แพลตฟอร์มการสร้างรายได้จากเนื้อหาคืออะไร สิ่งที่ครีเอเตอร์ควรรู้

Connect
Connect

แพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก รวมทั้ง Shopify และ DoorDash ต่างก็ใช้ Stripe Connect ในการผสานรวมการชำระเงินเข้ากับผลิตภัณฑ์

ดูข้อมูลเพิ่มเติม 
  1. บทแนะนำ
  2. ใครบ้างที่ควรสร้างรายได้จากเนื้อหาของตน
  3. การสร้างรายได้จากเนื้อหามีหลักการทํางานอย่างไร
  4. ประเภทของการสร้างรายได้จากเนื้อหา
    1. การสร้างรายได้โดยตรง
    2. การสร้างรายได้ทางอ้อม
    3. การสร้างรายได้แบบเฉพาะแพลตฟอร์ม
  5. ตัวอย่างการสร้างรายได้จากเนื้อหา
  6. วิธีสร้างรายได้จากผู้ติดตาม
    1. หากลุ่มเป้าหมายเฉพาะของคุณและนำเสนอคุณค่า
    2. ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของคุณ
    3. เลือกวิธีการสร้างรายได้ที่เหมาะสม
    4. พิจารณาหลายๆ แพลตฟอร์ม
    5. สร้างและขายเนื้อหาสุดพิเศษหรือเนื้อหาที่ปรับเฉพาะบุคคล
    6. ใช้การตลาดทางอีเมล
  7. แพลตฟอร์มการสร้างรายได้จากเนื้อหา
    1. เนื้อหาวิดีโอ
    2. เนื้อหาแบบงานเขียน
    3. เนื้อหาแบบเสียง
    4. ทัศนศิลป์และงานฝีมือ
    5. เนื้อหาด้านการศึกษา
    6. เนื้อหาโซเชียลมีเดีย
    7. เนื้อหาอื่นๆ
  8. ข้อดีและข้อเสียของการสร้างรายได้จากเนื้อหาของคุณ
    1. ข้อดี
    2. ข้อเสีย

การสร้างรายได้จากเนื้อหาคือกระบวนการที่ครีเอเตอร์สร้างรายได้จากเนื้อหาของตน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวิดีโอ การเขียนบทความ การบันทึกพอดแคสต์ หรือการสร้างผลงานศิลปะและซอฟต์แวร์ดิจิทัล มีการคาดการณ์ว่าความต้องการเศรษฐกิจครีเอเตอร์ในตลาดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 480 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027

ด้านล่างนี้เป็นคู่มือสั้นๆ เกี่ยวกับการสร้างรายได้จากเนื้อหาสําหรับครีเอเตอร์ ได้แก่ วิธีการทำงาน ประเภทของเนื้อหาที่คุณสามารถสร้างรายได้ ที่ที่คุณสามารถเผยแพร่เนื้อหาหากต้องการสร้างรายได้ ตลอดจนข้อเสียของการสร้างรายได้

บทความนี้ให้ข้อมูลอะไรบ้าง

  • ใครบ้างที่ควรสร้างรายได้จากเนื้อหาของตน
  • การสร้างรายได้จากเนื้อหามีหลักการทํางานอย่างไร
  • ประเภทของการสร้างรายได้จากเนื้อหา
  • ตัวอย่างการสร้างรายได้จากเนื้อหา
  • วิธีสร้างรายได้จากผู้ติดตาม
  • แพลตฟอร์มการสร้างรายได้จากเนื้อหา
  • ข้อดีและข้อเสียของการสร้างรายได้จากเนื้อหาของคุณ

ใครบ้างที่ควรสร้างรายได้จากเนื้อหาของตน

ทุกคนที่สร้างเนื้อหาที่มอบคุณค่าให้กับผู้อื่นสามารถพิจารณาสร้างรายรับจากเนื้อหานั้นได้ ซึ่งประกอบด้วยครีเอเตอร์ต่อไปนี้

  • ผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษา: หากคุณมีความรู้หรือทักษะเฉพาะทาง คุณอาจสร้างหลักสูตร บทช่วยสอน หรือการสัมมนาผ่านเว็บ แล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ต้องการเข้าถึงเนื้อหานี้ได้

  • ผู้ให้ความบันเทิง: หากคุณสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ สร้างความบันเทิง เช่น วิดีโอ พอดแคสต์ และเพลง คุณสามารถสร้างรายได้ผ่านโฆษณา การสมัครรับข้อมูล หรือการบริจาคจากแฟนๆ ได้

  • นักเขียนและบล็อกเกอร์: หากคุณสร้างเนื้อหางานเขียนที่มีคุณภาพสูง คุณสามารถสร้างรายได้ผ่านโฆษณา การตลาดพันธมิตร โพสต์ที่มีสปอนเซอร์ หรือเสนอเนื้อหาพรีเมียมให้กับผู้สมัครรับข้อมูลได้

