เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเลือกวิธีการชำระเงินที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ e-Wallet
  • ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและประหยัดเวลา ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับชำระเงินได้แบบเรียลไทม์ ร่นระยะเวลาที่ต้องใช้ในการตรวจสอบและยืนยันการโอนเงินจากลูกค้า ทำให้กระบวนการสั่งซื้อและชำระเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันใจ
  • ขยายตลาดสู่ระดับสากล ระบบ Payment Gateway อย่าง Stripe Payments สามารถรองรับได้หลายสกุลเงิน ช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายไปได้ทั่วโลกและรับชำระเงินจากลูกค้าต่างประเทศได้อย่างง่ายดาย ผู้ประกอบการสามารถรับชำระในสกุลเงินท้องถิ่นหรือเลือกแปลงสกุลเงินได้โดยอัตโนมัติ ส่งเสริมการซื้อ - ขายได้อย่างครอบคลุม
  • เพิ่มความสามารถในการจัดการ เครื่องมือธุรกรรมการเงินที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการจัดการ เช่น การติดตามยอดขาย ประวัติการชำระเงิน และการจัดการคำสั่งซื้อที่ยังไม่มีการชำระเงิน ทำให้ควบคุมและวิเคราะห์การขายได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • สร้างความน่าเชื่อถือ ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการเงิน เนื่องจากระบบ Payment Gateway ได้รับการยอมรับด้านความปลอดภัยในระดับสากล

ตัวเลือก Payment Gateway ที่ไม่ใช่ธนาคาร

ในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่ไม่ใช่ธนาคารหลากหลายระบบในประเทศไทย เช่น Stripe, Omise, PayPal, และ 2C2P ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีจุดเด่นและองค์ประกอบที่ตอบโจทย์ธุรกิจแต่ละขนาด หรือแต่ละประเภทแตกต่างกันไป

  • Stripe: ระบบรับชำระเงินออนไลน์ระดับโลกที่ได้รับความนิยม ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดและโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับโลก สามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เดบิต กระเป๋าเงินดิจิทัล, Apple Pay, Google Pay, Alipay และรองรับมากกว่า 135 สกุลเงิน นอกจากนี้ Stripe ยังมีระบบ API ที่มีความยืดหยุ่นสูงสามารถนำไปปรับใช้และเชื่อมต่อกับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดาย
  • Omise: บริษัทสัญชาติไทยที่มีบริการ Payment Gateway ครอบคลุมทุกธนาคาร รองรับการชำระเงินหลากหลายช่องทาง ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต และ QR Code โดดเด่นในเรื่องของความปลอดภัยและการใช้งานที่ง่าย เหมาะกับธุรกิจออนไลน์ทุกรูปแบบ
  • 2C2P: ระบบที่รับชำระเงินทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต QR Code จุดเด่นคือการรองรับการชำระเงินแบบผ่อนชำระ ตอบโจทย์ธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีราคาสูง เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม
  • GB Prime Pay: ผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่เน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีอัตราค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระบบบัญชีได้ง่าย ทำให้ธุรกิจสามารถติดตามและจัดการยอดขายได้สะดวกในที่เดียว
  • PayPal: ผู้ให้บริการชำระเงินที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและมีระบบความปลอดภัยสูง ใช้งานง่ายและได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก รองรับสกุลเงินหลากหลายและเหมาะกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจที่มีลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก
  • TrueMoney: มีจุดเด่นในการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เน้นการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้งานง่ายและได้รับการยอมรับโดยร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ทั่วประเทศ TrueMoney เหมาะสำหรับธุรกิจทุกขนาดที่ต้องการเพิ่มช่องทางชำระเงินด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล

ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ Payment Gateway

การใช้บริการ Payment Gatewayในประเทศไทยนั้นมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ธุรกิจต้องพิจารณา เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎหมายไทย เช่น

  • การจดทะเบียนธุรกิจและเอกสารทางกฎหมาย: ธุรกิจที่กำลังมองหาบริการ Payment Gatewayในประเทศไทยจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างถูกต้อง เช่น บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด และควรต้องมีเอกสารสำคัญ เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หรือทะเบียนพาณิชย์ เพื่อแสดงสถานะธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย

  • มาตรฐานความปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูล: ธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน PCI-DSS (Payment Card Industry Data Security Standard) เพื่อความปลอดภัยสำหรับการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลบัตรเครดิต รวมถึงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

  • เอกสารยืนยันตัวตน: เอกสารต่างๆ ที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของผู้ให้บริการ Payment Gateway แต่ละราย เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทางของกรรมการและผู้มีอำนาจลงนามในธุรกิจ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน หรือตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจ

  • บัญชีธนาคาร: จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ที่เป็นในนามธุรกิจหรือในนาม กรรมการตัวแทนธุรกิจ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบ Payment Gateway

  • ค่าธรรมเนียมการใช้งาน: การใช้บริการ Payment Gateway มีค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ควรคำนึงถึงในการเลือกใช้ เช่น ค่าธรรมเนียมรายเดือน ค่าติดตั้งระบบ ค่าธรรมเนียมต่อการถอนเงิน หรือ ค่าโอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

Payment Gateway ในประเทศไทยเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่เพียงแค่ช่วยให้การทำธุรกรรมออนไลน์สะดวกขึ้นด้วยการลดขั้นตอนและประหยัดเวลา แต่ยังเพิ่มความปลอดภัยและเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจขยายการขายสินค้าและบริการสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย

ธุรกิจที่ต้องการเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินออนไลน์ ควรเลือกใช้บริการ Payment Gateway ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านความปลอดภัยและการรองรับหลายสกุลเงิน พร้อมทั้งมองหาผู้ให้บริการที่มีค่าธรรมเนียมเหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณการใช้งานโดยรวม

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Payments

Payments

รับชำระเงินออนไลน์ ที่จุดขาย และทั่วโลกด้วยโซลูชันการชำระเงินที่สร้างมาสำหรับธุรกิจทุกขนาด

Stripe Docs เกี่ยวกับ Payments

ค้นหาคู่มือเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Payments API ของ Stripe