  • ศิลปินและนักออกแบบ: ถ้าคุณสร้างเนื้อหาแบบภาพ เช่น ภาพประกอบ รูปถ่าย และกราฟิก คุณสามารถขายผลงานทางออนไลน์หรือออกใบอนุญาตสำหรับการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้

  • ผู้ที่มีความสนใจอย่างจริงจัง: หากคุณสร้างเนื้อหาที่ถูกใจกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง แม้ว่าคุณจะไม่ถือว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณก็สามารถสร้างรายได้จากเนื้อหานี้ผ่านโฆษณา การเป็นสปอนเซอร์ หรือการขายสินค้าได้

สิ่งสําคัญคือ คุณต้องหากลุ่มเฉพาะของคุณให้ได้แล้วสร้างเนื้อหาที่ตอบสนองความสนใจและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของคุณ การสร้างผู้ติดตามที่ภักดีและส่งมอบเนื้อหาที่มีคุณค่าอยู่เสมอจะช่วยให้คุณมีบทบาทในวงการและเปิดโอกาสในการสร้างรายรับจํานวนมากได้

ต่อไปนี้เป็นสัญญาณที่คุณควรพิจารณาสร้างรายได้จากเนื้อหาของคุณ

  • คุณมีกลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ: หากคุณมีกลุ่มคนที่บริโภคเนื้อหาของคุณเป็นประจําและพบว่าเนื้อหานั้นมีคุณค่า พวกเขาอาจยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาของคุณ

  • คุณได้รับการตอบรับในเชิงบวก: หากผู้คนมักแสดงความคิดเห็น แชร์ หรือมีส่วนร่วมกับเนื้อหาของคุณอยู่เป็นประจํา นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าผลงานของคุณถูกใจพวกเขา

  • คุณมีมุมมองหรือทักษะที่ไม่เหมือนใคร: หากคุณสร้างสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ นั่นจะทําให้เนื้อหาของคุณมีคุณค่าและสร้างรายได้ได้มากขึ้น

  • คุณทุ่มเทกับการสร้างเนื้อหา: การสร้างรายได้จากเนื้อหาของคุณต้องใช้เวลาและความพยายาม ดังนั้นการมีแรงบันดาลใจที่แท้จริงในสิ่งที่คุณทําจะช่วยคุณมีแรงผลักดันต่อไป

การสร้างรายได้จากเนื้อหามีหลักการทํางานอย่างไร

การสร้างรายได้จากเนื้อหานั้นเป็นการหาวิธีที่ถูกต้องในการสร้างรายรับจากกลุ่มเป้าหมายหรือคุณค่าจากสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมา วิธีการทํางานโดยทั่วไปมีดังนี้

  • สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า: ก่อนอื่นคุณต้องมีเนื้อหาที่น่าสนใจและดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นวิดีโอ บทความ เพลง พอดแคสต์ หรือเนื้อหารูปแบบใดก็ตามที่ผู้คนเห็นว่าเป็นประโยชน์ สร้างความบันเทิง หรือให้ข้อมูล

  • สร้างกลุ่มเป้าหมาย: การสร้างกลุ่มเป้าหมายอาจต้องมีการโปรโมตเนื้อหาผ่านโซเชียลมีเดีย การเพิ่มประสิทธิภาพสําหรับเครื่องมือค้นหา (SEO) การทํางานร่วมกัน และกลยุทธ์การตลาดอื่นๆ เพื่อขยายฐานผู้ชมหรือผู้อ่าน

  • เลือกกลยุทธ์การสร้างรายได้: การสร้างรายได้จากเนื้อหามีหลายวิธี และตัวเลือกที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับประเภทเนื้อหา กลุ่มเป้าหมาย และเป้าหมายส่วนบุคคลของคุณ

  • นํากลยุทธ์ไปใช้งาน: เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะสร้างรายได้จากเนื้อหาของคุณอย่างไร ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการนำไปใช้งาน ซึ่งอาจต้องมีการสร้างบัญชีกับเครือข่ายโฆษณา, การสร้างโปรไฟล์ Patreon, การเปิดตัวร้านขายสินค้า หรือการเริ่มเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้สนับสนุน

  • ปรับปรุงและเติบโต: การสร้างรายได้เป็นกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด คุณน่าจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางอยู่ตลอดเวลาตามเสียงตอบรับและข้อมูลด้านประสิทธิภาพ นี่อาจหมายถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์การโฆษณา การสร้างเนื้อหาระดับพรีเมียมประเภทใหม่ๆ หรือปรับราคาของคุณ

  • รักษาการมีส่วนร่วม: มีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อัปเดตเนื้อหาของคุณเป็นประจํา โต้ตอบกับกลุ่มเป้าหมายผ่านความคิดเห็นหรือโซเชียลมีเดีย และคอยฟังเสียงตอบรับจากผู้ชม กลุ่มเป้าหมายที่มีการมีส่วนร่วมมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความพยายามในการสร้างรายรับของคุณมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการดูโฆษณา การลงทะเบียนเพื่อสมัครรับข้อมูล หรือการซื้อสินค้า

ประเภทของการสร้างรายได้จากเนื้อหา

การสร้างรายได้จากเนื้อหามีหลายวิธีทั้งแบบโดยตรงหรือโดยอ้อม

การสร้างรายได้โดยตรง

โมเดลใดๆ ที่กลุ่มเป้าหมายของคุณจ่ายเงินให้คุณโดยตรงจะถือว่าเป็นการสร้างรายได้โดยตรง ต่อไปนี้เป็นบางส่วนของตัวเลือกยอดนิยม

การสมัครรับข้อมูล

เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามรอบจากผู้ใช้สําหรับเนื้อหาสุดพิเศษ สิทธิ์เข้าถึงก่อนใคร หรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คุณสามารถใช้แพลตฟอร์มอย่าง Patreon, Substack และ Memberful ได้ การสมัครรับข้อมูลจะสร้างรายรับที่คาดการณ์ได้ ความสัมพันธ์โดยตรงกับแฟนๆ และโอกาสในการสร้างรายรับต่อผู้ใช้ที่สูงขึ้น แต่ต้องใช้เนื้อหาที่มีคุณภาพสูงและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผู้สมัครรับข้อมูลไว้

Paywall และเนื้อหาพรีเมียม

จํากัดการเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างที่อยู่หลัง Paywall โดยอาจเป็นแบบครั้งเดียวหรือแบบตามรอบ คุณสามารถทําเช่นนี้ได้ผ่านเว็บไซต์ของคุณเองหรือผ่านแพลตฟอร์ม เช่น MemberPress และ WooCommerce Memberships ตัวเลือกนี้ช่วยให้คุณสร้างรายได้จากเนื้อหาแต่ละชิ้นและเหมาะกับเนื้อหาที่มีคุณค่าสูง แต่อาจทำให้ไม่มีผู้เข้าชมแบบไม่จริงจัง และจะต้องทำการตลาดและโปรโมทเนื้อหาพรีเมียม

ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล

จําหน่ายอีบุ๊ก หลักสูตร เทมเพลต ซอฟต์แวร์ หรือสินค้าดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งคุณสามารถทําได้ผ่านเว็บไซต์ของคุณเองหรือผ่านแพลตฟอร์ม เช่น Gumroad, Podia และ Teachable ตัวเลือกนี้ช่วยสร้างรายได้แบบพาสซีฟที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้คุณนําความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาใช้ได้ แต่ต้องมีการลงทุนล่วงหน้าในการสร้างผลิตภัณฑ์ การตลาด และการสนับสนุนลูกค้า

ขายสินค้า

จําหน่ายผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ เช่น เสื้อยืด แก้ว สติ๊กเกอร์ และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือเนื้อหาของคุณ คุณสามารถทําเช่นนี้ผ่านแพลตฟอร์ม เช่น Printful, Shopify และ Teespring การขายสินค้าสามารถสร้างกระแสรายรับอีกทางหนึ่งและช่วยในการสร้างแบรนด์ แต่ก็ต้องมีการจัดการคลังสินค้าและจัดการโลจิสติกส์ในด้านการขนส่งและการบริการลูกค้าด้วย

การบริจาคและการระดมทุน

ขอให้กลุ่มเป้าหมายของคุณสนับสนุนงานของคุณผ่านการบริจาคด้วยความสมัครใจหรือผ่านแคมเปญที่มีการให้คำมั่นสัญญา แพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่น Patreon, Ko-fi และ GoFundMe สามารถช่วยอํานวยความสะดวกให้กับคุณได้ ตัวเลือกนี้ช่วยแฟนๆ สามารถสนับสนุนคุณโดยตรงและอาจสร้างการหาเงินทุนให้กับโครงการต่างๆ ได้ แต่ต้องอาศัยน้ําใจและรายได้ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งอาจคาดการณ์ได้ยาก

การสร้างรายได้ทางอ้อม

โมเดลใดๆ ที่คุณสร้างรายได้โดยที่กลุ่มเป้าหมายไม่ต้องจ่ายเงินให้คุณโดยตรงจะถือว่าเป็นการสร้างรายได้ทางอ้อม ต่อไปนี้เป็นบางส่วนของตัวเลือกยอดนิยม

การโฆษณา

แสดงโฆษณาบนเว็บไซต์ บล็อก หรือเนื้อหาวิดีโอของคุณ และรับรายได้ตามการแสดงผลหรือการคลิก คุณสามารถทําเช่นนี้ได้ด้วยแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Google AdSense, Mediavine และ AdThrive ตัวเลือกนี้จะสร้างรายได้แบบพาสซีฟและใช้งานได้ง่าย แต่ต้องมีปริมาณการเข้าชมสูงจึงจะสร้างกําไรได้ และประสบการณ์โฆษณาอาจสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้

การตลาดแบบพันธมิตร

โปรโมตผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทอื่นๆ และรับค่าคอมมิชชั่นสําหรับการขายแต่ละรายการผ่านลิงก์แนะนําของคุณ แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งรวมถึง Amazon Associates, ShareASale และ CJ Affiliate จะช่วยอํานวยความสะดวกในด้านนี้ได้ การตลาดแบบพันธมิตรสร้างรายได้แบบพาสซีฟและสามารถผสานเข้ากับเนื้อหาที่มีอยู่ได้ แต่คุณต้องได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มเป้าหมาย และค่าคอมมิชชั่นอาจไม่มากนัก

การรับสปอนเซอร์

เป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างเนื้อหาแบบมีสปอนเซอร์หรือผสานผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เข้ากับเนื้อหาที่คุณมีอยู่แล้ว ตัวเลือกนี้มีโอกาสที่จะสร้างรายได้สูงกว่าโฆษณาและสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์กับแบรนด์ได้ แต่คุณต้องเจรจาทำสัญญาและรักษาความสอดคล้องกับแบรนด์

การสร้างรายได้แบบเฉพาะแพลตฟอร์ม

โปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube ช่วยให้คุณรับเงินผ่านโฆษณา การเป็นสมาชิกของช่อง, Super Chat, Super Stickers และชั้นวางสินค้า โปรแกรมพาร์ทเนอร์และผู้สนับสนุน Twitch ช่วยให้คุณได้รับเงินผ่านการสมัครสมาชิก การบริจาค โฆษณา และ "Bits" โปรแกรมพาร์ทเนอร์ Medium ช่วยให้คุณได้รับเงินตามเวลาในการอ่านของสมาชิก

คุณสามารถใช้วิธีการเหล่านี้ผสมโดยขึ้นอยู่กับประเภทเนื้อหา ขนาดกลุ่มเป้าหมาย ระดับการมีส่วนร่วม และเป้าหมายโดยรวมของคุณ การสร้างรายได้ที่ประสบความสําเร็จมักจะต้องมีการปรับสมดุลของกระแสรายรับหลายๆ กระแสเพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้หลากหลาย

ตัวอย่างการสร้างรายได้จากเนื้อหา

ต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนของวิธีที่ครีเอเตอร์เนื้อหาในแพลตฟอร์มและอุตสาหกรรมต่างๆ อาจสร้างรายได้จากผลงานของตน

  • ครีเอเตอร์ YouTube: ยูทูบเบอร์จำนวนมากใช้โปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube ซึ่งให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาที่แสดงก่อนวิดีโอหรือคั่นวิดีโอ นอกจากนี้ยูทูบเบอร์ที่ได้รับความนิยมยังมีส่วนร่วมกับสปอนเซอร์แบรนด์ รวมถึงผสานผลิตภัณฑ์ไว้ในวิดีโอของตัวเอง และอาจขายสินค้า เช่น เสื้อยืดและหมวกที่ออกแบบมาสําหรับแบรนด์ของตนโดยเฉพาะ

  • บล็อกเกอร์: บล็อกเกอร์มักจะใช้ Google AdSense เพื่อสร้างรายได้จากโฆษณาและทำการตลาดพันธมิตรซึ่งจะมีลิงก์ไปยังผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของตน นอกจากนี้ยังอาจนําเสนอเนื้อหาพรีเมียมผ่านการสมัครรับข้อมูลหรือเขียนโพสต์แบบละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อแลกกับการชําระเงินอีกด้วย

  • ผู้จัดพอดแคสต์: โดยปกติพอดแคสต์จะสร้างรายได้จากเนื้อหาผ่านการเป็นสปอนเซอร์ โดยผู้จัดจะใส่สปอตโฆษณาไว้ในตอนของตนเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์หรือบริการของสปอนเซอร์ พวกเขาอาจจะใช้ Patreon เพื่อมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ฟัง เช่น ตอนแบบไม่มีโฆษณา เนื้อหาโบนัส และสินค้าตามโมเดลการสมัครสมาชิกด้วย

  • สตรีมเมอร์: สตรีมเมอร์ (เช่น Twitch, YouTube Live) มักจะใช้การโฆษณา การสมัครสมาชิก การบริจาค และทิปผสมผสานกัน หลายๆ คนใช้ฟีเจอร์อย่าง Twitch Bits ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ผู้ชมสามารถใช้เชียร์สตรีมเมอร์ที่ัตัวเองชื่นชอบได้ การสมัครสมาชิกในแพลตฟอร์มเหล่านี้มาพร้อมสิทธิพิเศษ เช่น ห้องแชทสุดพิเศษ และอีโมจิที่ออกแบบเอง

  • นักดนตรี: นักดนตรีอาจใช้แพลตฟอร์มอย่าง Bandcamp และ SoundCloud เพื่อขายเพลงของตนให้กับแฟนๆ โดยตรง นอกจากนี้ยังสามารถออกใบอนุญาตให้ใช้เพลงของตนในเชิงพาณิชย์ ภาพยนตร์ หรือสื่ออื่นๆ ด้วย พวกเขามักจะใช้แพลตฟอร์มการระดมทุนเพื่อหาเงินทุนสนับสนุนการผลิตอัลบั้มใหม่หรือการออกทัวร์คอนเสิร์ต

  • นักพัฒนาแอป: นักพัฒนาสร้างรายได้จากแอปหรือซอฟต์แวร์ของตนผ่านการขายโดยตรง การสมัครใช้บริการ หรือการซื้อในแอป พวกเขาอาจจะใช้การโฆษณาภายในแอปหรือนําเสนอโมเดลฟรีเมียมที่ให้บริการแอปฟรี แต่มีฟีเจอร์พรีเมียมที่คิดราคาเพิ่มเติม

  • ศิลปินภาพและช่างภาพ: ศิลปินและช่างภาพสามารถจําหน่ายผลงานพิมพ์หรือสําเนาดิจิทัลของผลงานตัวเอง ออกใบอนุญาตให้ธุรกิจหรือตัวแทนถ่ายภาพสต็อกใช้รูปภาพ หรือสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเมื่อมีคนจ้างได้ พวกเขาอาจใช้แพลตฟอร์มเช่น Patreon เพื่อนําเสนอเนื้อหาเบื้องหลังหรือบทช่วยสอนสำหรับผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก

  • นักเขียนและนักประพันธ์: นอกเหนือจากการขายหนังสือแบบดั้งเดิมแล้ว นักเขียนสามารถสร้างรายได้จากทักษะของตัวเองด้วยการจัดกิจกรรมการบรรยาย เวิร์กช้อป และหลักสูตรต่างๆ พวกเขาอาจผลิตงานเขียนเป็นซีรีส์บนแพลตฟอร์มอย่างเช่น Wattpad หรือ Substack โดยนําเสนอเนื้อหาบางอย่างฟรีและนำเสนอบางส่วนในรูปแบบการสมัครสมาชิก

  • ครีเอเตอร์เนื้อหาด้านการศึกษา: ครีเอเตอร์เหล่านี้อาจสร้างรายได้จากทักษะของตัวเองผ่านหลักสูตรออนไลน์และการสัมมนาผ่านเว็บ แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งรวมถึง Udemy และ Teachable ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถขายเนื้อหาด้านการศึกษาได้ ตั้งแต่ชั้นเรียนเขียนโค้ดไปจนถึงบทช่วยสอนการถ่ายภาพ

  • อินฟลูเอนเซอร์: อินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดียสามารถใช้การเป็นพาร์ทเนอร์โดยตรงกับแบรนด์สําหรับเนื้อหาแบบมีสปอนเซอร์ การตลาดแบบพันธมิตร กลุ่มสินค้า และการโชว์ตัว นอกจากนี้ยังอาจใช้แพลตฟอร์มของตนในการโปรโมทผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองหรือของผู้อื่นเพื่อแลกกับค่าคอมมิชชัน

วิธีสร้างรายได้จากผู้ติดตาม

ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับและกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้จากผู้ติดตามในฐานะครีเอเตอร์เนื้อหา

หากลุ่มเป้าหมายเฉพาะของคุณและนำเสนอคุณค่า

เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคุณและทําความเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย พวกเขากําลังมองหาความเชี่ยวชาญ แรงบันดาลใจ ความบันเทิง หรือชุมชนหรือไม่ การตอบคำถามนี้จะช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของคุณ ว่าจะเป็นในเรื่องของไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี การศึกษา หรืออย่างอื่น การปรับแต่งเนื้อหาให้สอดคล้องกับจุดขายที่ไม่เหมือนใครนี้จะช่วยให้คุณตอบสนองความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายและโดดเด่นในวงการครีเอเตอร์ที่เนืองแน่นได้

ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของคุณ

การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันไม่ใช่แค่การตอบกลับความคิดเห็น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมการสนทนาและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนของคุณ นําเนื้อหาแบบอินเทอร์แอกทีฟมาใช้ เช่น เซสชันการถามตอบ, โพลล์บน Instagram Stories, หรือเธรด Twitter ที่ผู้ติดตามสามารถมีส่วนร่วมนำเสนอไอเดียได้ สิ่งนี้จะช่วยสร้างชุมชนและทําให้ผู้ติดตามรู้สึกมีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของคุณ การติดตามอัตราการมีส่วนร่วมและผลตอบรับยังช่วยเป็นแนวทางสำหรับกลยุทธ์ด้านเนื้อหา และเน้นให้เห็นว่าสิ่งใดโดนใจกลุ่มเป้าหมายของคุณมากที่สุด

เลือกวิธีการสร้างรายได้ที่เหมาะสม

กลยุทธ์การสร้างรายได้ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับประเภทเนื้อหาและข้อมูลประชากรของกลุ่มเป้าหมาย ต่อไปนี้คือตัวอย่างการสร้างรายรับด้วยวิธีต่างๆ

  • การขายตรง: หากคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกําลังกาย คุณอาจลองขายแพ็กเกจออกกําลังกายหรือคู่มือโภชนาการ

  • การสมัครสมาชิก: แพลตฟอร์มอย่าง Patreon ช่วยให้ศิลปินและนักเขียนสร้างการสมัครสมาชิกสําหรับเนื้อหาสุดพิเศษ การเข้าถึงเบื้องหลัง หรือค่าคอมมิชชั่นรายเดือน

  • การตลาดแบบพันธมิตร: นักรีวิวด้านเทคโนโลยีอาจได้ประโยชน์วิธีต่างๆ ตั้งแต่การใช้ลิงก์พันธมิตรไปจนถึงการรีวิวแกดเจ็ต

  • โฆษณา: หากคุณสร้างเนื้อหาวิดีโอ แพลตฟอร์มอย่าง YouTube สามารถสร้างรายได้จากโฆษณาตามยอดดู

ทดลองกับวิธีต่างๆ เพื่อดูว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณชอบอะไรและแบบไหนเหมาะกับเนื้อหาของคุณที่สุด

พิจารณาหลายๆ แพลตฟอร์ม

การใช้หลายแพลตฟอร์มจะช่วยปกป้องรายรับของคุณจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายแพลตฟอร์มและช่วยให้คุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ แม้ว่า YouTube อาจยอดเยี่ยมสําหรับเนื้อหาวิดีโอเชิงลึก แต่ Instagram หรือ TikTok อาจดีกว่าสําหรับคลิปสั้นๆ ที่ดึงดูดความสนใจ แพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มมีคุณสมบัติและกลุ่มเป้าหมายเป็นของตนเอง ซึ่งสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ที่หลากหลาย

สร้างและขายเนื้อหาสุดพิเศษหรือเนื้อหาที่ปรับเฉพาะบุคคล

การสร้างเนื้อหาสุดพิเศษอาจหมายถึงการสร้างเว็บไซต์สมาชิกที่สมาชิกสามารถเข้าถึงเนื้อหาพรีเมียมที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น ตัวอย่างเช่น ช่างภาพอาจจะนําเสนอการดาวน์โหลดภาพแบบความละเอียดสูง ความพิเศษนี้ช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายของคุณยอมจ่ายเงินสําหรับเนื้อหาที่พวกเขาไม่สามารถรับได้ฟรี เนื้อหาที่ปรับเฉพาะบุคคลอาจมีตั้งแต่การกล่าวถึงตัวบุคคลโดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงบริการเฉพาะเจาะจงซึ่งปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น โค้ชด้านการทำงานอาจช่วยตรวจสอบเรซูเม่ ในขณะที่นักดนตรีอาจเล่นเพลงที่แต่งมาสำหรับสมาชิกโดยเฉพาะ ความรู้สึกเฉพาะบุคคลเหล่านี้ทําให้ผู้ใช้รู้สึกพิเศษและมีแนวโน้มที่จะลงทุนในเนื้อหาหรือบริการของคุณ

ใช้การตลาดทางอีเมล

การสร้างรายชื่ออีเมลช่วยให้คุณสามารถสื่อสารกับผู้ติดตามได้โดยตรง นี่เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการโปรโมทเนื้อหา ผลิตภัณฑ์ ข้อเสนอพิเศษ หรือการอัปเดตใหม่ รางวัลจูงใจในการลงทะเบียน เช่น อีบุ๊กฟรีและรหัสส่วนลด อาจเพิ่มอัตราการลงทะเบียนของคุณได้ ใช้รายการที่แบ่งกลุ่มเพื่อปรับแต่งอีเมลตามความสนใจหรือพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ใช้แบบชําระเงินได้

แพลตฟอร์มการสร้างรายได้จากเนื้อหา

ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาประเภทต่างๆ และแพลตฟอร์มยอดนิยมที่สร้างรายได้จากเนื้อหาเหล่านี้

เนื้อหาวิดีโอ

  • YouTube: YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดสําหรับสร้างรายได้จากโฆษณา การเป็นสมาชิกของช่อง และ Super Chat

  • Twitch: Twitch เป็นแพลตฟอร์มสตรีมสดที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะสําหรับการเล่นเกม สามารถสร้างรายได้ผ่านการสมัครสมาชิก โฆษณา และการบริจาค

  • Vimeo: Vimeo เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ดูเป็นการพาณิชย์มากกว่า YouTube โดยมีตัวเลือกสําหรับการขายหรือเช่าวิดีโอผ่าน Vimeo On Demand

เนื้อหาแบบงานเขียน

  • Medium: Medium เป็นแพลตฟอร์มสำนักพิมพ์ออนไลน์ นักเขียนสามารถสร้างรายได้ตามระยะเวลาที่สมาชิกอ่านผลงานของตัวเองผ่านโปรแกรม Medium Partner

  • Substack: Substack เป็นแพลตฟอร์มจดหมายข่าว นักเขียนสามารถให้บริการการสมัครรับจดหมายข่าวของตน โดยจะควบคุมการกําหนดราคาและความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้

เนื้อหาแบบเสียง

  • Anchor: แพลตฟอร์มพอดแคสต์ Anchor ช่วยสร้างรายรับผ่านการเป็นผู้สนับสนุนที่ผสานกับพอดแคสต์โดยตรง

  • SoundCloud: SoundCloud เป็นแพลตฟอร์มสตรีมเสียง โดยจะสร้างรายได้จากเพลงและเสียงซึ่งจ่ายเงินให้กับศิลปินตามจํานวนครั้งที่สตรีม

ทัศนศิลป์และงานฝีมือ

  • Etsy: Etsy เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ช่วยให้ศิลปินและช่างฝีมือสามารถขายสินค้าที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฮนด์เมดไปจนถึงศิลปะดิจิทัล

  • Redbubble: Redbubble เป็นมาร์เก็ตเพลสออนไลน์สําหรับผลิตภัณฑ์พิมพ์ตามสั่ง ซึ่ง Redbubble ช่วยให้ศิลปินขายผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้

เนื้อหาด้านการศึกษา

  • Teachable: Teachable เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สําหรับเนื้อหาด้านการศึกษา ครีเอเตอร์สามารถสร้างและขายหลักสูตรต่างๆ และจัดหาเครื่องมือสําหรับการสร้างหลักสูตร การตลาด และการขาย

  • Udemy: Udemy เป็นมาร์เก็ตเพลสการเรียนรู้ออนไลน์ ครูผู้สอนสามารถขายหลักสูตรของตนต่อฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ของ Udemy แต่มีอํานาจควบคุมการกําหนดราคาและความสัมพันธ์กับลูกค้าน้อยกว่า

  • Skillshare: ชุมชนการเรียนรู้ออนไลน์ที่เน้นชั้นเรียนด้านการสร้างสรรค์ ธุรกิจ และเทคโนโลยี Skillshare จะจ่ายเงินให้แก่ผู้สอนโดยอิงตามจํานวนนาทีที่ผู้สมัครใช้บริการรับชม

เนื้อหาโซเชียลมีเดีย

  • Instagram: แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำหรับการแชร์ภาพถ่าย Instagram ช่วยให้สร้างรายได้ผ่านโพสต์ที่มีสปอนเซอร์ การตลาดแบบพันธมิตร และฟีเจอร์ต่างๆ เช่น โฆษณา Instagram TV (IGTV)

  • TikTok: TikTok เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำหรับวิดีโอ สามารถสร้างรายได้ผ่าน TikTok Creator Fund ซึ่งจะจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ตามจำนวนการดูวิดีโอ หรือการเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์และของขวัญในสตรีมสด

  • Snapchat: Snapchat เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบหลายข้อความ สามารถสร้างรายได้ผ่านกองทุนครีเอเตอร์ซึ่งจ่ายเงินสําหรับเนื้อหา "Spotlight" ที่ได้รับความนิยมและการเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์

เนื้อหาอื่นๆ

  • OnlyFans: OnlyFans คือบริการแบบสมัครสมาชิกสำหรับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่เน้นไปที่ความบันเทิงสําหรับผู้ใหญ่ ครีเอเตอร์สามารถเรียกเก็บเงินค่าเข้าดูเนื้อหาแบบสมัครสมาชิกได้

  • Kickstarter: Kickstarter เป็นแพลตฟอร์มการระดมทุนระดับโลกที่ช่วยให้ครีเอเตอร์ระดมเงินให้กับโครงการเฉพาะต่างๆ ได้

  • Patreon: Patreon คือแพลตฟอร์มการเป็นสมาชิกสำหรับครีเอเตอร์ นักเขียน ผู้จัดพอดแคสต์ และศิลปินสามารถเรียกเก็บเงินสําหรับสิทธิ์เข้าถึงเนื้อหาสุดพิเศษแบบสมัครสมาชิก

ข้อดีและข้อเสียของการสร้างรายได้จากเนื้อหาของคุณ

ต่อไปนี้คือข้อดีและข้อเสียของการสร้างรายได้จากเนื้อหา ตั้งแต่การสร้างรายได้ไปจนถึงการพึ่งพาแพลตฟอร์มเฉพาะ

ข้อดี

  • เงิน: การสร้างรายได้จากเนื้อหาสามารถสร้างรายได้ โดยอาจเป็นงานนอกเวลาหรือเป็นอาชีพที่ต้องทุ่มเทเวลาให้ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้คุณมีอิสระทางการเงินและสามารถทำตามความชอบของคุณโดยไม่ต้องพึ่งพาการทํางานแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว

  • ให้ความรู้สึกมั่นใจ: การสร้างรายได้อาจเป็นสัญญาณว่าเนื้อหาของคุณสร้างคุณค่าต่อกลุ่มเป้าหมายได้ การที่พวกเขายินดีที่จะจ่ายเงินสําหรับผลงานของคุณช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจในความพยายาม และเป็นแรงผลักดันอันทรงพลังให้คุณสร้างสรรค์ต่อไป

  • ความคิดสร้างสรรค์: แรงกดดันในการสร้างเนื้อหาคุณภาพสูงที่ผู้คนยินดีที่จะจ่ายเงินสามารถผลักดันให้คุณเป็นครีเอเตอร์ที่ดีขึ้นได้ โดยจะบังคับให้คุณพัฒนาทักษะ ทดลองกับรูปแบบใหม่ๆ และมุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศอยู่ตลอดเวลา

  • ชุมชน: แพลตฟอร์มที่สร้างรายได้มักจะสร้างชุมชนที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับเนื้อหาของคุณ สมาชิกที่ชําระเงินมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและทุ่มเทมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและความรู้สึกได้รับการยอมรับ

ข้อเสีย

  • แรงกดดัน: ความจําเป็นอย่างต่อเนื่องที่จะต้องผลิตเนื้อหาที่สร้างผลกําไรอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจและอารมณ์ได้ ซึ่งอาจขัดความความคิดสร้างสรรค์และนําไปสู่อาการหมดไฟ และสร้างความรู้สึกของภาระหน้าที่มากกว่าความสุขในกระบวนการสร้างสรรค์

  • ความรู้สึกแปลกแยก: การสร้างรายได้อาจสร้างกำแพงระหว่างคุณกับกลุ่มเป้าหมาย บางคนอาจรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับหรือขุ่นเครือง นำไปสู่การเสียผู้ติดตามและการมีส่วนร่วม

  • การพึ่งพาแพลตฟอร์ม: การใช้แพลตฟอร์มเฉพาะเจาะจงสําหรับการสร้างรายได้อาจมีความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึม การอัปเดตนโยบาย หรือแม้กระทั่งการปิดแพลตฟอร์มอาจทําให้คุณมีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยทางการเงิน

  • คำถามทางจริยธรรม: การสร้างรายได้อาจดึงดูดให้ครีเอเตอร์ลดคุณค่าของตัวเองเพื่อแลกกับผลกำไร แรงกดดันที่จะทำให้สปอนเซอร์พอใจหรือตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายที่จ่ายเงินอาจนําไปสู่การสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและความถูกต้องด้านการความคิดสร้างสรรค์

  • ค่าใช้จ่าย: การสร้างรายได้มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายแอบแฝง ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม ต้นทุนธุรกรรม ภาษี และความจําเป็นในการลงทุนกับอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์อาจไปเข้าลดรายได้ของคุณ

เนื้อหาในบทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปและมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นคําแนะนําทางกฎหมายหรือภาษี Stripe ไม่รับประกันหรือรับประกันความถูกต้อง ความสมบูรณ์ ความไม่เพียงพอ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลในบทความ คุณควรขอคําแนะนําจากทนายความที่มีอํานาจหรือนักบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตอํานาจศาลเพื่อรับคําแนะนําที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณ

หากพร้อมเริ่มใช้งานแล้ว

สร้างบัญชีและเริ่มรับการชำระเงินโดยไม่ต้องทำสัญญาหรือระบุรายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือติดต่อเราเพื่อสร้างแพ็กเกจที่ออกแบบเองสำหรับธุรกิจของคุณ
Connect

Connect

ใช้งานจริงภายในไม่กี่สัปดาห์แทนที่จะต้องเสียเวลาหลายไตรมาส สร้างธุรกิจการชำระเงินที่สร้างผลกำไร และขยายธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

Stripe Docs เกี่ยวกับ Connect

ดูวิธีกำหนดเส้นทางการชำระเงินระหว่างหลายฝ่าย